Tuesday, 21 May 2024
เศรษฐาทวีสิน

‘สุวัจน์’ ขอบคุณ ‘เศรษฐา’ แต่งตั้ง ‘เทวัญ’ นั่งที่ปรึกษานายกฯ ย้ำ!! ชพก.ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการทํางานร่วมกับรัฐบาล

(16 ก.ย.66) นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ได้กล่าวขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอบคุณพรรคแกนนําพรรคเพื่อไทยที่ได้กรุณาให้เกียรติให้นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้เข้าไปเป็น 1 ใน 9 ของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 

“พรรคชาติพัฒนากล้าเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร เมื่อบ้านเมืองมีวิกฤตก็ได้ร่วมมือกันทำให้งานที่ยากลําบากผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เป็นความร่วมมือของ 11 พรรคร่วมรัฐบาลในการที่จะสานต่อรวมพลังกันทํางานในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ประสบความสําเร็จ ฉะนั้น พรรคชาติพัฒนากล้า ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการทํางานร่วมกับรัฐบาล” นายสุวัจน์ กล่าว

นายสุวัจน์ กล่าวว่า การทํางานของรัฐบาล ‘เศรษฐา 1’ ทำได้รวดเร็ว อะไรทําได้ทําทันที ถูกใจและตรงกับปัญหาของพี่น้องประชาชน ถ้าสามารถรักษาอัตราความเร็วของการทํางานบวกกับประสิทธิภาพแล้วสามารถจะแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายระยะสั้น ระยะยาวที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน คือ เรื่องสินค้าราคาแพง, เรื่องลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ค่าแก๊ส ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน, การพักหนี้เกษตรกร, การพักหนี้ SME, การกระตุ้นเศรษฐกิจในเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ส่วนระยะยาว คือ การสร้างรายได้ สร้างโอกาส และการรักษาคุณภาพชีวิต โดยการเพิ่มรายได้การส่งออกเป็นหลัก, การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล, การหาตลาดการค้าใหม่, การปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม แสงแดดทำให้ต้นทุนไฟฟ้าถูกลง, การแสวงหา แก๊ส น้ำมัน ในอ่าวไทย, การกำหนดโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมัน, การสร้างโอกาสให้พี่น้องประชาชนในเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ทำกิน, การหยิบ soft power มาเป็นพลังในการต่อยอดเศรษฐกิจ ต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power 

“โดยภาพรวมถ้ารัฐบาลสามารถที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาทั้งระยะสั้น ระยะยาวให้เป็นไปตามกรอบ ตามแนวทาง พร้อมรับข้อเสนอของฝ่ายค้านได้จะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ” นายสุวัจน์ กล่าว

‘นายกฯ’ เตรียมโชว์โมเดล ‘โคกหนองนา’ บนเวทียูเอ็น หวังให้ทั่วโลกได้เห็นภูมิปัญญาที่คนไทยภาคภูมิใจ

(16 ก.ย.66) ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายเศรษฐา กล่าวว่าในการเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้ามีโอกาสก็ จะนำโมเดลโคกหนองนา ไปเสนอในเวทียูเอ็น ถึงภาพรวมของโครงการ เพราะแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องความน่าภาคภูมิใจของคนไทย ที่ต้องนำไปเสนอ

ส่วนการเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้งบประมาณในการเหมาลำเครื่องบินสูงถึง 30 ล้านบาทนั้น นายเศรษฐา กล่าวยืนยันว่า มีราคาเปรียบเทียบไว้อยู่แล้วว่าถูกกว่า เรื่องนี้อย่าให้พูดต่อเลย เพราะโฆษกและรองเลขาฯ ได้ชี้แจงไปแล้ว ซึ่งการเดินทางไปต่างประเทศทุกครั้ง จะมีการทำราคาเปรียบเทียบไว้ เป็นไปตามระบบการจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่าง

