Monday, 6 May 2024
Softpower

'ต้องเต' หวังรัฐบาลไทยหนุนภาพยนตร์ไทยเต็มกำลัง หลังยก 'สัปเหร่อ' ขึ้นแท่น Soft Power ของไทย

จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ หลังชม ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อร่วมกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตรประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ว่า ..."'สัปเหร่อ' คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสานผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการที่ผู้กำกับ และทีมงานภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง ควรค่าแก่การสนับสนุนครับ

รัฐบาลเราสนับสนุน Soft Power ทุกมิติ ด้านภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เราพร้อมที่จะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยพาวัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลกเป็น ‘จุดขาย’ ไปสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และความชื่นชอบให้กับประเทศไทย"

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 นายธิติ ศรีนวล หรือ ต้องเต ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ กล่าวในรายการอยู่ดีมีแฮง ช่อง ThaiPBS ว่า "ผมคาดหวังว่าเรื่องต่อ ๆ ไป ไม่ใช่แค่ของผม อยากให้มาสนับสนุนจริง ๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนัง #สัปเหร่อ จริง ๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูป แล้วบอกว่า 'สัปเหร่อ' เป็น ซอฟต์เพาเวอร์ (SoftPower)

"อย่างตัวผมเองยังไม่รู้ว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร ตอนผมทำ ผมยังแบบ 'เอ๊า!! หนังผมเป็น ซอฟต์เพาเวอร์' เหรอ ผมยังไม่รู้เลย แต่ถ้าผมได้รู้ หรือได้ทำความเข้าใจว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร หนังไปไกลกว่านี้ มี 'ซอฟต์เพาเวอร์' จริง ๆ แน่นอน

"ดังนั้น ถ้ามีการพูดคุยหรือเสวนาในวงการที่อยากจะเอา ซอฟต์เพาเวอร์ เผยแพร่ต่อต่างประเทศ อยากให้พาไปจริง ๆ"

ด้าน นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ทางทวิตเตอร์ หรือ X ว่า "รัฐบาลเพิ่งได้เข้ามาเริ่มผลักดันนโยบาย #SoftPower และไม่ได้คิดจะเคลมผลงานใด ๆ จากความสำเร็จของภาพยนตร์ #สัปเหร่อ ครับ แต่มีเจตนาที่จะสนับสนุน และชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานที่มีคุณภาพ

"ในฐานะคอหนัง ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความตั้งใจ และประทับใจผลงานด้วยใจจริง
"
"หวังอย่างยิ่งว่าในเร็ว ๆ นี้ ความสนใจและตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์แขนงต่าง ๆ ให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วครับ

"การสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยภาครัฐ ไม่ได้มีเพียงกลไกเอาเงินทุนไปให้ หรือไปช่วยประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือการดึงภาคเอกชนมาร่วมกันให้ข้อมูล ว่าการทำงานที่เป็นอยู่ ติดขัดปัญหาหรือข้อกฎหมายอย่างไรแล้วรัฐในฐานะผู้สนับสนุนจึงจะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้เอกชนได้ขยายศักยภาพของตนเองได้เต็มที่มากขึ้นครับ #SoftPower #รัฐบาลเศรษฐา”

"อันนี้เป็นนโยบายของ #พรรคเพื่อไทย ที่ใช้หาเสียง เฉพาะในส่วนของ 'ภาพยนตร์' ก่อนนะครับ ยังมีส่วนของวงการอื่น ๆ อีกครับ”

ขณะที่ทางด้านเฟซบุ๊กเพจ 'ตุ๊ดส์review' ได้โพสต์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่า ภาพยนตร์ #สัปเหร่อ กับคำว่า #SoftPower ของรัฐบาลไทย

1) จริง ๆ รัฐไม่ได้เข้าใจด้วยซ้ำว่าเราจะสร้าง Soft Power กันยังไง เราแค่รอมันดังแล้วไปถ่ายรูปคู่ ไม่ได้ร่วมสร้าง ร่วมลงทุน และผลักดันโดยรัฐบาลตั้งแต่ก้าวแรกของการทำงาน

2) การดูกันเอง ชื่นชมกันเอง สนุกสนานกันเองในประเทศ แต่ไม่ได้ผลักดันสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลก หรือพาหนังไปสร้างอำนาจละมุน ตามคำว่า Soft Power เพื่อพาวัฒนธรรมประชาชนไปสั่นสะเทือนวงการและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก็เท่ากับว่า "มันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้มีการลงมือทำอะไรเป็นรูปธรรม"

3) การรอฉกฉวยโอกาสของรัฐ ที่มีต่อสิ่งที่ดังด้วยตัวมันเอง ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยประยุทธ์ กำลังถูกสานต่อโดยยุคสมัยของเศรษฐา โดยที่ยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นกลยุทธ์ และแนวทางการสร้างความสำเร็จ นอกจากรูปถ่าย PR เท่านั้น ที่ออกมาสร้างการรับชมกันเองในชาติ โดยที่ต่างชาติไม่ได้มาร่วมอึ้ง หรือซาบซึ้งใด ๆ กับเรา

