Monday, 6 May 2024
Softpower

ลิซ่า BLACKPINK’ นุ่งผ้าซิ่น โพสต์รูปเช็กอินไหว้พระ-เที่ยวอยุธยา กระตุ้น Soft Power พาผ้าไทยโกอินเตอร์ คาด!! ซิ่นไทยเตรียมหมดตลาด

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 66 น.ส.ลิษา มโนบาล หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ทำไอจีแทบแตก โพสต์ภาพสวมชุดไทยไหว้พระและเที่ยวอยุธยากับเพื่อน หลังจบคอนเสิร์ตที่ไทย

กลับมาบ้านเกิดเมืองไทยครั้งนี้ นอกจากจะมาทำงานและแสดงคอนเสิร์ตแล้ว ไอดอลสาวชื่อดังระดับโลก ‘ลลิษา มโนบาล’ หรือ ‘ลิซ่า BLACKPINK’ ก็ได้ใช้ช่วงเวลาอยู่กลับครอบครัวและเพื่อน ๆ

โดยนอกจากจะไปเดินซื้อของที่ปากคลองตลาดในลุคสบาย ๆ แล้ว เจ้าตัวก็ยังมีโอกาสไปเที่ยวและไปไหว้พระวัดดังที่จังหวัดอยุธยา ซึ่ง ‘ลิซ่า’ ได้โพสต์ภาพสวมชุดผ้าไทย เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวและผ้าถุงฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม ลงอินสตาแกรมส่วนตัว

พร้อมเช็กอินที่ ‘วัดมหาธาตุ’ วัดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยารวมไปถึง ‘วัดแม่นางปลื้ม’ ที่อยู่ในอยุธยาด้วยเช่นกัน

งานนี้หลังจากที่ไอดอลสาวโพสต์ภาพเซ็ตนี้ลงอินสตาแกรมนั้น ก็ทำไอจีเกือบแตก มีแฟนๆ เข้ามาคอมเมนต์มากมาย และยังมีแฟน ๆ ที่บอกว่าจะไปเช็กอินตามรอยลิซ่า ทำเอาโดนแซวยกใหญ่ว่าอยุธยาแตกแน่!!

หากย้อนกลับไป ‘ลิซ่า’ แม้จะเป็นหนึ่งในแฟชั่นไอคอนที่แฟนๆ บอกว่าลุคไหนๆ ก็เอาอยู่ แต่ตัวเธอนั้นเคยเลือกสวมชุดไทยในเอ็มวีเพลงโซโล่แรกในชีวิตอย่าง ‘LALISA’ มาแล้ว โดยเธอให้เหตุผลว่า “เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ใส่ชุดไทยในเอ็มวีให้ทั่วโลกได้เห็น ภูมิใจจริงๆ แฮปปี้มากๆ ที่ทุกคนชอบ”

งานนี้เชื่อว่าลิซ่าจะกระตุ้น Soft Power ให้เมืองไทยเหมือนหลายๆ ครั้ง ที่ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรก็เป็นกระแสฟีเวอร์ไปซะหมด อาทิ ‘ลูกชิ้นยืนกินบุรีรัมย์’ ที่ขายดิบขายดี เพียงแค่เธอให้สัมภาษณ์ว่าชอบทาน ช่วยพลิกสถานการณ์ให้แม่ค้าในช่วงโควิดอีกด้วย หรือ ‘ชุดไทย’ ที่สวมใหญ่ในเอ็มวี ก็สามารถนำวัฒนธรรมไทยสร้างชื่อก้องโลกมาแล้ว
 

🔍 ตัวแม่ตัวมัม!!

🔍 ตัวแม่ตัวมัม!! ไม่ว่าจะขยับหรือจับอะไรก็กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ไปซะหมด นับว่าเป็นอีกคนที่มีอิทธิพลสูงเป็นอย่างมากในวงการโซเชียล และวันนี้เราจะมาเปิด 8 Soft Power ของไทยที่ ‘ลิซ่า BlackPink’ เข้ามาเอี่ยว จนปลุกกระแสให้ขายดิบขายดีชั่วข้ามคืนได้!!
 

‘เลยดูดี-GMMTV’ จ่อผลักดัน Soft Power ไทยสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น หลังแฟนมีต 9 หนุ่มซีรีส์ ‘My School President’ ได้ผลตอบรับเกินคาด!!

