Friday, 10 May 2024
เศรษฐาทวีสิน

‘เศรษฐา’ แจง!! หลังถูกสังคมวิจารณ์พฤติกรรม เผยปากกาหมึกหมด กลัวจดไม่ทัน ไม่ได้เจตนาโยน รับปากจะระวังมากขึ้น

‘เศรษฐา’ แจง!! ไม่ได้โยนปากกา หลังถูกสังคมวิจารณ์ เผยหมึกหมด-กลัวจดสิ่งที่หารือไม่ทัน รับปาก ต่อไปจะระวังมากขึ้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในจังหวะที่ นายเศรษฐาได้พบปะพี่น้องมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยระบุว่า...

“พี่น้องคนไทยหลายสิบล้านคน ต้องพึ่งพี่น้องมอเตอร์ไซค์รับจ้าง-ไรเดอร์ที่เป็นเหมือนเส้นเลือดฝอย เชื่อมต่อการเดินทางไปยังเส้นเลือดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า ช่วยหล่อเลี้ยงและมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล

เราจึงต้องดูแลคนกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจุดจอดรถ การบริหารจัดการใบอนุญาต การดูแลสวัสดิการ แพลตฟอร์ม การบังคับใช้กฎหมาย การมีเจ้าภาพดูแลอย่างชัดเจน ตลอดจนการสนับสนุนให้สามารถเปลี่ยนไปใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้

วันนี้มีโอกาสพูดคุยได้ทราบถึงมุมมองจากพี่น้องผู้ประกอบอาชีพ ก็ขอให้มั่นใจว่าเราให้ความสำคัญกับกลุ่มมอเตอร์ไซค์-ไรเดอร์ และผมได้ฝากให้ท่านสุริยะไปดูแลต่อไปครับ”

‘รัฐบาลเศรษฐา’ เตรียมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯ 8 ก.ย.นี้ ภายใต้สโลแกน ‘1 กระตุ้น 3 เร่ง 3 สร้าง’ หวังคนไทยมีชีวิตดีขึ้น

(5 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 8 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมแถลง ‘นโยบายรัฐบาล’ ครม.เศรษฐา 1 ต่อรัฐสภา โดยการแถลงนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนํามาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า นโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภา มีนโยบายสำคัญภายใต้สโลแกน ‘1 กระตุ้น 3 เร่ง 3 สร้าง’ โดยมีความมุ่งหมายให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างโอกาสในการหารายได้ ดังนี้

>> นโยบายรัฐบาล 1 กระตุ้น 

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ในร้านค้าชุมชนและบริการที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยกระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือน เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียน กระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่

>> นโยบายรัฐบาล 3 เร่ง

1. นโยบายเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลยังคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน

2. นโยบายเร่งลดหนี้ประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี เพื่อลดภาระเกษตรกรในการชำระหนี้จากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ 3 ปี และพักหนี้ธุรกิจที่เกิดร้อนจากโควิด 1 ปี รวมทั้งสนับสนุน Pico Finance เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

3. นโยบายเร่งลดราคาพลังงาน ลดค่าครองชีพประชาชน โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ราคาน้ำมัน และ ราคาไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน อีกทั้งยังช่วยค่าครองชีพอื่น ๆ เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค 

>>นโยบายรัฐบาล 3 สร้าง

1. นโยบายสร้างรายได้ อาทิ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยการขับเคลื่อนท่องเที่ยวในทุกมิติ อาทิ ฟรีวีซ่า, การบริหารจัดการ (Operations)ของสนามบินเอง, การจัดการเที่ยวบิน (Flight), การลำเลียงกระเป๋า และกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โดยตั้งเป้าหมายประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 1.9 ล้านล้านบาท เป็น 3.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2567

ขณะเดียวกันก็จะเร่งการสร้างรายได้จากการค้าการลงทุน ด้วยการใช้นโยบาย ‘การต่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจ’ ดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทย เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ให้ได้มาซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก

นอกจากยังมีนโยบายเพิ่มรายได้เกษตรกร และราคาสินค้าเกษตร ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร แปรรูป ลดต้นทุน ปรับวิธีการผลิต ใช้ตลาดนำการผลิต ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำมากที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง มาเป็นการปลูกพืชเพื่อการปศุสัตว์ หรือพืชเพื่อการเลี้ยงสัตว์ แทนการนำข้าจากต่างประเทศ ควบคู่กับการการสร้างโอกาสใหม่ ๆ เช่นการเลี้ยงโคเพื่อส่งออก รวมไปถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท

2. นโยบายสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การแจกโฉนดที่ดินให้แก่เกษตรกร แก้กฎหมายที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันและเปลี่ยนมือได้ แต่ยังคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าหาแหล่งทุนของเกษตรกร

ส่งเสริมการปลูกพืชยืนต้น เพื่อเป็นคาร์บอนด์เครดิต นโยบายส่งเสริม SME ด้วยการสนับสนุนและอุดหนุนภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ลดการผูกขาดทางธุรกิจอันเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของ SME

นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงระบบประกันสุขภาพ 30 บาท ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีมายกระดับการให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมากขึ้น รวมทั้งจะเร่งผลักดันรัฐบาลดิจิทัล ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนได้บริการที่ดีขึ้น ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา

3. นโยบายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การแก้ปัญหายาเสพติด ด้วยการจัดกลุ่มผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ต้องดูแลรักษา ฟื้นฟูให้มีอาชีพกลับเข้าไปทำงานให้ได้ แต่จะจัดการกับผู้ค้า ผู้ผลิต ด้วยการนำกฎหมายยึดทรัพย์มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการหยุดยั้งยาเสพติด รวมถึงนโยบายแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ

นอกจากนี้ยังมีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ภายใต้หลักปรัชญา ‘เรียนรู้เพื่อรายได้’ ด้วยการปรับหลักสูตรต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการสร้างรายได้ สร้างกลไกพิเศษให้ภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน ควบคู่กับการผลักดันนโยบาย soft power ในด้านต่าง ๆ

‘เศรษฐา’ น้อมนำพระราชดำรัสในหลวงบริหารแผ่นดิน ขอเป็นรัฐบาลของประชาชน มั่นใจ!! พรรคร่วมมีจุดยืนเดียวกัน

(5 ก.ย. 66) ที่โถงกลางตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวภายหลังเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยมีคณะรัฐมนตรี ยืนร่วมอยู่ด้วย โดยกล่าวว่า จะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการต่อไป ขอยืนยันเป็นรัฐบาลของประชาชน มาเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนทุกคน รัฐบาลนี้มีความตั้งใจ ปัญหามีมากมาย เราจะทำงานอย่างลืมความเหน็ดเหนื่อย ทุกวัน ทุกนาที เราจะเอาความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นที่ตั้ง 

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันศุกร์นี้จะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองคายเพื่อพูดคุยรับทราบปัญหากับพี่น้องประชาชนทุกคนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป สัปดาห์หน้าวันจันทร์จะมีการแถลงนโยบายของรัฐบาล ต่อรัฐสภา รัฐบาลนี้จะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการฟื้นฟูความยุติธรรมอันเข้มแข็งยุติธรรมโปร่งใส โดยประชาชนมีส่วนร่วม รัฐบาลจะสร้าง ความปลอดภัยให้กับประชาชนให้ประเทศมีความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนในอนาคต พรบนัดพิเศษในวันพรุ่งนี้จะพูดคุยเรื่อง แถลงนโยบายในวันจันทร์หน้า

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ขอพูดคุยภายในพรรคร่วมรัฐบาลก่อน ขอพูดคุยเป็นการภายในก่อนถึงจะแจ้งให้ทราบ ส่วนเรื่องการทำงานก็ยังต้องพูดคุยกันก่อนเพราะบางคนก็เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก ขอย้ำอะไรทำได้ก่อนจะทำทันที และขอโอกาสให้รัฐมนตรีทุกคนทำงานก่อน

นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่เคยพูดว่า 100 วัน จะทำเรื่องเงิน 10,000 บาท ให้เสร็จ ยังไม่เคยบอก แต่คิดว่าไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า และจะเป็นการจ่ายงวดเดียว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันว่า ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายแบ่งขั้วแบ่งก๊วน ยึดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง

“มั่นใจว่าทุกวันรัฐมนตรีทุกคนจะทำงานหนักนโยบายที่ประชาชนอยากได้ทำก่อนทำก่อน และยืนยันในวงกินข้าวกับรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ ไม่ได้พูดว่าหากทำงานไม่ได้แล้วจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ผมไม่ได้หมายความแบบนั้น เพียงแต่อะไรที่ทำได้ให้ทำไปก่อนอะไรที่ทำไม่ได้ก็ต้องมาช่วยกันดู แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ทำอะไรเลย 

ทั้งนี้นายเศรษฐา กล่าวถึงการนอนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “ขอดูก่อนครับ”

“ขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาลนี้ว่าเรามีความตั้งใจจริงเราตระหนักดีในปัญหาที่ประชาชนเผชิญอยู่ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจความแตกแยกทางความคิด เป็นพื้นที่รัฐบาลให้ความสำคัญเท่าเทียมกัน แล้วจะจัดการปัญหา และมั่นใจในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน” นานเศรษฐา กล่าว

'ชลน่าน' ปลื้มใจ!! หลังเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน เผย 'ในหลวง' ทรงยิ้มแย้ม ตรัสชม ‘เศรษฐา’ เป็นคนเก่ง

(5 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ว่า ครั้งนี้เป็นการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นครั้งที่ 2 ของตนเอง ต้องเรียนด้วยความเคารพว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปฏิสันถารที่ทำให้คณะรัฐมนตรีมีกำลังใจอย่างมาก ทรงมีพระราชกระแสตรัสให้กำลังใจ หลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จสิ้นพระองค์ได้เดินเข้ามาหานายกฯ ด้วยพระพักตร์ที่ยิ้มแย้ม และพูดให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อมั่นว่านายกฯ จะทำหน้าที่ได้ดี พระองค์ท่านยังทรงชมนายกฯ ว่าเชื่อมั่นว่าเป็นคนเก่งอยู่แล้ว และทรงมีพระสรวล เราเองก็มีความปิติตามที่เราได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประเทศชาติและบ้านเมือง และปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงแนวทางการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุขหลังจากนี้ว่าส่วนตัวมั่นใจในการทำงาน เพราะนายเศรษฐา ได้มอบนโยบายชัดเจนว่าเราคือรัฐบาลของประชาชน เราคำนึงถึงประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ดังนั้น กลไกในการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงสาธารณสุข อะไรที่ยึดโยงกับประชาชนดีอยู่แล้วเราก็ทำต่อไป อะไรที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อตอบสนองของประชาชนได้ดีขึ้นก็ต้องดำเนินการ ดังนั้นจึงมุ่งอยู่ที่ประชาชน ทั้งสุขภาวะร่างกายจิตใจ รวมถึงสติปัญญา เราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ รวมถึงต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไอที จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

‘เศรษฐา’ ย้ำ!! ครม. ทำงานเพื่อประชาชน ในฐานะรัฐบาลของทุกคน เน้นโปร่งใส!! ภารกิจใดทำได้โดยไม่ติดข้อกฎหมายให้เร่งทำทันที

(6 ก.ย. 66) ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ) โดยช่วงหนึ่งระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแนวทางในการทำงานให้กับรัฐมนตรี ว่า ในฐานะรัฐบาลของประชาชนคนไทยทุกคน ซึ่งได้พูดไปแล้วในหลายเวที ว่าจะเป็นรัฐบาลของประชาชน จะทำงานเพื่อประชาชน ที่ปฏิบัติตัวเคร่งครัดตามรัฐธรรม และตามกฎหมาย มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสังคม รวมถึงปัญหาความแตกแยกทางด้านความคิดทั้งหลาย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะพยายามทำงานแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อะไรที่ทำได้ก่อนโดยไม่ติดข้อกฎหมาย ขอให้ทุกท่านรีบทำ รีบสร้างผลงานออกมา เพราะว่าพี่น้องประชาชนทุกคนกำลังเดือดร้อน กำลังรอคอยการทำงานของรัฐบาล เมื่อทุกท่านเข้ากระทรวงแล้วขอเก็บรวบรวมข้อมูลมาประกอบการทำงาน พร้อมกับเน้นย้ำเรื่องการโปร่งใสในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายข้าราชการซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ขอให้เข้าใจเห็นใจข้าราชการที่ตั้งใจทำงานมาตลอดทั้งชีวิต ต้องการความก้าวหน้าทางด้านการงาน เรื่องซื้อขายตำแหน่งไม่ต้องการให้เอาเปรียบข้าราชการ ขอให้ทุกท่านให้เกียรติข้าราชการ ส่วนการจัดเตรียมงบประมาณประจำปี ขอให้คณะรัฐมนตรีช่วยไปดูกระทรวงในกำกับว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการแถลงนโยบายฯ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ขอให้คณะรัฐมนตรีตระหนักว่าเป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน ขอให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่าให้มีการแบ่งแยกพรรคพวก เป็นรัฐบาลที่ทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ 