4) ถ้าบอกว่าสนับสนุนเพื่อให้ Soft Power ไทยไปไกลในตลาดโลก รัฐต้องลงทุน และมีหน่วยงานที่เอาผลผลิตอุตสาหกรรมบันเทิงไทยไปเจาะตลาดโลก ตั้งแต่ Day One โดยร่วมวางแผนการสร้าง Soft Power ให้ก้าวแรกมีเนื้อหาสาระ นักแสดง กลยุทธ์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการส่งออกแบบครบวงจร แต่เราไม่เห็นกระบวนการเหล่านั้นในการวางแผนการทำงาน

5) แค่ถ่ายรูป แล้วบอกว่าเป็น Soft Power มันมีประโยชน์น้อยมาก แถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำในวงการหนังเสียอีก หนังไหนดัง รัฐถึงจะวิ่งปรี่เข้าไปเชิดชู ส่วนหนังเรื่องไหนไม่ทำเงิน ไม่มีกระแส กลับไม่เคยได้รับการแยแสจากรัฐ ทั้ง ๆ ที่หนังดี ๆ หลายเรื่อง ๆ ขาดการพูดถึง และให้คุณค่าจากสังคม แล้วทำไมรัฐไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ให้โอกาสกับหนังไทยหลาย ๆ เรื่องได้แจ้งเกิดมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอผู้กำกับมาทวงถาม

Soft Power แบบปลอม ๆ ก็ไม่ได้ไปไหนได้ไกลกว่าการเชยชมกันเอง เมื่อไหร่โลกทั้งใบจะเห็นศักยภาพของคนไทยและวงการบันเทิงไทย เราต้องทวงถามให้รัฐบาลทำงานเรื่องนี้กันอีกนานแค่ไหน

ไม่งั้น Soft Power ไทย ก็มีไว้เพียงเพื่อการโฆษณา

'สว.วีระศักดิ์' ชี้ นโยบาย Soft Power ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว เพราะมีหลายมิติทับซ้อนกันอยู่

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 ที่โรงแรม S31 กรุงเทพฯ SPACEBAR ได้จัดงานเสวนา SOFT POWER ฝันไกลไปได้แค่ไหน? เปิดเวทีระดมความคิดเห็นบุคลากรหลากหลายวงการ มาร่วมสะท้อนมุมมอง กับแนวคิดนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่จะผลักดัน SOFT POWER ไทย ให้มีศักยภาพส่งต่อไปถึงความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่สายตาชาวโลก

โดยในเวทีดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า...

ความเป็นไปได้ในการผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ถูกหยิบยกเป็นนโยบายระดับชาติ จากทั้งทางพรรคเพื่อไทยเอง และทุกพรรคที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากอ้างอิงจากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึง Roadmap ก็ประเมินว่า อาจจะใช้เวลาถึง 3 ปี ถึงจะเริ่มเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ตามแผน

“นโยบายนี้อาจจะไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว รวมถึงนโยบายนี้มีมิติ 3 ด้านสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทับซ้อนกันอยู่ อย่างประเทศที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สำเร็จอย่าง เกาหลีใต้ สำเร็จได้จากนโยบายการเมืองที่แข็งแรงและต่อเนื่อง” วีระศักดิ์ กล่าว

‘สุวัจน์’ ชื่นชม ‘ลุงเปีย’ ครูช่างเรือฉลอมจิ๋วมงคลรายแรกของไทย ยกเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ วิถีชาวประมงไทย ที่ควรอนุรักษ์สืบต่อไป

(7 พ.ย. 66) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ - Suwat Liptapanlop’ ระบุว่า…

ชื่นชม 'ลุงเปีย' ครูช่างเรือฉลอมจิ๋ว เรือมงคลรายแรกของไทย

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เจอกับคุณธนเดช บุญนุ่มผ่อง หรือลุงเปีย ครูช่างเรือฉลอมจิ๋ว เรือมงคล รายแรกของประเทศไทย ที่ห้างบลูพอร์ต หัวหิน

ลุงเปีย เป็น 1 ในครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งเกิดมาในครอบครัวชาวประมง และมีความหลงใหลในการต่อเรือมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 40 ลุงเปียได้หันกลับมาศึกษาการต่อเรือจิ๋วอย่างจริงจัง และยึดเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเรือฉลอม ในอดีตนิยมใช้เป็นเรือประมงพื้นบ้าน หรือบรรทุกสินค้าไปขายตามหัวเมืองชายทะเล รูปร่างลำเรือคล้ายเรือโป๊ะแต่มีประทุนโค้งกลางลำ ทำจากไม้ไผ่สานขัดแตะมุงด้วยจาก มีต้นกำเนิดในแถบภาคกลาง หรือที่เราคุ้นหูกันกับท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพราะมีเรือฉลอมจอดอยู่จำนวนมาก 

