Tuesday, 14 May 2024
เลือกตั้ง

‘จูรี’ ชวน ปชช.มาถ่ายรูปสวมหัวเป็นจูรี หลังโดนมือดีกรีดป้าย ลั่น!! ทำลายได้แค่ป้าย แต่ทำลายความตั้งใจที่จะเป็นผู้แทนไม่ได้

(1 เม.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สงขลาว่า ป้ายหาเสียงของว่าที่ผู้สมัครของพรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีภาพของ นายจูรี นุ่มแก้ว ถูกตัดหัวออก เหลือไว้แต่ตัว ซึ่งป้ายดังกล่าวเป็นป้ายที่ถ่ายร่วมกับนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอีก  3 คนในจังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ นายจูรี ซึ่งเป็นขวัญใจชาวใต้ และเป็นดาวติ๊กตอกชื่อดัง ได้ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคชาติพัฒนากล้า และมีเสียงตอบรับจากพี่น้องชาวใต้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้สมัคร ทั้ง 4 คนของ จ.สงขลา ได้แก่ นายกัณฑ์ นวกัณฑ์ เขต 1, นายจูรี นุ่มแก้ว เขต 2, ผศ.ดร.ประสิทธิ์ รัตนพันธ์ เขต 3 และนายพงศธร สุวรรณรักษา เขต 9 หรือ ทนายอาร์ม ซึ่งทั้ง 4 จึงได้ร่วมทำกิจกรรมกับพี่น้องประชาชนชาวสงขลาเป็นทีมอย่างต่อเนื่อง และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและเนืองแน่น ดังนั้น ในป้ายของผู้สมัคร นอกจากจะมีรูปของหัวหน้าพรรคแล้ว ยังมีรูปของนายจูรี ประกบไปด้วยทุกป้าย และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมือมืดมาตัดหัวของจูรีออกกว่า 100 ป้าย ซึ่งเป็นการจงใจตัดออกเฉพาะหน้า

ล่าสุด นายจูรี ได้อัดคลิปลงติ๊กตอก พร้อมกับเสนอไอเดีย ให้พี่น้องประชาชนที่ผ่านไปผ่านมาก็สามารถสามารถเอาหน้ามาสวมในป้ายที่ถูกตัดเป็นนายจูรี แล้วก็เช็กอินไปเลยว่า มาที่นี่แล้ว

“ฉันก็คิดว่าคนกรีดเขาก็ไอเดียดี เขาก็คงมีเจตนาดี เพราะเขากรีดเฉพาะหน้าฉัน เวลาเธอผ่านไปผ่านมาก็เอาหัวมาแยงในภาพแล้วก็ถ่ายรูปเช็กอินเป็นฉันไปเลย ตอนนี้ 150 ป้าย คงเหลือดีสัก 2 ป้าย แต่ก็ไม่เป็นไร ใครอยากทำอะไร ทำเลย เพราะคุณทำลายได้แค่ป้าย แต่ทำลายความตั้งใจของฉันที่จะมาลงผู้แทนของชาวบ้านไม่ได้” นายจูรี กล่าว

‘พิธา’ กร้าว!! ปลดล็อก ‘สวัสดิการผู้สูงอายุ’ ชี้!! เคาะแล้วตกมื้อนึงได้ไข่ต้มแค่ฟองเดียว

‘พิธา’ ควงผู้สมัครปักธงชัย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ชูนโยบาย 4 ป. ปลดล็อกสวัสดิการ-ที่ดิน-หนี้สิน-ท้องถิ่น แก้ปัญหาประชาชน ก่อนขนทัพใหญ่เปิดเวทีปราศรัย ‘ก้าวไกล’ กลางเมืองพิษณุโลกเย็นนี้ เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครครบ 5 เขต

(1 เม.ย.66) แกนนำพรรคก้าวไกล นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล, น.ส.เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และ นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรมหาเสียงร่วมกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดพิษณุโลก ทั้ง 5 เขต ก่อนที่จะร่วมเปิดเวทีปราศรัยในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้

ในส่วนของนายพิธา ได้ร่วมกิจกรรมเดินหาเสียงพบปะประชาชนในเขตชุมชน ที่ อ.นครไทย ร่วมกับนายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลก เขต 5 ตามด้วยการเปิดเวทีพูดคุยพบปะประชาชน ที่วัดหนองกะท้าว ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย และที่ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง ร่วมกับ โชคดี สายนำพามีลาภ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลก เขต 3 โดยประชาชนส่วนมากประสบปัญหาร่วมกันในเรื่องที่ดินทำกิน