“ทุกคน ในฐานะที่เป็นรัฐบาลของประชาชนคนไทยทุกคน ก็ขอให้ทำงานเพื่อประชาชน โดยยึดหลักของกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เพื่อมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความเดือดร้อน สังคม และความแตกแยกทางความคิด ยืนยันว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ สิ่งใดที่สามารถทำได้ก่อนโดยไม่ติดข้อกฎหมาย ก็จะเร่งดำเนินการ ขณะเดียวกันขอเน้นย้ำในเรื่องของความโปร่งใสในการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายข้าราชการ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ” นายเศรษฐา กล่าว

‘พีมูฟ’ จี้!! ‘เศรษฐา’ บรรจุข้อเสนอเรื่องที่ดินไว้ในนโยบายรัฐบาล พร้อมดันยกร่าง รธน.ทั้งฉบับ ตั้ง ‘สสร.’ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม

(6 ก.ย. 66) ที่ด้านหน้าสนง.กพ.เดิม ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ‘P-Move’ นำโดย นายจำนงค์ หนูพันธ์ และ น.ส.ศิรวีย์ ทิพย์วงศ์ รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อให้บรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล

โดยระบุว่า เนื่องจาก ช่วงรณรงค์การเลือกตั้งที่ผ่านมาภาคประชาชนได้จัด ‘เวทีภาคประชาชนเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง’ โดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเสนอนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินและการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อพรรคการเมืองและสื่อสารสาธารณะต่อประชาชนชาวไทย ถึงแนวคิดในการบริหารทรัพยากรโดยยึดหลักสิทธิชุมชน

โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยพลังประชารัฐได้ตอบรับการเข้าร่วมเวที และได้ส่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะทำงานธุรการเพื่อการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ มานำเสนอนโยบายของพรรค

ดังนั้น เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐดำเนินการตามนโยบายที่ได้ให้คำมั่นกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและประชาชน สามารถบรรลุตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ตอนรณรงค์การเลือกตั้งกับ ประชาชนในนามของพีมูฟ จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรี เพื่อให้บรรจุนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดิน รัฐสวัสดิการและประชาธิปไตย ไว้ในนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา ดังต่อไปนี้

1.) ให้ยกระดับโฉนดชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดที่ดิน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ภายใต้มาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562

2.) ผลักดันให้มีการทบทวนปรับปรุงการดำเนินงาน ของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (มหาชน) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการกระจาย การถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน สู่เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดตั้ง ‘ธนาคารที่ดิน’ ให้เป็นองค์กรที่มั่นคง และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานอย่างพอเพียง

3). แก้ไขกฎหมายคืนความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม สังคายนากฎหมาย ที่ดิน-ป่าไม้ทั้งระบบ ทบทวนและยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย.2541, มติคณะมนตรีวันที่ 26 พ.ย.2561 และมติคณะรัฐมนตรีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.) เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบ จากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ.....โดยระหว่างการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ชะลอการดำเนินคดีและการบังคับคดีทางปกครอง ก่อนการพิสูจน์สิทธิ์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายเกี่ยวกับคดีที่ดินป่าไม้ ตามที่อ้างถึง

5.) ผลักดันให้มีการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

6.) ผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยให้การจัดตั้งและสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สามารถกำหนดแนวทางได้ในทุกขั้นตอนโดยเร็ว

ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐมีนโยบายในการเปลี่ยน สปก. 4-01 ให้เป็นโฉนด ซึ่ง ขปส.ได้ประกาศจุดยืนไว้แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด ดังนั้นจึงขอสงวนสิทธิ์ในการไม่ให้การสนับสนุนนโยบาย ‘การแปลงสปก.-401 เป็นโฉนด’ อย่างถึงที่สุด และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายดังกล่าว ด้วยความรอบรอบคอบรัดกุม ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน และทำให้เกิดวิกฤติความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของที่ดินมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มีนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกมนตรี (สปน.) รับหนังสือดังกล่าวไว้เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปซึ่งกลุ่ม ผู้ชุมนุมพอใจ และใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัย ก่อนที่จะเดินทางกลับ

