Wednesday, 24 April 2024
เลือกตั้งประเทศไทย

เปิดตัวเลข 'การเลือกตั้งประเทศไทย' ตลอด 90 ปี ที่ผ่านมา

ยุบ? ไม่ยุบ? ยุบ? ไม่ยุบ? นาทีนี้ เกจิแวดวงการเมืองไทย หลายคนคงกำลังวิเคราะห์ห้วงเวลาการ 'ยุบสภา' หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กฎหมายลูก 2 ฉบับ ทั้ง 'พ.ร.ป.เลือกตั้ง - พ.ร.ป.พรรคการเมือง' เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ประหนึ่งเป็นสัญญาณ 'ลั่นระฆัง' ว่า การเลือกตั้งทั่วไป 2566 กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในเร็ววันนี้

ไม่ว่ารัฐบาล โดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศยุบสภาก่อนสภาผู้แทนหมดวาระ หรือการทำงานของรัฐบาลจะดำเนินไปจนถึงวาระหมดอายุของสภาในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ทั้งหมดทั้งมวล ปักธงได้เลยว่า เลือกตั้งใหญ่มาแน่ราวเดือนพฤษภาคม 2566 นี้!

ย้อนตำนาน 'รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ' กับ 'รูปแบบการเลือกตั้ง' ที่เปลี่ยนไป

30 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์การเมือง ที่นำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ 2540 2550 และ 2560  โดยมีรูปแบบการเลือกตั้งที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เราจึงขอย้อนรอยเรื่องราวการเลือกตั้งที่สะท้อนจากรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งนอกจากจะแตกต่างกันแล้ว ยังส่งผลต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอีกด้วย

#รัฐธรรมนูญ2540…จุดเริ่มต้นบัตร 2 ใบ "เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ"
ปี 2538 ยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ขึ้น และนำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มี ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.  99 คน  ประกอบด้วย สสร. 76 คนที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน กับตัวแทนนักวิชาการและผู้เชี่ยวขาญในสาขาต่างๆ ที่มาจากการคัดเลือกกันเองของสภาสถาบันอุดมศึกษาให้สภาพิจารณา อีก 23 คน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอต่อรัฐสภา จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับประชาชน และเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากที่สุด 

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 2540 พลิกโฉมการเมืองไทยไปจากเดิม ด้วยระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดย ส.ส.  500 คน มาจากแบบเลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว 400 คน และมาจากแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ใชับัตรเลือกตั้งสองใบ คือ ใบแรก 'เลือกคน' คือ ส.ส.เขต แบบเขตเดียวเบอร์เดียว และ ใบที่สองเลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ 'ปาร์ตี้ลิสต์' เป็นครั้งแรกเพื่อเพิ่มบทบาทของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรค รวมถึง 'นายกรัฐมนตรี' ก็ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น ขณะที่ ส.ว. 200 คน ที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ กลั่นกรองกฎหมาย รวมถึงมีอำนาจในการ 'ถอดถอน' ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั้งหมด 

รัฐธรรมนูญ ปี 40 ยังเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรอิสระ อย่าง  กกต.  ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นองค์กรตรวจสอบการทำงานของฝ่ายการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ กลไกระบบเลือกตั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ยังส่งผลให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และมีน้อยพรรค ทำให้การบริหารบ้านเมืองมีความต่อเนื่องมากขึ้น ปิดข่องรัฐบาลผสมที่มีหลายพรรคการเมือง 

แต่ระบบนี้ใช้ในการเลือกตั้งได้เพียงแค่ 2 ครั้ง คือในปี 2544 และ 2548 ก็เกิดปัญหาใหม่ เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส ในการบริหารประเทศ และเกิดปัญหาเกี่ยวกับกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล ที่ทำได้ยาก จนถูกขนานนามว่าเป็น 'เผด็จการรัฐสภา' กระทั่ง 19 กันยายน 2549 เกิดการรัฐประหาร นำมาสู่การกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ ฉบับปี 2550