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในการเดินทางไปร่วมประชุมยูเอ็น ครั้งนี้ก็จะได้มีโอกาส ให้สัมภาษณ์และพบกับสื่อมวลชนรายใหญ่ของโลก ซึ่งอาจจะมากกว่า 3 สื่อ แต่คงต้องขอดูก่อนว่าแต่ละสื่อจะมีประเด็นอะไรบ้าง เพราะไม่อยากให้เป็นประเด็นเดียวกัน บางสื่ออาจจะอยากให้พูดถึงเรื่องพลังงานสะอาด เรื่องของเศรษฐกิจ บางสื่อก็ต้องการพูดถึงเรื่องความมั่นคง ก็คงต้องให้ข้อมูลทุกมิติ ซึ่งไม่เชิงเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ ให้กับสื่อต่างประเทศ และที่ผ่านมาก็พูดมาตลอด หากมีสื่อใดต้องการสัมภาษณ์ ตนก็ยินดีตอบ หากมีความพร้อม และเป็นคำถามที่เหมาะสม และรัฐบาลมีความพร้อมที่จะตอบ ในทุกมิติที่ถามมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกจะชี้แจงอย่างไรในประเด็นทางการเมืองเพราะมีสื่อบางแห่ง ไม่มั่นใจสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และมีผลกระทบหลายๆ ด้าน ในการบริหาร ของประเทศ นายเศรษฐา กล่าวว่า "ให้สื่อต่างประเทศเขาถามผมเองดีกว่า ถ้าเขาถามมา ผมคิดว่าผมตอบได้ แล้ววันนี้ผมมี 300 กว่าเสียง เป็นเสียงจากประชาชน วันนี้ก็เดินหน้าทำงาน ไม่หยุด"

เมื่อถามความคืบหน้าในการนัดหมายกับทางผู้นำเยอรมัน ที่จะพูดคุยในเรื่องของเรือดำน้ำว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่มีรายงานมาจากทางกระทรวงการต่างประเทศ ขอเวลานิดนึงยังมีเวลาอยู่ ตอนนี้ตารางแน่นมาก พยายามเกลี่ยกันไปเกลี่ยกันมา และวันจันทร์ที่ 18 ก.ย. ช่วงบ่าย จะมีตารางประมาณ 80-90% และระหว่างเดินทางก็จะมีการเจรจา มีการขอนัดพบกันอยู่

เมื่อถามว่า แต่ยังไม่มีการยอมรับที่ใช้เครื่องยนต์จากจีนใช่หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่ได้คุยจึงตอบไม่ได้ แต่เป็นวาระหนึ่งที่ตนให้ความสำคัญ อะไรที่เป็นเรื่องเก่า และยังไม่ถูกสะสางก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลของเราทั้ง 11 พรรคที่ต้องช่วยสะสางกันไป เพราะถือเป็นโครงการต่อเนื่องมา ต้องทำให้สำเร็จ

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน เรื่องของทูตสันถวไมตรี อย่างเรื่องหมีแพนด้าที่จะหมด MOU ในเดือนหน้าจะมีการเจรจา หรือนำกลับมาเลี้ยงอีกหรือไม่ว่า ความสัมพันธ์กับประเทศจีนเราถือว่า เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง และตนมีกำหนดที่จะเดินทางไปประเทศจีนระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.นี้

‘เศรษฐา’ ปลื้ม!! ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ขึ้นแท่นมรดกโลก ชี้!! เป็นสมบัติล้ำค่า หวังใช้ต้อนรับ นทท. เยือนไทย

(19 ก.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวแสดงความยินดีภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 45 มีมติให้ขึ้นทะเบียนแหล่งเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกว่า ประธานคณะกรรมการมรดกโลก สมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ตนขอขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษาอย่างยิ่งที่เล็งเห็นคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของเมืองโบราณศรีเทพ และมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในวันนี้ ซึ่งเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย 3 พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกัน สามารถกำหนดอายุได้ก่อนประวัติศาสตร์ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า นอกจากจะเป็นเมืองเก่าแก่ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสมัยทวารวดีแล้ว ยังมีลักษณะโดดเด่นกว่าเมืองในยุคเดียวกัน มีศิลปะ สถาปัตยกรรมที่ได้รับการยอมรับ ในชื่อศิลปะสกุลช่างศรีเทพ การขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและปกป้องสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และเป็นสมบัติอันล้ำค่า ไม่เพียงแต่ต่อคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป 

ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านให้เยี่ยมเยือนแหล่งมรดกโลกเมืองศรีเทพ รวมทั้งประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์ และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศร่วมกับประชาชนชาวไทย

'นายกฯ เศรษฐา' ประกาศความมุ่งมั่นการขับเคลื่อน SDGs ที่สหรัฐฯ ชู!! 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง-เศรษฐกิจ BCG' ให้สมาชิกยูเอ็นประจักษ์

(20 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 19 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ Trusteeship Council Chamber สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ. 2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023)

ทั้งนี้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ว่านายกฯ รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 ซึ่งถือเป็นการกล่าวถ้อยแถลงครั้งแรกของนายกฯ ที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลยังคงเน้นย้ำเจตนารมณ์ในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกประเทศในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ได้เผชิญกับความท้าทายร่วมกันมาถึงในช่วงครึ่งทางของวาระดังกล่าว และในทศวรรษนี้ ซึ่งสหประชาชาติได้กำหนดให้ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการจัดสรรแหล่งทรัพยากรและเงินทุน การลดช่องว่างทางการเงิน รวมถึงสรรหานวัตกรรมเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศสามารถรับมือกับความท้าทาย และการร่วมกันขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไทยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ผ่านมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสำหรับการดำเนินการของไทย รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจของไทย โดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ซึ่งมีบริษัทมากกว่า 100 บริษัททั่วประเทศ ตั้งเป้าขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ภายในปี ค.ศ. 2030

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีมองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีแนวทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

‘โฆษก รบ.’ แจง!! ‘นายกฯ’ ภารกิจแน่น ร่วมประชุม UNGA ที่สหรัฐฯ วอนกลุ่มจับผิดหยุดให้ข่าวเท็จ-ด้อยค่าความทุ่มเทเพื่อบ้านเมือง

โฆษกรัฐบาล แจง นายกฯ ร่วมประชุม UNGA 78 สหรัฐฯ ภารกิจแน่น จวกกลุ่มตามจับผิดให้ความเท็จต่อประชาชน แจงถึงไทย 24 ก.ย.ทั้งที่ประชุมเสร็จ 22 ก.ย.เพราะเวลาต่างกัน ยันผลหารือนักลงทุนได้ประโยชน์คุ้มค่าแน่นอน

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัย ชัชวรงค์ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงภารกิจเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เกิดข่าวลือและการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เป็นความจริงในสังคมไทย โดยระบุว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ในการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจครั้งแรกที่ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ถูกด้อยค่า และจับผิด จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตลอดเวลา

สำหรับภารกิจนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้มี 3 ด้านหลัก คือ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ซึ่งมีประเด็นหลักเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ที่นายกรัฐมนตรียังเป็นเจ้าภาพการประชุมในกรอบของอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องดังกล่าว และยังจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

ขณะที่ ช่วงเย็นของวันที่ 19 ก.ย. 66 นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมประชุม

นอกจากนี้ การเดินทางครั้งนี้ยังมีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำโลก เช่น ประธานาธบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี เวียดนาม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และเลขาธิการสหประชาชาติ รวมถึงประธาน FIFA และท่านนายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายที่จะแสวงหาโอกาสพัฒนาทีมฟุตบอลไทยในเวทีโลก รวมถึงการจัดการแข่งขันระดับโลกในประเทศไทย

โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด นายกรัฐมนตรีได้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และดึงการลงทุนจากต่างชาติให้ไหลเข้าประเทศไทย เนื่องจาก ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา การลงทุนขนาดใหญ่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบผู้บริหารขนาดใหญ่ 8-9 บริษัท อาทิ Black Rock ซึ่งเป็นบริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเงินทุน 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 250 ล้านล้านบาท แค่เพียงบริษัทเดียวจะเห็นว่ามีเงินลงทุนมากขนาดไหน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังจะได้พบกับผู้บริหาร SpaceX, Tesla, Google, GoldMan Sachs, CitiBank, J.P.Morgan และ estee Lauder, Microsoft, บริษัทเหล่านี้ เมื่อรวมกันแล้วมีเม็ดเงินลงทุนนับพันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจการเงินการลงทุน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังจะพบหารือกับทีมประเทศไทย ทีมีทูตพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือสร้างโอกาสการค้าการลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้ทิศนทางว่า ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าทางเศรษฐกิจอย่างไร และยังจะมีโอกาสพบปะกับชุมชนชาวไทยในสหรัฐฯ เพื่อรับฟังว่าคนไทยในสหรัฐฯ มีปัญหาอย่างไร และต้องการให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือในประเทศไทยทำอะไรบ้าง

“กิจกรรมทั้งหมดอัดแน่นเพียงเวลา 3 วันกว่าเท่านั้น แต่ยังมีการจับผิดถึงภารกิจ ทั้งๆ ที่มีภารกิจอัดแน่นจนถึง 22.00 น.วันที่ 22 ก.ย. 66 แต่ทำไมกลับถึงไทยในวันที่ 24 ก.ย. 66”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพมายังนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ใช้เวลาเดินทางร่วม 20 ชั่วโมง และเวลาไทยก็เร็วกว่าเวลาในนิวยอร์ก 11 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อออกเดินทางจากนิวยอร์ก เวลา 22.00 น. วันที่ 22 ก.ย. 66 ซึ่งในประเทศไทยเป็น 09.00 น.ของวันที่ 23 ก.ย. 66 และการเดินทางกลับใช้เวลาประมาณ 20 ชม. ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จะเดินทางถึงไทย เวลา 08.40 น.ของวันที่ 28 ก.ย. 66 จึงแปลได้ว่า การเอาเวลาไปตามจับผิด จึงเป็นความเท็จทั้งหมด 

ส่วนกรณีเครื่องเช่าเหมาลำการบินไทยนั้น รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร ซึ่งรับผิดชอบการบริหารจัดการเที่ยวบิน ได้ชี้แจงไปแล้ว กรณีว่าทำไมมีการนำผู้ไม่ใช่ข้าราชการการเมืองและข้าราชการการเมืองมาด้วยนั้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า ท่านมองว่าบุคคลใดก็ตามที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจ หากเดินทางมาร่วมคณะ จะสามารถช่วยงานได้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศ เพราะใครก็ตามที่สามารถเข้ามาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ขณะที่บางท่านเป็นคณะทำงานของนายกรัฐมนตรี มาแต่ต้น บางท่านเพิ่งเข้ามา

ส่วนกรณีบุตรสาวของนายกรัฐมนตรีนั้น เดินทางมาด้วยการออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งวิธีการคำนวณนั้นมีอยู่แล้ว หารเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัว คิดเป็นเท่าไหร่ ก็จ่ายเป็นราคาเต็ม และรัฐบาลไทย ก็จ่ายน้อยลง

“ยืนยันว่าการเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ โปรแกรมแน่นเอี้ยด และประเทศไทยได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าอย่างแน่นอน”

‘นายกฯ เศรษฐา’ หารือทวิภาคี ‘ประธานาธิบดีเกาหลีใต้’ พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ

(21 ก.ย.66) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายยุน ซ็อก ย็อล (Mr. Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้พบหารือทวิภาคี กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78)

นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่มีโอกาสได้พบกับประธานาธิบดีฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีมีความใกล้ชิดกันอย่างมาก โดยเฉพาะระดับประชาชน ความนิยมวัฒนธรรมระหว่างประชาชนไทยและประชาชนเกาหลี โดยในปีนี้จะครบครอบ 65 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยด้านการเมือง ทั้งไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ต่างต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ และได้เชิญประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีและภริยาเดินทางเยือนไทย สำหรับด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเร่งรัดผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ระหว่างกัน และได้หารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ อาทิ ซอฟต์เพาเวอร์ อวกาศ พลังงานนิวเคลียร์ สตาร์ทอัป ยานยนต์ไฟฟ้า ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้นักลงทุนเกาหลีเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมช่วยอำนวยความสะดวกการลงทุนดังกล่าว รวมทั้งเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นอีกด้วย

‘นายกฯ เศรษฐา’ กินข้าว ‘ผัดกะเพราเนื้อ’ เป็นมื้อเที่ยง ที่นิวยอร์ก ลั่น!! มีแรงทำงานต่อแล้ว พร้อมเดินสูดอากาศบนดาดฟ้ายูเอ็นชิลๆ

(21 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่ยังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) โดยอินสตาแกรมส่วนตัว ‘sretthathavisin’ โพสต์คลิปวิดีโอภาพและข้อความตลอดทุกภารกิจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยล่าสุดมีการเผยคลิปนายเศรษฐานั่งรับประทานกลางวัน ข้าวผัดกะเพราเนื้อไข่ดาว พร้อมกล่าวว่า "จานเบ้อเร่อเลย เดี๋ยวต้องพูดต่อด้วย ไม่ใช่ประชุมอย่างเดียว อร่อยครับ อร่อยมาก ผัดกะเพราเนื้อ" พร้อมข้อความระบุใต้คลิปว่า "แค่ได้ผัดกะเพราไข่ดาว ก็มีแรงประชุมต่อแล้ว ได้ทานอาหารไทยที่ต่างประเทศมีความสุขครับ"

นอกจากนี้ อินสตาแกรมส่วนตัว ยังมีการเผยแพร่คลิปเดินพักผ่อน ผ่อนคลาย ด้วยอิริยาบถสบายฯ ของนายเศรษฐา ขณะพักเบรกการประชุม พร้อมข้อความระบุใต้คลิปว่า "ขอขึ้นมาสูดอากาศบนดาดฟ้า UN ช่วงพักเบรกสักหน่อยครับ" โดยเป็นคลิปขณะนายเศรษฐา เดินขึ้นไปพักผ่อนอิริยาบถบนดาดฟ้า ตึกที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พร้อมสอบถามสถานที่โดยรอบตึกว่าคือที่ไหนบ้าง และพูดคุยกับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศอื่นๆ ที่ขึ้นมาเดินพักผ่อนบนดาดฟ้าอย่างเป็นกันเองด้วย

‘เศรษฐา’ หารือ ‘อีลอน มัสก์’ ชวนลงทุนรถอีวีในไทย ชี้!! ไทยพร้อมดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน

(22 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับ นาย Elon Musk และผู้บริหารของ Tesla SpaceX และ Starlink ผ่านระบบการประชุมทางไกล

โดยนายกรัฐมนตรีประทับใจที่ได้หารือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน ชื่นชมความก้าวหน้าที่ ต้องการทำเพื่อมนุษยชาติ  และเพื่อโลกที่สะอาด สู่อนาคตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะเกิดเป็นความสำเร็จ ทั้งต่อความร่วมมือด้านยานยนต์ EV และ เพิ่มความร่วมมือด้าน Space Exploration ซึ่งมีมูลค่าทางตลาดสูง และเชื่อมั่นว่าการพบกันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่ต่อประเทศไทย แต่จะเป็นประโยชน์กับโลกด้วย

ฝ่าย Tesla กล่าวชื่นชมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของไทย ซึ่งเหมาะสมกับการลงทุนของ Tesla 