‘เศรษฐา’ เผย มีหลายนโยบายสำคัญรอแถลงต่อรัฐสภา ไม่กลัว ‘ก้าวไกล’ จี้ถาม มั่นใจ!! ทุกนโยบายตรวจสอบได้

(7 ก.ย. 66) ที่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐ ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่พรรคเพื่อไทย เนื่องจากยังไม่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยทันทีที่มาถึง นายเศรษฐา ได้เดินเข้าไปทักทายกลุ่มทหารผ่านศึก ที่เข้าแสดงความยินดีกับนายกฯ และรอเข้าแสดงความยินดีกับนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม 

จากนั้นนายเศษฐา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของแหล่งเงินที่จะใช้สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่าที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับหลายภาคส่วน ขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนงบประมาณว่าเงินจะมาจากไหน เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ก็ได้พูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ข้อคิดมาหลายเรื่อง โดยให้คำแนะนำว่าถ้าเราจะออกดิจิทัลวอลเล็ต ในระยะกลางและระยะยาวของประเทศระบบการเงินการคลังของประเทศจะเป็นลักษณะไหน 

อย่างเช่นตัวเลขหนี้สาธารณะจะขึ้นจะลงอย่างไร ท่านเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่จะต้องมีการพูดคุยให้เกิดความชัดเจน ไม่อยากให้มีการพูดกันไปหลายอย่าง วันนี้ขอทำการบ้านให้ดีก่อน อย่าลืมว่าวันนี้ตนยังไม่สามารถเข้าบริหารงานได้ ต้องรอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาถึงจะสั่งการได้ วันนี้ขอให้เป็นเรื่องระหว่างการพูดคุยและเก็บข้อมูลก่อน ขอร้องว่าอย่าพูดให้เกิดความสับสน ขอให้ใจเย็นนิดหนึ่ง วันนี้ข้อมูลมาจากหลายภาคส่วน 

เมื่อถามว่าจะเป็นลักษณะการออกพันธบัติเพื่อระดมทุนหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่าขอให้ใจเย็นนิดหนึ่ง ขอเวลานิดหนึ่งไม่อยากจะตอบแล้วสื่อนำไปเขียนกัน จนเกิดความเข้าใจผิด มีหลายส่วนที่สามารถทำได้ 

เมื่อถามย้ำว่าการจ่ายเงินจะเป็นลักษณะบล็อกเชนใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่าเป็นบล็อกเชนแน่นอน 

เมื่อถามย้ำว่าแม้วิธีการหาเงินยังไม่สรุปแต่ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะเดินหน้าได้ในไตรมาสแรกปี 67 เหมือนที่เคยระบุไว้ใช้หรือไม่ นายเศรษฐ กล่าวว่า ใช้ครับแน่นอนครับ 

เมื่อถามว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกวันที่ 13 ก.ย. นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลดราคาพลังงานแล้วมีเรื่องอะไรเร่งด่วนอีกบ้าง นายเศรษฐา ตอบว่า ขอให้อดใจนิดหนึ่งเพราะมีหลายเรื่อง มีเรื่องที่เตรียมไว้ยาวมาก ทั้งนี้เราได้มีการประกาศไว้แล้วว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกจะทำอะไรบ้าง และต้องไปดูว่าวันที่จะเริ่มทำได้จริงเมื่อไหร่ ถ้าพูดไปก่อนเดี๋ยวจะเกิดความสับสน อย่างไรก็ตามวันเดียวกันนี้ก็จะพูดคุยภายในเกี่ยวกับการจัดเตรียมวาระ 

เมื่อถามว่าการประชุมวันที่ 13 ก.ย. จะแบ่งงานให้รองนายกฯ เลยหรือไม่ นายเศษฐา กล่าวว่า น่าจะและกำลังทำอยู่ซึ่งวันนี้ก็จะเป็นเรื่องหนึ่งในการพิจารณากับคณะทำงาน 

