‘สุวัจน์’ ชื่นชม ‘ลุงเปีย’ ครูช่างเรือฉลอมจิ๋วมงคลรายแรกของไทย ยกเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ วิถีชาวประมงไทย ที่ควรอนุรักษ์สืบต่อไป

(7 พ.ย. 66) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ - Suwat Liptapanlop’ ระบุว่า…

ชื่นชม 'ลุงเปีย' ครูช่างเรือฉลอมจิ๋ว เรือมงคลรายแรกของไทย

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เจอกับคุณธนเดช บุญนุ่มผ่อง หรือลุงเปีย ครูช่างเรือฉลอมจิ๋ว เรือมงคล รายแรกของประเทศไทย ที่ห้างบลูพอร์ต หัวหิน

ลุงเปีย เป็น 1 ในครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งเกิดมาในครอบครัวชาวประมง และมีความหลงใหลในการต่อเรือมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 40 ลุงเปียได้หันกลับมาศึกษาการต่อเรือจิ๋วอย่างจริงจัง และยึดเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเรือฉลอม ในอดีตนิยมใช้เป็นเรือประมงพื้นบ้าน หรือบรรทุกสินค้าไปขายตามหัวเมืองชายทะเล รูปร่างลำเรือคล้ายเรือโป๊ะแต่มีประทุนโค้งกลางลำ ทำจากไม้ไผ่สานขัดแตะมุงด้วยจาก มีต้นกำเนิดในแถบภาคกลาง หรือที่เราคุ้นหูกันกับท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพราะมีเรือฉลอมจอดอยู่จำนวนมาก 

เรือฉลอม ไม่มีเครื่องยนต์ ใช้ธรรมชาติคือลม และใบเรือในการแล่นเรือ 

ความพิเศษของเรือฉลอมจิ๋วลำนี้ คือ ลุงเปีย ได้นำเอาเลข 9 ใส่เข้าไปเป็นองค์ประกอบของเรือ คือแต่ละด้านของเรือ จะใช้ไม้ทั้งหมด 9 แผ่น เมื่อรวมกัน 2 ด้าน จะเป็น 18 แผ่น ซึ่ง 1 รวมกับ 8 เท่ากับ 9 ความยาวจากเรือไปท้ายเรือ 36 ซม. 3 รวมกับ 6 เท่ากับ 9 ไม้ที่ใช้ต่อเรือทั้งหมดมี 27 แผ่น 2 รวมกับ 7 เท่ากับ 9 ทำให้ทุกสัดส่วนของเรือ คือเลข 9 เลขมงคลทั้งลำ 

เรือฉลอมนี้จึงเป็นเรือฉลอมมงคลรายแรกของประเทศไทย เพราะทุกสัดส่วนตกเลข 9 ทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านั้น วิธีการสร้างเรือฉลอมก็ไม่ธรรมดา เพราะใช้ไม้สักทั้งลำ และต้องเป็นไม้สักลายเดียวกันในการประกอบ เพื่อให้ลายไม้ต่อกัน หากวันไหนทำพลาด ต้องทิ้งทั้งแผ่น แล้วทำใหม่ อีกทั้งยังใช้ไม้ไผ่แทนตะปู เพื่อไม่ให้เกิดสนิม ก่อนจะลงแลคเกอร์เป็นขั้นตอนสุดท้าย

เรือฉลอมลำนี้ นอกจากจะเป็นเรือมงคล ที่มีความหมายมงคล ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่ผมประทับใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ลุงเปีย เปิดสอนให้ผู้ที่สนใจมาเรียนฟรี เพื่ออนุรักษ์การต่อเรือฉลอมจำลองให้คงอยู่ตลอดไป และยังเป็นอาชีพ สร้างรายได้อีกด้วย 

ผมขอแสดงความชื่นชมลุงเปีย ที่สร้างสรรค์ผลงานอันน่าทึ่ง ผมว่านี่จะเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวประมงไทย และทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักเมืองไทยมากยิ่งขึ้น จากเรือจิ๋วลำนี้