นายพิธากล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานในสภาฯ มาตั้งแต่ครั้งเป็นพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ตนได้เดินทางมา จ.พิษณุโลกบ่อยครั้ง เพราะเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาที่ดินหลายกรณีมาก และนั่นเป็นเหตุผลที่ตนต้องมาที่นี่อีกครั้ง เพื่อนำข้อเสนอ ‘4 ปลดล็อก’ มาเสนอเพื่อแก้ปัญหาให้กับทุกคนที่นี่ รวมถึงประชาชนทั่วประเทศที่เผชิญปัญหาแบบเดียวกัน จากปัญหาระยะสั้นไปถึงปัญหาระยะยาว ให้แก้ปัญหาไปถึงอนาคตของลูกหลานทุกคน

ปลดล็อกที่หนึ่ง คือปลดล็อกสวัสดิการผู้สูงอายุ จากที่ตนได้เห็นงบประมาณของประเทศที่ถูกจัดสรรผ่านมาทั้ง 4 ปี พบว่ามีงบประมาณที่ถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะงบประมาณของกองทัพ มากมายกว่างบประมาณที่เอามาดูแลประชาชนเสมอ ปัจจุบันสวัสดิการที่ให้กับผู้สูงอายุ เริ่มต้นที่ 100 บาท เฉลี่ยออกมาได้แค่วันละ 20 บาท หรือเป็นค่ากินแค่มื้อละ 7 บาท ได้ไข่ต้มแค่ฟองเดียว ไม่สอดคล้องกับสังคมสูงวัย ของแพงค่าแรงถูกในปัจจุบัน

พรรคก้าวไกล จึงมีนโยบายที่จะเปลี่ยนงบกองทัพที่ไม่จำเป็น เอามาทำเป็นงบประมาณ เพิ่มเบี้ยสูงอายุจาก 600 เป็น 3,000 บาทต่อเดือน นี่คือรัฐสวัสดิการที่ทำให้ผู้สูงอายุอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี คนหนุ่มสาวกล้าเสี่ยงเดินตามความฝันโดยไม่ต้องกังวลถึงพ่อแก่แม่เฒ่า

ปลดล็อกที่สอง คือการปลดล็อกที่ดิน หลายพื้นที่ เช่น อ.นครไทย แห่งนี้ มีสถานะเป็นเหมือนขนมชั้น คือ ส.ป.ก. ครอบทับกับกรมป่าไม้ ดูแลกันสองหน่วยงาน อำนาจบางส่วนทับซ้อนกัน ทำให้เวลาชาวบ้านไปเดินเรื่องก็ทำอะไรไม่ได้ เกี่ยงกันเป็นเก้าอี้ดนตรี พรรคก้าวไกลจึงมีนโยบาย เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด ทวงคืน ส.ป.ก. จากนายทุนทั่วประเทศ 4 ล้านไร่ หาที่ดินเพิ่มให้ประชาชนอีก 6 ล้านไร่ รวมเป็น 10 ล้านไร่ ซึ่งแม้ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับที่ดิน 320 ล้านไร่ที่ประเทศไทยมีอยู่ แต่อย่างน้อยนี่จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดินในระยะยาว

ปลดล็อกที่สาม คือปลดล็อกหนี้สิน โดยเฉพาะในภาคเกษตร สั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าสำหรับใครก็ตามที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส. มีอายุเกิน 60 ปี และชำระหนี้เกินครึ่งของเงินต้นไปแล้ว นโยบายคือการปลดหนี้ให้ทันที

‘ซูเปอร์โพล’ เผย ผลสำรวจเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 2 กลุ่มหนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น ฝ่ายค้านลดลง ชี้พลังเงียบเป็นตัวแปร

เมื่อวานนี้ (1 เม.ย. 66) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 (ฉบับเต็ม) กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 53,094,778 คน ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,257 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 - 31 มีนาคม พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจจุดยืนทางการเมืองของประชาชนระหว่าง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.1 เป็นร้อยละ 39.1 ในขณะที่กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 29.6 เป็นร้อยละ 24.5 และกลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงคือร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 1 และร้อยละ 36.4 ในการสำรวจครั้งที่ 2

ที่น่าสนใจคือ ความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมือง แบ่งออกระหว่างกลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล กับ กลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปรียบเทียบครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลรวมกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.6 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.7 ในครั้งที่ 2 โดยพบว่าเป็นการเทคะแนนมาจากกลุ่มพลังเงียบ

ในขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันลดลงจากร้อยละ 43.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 2 โดยในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล อันดับหนึ่งได้แก่ พรรคภูมิใจไทยเพิ่มจากร้อยละ 19.1 ในครั้งที่ 1 มาเป็น ร้อยละ 20.5 ในครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์เพิ่มจากร้อยละ 13.4 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 14.2 ในครั้งที่ 2 อันดับสามได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ในครั้งที่ 2 อันดับที่สี่ ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ในครั้งที่ 2 เป็นต้น

ในขณะที่ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือก ส.ส. ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรก พรรคเพื่อไทย ลดลงจากร้อยละ 36.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.1 ในการสำรวจครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในครั้งที่ 2 ส่วนพรรคเสรีรวมไทยยังคงเท่าเดิมคือ ร้อยละ 0.5 ในการสำรวจทั้งสองครั้ง

‘ปชป.’ เตรียมนำทัพผู้สมัคร ยื่นสมัครทั่วประเทศ 3 เม.ย.นี้ พร้อมใช้ทุกนาทีให้คุ้มค่าเพื่อสร้างศรัทธา-พัฒนาชีวิต ปชช.

(2 เม.ย. 66) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 3 เม.ย.นี้ เวลา 5.00 น. ตนจะนำผู้สมัคร ส.ส.กทม. ทั้ง 33 คน เดินทางไปสมัครรับเลือกตั้งที่สนามกีฬาเวสน์ 2 ซึ่งคาดว่าจะเดินทางถึงสถานที่สมัครรับเลือกตั้งเวลา 6.00 น.

หลังจากสมัครเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้สมัครจะเดินทางไปศาลหลักเมือง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เพื่อสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) จากนั้นจะเดินทางกลับพื้นที่เขตเลือกตั้งเพื่อเดินหน้าหาเสียงอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากได้เบอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 400 เขต ทั่วประเทศ จะเดินทางไปสมัครรับเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้งพร้อมกัน ในเช้าวันจันทร์ที่ 3 เม.ย. นี้ เช่นกัน

‘พิธา’ กร้าว!! กาก้าวไกลได้ประโยชน์ถึง 3 เด้ง 1. ‘ประยุทธ์’ ออก 2. ‘ประวิตร’ ออก 3. ได้คนใหม่ ‘เปลี่ยนประเทศ’

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นปราศรัยปิดเวทีปราศรัยใหญ่และแนะนำว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่สวนชมน่าน จังหวัดพิษณุโลก โดยนายพิธาเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ตน และ ส.ส.ปดิพัทธ์ มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ‘ความเป็นพ่อคน’ พวกเราทำงานการเมือง เพราะเราไม่สามารถส่งต่อสังคมแบบนี้ให้กับลูกของเรา ตนและพรรคก้าวไกลมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนประเทศนี้ให้มีความเท่าเทียมกัน มีความเปิดกว้างหลายหลายให้กับคนทุกคนอย่างเสมอภาค และเอาระบบอำนาจนิยมออกไป

นายพิธา กล่าวต่อไปอีกว่า การเมืองที่ตนอยากเห็นในฐานะคนเป็นพ่อ คือ ประเทศที่มีการศึกษาที่เท่าเทียมกัน เด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยสามารถพูดได้ 3 ภาษา การศึกษาในประเทศนี้ก็ต้องมีศักยภาพทำให้เด็กทุกคนพูดได้ 3 ภาษา ตนต้องการที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียม หลากหลาย ปราศจากอำนาจนิยมและปิตาธิปไตยให้กับคนรุ่นต่อไป

“อีก 10 ปี อาจเป็นลูกของผมหรือลูกของท่าน ที่ไปเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียม ทำไมเรื่องเหล่านี้ต้องให้คนหนุ่มสาวออกมาพูด ไม่ใช่ผู้แทนราษฎรที่มีกระดูกสันหลังในสภาฯ ที่พูด ทำให้คนหนุ่มสาวออกไปตามหาความฝันของเขาไม่ได้ ชีวิตลูกของผม ลูกของหมออ๋อง และลูกของเราทุกคนจะดีขึ้น เมื่อพวกเราอยู่ในสังคมที่เท่าเทียมกัน” นายพิธา กล่าว

