Friday, 3 May 2024
โควิด19

‘ประกันสังคม’ เร่งประชุมหารือผ่านระบบ Zoom ร่วมกับสถานพยาบาล รับมือโอมิครอน!! เตรียมพร้อมจัดระบบบริการทางการแพทย์ดูแลผู้ประกันตนติดเชื้อโควิด อย่างเต็มที่ และทันท่วงที

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบ Zoom ร่วมกับผู้แทนและบุคลากรทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมจำนวนกว่า 50 แห่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม 

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวกับสื่อมวลชนว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรโน 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่กำลังระบาดทั่วโลกในขณะนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ไอมิครอนแล้วกว่า 2 พันราย ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกันตน จึงกำชับให้สำนักงานประกันสังคม เตรียมแผนรับมือต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในทุกด้านหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ประกันตนที่ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น

โดยในวันนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้จัดให้มีการประชุมผ่านระบบ vdo Conference โดยคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 หารือร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ได้รับการดูแล และรักษาได้ทันที โดยมีประเด็นการประชุมฯ พร้อมแผนมาตรการรองรับร่วมกับสถานพยาบาล ในด้านการใช้สิทธิ์การรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนกรณีการติดโควิด-19 ให้สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล และสถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยทุกแห่ง กรณีที่สถานพยาบาลตามสิทธิฯ และสถานพยาบาลที่รับรักษา ไม่สามารถให้การรักษาได้หรือเกินศักยภาพในการรักษา จะทำการส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลรักษา ในสถานพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, Hospitel, Community Isolation, Home Isolation ตามแนวทางและระบบบริการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ด้านการเตรียมความพร้อมให้สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มีแผนรองรับการรักษาผู้ประกันตน โดยจัดหาเตียงให้เพียงพอต่อสถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยให้สถานพยาบาลจัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ป่วยที่อาการแสดงน้อย หรือไม่แสดงอาการ (สีเขียว) เข้ารับการรักษา ในระบบ Hospitel และ Home Isolation ซึ่งในปัจจุบันมี สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มี Hospitel จำนวนทั้งสิ้น 12,856 เตียง และจำนวนเตียงว่างคงเหลือ 3,230 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565) อีกทั้งสำนักงานประกันสังคม ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับ สปสช. ในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีแสดงอาการเล็กน้อย (สีเขียว) และประสงค์เข้ารักษาในระบบ Home Isolation โดยผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นอกจากนี้ยังมี โครงการ Factory Sandbox ในการตรวจ รักษา ควบคุม ดูแลในสถานประกอบการเพื่อการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ คือ ตรวจ : ดำเนินการตรวจคัดกรองด้วย RT – PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจSelf – ATK ทุกสัปดาห์ รักษา : ให้โรงงานจัดให้มีสถานรักษาพยาบาลขึ้นสถานแยกกัก (Factory Isolation : FAI, และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและห้องผู้ป่วยวิกฤต สำหรับผู้ป่วยสีแดง ดูแล : ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงานโดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้องออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ควบคุม : ให้นายจ้างและแรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ค่าตรวจคัดกรองโรค COVID-19 กรณีตรวจคัดกรองใน รพ. /ตรวจคัดกรองนอก รพ.โดยหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. โดยผู้ประกันตนคนไทยเบิกเงินจาก สปสช. ผู้ประกันตนคนต่างชาติ เบิกเงินจาก สำนักงานประกันสังคม กรณีตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการ ตามโครงการของสำนักงานประกันสังคมโครงการ Factory Sandbox เพื่อค้นหาผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและมีการแพร่ระบาดและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อ เบิกเงินจากสำนักงานประกันสังคม สำหรับค่าใช้จ่าย ในการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐบาล มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน มีอาการรุนแรง (สีแดง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 7,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน

กรณีมีอาการเล็กน้อย(สีเขียว) ดูแลรักษาโรงพยาบาลสนาม Hospitel Hotel Isolation ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน และค่าอุปกรณ์ในการดูแลติดตามสัญญาณชีพ 500 บาทต่อวัน ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาทต่อราย ดูแลรักษาแบบ Home Isolation และการแยกกักในชุมชน Community Isolation ค่าดูแลให้บริการผู้ป่วย สำหรับค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา ค่ายาพื้นฐาน จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่รวมค่าอาหาร 3 มื้อในอัตรา 600 บาทต่อวัน /รวมค่าอาหาร 3 มื้อ ในอัตรา 1,000 บาท ต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน กรณีรักษาในสถานพยาบาลเอกชนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ตามราคากลางประกาศกระทรวงสาธารณสุข สำหรับค่ารถรับส่งผู้ป่วย กรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกัน จ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่น จ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะ ไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับบุคลากรที่จัดการศพผู้เสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 เหมาจ่าย 2,600 บาทต่อราย

 

ปทุมธานี - ‘บิ๊กแจ๊ส’ เปิดยุทธการ!สู้ศึกโอไมครอน ฉีดพ่นฆ่าเชื้อตามสถานศึกษา เพื่อรับการเปิดเรียน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ที่โรงเรียนปทุมวิไล ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี , นายณเรศ คุชิตา ที่ปรึกษานายก อบจ.ปทุมธานี และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีเขตอำเภอเมืองปทุมธานี ร่วมเปิดยุทธการฉีดพ่นฆ่าเชื้อสู่ศึกโอไมครอน ปล่อยรถฉีดพ่นและเจ้าหน้าที่ชุดฉีดพ่นในอาคาร เพื่อฉีดพ่นฆ่าเชื้อสร้างความมั่นใจให้นักเรียนและผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนภายในสถานศึกษา ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า ทาง อบจ.ปทุมธานีได้ประสาน ผอ.โรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีอยู่ตลอดเวลา ในการเตรียมเปิดเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งทางโรงเรียนได้เตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว

โดยทาง อบจ.ปทุมธานีได้นำทีมฉีดพ่นฆ่าเชื้อเข้ามาฉีดพ่นภายในอาคารและภายนอกอาคาร รวมถึงใครที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนก็มีการฉีดวัคซีนให้สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีด เราอยากให้นักเรียนลูกหลานเราได้กลับมาเรียนตามปกติให้เร็วที่สุด เราก็เชื่อว่าที่เราทำมาทั้งหมดจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดปทุมธานี ขอให้ทาง ผอ.โรงเรียนดูระเบียบกฎต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุข เราอย่าทำให้ผิดกฎของกระทรวงฯ ที่ได้กำหนดไว้ หากมีการแพร่ระบาดจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ก็จะเป็นเกิดการเสียหายในภาพรวม จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันระมัดระวังต่อไป

ในส่วนของชุดตรวจ ATK ทาง อบจ.ได้พยายามจัดหามาให้ ซึ่งเป็นชุดตรวจที่มีคุณภาพมีความแม่นยำสูง นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน โดยต้องป้องกันตัวเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ใส่แมสก์ ล้างมือ เว้นระยะห่าง ระมัดระวังทั้งที่อยู่ที่โรงเรียนและอยู่บ้าน ทาง อบจ.ได้พยายามประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวปทุมธานีระมัดระวังกันทั้งจังหวัด โดยผมหวังอย่างยิ่งต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ และต่อสู้ผ่านสงครามครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัยทั้งจังหวัด

 

'คิวบา'​ ประกาศศักดาโครงการฉีดวัคซีนโควิด ความสำเร็จ!! ที่แซงหน้าชาติมหาอำนาจ

หากถามว่าในวันนี้ (7 มกราคม 2565) มีชาติใดบ้างในโลก ที่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วมากกว่า 80% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สกัดการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องขอบอกว่ามีไม่ถึง 10 ชาติเท่านั้นที่ทำได้ และหนึ่งในนั้นคือ 'คิวบา'​

