Saturday, 18 May 2024
เชียงใหม่

‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ย้ำชัด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากต้องการพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ปัญหาไฟป่า - PM2.5

ฝุ่นพิษ PM2.5 จากเดิมที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้คืบคลานเข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือและกำลังจะกลายเป็นต้นเหตุภัยสุขภาพของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะเป็นจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น และเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ภาพความเลวร้ายของสถานการณ์ได้ปรากฏแก่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหา

อย่างที่ทราบกันดีว่า นอกเหนือจากภาคขนส่ง-คมนาคมที่เป็นต้นกำเนิดของ PM2.5 แล้ว ปัญหา ‘การเผาป่า’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงมีการเรียกร้องให้วางมาตรการเข้มข้นในการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ และทุกภาคส่วนได้พยายามถอดบทเรียนถึงปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเตรียมการรับมือทั้งการปลูกป่า การทำป่าเปียก และใช้เทคโนโลยี บริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชันที่เรียกว่า ซึ่งเป็นแอประบบสนับสนุนการตัดสินใจในบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลโดยการใช้ไฟหรือการเผาในที่โล่ง เป็นระบบที่บูรณาการ ทั้งข้อมูลตรวจวัด ข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์จากแบบจำลองคุณภาพอากาศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

แต่ทว่า ด้วยสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นไม้เบญจพรรณผลัดไป เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี เมื่อใบไม้มีจำนวนมากขึ้น หากเกิดไฟป่าขึ้นมา ก็จะเกิดความลำบากในการควบคุม ดังนั้น จึงจะเห็นว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าเพิ่มเติม การทำป่าชุมชน และการทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น

และอีกหนึ่งแนวทาง ที่ทางจังหวัดเชียงใหม่จะทํานั่นก็คือ การดึงเชื้อเพลิงออกมาจากป่า เพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัชพืชใบไม้จากพื้นที่ป่า และตอซังข้าวโพด จากพื้นที่เกษตร เพื่อลดการเผา และนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เห็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการรับซื้อเศษวัชพืชต่าง ๆ เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงแบบชีวมวล 

“การนำเศษวัชพืชไปทำเป็นชีวมวล เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ผ่านมาทางหวัดได้พยายามที่จะศึกษา แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบผลสําเร็จ เนื่องจากว่า มูลค่าของวัสดุพวกนี้ ไม่คุ้มกับที่ชาวบ้านจะขนไปขาย เพราะมีต้นทุนค่าขนส่ง แต่การที่ภาคเอกชนได้เข้ามาเพิ่มจุดรับซื้อ ที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงง่ายขึ้น เชื่อว่าจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนขนวัชพืชและตอซังมาขายเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายจะช่วยแก้ปัญหาการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือร่วมใจแก้ไข เพราะไฟป่าหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะร่วมกันแก้ไข อย่าลืมว่าอากาศไม่มีพรมแดน ทุกคนหายใจด้วยอากาศเดียวกัน ถ้าเรานิ่งเฉยไม่แก้ไขปัญหาร่วมกัน คิดว่า เรื่องไฟป่า ก็จะอยู่คู่กับเชียงใหม่ไปอีกนาน”

‘อบจ.เชียงใหม่’ ยกมือหนุน ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’  จุดเริ่มต้น สู่การแก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน

ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยคน ๆ เดียว ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเท่านั้นที่จะนำพาให้งานลุล่วง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยแก้ปัญหา ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่

นั่นเพราะที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการระดมสรรพกำลังจากทางภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหา แต่ทว่าฝุ่นพิษก็ยังปกคลุมพื้นที่เชียงใหม่ทุกปีในช่วงหน้าแล้ง

อย่างไรก็ดี การที่มีภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ ด้วยการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล โดยการเปลี่ยนซังข้าวโพดและเศษใบไม้ให้เป็นพลังงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางและเป็นความหวังที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างยั่งยืน

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ โดยมีทั้งหมด 24 อำเภอที่ติดผืนป่า เพราะฉะนั้นจึงเกิดปัญหาไฟป่าทุกปี และทางอบจ. ได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลจัดการปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ในปี 2564 จำนวน 13 ล้านบาท ปี 2565  จำนวน 13 ล้านบาท และในปี 2566 อีกประมาณ 10 ล้านบาท  โดยให้แต่ละหมู่บ้านมาบูรณาการทำงานร่วมกัน ตั้งเป็น ‘สภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่’ เพื่อช่วยกันดูแลและแก้ปัญหา รวมถึงระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับป่า ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อาศัยเพียงหน่วยงานในจังหวัดคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ได้เกิดการผสานความร่วมมือ เพื่อทำโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ด้วยการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล จากซังข้าวโพดและเศษใบไม้ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการเผาของเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน และหากสามารถสร้างแรงจูงใจด้วยการกระจายจุดรับซื้ออย่างทั่วถึงและราคาที่เกษตรกรมองว่าคุ้มค่า จะช่วยให้การแก้ปัญหาเกิดได้เร็วยิ่งขึ้น

‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อนภาพ ภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่น่าห่วง หวังเห็นแสงสว่าง หลังภาคีเครือข่ายรัฐเอกชนร่วมกู้วิกฤต PM2.5 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยว นับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเพราะรายได้ราว 80% มาจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงที่บูมสุดขีดมีมากถึง 10 ล้านคน ในปี 2562 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19

แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ทว่า กลับมาได้รับผลกระทบจากไฟป่า และฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ฟื้นตัวตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันไว้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อผลกระทบจาก PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ พบว่ารายได้ประมาณ 80% มาจากภาคการท่องเที่ยวใหญ่มา สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่กระทบต่อการท่องเที่ยว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทั้งนี้ จากการติดตามตัวเลขสถิติด้านการท่องเที่ยวอย่างละเอียด จะเริ่มเห็นสัญญาณที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเชียงใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ เพราะคนจีนชอบมาเที่ยวเชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ทว่า หลังจากเกิดวิกฤต PM2.5 กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และคงเป็นเรื่องยากที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงใหม่ถึงกว่า 10 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน จากกรณีที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตัดสินให้ประชาชนชนะคดีกรณีรัฐละเลยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นข่าวดีที่ชาวเชียงใหม่ชนะคดี แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า กลไกภาครัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมล้มเหลว ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเหมาะสม

“การที่ประชาชนชนะคดีภาครัฐในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าจะพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในอดีตเมื่อครั้งที่ผมเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เคยมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีรถยนต์ จากเดิมที่เก็บตามจำนวนซีซี แต่จะเปลี่ยนไปใช้รูปแบบเก็บภาษีตามการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสมัยนั้นทำการศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่ก็ไม่สำเร็จ”

นายพงษ์ภาณุ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตประชาชน คงต้องพึ่งกลไกของภาคเอกชนเข้ามาช่วยลด คาร์บอน ลดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะแนวคิดการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าจากอากาศที่บริษัท ประกอบกับโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ที่เริ่มเป็นรูปร่างจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าจะเป็นทางออกในการคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นและจะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ได้อีกครั้ง

‘ทายาทเจ้าสัวเจริญ’ ทุ่ม 3 หมื่นล้าน พลิกที่ดิน 100 ไร่ ผุด ‘ลานนาทีค’ เชียงใหม่ ปั้นแลนด์มาร์กแห่งเมืองเหนือ

(21 ก.ย.66) นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะพัฒนาโครงการ ‘ลานนาทีค’ (LANNATIQUE) บนพื้นที่รวมกว่า 100 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นแลนด์มาร์กใหม่ท่องเที่ยวเชียงใหม่ และเป็นการสร้างเดสติเนชันให้กับเมืองเชียงใหม่ ให้เป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลก 

การพัฒนาโครงการลานนาทีค จะครอบคลุมเชื่อมโยงหลายพื้นที่เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ถนนช้างคลาน ไนท์บาซ่า ตลาดอนุสาร ไปจนถึงริมน้ำปิง เพื่อสร้างประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ท่องเที่ยว รวมถึงเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ตามมาสเตอร์แพลนการลงทุนโครงการ ‘ลานนาทีค’ ของ AWC ในจังหวัดเชียงใหม่ คือการเชื่อมโยงการพัฒนาการลงทุนรวมกว่า 10 โครงการ บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ คาดว่าจะใช้เวลา 3 ปีในการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เชื่อมโยงพื้นที่ทั้ง 100 ไร่ของ AWC ได้สำเร็จ

โครงการ ‘ลานนาทีค’ จะประกอบไปด้วยการลงทุนโรงแรม 4 แห่งที่มีทั้งที่เปิดบริการแล้วและอยู่ระหว่างพัฒนาได้แก่ โรงแรม มีเลีย เชียงใหม่ ที่เปิดให้บริการแล้ว เน้นลูกค้าที่มองหาโรงแรมสไตล์โมเดิร์น ไลฟ์สไตล์ ,โรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ซึ่งซื้อมาจากกลุ่มดุสิตธานี ที่เราจะเน้นกลุ่ม young generation Traveller

ส่วนโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ที่ปรับปรุงใหม่จากเดิมที่เป็นโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง ซึ่งโรงแรมแห่งแรกของพอร์ตโฟลิโอโรงแรมในกลุ่มทีซีซี ที่เพิ่งเปิดให้บริการแล้วในเฟสแรกสำหรับห้องพักและห้องสวีท 240 ห้อง ส่วนเฟส 2 จะเป็นห้องพักแบบพูลวิลล่า, คลับอินเตอร์คอนติเนนตัล คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 ปี ภายใต้การลงทุนรวมทั้ง 2 เฟสกว่า 5 พันล้านบาท กลุ่มลูกค้าจะเป็นลักชัวรี ไฮเอนท์

โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง จะเป็นโรงแรมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งแรกของประเทศไทย เน้นศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีของล้านนามาประยุกต์ตกแต่ง และนำเทคโนโลยี AR มา เป็นนวัตกรรมแบบอินเตอร์แอคทีฟ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เข้าใจถึงศิลปะล้านนา ที่นำมาใช้ในการออกแบบและตกแต่งโรงแรม รวมถึงโรงแรมแมริออท เชียงใหม่ (รีแบรนด์จากเดิมที่เป็นโรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่) จะเปิดให้บริการวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ กลุ่มลูกค้าจะเน้นคอร์ปอเรตและไมซ์

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง คือ ‘พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่’ ใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท เพื่อยกระดับพันธุ์ทิพย์ให้ทันสมัยมากขึ้นภายใต้ชื่อโครงการ เดอะพันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ พื้นที่รวม 13,000 ตารางเมตร ที่จะเปิดในเดือนธ.ค.นี้ จะมี 3 ไฮไลต์หลัก ได้แก่…

•  ATTRATIONS แลนด์มาร์กสำหรับกิจกรรมความสนุกหลากหลายเสมือนห้องนั่งเล่น
•  FOOD LOUNGE แหล่งรวมร้านอาหารชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดภาคเหนือ
•  LIFESTYLE MARKET แหล่งไลฟ์สไตล์สำหรับทุกคนพร้อมต้อนรับทุกการพบปะสังสรรค์

รวมไปถึงทยอยการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ที่ต่อกับโรงแรมแมริออท เชียงใหม่ ที่จะทำไลฟ์สไตล์มาร์เก็ต และพื้นที่สำหรับค้าปลีก ในพื้นที่ไนต์บาซาร์ และพื้นที่ตรงกาแล ซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรระดับโลก เข้ามาร่วมพัฒนาให้เป็น Attraction ด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

โดยจะเป็นเหมือนหมู่บ้านศิลปะและวัฒนธรรมเราจะปั้นให้เชียงใหม่เป็นไลฟ์สไตล์ฮับ แหล่งรวมศิลปะวัฒนธรรม งานอาร์ตแอนด์ คราฟต์ในภาคเหนือ สร้างให้เป็นเดสติเนชั่นท่องเที่ยวระดับโลก ที่จะว๊าวกว่าเกียวโต เพื่อทำให้ย่านช้างคลานกลายเป็นศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศไทย (อาร์ตวิลเลจ)ที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลกให้เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น

>> 10 โปรเจกต์ในโครงการลานนาทีค ได้แก่...
•  สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์
•  SIEM PAKDEE (ดีไซน์ โฮเทล)
•  พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ (ปรับโฉมเป็น เดอะพันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ)
•  โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง (ปรับโฉมจากโรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิงเดิม)
•  โรงแรมแมริออท เชียงใหม่
•  บ้านโบราณ เชียงใหม่ (พัฒนาเป็น ลักซัวรี่ บูทีค โฮเทล)
•  BAAN K SIRIN (พัฒนาเป็นเวลเนส โฮเทล)
•  โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่
•  การพัฒนาในโซนไนท์บาซาร์ และกาแลที่จะสร้างโครงการ ลานนาทีค บาซาร์ (ไนท์บาซาร์) Traditional Luxury Souvenirs , โครงการลานนาทีคกาแล เน้นความเป็นไลฟ์สไตล์มาร์เก็ต มีบิวตี้ คลีนิค และโรงแรมในระดับอัพสเกล
•  โครงการลานนาทีค มาร์เก็ต (ตลาดอนุสาร)พัฒนาเป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มาร์เก็ต

ด้าน เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริษัทบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวในงานเปิดตัวโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง ว่า “โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง เป็นโรงแรมที่ผมซื้อมากว่า 30 ปีก่อน ถูกขอให้ช่วยก็เลยช่วยไป ผมใช้คติธรรมของบรรพบุรุษซึ่งก็ไม่ใช่คนมีเงินอะไรเพียงแต่สอนให้เราทำยังไงให้คนเห็นดีเราถึงจะดีได้ และคนโบราณจีนสอนให้ ยิ่งให้ยิ่งดี เราถูกขอร้องก็เลยซื้อ

“ตอนมาซื้ออีกโรงแรมที่ปัจจุบันเป็นโรงแรมมีเลียเชียงใหม่ เราถูกขอร้องก็เลยซื้อ ซื้อมาก็คิดว่า ถ้าลูกจะไปทำต่อที่ดินไม่ติดกันจะทำอย่างไร ก็เลยจำเป็นต้องเก็บนิดผสมน้อยไปเพื่อให้เป็นรูปธรรมวันหน้าทำอะไรจะได้สวย ซึ่งก็ใช้เวลากว่า 30 ปี เราถูกขอให้ช่วยก็ช่วยไป เราทำให้ดีให้ถูกต้อง ไม่เบียดเบียนใคร ก็เก็บมาอย่างยากลำบากให้ลูกได้รู้คุณค่า