นายพิธา ยังเสนอว่า สังคมที่เท่าเทียมกันต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างคนที่มีความพิการและคนอื่น ๆ ในสังคม โดยพรรคก้าวไกล 1.) จะเพิ่มเบี้ยผู้พิการ 3,000 บาท 2.) จะผลักดันนโยบายการออกแบบเพื่อคนทุกคนให้สามารถกำหนดชีวิตประจำวันในการเดินทางให้ได้ 3.) คือการสร้างงาน จากปัจจุบันที่รัฐฯ บังคับเฉพาะบริษัทเอกชนให้จ้างงานคนพิการ แต่ในรัฐบาลพรรคก้าวไกลจะจ้างงานคนพิการเป็นข้าราชการทันที 20,000 ตำแหน่ง และ 4.) สร้างอุตสาหกรรมเพื่อผู้พิการ เช่น รถเข็นของคนพิการ จากที่นำเข้ามีราคาแพง ให้สามารถผลิตได้ในประเทศ

นายพิธา ยังเสนออีกว่า ตนและพรรคก้าวไกลต้องการให้คนรุ่นต่อไปได้อากาศสะอาดไว้หายใจ นี่คือสาเหตุให้พรรคก้าวไกลผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งกฎหมายอากาศสะอาดของพรรคก้าวไกลต้องไม่ใช่แค่มีผลในประเทศ แต่จะไปเจรจากับต่างประเทศให้มีมาตรฐานคุณภาพอากาศเดียวกันทั้งอาเซียน ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มทุนภาคเกษตรหนีจากประเทศที่มีมาตรฐานสินค้าเกษตรสูงแล้วไปทำไร่ข้าวโพดในลาวและเมียนมา

‘อภิสิทธิ์-องอาจ-มาดามเดียร์-ดร.เอ้’ ผนึกกำลัง บุกตลาดกิตติ อ้อนชาวสาทร หนุน ‘อรอนงค์’ เข้าสภาฯ ทำหน้าที่เพื่อ ปชช.

(2 เม.ย. 66) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง พรรคประชาธิปัตย์, ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์, นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และ นายอภิมุข ฉันทวานิช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม.เขตยานนาวา-บางคอแหลม ร่วมลงพื้นที่ตลาดกิตติ ถนนเซนต์หลุยส์ เขตสาทร พบปะประชาชน พ่อค้าแม่ค้า เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้ น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม.เขตสาทร-ปทุมวัน-ราชเทวี พรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกระแสการตอบรับของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพมหานครว่า เห็นได้ชัดว่าประชาชนคนกรุงเทพมหานครจำนวนมากที่มีความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะบุคลากรของพรรคหลายคนมีความมั่นคง แน่วแน่ในการทำงานให้กับพี่น้องประชาชน อย่างวันนี้ที่ตลาดกิตติพวกเราทุกคนมีความคุ้นเคยผูกพัน ก็หวังว่าความสัมพันธ์นี้จะเป็นพื้นฐานที่ดีในการสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ได้กลับไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ น.ส.อรอนงค์ จะมีโอกาสได้กลับมาทำงานหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ทุกคนมีโอกาส แต่จะต้องทำงานหนัก เพราะมีการแข่งขันสูง อย่าง น.ส.อรอนงค์ เป็นคนหนึ่งที่อยู่ติดพื้นที่มาตลอดไม่เคยทิ้งประชาชนไปไหน

ส่วนกรณีที่มีหลายคนต้องการให้กลับมาเป็นผู้แทนอีกนั้น นายอภิสิทธิ์ ตอบด้วยอารมณ์ขันว่า ยังไม่ถึงเวลา แต่ก็ยินดีมาสนับสนุนในฐานะสมาชิกพรรคและในฐานะที่ได้คุยกับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเลือกตั้งนี้ก็เป็นเขตเลือกตั้งเก่าของตนด้วย

เมื่อถามต่อว่ากระแสตอบรับค่อนข้างดี รู้สึกอย่างไร นายอภิสิทธิ์ บอกว่า รู้สึกเป็นกำลังใจให้กับพรรคและพวกเราทุกคนในการเดินหน้าต่อ

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ ระบบเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ทำคนไทยแตกแยก ชู ‘พปชร.’ เดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้ง ยัน!! ม.112 แก้ไม่ได้

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 66 ที่บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 พรรคพลังประชารัฐ ที่เปิดเวทีปราศรัยย่อยโซนธนบุรีเหนือ ‘พลังใหม่ พลังกรุงเทพ พลังประชารัฐ’ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวปราศรัยเรื่อง การก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยได้กล่าวถึงประเด็นการแบ่งแยกเลือกตั้งผู้ว่าในแต่ละจังหวัด ว่า…