เมื่อถามว่านายกฯ ระบุจะนั่งเป็นประธาน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นายกฯ จะดูแลงานด้านความมั่นคงด้วยตัวเองเลยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้จะพูดคุยกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป และยืนยันจะไปกำกับดูแล กตร.ด้วยตัวเอง 

เมื่อถามถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจโดยเฉพาะหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จะมีอย่างแน่นอน แต่จะเป็นเมื่อไหร่ขอกำหนดวันเวลาอีกครั้ง ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ส่วนตัวคิดว่าการทำงานในสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งล้อมวงกันเสียเวลาเตรียมเอกสารที่มีค่อนข้างเยอะ เราใช้การทำงานแบบจับกลุ่มการพูดคุยและรวมตัวกันทำงานดีกว่า คนจะได้ไม่ต้องมาเตรียมเอกสารกันเยอะไปหมด อีกทั้งปัจจุบันมีวิธีสื่อสารหลายวิธี จึงคิดว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจไม่มีความจำเป็น แต่มั่นใจว่าทุกเรื่องจะเดินหน้าได้เร็วกว่าที่ทำในทุกวันนี้ 

เมื่อถามว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีการกำหนดกรอบเวลาทำงานหรือไม่ว่า 100 วันจะมีผลงานอะไรออกมา นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องขอพิจารณาก่อน ยังไม่มีการพูดคุยตรงนั้น แต่ยืนยันว่าจะเห็นผลงานอย่างแน่นอน 

นายเศษฐา กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการเฟ้นหาบุคคลที่จะมารับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าใจว่าได้แล้วและจะมีการพูดคุยอย่างดี จะได้ไม่ต้องมีความสนพูดกลับไปกลับมาไม่เช่นนั้นจะทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนสับสนได้ ส่วนจะเป็นใครนั้นขอเวลาอีกนิดเดี๋ยวได้ทราบ 

เมื่อถามว่านอกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่น ๆ จะแต่งตั้งเลยหรือไม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก นายเศษฐา กล่าวว่า ก็คงมีบางส่วนด้วย เพราะหลายหน่วยงานมีการเตรียมเรื่องไว้แล้ว และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ ยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่สำคัญและตนจะคุยกับคณะทำงานว่ามีเรื่องอะไรบ้างว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่นายกฯ ต้องทำ แล้วมาไล่เรียงความสำคัญ แต่อยากให้ชัดเจนก่อนแล้วค่อยแถลงครั้งเดียวจะได้ไม่เกิดความสับสน 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยมีหลายเรื่องที่หาเสียงไว้แต่ไม่ได้บรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาฯ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอให้รอดูและฟังจากการแถลงนโยบาย วันนี้เข้าใจการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบ และเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะต้องอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ และไม่กังวลหากจะพูดซักและจี้ถามในรัฐสภา ถือเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราอาสาเข้ามาทำงานก็ต้องพร้อมให้ถูกตรวจสอบ และถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น 

ในช่วงท้ายนายเศรษฐา เปิดเผยด้วยว่า บ่ายวันเดียวกันนี้จะหารือร่วมกับ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ โดยจะหารือในประเด็นการลงทุนระหว่างประเทศว่ามีข้อติดขัดอะไรหรือไม่เพราะเรื่องการลงทุนกับต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหลังจากนั้นมีกำหนดเข้าพบและหารือกับ เอกอักคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่าขอให้สื่อมวลชนมั่นใจว่าเราจะทำงานอย่างเต็มที่ 

‘บิ๊กทิน’ แง้ม!! นายกฯ มีทางออกเรื่อง ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’ เชื่อ!! หาจุดที่ยอมรับได้ ‘ไทย - เยอรมัน - จีน’ ไม่หมางใจกัน

(7 ก.ย. 66) ที่บ้านพักย่านเกษตร-นวมินทร์ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงจุดยืนของกองทัพเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมา และการสร้างจุดสมดุลระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ ว่า ทำงานเรื่องนี้ตนมีคณะทำงานที่กำลังศึกษาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าจุดยืนควรจะเป็นอย่างไร ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหลังจากที่ตนได้เข้าทำงานที่กระทรวงกลาโหมแล้วคณะทำงานชุดนี้จะสรุปให้ฟังว่าปัญหาเมียนมาจะเอาอย่างไร

