Saturday, 11 May 2024
เศรษฐาทวีสิน

‘นายกฯ’ รับฟัง-ติดตามความคืบหน้าคดี ‘กำนันนก’ แล้ว พร้อมร่วมถกปัญหาเพื่อปราบปรามยาเสพติดหลายเรื่อง

(10 ก.ย. 66) ที่บ้านพิษณุโลก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการหารือการแก้ไขปัญหายาเสพติดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั้นๆ ว่า มีการพูดคุยหารือกันหลายเรื่อง ได้รับฟังข้อมูลจากผู้เข้าร่วมประชุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้สั่งการอะไร พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.ที่เข้าพบหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยังสั่งการอะไรไม่ได้ เป็นการมารับฟังข้อมูลเฉยๆ เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รายงานความคืบหน้าคดีกำนันนกหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้มีการรายงาน

อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐา เปิดเผยอีกว่า วันนี้ได้มีการเดินดูภูมิทัศน์บ้านพิษณุโลก ถือว่าดี สะอาดสะอ้าน การดูแลรักษาดี โดยจะมาใช้บ้านพิษณุโลกประชุมบ้าง จัดเลี้ยงบ้าง แต่จะไม่ได้นอนที่นี่ 

‘เศรษฐา’ แถลงนโยบายรัฐบาล  50 นาทีรวด  ลั่น!! เดินหน้าทุกนโยบายด้วยความซื่อสัตย์

(11 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีครม. สส. และ สว. เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า ครม. มีนโยบายรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม นำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศให้ก้าวหน้า วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในประเทศที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้เป็นรูปธรรม ขณะที่ปัญหาสังคมและการเมืองยังยืดเยื้อ ฝังรากลึก ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจประเทศกว่าร้อยละ 30.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ภาคส่งออกติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงกว่าร้อยละ 90 ของจีดีพี หนี้สาธารณะสูงกว่าร้อยละ 61 อาจกลายเป็นข้อจำกัดด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต 
โชว์จุดยืนหนักแน่นพิทักษ์สถาบัน

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ส่วนภาคการเกษตร ประชากรกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน อยู่ในภาคที่ทำงานหนัก แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 7 ต่อจีดีพี ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 แสนบาท ส่วนด้านการเมืองมีความเห็นต่าง แบ่งแยกทางความคิด ทำให้สังคมอยู่ในจุดน่ากังวล ข้อกฎหมายไม่ทันสถานการณ์บ้านเมือง ปัญหาทุจริต อาชญากรรม ยาเสพติดรุนแรงขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤตศรัทธาประชาชน กลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รัฐบาลมีกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วนได้แก่ กรอบระยะสั้น จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าประชาชนอย่างรวดเร็ว ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว จะเสริมขีดความสามารถให้ประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันประเทศไทยเปรียบเหมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 จนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง จะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบ รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี และจะช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศ เตรียมความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่

“นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายเร่งด่วนอีก 4 ข้อ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนได้แก่ 

1.การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนการเงิน สำหรับภาคประชาชน ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนากลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ฟื้นตัวกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง 

2.ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน จะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทันที จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ วางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังเพิ่มเติม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า 3.ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อสร้างงานให้ประชาชนจำนวนมาก จะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอวีซ่า การยกเว้นเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่ากลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การยกระดับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก ปรับปรุงสนามบิน และจัดการเที่ยวบ้นของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ

และ 4.การแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ รัฐบาลจะหารือแนวทางทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย เป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประเทศมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากสุดในการพัฒนาประเทศ

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้ โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเปิดประตูสินค้าและการบริการของประเทศสู่ตลาดใหม่ ๆ อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ การเร่งการเจรจากรอบความร่วมทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อดึงดูดการลงทุน การส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจกการค้าตามแนวชายแดน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ ตอบสนองความต้องการสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ของโลก ส่วนภาคการเกษตร จะสร้างรายได้ภาคการเกษตร โดยใช้หลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพภาคการเกษตร การหาตลาดให้สินค้าเกษตรได้ขายในราคาที่เหมาะสม การฟื้นอุตสาหกรรมประมง แก้ไขข้อกฎหมายให้เหมาะสม จะบริหารจัดการภาคการเกษตรที่ครบถ้วนทุกด้าน มีเป้าหมายทำให้รายได้เกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายใน 4 ปี

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายสร้างและขยายโอกาสให้ประชาชน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ เพื่อสร้างโอกาสการมีอาชีพ รายได้ จะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน พิจารณาเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด ให้นำไปต่อยอดเข้าถึงแหล่งทุนได้ รวมถึงการปลดล็อกแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับของรัฐที่เป็นข้อจำกัดของประชาชน เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนในการสร้างรายได้ เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบสุราพื้นบ้าน การบริหารรูปแบบการกระจายอำนาจ เพื่อสร้างประสิทธิภาพการบริหารงานแต่ละจังหวัดให้ตอบสนองความต้องการประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาให้บริการ ขจัดช่องโหว่การทุจริต ลดค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ ยกระดับพัฒนาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้ จะสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะ ซอฟต์เพาเวอร์การปฏิรูปการศึกษา สร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

นายเศรษฐา กล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพประเทศ จะปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้ทันสมัย จะร่วมพัฒนากองทัพให้มีศักยภาพ โดยเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารให้เป็นแบบสร้างสรรค์ ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง กำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องบทบาทภารกิจ ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานกระทรวงกลาโหมให้โปร่งใส ขณะที่ด้านความปลอดภัยจะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดจากสังคมไทย นอกจากนี้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ การยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกลไปโรงพยาบาลในเมือง ลดความแออัดและภาระบุคลากรทางการแพทย์ การผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า ในอนาคต 4 ปีข้างหน้า จะเป็น 4 ปีที่รัฐบาลวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกรณีการดำเนินงานที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายรัฐนั้น รัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีเป้าหมายทั้งในด้านการเจริญเติบโต การลดความเหลื่อมล้ำ การรักษาเสถียรภาพให้ความสำคัญกับกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด รัฐบาลจะใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสม จะตระหนักถึงข้อจำกัดด้านรายได้ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีประชาชน จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปกับการเร่งส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประชาชน

“ท้ายที่สุดรัฐบาลขอให้ความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง จะตั้งใจ ทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลาน” นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ นายเศรษฐาใช้เวลาแถลงนโยบายทั้งสิ้น 50 นาที
 

‘เศรษฐา’ ให้กำลังใจนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย หวังให้ผ่านรอบคัดเลือกโอลิมปิก ยัน!! รบ.พร้อมสนับสนุนเต็มที่

(11 ก.ย. 66) ที่ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบโอวาทนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ชุด ‘คัดโอลิมปิก 2024’ โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย นายสมชาย ดอนไพรยอด ผู้จัดการทีม นายดนัย ศรีวัชรเมธากุล หรือโค้ชด่วน หัวหน้าผู้ฝึกสอนกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย นำคณะนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงฯ เข้าพบรับโอวาทจากนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี กล่าวให้โอวาทพร้อมให้กำลังใจนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ว่า ได้ติดตามให้กำลังใจมาโดยตลอด ขอให้ทุกคนภูมิใจกับความสำเร็จและรางวัลที่ได้รับจากความทุ่มเท จากความสามารถของทุกคน ซึ่งนอกจากรางวัลที่ได้รับแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความสุขสร้างรอยยิ้มให้กับคนไทยทั้งประเทศ พร้อมกับกล่าวอวยพรให้นักกีฬามีสุขภาพแข็งแรง รักษาสุขภาพ อย่ามีอาการบาดเจ็บ จะได้ทำหน้าที่ในฐานะทีมชาติไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังให้นักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยผ่านรอบคัดเลือก ได้เข้าไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก 2024 ตามที่ทุกคนคาดหวัง โดยในส่วนของรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนโครงการ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ และกำชับให้ดูแลด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อช่วยเรื่องศักยภาพสร้างความเข้มแข็งให้นักกีฬาด้วย

สำหรับการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงโอลิมปิก 2024 รอบคัดเลือก กำหนดแข่งขันระหว่างวันที่ 16 - 24 กันยายน 2566 ณ ประเทศโปแลนด์ โดยทีมชาติไทยอยู่ในกลุ่ม ซี ร่วมกับประเทศโปแลนด์ (เจ้าภาพ) โคลอมเบีย เยอรมนี อิตาลี สโลวีเนีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยพร้อมผู้ฝึกสอนจะออกเดินทางไปร่วมแข่งขันฯ ในวันที่ 12 กันยายน 2566 นี้

‘สว.สมชาย’ มอง ‘ร่างนโยบาย รบ.เศรษฐา 1’ เลื่อนลอย-ไม่ชัดเจน ขาดรายละเอียดเรื่องความยั่งยืน-สังคมปรองดอง-ปราบคอร์รัปชัน

(6 ก.ย. 66) นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน และสมาชิกวุฒิสภา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการแถลงนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 11 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO / MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญจาก นายสมชาย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า…

“ผมเสียดายนิดเดียวว่า นโยบายฉบับนี้น่าจะใช้โอกาสในการเปลี่ยนแปลงเรื่องที่สําคัญ คือการเป็นรัฐบาลสลายขั้ว ที่ฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย มาเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรครัฐบาลเก่า เช่น ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ก็น่าจะมีนโยบายที่เด่นชัดในเรื่องการปรองดอง สมานฉันท์ แต่กลับไม่ชัด ท่านนายกก็พูดถึงเรื่อง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อจากท่านพลเอกประยุทธ์ แต่ว่าในนโยบายยังไม่มีเลยว่าจะสานต่อนโยบายมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างไร”

นายสมชายกล่าวต่อว่า “ต่อมาคือเรื่องการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ประเทศไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนละ 5 ปี โดยหลักยุทธศาสตร์ชาติ ต้องวางกัน 20 ปี อย่างในเนเธอร์แลนด์วางยุทธศาสตร์ชาติเกี่ยวกับน้ำ 50-100 ปี แต่เราก็ไม่ได้เน้นในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ แต่มองเพียงว่าในระยะ 4 ปีรัฐบาลจะทําอะไร มันก็เลยไปเกี่ยวพันกับเรื่องของเงิน สําหรับการทํางานเฉพาะหน้า”

นายสมชายระบุต่อว่า “ยกตัวอย่าง เช่น ในสมัยพลเอกประยุทธ์ ก็จะมีการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไว้ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และกำลังจะมีแลนด์บริจด์เกิดขึ้นที่ระนอง-ชุมพร เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า หรือแม้แต่เรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผมคิดว่าหากต่อยอดก็จะทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ตามยุทธศาสตร์ ในคำอธิบายของรัฐบาลไม่ชัดเจนตรงนี้ จึงทำให้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา-กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะเป็นจุดอ่อน”

นายสมชาย ได้กล่าวถึงเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่ายจริงในปีต้นปี 2567 ว่า… “ในส่วนของเรื่องเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ผมก็มองว่า เราใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเทียบเท่ากับงบประมาณในการนำเงินลงทุนต่อปีเลย นโยบายนี้ถ้าทำสำเร็จ มันก็มีประโยชน์ เพียงแต่ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวไม่ได้ เป็นเหมือนการให้ยาสเตรียรอยด์ เพื่อรักษาโรค หากให้ในระยะยาว ก็จะเกิดอาการป่วย ต่อมาจะเป็นคำถามว่า เอาเม็ดเงินจากไหนมาทำนโยบายนี้ ใช่การไปดึงเงินคลัง หรือทุนสำรองมาทำหรือไม่? จะกลายเป็นประเด็นเหมือนช่วงจำนำข้าว ที่นำเงิน ธ.ก.ส. หรือออมสิน มาใช้ ก็ต้องดูให้ดี”