เมื่อไม่นานมานี้ จากความสำเร็จกับงานแฟนมีตติ้งที่กัมพูชาของเหล่านักแสดง จากซีรีส์สุดฮอต แฟนผมเป็นประธานนักเรียน (My School President) บริษัท เลยดูดี สตูดิโอ จำกัด ยังคงจับมือกับ จีเอ็มเอ็ม ทีวี เดินหน้า พาทั้ง 9 หนุ่ม ได้แก่ เจมีไนน์-นรวิชญ์ ฐิติเจริญรักษ์, โฟร์ท-ณัฐวรรธน์ จิโรชน์ธิกุล, วินนี่-ธนวินท์ ผลเจริญรัตน์, สตางค์- กิตติภพ เสรีวิชยสวัสดิ์, ฟอร์ด-อรัญญ์ อัศวสืบสกุล, พร้อม-ทีปกร ขวัญบุญ, กัปตัน-พีระวิชญ์ กุลกั้ง, มาร์ค-ภาคิน คุณาอนุวิทย์ และ อั๋น-ณภัทร พัชรชวลิต โกอินเตอร์อย่างต่อเนื่อง

โดยครั้งนี้บุกไปถึงประเทศสิงคโปร์ที่จัดขึ้นจำนวน 2 รอบ และได้รับการตอบรับจากแฟนสิงคโปร์และแฟนอินเตอร์ของทั้ง 9 หนุ่ม ที่มาให้กำลังใจอย่างล้นหลามเช่นเคย และจากความประทับใจทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ นั่นคือบริษัทผู้จัด โดย เอ๋-ศุภกร เหรียญสุวรรณ CEO บริษัท เลยดูดี สตูดิโอ จำกัด ได้เผยว่า “ในครั้งนี้ถือเป็นประเทศที่ 2 ที่เราได้พาน้อง ๆ ทั้ง 9 คนไปหาแฟนคลับในต่างประเทศ โดยในครั้งนี้ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมากที่ตัดสินใจมาที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เรามีความกังวลใจว่าแฟนที่สิงคโปร์จะอินกับ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราจัดขึ้นมาเสิร์ฟหรือไม่

แต่สุดท้ายแล้วกระแสตอบรับที่ได้นั้น ดีกว่าที่คิดไว้มาก ๆ ทั้งแฟนสิงคโปร์และแฟนอินเตอร์ ที่มาร่วมงานทุกคนเอ็นจอยกับงานตั้งแต่ต้นจนจบ มอบรอยยิ้มและความสุขกลับมาให้กับทีมนักแสดงและผู้จัดอย่างเรามาก ๆ โดยทาง เลยดูดี สตูดิโอ มีจุดเริ่มต้นในการจัดงานแฟนมีตติ้งที่ต่างประเทศด้วยแนวคิดที่ต้องการเป็น ส่วนหนึ่งในการผลักดัน Soft Power ของไทย โดยการพาศิลปินนักแสดงออกไปสู่ตลาดต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น และนอกจากงานแฟนมีตติ้งแล้ว ทางเลยดูดี สตูดิโอ ยังมีแผนขยายไลน์ไปสู่การจัดคอนเสิร์ตในต่างประเทศ โดยเร็ว ๆ นี้  จะมีงาน Krist Solo Concert Asia Tour และปลายปี 2566 จะมีคอนเสิร์ต Side by Side ของไบร์ท-วิน ที่กัมพูชา”

‘สนามมวยราชดำเนิน’ จับมือ ‘แกร็บ’ ทุ่มเงิน 100 ล้าน ปลุก ‘มวยไทย’ ดันซอฟต์เพาเวอร์ หนุนท่องเที่ยวเชิงกีฬา

(20 ก.ค. 66) นายเธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ‘GSV’ กล่าวว่า…

“มวยไทยถือเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนามวยไทยให้สามารถเข้าถึงทุกคน และกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของคนทั่วโลก สนามมวยเวทีราชดำเนิน ซึ่งเป็นเวทีมวยไทยมาตรฐานแห่งแรกของโลก และเป็นต้นกำเนิดของมวยไทยอาชีพจึงได้มีการปรับภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมจัดให้มีการแข่งขันหลากหลายรายการ ทุกวันตลอดทั้งสัปดาห์

รวมถึงการสร้างรายการใหม่ อย่างรายการ ‘ราชดำเนิน เวิลด์ ซีรีส์’ ที่มีการปรับกติกาและรูปแบบการแข่งขันให้เข้าใจง่ายและน่าติดตาม ด้วยโปรดักชันมาตรฐานระดับสากล โดยถ่ายทอดไปกว่า 200 ประเทศและเขตการปกครอง เพื่อรองรับกลุ่มคนดูใหม่ๆ พร้อมสร้างสีสันและยกระดับมาตรฐานวงการมวยไทยไปสู่ระดับสากล”

“หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายกระแสความนิยมมวยไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 70% ของผู้ชมทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยว 5 ชาติแรกที่เดินทางมาชมแมตช์การชกที่สนามของเรา คือ จีน, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเยอรมนี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและปลุกกระแสมวยไทยให้เป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ล่าสุด GSV จึงจับมือร่วมกับ ‘แกร็บ’ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันเรียกรถยอดนิยมอันดับหนึ่ง ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อโปรโมตกีฬามวยไทยผ่านสื่อ และกิจกรรมการตลาดอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมมอบส่วนลด 10% สำหรับบัตรเข้าชมการแข่งขันมวยไทย ณ สนามมวยเวทีราชดำเนิน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกวันจนถึงสิ้นปี”

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของเราในปีนี้เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยเฉพาะบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันของแกร็บ

ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา แกร็บได้ดำเนินกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและพัฒนามาตรฐานบริการ เพื่อยกระดับประสบการณ์การเดินทาง โดยมีไฮไลต์สำคัญอย่างการปรับโฉมบริการ GrabCar Premium ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘The Ultimate 5 Senses Experience’ รวมถึงการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำแคมเปญ ‘อะเมซิ่งทั่วไทย มั่นใจไปกับ Grab’ และจัดทำไกด์บุ๊ก Grab&Go เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ

สำหรับการผนึกความร่วมมือกับสนามมวยเวทีราชดำเนินในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยโดยใช้ Soft Power อย่างมวยไทยมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนอกจากการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและกิจกรรมการตลาดในช่องทางต่างๆ แล้ว แกร็บยังมอบส่วนลดพิเศษ 30% สำหรับผู้ใช้บริการ GrabCar Premium และ GrabSUV เมื่อเดินทางไปยังสนามมวยเวทีราชดำเนินเพียงใส่รหัส RAJADAMNERN ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2566

‘กลุ่มแคร์’ วิเคราะห์นโยบาย OFOS-THACCA ของ ‘เพื่อไทย’ ชี้!! ช่วยดัน Soft Power-กระตุ้น ศก.-สร้างอาชีพ 20 ล้านตำแหน่ง

(29 ส.ค. 66) รัฐบาลใหม่ ภายใต้การบริหารโดย นายกรัฐมนตรีชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ถูกจับตามองและติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การตั้ง ครม. เพื่อหาคนมาบริหารงานด้านต่าง ๆ

ล่าสุด เพจ ‘CARE คิด เคลื่อน ไทย’ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายที่มานโยบาย ‘OFOS – THACCA’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่งถ้านโยบายนี้ปรากฏขึ้นจริง จะสร้างงานและรายได้ให้แก่คนไทยกว่า 20 ล้านตำแหน่ง โดยระบุรายละเอียดว่า ‘OFOS – THACCA นโยบายที่คิดโคตรใหญ่ จะได้กี่โมง’

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย คือ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และหลังจากนี้ รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะเริ่มเข้าทำงาน เพื่อผลักดันนโยบายที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชนให้เกิดขึ้นจริง แน่นอนว่ามีหลายนโยบายของเพื่อไทยที่ผู้คนต่างจับตามอง ไม่ว่าจะเป็น เงินดิจิทัล 10,000 บาท, ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท, เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และอื่นๆ

1 ในนโยบายที่หลายคนไม่ค่อยสนใจ แต่เป็นนโยบายที่เรียกได้ว่า “คิดโคตรใหญ่” และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทุกบ้านทุกครอบครัว คือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power หรือ OFOS

นโยบาย OFOS คืออะไร? แล้ว THACCA คืออะไร? พวกเรากลุ่ม CARE ในฐานะที่สนใจ และมีเป้าหมายในปีที่ 3 นี้ คือ การผลักดันประเด็น Soft Power จะขอหยิบมาอธิบายให้ฟัง