#รัฐธรรมนูญ2550 ปรับระบบ 'ปาร์ตี้ลิสต์' จากหนึ่งเขตประเทศ เป็น 8 กลุ่มจังหวัด
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการลงประชามติจากประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผ่านการเห็นชอบ ร้อยละ 57.81 ทั้งนี้มีการปรับระบบเลือกตั้ง กำหนดให้ ส.ส. มีจำนวน 480 คน มาจากแบบเลือกตั้งแบ่งเขตเรียงเบอร์ 400 คน และมาจากแบบบัญชีรายชื่อ จากเขตเลือกตั้งเดียวทั้งประเทศ มาเป็นกลุ่มจังหวัด 8 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน รวม 80 คน

ส่วน ส.ว. มีจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งใน 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน และที่เหลือมาจากการสรรหา ส่วนการเลือกตั้ง ในช่วงของการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เกิดขึ้น 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ได้ 'สมัคร สุนทรเวช' เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ในยุค 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' สภามีมติแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. กลับไปใช้บัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั่วประเทศ 125 คน ก่อนมีการเลือกตั้ง และพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ต่อมา ประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมสุดซอย รวมถึงปัญหาทุจริตจำนำข้าว นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ แนวโน้มเดินไปสู่ทางตันและความรุนแรง จึงนำมาซึ่งการยึดอำนาจอีกครั้งโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และนำมาซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2560

ย้อนเวลา '24 สิงหาคม 2557' ก้าวแรกแห่งนายกรัฐมนตรี ผู้ชายที่ชื่อ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ผู้มาพร้อมการ 'คืนความสุขให้คนไทย'

ตั้งคำถามสนุกๆ ว่า ระยะเวลาราว 8 ปี หากคิดจะเขียนจดหมายถึง “ใครสักคน” คุณอยากเขียนถึงใคร? ได้ยินเสียงตะโกนพร้อมกันโดยไว 'ลุงตู่ไง จะใครล่ะ!!'

เพราะ 8 ปี คือตัวเลขระยะเวลาการทำงานของ 'ลุงตู่' หรือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารของประเทศไทย แน่นอนว่า เป็น 8 ปีที่มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย และในวาระการเลือกตั้งใหญ่กำลังจะมาถึง พร้อมการมาถึงซึ่ง 'นายกรัฐมนตรีคนที่ 30' ของประเทศ THE STATES TIMES จึงนึกสนุก ขอเขียน 'จดหมายเหตุลุงตู่' ผู้นำประเทศคนที่ 29 ของประเทศไทย ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย เรื่องไหนที่ควรเก็บบันทึกไว้ในรูปแบบจดหมายกันบ้าง เราจะนำมาเขียนถึงให้ได้ทราบกัน.. 

เริ่มต้นจดหมายเหตุฉบับแรกด้วย เรื่องราว 'วันแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรี' ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเอกฉันท์เลือก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 มีประกาศราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย

'วราวุธ ศิลปอาชา' รมต.ผู้ Speak English ชนิดไฟแล่บ! กับผลงานโบแดง 'ลดถุงพลาสติก' เปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคม

เป็น รมต.อีกคนที่มีผลงาน 'ตึง' ไม่แพ้ใครๆ สำหรับ 'วราวุธ ศิลปอาชา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถมที่ผ่านมา ถ้ายังจำกันได้ รมต.ท็อป-วราวุธ ยังโชว์ทักษะด้านภาษาอังกฤษแบบตึงเป๊ะ ตอบคำถามสื่อต่างประเทศ เมื่อคราวเกิดปัญหาน้ำท่วมเดือนกันยายนปีก่อน งานนั้นเล่นเอากลายเป็นไวรัลให้ถูกพูดถึงกันไปทั้งเมือง