เรือฉลอม ไม่มีเครื่องยนต์ ใช้ธรรมชาติคือลม และใบเรือในการแล่นเรือ 

ความพิเศษของเรือฉลอมจิ๋วลำนี้ คือ ลุงเปีย ได้นำเอาเลข 9 ใส่เข้าไปเป็นองค์ประกอบของเรือ คือแต่ละด้านของเรือ จะใช้ไม้ทั้งหมด 9 แผ่น เมื่อรวมกัน 2 ด้าน จะเป็น 18 แผ่น ซึ่ง 1 รวมกับ 8 เท่ากับ 9 ความยาวจากเรือไปท้ายเรือ 36 ซม. 3 รวมกับ 6 เท่ากับ 9 ไม้ที่ใช้ต่อเรือทั้งหมดมี 27 แผ่น 2 รวมกับ 7 เท่ากับ 9 ทำให้ทุกสัดส่วนของเรือ คือเลข 9 เลขมงคลทั้งลำ 

เรือฉลอมนี้จึงเป็นเรือฉลอมมงคลรายแรกของประเทศไทย เพราะทุกสัดส่วนตกเลข 9 ทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น วิธีการสร้างเรือฉลอมก็ไม่ธรรมดา เพราะใช้ไม้สักทั้งลำ และต้องเป็นไม้สักลายเดียวกันในการประกอบ เพื่อให้ลายไม้ต่อกัน หากวันไหนทำพลาด ต้องทิ้งทั้งแผ่น แล้วทำใหม่ อีกทั้งยังใช้ไม้ไผ่แทนตะปู เพื่อไม่ให้เกิดสนิม ก่อนจะลงแลคเกอร์เป็นขั้นตอนสุดท้าย

เรือฉลอมลำนี้ นอกจากจะเป็นเรือมงคล ที่มีความหมายมงคล ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่ผมประทับใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ลุงเปีย เปิดสอนให้ผู้ที่สนใจมาเรียนฟรี เพื่ออนุรักษ์การต่อเรือฉลอมจำลองให้คงอยู่ตลอดไป และยังเป็นอาชีพ สร้างรายได้อีกด้วย 

ผมขอแสดงความชื่นชมลุงเปีย ที่สร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่ง ผมว่านี่จะเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวประมงไทย และทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักเมืองไทยมากยิ่งขึ้น จากเรือจิ๋วลำนี้ 

‘อ.เจนภพ’ ปลื้มใจ!! ยูเนสโก ยก ‘สุพรรณฯ’ เป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ทางดนตรี’ เผย ดีใจที่ได้ช่วยขับเคลื่อนศิลปะเชิงวิชาการ ดัน ‘เพลงลูกทุ่งไทย’ สู่สากล

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66 นายเจนภพ จบกระบวนวรรณ นักจดหมายเหตุและนักวิชาการเพลงลูกทุ่งไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

“เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ‘ยูเนสโก’ ประกาศผลรับรองเมืองสมาชิกเครือข่ายสร้างสรรค์จาก 55 เมืองทั่วโลก ให้ ‘สุพรรณบุรี’ เป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ทางดนตรี’

ในฐานะที่เป็นเข็มหมุดเล็กๆ เล่มหนึ่งที่บุกเบิกริเริ่มในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ ‘เจนภพ จบกระบวนวรรณ’ ประกาศให้ ‘เมืองสุพรรณบุรี’ เป็น ‘เมืองหลวงของเพลงลูกทุ่งไทย’ มาตั้งหลายสิบปีแล้ว

ผมดีใจ ปลื้มใจ หายเหนื่อยไม่น้อย เมื่อได้ยินข่าวนี้ ต่อไปภายหน้าจะเป็นไปเช่นไร คงต้องเป็นภาระหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ๆ แล้วกระมัง คนอย่างเจนภพ บุกเบิกมาได้เท่านี้ก็น่าดีใจแล้ว…”

“เมื่อราวๆ วันที่ 3-5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ผมไม่แน่ใจว่าจะยังมีใครจำได้บ้างหรือเปล่า ว่ามีงาน ‘วิถีคนเมืองเหน่อ’ จัดขึ้นที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จ.สุพรรณบุรี และงานนี้นี่เองที่ ผม - เจนภพ จบกระบวนวรรณ ได้นำเสนอ ‘มหกรรมลูกทุ่งเลือดสุพรรณ มหัศจรรย์คนเสียงเหน่อ’ ผมกราบเรียนเชิญ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ขวัญจิต ศรีประจันต์, ศรเพชร ศรสุพรรณ, สุรชาติ สมบัติเจริญ, สลักจิต ดวงจันทร์, เสมา ทองคำ, เด่นชัย สายสุพรรณ, อัมพร แหวนเพชร, โสนน้อย เมืองสุพรรณ, นงเยาว์ ดาวสุพรรณ, แสงจันทร์ ดาวลอย, นพพร เมืองสุพรรณ, จ่อย ไมค์ทองคำ, แพรวา พัชรี, ศรศรี คีรีพันธุ์ ฯลฯ ขึ้นเวทีแสดงศักยภาพของนักร้องเมืองสุพรรณอย่างเต็มที่