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้การดูแล สนับสนุนตามกรอบกฎหมาย สิทธิประโยชน์ ด้านการลงทุน

‘อีลอน มัสก์’ ทวีตตอบ ‘เศรษฐา’ ชี้ เป็นเกียรติที่ได้พบ พร้อมบอก “อนาคตประเทศไทยน่าตื่นเต้นสุดๆ”

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.66) ตามเวลาประเทศไทย ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับ นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ และซีอีโอของบริษัทเทสลา และผู้บริหารของ Tesla SpaceX และ Starlink ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ก่อนที่ นายกรัฐมนตรี จะได้เขียนข้อความถึงนายมัสก์ ผ่านแพลตฟอร์ม x หรือทวิตเตอร์ ใจความว่า

“ได้เจอกับ @elonmusk และทีม ระหว่างที่ผมเดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ที่นครนิวยอร์ก พวกเรามีบทสนทนาที่ดีมากๆ เกี่ยวกับ @Tesla @spaceX และเทคโนโลยีของ @starlink

ประทับใจกับความก้าวหน้าที่กลุ่มได้สร้างขึ้นเพื่อมนุษยชาติ และพวกเราก็ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับอนาคตสำหรับโลกที่สะอาดขึ้น พวกเรายังมองหาโอกาสที่จะได้พูดคุยกันเพิ่มเติม และหวังที่จะได้รับแรงบันดาลใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับความสำเร็จของ #EV และ #SpaceExploration ที่ก้าวหน้า แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่รวมไปถึงประชาคมโลกด้วย”

จากนั้น นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้ตอบกลับข้อความดังกล่าวของนายเศรษฐา ผ่านแอ็กเคานต์ x ส่วนตัว โดยระบุว่า “เป็นเกียรติอย่างมากที่ได้พบ ประเทศไทยมีอนาคตที่น่าตื่นเต้นมาก!”

'เศรษฐา' ใช้เวทีสมัชชาสหประชาชาติ ประกาศก้อง 'ไทยเปิดแล้ว' ลั่น!! พร้อมลงทุนข้ามชาติ ไม่รอการลงทุนมาไทยฝ่ายเดียว

(23 ก.ย.66) เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 22 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สรุปภารกิจในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติเป็นครั้งแรก ว่า มีภารกิจที่หลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะตนเองอย่างเดียว แต่ทั้ง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ และนายจักพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ ซึ่งต่างมีภารกิจมาก ซึ่งตนเองมีโอกาสได้พูดในหลายเวที เรื่องของโลกร้อน เรื่องสันติภาพ อากาศบริสุทธิ์ ความมั่นคงทางอาหาร ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอารยะเกษตร รวมถึงมีโอกาสได้พบปะกับผู้นำประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านสำคัญๆ เช่น ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้พูดคุยเรื่องความมั่นคงทางชายแดน และส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้สูงขึ้น

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนวันนี้ถือเป็นไฮไลต์ของงานที่ได้กล่าวถ้อยแถลง ประมาณ 10 กว่านาที ได้มีการพูดถึงปัญหาของโลกที่เกิดจากอากาศร้อน ที่ไม่ใช่แค่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือด หลายประเทศก็ยังมองไปข้างหลังเรื่องของตัวเลขดัชนีชี้วัดต่างๆ เราก็ต้องรวมพลัง และทำให้มันเกิดขึ้นได้ ตนเคยบอกไปหลายเวทีแล้วว่าการประชุมของสหประชาชาติครั้งนี้มีเรื่องของปัญหาที่ต่างกันหลายเรื่อง แต่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่เห็นตรงกัน เรื่องความมั่นคงทางอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ โลกร้อน โลกเดือดก็ทำให้ไม่แน่นอนทางด้านภูมิอากาศที่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม ประเทศเราเองเหมาะกับเกษตรกรรม มีความมั่นคงทางอาหารสูง แต่ลดลงเพราะเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศผันผวนอย่างมาก ทำให้เราต้องกลับมาดูเรื่องนี้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ทั้งเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเรื่องอารยเกษตร ซึ่งต้องใช้พื้นที่ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเพาะปลูก รวมถึงการใช้หนองน้ำเป็นที่เลี้ยงปลา หลายอย่างตนเชื่อว่า สามารถปรับมาใช้ได้