[Soft Power คืออะไร?]
‘Soft Power’ เป็นทฤษฎีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ ‘โจเซฟ ไนย์’ (Joseph S. Nye) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้นิยามคำว่า ‘Soft Power’ หมายถึง การสร้างอิทธิพลครอบงำหรือมีอำนาจเหนือประเทศอื่น โดยไม่ใช้กำลังบังคับ เช่นการใช้กองทัพรุกราน แต่ใช้ความนุ่มนวลในการโน้มน้าว เช่น การใช้วัฒนธรรม เพื่อให้ประเทศอื่นทำตามในสิ่งที่เราต้องการ เช่น สหรัฐฯ เผยแพร่ค่านิยมแบบอเมริกันผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูด หรือแฟชั่นกางเกงยีนส์ เพื่อให้คนซึมซับค่านิยมอเมริกันและอยากเป็นแบบอเมริกันในที่สุด

ดังนั้น Soft Power ในมุมแรก คือมุมของการเมืองระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น เพื่อเผยแพร่ค่านิยมประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป Soft Power ได้ถูกตีความและให้ความหมายในมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในมิติด้านเศรษฐกิจ

จากเป้าหมายที่หวังให้ประเทศอื่นมีความคิดทางการเมืองแบบที่ต้องการ ไปสู่เป้าหมายใหม่ คือการแสวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากคนที่มีความคิดความเชื่อตามแบบที่เราต้องการ เช่น เกาหลีใต้ใช้อุตสาหกรรมบันเทิงเผยแพร่ภาพลักษณ์ ‘เกาหลีใต้ใหม่’ จูงใจให้คนอยากเป็นแบบเกาหลีใต้ ทำให้การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเกาหลีใต้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

[แล้ว Soft Power ของเพื่อไทย คืออะไร?]
เมื่อเพื่อไทยประกาศนโยบาย Soft Power ออกมา หลายคนต่างค่อนแคะ สบประมาทกันว่า “รู้เหรอ ว่า Soft Power คืออะไร?” แน่นอนว่าพวกเราก็สงสัยเช่นกัน ว่าในสายตาเพื่อไทยแล้ว Soft Power คืออะไร?

เราได้พูดคุยกับคนที่อยู่เบื้องหลังนโยบาย Soft Power ของเพื่อไทย จึงพอสรุปได้ว่า เพื่อไทยไม่ได้ยึดตามตำราที่มอง Soft Power เพียงมิติการเมืองระหว่างประเทศ แต่เน้นประยุกต์ใช้ในมิติทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ สิ่งที่จะโน้มน้าวให้คนประเทศอื่นอยากได้ อยากมี อยากเป็น แบบไทยมากที่สุด คือ ‘คนไทย’

ในสายตาของเพื่อไทยแล้ว ‘คนไทย’ คือ คนที่จะทำให้ต่างชาติประทับใจในประเทศไทยได้ดีที่สุด เพราะนอกจากอัธยาศัย ไมตรี รอยยิ้มและอารมณ์ขันที่จะมัดใจคนทั้งโลกแล้ว ‘ฝีมือคนไทย’ ก็เป็นอีกสิ่งที่จะสร้างความประทับใจจนทำให้คนทั่วโลกหลงใหล ทั้งฝีมือการทำอาหาร การต่อสู้ การร้องเพลง การแสดงภาพยนตร์ การวาดรูป และอื่นๆ

ดังนั้น การจะพัฒนา Soft Power ของประเทศไทยให้ไปไกลสู่ระดับโลกได้ ต้องเริ่มที่จุดตั้งต้นของเสน่ห์ที่จะครองใจคนทั้งโลก นั่นก็คือ คนไทย และนี่จึงเป็นที่มาของนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 Soft power’ หรือ ‘OFOS’ นั่นเอง

[แล้วนโยบาย OFOS คืออะไร?]
เมื่อเพื่อไทยตีโจทย์ว่า Soft Power คือ ‘คนไทย’ จึงอยากมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยขนานใหญ่ ผ่านนโยบาย OFOS โดยจะเปิดโอกาสให้ ‘ทุกครัวเรือน’ สามารถเข้ามาฝึกอบรมผ่าน ‘ศูนย์บ่มเพาะสร้างสรรค์’ เพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ของตัวเองให้สูงขึ้น ทั้งการร้องเพลง การทำอาหาร การทำหนัง การเขียนนิยาย และอื่นๆ

ซึ่งการฝึกอบรมจะแบ่งเป็นระดับตามขั้นบันได จากระดับพื้นฐานสู่ความเป็นเลิศ และจะมีใบรับรองศักยภาพสร้างสรรค์ผ่านการร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยศูนย์บ่มเพาะฯ จะกระจายตัวไปทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงได้ตั้งแต่ระดับตำบล จังหวัด จนถึงระดับประเทศ และหากตั้งใจจะพัฒนาศักยภาพตัวเองต่อ ก็จะมีทุนให้ไปเรียนในต่างประเทศต่อไป ซึ่งการอบรมเรียนรู้ทักษะจากศูนย์บ่มเพาะฯ นี้จะ ‘ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ’