แต่ครั้งกระนั้น ยังเป็นเรื่องของการรวบรวมเอานักร้องสายเลือดสุพรรณเป็นหลัก ยังไม่ได้ลงลึกในเชิงวิชาการสักเท่าไหร่”

“ถ้าท่านจำได้ เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2559 ปีเดียวกัน ผมนำเสนอ ‘มหกรรมเพลงนครปฐม’ ที่สถาบันศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา และครั้งกระนั้น คือ งานแสดงดนตรีลูกทุ่งเชิงวิชาการครั้งแรกในเมืองไทย ที่ผมภาคภูมิใจนำเสนอแนวคิดนี้ ถ้าถามผม ผมก็อยากจะทำงานเชิงวิชาการบันเทิงศิลปะอย่างนี้ให้สัญจรไปทุกจังหวัด แล้วแต่โอกาสวาสนาจะเอื้ออำนวย

วันนี้ ผมดีใจกับสุพรรณบุรีที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ทางดนตรี’ ของ องค์การยูเนสโก และผมก็คาดหวังว่า นับจากนี้ไปน่าจะมีงานดนตรีเชิงสร้างสรรค์ดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย”

“ถ้าไม่รังเกียจความคิดของผม ผมก็อยากจะเสนอแนวคิดงานเชิงวิชาการแบบเจนภพด้วย นั่นคือ ‘มหกรรมเพลงสุพรรณบุรี’ จะเป็นเช่นไร จะเป็นไปได้แค่ไหน ลองฟังรายการ ‘ข้าวเกรียบเพลงเก่า’ ทางช่องยูทูบเสียงศิลปิน บ่ายวันนี้ (6 พ.ย.) ดูก่อนก็ได้ครับ ถูกใจ ถูกต้อง ชอบธรรมแล้วก็ค่อยสนับสนุน แต่หากไม่ใช่ก็ลืมๆ ไปเสียก็ได้ แค่ความคิดของศิลปินแก่ๆ คนหนึ่งก็เท่านั้นเอง”

‘แม่ฮ่องสอน’ ชู!! Soft Power รักษ์โลก กับ ‘ประเพณีลอยกระทงสวรรค์ไร้โฟม’ พร้อมชวนเสริมแรงบุญ ในงาน ‘นมัสการพระธาตุดอยกองมู’ 23 - 27 พ.ย. 66

(9 พ.ย. 66) พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู กล่าวว่า ในปี 2566 วัดพระธาตุดอยกองมู ร่วมกับคณะศรัทธา ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดงาน นมัสการพระธาตุดอยกองมู กำหนดการระหว่างวันที่ 23 - 27 พฤศจิกายน 2566 นี้

สำหรับประวัติและความเป็นมาของงานประเพณีนมัสการพระธาตุดอยกองมู ได้ปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่ประมาณปี 2512 เป็นต้นมา โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การลอยกระทงสวรรค์ ซึ่งตรงกับประเพณีลอยกระทง ในวันขึ้น 11-15 ค่ำของทุกปี เนื่องด้วยวัดพระธาตุดอยกองมูนั้น อยู่ห่างจากแม่น้ำ ลำคลอง เพราะตั้งอยู่บนภูเขา หลวงพ่อพระครูอนุสารศาสนกรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมูสมัยนั้น ได้ร่วมกับคณะศรัทธา กรรมการวัด ญาติโยม จัดงานลอยกระทงสวรรค์ขึ้น เพื่อลอยทุกข์โศก โรคภัย สิ่งไม่ดีไม่งาม ไม่ปรารถนา ในหนึ่งปีที่ผ่านมาให้ไปกับกระทงสวรรค์ และเพื่อเป็นการขอขมากับท้องฟ้า สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ อันเป็นสิ่งที่มีคุณต่อเราท่านทั้งหลาย ขอบคุณในสิ่งต่าง ๆ ขอบคุณเทวดาฟ้าดิน โดยการลอยกระทงขึ้นไปบนท้องฟ้า โดยได้จัดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว

สำหรับในปีนี้ นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีดำริให้ "จัดงานลอยกระทงสวรรค์ไร้โฟม สืบสานวัฒนธรรม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม"  โดยใช้วัสดุธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น การบูชาธาตุทั้ง 4 การตักบาตรเท่าอายุ การละเล่น การแสดงของชุมชน และเด็กนักเรียน มีดนตรี และลิเกไทใหญ่ (จ้าดไต) การประกวดดอกไม้ไฟ การประกวดร้องเพลง การประกวดทำกระทงจากใบตอง และวัสดุธรรมชาติ การประกวดการทำก๊อกซอมต่อ และการจัดนิทรรศการพระธาตุดอยกองมู พระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

ที่พิเศษในปีนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ร่วมสนับสนุนการจัดงาน "ปอยเหลิน 12 เดินขึ้นพระธาตุดอยกองมู" ตามกำหนดการดังนี้