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องปัญหาสุขภาพที่มีโรคเพิ่มมากขึ้น เป็นเหมือน wakeup call หลังมีโรคระบาดทำให้เรารู้ว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษยชนถูกจำกัด หรือได้รับการดูแลเยียวยาอย่างไม่ทั่วถึง แต่ประเทศไทยโชคดีที่มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่ว่ามีสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่มีการเคลื่อนไหวของประชากรเยอะ ดูแลดีอย่างไรก็ตามยังไม่เพียงพอ ถ้าประเทศอื่นไม่ดูแลเพียงพอ ฉะนั้นสหประชาชาติเองก็ควรเข้ามาเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นแน่ใจว่าทุกๆประเทศ มีระบบ health care ที่ดีเหมือนประเทศไทย ขณะที่ไทยเองยังไม่หยุดยั้ง ยังยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อทำให้คนไทยสบายมากขึ้นในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่จะเข้าที่ตัวเองอยากจะเข้า

เมื่อถามว่าหลายประเทศต้องการสันติภาพที่ยั่งยืน ในความหมายของนายกรัฐมนตรีที่นำเสนอเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า สันติภาพที่ยั่งยืนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ประเทศไทยเรามีความเชื่อเรื่องความสงบ มีความเชื่อเรื่องการเจริญที่ยั่งยืน โดยไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศ

"แต่เป็นที่ทราบดีว่า เรื่องความระหองระแหง ระหว่างประเทศมีหลายคู่ ส่วนประเทศเราแม้จะเป็นประเทศเล็ก ไม่ได้ใหญ่มาก แต่เราภูมิใจในเอกราชที่เรามีมาตลอด เราเองมีความภูมิใจ และมีความสบายใจในการที่เราอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศและรัฐบาลนี้ที่จะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราชและไม่เข้าข้างใคร เรามีความเชื่อในเรื่องสันติสุขและความเจริญที่ยั่งยืน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ถามว่า เรื่องสิทธิมนุษยชน ในปีนี้ที่เราสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ด้วย นายกฯ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่แค่ดูแลสิทธิมนุษยชนเพียงในประเทศอย่างเดียว เรามีประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ไม่ว่ามาเลเซีย ลาว กัมพูชา และที่ละเอียดอ่อนที่สุดคือ เมียนมา ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องดูแลหากมีผู้อพยพเข้ามา หรือมีผู้ที่เดือดร้อนบริเวณชายแดน เพราะเรามีชายแดนกับเมียนมากว่า 1,000 กิโล จะต้องดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองความสำเร็จในการร่วมเวทีโลกครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ครั้งแรกก็ต้องขอบคุณ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ช่วยดูแลและเป็นเจ้าภาพในการนำนักธุรกิจเก่งๆ และสนใจมาร่วมทุนในประเทศไทยมาพบปะตนและทีมงาน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีและจุดเริ่มต้นที่ดี 4 วันที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ ถือเป็นก้าวแรกในการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว เราพร้อมที่จะมีการลงทุนข้ามชาติ ทั้ง 2 ทาง ไม่ใช่แค่ให้เขามาลงทุนเราอย่างเดียว เอกชนไทย ที่แข็งแกร่งหลายราย พร้อมลงทุนในต่างประเทศด้วย

เมื่อถามว่า การได้พบผู้นำหลายชาติ ตอบรับกับรัฐบาลใหม่และนายกรัฐมนตรีใหม่อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ดีครับ ทุกคนก็ยินดีด้วย และเข้าใจว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีผู้นำและออกมาค้าขายกันอีก 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top