“เมื่อลูกสาว (วัลลภา ไตรโสรัส) มาทำ AWC ก็พัฒนาต่อทำสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ให้พื้นที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่ ทำให้เกิดความทรงคุณค่าและไม่เสียหาย เพื่อทำให้เชียงใหม่กลับมาเจริญรุ่งเรืองดึงดูดนักท่องเที่ยวจากการทำโครงการต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวชอบ”

‘นางสาวไทยปี 66’ ชื่นชมโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ หวังเป็นจุดเริ่มต้นคืนอากาศบริสุทธิ์เชียงใหม่อย่างยั่งยืน

ผลพวงจากไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ หลาย ๆ กิจกรรมต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่ต้องหยุดการเรียนการสอน หลาย ๆ ภาคส่วนพยายามที่จะรณรงค์เพื่อให้หยุดการเผาทำลายป่า

แต่ทว่า ไฟป่าก็ยังคงเกิดขึ้นทุกปี ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของทางจังหวัดเชียงใหม่ 

นางสาวชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทยประจำปี 2566 ในฐานชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด ได้สะท้อนมุมมองต่อปัญหาดังกล่าวว่า ในฐานะคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มาทั้งชีวิต และต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษมาทุกปี ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก ทั้งในแง่สุขภาพ และการเรียน เพราะในบางวันที่สถานการณ์รุนแรง จะต้องหยุดเรียน รวมถึงหยุดกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหมด  

แน่นอนว่า เรื่องของหมอกควันหรือฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะร่วมแรงร่วมใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุที่ไม่ใช่แค่ปลายเหตุ และในฐานะของอดีตนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยากสะท้อนให้เห็นปัญหาหลัก คือเรื่องของการศึกษา การที่ต้องหยุดเรียนทําให้เหมือนถูกลิดรอนสิทธิในการที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนจังหวัดอื่นๆ ที่ยังได้เรียนอยู่ตามปกติ 

เพราะฉะนั้น ต้องกลับมาอีกคิดกันใหม่ การแก้ไขปัญหาบางทีอาจจะไม่ใช่แค่การหลีกเลี่ยงฝุ่น แต่ควรจะมาเริ่มจากการแก้ไขที่ต้นเหตุ ว่าจะทํายังไงให้ประชาชนหรือเกษตรกรหยุดการเผา หรือแม้กระทั่งการปลูกฝังจิตสํานึกให้กับเด็กรุ่นใหม่ว่า การหันกลับมาช่วยเหลือบ้านเมือง เป็นเรื่องสําคัญมาก

อย่างไรก็ดี จากการที่ภาครัฐและเอกชนได้รวมตัวเป็นภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมขจัด PM2.5และลดโลกร้อน ร่วมผลักโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ด้วยการรับซื้อเศษตอซังข้าวโพดจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล เชื่อว่า โครงการนี้จะช่วยลดการเผาป่าและจะช่วยคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับชาวเชียงใหม่ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่สำคัญ ที่หวังว่าจะทำให้เกษตรหยุดการเผาได้อย่างยั่งยืน

‘อธิบดีปค.’ สั่งบุกจับผับเถื่อนเชียงใหม่ แถมเสี่ยงไฟไหม้ หนำซ้ำ!! ปล่อยเด็กอายุต่ำกว่า 20 มั่วสุมดื่มสุรา 242 คน

สนธิกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองและฝ่ายปกครองเชียงใหม่ ‘ปฏิบัติการป่าช้าแตก’ Kick Off จัดระเบียบสังคม ต้อนรับ 1 พ.ย.66 ตามนโยบาย มท.1 สามารถบุกจับ ‘เลอ เนิร์ฟ ผับ’ ย่านช้างเผือก กลางเมืองเชียงใหม่ ทำเอาผู้ฝ่าฝืนกฎหมายต้องสยองคืนฮาโลวีน โดยลักลอบเปิดอย่างผิดกฎหมาย ใช้บ้านไม้ดัดแปลงทำผับเถื่อนไร้ใบอนุญาต เสี่ยงเกิดเหตุเพลิงไหม้ ไม่มีทางหนีไฟ หนำซ้ำ ‘เด็ก’ แออัดเพียบถึง 242 คน

(1 พ.ย. 66) โดย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) สั่งการชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง นำโดยนายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง พร้อมสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน กว่า 30 นาย บูรณาการร่วมกับนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมฝ่ายปกครองจังหวัดเชียงใหม่

นำโดย นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ นายสิทธิศักดิ์ อภิกุลชัยสุทธิ์ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ และนายดนัย สุขสกุล ป้องกันจังหวัดเชียงใหม่ นำกำลังเข้าจับกุมสถานบริการเถื่อน ‘เลอ เนิร์ฟ ผับ’ ย่านช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้กำชับให้ฝ่ายปกครองทั่วประเทศจัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษเพื่อกวดขันปราบปรามผู้มีอิทธิพล การจัดระเบียบสังคม ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนัน และอาวุธปืน โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้กรมการปกครองบูรณาการจัดตั้งชุดปฏิบัติการฝ่ายปกครองร่วมกับทุกจังหวัดและเริ่ม Kick off ในวันที่ 1 พ.ย.66

“ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครองได้สนธิกำลังกับชุดปฏิบัติการฝ่ายปกครองจังหวัดเชียงใหม่ วางแผนเข้าร่วมจับกุม ร้านเลอ เนิฟ หรือ NEUFXBAR ซึ่งมีการร้องเรียนจากประชาชนผู้อาศัยใกล้เคียงว่าเปิดให้บริการในลักษณะเป็นสถานบริการ มีอาหารเครื่องดื่มจำหน่าย ปล่อยปละละเลยให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการจำนวนมาก

ทั้งยังเปิดให้บริการจนถึงเวลา 02.00 น. ส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้านข้างเคียงจนนอนไม่หลับ ซึ่งเมื่อพนักงานฝ่ายปกครองเข้าสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการกระทำผิดจริงตามข้อร้องเรียน

กระทั่งเวลา 00.30 น. ของวันที่ 1 พ.ย.66 ได้เปิดปฏิบัติการ ‘ป่าช้าแตก’ บุกจู่โจมสถานบันเทิงละเมิดกฎหมายทันที โดยเมื่อชุดจับกุมเข้าไปถึงภายในผับ พบเป็นห้องปิดทึบ เปิดเพลงเสียงดังสนั่น แสงไฟเลเซอร์วิบวับ มีนักเที่ยวจำนวนเกือบ 300 คน กำลังมั่วสุมดื่มกินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เต้นตามจังหวะเสียงดนตรีอย่างเมามัน นักเที่ยวกว่า 90% ของร้านเป็นเยาวชน

พนักงานฝ่ายปกครองจึงสั่งให้ปิดเพลงและเปิดไฟให้แสงสว่าง ทำให้ภายในผับเกิดความโกลาหล นักเที่ยวเด็กต่างตกใจและพยายามหลบหนีออกทางประตูหน้าร้านและหลังร้าน แต่ชุดจับกุมได้ปิดล้อมประตูไว้ทุกด้าน จึงทำให้นักเที่ยวไม่สามารถหนีออกไปได้ พนักงานฝ่ายปกครองได้ประกาศให้ทุกคนอยู่ในความสงบ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบนักเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา อายุระหว่าง 17 - 19 ปี ที่กำลังศึกษาสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี พนักงานฝ่ายปกครองได้ประสานให้ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ รับตัวเด็กไปคุ้มครองสวัสดิภาพ และจัดทำประวัติ พร้อมแจ้งให้ผู้ปกครองมารับตัวไป” นายอรรษิษฐ์ กล่าว

นายอรรษิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ดูแลร้าน 7 ฐานความผิด คือ…

1.ตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต 
2.จำหน่ายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 
3.จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 
4.จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด 
5.ยุยงส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร 
6.โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม 
7.ดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558 ซึ่งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองชุดจับกุมจะได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ออกคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี และในส่วนของการดัดแปลงอาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น นั้น ทางจังหวัดเชียงใหม่จะได้ประสานกับเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อออกคำสั่งระงับการใช้อาคารดังกล่าวต่อไป

ด้าน นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง กล่าวว่า ผับแห่งนี้ นอกจากไม่มีใบอนุญาตตั้งสถานบริการแล้ว ยังพบว่ามีการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยใช้บ้านไม้สองชั้นนำมาดัดแปลงเป็นสถานบริการ มีเพดานห้องที่ต่ำมาก ไม่มีทางหนีไฟ หากเกิดเพลิงไหม้ จะต้องเกิดเหตุที่น่าสลด ดังนั้น จึงต้องทำการจับกุมดำเนินคดีไม่ให้เป็นตัวอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“ขอฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการสถานบันเทิง ควรประกอบธุรกิจด้วยความมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยปละละเลยให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการ การปล่อยปละละเลยให้มีการใช้ยาเสพติดในสถานบริการ และการพกพาอาวุธเข้าไปในสถานบริการ

หากพบว่าร้านใดยังคงฝ่าฝืนจะต้องถูกจับกุมดำเนินคดีและเสนอสั่งปิด 5 ปี ทุกร้าน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และสอดคล้องกับนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านมีความห่วงใยความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จึงกำชับให้ฝ่ายปกครองทั่วประเทศเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข โดยหากประชาชนมีเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในท้องที่ หรือร้องเรียนมายังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือสายด่วน 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม

เชียงใหม่-ทชม. Kick off เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ประเดิมเที่ยวบินแรก 'เชียงใหม่-โอซาก้า'

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ Kick off เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ประเดิมเที่ยวบินแรก 'เชียงใหม่-โอซาก้า' รองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบาย Quick-Win กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล โดยการจัดเที่ยวบินหลังเที่ยงคืน จะคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นหลักสำคัญ        