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 
เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป จัดทำผ้าห่มองค์พระธาตุดอยกองมู (ผ้าส่างกานห่มกองมู) และประดิษฐ์โคมไฟ เพื่อบูชาพระธาตุ ณ สำนักงานเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เชิญร่วมจารึกชื่อ-สกุล และคำอธิษฐานบนผืนผ้าห่มองค์พระธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคล

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 
เวลา 17.00 น.ตั้งขบวนแห่เครื่องสักการะพระธาตุ ผ้าห่มองค์พระธาตุ ( ผ้าส่างกานห่มกองมู ) และโคมไฟบูชาพระธาตุ  
เวลา 17.30 น. เคลื่อนขบวนแห่ไปยังวัดพระธาตุดอยกองมู โดยขึ้นทางบันไดนาค
เวลา 19.00 น. ถวายโคมไฟบูชาพระธาตุดอยกองมู และเชิญเที่ยวงานนมัสการพระธาตุดอยกองมู ณ ลานพระธาตุ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 
เวลา 08.49 น. พิธีถวายเครื่องสักการะพระธาตุและผ้าห่มองค์พระธาตุดอยกองมู ( ผ้าส่างกานห่มกองมู )
เวลา 09.30 น.ถวายจตุปัจจัยไทยทาน แก่หัววัดต่าง ๆ เนื่องในงานนมัสการพระธาตุดอยกองมู ณ อาคารผู้สูงอายุ วัดพระธาตุดอยกองมู

'มาร์เวล สตูดิโอ' ปล่อยโปสเตอร์ฉลองเปิดตัว #TheMarvels จับ 3 สาวซูเปอร์ฮีโร่สวมชุดไทย ในธีมลอยกระทง

'เดอะ มาร์เวลส์' ก็มา 'ลอยกระทง'

หลังจากที่เปิดตัวรอบปฐมทัศน์กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 'เดอะ มาร์เวลส์' (The Marvels) หนังซูเปอร์ฮีโร่สัญชาติอเมริกันเรื่องล่าสุด สร้างจากตัวละครมาร์เวลคอมิกส์ โดยมี 'บรี ลาร์สัน' รับบท 'แครอล แดนเวอร์ส' หรือ 'กัปตันมาร์เวล' ยอดมนุษย์สาวพลังคอสมิกเช่นเคย สมทบด้วย 'โมนิกา แรมโบ' และ 'กมลา ข่าน' เป็น 'มิสมาร์เวล'

The Marvels ภาคนี้ได้ 'Nia DaCosta' (นีอา ดาคอสตา) ผู้กำกับหญิงแกร่งจากภาพยนตร์สร้างชื่อ Candyman (2021) มานั่งแท่นผู้กำกับ โดยหนังได้รับรางวัลดาว 6.1 จากเว็บไซต์วิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง imdb.com

ล่าสุด มาร์เวล สตูดิโอ ได้เฉลิมฉลองการเปิดตัว #TheMarvels ด้วย 8 โปสเตอร์จาก 8 ประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และหนึ่งในนั้นมีโปสเตอร์จากประเทศไทย โดยจับให้ซูเปอร์ฮีโร่สาวทั้งสาม สวมชุดไทยมาในธีมวันลอยกระทง เข้ากันกับเทศกาลที่กำลังจะมาถึงของไทย และเป็นงานรื่นเริงซึ่งสร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

ฝรั่งจะคิดอย่างไรไม่ทราบ แต่งานนี้เราขอเรียก Soft Power ไว้ก่อน

เรื่อง : พรชัย นวการพิศุทธิ์

เพจดัง ชี้!! 'สยามซอฟต์พาวเวอร์' ระบือไกล ทัชใจคนทั่วโลกใต้รัฐบาล 'สมบูรณาญาสิทธิราชย์'

(12 พ.ย.66) จากเพจ 'ฤๅ - Lue History' ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

ในยุคที่ซอฟต์พาวเวอร์กลายมาเป็นความนิยมแห่งยุคสมัยปัจจุบัน ทว่าจะมีกี่คนรู้ว่าความจริงแล้ว สยามเราได้เริ่มใช้ ซอฟต์พาวเวอร์ในแบบสยาม มาตั้งแต่ครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว และที่สำคัญซอฟต์พาวเวอร์เวอร์ชั่นสยามนั้น ยังมีความหลากหลายและพิเศษชนิดที่สร้างความตราตรึงให้แก่ชนผิวขาวได้ตั้งแต่เพียงครั้งแรก ๆ ที่เราเข้าร่วมงาน