ตอนนี้คิวบามีสถิติผู้รับวัคซีนครบ 2 เข็มสูงถึง 83% แต่หากนับจากวัคซีนเข็มแรกแล้ว คิวบาได้ฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปแล้วถึง 92% มาเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่านั้น และที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้นคือ วัคซีนที่คิวบาใช้ทั้งหมด พัฒนาและผลิตในประเทศด้วยตนเอง โดยไม่รับบริจาคจากชาติไหนเลย แม้แต่จากโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก  

ขนาดโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยเสนอที่จะบริจาควัคซีนจำนวน 1 ล้านโดสให้คิวบา แต่รัฐบาลคิวบาปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่ขอรับบริจาค แต่จะพัฒนาวัคซีนใช้เอง และยังตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ว่า ประชาชนชาวคิวบาทุกคนต้องได้ฉีดวัคซีน Covid-19 อย่างแน่นอน

จากความมุ่งมั่นนั้น หลายประเทศมองว่า ผลลัพธ์ของโครงการวัคซีนในคิวบา ถ้าไม่ล้มเหลวในการสกัด Covid-19 ก็จะนำลิ่วแซงหน้าชาติมหาอำนาจได้เลย และในวันนี้ คิวบาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โครงการวัคซีนของคิวบาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และทำให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ที่ 100% มากจริงๆ

จอห์น เคริก ศาสตรจารย์ด้านลาตินอเมริกันศึกษา จาก Dalhousie University ในแคนาดา แสดงความเห็นว่า "หากมองในมุมของคนทำงานใน Pfizer อาจจะคิดว่าคิวบา ประเทศรายได้ต่ำ ที่มีประชากรเพียง 11 ล้านคน จะเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านไบโอเทคโนโลยีได้อย่างไร แต่วันนี้คิวบาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คิวบาทำได้!" 

สิ่งที่ทำให้โครงการวัคซีนในคิวบาประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ก็คือการประเมินศักยภาพประเทศโดยหลักความเป็นจริง และมีวิสัยทัศน์

สุโขทัย - พ่อเมืองสุโขทัย ตรวจติดตามราคาสินค้า และมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ตลาดสดเมืองสุโขทัย

วันนี้ 19 ม.ค.65 นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ลงพื้นที่ตรวจติดตามราคาสินค้า และมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ตลาดสดในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี พร้อมแนะพ่อค้าแม่ค้าจำหน่ายสินค้าในราคายุติธรรม และติดป้ายราคาสินค้าอย่างชัดเจน และส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น พร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย และนายกเทศมนตรีผู้บริหารเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ลงพื้นตลาดสดเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี เพื่อตรวจติดตามราคาสินค้า โดยเฉพาะเนื้อสุกรชำแหละที่มีราคาที่สูงขึ้น และสินค้าอื่น ๆ 

ด้านนายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่าเพื่อนำผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ลงติดตามให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละกล่าวว่า ในช่วงนี้ราคาจำหน่ายสุกรชำแหละมีราคาสูงขึ้นมาก  ผู้ขายหรือพ่อค้าแม่ค้าก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากจำนวนคนซื้อลดลง  ส่งผลให้รายได้จากจำหน่ายลดลงจากเดิมประมาณร้อยละ 50 จึงจำเป็นต้องลดปริมาณการจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละลงจากเดิม 

 

พิจิตร - ผู้ว่าฯพิจิตร จัดพบสื่อแถลงข่าววันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิดแค่ 2 ราย ยืนยัน! พร้อมหาวัคซีนเข็ม 3 ฉีดครูและประชาชน