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน Kick off ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ณ อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยมีนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) นาวาอากาศโท รณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ ผู้บริหารระดับสูงของ ทอท. รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน 

ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง โดยเที่ยวบินแรกที่ทำการบินหลังเวลาเที่ยงคืน เพื่อเป็นการประกาศให้บริการ 24 ชั่วโมงของท่าอากาศยานเชียงใหม่ คือ สายการบินไทยเวียตเจ็ท เที่ยวบินที่ VZ 822 เส้นทาง เชียงใหม่-โอซาก้า กำหนดออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 00.30 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 (คืนวันที่ 31 ตุลาคม 2566) เดินทางถึงท่าอากาศยานคันไซ (โอซาก้า) เวลา 07.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) 

โอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คณะผู้บริหารของ ทอท.และผู้ร่วมกิจกรรม ได้ร่วมกันแจกของที่ระลึกให้แก่ผู้โดยสารที่เดินทางไปกับเที่ยวบินดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการแสดงฟ้อนรำประกอบดนตรีพื้นเมือง การประดับตกแต่งบรรยากาศความเป็นล้านนา ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และยังได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ประดับตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้โดยสารที่มาใช้บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่ด้วย

เชียงใหม่-เปิดอาคารศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยง"Pet Care Center, CMU”คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท ดับเบิลยู มอลล์ จำกัด จัดงาน Grand Opening อาคาร  “PET CMU: ศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยง” แห่งใหม่ สำหรับดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.น.สพ.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงาน ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าเชียงใหม่ นายกเทศบาลตำบลหนองหอย ปศุสัตว์เขต 5 ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารคณะและสถาบันกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้มีเกียรติภาครัฐและเอกชน ร่วมงาน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ณ อาคารโซน E สถานีบริการน้ำมันบางจากเชียงใหม่ออยส์  จังหวัดเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมยินดีในพัฒนาการและความเข้มแข็งของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ที่ได้ริเริ่มในความร่วมมือโครงการพัฒนาและจัดทำพื้นที่สถานพยาบาลสัตว์ ซึ่งถือเป็นศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยงครบวงจร เพื่อให้บริการวิชาการทางสัตวแพทย์ในการรักษาสัตว์เลี้ยงและฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ป่วย อันได้แก่ สุนัข แมว สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงพิเศษอื่นๆ รวมถึงเปิดบริการตรวจรักษาคลินิกพิเศษเฉพาะทางหัวใจ ข้อและกระดูก รวมถึงฝังเข็ม ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ อันจะเกื้อหนุนให้ทั้งคณะฯ และมหา
วิทยาลัยฯ ยั่งยืนสืบต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.น.สพ.กรกฎ งานวงศ์พาณิชย์ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสการจัดงาน Grand Opening อาคาร PET CMU: ศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยง อย่างเป็นทางการ จึงได้จัดกิจกรรมให้บริการตรวจสุขภาพ ประกอบไปด้วย บริการตรวจเสียงหัวใจ ปอด ตรวจตา หู ช่องปากเบื้องต้น ตรวจผิวหนังเบื้องต้น และตัดเล็บ เช็ดหู เป็นต้น บริการถ่ายพยาธิและหยอดยาป้องกันเห็บ-หมัดให้กับสุนัขและแมวที่เจ้าของพามารับบริการภายในงาน ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้สุนัขและแมวมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมสำหรับให้เจ้าของสัตว์ร่วมสนุกลุ้นรับรางวัลภายในงานด้วย

PET CMU: ศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยง เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. บริการให้คำปรึกษาการดูแลสัตว์เลี้ยง รับฝากสัตว์เลี้ยง ตรวจรักษาโรคทั่วไป ตรวจเลือด ให้บริการทำหมันและผ่าตัดทั่วไป บริการฉีดวัคซีนป้องกันเห็บ-หมัด ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจและถ่ายพยาธิ นอกจากนี้ ยังมีบริการตรวจรักษาด้วยเครื่อง Digital X-ray และเครื่อง Ultrasound รวมถึงการเปิดให้บริการคลินิกพิเศษเฉพาะทาง ประกอบไปด้วย คลินิกโรคหัวใจ คลินิกข้อและกระดูก คลินิกฝังเข็ม คลินิกผิวหนัง คลินิกทันตกรรม และคลินิกระบบสืบพันธุ์ โดยคณาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ หนุนรถแดงเชียงใหม่ใช้ EV สร้าง ‘ภาพจำที่ดี-อัตลักษณ์’ รถประจำถิ่น

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม หนุน!! รถแดงเชียงใหม่ ใช้ EV คู่คงอัตลักษณ์รถสาธารณะประจำถิ่น มุ่งลดมลพิษและควันดำ สร้างภาพจำที่ดีให้นักท่องเที่ยว ชี้เป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เหตุจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น