ซึ่งนั่นก็ตั้งแต่ประมาณร้อยกว่าปีก่อนแล้ว

โดยซอฟต์พาวเวอร์สยามที่ว่านั้น เริ่มจากการเข้าร่วมงานมหกรรมสินค้าในลักษณะ Exhibition ที่เริ่มโดยประเทศจักรวรรดินิยมตั้งแต่ในราว ค.ศ. 19 เพื่อสำแดงให้โลกเห็นว่าตนได้เข้าไปครอบครองดินแดนและทรัพยากรพื้นเมืองของชนชาติต่าง ๆ ที่หลากหลายได้มากมายเท่าไร ผ่านการแสดงสินค้าอุตสาหกรรมที่ตนผลิตได้จาการครอบครองทรัพยากรในดินแดนอาณานิคมมาจัดแสดงไว้ด้วย แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ มีกระทั่งการนำเอาชนพื้นเมืองมาจำลองชีวิตในพื้นที่จำกัดคล้ายกับสวนสัตว์มนุษย์

สยามเองในเวลานั้นแม้จะเป็นเพียงชาติเล็ก ๆ แต่ก็เคยได้มีบทบาทในการนำสินค้าและความเป็นสยามเข้ามาจัดแสดงให้เป็นที่รับรู้ของชาวโลก เป็นครั้งแรกเริ่มตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2419 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และเพราะสยามหาได้เคยเป็นดินแดนอาณานิคม ดังนั้นการจัดพื้นที่แสดง ‘สินค้าสยาม’ จึงกระทำในฐานะประเทศเอกราชจากตะวันออกไกล ที่แม้อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เท่าฝรั่งผิวขาว แต่สยามก็มีศักดิ์ศรีพอที่ไม่ต้องถูกฝรั่งจำลองทำเป็นพื้นที่ ‘สวนสัตว์มนุษย์’ เช่นที่เพื่อนบ้านรอบ ๆ ของเราโดนเจ้าอาณานิคมของตนกระทำ

สำหรับไอคอนที่ทำให้ชาวต่างชาติเห็นถึงความเป็นสยามได้ตั้งแต่ไกลลิบ ๆ ในทุกครั้งที่เข้าร่วมงานจนถึงปัจจุบันก็คือการตั้งอยู่ของ ‘ศาลาสยาม’ อาคารที่ก่อสร้างเป็นทรงไทยตั้งตระหง่านที่ดูผิดแปลกกับอาคารทรงตะวันตกที่อยู่แบบทื่อ ๆ และพบได้เกลื่อนกลาดจนเป็นที่ชินตาของชาวยุโรปทั่วไป ในส่วนของสินค้าสยามที่คัดเลือกส่งไปนั้น มีทั้งเมล็ดพันธุ์ข้าว ไม้ หัวโขน เครื่องมือเกษตร เครื่องดนตรี บ้าน และวัดจำลอง แต่ที่เป็นที่ ‘ฮือฮา’ ที่สุดก็คือเครื่องราชูปโภคจำลองที่ทำด้วยเงินอย่างดีทั้งชุด นับแต่นั้นประเทศสยามมักได้รับการทาบทามให้ไปจัดแสดงสินค้าจากทั่วทุกมุมโลกต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง จึงไม่เกินจริงไปนักที่จะกล่าวว่า สินค้าสยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานฝีมือชั้นสูงคงจะเป็นที่ถูกอกถูกใจฝรั่งเอามาก เพราะมีทั้งความยูนีคและลวดลายฝีมือที่แตกต่างกับงานฝีมือจากโลกตะวันตก นี่จึงนับเป็นมรดกของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่ดำริโดยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังดำรงสืบมาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานานแล้ว ชาวต่างประเทศก็รู้จักประเทศของเราผ่านสินค้าที่สำแดงความเป็นเราได้อย่างชัดเจนและชื่นชอบโดยไม่ต้องมีการบีบบังคับแต่อย่างใด อาจเพราะซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเป็นสิ่งที่จับต้องได้ มีเอกลักษณ์ชัดเจน และเป็นมรดกวัฒนธรรมที่นานาชาติต่างให้การยอมรับมาเป็นระยะเวลาหลายชั่วอายุคนจวบจนปัจจุบัน

‘ช่อง 3’ ส่ง 2 ละครดังแกะกล่อง สตรีมบน ‘Prime Video’ ที่แรก หวังโชว์วิถีชีวิตคนไทยร่วมสมัย ดึงดูดความสนใจผู้ชมทั่วโลก

(15 พ.ย. 66) บีอีซี เวิลด์ หรือ ช่อง 3 เปิดดีลธุรกิจส่งละครสตรีมบน Prime Video เป็นที่แรก เพื่อเผยแพร่ใน 10 ประเทศและเป็นการสตรีมก่อนหน้าจอ ช่อง 3 อีกด้วย เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตคอนเทนต์ ของไทยสู่ตลาดสากล  

โดย ช่อง 3 ยังคงเร่งขับเคลื่อนธุรกิจการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังตลาดต่างประเทศหรือผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งฝั่งเอเชีย แอฟริกา และ ยุโรป และล่าสุดได้เปิดดีลโมเดลใหม่โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งระดับโลกอย่าง Prime Video ได้ลิขสิทธิ์นำ 2 ละครใหม่แกะกล่องที่ยังไม่เคยออกอากาศมาก่อน อย่างเรื่อง ‘ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ’ (The Office Games) และ ‘มือปราบกระทะรั่ว’ (My Undercover Chef) ซึ่งผลิตโดย BEC Studio สตรีมพร้อมกันทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, บรูไน และ ติมอร์-เลสเต 