แต่หากว่าจะหยิบยกเอาผลงานที่เรียกว่าเป็น 'ชิ้นโบแดง' ของ รมต.แห่งเมืองสุพรรณคนนี้ คงต้องยกให้กับแคมเปญ 'การลดถุงพลาสติก' ซึ่งกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึง และส่งผลต่อพฤติกรรมผู้คนในประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไป เพียงไม่กี่เดือน หลังการเข้ามารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ 'วราวุธ ศิลปอาชา' เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 62  เจ้าตัวประกาศหนึ่งเป้าหมายสำคัญต่อสาธารณะ คือการเดินหน้าโรดแมป การจัดการ 'ขยะพลาสติก'  ตั้งเป้าลดและเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติกภายในปี 2565

แต่ที่ฮือฮาคือการประกาศดีเดย์ 'งดแจกถุงพลาสติก' ในเครือห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อ กว่า 43 ราย  เริ่มทันที วันที่ 1 มกราคม 2563 การประกาศหักดิบ งดแจกถุงพลาสติกในห้าง และร้านสะดวกซื้อครั้งนั้น มาพร้อมกับเสียงหนุนและต้าน โดยเฉพาะจากผู้คนที่คุ้นชินกับความสะดวกสบายแบบเดิม แต่ก็เป็นการนับหนึ่งให้ 'สังคมไทย' เริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภคครั้งใหญ่ นับแต่นั้นมา 

แม้จะมีเสียงบ่น จากมาตรการหักดิบ แต่กระแสตอบรับก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาพของคนหิ้วถุงผ้าเข้าไปใส่ของในห้างร้าน การใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก หรือการพกแก้วแบบที่ใช้ซ้ำได้ เริ่มเป็นภาพชินตา

แต่น่าเสียดาย ที่ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน โลก และไทยต้องเผชิญการรุกรานของศัตรูที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น อย่าง 'โควิด-19' ความต่อเนื่องของการลด เลิกใช้พลาสติก ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง มีอันต้องสะดุดลง

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า ในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ตลอดปี 2562 คนไทยสร้าง 'ขยะพลาสติก' เฉลี่ย 96 กรัม/คน/วัน ขณะที่ช่วง 'โควิด-19' ปี 2563 ปริมาณขยะพลาสติก กลับเพิ่มขึ้นกว่า 40% และเพิ่มขึ้นเป็น 45% ในช่วงกลางปี 2564

Time To Change 'เมื่อประเทศเปลี่ยนไป'

ถามคนไทยว่า “รู้จักคลองผดุงกรุงเกษมกันหรือไม่?” เชื่อว่าร้อยทั้งร้อย ต้องคุ้นเคยกับคลองสำคัญแห่งนี้เป็นอย่างดี ย้อนเวลากลับไป คลองผดุงกรุงเกษม หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า คลองผดุงฯ ถูกดำริให้ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ราวปี พ.ศ. 2394 เนื่องจากทรงเห็นว่าบ้านเมืองเจริญมากขึ้น สมควรที่จะขุดคลองเพื่อขยายออกไปรอบนอกพระนคร เป็นประโยชน์ในการสัญจร และการทำมาค้าขายของประชาชน โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า คลองผดุงกรุงเกษม

คลองผดุงฯ มีความยาวกว่า 5.5 กิโลเมตร ถูกขุดและตัดผ่านคลองสำคัญๆ ในย่านพระนคร ทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และเกิดศูนย์กลางชุมชนขึ้นอีกมากมาย รวมทั้งยังทำให้เกิดวัดสำคัญ และย่านการค้า อาทิ ตลาดเทเวศร์ ตลาดมหานาค ย่านหัวลำโพง ตลาดนางเลิ้ง ฯลฯ

'รวมไทยสร้างชาติ' รวม ส.ส. สุดเก๋า ในแวดวงการเมืองไทย

กำลังเป็นที่จับตามองที่สุด สำหรับ “เลือกตั้งประเทศไทย” ที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรค ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำงานสานต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศตามกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปบนพื้นฐานของความมีเสถียรภาพ ความมั่นคง และความรุ่งเรือง

งานนี้ไม่ใช่เพียง 'ลุงตู่' เท่านั้นที่ตบเท้าเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรค แต่ 'รวมไทยสร้างชาติ' ยังถือเป็นพรรคที่ 'รวม' เอาบรรดานักการเมืองตัวเก๋า ที่มากไปด้วยความรู้ ความสามารถ ซึ่งจะนำมาพัฒนาประเทศได้อีกมากมาย

