Friday, 3 May 2024
โควิด19

'หมอยง' เลคเชอร์ 10 ข้อ 'วัคซีนโควิด' บทสรุป 4 ปี กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

(25 ธ.ค.66) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง ‘โควิด-19 วัคซีนกาลเวลาเป็นที่พิสูจน์’ ดังนี้…

โควิด-19 วัคซีน กาลเวลาเป็นที่พิสูจน์

ในระยะแรกที่เริ่มมีการใช้วัคซีนในประเทศไทย ที่มีวัคซีนอย่างจำกัดมาก มีความต้องการสูง ประเทศไทยได้วัคซีนเชื้อตายเข้ามาเริ่มแรก ผมและคณะได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างละเอียด มีการฉีดสูงไขว้ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แต่มีการว่ากล่าวให้ร้าย (bully) อย่างมาก ถูกดึงเข้าสู่การเมือง ขณะนี้กาลเวลาที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ข้อมูลที่กล่าวไว้ ถูกต้องทุกประการ ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของการระบาด ขอให้เป็นสังคมอุดมปัญญา จะขอสรุปข้อมูลเกี่ยวกับโควิดวัคซีน เพื่อให้สังคมได้เข้าใจ

1.วัคซีนโควิด-19 มี 4 ชนิด คือ ก. เชื้อตาย (inactivated vaccine; sinovac, sinopharm) ข. ไวรัสเวกเตอร์ (AstraZeneca; AZ) ค. mRNA วัคซีน ได้แก่ (Pfizer, Moderna) ง. โปรตีนสับยูนิต ได้แก่ Novavax

2.วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน จะมีประสิทธิภาพดีในเดือนแรกๆ หลังฉีด และระยะเวลาที่นานขึ้น จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการลดความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพจึงไม่แตกต่างกัน ไม่มีวัคซีนเทพ

3.วัคซีนเชื้อตาย กระตุ้นภูมิต้านทานได้เท่ากับการติดเชื้อในธรรมชาติ แต่ต่ำกว่า วัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA

4.วัคซีนที่ใช้มากที่สุดในโลก คือ เชื้อตาย ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณวัคซีนที่ฉีดในโลก  โดยเฉพาะใช้มากในเอเชียและแอฟริการวมทั้งอเมริกาใต้ ประเทศที่ใช้วัคซีนดังกล่าวอัตราการเสียชีวิต ไม่ได้สูงมากเท่าประเทศที่ใช้ mRNA วัคซีน อเมริกามีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน ซึ่งห่างกับประเทศจีนมาก หรือแม้กระทั่งอินโดนีเซีย และไทย อัตราการเสียชีวิตก็ต่ำกว่าอเมริกา และยุโรปมาก

5.วัคซีนทุกตัว มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ตามหลักการของวัคซีน ถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตายจะใช้เทคโนโลยีเดิม เช่นเดียวกับวัคซีน ไวรัสตับอักเสบ A, Polio ที่เป็นเชื้อตาย อาการข้างเคียง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อย น้อยกว่าวัคซีนไวรัสเวกเตอร์และ mRNA มาก รวมทั้งอาการของหลอดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิต้านทาน ก็พบได้น้อยกว่า

6.วัคซีนเชื้อตายราคาถูกกว่า mRNA มาก และการใช้ก็เก็บได้ง่าย เชื้อตายขวดละ 1 คน ขณะที่ mRNA ขวดละ  7-10 คน ทำให้เหลือทิ้งมาก และต้องเก็บที่อุณหภูมิลบ 70 องศา แต่วัคซีนเชื้อตายเก็บที่ตู้เย็นธรรมดาคือ 4 องศา การบริหารจัดการง่ายกว่า ความสูญเสียทิ้งน้อยกว่า

7.การให้วัคซีนสูตรไขว้ เป็นทางออกที่ทำให้ผลลัพธ์สุดท้าย ของวัคซีนเชื้อตายมีระดับภูมิต้านทานสูง เช่น ฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม และกระตุ้นด้วย mRNA ผลลัพธ์ที่ได้ จะเท่ากับการให้ mRNA 3 เข็ม ข้อมูลเผยแพร่ในวารสาร PGH (doi: 10.1080/20477724.2022.2108646) และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับสูตรไขว้

8.การให้สูตรไขว้ที่ใช้ในประเทศไทย เข็มแรกให้เชื้อตาย sinovac แล้วตามด้วย ไวรัสเวกเตอร์ AZ ภูมิต้านทานที่ได้ดีกว่าการให้ เชื้อตาย 2 เข็ม หรือไวรัสเวกเตอร์ 2 เข็ม และเป็นที่ยอมรับขององค์การอนามัยโลก