ดังนั้น OFOS จึงเป็นนโยบายที่ ‘Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศ!!’ โดยเชื่อว่าหากคนไทยทุกครัวเรือนผ่านการยกระดับศักยภาพของตัวเองแล้ว ประเทศไทยจะมี ‘แรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูง’ กว่า 20 ล้านคนจาก 20 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ และนี่คือ ‘นโยบายสร้างคน’ ของเพื่อไทย

[อะไรคือ THACCA?]
เมื่อสร้างคน สร้างแรงงานทักษะสูงมากถึง 20 ล้านคนแล้ว เราจะปล่อยให้เขาตกงานก็คงไม่ได้ เพื่อไทยจึงต้อง ‘สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง’ ควบคู่ไปด้วย ผ่านการ ‘สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ เพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้ ซึ่งการจะสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศได้ ต้องมีแม่งานในการรับผิดชอบที่ชัดเจน และนั่นจึงเป็นที่มาของ ‘THACCA’

‘THACCA’ หรือ ‘Thailand Creative Content Agency’ จะเป็นองค์กรที่ออกแบบมาเพื่อ ‘สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ’ เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ที่มี KOCCA หรือไต้หวันที่มี TAICCA โดย THACCA จะเป็นแม่งานในการรับผิดชอบ มีอำนาจเบ็ดเสร็จและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกันในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ

THACCA จะสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 8 ด้าน คือ อาหาร, ดนตรี, ภาพยนตร์, หนังสือ, ศิลปะ, การออกแบบ/แฟชั่น, กีฬา และการท่องเที่ยว ด้วยการรื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปลดปล่อยเสรีภาพทางความคิด สนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุนรวม Soft Power ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และ THACCA ยังออกแบบองค์กรให้ตัวแทนของแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายอีกด้วย

ดังนั้น THACCA จึงเป็นองค์กรที่ ‘สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ’ โดยมองว่าหากรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างจริงจัง เป็นระบบครบวงจรในหน่วยงานเดียว จะสามารถสร้างงานได้มากถึง 20 ล้านตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นนโยบายที่สร้างงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และนี่คือ นโยบาย ‘สร้างงาน’ ของเพื่อไทย

[นโยบายต่างประเทศ คือ สิ่งที่ขาดไม่ได้]
เมื่อสร้างคน สร้างงานแล้ว ก็ต้องหาช่องทางสร้างเงินให้กับอุตสาหกรรมด้วย เพื่อไทยจึงต้อง ‘สร้างตลาด’ เพื่อให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว และตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่เพื่อไทยจะพาธุรกิจไทยไปค้าขาย คือ ‘ตลาดโลก’ นโยบายต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนโยบาย Soft Power

เพื่อไทยจึงประกาศว่าจะเร่งรัดเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกของสินค้าไทย ใช้การทูตเพื่อขยายการค้าชายแดน รวมทั้งรื้อฟื้นนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการตั้งธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศมากขึ้น เพราะจะทำให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบอาหารไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย

นอกจากการค้าระหว่างประเทศแล้ว เพื่อไทยได้ประกาศ ‘ยกระดับพาสปอร์ตไทย’ เพื่อให้นักธุรกิจไทยสามารถเดินทางไปค้าขายกับทั่วโลกได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องวีซ่า และประกาศนโยบายเชื่อมประเทศไทยสู่โลกด้วยการตั้งเป้าให้ไทยเป็น ‘ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค’ และประกาศจะดึงเทศกาลระดับโลกมาจัดที่ไทย ดันเทศกาลไทยไปสู่ระดับโลก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาในประเทศ มากินอาหารไทย มาเสพงานฝีมือของคนไทย มาใช้จ่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนไทย

ยิ่งไปกว่านั้น จะมีแนวคิดขยายสำนักงาน THACCA ไปยังต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาที่ไทย ดึงดูดนักสร้างสรรค์ฝีมือดีจากทั่วโลก และผลักดันให้นักสร้างสรรค์ไทยไปแสดงผลงานยังต่างประเทศ ดังนั้น THACCA ในต่างประเทศ จะเป็นแม่งานหลักในการดึงความร่วมมือจากทั่วโลกมาสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย และนี่ คือ นโยบาย ‘สร้างตลาด’ ของเพื่อไทย