นายสมชาย กล่าวต่อว่า “อีกเรื่องที่น่ากังวลคือ การให้สิทธิ์แบบถ้วนหน้า คือให้คนที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ผมมองว่ามันไม่ควรจะจ่ายให้ทุกคน เพราะมันไม่มีคําตอบว่าทําไมถึงจะต้องให้ 56 ล้านคน แต่หากมองในมุมร้ายก็มองว่าเป็นการนําไปสู่คะแนนเสียงในการเลือกตั้งสมัยหน้า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความต้องการใช้เงิน จุดประสงค์ของการเกิดนโยบายนี้คือกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คนจนใช้เงินมากกว่าคนรวย เมื่อมีนโยบายนี้ก็จะนำเงินมาใช้ทั้งหมด แต่สำหรับคนมีเงินหรือคนรวย ก็จะมองว่าเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อย ก็อาจจะไม่ได้ใช้เงินตรงนี้ได้ตามจุดประสงค์ ส่วนช่องทางในการจ่ายเงิน ผมมองว่าควรใช้ผ่านแอปเป๋าตัง ซึ่งเป็นแอปที่มีอยู่แล้ว มีทั้งข้อมูล รายละเอียดต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องทำแอปใหม่แต่อย่างใด”

เมื่อถามว่า นโยบายที่รัฐบาลแถลง ส่วนหนึ่งก็มาจากสิ่งที่เคยพูดไว้ตอนหาเสียง ซึ่งพอได้เป็นรัฐบาลแล้ว หากไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ก็จะโดนประชาชนกดดันหรือเปล่า? นายสมชาย ระบุว่า “ตอนเพื่อไทยจับมือพรรคต่าง ๆ จัดตั้งรัฐบาล ผมก็ได้แสดงความยินดี แล้วก็เสนอไป 11 ประเด็นแล้วว่าต้องเอานโยบายมาหลอมรวมกัน พอถึงการหลอมรวม ก็ต้องอธิบายชาวบ้านได้ว่าเงินดิจิทัลหมื่นบาทของเพื่อไทย ขณะนี้ได้ประชุมกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เห็นว่าไม่สามารถแจกได้ทุกคนเห็นควรที่จะทําให้มันถูกต้อง แล้วก็ใช้บัตรพลังประชารัฐ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นตัวตั้ง แล้วก็แจกให้กับพี่น้องคนที่เขาลําบาก แล้วก็ไม่ต้องไปจํากัดเวลาด้วยว่าต้อง 6 เดือนเท่านั้น อีกอย่างการใช้เงินดิจิทัลนี้มีข้อครหาว่ากำลังมีคนรอช้อนซื้อ ซึ่งฟังดูไม่ดีเลย แล้วพวกเรื่อง Blockchain ก็ตรวจสอบได้ยาก หาที่มาที่ไปไม่ได้ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังเดินหน้านโยบาย ต้องแยกให้ชัดเจนนะว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องพุ่งเป้าไปที่ตัวคนที่ต้องถูกกระตุ้น”

เมื่อถามถึงภาพรวมในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถูกศิริกัญญา สส.จากพรรคก้าวไกลออกมาเปรียบเทียบว่าสู้รัฐบาลประยุทธ์หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ นายสมชาย กล่าวว่า… “ขอกล่าวถึงเฉพาะรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์นะครับ เพราะรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับคุณศิริกัญญา เนื่องจากตอนนั้นเรื่องจำนำข้าวมันชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ในการแถลงนโยบาย 12 ข้อนั้นถือว่าค่อนข้างชัดเจนและก็เดินไปสู่เป้าหมายได้ แต่การมาเขียนนโยบาย 2-3 บรรทัด แล้วบอกว่าจะทำ ก็มองว่าไม่สามารถทำได้ อาจจะไม่ต้องเขียนลงรายละเอียดทั้งหมด แต่ต้องเขียนให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร และมีความหนักแน่น เช่นนโยบายในอดีต เรียนฟรี 12 ปี”