9.วัคซีนเชื้อตายอาการข้างเคียงเช่นไข้และอื่นๆ น้อยกว่าไวรัสเวกเตอร์และ mRNA  มาก วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ AZ จะมีอาการข้างเคียงมากในเข็มแรก และจะน้อยลงในเข็มที่ 2 และ 3 ขณะเดียวกันภูมิต้านทานก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะ vector ถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของเราที่เกิดขึ้นจากเข็มแรก ส่วน mRNA อาการข้างเคียงในเข็มที่ 2 จะมากกว่าเข็มแรก และจะมากขึ้นอีกถ้ามีการให้หลายๆ ครั้ง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การให้สูตรไขว้ทำให้ได้ mRNA จำนวนครั้งลดน้อยลง และระดับภูมิต้านทานไม่ได้แตกต่างกัน ประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มของวัคซีนและในทางปฏิบัติการให้ครบ หมายถึงให้อย่างน้อย 3 เข็ม

10.การได้รับวัคซีนไม่ว่าจะกี่เข็ม ก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้ เพราะวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเพียงแต่ว่าลดความรุนแรง เพราะระยะฟักตัวของโควิด 19 สั้นมากเพียง 2 วัน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จึงไม่มีวัคซีนเทพ ประสิทธิภาพที่แจงกันมาแต่แรก ส่วนใหญ่จากการศึกษาระยะสั้น ถ้าติดตามยาวออกไปก็จะรู้ว่าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

เมื่อผ่านมาครบ 4 ปีแล้ว ประชากรส่วนใหญ่หรือมากกว่าร้อยละ 90  ติดเชื้อไปแล้วร่วมกับได้รับวัคซีน ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ จึงเป็นภูมิคุ้มกันแบบลูกผสม เป็นภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไวรัสก็วิวัฒนาการลดความรุนแรงลง ความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นก็ลดลง โรคได้เปลี่ยนเป็นโรคประจำฤดูกาลคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และมียารักษาที่ดีขึ้นและเพียงพอ ไวรัสไม่ได้หายไปไหน การปฏิบัติตัวเพื่อลดการแพร่กระจายของโรคทางเดินหายใจ เป็นการทำที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะโรคโควิด 19 เท่านั้นยังรวมถึงโรคหายใจอื่นๆ อีกด้วย

‘หมอยง’ ชี้!! 'JN.1' เข้าสู่สายพันธุ์หลักโควิด19 ในไทย เหมือนหวัดทั่วไป ‘ติดง่าย-แต่ไม่รุนแรง’ คลายตัวช่วงเดือน 2-3

(11 ม.ค. 67) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘โควิด 19 สายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากแล้วในขณะนี้’ ระบุว่า...

ในที่สุด การคาดการณ์ว่าสายพันธุ์ JN.1 ที่ระบาดและติดต่อได้ง่าย ก็เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย

จากการศึกษาของศูนย์ไวรัส ถอดรหัสพันธุกรรม ในเดือนธันวาคม 14 ตัวอย่าง (ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่รอวิเคราะห์) ด้วยงบประมาณที่จำกัด พบว่าสายพันธุ์เด่นที่พบมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ JN.1 แล้ว หลังปีใหม่นี้สายพันธุ์ JN.1 จะเป็นสายพันธุ์หลัก หรือเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นสายพันธุ์ติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมที่ผ่านมา

สายพันธุ์ JN.1 พบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เป็นลูกของสายพันธุ์ BA.2.86 (Pilora ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อื่นทั้งหมด

เป็นตามคาดหมาย สายพันธุ์นี้เข้ามาสู่ประเทศไทย เริ่มเด่นชัดในเดือนธันวาคมและแน่นอนหลังปีใหม่นี้ ก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ JN.1 สายพันธุ์ใหม่ขณะนี้ยังไม่มีชื่อเล่น

ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 อาการไม่รุนแรง บางคนเพียงเป็นหวัด เจ็บคอเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ติดต่อได้ง่าย เป็นแล้วก็สามารถเป็นอีก จึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังปีใหม่นี้ และคาดว่าผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ โดยจะลดลงอย่างมากในเดือนมีนาคม แล้วจะสงบลง จนไปถึงฤดูกาลใหม่ในเดือนมิถุนายนปีนี้