วันที่ 19 มกราคม 2565 นายไพบูลย์  ณะบุตรจอม  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้จัดกิจกรรมพบสื่อมวลชนเพื่อแถลงข่าวที่ห้องประชุมโรงแรมมีพรสวรรค์ ซึ่งจัดขึ้นโดย นางสาวอัชณัฐ  ปราถนารักษ์  ประชาสัมพันธ์จังหวัดพิจิตร รวมถึงมีผู้สื่อข่าว-นักจัดรายการวิทยุ-เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์รวมแล้วกว่า 50 คน  ที่เข้าร่วมรับฟังผู้ว่าฯพิจิตร , ดร.ปัญญา หาแก้ว  ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิจิตร , ดร.มานิตย์  นาคเมือง  ผอ.สนง.ประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 , นายจันทบูรณ์  เขตการ  ผอ.สนง.ประถมศึกษาพิจิตร เขต 2 ที่ร่วมกันแถลงข่าวในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องสำคัญคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด โดยผู้ว่าฯพิจิตร แจ้งว่า วันนี้พิจิตรพบผู้ป่วยรายใหม่เพียงแค่ 2 ราย และต่อจากนี้ก็จะเร่งเชิญชวนให้ชาวพิจิตรฉีดวัคซีนเข็ม 2 และ เข็ม 3  ให้ได้ครบ 100% โดยมีแผนให้ อสม. และหมออนามัยเดินเคาะประตูบ้านไปฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน นอกจากนี้ก็จะจัดหาวัคซีนให้บุคลากรครูของจังหวัดพิจิตรใน 12 อำเภอ ประมาณ 2 หมื่นคนเศษ ให้ได้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 รวมทั้งนักเรียนที่อายุเกิน 12 ปี  ด้วยเช่นกัน ส่วนเด็กนักเรียนที่อายุ 5 ปีขึ้นไป เร็วๆนี้ก็จะมีวัคซีนฉีดให้อีกด้วย

โดย  ดร.มานิตย์  นาคเมือง  ผอ.สนง.ประถมศึกษาพิจิตร เขต1 แถลงว่ามีโรงเรียนในความดูแล 131 แห่ง ขณะนี้เปิดทำการเรียนการสอนแบบ On Site จำนวน 129 แห่ง หรือ 97 % ส่วนครูฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครบ 100% แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยขอรับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 และเข็ม 3

นายจันทบูรณ์  เขตการ  ผอ.สนง.ประถมศึกษาพิจิตร เขต 2 แถลงว่ามีโรงเรียนในความดูแล 122 แห่ง ขณะนี้เปิดทำการเรียนการสอนแบบ  On Site จำนวน 101 แห่ง หรือ 82 % ส่วนครูฉีดวัคซีนเข็ม 1 ครบ 100% แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยขอรับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 และเข็ม 3 ด้วยเช่นกัน

ดร.ปัญญา หาแก้ว ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิจิตร แถลงว่าระดับมัธยมมีโรงเรียน 30 แห่ง ครู 1,300 คนเศษ เด็กนักเรียนรวม 17,662 คน  ครูฉีดวัคซีนแล้ว 99 % ส่วน 1% ที่ขาดไปคือมีปัญหาด้านสุขภาพจึงไม่ขอรับการฉีดวัคซีนแต่ขอใช้วิธีดูแลตนเองด้วยมาตรการเข้มข้น ส่วนเด็กนักเรียนระดับมัธยมฉีดวัคซีนแล้ว 96% แต่จาก 12 อำเภอยังมีไม่ขอฉีดวัคซีนประมาณ 600 คน เนื่องจาก ผู้ปกครองไม่ยินยอมด้วยเหตุผลส่วนตัวต่าง ๆ แต่ก็มาโรงเรียนต้องถูกตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ

รวมถึงการจัดการเรียนการสอนห้องหนึ่งก็ให้นั่งเรียนได้ไม่เกิน 25 คน โดยสรุปผู้บริหารสถานศึกษาทั้ง 3 ท่านแถลงว่าเด็กส่วนใหญ่อยากมาโรงเรียน ส่วนเด็กเล็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ไม่น่าห่วงเพราะเด็กเล็กไม่ได้เที่ยวไกลและอยู่ในสายตาของพ่อแม่- ครู –ผู้ปกครอง ที่น่าห่วงคือเด็กระดับมัธยมและอาชีวะเพราะเป็นวัยรุ่นรัศมีการท่องเที่ยวและการพบเพื่อนมากกว่าเด็กเล็ก แต่ก็ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว อีกทั้งสถิติของผู้ติดเชื้อโควิดในพิจิตรส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านหรือผู้ที่เดินทางมาจากเมืองใหญ่แล้วเอาเชื้อโควิดมาแพร่กระจายให้กับคนในครอบครัวเสียมากกว่า ส่วนการแพร่ระบาดภายในโรงเรียนมีสถิติพบน้อยมากจึงไม่น่าห่วง

 

กาฬสินธุ์ - ออกหน่วยแพทย์ พอ.สว.เคลื่อนที่! บำบัดทุกข์สร้างรอยยิ้มสู้ภัยโควิด!!