สำหรับละคร เรื่อง ‘ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ’ (The Office Games) ว่าด้วยเรื่องราวของเหล่ามนุษย์ออฟฟิศที่พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในแต่ละวัน โดยใช้สารพัดเล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้ตัวเองไปสู่ความสำเร็จ นำแสดงโดย ‘มิ้นต์ ชาลิดา วิจิตรวงศ์ทอง’ รับบท ‘อลิศ’ นักขายฝีปากดีที่แบกโลกทั้งใบไว้ภายใต้คำว่า ‘เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว’ ประกบคู่กับ ‘นนกุล’ หรือ ‘ชานน สันตินธรกุล’ รับบท ‘เมษ’ วิศวกรหนุ่มที่ชีวิตพังเพราะตึกที่ได้ออกแบบเกิดพังถล่มลงมา ทั้งคู่จึงตัดสินใจเดินเข้าสู่วงการขายกองทุนที่มีความท้าทาย แต่ที่นั่นกลับเปรียบดังสมรภูมิรบที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลโกงมากมาย อลิศ และ เมษ จะเอาตัวรอดได้อย่างไร เริ่มวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ทาง Prime Video

และต่อมากับเรื่อง ‘มือปราบกระทะรั่ว’ (My Undercover Chef) เรื่องราวของ ‘มาวิน’ นำแสดงโดย ‘เต๋อ ฉันทวิชช์ ธนะเสวี’ มือปราบหัวร้อนที่ถูกพักงานเพราะความบุ่มบ่ามทำให้เอเย่นต์ค้ายาหลุดรอดไป เขาจึงต้องออกตามล่าอย่างกัดไม่ปล่อย และสถานที่ที่พวกค้ายาชอบมารวมตัวกันคือ ‘ร้านเภาโภชนา’ ที่เจ้าของร้านมีหลานสาวชื่อ ‘ขิง’ อาชีพยูทูบเบอร์ ที่อยากจะปิดร้านอาหารหนีพวกค้ายาอยู่ทุกวัน นำแสดงโดย ‘เต้ย จรินทร์พร จุนเกียรติ’ เมื่อมาวินเข้าไปแฝงตัวเป็นเด็กเสิร์ฟและทำให้ร้านขายดี ขิงจึงตั้งตัวเป็นคู่กัดและคอยขัดขวางภารกิจการสืบหาคนร้ายเสมอมา แล้วอะไรจะสามารถเปลี่ยนให้ทั้งคู่กลับมาร่วมมือและช่วยกันทำให้ย่านอาชญากรรมกลายเป็นย่าน Street Food ได้บ้าง เริ่มวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ทาง Prime Video  

สำหรับ Prime Video คือผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งระดับโลก ที่ได้นำคอนเทนต์ความบันเทิงไทยออกเผยแพร่ให้กับคนไทยทั่วประเทศได้รับชม ทั้งนี้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Prime Video ได้มีการประกาศแคมเปญ ‘แกะกล่องไทยบันเทิง’ ขึ้นโดยเปิดพื้นที่เก็บรวบรวมคอลเลกชันเนื้อหาคอนเทนต์ของไทยมากมายไว้ในที่เดียว มีทั้งภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ คอนเสิร์ต เป็นการให้บริการสมาชิกแบบครบวงจรที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้โดยตรง ดังนั้นจึงถือเป็นแหล่งส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงไทยอีกหนึ่งช่องทางที่จะเติบโตได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่อไป

และด้วยละครใหม่ทั้ง 2 เรื่อง ‘ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ’ (The Office Games) และ ‘มือปราบกระทะรั่ว’ (My Undercover Chef) ล้วนมีบทที่แสดงถึงเอกลักษณ์การใช้ชีวิตแบบคนไทยในยุคปัจจุบัน มีแนวคิดในการดำเนินชีวิตที่ร่วมสมัย จึงถือเป็น Soft Power ของคอนเทนต์จากประเทศไทยที่จะสร้างความสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยจากผู้ชมในต่างประเทศ และเมื่อละครของ ช่อง 3 ได้สตรีมบน Prime Video ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งระดับโลกก็จะยิ่งทำให้ผู้ชมต่างประเทศได้เข้าใจวัฒนธรรมไทยผ่านคอนเทนต์ได้ง่ายและมากขึ้น

‘สุวัจน์’ อิ่มบุญ ร่วมทอดกฐินวัดทุ่งสว่าง จ.นครราชสีมา ชี้!! โคราชครบ 555 ปี หวังดันเป็น Soft Power ดึง นทท.