(6 พ.ย. 66) นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้รถแดงคู่เมืองเชียงใหม่เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวี (EV) เช่นเดียวกับรถยนต์ขนส่งสาธารณะประจำเมืองต่างๆ ซึ่งควรปรับเปลี่ยนกลไกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของรถยนต์สาธารณะประจำท้องถิ่นไว้ และสร้างภาพจำที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว โดยการผลักดันระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเป็นนโยบายนำร่องที่ต้องเร่งทำ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น การใช้รถยนต์สาธารณะจะมีมากขึ้น

เพราะถ้าหากยังเป็นรถยนต์สันดาป ปัญหามลพิษจากควันท่อไอเสียก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเปลี่ยนรถยนต์สาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจะลดควันดำและปัญหามลพิษไปในตัว

“จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองเหนือของเชียงใหม่ทำได้น่าสนใจมาก โดยรถแดงถือเป็นรถสาธารณะที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่มานาน”

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า มีหลายแนวทางที่สามารถใช้เพื่อสนับสนุนและเพิ่มโอกาสในธุรกิจได้ หากมีความรู้เกี่ยวกับตลาดและอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจต้องใช้เวลา

แต่หากวางแผนที่ดีในแต่ละขั้นตอนจะช่วยให้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในไทยได้

เชียงใหม่-รมว.ยุติธรรม แถลงผลการจับกุมคดียาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ยึดของกลางยาบ้า 5 ล้านเม็ด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผนึกกำลังฝ่ายตำรวจ ทหาร ปกครอง และ ป.ป.ส. แถลงข่าวการจับกุมคดียาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ต้องหา 3 คนพร้อมของกลางยาบ้า 5 ล้านเม็ด ณ อาคารกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 จ.เชียงใหม่

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 น.พ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พล.อ.วิชาญ  สุขสง ที่ปรึกษา รมว.ยธ.,นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ที่ปรึกษา รมว.ยธ., นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วย รมว.ยธ. ,นายนิรัตน์  พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.เชียงใหม่, พล.ต.ท.ภาณุรัตน์  หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.เลขาธิการ ป.ป.ส., นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผอ.ป.ป.ส., พล.ต.ต.กฤตธาพล  ยี่สาคร รรท.ผบช.ภ.5 ,พล.ท.นฤทธิ์  ถาวรวงษ์  มทน.3/ผอ.ศอ.ปส.ชน., พล.ท.เสนีย์  ศรีหิรัญ  ผทค.พิเศษ ทบ.,พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์  รรท.รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน รองผบช.ภ.5 ,พล.ต.ต.วีรชน  บุญทวี รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.นพดล  กรึงไกร รอง ผบช.ภ.5 , พล.ต.ต.พรพิทักษ์ รู้ยืนยง รรท.รอง ผบช.ภ.5 , พล.ต.ต.ดุลเดชา  อาชวะสมิตระกูล รรท.รอง ผบช.ภ.5 ,พล.ต.ต.ธวัชชัย  พงษ์วิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่,พล.ต.ต.วรพงศ์  คำลือ ผบก.สส.ภ.5 , พ.อ.อัศพงษ์ นิลพันธ์ เสธ.ศอ.ปส.ชน.,พ.อ.กิดากร จันทรา รอง ผบ.กกล.ผาเมือง ,พ.อ.เกียรติอุดม นาดี รอง เสธ.กกล.ผาเมือง  และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา 2 คนพร้อมของกลางยาบ้า 5 ล้านเม็ด ณ อาคารกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 จ.เชียงใหม่ 

พฤติการณ์ของคดีดังนี้ ก่อนเกิดเหตุ พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.5 ได้บูรณาการประสานการปฏิบัติด้านข้อมูลข่าวสารยาเสพติดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จนทราบว่าจะมีกลุ่มขบวนการลับลอบค้ายาเสพติดทำการลักลอบขนลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่แนวชายแดนไปส่งให้กับกลุ่มขบวนการลักลอบค้ายาเสพติดในพื้นที่ตอนในของประเทศ จึงสั่งการให้ประสานกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนออกทำการสืบสวนติดตามจับกุม ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ตรวจกลุ่มขบวนดังกล่าว ใช้รถยนต์กระบะ ทะเบียน ยค 8*** เชียงใหม่ ในการขนลำเลียงยาเสพติด และใช้รถยนต์กระบะทะเบียน ผอ 4*** เชียงใหม่ ในการนำทางตรวจสอบความปลอดภัยในเส้นทางลำเลียงยาเสพติด จึงได้ประสานกับศูนย์ควบคุมและสั่งการการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด ตำรวจภูธรภาค 5 ตรวจสอบและวิเคราะห์เส้นทาง พร้อมทั้งดำเนินการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม 2566 พบรถยนต์กระบะ ทะเบียน ยค 8*** เชียงใหม่ ขับผ่านในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง - อ.แม่จัน จว.เชียงราย - อ.แม่อาย จว.เชียงใหม่ จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น 

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ  โดยตั้งเป้ากวาดล้างยาเสดติดให้ลดน้อยลงและหมดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย รักษา ดูแล และส่งคืนเขากลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปเสพ จนถึงการตรวจยึดยาเสพติดและยึดทรัพย์  ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขจัดปัญหานี้ออกไปจากสังคมไทย  