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นำส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จัดโครงการหน่วยแพทย์ พอ.สว. และโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชนสู้ภัยโควิด เพื่อให้บริการด้านสุขภาพและบริการทั่วไป ให้ประชาชนได้รับบริการเชิงรุกอย่างทั่วถึง หลังว่างเว้นการจัดกิจกรรมไปนานหลายเดือน เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 มกราคม 2564 ที่โรงเรียนบ้านนาวิทยาคม บ้านนาใหญ่  หมู่ 4 ต.ม่วงนา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานจัดกิจกรรมโครงการหน่วยแพทย์ พอ.สว.และโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้ม ให้ประชาชน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ประชาชน ร่วมงาน ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

นายวีรดนย์ ศิริ นายอำเภอดอนจาน กล่าวว่า ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ อ.ดอนจานส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และเขตป่าสงวนแห่งชาติ  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเส้นทางคมนาคม ที่หลายหมู่บ้านยังไม่ได้รับความสะดวก ตลอดจนเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำให้มีฐานะยากจน ในการจัดโครงการหน่วยแพทย์ พอ.สว. และโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชนในวันนี้ จึงทำให้ประชาชน มีขวัญกำลังใจ ที่จะดำรงชีวิตในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้

ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการหน่วยแพทย์ พอ.สว. เป็นกิจกรรมที่คณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ออกบริการรักษา ตรวจสุขภาพให้ประชาชนในพื้นที่ ของหน่วยแพทย์ พอ.สว. ขณะที่โครงการจังหวัดเคลื่อนที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน เป็นโครงการส่วนราชการต่างๆและอำเภอ ออกมาให้บริการประชาชน มีการรับฟังปัญหาของประชาชนไปดำเนินการแก้ไข ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ ในการที่จะดำรงชีวิต ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ให้ประชาชนจะได้ประกอบอาชีพตามปกติอย่างไม่กังวลใจ ในส่วนสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ในขณะนี้ มีแนวโน้มคลี่คลายลงไปมาก อย่างไรก็ตามขอฝากให้ประชาชน ไม่ประมาท เช่น สวมหน้ากากอนามัย รับการฉีดวัคซีน จ.กาฬสินธุ์ และปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายทรงพล กล่าวอีกว่า ในการจัดโครงการหน่วยแพทย์ พอ.สว. และโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชนในครั้งนี้ จัดขึ้นหลังจากที่ว่างเว้นหลายเดือน เนื่องจากเกิดสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19  

 

"นายกฯ” ห่วง เด็กติดโควิด-19 เพิ่ม เผย วัคซีนเด็กเริ่มฉีด 31 ม.ค.นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม  ห่วงใยกรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 ในเด็กเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่ได้รับเชื้อโควิด-19 จากคนในครอบครัว จึงขอให้ผู้ปกครอง พ่อ แม่ หลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ไม่เพิ่มโอกาสในการรับเชื้อ และให้ผู้ปกครองที่ต้องอยู่ใกล้ชิดเด็ก เข้ารับวัคซีนให้ครบโดส เพื่อลดโอกาสที่จะนำเชื้อมาสู่เด็กเล็ก

นายธนกร กล่าวว่า นายกฯ แนะนำว่าการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้เด็ก ควรทำควบคู่กับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง  โดยวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ที่จะเข้ามาถึงประเทศไทยวันที่  26 ม.ค.นี้  จำนวน 3 ล้านโดส จาก 10 ล้านโดส จะเริ่มให้บริการฉีดที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)เป็นแห่งแรก ให้กับเด็กที่มีโรคประจำตัว เพราะเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง ก่อนจะกระจายไปยังรพ.ต่างๆ และประสานกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับเด็กโดยกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าจะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็ก ในวันที่ 31 ม.ค.นี้  จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองให้พาบุตรหลานมารับการฉีดวัคซีนด้วยความสมัครใจ เพื่อความปลอดภัย ที่สำคัญ คือ วัคซีนใจ ด้วยการอธิบายให้เด็กมีความเข้าใจอาการของโรค การเจ็บป่วยโควิด -19  สามารถรักษาได้ รวมทั้งลดอคติกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือหายแล้ว

