จาก 'อนาคตใหม่' ถึง 'ก้าวไกล' บทพิสูจน์ว่า 'ของจริง' แค่ไหน ในเลือกตั้ง66

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 พรรคอนาคตใหม่ กวาดเก้าอี้ในสภาได้เกินคาดถึง 81ที่นั่ง ได้คะแนนรวมกว่า 6 ล้านเสียง กลายเป็นพรรคอันดับ 3 ในสภา จากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ส่งให้พรรคอนาคตใหม่ ได้จำนวน ส.ส. ทะลุเป้า ทั้งที่ผู้สมัคร ส.ส.ทุกคนไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลย 

พรรคอนาคตใหม่เริ่มนับหนึ่ง โดยมีนักธุรกิจหมื่นล้านอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ ปิยบุตร  แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมกันปลุกปั้น โดยมี 'ช่อ' พรรณิการ์ วานิช อดีตบรรณาธิการและพิธีกรรายการข่าว วอยซ์ทีวี เข้ามารับบทบาทเป็นโฆษกพรรค ขณะที่กลุ่มผู้ก่อตั้งพรรค ที่ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรมทางสังคมและคนรุ่นใหม่ เป็นส่วนผสมที่โดนใจกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก จำนวนกว่า 7 ล้านคน

แต่เส้นทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกสังคมจับจ้อง ด้วยภูมิหลังของ 'ธนาธร' ตั้งแต่ นามสกุล 'จึงรุ่งเรืองกิจ' ของเขา บทบาทนายทุนนิตยสารฟ้าเดียวกัน รวมถึงการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ไม่ต่างจาก 'ปิยบุตร' ที่เคยมีบทบาทเป็นหนึ่งในนักวิชาการกลุ่ม 'นิติราษฎร' ที่ออกมาจุดประเด็นในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้ด้านหนึ่ง พวกเขาถูกโจมตีในฐานะบุคคลอันตราย แต่อีกด้าน ก็ทำให้พวกเขาและพรรคอนาคตใหม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาไม่นาน

พรรคอนาคตใหม่ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน หลายจุดยืนและวิธีคิดของพรรคอนาคตใหม่ ก็ถูกตั้งคำถามจากสังคม ทำให้พรรคอนาคตใหม่ ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหา ถูกร้องในหลายกรณี ซึ่งมีไม่น้อยที่มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค 

ย้อนไปในวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก หลังเลือกตั้ง 62  ยังไม่ทันได้เริ่มต้นทำหน้าที่ 'ธนาธร' ก็ต้องเดินออกจากที่ประชุมสภา เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีถือหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย ก่อนมีคำวินิจฉัยให้พ้นสภาพ ส.ส. ในวันที่ 20 พ.ย.62

ห่างจากนั้นไม่ถึง 2 เดือน 21 ม.ค.63 พรรคอนาคตใหม่รอดพ้นจากการถูกยุบพรรค หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยปมอิลลูมินาติ ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง 

กระทั่งเดินมาถึงจุดพลิกผันสำคัญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ กกต. กรณีที่ 'ธนาธร' ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจำนวน 191.2 ล้านบาท ซึ่งในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ 'ยุบพรรค' ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่จำนวน 16 คน ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง  10 ปี 

จุดสิ้นสุดของพรรคอนาคตใหม่ นำมาสู่การตัดสินใจแยกสายกันเดิน โดยที่ ธนาธร ปิยบุตร และ ช่อ พรรณิการ์ แยกไปตั้ง 'คณะก้าวหน้า' เดินหน้าทำงานการเมืองท้องถิ่น หวังผลักดันการกระจายอำนาจ แต่ประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี 2563 เพราะใน 42 จังหวัดที่คณะก้าวหน้า ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนายก อบจ. สอบตกทั้งหมด แต่ยังได้เก้าอี้สมาชิก อบจ. 57 คน จาก 20 จังหวัด 

ส่วนงานในสภาฯ ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่เดิม ที่เหลือ 55 คน หลังบางส่วนแยกตัวไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล ประกาศสานต่อนโยบายเดิม ด้วยการพากันย้ายไปบ้านใหม่ ที่ชื่อ 'พรรคก้าวไกล' โดยมี 'ทิม' พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รับไม้ต่อเป็นหัวหน้าพรรค 

ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมาตั้งกระทู้ หรืออภิปรายตรวจสอบรัฐบาล อย่างไรก็ตาม บางจุดยืนที่แข็งแรงของพรรคอนาคตใหม่ที่ส่งต่อมายังพรรคก้าวไกล เช่น ประกาศเป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐประหาร จุดยืนเรื่องการแก้ 112 และปฏิรูปสถาบัน ล้วนแต่เป็นยาขมของพรรคการเมืองอื่น และเริ่มกลายเป็นเค้าลางว่าเส้นทางของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งจะไม่ราบเรียบเหมือนปี 62

พรรคก้าวไกล กำลังเผชิญกับทั้ง 'ศึกนอก' ทั้งระบบการเลือกตั้งที่จะกลับมาใช้บัตร 2 ใบ เป็นระบบที่เอื้อ 'พรรคใหญ่' ที่มีกลุ่ม 'บ้านใหญ่' ทำให้พรรคใหม่อย่างก้าวไกลคาดหวังเก้าอี้ในสภาได้น้อยกว่าปี 62 ขณะเดียวกัน ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของ 'พรรคเพื่อไทย' หวังเก็บกวาดคะแนนเสียงจากฝั่งประชาธิปไตยไปทั้งหมดเพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ เป็นการส่งนัยถึงการโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกลไว้ข้างหลัง

ดังนั้นการเร่งหาจุดสมดุล สร้างจุดขายที่ชัดเจนและแตกต่างจากเพื่อไทย จึงเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องเร่งทำเพื่อรักษาพื้นที่ของตัวเองไว้ให้ได้ เรียกว่านอกจากสู้กับพรรคขั้วตรงข้ามแล้ว ยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับพรรคในฝั่งประชาธิปไตยด้วยกันอย่างหนัก

ด้าน 'ศึกใน' ก็เห็นภาพสะท้อนของรอยร้าวและปัญหาภายในพรรคก้าวไกลในช่วงที่ผ่านมา ทั้งประเด็นวิวาทะเผ็ดร้อน หลัง 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' ที่วันนี้อยู่ในฐานะผู้เฝ้ามอง ออกมาวิจารณ์แนวทางการทำงานของพรรคและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทำให้เกิดการตอบโต้จาก 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคในพื้นที่ออนไลน์อย่างหนักหน่วง ก่อนที่ 'ธนาธร' จะเข้ามาเป็นกาวใจ ปรับความเข้าใจของทั้งคู่จนเกิดภาพกอดคอร้องเพลงได้เพียงชั่วข้ามคืน

ขณะเดียวกัน ก็เห็นปัญหาการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล หลัง 'คีย์แมน' ของพรรคหลายคนออกมาประกาศไม่ลงส.ส. บัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงพฤติกรรม 'กอดเก้าอี้' ของอดีต ส.ส.บางคนในพรรค 

และสุดท้าย หนึ่งจุดยืนของพรรคก้าวไกล ที่ถูกตั้งคำถาม และยังถูกสอบทานจากสื่อหรือแม้แต่พรรคร่วมฝ่ายค้าน เกี่ยวกับประเด็นการแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้เส้นทางของพรรคก้าวไกล กลายเป็นเส้นทางวิบาก ตั้งแต่การลุ้นคะแนนเสียง ไปถึงการจับขั้วทางการเมือง หลังเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า