“ส่วนในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง แต่คุณเศรษฐาก็พูดไว้ดีนะครับว่าจะยึดหลักนิติธรรม แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไร อย่างเช่น ในกรณีคุณทักษิณที่ได้รับอภัยโทษแล้ว หากไม่มีการขอลดโทษอีก ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการยึดหลักนิติธรรม ประชาชนก็จะมองว่าน่าเชื่อถือ ต่อมาคือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องประกาศให้ชัดเจน และต้องไม่มีการทุจริตในทุก ๆ เรื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจและสมัครสมานสามัคคีแก่คนในสังคม” นายสมชายกล่าวทิ้งท้าย

‘สมบัติ’ จวก!! นโยบายด้านการเกษตรของ รบ.เศรษฐา ‘เลื่อนลอย-ไร้หลักเกณฑ์’ เป็นนโยบาย Metaverse ที่เสมือนจริง แต่ไม่ใช่ความจริง

(12 ก.ย. 66) จากรัฐสภา อภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาลของ ครม.เศรษฐา วันแรก 11 ก.ย. 2566 นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล ไว้ว่า...

นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลชุดนี้ ยังกว้าง เลื่อนลอย สร้างความฝัน ไม่มีหลักเกณฑ์ หลักประกันให้แก่พี่น้องเกษตรกร

โดยเฉพาะที่กล่าวไว้เรื่อง นโยบาย 'ตลาดนำ' นำแบบไหน เขียนไว้แต่หัวข้อ วิธีแนวปฏิบัติก็ไม่มี เช่น...

นโยบาย เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผล ก็เขียนไว้ลอยๆ ทางสมาชิกสภา และคนที่อยู่ทางบ้าน ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ว่ารัฐบาลจะหาทางออก หรือทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีได้อย่างไร เกษตรกร รอความหวัง รอทางรอด กันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหาเสียง โดยจะทำให้ราคาสินค้า 'ขึ้นยกแผง' และกล่าวว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มอีก 3 เท่าภายใน 4 ปี

แต่ในคำแถลงนโยบายของท่าน เผยว่า มีเป้าหมายทำให้รายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ... ตรงไหน คือ 3 เท่า ก็ไม่มีบอก บอกว่าจขึ้นเป็นนัย และนี่คือความไม่ชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้

สำหรับพี่น้องเกษตรกร ที่กำลังมีความหวังกับรัฐบาลชุดนี้ แต่กลับต้องมาเจอกับการไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ เพื่อออกมาให้เขาชื่นอกชื่นใจ

ผมขอยกตัวอย่าง พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด (ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่าง 'ข้าว' อย่างเดียวก็ได้ เพราะประเทศไทยเราผลิตข้าวได้มาก

เวลาผลผลิตข้าวออกมาในช่วงฤดู แน่นอนว่าคนย่อมต้องการขาย เยอะกว่าคนต้องการซื้อ แต่ถ้าราคาตกต่ำแล้ว ท่านจะมีมาตรการอย่างไร ที่จะรองรับสถานการณ์ข้าวล้นตลาดได้บ้าง

เพราะตอนข้าวล้นตลาด ท่านก็เคยบอกว่าไม่เอาประกันราคาข้าว ไม่เอาจำนำราคาข้าว แล้วท่านจะมีวิธีการทำให้ข้าวราคาดีได้อย่างไร

สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เรามีโครงการ 'ประกันรายได้' ซึ่งได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร เฉพาะข้าวอย่างเดียวมากกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน และถ้ารวมพืชเศรษฐกิจทั้ง 5 ชนิด เกษตรคนไทยที่ได้รับประโยชน์ก็มีมากกว่า 8 ล้านครัวเรือน สะท้อนให้เห็นถึงการดูแลจากรัฐบาลหลังเกษตรกรปลูกพืชต่างๆ ขึ้นมาแล้ว จะไม่ต้องประสบกับความยากลำบาก

แต่ว่าวันนี้รัฐบาลชุดนี้ มีแต่โยบายภาพลวงๆ กว้างๆ ไม่ชัดเจน ไม่มีแนวปฏิบัติ

ดังนั้น ผมจึงอยากเรียกนโยบายชุดนี้ว่า 'นโยบาย Metaverse อยู่ในโลกเสมือนจริง ที่ไม่ใช่ความจริง'

มีแต่นโยบายที่สร้างให้คนฝัน ปิดสวิตช์เมื่อไร เราก็จะกลับสู่โลกแห่งความจริง ก็คือ 'เกษตรกรลำบากเหมือนเดิม'

อันที่จริงรัฐบาลนี้ ยังมีนโยบายหาเสียงอีกมากมาย แต่กลับไม่ได้นำมาบรรจุไว้ เช่น...

นโยบายโคขุนเงินล้าน ... หายไปไหนครับ? เกษตรกรที่อยากรวยเงินล้าน เขารอท่านอยู่ แต่กลับไม่มีอยู่ในเนื้อนโยบายแถลง

นโยบายทุเรียนล้านไร่ ... อยู่ไหนครับ? 

นโยบายปลูกพืชทดแทน ... พืชตัวไหนราคาตกต่ำ จะหาพืชมาทดแทนให้ คำถามคือ ชนิดไหนบ้าง หรือแม้แต่เลี้ยงสัตว์ทดแทนชนิดไหนบ้าง ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จริง

นโยบายสนับสนุนประมงพื้นบ้าน ... ไม่มีครับในคำแถลง

ทั้งหมดเป็นคำพูด เป็นนโยบายที่สวยหรู เพื่อขอคะแนนจากพี่น้องประชาชน ให้ชนะเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ ท่านไม่ได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงใช่หรือไม่

ผมหวังให้พวกท่านหลุดออกจาก Metaverse แล้วกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างตรงจุดและเป็นความหวังให้พวกเขาได้จริงๆ

‘นายกฯ’ เตรียมหารือกฤษฎีกา ยกเลิกคำสั่ง คสช. รีเซตกฎหมายที่ไม่จำเป็น ชี้ ฉบับไหนโละไม่ได้ เอาเข้าครม.พิจารณาใหม่ ย้ำ ต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม

(14 ก.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความ…

"รัฐบาลนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานในรูปแบบ ‘รัฐสนับสนุน’ ในการยกเลิกคำสั่ง คสช. นั้น คงต้องปรึกษากฤษฎีกาด้วย หากกฎหมายบางข้อไม่ได้ใช้แล้ว และเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตอยู่ของประชาชน หรือการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการก็ต้องยกเลิกไป แต่ถ้ายังยกเลิกไม่ได้ก็ควรนำกลับมาเข้ามาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาใหม่เท่านั้นเอง อะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้าม บอกว่าทำไม่ได้ เราก็อยากให้มีโอกาสได้ทำ ได้คิดสร้างสรรค์ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรมทั้งหมดโดยรวมของการบริหารจัดการประเทศ รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจของประชาชนด้วย"

‘เศรษฐา’ เข้ากระทรวงการคลัง ทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รมว.คลัง อย่างเป็นทางการ

(14 ก.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เดินทางมาถึงกระทรวงการคลัง หลัง นายเศรษฐา ลงจากรถได้มีการยื่นเอกสารให้กับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จากนั้นกล่าวทักทายกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง

ก่อนที่นายเศรษฐา จะเดินมุ่งหน้าไปทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลัง เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ นายเศรษฐา เริ่มสักการะศาลพระพรหม ศาลพระภูมิชัยมงคล จากนั้นสักการะพระคลังมหาสมบัติ และสักการะองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เสด็จพ่อ ร.5)