“การแบ่งแยกเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด ทำให้เกิดความไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน จังหวัดนี้ของพรรคนี้ เสื้อสีนี้ จังหวัดนี้ของบ้านใหญ่พรรคนี้ เข้าใจคำว่า ‘บ้านใหญ่’ ใช่ไหมครับ แล้วจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร แบบนี้ก็ทะเลาะกันทั้งจังหวัด แล้วจะไปปกครองบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างไร ประเทศไทยก็แตกออกเป็นจังหวัด ๆ ราชอาณาจักรไทยก็ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน เราจะยอมให้ประเทศเป็นแบบนั้นไม่ได้ และพรรคพลังประชารัฐ ขอยืนยันกับทุกคน ว่าเราจะต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ดูแลประเทศไทยให้ดีที่สุด เพื่อให้คนไทยอยู่ดีกินดี เราต้องรักษาสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต้องคงอยู่อย่างมั่นคงสืบต่อไป”

นอกจากนี้ นายชัยวุฒิ ยังพูดถึงกรณีมาตรา 112 อีกว่า ตนไปฟังมาหลายเวทีแล้วบอก 112 เป็นคดีการเมือง มันเป็นการเมืองตรงไหน มันเป็นคดีอาญา สมัยก่อนก็ไม่เคยมี มามียุคนี้นี่แหละ เพราะมีคนไปยุยงปลุกปั่น เอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมือง ก็เลยวุ่นวายทั้งที่ความจริงไม่มีปัญหา

“ผมขอบอกเลยมาตรา 112 แก้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้ว การแก้หรือยกเลิกมาตรา 112  ทำไม่ได้แน่นอน เพราะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายชัยวุฒิ กล่าว

‘บิ๊กป้อม’ เตรียมเดินทางให้กำลังใจผู้สมัคร กทม.‘พปชร.’ พร้อมนําทัพผู้สมัคร ไหว้ ‘ศาลหลักเมือง’ ก่อนลงพื้นที่

(2 เม.ย. 66) นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการยื่นใบสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในวันที่ 3-4 เมษายนนี้ ว่าในวันที่ 3 เม.ย.เวลา 08.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. จะเดินทางไปให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรค พปชร. ส่วนวันที่ 4 เม.ย.  เวลา 08.00 น. พล.อ.ประวิตร จะนําคณะเพื่อไปยื่นเอกสารสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคเป็นผู้เสนอชื่อ

ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีเฉพาะหมายเลข (เบอร์) ผู้สมัคร หรือที่เรียกว่า ‘บัตรโหล’ นายไพบูลย์ กล่าวว่า กกต.คงพิจารณารอบคอบแล้ว การออกบัตรเลือกตั้งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษแก่พรรคใดพรรคหนึ่ง เป็นการบังคับใช้กับทุกพรรค ส่วนตัวมองว่า เมื่อ กกต.มีอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร เราก็ปฏิบัติตามนั้น

ส่งท้าย 'รัฐบาลลุงตู่' ส่งขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่รัฐ

ถึงจะประกาศยุบสภาไปเรียบร้อยแล้ว แต่รัฐบาลลุงตู่ยังคงทำหน้าที่รักษาการ ไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 แต่ถึงอย่างนั้น ก่อนจะประกาศยุบสภา รัฐบาลโดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังส่งขวัญกำลังใจไปสู่เหล่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ ด้วยการปรับอัตราเงินเดือน 

จาก 'อนาคตใหม่' ถึง 'ก้าวไกล' บทพิสูจน์ว่า 'ของจริง' แค่ไหน ในเลือกตั้ง66

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 พรรคอนาคตใหม่ กวาดเก้าอี้ในสภาได้เกินคาดถึง 81ที่นั่ง ได้คะแนนรวมกว่า 6 ล้านเสียง กลายเป็นพรรคอันดับ 3 ในสภา จากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ส่งให้พรรคอนาคตใหม่ ได้จำนวน ส.ส. ทะลุเป้า ทั้งที่ผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลย 

พรรคอนาคตใหม่เริ่มนับหนึ่ง โดยมีนักธุรกิจหมื่นล้านอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ ปิยบุตร  แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมกันปลุกปั้น โดยมี 'ช่อ' พรรณิการ์ วานิช อดีตบรรณาธิการและพิธีกรรายการข่าว วอยซ์ทีวี เข้ามารับบทบาทเป็นโฆษกพรรค ขณะที่กลุ่มผู้ก่อตั้งพรรค ที่ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและคนรุ่นใหม่ เป็นส่วนผสมที่โดนใจกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก จำนวนกว่า 7 ล้านคน