[นโยบายที่คิดโคตรใหญ่]
เห็นได้ว่า นโยบาย Soft Power ของเพื่อไทย เป็นนโยบาย 3 สร้าง คือ
1.) สร้างคน ด้วยการ Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศ ผ่าน OFOS เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน
2.) สร้างงาน ด้วยการสนับสนุนทุกรูปแบบสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่าน THACCA เพื่องาน 20 ล้านตำแหน่ง
3.) สร้างตลาด ด้วยการมองว่าโลกทั้งใบคือตลาดของคนไทย ผ่านนโยบายต่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจ

การสร้างคน สร้างงาน สร้างตลาด การทำทั้งระบบแบบนี้ เป็นอะไรที่ ‘คิดโคตรใหญ่’ และเป็นนโยบายที่ทะเยอทะยานที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่า เพราะไม่ได้เป็นแค่โครงการหรือนโยบายเดียวโดดๆ แต่เกี่ยวพันกับหลายนโยบายย่อย เหมือนกับจิ๊กซอว์ที่ต้องประกอบกันหลายชิ้นจึงจะได้ภาพใหญ่ที่สวยงาม และภาพใหญ่ที่ว่านั้น คือ นโยบาย Soft Power ฉบับเพื่อไทย

แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้สำหรับรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตามเราคงต้องรอลุ้นกันว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะสามารถผลักดันนโยบายที่ ‘คิดโคตรใหญ่’ นี้ให้เป็นจริงได้หรือไม่ เพราะนโยบาย Soft Power นี้จะสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้แก่เศรษฐกิจภาพใหญ่ทั้งประเทศ และประโยชน์เหล่านั้นจะตกถึงมือประชาชนในเกือบทุกครัวเรือน และหากนโยบายนี้ทำได้จริง เราเชื่อว่า คนไทยทั้งประเทศจะหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างแน่นอน

ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า “OFOS – THACCA นโยบายคู่ขนานที่จะ Reskill 20 ล้านคน, พัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งระบบ และเร่งรัดการทูตวัฒนธรรมเชิงรุก นโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางภายในไม่เกิน 1 ทศวรรษ”

‘กรมพัฒน์ฯ’ ปลื้ม!! งาน SMART Local ของดีพื้นถิ่น ดันซอฟต์พาวเวอร์ผ้าไทยขายได้กว่า 10 ล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโชว์ผลจัดกิจกรรม SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น ในงาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ประสบความสำเร็จ สามารถดัน Soft Power ผ้าไทย เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งไทยและต่างชาติ สร้างยอดขายกว่า 10 ล้านบาท

(11 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้แนวคิด ‘SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ ว่า กรมได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local ในงาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี เมื่อเดือนส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจัด 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่…

1. SMART Local Events จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local ในความส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย และกลุ่มสมุนไพร รวมจำนวน 30 ราย เพื่อส่งเสริมตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข้าถึงตลาดกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่เพิ่มขึ้น

2. SMART Local Display โดยจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสร้าง Soft Power ภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมิติใหม่ จากภูมิปัญญาสมัยใหม่ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น อย่างมีสไตล์ สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส

“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสามารถผลักดัน Soft Power ผ้าไทย ภาพลักษณ์มุมมองใหม่ ที่มีความทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ หวังปลุกกระแสนิยมแฟชันผ้าไทยในกลุ่มผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติให้หันมาเลือกสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าการค้ากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้เพิ่มขึ้น” นายทศพล กล่าว 

ในปี 2566 กรมได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้แนวคิด ‘SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ เน้นชูอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ท้องถิ่นที่แตกต่างมาสร้างจุดขาย ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งด้านการตลาด ในการวิเคราะห์ตลาด เลือกตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และเทคนิคการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ทั้งในรูปแบบการจัดแสดง และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการชุมชนในการรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่มีการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาได้อย่างมีศักยภาพ

โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสทางการค้า สร้างช่องทางตลาดใหม่ สร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าชุมชน สู่การเป็นธุรกิจชุมชนยุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

‘กรมพัฒนาธุรกิจฯ’ ดัน ‘สมุนไพรไทย’ สู่ซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับเทรนด์รักสุขภาพของคนยุคใหม่