พร้อมย้ำทุกหน่วยงานต้องร่วมมือบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง  ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่และท้าทายอย่างมาก  หากทำได้สำเร็จจะสามารถลดความเดือดร้อนของประชาชนได้  เช่นเดียวกับการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ ที่มีของกลางยาบ้ากว่า 5 ล้านเม็ด  ซึ่งหากปล่อยให้หลุดรอดไปได้  จะส่งผลเสียหายกระทบตามมาเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน  จึงขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันสกัดจับเครือข่ายครั้งนี้ได้

ด้าน พลตำรวจตรี กฤตธาพล ยี่สาคร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 เปิดเผยถึงการจับกุมในคดีนี้ ว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 พบว่ารถยนต์คันดังกล่าว ขับผ่านพื้นที่ อ.ไชยปราการ, อ.เชียงดาว จว.เชียงใหม่ โดยมีรถยนต์กระบะ ทะเบียน ผอ 4*** เชียงใหม่ ขับขี่ในลักษณะนำหน้ามาโดยตลอด โดยรถยนต์ทั้ง 2 คัน มุ่งหน้าเข้าสู่  อ.แม่แตง จว.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ออกทำการตรวจสอบตามเส้นทางที่คาดว่ารถยนต์ทั้ง 2 คันจะขับผ่าน จนกระทั่งเวลา 04.30 น. ของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมพบรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ยค 8*** เชียงใหม่ จอดอยู่บริเวณถนนเลียบลำน้ำปิง ใต้สะพานเฉลิมพระเกียรติ ถนนป่าตัน ต.ป่าตัน อ.เมืองเชียงใหม่ จว.เชียงใหม่ โดยในกระบะหลังมีลักษณะเป็นโครงเหล็กเสริมและใช้ผ้าใบคลุม ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ได้รับแจ้งว่ามีการลำเลียงยาเสพติด เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เรียกให้หยุดรถและได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ 

และได้ทำการตรวจสอบรถยนต์กระบะคันดังกล่าว พบนายณัฐพล สงวนนามสกุล ภูมิลำเนา อ.ฝาง จว.เชียงใหม่ เป็นผู้ขับขี่ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้สอบถาม  นายณัฐพลฯ โดย นายณัฐพลฯ ได้ให้การยอมรับว่า ตนได้ลำเลียงยาเสพติดจริง จากนั้นจึงได้ขอทำการตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบ ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) รวมจำนวนประมาณ 5,000,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่บริเวณหลัง รถยนต์กระบะ และในเวลาต่อมาไม่นาน ได้พบรถยนต์กระบะ ทะเบียน ผอ 4*** เชียงใหม่ ขับเข้ามายังจุดเกิดเหตุ ซึ่งเป็นรถนำสำรวจเส้นทางในการลำเลียงยาเสพติด 

จึงได้เรียกให้หยุดรถ และได้แสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอทำการตรวจค้น พบในรถยนต์กระบะคันดังกล่าวมี นายธนภัทร สงวนนามสกุล ภูมิลำเนา อ.เมืองเชียงใหม่ จว.เชียงใหม่ เป็นผู้ขับขี่ และนายประสิทธิ์ สงวนนามสกุล ภูมิลำเนา อ.ฝาง จว.เชียงใหม่ เป็นผู้โดยสารมาด้วย เจ้าหน้าที่จึงได้ขอทำการตรวจค้นตัว  ผลปรากฏไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยทั้งสองได้ให้การยอมรับสารภาพว่า ทั้งสองเป็นผู้ขับขี่รถยนต์นำทางให้กับนายณัฐพลฯเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในเส้นทาง จากนั้นจึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางทั้งหมดนำส่งพงส.สภ.ช้างเผือก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่ พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้กำหนด Kick Off การแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล 2 เรื่อง ประกอบด้วย การพิจารณาใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 5 (10) ในการกำหนดพื้นที่พิเศษ และโครงสร้างเฉพาะ เพื่อดำเนินการในพื้นที่ที่มีปัญหาการนำเข้ายาเสพติดรุนแรง ใน 15 อำเภอ ของ 3 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย และนครพนม

โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือที่ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ ซึ่งคิดเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ ของการนำเข้าทั้งหมดในห้วงปี 2565 ที่ผ่านมา  ซึ่งหากเราสามารถสร้างแนวทางสกัดกั้นที่เข้มแข็งตรงจุดเหล่านี้ได้ จะช่วยลดปริมาณยาเสพติดที่นำเข้าสู่ประเทศไทยได้จำนวนมาก  ขณะเดียวกันจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการ Quick Win ในการนำผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการสำรวจกว่า 32,000 คน เข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ชุมชน และขอฝากประชาชนทุกคนร่วมกันเป็นหูเป็นตา ดูแลครอบครัว คนใกล้ชิด ชุมชน หากพบเห็นเบาะแสยาเสพติดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. 1386


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top