THE STATES TIMES ไปรวมเอา 'นักการเมืองสายเก๋า' ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตผู้แทนราษฎร 11 สมัย ทำงานบนเส้นทางการเมืองไทยมากว่า 37 ปี นายวิทยา แก้วภารดัย อีกหนึ่ง ส.ส.ภาคใต้ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนกว่า 8 สมัย แถมยังเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่หัวหน้าพรรคอย่าง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต ส.ส.6 สมัย ผ่านการทำงานทางการเมืองมามากมายหลายบทบาท และขึ้นชื่อว่าเป็น 'ผู้รู้' ด้านกฎหมายที่เก่งกาจคนหนึ่งของเมืองไทย

ย้อนรอยพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เข้าสภาแบบ 'ที่นั่งเดียว'

ถ้าใครยังจำกันได้ 'เลือกตั้ง 2562' นำพาความเปลี่ยนแปลงและสร้างสถิติใหม่ขึ้นหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการใช้ระบบ 'จัดสรรปันส่วนผสม' ที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบเลือกทั้ง ส.ส. เขต จำนวน 350 คน และบัญชีรายชื่ออีก 150 คน  บนหลักการให้เสียงส่วนน้อยมีความหมาย ถูกนำมานับเป็นคะแนน เรียกว่า "ไม่ถูกทิ้งน้ำ" โดยการนำทุกคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ได้มาคิดคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากฐานตัวเลข 'ส.ส.พึงมี' ซึ่งอยู่ที่ 71,000 คะแนนเสียง ต่อ 1 เก้าอี้ ส.ส. 

ปรากฎว่ามี  '11พรรคการเมืองขนาดเล็ก' ได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ 'พรรคละ 1 คน' ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังไทยรักไท, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคประชานิยม, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม ยกเว้นพรรคพลังชาติไทยที่ได้คะแนนเกินเกณฑ์ ส.ส. พึงมี

1 เสียงในสภาของพรรคเล็กอาจดูไม่ค่อยมีน้ำหนักและความหมายมากนัก แต่ ส.ส. ที่ผ่านเข้าไปหลายคนสามารถสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองได้ไม่น้อยเลย THE STATES TIMES หยิบยกเอา ส.ส.เดินเดี่ยว หรืออาจเรียกว่า “ข้ามาคนเดียว” มาบอกเล่ากัน

#ไพบูลย์นิติตะวัน ส.ส. ผู้ "น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า" เข้าสภา 

ชื่อของ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' เริ่มเป็นที่รู้จักในทางการเมือง ในฐานะสว. สรรหา ระหว่างปี 2551-5557  เป็นหนึ่งใน 'กลุ่ม 40 ส.ว.' ตรวจสอบรัฐบาลพรรคพลังประชนและพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเมื่อเจ้าตัวเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย อดีตนายกฯ 'ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร' กรณีสั่งย้าย 'ถวิล เปลี่ยนศรี' เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ต่อมา  'ยิ่งลักษณ์' ต้องพ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาล

และเมื่อถึงช่วงเวลานับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2562  ชื่อ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ก็ถูกจับตา เมื่อเขาตั้งพรรค 'ประชาชนปฏิรูป' ลงสู้ศึกเลือกตั้ง ชูนโยบาย  'น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า' แก้ปัญหา 'ทุกข์ร้อน' ให้ประชาชน ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 311 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 40 คน 

หลังเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคประชาชนปฎิรูป ได้ 45,420 คะแนน เป็นอันดับที่ 23 จากทั้งหมด 74 พรรค และเมื่อผ่านคำนวณคะแนนตามสูตร ของ กกต.แล้ว ก็ส่งให้ 'ไพบูลย์'  หัวหน้าพรรค และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เข้าป้ายเป็น ส.ส. และเป็นหนึ่งใน 11 พรรคเสียงเดียว ที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล

ทำหน้าที่ ส.ส. ได้ไม่กี่เดือน ก็ถูกจับจ้องจากฝ่ายค้าน เมื่อเขาตัดสินใจยื่นเรื่องต่อ กกต. ขอเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งต่อมา กกต. ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ ขณะที่ 'ไพบูลย์' ขอย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ 60 ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อร้องประธานสภา ขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะความเป็น ส.ส. ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสถานะ ส.ส. ของเขาไม่สิ้นสุดลงตามพรรคประชาชนปฏิรูปไปด้วย 

ปัจจุบัน 'ไพบูลย์' ยังคงอยู่ในสถานะส.ส. บัญชีรายชื่อและถือเป็นหนึ่งในหัวหมู่ทะลวงฟันคนสำคัญของของพรรคพลังประชารัฐ

#เต้-มงคลกิตติ์ ส.ส. สีสัน "นักสร้างประเด็น" ในสภา

ชื่อของ เต้-มงคลกิตติ์  สุขสินธารานนท์ เป็นที่รู้จักจากการออกมาเคลื่อนไหว แสดงความเห็นในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงสร้างกระแสในสังคมหลายครั้ง ก่อนที่เขาจะประกาศลงเลือกตั้ง ในฐานะหัวหน้าพรรค 'พรรคไทยศรีวิไลย์' 

มงคลกิตติ์ เป็นหนึ่งเดียวจากพรรคไทยศรีวิไลย์ที่ได้ผ่านเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภา และแน่นอนว่าตั้งแต่วันแรกๆ ของการทำหน้าที่ เขาเริ่มทำให้เห็นภาพ ส.ส.คนขยัน แต่เป็นเรื่องของการขยัน 'สร้างประเด็น' ในสภา 

ยังไม่ทันทำหน้าที่ เมื่อวันที่ ส.ส. เดินทางมาที่สภาเพื่อเตรียมขึ้นรถบัสไปร่วมพิธีเปิดประชุมสภา ก็ปรากฏภาพขณะที่ 'วัน อยู่บำรุง' ส.ส.ป้ายแดงจากพรรคเพื่อไทย กำลังพูดคุยกับผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดี ก่อนที่ 'พี่เต้' จะเดินปรี่เข้ามาขอจับมือ แต่กลับถูกเจ้าของวลี "ใจถึงพี่งได้" ปฏิเสธด้วยประโยคสั้นๆ "ไม่ต้องจับหรอก" ก่อนเดินจากไปดื้อ ๆ ทำเอา ส.ส.เต้ ต้องแก้เก้อ เดินแยกย้ายไปแบบเสียฟอร์ม

ทำหน้าที่ในสภาเพียงไม่กี่เดือน 13 สิงหาคม 2562  'เต้ มงคลกิตติ์' ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ก็ออกออกแถลงการณ์จุดยืนทางการเมืองของพรรคและเหตุผลในการ 'ถอนตัว' จากฝ่ายรัฐบาลมาเป็น 'ฝ่ายค้านอิสระ' ยืนข้างประชาชนโดยให้เหตุผลว่าผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลไม่รักษาสัจจะและไม่ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาร่วมกัน 

หลังจากนั้น 'พี่เต้' ก็จัดเรื่องปัง ๆ ตามมาอีกหลายดอก ไม่ว่าจะเป็นการตามปะทะคารมอย่างรุนแรงกับ'"สิระ เจนจาคะ' ส.ส.พลังประชารัฐในขณะนั้น ที่ออกมาปกป้อง 'นายกลุงตู่' จากการวิพากษ์วิจารณ์ของเขา หรือกรณีที่เจ้าตัว ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ประสานเจ้าหน้าที่ EOD นำระเบิด TNT เข้าสภาโดยอ้างว่าเป็นการทดสอบระบบความปลอดภัย จนถูกตั้งคำถามว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดฐานพกพาสารระเบิดเข้าไปในบริเวณรัฐสภาหรือไม่ ร้อนถึง พณฯ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาต้องลงมาตรวจสอบ