(13 ก.ย. 66) นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมมีแผนที่จะส่งเสริมการตลาดสินค้า ‘สมุนไพรไทย’ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มีคณะกรรมการนโยบายและสมุนไพรแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดช่องทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยให้เป็น Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกรายการหนึ่ง

สำหรับการขับเคลื่อนสมุนไพรไทย ได้มีการกำหนดมาตรการผลักดันสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศด้านอาหารและวัฒนธรรมไทย โดยบูรณาการประเด็นสมุนไพรร่วมกับอาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ผลักดันคุณค่าของสมุนไพรไทยร่วมกับอาหารไทย ตอบรับกระแสนิยมด้านรักสุขภาพ นำเสนอเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย ชูสรรพคุณที่มีคุณประโยชน์เจาะกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะด้าน เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน Plant-based และผู้สูงอายุ

ส่วนด้านการตลาด จะมีการศึกษาความต้องการของตลาด กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้การตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ สร้างเรื่องเล่าดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เน้นขยายตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มสมุนไพร รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นอกจากนี้ จะเร่งการพัฒนาตราสัญลักษณ์คุณภาพสมุนไพรที่เป็นที่ยอมรับ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการสมุนไพรเพื่อมอบรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ซึ่งสัญลักษณ์ของรางวัลมีแนวคิดการออกแบบมาจากรูปแบบของไผ่ที่สานเป็นรูปดวงดาวของเหลว และกราฟิกรูปหัวใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ทั้งนี้ ในส่วนของกรม จะเดินหน้ายกระดับศักยภาพด้านการตลาดของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สะท้อนคุณค่า และความน่าเชื่อถือผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ในการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเป็นตลาดสมุนไพรของอาเซียน

ทางด้านผลการทำงาน ในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยสร้างเรื่องเล่าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 22 ผลิตภัณฑ์ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบมาจาก Herbal Champion ได้แก่ ขมิ้นชัน กระชายดำ และบัวบก พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านออนไลน์และเครือข่ายพันธมิตร และนำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีศักยภาพขยายตลาดเชิงรุกเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรง ผ่านงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้จัดจำหน่าย สามารถสร้างมูลค่าการค้าได้มากกว่า 15 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ยาดม น้ำมันหอมระเหย และเครื่องสำอาง สมุนไพรจากน้ำนมข้าว และในปี 2566 ได้นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asia 2023 เมื่อเดือน พ.ค. 2566 จำนวน 42 ราย สามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 203.31 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม 5 อันดับ ได้แก่ ขมิ้นชันผง น้ำมะขามป้อม ขนมจากขิง เครื่องดื่มจากจมูกข้าว และเครื่องแกง ตามลำดับ

‘บก.ลายจุด’ แนะ!! รัฐบาลดันสายฉีดก้น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ วางขายสนามบิน-จัดแข่งขันออกแบบระดับชาติ

(15 ก.ย. 66) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ระบุว่า…

เดี๋ยวจะหาว่าวันๆ เอาแต่จับผิด โต้แย้งรัฐบาลไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งๆ ที่วิจารณ์ไปตามเนื้อผ้า แถมยังเสนอแนะให้ข้อสังเกต แต่ FC เพื่อไทยบางคนนี่อาการหนัก แตะหรือพูดถึงไม่ได้เลย

ล่าสุดเศรษฐาออกมาพูดแล้ว ว่าจะใช้ฐานข้อมูล และน่าจะหมายถึงใช้แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ เป็นแอปฯ สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเขามีประสบการณ์และมีฐานข้อมูล แต่ระบบเบื้องหลังจะใช้ Blockchain นั่นแสดงให้เห็นว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นประโยชน์ต่อรัฐในการนำมาปรับปรุงโครงการ ดีกว่าปล่อยให้เข้ารกเข้าพง

ทีนี้จะพูดถึงนโยบายรัฐบาลเพื่อไทยที่น่าสนใจในมุมมองของผม ไม่ใช่แจกเงินหมื่นบาท แต่อยู่ที่ Soft Power เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดรูปแบบการผลิตที่ก้าวหน้าขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการที่บูรณาการเรื่องต่างๆ เชื่อมโยงกัน

บก.ลายจุด ยังโพสต์ด้วยว่า สิ่งที่ฝรั่งทึ่งเมื่อมาเมืองไทยคือสิ่งนี้ รัฐบาลควรประกาศให้สิ่งนี้เป็นของคู่บ้านคู่เมือง และวางขายชุดสายฉีดตูดไว้ที่ร้านค้าปลอดภาษีตามสนามบิน และควรจัดการแข่งขันการออกแบบสายฉีดตูดในระดับชาติ เรื่องนี้ต้องมีฝรั่งที่เคยมาเมืองไทยพูดถึงแน่นอน กระฉ่อนโลก