ขณะนี้ทางศูนย์ ได้ติดตามสายพันธุ์อยู่ตลอด เนื่องจากมีงบประมาณที่จำกัด จึงทำจำนวนได้ไม่มาก เพื่อเฝ้าระวังแนวโน้มสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังแสดงในรูป จะเห็นว่าสายพันธุ์เด่นในเดือนพฤศจิกายน เป็น HK3 แล้วเปลี่ยนเป็น JN.1 ในเดือนธันวาคม และในเดือนนี้สายพันธุ์ส่วนใหญ่จะเป็น JN.1 เพราะแพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น

ความรุนแรงของโรคไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่ต้องศึกษาขณะนี้คือ ระบบภูมิต้านทานเดิมที่มีอยู่มีผลอย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่ โดยจะนำสายพันธุ์ใหม่ มาเพราะเชื้อขยายจำนวน แล้วทดสอบกับปฏิกิริยาภูมิต้านทาน ในคนไทย ที่ได้รับวัคซีนชนิดต่างๆ และการติดเชื้อที่ผ่านมา

13 มกราคม พ.ศ. 2563 ‘สธ.’ แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในไทย เป็น ‘นักท่องเที่ยวชาวจีน’ เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น

วันนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของประเทศ เป็นเพศหญิง วัย 61 ปี จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน 

ย้อนกลับไปปลายเดือนธันวาคม 2562 มีรายงานว่า ประเทศจีนพบกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ โดยยังไม่สามารถระบุเชื้อที่เป็นสาเหตุ จำนวน 27 คน และเพิ่มเป็น 44 คน ในวันที่ 3 มกราคม 2563 และกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมดนี้มีความเชื่อมโยงกับตลาดค้าส่งอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน และในวันเดียวกันนั้น ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงเริ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

ต่อมา วันที่ 8 มกราคม 2563 ไทยตรวจพบนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน มีไข้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อตรวจร่างกายแรกรับผู้ป่วยวัดอุณหภูมิได้ 38.6 องศาเซลเซียส และมีอาการไอแห้งเล็กน้อย ไม่มีน้ำมูก เมื่อสอบประวัติก็พบว่า เคยไปตลาดค้าส่งอาหารทะเลในอู่ฮั่น จนในที่สุด 13 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงยืนยันว่า พบเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกในไทย หลังจีนเปิดเผยข้อมูลเชื้อโรคดังกล่าวเพียง 1 วัน โดยระบุว่า เชื้อโรคดังกล่าวเป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า SARS-CoV-2 หรือที่องค์การอนามัยโลกประกาศชื่อภายหลังว่า COVID-19

แม้ รมว.สาธารณสุข จะแสดงความเชื่อมั่นในการหาวัคซีน หรือเพิ่มมาตรการป้องกัน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไปประชาชนเริ่มมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ป้องกันตัวเอง มีวินัยอยู่สม่ำเสมอ บวกกับมีการพัฒนาวัคซีน มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง และทำให้ประชาชนคนไทยได้กลับมาลืมตาอ้าปาก ออกไปใช้ชีวิต ทำมาหากิน ได้อย่างสบายใจมากขึ้นอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะผ่อนคลายลงกว่าเดิมแล้ว แต่เราทุกคนยังคงต้องป้องกันตนเอง ไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังเช่นเดิมจะเป็นผลดีกับตัวเราเองที่สุด

‘ชายเยอรมัน’ รัวฉีดวัคซีนต้านโควิด 217 เข็ม ภายใน 2 ปีครึ่ง อึ้ง!! ร่างกายไม่พบสิ่งผิดปกติ จนนักวิจัยเชิญตัวมาร่วมทดสอบ

(6 มี.ค. 67) เว็บไซต์ต่างประเทศ รายงานเรื่องราวสุดอึ้ง กรณีลุงชาวเยอรมันวัย 62 ปีได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 มากถึง 217 เข็ม ภายในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง อึ้งร่างกายไม่พบอะไรผิดปกติ จนนักวิจัยต้องเชิญตัวมาร่วมการทดสอบ เพื่อหาว่า การฉีดวัคซีนจำนวนมาก มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอย่างไร

ตามรายงานเผยว่า แผนกจุลชีววิทยาของมหาวิทยาลัย เอร์ลางเงิน-นูเริมเบิร์กในเยอรมนี ระบุว่า พวกเขารู้เรื่องของชายคนนี้จากข่าวหนังสือพิมพ์ จึงติดต่อและเชิญเข้ามาร่วมทำการทดสอบหลายๆ อย่าง ซึ่งเจ้าตัวสนใจที่จะเข้าร่วมการทดสอบในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

โดยทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือดและน้ำลายของชายคนนี้ที่เก็บมาตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วย ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังสามารถเก็บตัวอย่างเลือดของชายคนนี้หลังได้รับวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อศึกษาระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนอย่างไรกันแน่ โดยเขายืนยันที่จะรับวัคซีนเอง

อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกทีมวิจัยกังวลว่า การกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนซ้ำๆ มากเกินไป อาจทำให้เซลล์ในร่างกายบางตัวเหนื่อยล้า แต่นักวิจัยกลับไม่พบหลักฐานว่า ชายวัย 62 ปีรายนี้จะมีอาการเหล่านั้นขึ้น และไม่มีสัญญาณด้วยว่าเขาเคยติดเชื้อโควิดมาก่อน

นอกจากนี้ นักวิจัยย้ำว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโควิดมากเกินไป เพื่อเพิ่มการปรับตัวของภูมิคุ้มกัน ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ และผลการทดสอบชายวัย 62 ปีผู้นี้ ก็ไม่เพียงพอที่จะมีข้อสรุปที่มีอิทธิพลเป็นวงกว้าง รวมถึงการแนะนำต่อสาธารณะ

ขณะเดียวกัน การวิจัยในปัจจุบันชี้ว่า การฉีดวัคซีน 3 โดส ร่วมกับการฉีดวัคซีนกระตุ้นสำหรับคนกลุ่มเสี่ยง ยังคงเป็นวิธีที่ได้รับการสนับสนุน พร้อมย้ำว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ที่บอกว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนมากกว่านี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ชายคนนี้เคยถูกจับกุมในข้อหาฉ้อโกง หลังพบหลักฐานว่าเขาได้รับวัคซีนจากศูนย์การแพทย์ถึง 130 เข็มภายในระยะเวลา 9 เดือน แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด

รวมถึงยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชายคนนี้ยังซื้อวัคซีนมาฉีดเองอีกจำนวนมาก ทำให้ตัวเลขรวมอยู่ที่ราว 217 เข็ม

‘กรมควบคุมโรค’ ห่วง!! สถานการณ์ ‘โควิด-19’ ระบาดเพิ่มหลังสงกรานต์ สัปดาห์เดียวป่วยเข้า รพ. 1 พันราย ลุยกำชับทุกหน่วยดูแล ปชช.ให้ทั่วถึง

(22 เม.ย.67) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. มีความห่วงใยสถานการณ์โควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้สั่งการทุกจังหวัดประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม กำชับทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14-20 เมษายน 2567 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 1,004 ราย เฉลี่ย 143 รายต่อวัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ โดยพบผู้ป่วยมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง (608)

“คาดสาเหตุที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการเหมือนไข้หวัด ทำให้ไม่ระวัง ป้องกันตนเอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่ายังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของเชื้อโอมิครอน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก โดยยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา” นพ.ธงชัยกล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีลักษณะเหมือนโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่จะมีจำนวนมากหรือน้อยแล้วแต่ช่วงเวลา โดยขณะนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด เป็นต้น ทั้งนี้ โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เตียงรองรับผู้ป่วย เวชภัณฑ์ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี

‘เนเธอร์แลนด์’ พบ ‘ชายชราวัย 72 ปี’ ติดเชื้อ ‘โควิด’ จนตาย หลังติดยาวนาน 613 วัน หวั่น!! เป็นตัวกลายพันธุ์อันตรายชนิดใหม่

(22 เม.ย.67) ทีมวิจัยชุดหนึ่งจากเนเธอร์แลนด์ พบการติดเชื้อโควิด-19 ยาวนานเป็นพิเศษในคนชรารายหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตจากไวรัสมรณะชนิดนี้เมื่อปีที่แล้ว ด้วยวัย 72 ปี ก่อความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการปรากฏตัวขึ้นมาของตัวกลายพันธุ์โคโรนาไวรัสที่อันตรายกว่าเดิม

ถ้อยแถลงที่เผยแพร่โดยพวกนักวิจัย ระบุว่า ชายชรารายนี้ ซึ่งมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ก่อนแล้ว สืบเนื่องจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ก่อนหน้า เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในอัมสเตอร์ดัม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หลังมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก และไม่น่าเชื่อ ที่ผลตรวจไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของเขาออกมาเป็นบวกอยู่ตลอด จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2023 เท่ากับเป็นการติดเชื้อยาวนาน 613 วัน