หรือแม้แต่คดีการเสียชีวิตของ 'แตงโม นิดา' ที่เจ้าตัวประกาศเดินหน้าตั้งทีมเฉพาะกิจพิสูจน์ความจริงเพื่อเรียกคืนความเป็นธรรมให้แตงโมและแม่ ซึ่งต่อมามีการยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบจริยธรรมการเป็น ส.ส. จนปรากฏภาพ 'พี่เต้' ออกมาแถลงข่าวด้วยเสียงสั่นเครือ ถอดบัตรประจำตัว ส.ส. พร้อมกล่าวว่า หากไม่สามารถคุ้มครองแม่ของแตงโมได้ ตนก็ไม่มีหน้าจะเป็น ส.ส. และคนอย่างตนเองหากคิดจะสู้ ไม่กลัวอะไรอยู่แล้ว แต่แล้วในที่สุด เรื่องนี้ก็จบลงที่เจ้าตัวประกาศถอนตัวจากการทำคดี 100% ทั้งหมดเป็น 'วีรกรรม' ที่ 'เต้ มงคลกิตติ์' จัดให้จนกลายเป็น 'ดาวฉายแสง' ที่ใครๆ ก็จดจำ

ย้อนเวลา 'เลือกตั้ง 2562' กับเรื่องราวที่เป็น 'ที่สุด'

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด เมื่อ 24 มีนาคม 2562 นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่บรรยากาศของประชาธิปไตยในบ้านเรากลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะกับ 'ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก' หรือ 'เฟิร์สไทม์โหวตเตอร์' หรือคนที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 มากกว่า 7 ล้านคน นอกจากนั้นแล้ว  การกลับมาของการเลือกตั้งหนนี้ ยังนำพา 'ความพีค' ที่เป็นสถิติใหม่ๆ ในหลายประเด็น มีอะไรบ้าง มาย้อนดูกัน

#จำนวนพรรคการเมืองมากที่สุด!

ถ้าย้อนกลับไปดูบรรยากาศการเมืองก่อนปี 2540 ช่วงนั้นการเมืองไม่นิ่ง พรรคการเมืองขาดเสถียรภาพ เกิดหลากหลายกลุ่มก้อนนักการเมืองต่อรองผลประโยชน์ ส่งผลทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง บริหารงานยาก นำมาซึ่งการปฏิรูปการเมืองผ่านการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยสร้างกลไกให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีพรรคการเมืองน้อย และทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ 

แต่สุดท้ายเกิดปัญหาใหม่ คือพรรคการเมือง และรัฐบาลที่ได้มาหลังการเลือกตั้ง เข้มแข็งจนอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลมีปัญหา เกิดภาวะ 'เผด็จการรัฐสภา' กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ ที่ยืดเยื้อยาวนานต่อเนื่องมานับสิบปี 

ตัดภาพกลับมาที่การเลือกตั้ง 2562 ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบ 'จัดสรรปันส่วนผสม' ที่จำกัดจำนวน 'ส.ส.พึงมี' นัยว่าเป็นการถอดบทเรียนจากปัญหาการผูกขาดอำนาจในสภา และเสียงส่วนน้อยกลายเป็นเสียงที่ไร้ความหมายเพราะไม่ถูกนำมาใช้นับคะแนน

ระบบการเลือกตั้ง ปี 2562 จึงทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้สัดส่วนเก้าอี้สอดคล้องกับสัดส่วนที่ควรจะได้  ขณะเดียวกัน บรรดาพรรคเล็กก็จะได้ประโยชน์จากการคิดทุกคะแนนโดยไม่ทิ้งน้ำ เพิ่มโอกาสในการสอบผ่านเข้าสภา ทำให้เกิดการจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พบว่าวันแรกของการเปิดรับสมัคร ส.ส. เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2562 มีพรรคการเมืองในสารบบจำนวนถึง 106 พรรค แต่มีเพียง 49 พรรคที่มีคุณสมบัติในการส่งผู้สมัคร กระทั่งเมื่อถึงวันสุดท้ายของการรับสมัคร ส.ส. มีพรรคการเมืองที่มีคุณสมบัติในการส่งผู้สมัคร ส.ส. จำนวนถึง 80 พรรค

และหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภามากถึง 27 พรรค  เรียกว่า 'มากที่สุด' ในรอบ 18 ปี นับจากการเลือกตั้ง ปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหนแรกหลังมีรัฐธรรมนูญ ปี 40 

#ผู้สมัครส.ส.มากที่สุด! 

ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย ส่งผลให้แต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง พากันส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งให้ได้จำนวนมากที่สุด เพื่อเก็บทุกคะแนนที่ได้รับเลือก มาคำนวณสูตรสัดส่วน ส.ส. พึงมี  

บรรดาพรรคการเมืองใหญ่จะส่งผู้สมัครลงครบ 350 เขต ส่วนพรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะพยายามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด ทำให้การเลือกตั้ง ปี 2562  มีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเกือบ 'หนึ่งหมื่นคน' มากกว่าค่าเฉลี่ยของการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละครั้งจะมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เฉลี่ยเพียง 3,000 คนเท่านั้น 

'เพลงแบบลุงตู่' ผู้นำประเทศที่ 'แต่งเพลงเอง' เพื่อให้กำลังใจและสื่อสารไปสู่ประชาชน

8 ปี มีหนึ่งในภาพจำ ที่เชื่อว่า ประชาชนชาวไทยมักจะจดจำ 'ความเป็นลุงตู่' กันได้ดี นั่นคือ การเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาเป็นจำนวนมาก หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ 'ลุงตู่' แต่งเพลงออกมาเพื่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการให้กำลังใจ หรือแม้แต่การสื่อสารเรื่องราวหลายๆ อย่างในสังคม

'ลุงตู่' แต่งเพลงสื่อสารกับประชาชนจำนวนราวๆ 10 เพลง อาทิ คืนความสุขให้ประเทศไทย, เพราะเธอคือประเทศไทย, ความหวังความศรัทธา,สะพาน, สู้เพื่อแผ่นดิน, ใจเพชร ฯลฯ โดยเพลงที่เรียกว่าเป็น 'ซิกเนเจอร์' หรือเพลงอันเป็นที่จดจำ นั่นคือ คืนความสุขให้ประเทศไทย

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” นี่เป็นประโยคทองในเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่เปิดดังขึ้นมาเมื่อไร เป็นต้องนึกถึง 'ลุงตู่' อย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แกมเหน็บแนมเกี่ยวกับการแต่งเพลงของนายกรัฐมนตรี แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แทบทุกคนร้องเพลงของลุงตู่เพลงนี้กันได้ทั้งสิ้น

'พิพัฒน์ รัชกิจประการ' รมต. Low Profile แต่ High Profit พลิก 'กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา' เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจประเทศ

ก่อนปี 2562 ชื่อของ 'พิพัฒน์  รัชกิจประการ' เป็นที่รู้จักในฐานะนักธุรกิจเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมัน และกิจการเรือประมงขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้

แต่ในทางการเมือง หลังเลือกตั้ง 62 เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ชื่อเดียวกันนี้ กลับแทบไม่มีใครรู้จัก เมื่อเขาเข้ามารับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในโควต้าของพรรคภูมิใจไทย 

'พิพัฒน์' เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อ ว่าเขาเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยเปิดเผยตัวเอง จึงไม่ค่อยมีใครรู้จัก ขนาดที่ว่าพอได้รับการประกาศชื่อเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี สื่อต่างๆ พยายามหาข้อมูลและถึงกับลงรูปของเขาผิด เรียกว่านักข่าวก็ยังงง ว่าเขาเป็นใครในห้วงเวลานั้น 

ถ้าดูในประเด็นการเมือง 'พิพัฒน์' ดูจะมีบทบาท และพื้นที่น้อยกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ  แต่ในประเด็นของการทำงาน เดินหน้านโยบายการท่องเที่ยวและกีฬา ฟื้นเศรษฐกิจในช่วงที่ไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวหลังโควิด 19 ขณะเดียวกันก็เห็นเนื้อเห็นหนังในการยกระดับ มาตรฐานทางด้านการกีฬาอยู่ไม่น้อย ลองย้อนไปดู 'ผลงาน' แบบตึงๆ ของ รมต.คนนี้กัน