แต่เส้นทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกสังคมจับจ้อง ด้วยภูมิหลังของ 'ธนาธร' ตั้งแต่ นามสกุล 'จึงรุ่งเรืองกิจ' ของเขา บทบาทนายทุนนิตยสารฟ้าเดียวกัน รวมถึงการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ไม่ต่างจาก 'ปิยบุตร' ที่เคยมีบทบาทเป็นหนึ่งในนักวิชาการกลุ่ม 'นิติราษฎร' ที่ออกมาจุดประเด็นในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้ด้านหนึ่ง พวกเขาถูกโจมตีในฐานะบุคคลอันตราย แต่อีกด้าน ก็ทำให้พวกเขาและพรรคอนาคตใหม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาไม่นาน

พรรคอนาคตใหม่ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน หลายจุดยืนและวิธีคิดของพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคม ทำให้พรรคอนาคตใหม่ ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหา ถูกร้องในหลายกรณี ซึ่งมีไม่น้อยที่มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค 

ย้อนไปในวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก หลังเลือกตั้ง 62  ยังไม่ทันได้เริ่มต้นทำหน้าที่ 'ธนาธร' ก็ต้องเดินออกจากที่ประชุมสภา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีถือหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย ก่อนมีคำวินิจฉัยให้พ้นสภาพ ส.ส. ในวันที่ 20 พ.ย.62

ห่างจากนั้นไม่ถึง 2 เดือน 21 ม.ค.63 พรรคอนาคตใหม่รอดพ้นจากการถูกยุบพรรค หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยปมอิลลูมินาติ ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง 

กระทั่งเดินมาถึงจุดพลิกผันสำคัญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ กกต. กรณีที่ 'ธนาธร' ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจำนวน 191.2 ล้านบาท ซึ่งในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ 'ยุบพรรค' ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จำนวน 16 คน ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง  10 ปี 

จุดสิ้นสุดของพรรคอนาคตใหม่ นำมาสู่การตัดสินใจแยกสายกันเดิน โดยที่ ธนาธร ปิยบุตร และ ช่อ พรรณิการ์ แยกไปตั้ง 'คณะก้าวหน้า' เดินหน้าทำงานการเมืองท้องถิ่น หวังผลักดันการกระจายอำนาจ แต่ประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี 2563 เพราะใน 42 จังหวัดที่คณะก้าวหน้า ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนายก อบจ. สอบตกทั้งหมด แต่ยังได้เก้าอี้สมาชิก อบจ. 57 คน จาก 20 จังหวัด 

ส่วนงานในสภาฯ ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่เดิม ที่เหลือ 55 คน หลังบางส่วนแยกตัวไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล ประกาศสานต่อนโยบายเดิม ด้วยการพากันย้ายไปบ้านใหม่ ที่ชื่อ 'พรรคก้าวไกล' โดยมี 'ทิม' พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รับไม้ต่อเป็นหัวหน้าพรรค 

ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมาตั้งกระทู้ หรืออภิปรายตรวจสอบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม บางจุดยืนที่แข็งแรงของพรรคอนาคตใหม่ที่ส่งต่อมายังพรรคก้าวไกล เช่น ประกาศเป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐประหาร จุดยืนเรื่องการแก้ 112 และปฏิรูปสถาบัน ล้วนแต่เป็นยาขมของพรรคการเมืองอื่น และเริ่มกลายเป็นเค้าลางว่าเส้นทางของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งจะไม่ราบเรียบเหมือนปี 62

พรรคก้าวไกล กำลังเผชิญกับทั้ง 'ศึกนอก' ทั้งระบบการเลือกตั้งที่จะกลับมาใช้บัตร 2 ใบ เป็นระบบที่เอื้อ 'พรรคใหญ่' ที่มีกลุ่ม 'บ้านใหญ่' ทำให้พรรคใหม่อย่างก้าวไกลคาดหวังเก้าอี้ในสภาได้น้อยกว่าปี 62 ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของ 'พรรคเพื่อไทย' หวังเก็บกวาดคะแนนเสียงจากฝั่งประชาธิปไตยไปทั้งหมดเพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ เป็นการส่งนัยถึงการโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกลไว้ข้างหลัง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top