เมื่อถามว่า ปัญหาเรื่องเรือดำน้ำ จะเป็นอย่างไร นายสุทิน กล่าวว่า นายกฯ จะมีทางออกที่เหมาะสม และสังคมไม่ผิดหวัง

เมื่อถามว่านายกฯ จะใช้เวทีการประชุมสหประชาชาติ ในการพูดคุยเรื่องนี้หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า อาจเป็นไปได้ แต่นายกฯ มีทางออกที่ดี

เมื่อถามย้ำว่า มีเรื่องที่เกี่ยวกับกองทัพ เรื่องชายแดน เรื่องเมียนมาหรือไม่ เพราะว่าที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เดินทางไปด้วย นายสุทิน กล่าวว่า ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพบปะกับนานาชาติ เรื่องไหนที่เป็นประโยชน์ เรื่องไหนที่จะแก้ปัญหาได้ ท่านคงทำ

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเจรจากับเยอรมนี ให้ขายเครื่องยนต์เรือดำน้ำให้กับไทย และเจรจากับจีนหากไม่ใช้เครื่องยนต์ของจีน นายสุทิน บอกว่า ก็เป็นไปได้ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่นายกฯ เตรียมไว้ในใจ ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนแปลง ได้หากผู้ใหญ่ระดับรัฐบาลคุยกัน

เมื่อถามว่า จะไม่มีปัญหาระดับประเทศใช่หรือไม่ นายสุทิน ย้ำว่า เราจะทำให้ไม่กระทบ ทั้งจีน เยอรมนี ไทย หากจุดที่พอใจ และกองทัพไม่เสียโอกาส ประเทศชาติไปเสียประโยชน์ พันธมิตรก็ไม่เสียใจ และตนเชื่อว่านายกฯ และ นายปานปรีย์ มหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะหาจุดสมดุล และ โจทก์ที่อยู่ในใจตนก็จะหารือกับนายกฯ เช่นกัน

‘เศรษฐา’ นำคณะลุยขอนแก่น สักการะศาลหลักเมืองเป็นสิริมงคล ชาวอีสานแห่ต้อนรับ ตะโกน “นายกฯ เศรษฐา พาไปเป็นเศรษฐี”

(8 ก.ย. 66) ที่จ.ขอนแก่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่พบปะชาวขอนแก่น โดยมี สส.ขอนแก่น และอดีต สส.ขอนแก่น ได้แก่ นายภาควัต ศรีสุรพล นายสิงหภณ ดีนาง นายสุรพจน์ เตาะเจริญสุข น.ส.วิภาณี ภูคำวงศ์ นายวันนิวัติ สมบูรณ์ นายชัชวาล พรอมรธรรม น.ส.รัมภามาศ ทีฆธนานนท์ นายจตุพร เจริญเชื้อ และนางมุกดา พงษ์สมบัติ รวมทั้งนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าฯ ขอนแก่น ให้การต้อนรับ

เวลา 08.15 น. นายกฯ และคณะ ได้เดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ศาลหลักเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีกลุ่มชาวอีสาน 20 จังหวัดมารอต้อนรับ โดยได้ผูกผ้าขาวม้าและมอบพวงมาลัยให้กับนายกฯ พร้อมส่งเสียงตะโกนว่า “นายกฯ เศรษฐา พาไปเป็นเศรษฐี” ทั้งนี้ นายกฯ เดินทางมาด้วยรถยนต์โตโยต้าอัลพาร์ดสีดำ ทะเบียน กล 5558 อุดรธานี

นายเศรษฐาและคณะ ได้เดินทางมารับประทานอาหารเช้าที่ร้านเอมโอช ซึ่งเป็นร้านไข่กระทะชื่อดังใน จ.ขอนแก่น

‘เศรษฐา’ ส่งสัญญาณ!! ผ่าตัดใหญ่ตลาดหลักทรัพย์  ยกระดับการกำกับดูแลผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 66 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีเป้าหมายปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อยกระดับการกำกับดูแลประชาชนผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น ทั้งการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้น

การปรับโครงสร้างองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ โดยกรรมการตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันมีจำนวน 11 คน เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มาจากการสรรหาและการคัดเลือกของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 คน คือนายภากร ปิตธวัชชัย