ตัวอย่างการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลานานของบุคคลหนึ่งที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เคยมีรายงานมากมายก่อนหน้านี้ แต่ในการค้นพบครั้งนี้ที่นำโดย แมกดา เวอร์กัวเว จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เตรียมมีการนำเสนอต่อที่ประชุมด้านจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งยุโรป ในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 27 ถึง 30 เมษายนนี้

พวกนักวิจัยชี้ว่าเคสนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมันเน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่โคโรนาไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญบ่อยครั้งระหว่างการติดเชื้อที่ยาวนาน เพราะฉะนั้นมันจึงก่อความเสี่ยงระดับสูงของการถือกำเนิดตัวกลายพันธุ์ที่มีศักยภาพหลบหลีกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง

ผลวิคราะห์ตัวอย่างที่เก็บจากคนไข้รายนี้ พบว่ามีการกลายพันธุ์กว่า 50 ครั้งเมื่อเทียบกับตัวกลายพันธุ์ BA.1 โอมิครอน ที่กำลังแพร่ระบาดในวงกว้าง ณ ขณะนั้น บางส่วนเกี่ยวข้องกับการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน และสิ่งที่น่ากังวลคือ แค่ 21 วันหลังจากชายรายนี้ได้รับยาต่อต้านโคโรนาไวรัสพิเศษชนิดหนึ่ง ไวรัสได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการพัฒนาการต่อต้านยาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ไวรัสมีพัฒนาการอย่างกว้างขวางในคนไข้รายนี้ แต่ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าเขาแพร่กระจายไวรัสตัวกลายพันธุ์ไปสู่คนอื่น ๆ

ทั้งนี้ ในถ้อยแถลง พวกนักวิจัยเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดต่อวิวัฒนาการของโควิด-19 ในบุคคลที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง พวกเขาเตือนถึงความเป็นไปได้ของการปรากฏตัวและการแพร่ระบาดตัวกลายพันธุ์ที่อาจก่อความท้าทายแก่ระบบภูมิคุ้มกันของบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง

'หมอธีระ' เตือน!! โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ชี้!! รอบนี้มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยหนัก ไม่ใช่ผู้สูงอายุ

(29 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Thira Woratanarat’ ระบุว่า... 

วิเคราะห์การระบาดของไทย…
สัปดาห์ล่าสุด 21-27 เมษายน 2024

จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,672 ราย เสียชีวิต 9 ราย ปอดอักเสบ 390 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 148 ราย

ผู้ป่วยนอนรักษาตัวใน รพ.มากกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 66.5% และขึ้นต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ติดต่อกัน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 เท่า

จำนวนปอดอักเสบ เพิ่มขึ้น 33.6% และใส่ท่อช่วยหายใจก็เพิ่มขึ้น 46.5%

คาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่ต่อวันอย่างน้อย 11,943-16,588 ราย

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าจำนวนติดเชื้อจริงจะมากกว่านี้

ชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นข้างต้น ไม่ได้เป็นการเพิ่มเล็กน้อย แต่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ

แม้จะมีลักษณะพุ่งขึ้นคล้ายปีก่อน แต่จำนวนผู้ป่วยเริ่มต้นก่อนสงกรานต์ปีนี้นั้นมากกว่าปีก่อนอย่างมาก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์จะหนักกว่าเดิม หากไม่ป้องกันควบคุมโรคให้ดี

หากดูจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 148 ราย เป็นคนที่ไม่ใช่สูงอายุคือ 0-59 ปี ถึง 55 ราย คิดเป็น 37.1% มากกว่าหนึ่งในสามของทั้งหมด ดังนั้นแม้ไม่ใช่ผู้สูงอายุ ก็ควรป้องกันตัวให้ดีเช่นกัน

โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาล แต่แปรผันกันปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องเทศกาล กิจกรรม รวมถึงพฤติกรรมป้องกันตัวของประชาชน

ติดแต่ละครั้ง นอกจากเสี่ยงป่วย ป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตแล้ว ยังเสี่ยงต่อ Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตระยะยาว

ช่วยกันป้องกันตัวนะครับ เพื่อให้ตัวเรา และคนที่เรารักปลอดภัย

อย่าปล่อยแบบ let it rip เพราะสุดท้ายแล้วผลลัพธ์สุขภาพที่เกิดขึ้น ไม่มีใครแบกรับ นอกจากตัวเราและครอบครัว…


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top