#ไอเดียเปิดผับตีสี่ - ทุ่ม 200 ล้านดึง 'ลิซ่า' เคาท์ดาวน์ภูเก็ต  

หลังเข้ารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวไม่นาน เดือนสิงหาคม ปี 2562 เจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ คนนี้ ก็ผุดไอเดีย ขยายเวลาเปิดผับถึงตี 4 ออกมาโยนหินถามสังคม โดยแนวคิดเบื้องต้นเกิดจากความต้องการช่วยพยุงรายได้ด้านการท่องเที่ยวในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว

ทันทีที่ไอเดียนี้ถูกสื่อสารออกไป ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก เจ้าตัวใช้คำว่า 'โดนอัดกลับมาเยอะ' โดยเฉพาะจากภาคประชาชนอย่างเครือข่ายต้านน้ำเมา ที่เข้ายื่นหนังสือคัดค้าน  

แม้ว่า 'รัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ' จะอธิบายว่าแนวคิดขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจาก ตี 2 ไป ตี 4 นั้น แค่ต้องการจัดโซนนิ่งเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ แต่เขายังรับฟัง ทำความเข้าใจ และ 'ยอมถอย' เพื่อกลับมาพิจารณาศึกษาทบทวนให้ถี่ถ้วนขึ้น

หลังจากกลับไปทำการบ้านอยู่เป็นปี ๆ จนเมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ศึกษาข้อมูลแล้วพบว่า การขยายเวลาปิดสถานบันเทิงไปถึงตี 4 จะช่วยเพื่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 25% ล่าสุด 'พิพัฒน์' นำแนวคิดนี้กลับมาอีกครั้ง ชงเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบ โดยเสนอนำร่องที่ถนนบางลา อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่งเดียวก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบ และประเมินมาตรการอีกครั้ง พร้อมเสนอเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นประเทศ เป็นวาระแห่งชาติด้วย

ส่วนอีกกรณี ที่ชิงพื้นที่พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งอยู่หลายวัน คือการวางแผนจัดงาน 'เคาท์ดาวน์ 2565' ที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ ออกมาประกาศลั่น ว่ากำลังจะทุ่มงบฯ 200 ล้าน ดึง 'ลิซ่า แบล็กพิงค์' มาร่วมฉลองปีใหม่ที่สะพานสารสิน จ.ภูเก็ต และเชิญ 'อันเดรอา โบเซลลี' นักร้องโอเปร่าระดับโลกขาวอิตาลี มาฉลองคืนข้ามปีที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีฉากหลังเป็นวัดพระแก้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการดึง 'บิ๊กอีเว้นท์' กลับมา ในช่วงที่บ้านเรากำลังจะเริ่มเดินหน้าเปิดประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปีเริ่มคลี่คลาย 

ทันทีที่ประกาศ นอกจากจะถูกวิจารณ์หนักสุด ๆ เรื่องการทุ่มงบประมาณมหาศาล ไปกับการจัดงานคืนเดียวแล้ว ไม่กี่วันถัดมาหลังมีการประกาศยืนยัน ว่า 'ลิซ่า' ตอบรับมาร่วมงานแล้ว รัฐมนตรี 'พิพัฒน์' ก็ออกมากล่าวขอโทษ แอ่นอกรับแบบตรงๆ ว่า ลิซ่า 'ติดคิว' มาร่วมงานไม่ได้ ซึ่งเกิดความผิดพลาดในด้านการประสานงานของทางกระทรวงเอง อย่างไรก็ตาม มีการปรับแผนในการจัดงานโดยใช้ความเป็นท้องถิ่น ในการจัดงานฉลองปีใหม่กันแบบไทยๆ แทน เป็นอันจบดราม่า ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณ และรอลุ้นว่าศิลปินระดับโลกจะมาเคาท์ดาวน์ในบ้านเราหรือไม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top