ครม. อนุมัติ งบกลาง 1,084 ล้านบาท แก้ไขปัญหาโควิด จ้างบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่ม 2,402 อัตรา 

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ว่า ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 1,084 ล้านบาท  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจจำนวน 2,402 อัตรา สำหรับโครงการจ้างแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ และสายงานบริการทางการแพทย์อื่น เป็นการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติมให้เพียงพอ สำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19  และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์

‘สวนนงนุชพัทยา’ จัดน้องช้างเชิดสิงโต ต้อนรับ ‘เทศกาลตรุษจีน’ พร้อมขยายเวลา ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม เที่ยวชมสวนฟรี!! ตลอดเดือน ก.พ.นี้

วันที่ 30 ม.ค. สวนนงนุชพัทยา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ได้จัดขบวนแห่ช้างเชิดสิงโต ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2565 ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เดินทางเข้ามาเที่ยวชมสวนนงนุชพัทยา โดยจะมีการจัดขบวนเชิดสิงโต นำช้างแสนรู้ทั้งหมด 8 เชือก และยังเหล่าบรรดานางฟ้า นางสวรรค์ที่มาร่ายรำอำนวยอวยพร มีอาม่า แปะยิ้ม ร่วมเฉลิมฉลองกับนักท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน โดยกิจกรรมดังกล่าว จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 31 ม.ค.-  2 ก.พ. 65 ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้ชมและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่มีขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

สวนนงนุชพัทยา ยังได้ขยายเวลาต่อโปรโมชั่น ให้กับ ผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 3 เข็ม ชมสวนนงนุชพัทยา  ฟรี!! บัตรผ่านประตู ออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมหมดอายุโปรโมชั่นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ขยายเวลาเพิ่มจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 

สำหรับโปรโมชั่น ซื้อบัตรผ่านประตู 1 ท่านฟรี 1 ท่าน ยังคงใช้สิทธิได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เช่นกัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนและมอบความสุขให้กับพี่น้องชาวไทย และยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทยให้มากยิ่งขึ้นไป  

สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โปรโมชั่นนี้ เพียงท่านแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม ที่จุดบริการก่อนผ่านประตูเข้าชมสวนนงนุชพัทยา 

สำหรับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย  สวนนงนุชพัทยาได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน SHA Plus  พนักงานของสวนนงนุชพัทยา  และพนักงานหน้าด่าน (Frontline) ที่ต้องพบเจอแขกทุกวัน ได้รับการฉีดกระตุ้น เข็ม 3 ครบ 100 %

ศบค. เผย WHO ห่วงที่หลายประเทศผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมมากเกินไป หวั่นยอดติดเชื้อทำยอดตายพุ่ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทยตอนหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ห่วงที่หลายประเทศที่กำหนดนโยบายผ่อนคลายโควิด19 มากจนเกินไป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดอีกต่อไป ซึ่ง WHO ค่อนข้างเป็นห่วง

จึงออกมาย้ำเตือนว่าการแพร่ระบาดที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้นจะหมายถึงมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโอมิครอนที่รายงานที่แรกที่แอฟริกาเมื่อ 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วโลกมียอดติดเชื้อไปแล้ว เกิน 90 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งปีของปี 63 จึงมีทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับการผ่อนคลายมากเกินไป ซึ่งประเทศที่ผ่อนคลายชัดเจนคือ เดนมาร์ก ที่เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาได้ยกเลิกมาตรการสาธารณสุขที่จำเป็นหลายอย่าง ทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รวมทั้งในแง่การดำเนินชีวิตมีการกำหนดว่า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top