และเดินมาทำพิธีไหว้ ตลอดจนคล้องพวงมาลัยดอกดาวเรืองที่ช้างคู่ประจำกระทรวง ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคารสำนักปลัดกระทรวงการคลัง ได้อย่างราบรื่น โดยพวงมาลัยไม่ขาด ด้วยมีความเชื่อว่าหากขาดจะเป็นฤกษ์ไม่ดี ก่อนจะขึ้นตึกร่วมประชุมมอบนโยบายให้กับผู้บริหาร ข้าราชการ กระทรวงการคลัง ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 20 นาที โดยเสร็จจากการประชุมก็มุ่งหน้าต่อที่ห้องทำงาน ก่อนที่จะมาพบปะสื่อมวลชน

‘เศรษฐา’ ยัน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ไม่มีการกู้เงิน ขอเวลาไม่เกิน 1 เดือน เพื่อสรุปแหล่งที่มา

(14 ก.ย.66) ที่กระทรวงการคลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย และประชาชนกำลังเดือดร้อน ดังนั้น กระทรวงคลังก็มีหน้าที่ช่วยซัพพอร์ตในทุกๆ เรื่อง แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใดได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวง 2 เรื่องคือ 1.การทำนโยบายต้องใช้งบประมาณเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่องวินัยการเงินการคลังสำคัญ ต้องตอบสังคมได้ว่านำเงินไปใช้อะไรบ้าง และในระยะยาวจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) หนี้สาธารณะ ควรมีสัดส่วนอย่างไรที่เหมาะสม

นายเศรษฐากล่าวว่า 2 เรื่อง วิธีการทำงานและเรื่องความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญที่รัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการระบบเส้นสาย ระบบการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม และระบบการปูนบำเหน็จ เป็นเรื่องที่เราเห็นใจข้าราชการ ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงการคลัง

“แต่ในวันนี้ผมมาพูดในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงนี้เป็นกระทรวงที่มีข้าราชการที่มีความสามารถเยอะ ทุ่มเทกายและใจตลอด หลายๆ คนก็ใฝ่ฝันตำแหน่งใหญ่ๆ ดังนั้น ใครที่มีผลงานที่ดีก็ควรจะได้รับการปูนบำเหน็จที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการกระทรวงที่สามารถออกไปภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงได้ แต่เลือกเสียสละเพื่อประเทศชาติ

“การที่ผู้มีอิทธิพลเข้ามามีเส้นสาย หรืออำนาจ ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็จะเป็นเกราะกำบังให้ ทำให้ข้าราชการทำงานได้อย่างสบาย” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้หารือเรื่องเศรษฐกิจโดยทั่วไป และเรื่องนโยบายรัฐที่ออกมาแล้วต้องเจออุปสรรคบ้างก็จะหาทางแก้ไขและปรับวิธีการทำงานต่อไป

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยืนยันว่าไม่มีการกู้เงิน ขณะเดียวกัน การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จีดีพีเพิ่ม สัดส่วนหนี้สาธารณะก็อาจจะไม่เพิ่มหรือคงที่ รัฐบาลนั้นมีความตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“ยืนยันว่า 10,000 บาท ทำได้แน่นอน มีแหล่งเงินแน่นอน แต่ในรายละเอียดขอเวลาพิจารณานิดนึง แล้วจะมาชี้แจงให้ทราบภายในไม่เกิน 1 เดือนนี้ โดยจะใช้ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ เป็นดาต้าเบสในการเขียนบล็อกเชนแอปใหม่

“สำหรับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตตอนนี้ยังไม่อยากพูดไป เพราะเดี๋ยวไม่มีความชัดเจนแล้วหาว่าผมเป็นคนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ใจเย็นๆ นิดนึง ตอนนี้มีหลายออปชัน จึงจะไปดูให้ว่าออปชันไหนที่เหมาะสมสุดและมีผลกระทบในวงการน้อยที่สุด และยืนยันว่าไม่มีการกู้เงินแน่นอน” นายเศรษฐาระบุ