(18 พ.ย. 66) ที่วัดทุ่งสว่าง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายฆราวาสและผู้แทนเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ประจำปี พ.ศ. 2565 ถวายองค์กฐินและเครื่องไทยธรรมแด่ พระครูอุดมวรรโณภาส ประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ในฐานะเจ้าคณะตำบลในเมืองเขต 3 เจ้าอาวาสวัดทุ่งสว่าง

โดยมี นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศบาลฯ นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พลตรีณรงค์ฤทธิ์ ด่านสุวรรณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา พร้อมผู้บริหารและสมาชิกสภา พนักงาน ข้าราชการในสังกัด ทน.นครราชสีมา และชาวโคราช 98 ชุมชน ร่วมกิจกรรมงานบุญกันอย่างชื่นมื่น โดยได้รวมยอดเงินทั้งสิ้น 1,007,224 บาท

นายสุวัจน์ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมทำบุญในพิธีทอดกฐินสามัคคี ที่ทางเทศบาลและพี่น้องประชาชนได้ร่วมกันจัดขึ้นคนแน่นมาก เรียกว่าแย่งกันทำบุญ สมกับคำว่า คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน แม้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก แต่ในเรื่องบุญเรื่องกุศล เรื่องช่วยเหลือ เรื่องการพัฒนาบ้านเมือง คนโคราชมีน้ำใจตลอด

“ปีนี้เมืองโคราชครบรอบ 555 ปี ถือว่าเก่าแก่มาก แสดงว่าเรามีโบราณสถาน มีหลาย ๆ สิ่งที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลัง อย่างวัดทุ่งสว่างที่มาทอดกฐิน ถือเป็นวัดเก่าแก่เป็นส่วนหนึ่งของการได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และรักษาของเก่าของเมืองโคราช” นายสุวัจน์กล่าว

นายสุวัจน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเทศบาลท่านนายกฯ ประเสริฐกำลังทำโครงการอนุรักษ์รักษาเมืองโคราชโบราณสถานต่าง ๆ โดยเฉพาะคูเมืองที่ยาวทั้งหมด 5,400 เมตร ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร ทำการทำนุบำรุงรักษา สร้างสวนสาธารณะ สร้างคูคลองกันใหม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลอง 555 ปี เมืองโคราช

“วันนี้ต้องทำสองเรื่อง คือ ทำเรื่องใหม่ สองทำเรื่องเก่า เรื่องเก่าต้องรักษาประเพณี การต่อยอด เรียกว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ การรักษาสิ่งเก่า ๆ ของบ้านเมืองเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันของใหม่ ๆ ก็ต้องมา อย่างเช่น รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ โดยแบ่งหน้าที่กันทำงาน คุณหมอวรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พูดในสภาฯ ทุกอาทิตย์ ทวงสิ่งของต่าง ๆ โครงการต่าง ๆ ให้เมืองโคราช คุณเทวัญ ลิปตพัลลภ เข้าไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คุณวัชรพล โตมรศักดิ์ เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ก็เอาโครงการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยต่าง ๆ มาให้กับพี่น้องประชาชน

“เราต้องร่วมกันทำงานพัฒนาเมืองโคราช ดึงนักท่องเที่ยวมาโคราช รัฐบาลให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์ กีฬา ประเพณี วัฒนธรรม โอท็อปต่าง ๆ เรียกว่าของเก่า เพื่อที่จะดึงนักลงทุน นักท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นการทำงานที่เป็นทีมเวิร์ก เป็นการทำงานที่ดี” นายสุวัจน์ ระบุ

‘ชุดเทพธิดาอาณาจักรอยุธยา’ ถูกเลือกลงหนังสือพิมพ์ ‘เอลซัลวาดอร์’ พร้อมยกให้เป็น 1 ใน 10 ชุดที่ดีที่สุด บนเวที Miss Universe 2023

(18 พ.ย.66) เป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก เมื่อสื่อเจ้าภาพเอลซัลวาดอร์ คัดเลือกชุดประจำชาติของประเทศไทย ‘ชุดเทพธิดาอาณาจักรอยุธยา’ ที่ ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ สวมใส่ลงหนังสือพิมพ์ ‘เอลซัลวาดอร์’

โดยสื่อเจ้าภาพเอลซัลวาดอร์ ยกให้ ‘ชุดเทพธิดาอาณาจักรอยุธยา’ ที่ ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ สวมใส่ เป็น 1 ใน 10 ชุดที่ดีที่สุดบนเวที Miss Universe 2023 

โดยสื่อของเอลซัลวาดอร์ได้โพสต์ภาพพร้อมคำบรรยายลงในหนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ ‘Diario El Salvador’ ว่า 

“Miss Universe Thailand นำเสนอเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยในชุดสีทองและผมยาวดั่ง ‘พระแม่ธรณี’ ผู้ที่เป็นที่นับถือของคนในชาติมาตั้งแต่ประวัติการณ์"

ทั้งนี้ ร่วมส่งกำลังใจให้ 'แอนโทเนีย โพซิ้ว' ในรอบการประกวด Final Competition ได้ ผ่านการถ่ายทอดสดทางช่องJKN18 ตั้งแต่เช้าตรู่เวลา 7 นาฬิกาเป็นต้นไป ในวันพรุ่งนี้ 19 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาประเทศไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top