อีก 6 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอีก 4 คนเป็นตัวแทนจากบริษัทสมาชิกหรือตัวแทนจากบริษัทโบรกเกอร์ โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ
.
โครงสร้างใหม่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายขึ้น โดยมีตัวแทนกระจายในแต่ละกลุ่มอาชีพ รวมทั้งตัวแทนของประชาชนผู้ลงทุน ส่วนตัวแทนของโบรกเกอร์อาจลดจำนวนเหลือเพียง 1 คน เพราะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ กระจุกตัวในกลุ่มคนแวดวงตลาดทุนและอดีตข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการคลังหรืออดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ

กรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่ขาดความหลากหลาย และเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในตลาดทุน นำไปสู่ข้อจำกัดแนวความคิดในการแก้ปัญหาตลาดหุ้น และการขาดความกระฉับกระเฉงในมาตรการปกป้องประชาชนผู้ลงทุน ซึ่งเห็นได้ชัดจากความเสียหายกรณีการแต่งบัญชี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘STARK’ ซึ่งถือเป็นความหละหลวม บกพร่องร้ายแรงของตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนั้น เมื่อพฤติกรรมโกงใน STARK ถูกเปิดโปง ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับดำเนินการแก้ปัญหาที่ล่าช้า ทั้งที่มีอำนาจในการกำกับ ควบคุมดูแล และจัดการแก้ปัญหาได้ในทันที เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลามในวงกว้าง

อีกเป้าหมายการจัดโครงสร้างการบริหารงานภายในที่นายเศรษฐา ให้ความสำคัญคือ การรื้อฟื้นบทบาทของฝ่ายกำกับ ซึ่งปัจจุบันต้องอยู่ภายใต้ฝ่ายการตลาด โดยจะยกระดับบทบาทการทำงานของฝ่ายกำกับให้มีความเข้มข้น

แยกเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระและมีความคล่องตัวในการทำงาน มุ่งการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่เริ่มต้นสัญญาณการเกิดปัญหา และมีฝ่ายที่จะตรวจสอบงบการเงิน รวมทั้งธุรกรรมต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะ โดยเมื่อพบปัญหาที่อาจสร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุนจะเข้าแก้ไขในทันทีตั้งแต่ต้นน้ำ

ไม่ปล่อยให้ปัญหาลุกลาม จนสร้างความเสียหายให้นักลงทุน และกลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดในบริษัทจดทะเบียนหลายกรณี

ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเหมือนองค์กรในแดนสนธยา เพราะสาธารณชนไม่มีโอกาสรับรู้เงินเดือนของกรรมการและผู้จัดการ ไม่รู้อัตราโบนัสพนักงานในแต่ละปี และไม่รู้การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในการดูแลกรรมการทั้ง 11 คน

รายได้ของกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมแล้วปีละประมาณ 30 ล้านบาท และกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเดินทางดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเดินทางสายการบินระดับเฟิร์สคลาส พักโรงแรมหรู กินอาหารชั้นดีราคาแพง

และแม้แต่การจัดเลี้ยงงานประชุมกรรมการ ยังสั่งไวน์ราคาแพงๆมาจิบกันเพลิน ทั้งที่การทำงานของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มักสายเกินไปเสมอ โดยปัญหาเกิดขึ้นลุกลามบานปลายแล้ว ประชาชนผู้ลงทุนได้รับความเสียหายแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จึงลงไปแก้ไข

รวมทั้งการใช้มาตรการกำกับหุ้นที่มีพฤติกรรมการสร้างราคา ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังนักลงทุนรายใหญ่ขายหุ้นทำกำไรออกไปก่อนแล้ว และมีกรณีล่าสุดหุ้นในตลาด MAI ที่ราคาถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรง ก่อนที่จะถูกถล่มขายจนราคาดิ่งลงหนัก ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเก็งกำไรขาดทุนป่นปี้

การรื้อโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ กำลังคืบคลานเข้ามา และเมื่อการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐา เข้าที่เข้าทาง การเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์อาจเกิดขึ้นทันที

แน่นอนว่า กรรมการตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 11 คน จะต้องมีใครไปใครอยู่ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

เป้าหมายในการปกป้องประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไม่ให้เสียหายจากการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซากตลอดเกือบ 50 ปีถูกกำหนดไว้แล้ว

และการรื้อโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปกป้องนักลงทุนไม่ให้ถูกปล้นจากแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นของรัฐบาลเศรษฐา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top