‘ชัยวุฒิ’ ยก ‘ปลาช่อนแม่ลา’ ตำนานของอร่อย สร้างอัตลักษณ์จากพื้นถิ่นสู่ ‘Soft Power อาหารไทย’

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการสนับสนุนอัตลักษณ์ความเป็นไทย มุ่งสู่การเป็น Soft Power โดยระบุว่า ขึ้นชื่อว่า ‘อาหารไทย’ ไม่ว่าจะเป็นประเภท ต้ม ผัด แกง ทอด ล้วนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก อย่าง ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่เมื่อเอ่ยขึ้นมา ชาวต่างชาติจะรู้ได้ทันทีว่าเป็น อาหารไทย นั่นแสดงให้เห็นว่า อาหารไทยนี่แหละ คือ Soft Power ที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างแท้จริง

ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5F ที่รัฐบาลชุดที่แล้วได้วางรากฐานไว้ ไม่ว่าจะเป็น F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival เทศกาลประเพณีไทย ซึ่งผมเชื่อว่ายังมีศิลปวัฒนธรรมและอาหารที่คนต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยเราด้วยกันเองยังไม่รู้จัก หรือยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสอีกมาก

นายชัยวุฒิ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนอาหารท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เหมาะที่สนับสนุนให้เป็นสินค้าให้ท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ โดยยกตัวอย่างของใกล้ตัวในฐานะคนสิงห์บุรี นั่นก็คือ ‘ปลาช่อนแม่ลา’ ซึ่งเป็นปลาที่ถือกำเนิดในลำน้ำแม่ลา อยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย ในเขตพื้นที่ จ.สิงห์บุรี เป็นแหล่งน้ำที่น้ำนิ่ง มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่ว่ากันว่าเป็นปลาช่อนที่รสชาติดีกว่าปลาช่อนที่ไหน ๆ แม้แต่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ยังทรงตรัสเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น พักแรมที่เมืองอินทร์ และได้เสวยปลาช่อนแม่ลาว่า “ปลาของลำแม่ลามีรสชาติดีกว่าที่อื่น”

นั่นคือ ตำนานความอร่อยของปลาช่อนแม่ลา ที่ได้รับการยอมรับและสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญปลาช่อนแม่ลา ที่มีลักษณะเด่นลำตัวอ้วนกลม หัวหลิม และครีบหูสีชมพู ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตั้งแต่ปี 2560 อีกด้วย

แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่า จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งการทำประตูเปิด-ปิดทำให้ลำน้ำตื้นเขิน หรือหากเป็นในช่วงฤดูน้ำหลาก ก็จะเกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้ปลาในธรรมชาติเริ่มลดน้อยลงทุกที จนทางกรมประมงได้เริ่มทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาช่อนแม่ลาขึ้นมา ส่วนหนึ่งเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้ปลาสูญพันธุ์ และอีกส่วนคือการคัดพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพและสามารถสร้างมูลค่าให้กับตัวสินค้าได้ โดยเฉพาะหากต้องการส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ

“ผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้จักปลาช่อนแม่ลากันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะมีการแปรรูป และส่งเสริมเป็นสินค้าของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรีมานาน แต่ในต่างประเทศเราอาจจะต้องโปรโมตและสนับสนุนในการทำตลาด เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกันมากขึ้น มีของดีเราต้องบอกต่อครับ เพื่อพี่น้องในชุมชนจะได้มีอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นครับ”

'อดีตทูตนริศโรจน์' เผย!! ความเปรี้ยง 'ตัวเงินตัวทอง' ไทย Soft Power สร้างชื่อ จนกองถ่ายสารคดีหลายชาติมาขอถ่ายทำ

(29 ก.ย.66) นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Fuangrabil Narisroj ว่า...

ภาพตอนน้องตัวเงินตัวทองกำลังข้ามถนน เหมือนหน้าปกแผ่นเสียงของ The Beatles เลย ตอนนี้น้องเค้าเป็นบุคคลากรทางด้าน Soft Power ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างแท้จริง มีกองถ่ายสารคดีจากหลายประเทศติดต่อขออนุญาตถ่ายทำเกี่ยวกับน้องๆ หลายประเทศแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top