นายเศรษฐากล่าวว่า ส่วนนโยบายพักหนี้เกษตรกรที่ทำมา 13 ครั้งใน 9 ปีก็ยังต้องทำต่อไป รัฐบาลตระหนักดีว่าถ้าทำการพักหนี้ แต่ไม่ควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ก็จะไม่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวตามที่ควร ดังนั้น รัฐบาลจึงอยากเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะถือเป็นภาคส่วนที่ใหญ่มาก มาตรการนี้ถือเป็นมาตรการแรกที่ออกมาช่วยเกษตรกร ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 2 คน ก็พยายามช่วยดู และหวังว่าจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องหนี้ต่อไป

“ขณะที่ปัญหาภาคส่วนอื่นๆ นั้นเดี๋ยวจะมีการคุยกันต่อแน่นอน แต่ตอนนี้ถ้าทำอะไรได้ก็จะทำการก่อน ผมไม่อยากคอยให้เสร็จทุกภาคส่วนแล้วค่อยประกาศก่อน บางส่วนจะได้สบายใจ ส่วนนี้หนี้อื่นๆ เดี๋ยวจะไปดูและจะมานำเสนอต่อๆ ไป ผมตระหนักดีถึงปัญหาทุกภาคส่วน” นายเศรษฐาระบุ 

'นายกฯ' ยัน!! แก้รธน. 'ไม่ปรับแก้ 112-ไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์' ลั่น!! นักโทษการเมืองให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

(15 ก.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านเพจ THE STANDARD ตอนหนึ่งถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีมีการตั้งคณะทำงานเพื่อทำประชามติหรือไม่เป็นการซื้อเวลาหรือไม่ ว่า ไม่ใช่การซื้อเวลาแน่นอน เป็นการตั้งคณะทำงานเพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เราทำประชามติแน่นอน ผ่านกลไกรัฐสภา ที่เป็นตัวแทนประชาชนอยู่แล้ว โดยไทม์ไลน์จะเป็นอย่างไรนั้น สสร.ต้องฟังประชามติก่อน ตอนนี้เริ่มแล้ว

“ยืนยันทำตามไทม์ไลน์ไม่ใช่การซื้อเวลา เราต้องการให้คนเห็นต่างร่วมพูดคุยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาอย่างไร โดยสิ่งที่ไม่แก้ คือ หมวดพระมหากษัตริย์ชัดเจน ส่วนเรื่องอื่นก็รอฟังประชามติ ส่วนเรื่อง 112 ยืนยันไม่มีการปรับแก้ ขณะที่นักโทษทางการเมืองก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม” นายเศรษฐา กล่าว

‘นายกฯ’ ลุยต่างประเทศ เล็งเจรจา-ชักชวน บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ลงทุนในไทย

(15 ก.ย. 66) แฟนเพจ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องของการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลให้ความสำคัญที่สุด ซึ่งในการเดินทางไปต่างประเทศก็จะถือโอกาสไปพบนักลงทุนที่จะมาลงทุนในประเทศไทยหลายบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งนั้น เพื่อกระตุ้นการลงทุน เพราะเมื่อกระตุ้นการลงทุนก็จะยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นไป

ผู้ดำเนินรายการถามว่า บอกได้ไหมว่าจะไปพบใครบ้าง ?

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Google, Estée Lauder และ Tesla และอีกหลายบริษัท โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื้อเชิญให้มาลงทุนในประเทศไทย บอกเล่าว่าประเทศไทยดีอย่างไร เหนือประเทศคู่แข่งที่เขาจะไปลงทุนอย่างไร เพื่อให้เขามาลงทุนในไทย

เศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
THE STANDARD : END GAME
วันที่ 15 กันยายน 2566


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top