Saturday, 18 May 2024
เชียงใหม่

เชียงใหม่-คณะพยาบาลศาสตร์ มช.ร่วมยินดีกับรางวัลอันทรงเกียรติ

ผศ.ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดี พร้อมคณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร คณะพยาบาลศาสตร์ มช. เข้ามอบช่อดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีกับผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษาของคณะฯ ในพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา มช. ประจำปี 2567 ณ ศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567

รางวัลผู้บริหารดีเด่นจากกองทุนอธิการบดี มช. ประจำปี 2566 ได้แก่ ผศ.ทพ.พิริยะ เชิดสถิรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกรรมการอำนวยการประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มช.

รางวัลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "ช้างทองคำ" อาจารย์ดีเด่น สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประจำปี 2566 ได้แก่ อ.ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา อาจารย์กลุ่มวิชาการพยาบาลจิตเวช สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์

โล่ประกาศเกียรติคุณผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ประจำปี 2566 ได้แก่ ศ.ดร.ภัทราภรณ์ ภทรสกุล ศาสตราจารย์ในสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ 

Exemplary Award ได้แก่ ผศ.ดร.ณัฏฐณิชา ศรีบุณยวัฒน กลุ่มวิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์

รางวัลหลักสูตรดีเด่น ประเภทหลักสูตรยอดนิยม ประจำปีการศึกษา 2565 ผู้เข้ารับรางวัลได้แก่ รศ.ดร.ฐิติณัฏฐ์ อัคคะเดชอนันต์ ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) 

รางวัลการค้นคว้าอิสระดีมาก ประจำปีการศึกษา 2566 ได้แก่ นางศุภรดา ประเสริฐกุล หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทางการพยาบาล เรื่อง "การพัฒนาคุณภาพการวางแผนจำหน่ายสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลนครพิงค์" โดยมี รศ.ดร.สมใจ ศิระกมล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญพิชชา จิตต์ภักดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  นางสาวรวินันท์ ใจเงิน หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต เรื่อง "ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติทางคลินิกสำหรับการพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการหูแว่ว แผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่" โดยมี ศ.ดร.ภัทราภรณ์ ภทรสกุล และ อ.ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
พัฒนชัย/เชียงใหม่

‘เชียงใหม่’ นำร่อง!! ‘รถสองแถว EV’ พัฒนาโดย ‘มช.’ ช่วยลดมลพิษ-ประหยัดค่าใช้จ่าย หวังขยายผลทั่วประเทศ

(27 ม.ค. 67) รถเขียวเริ่มใช้งานแล้ว หลังผู้ขับรถสองแถวลองขับรถสองแถว EV ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ซึ่งโครงการนี้มาพร้อมกับรถสีเขียวทั้งคันตอบโจทย์สโลแกนการรักษ์โลก และลดมลพิษ ลดฝุ่น PM 2.5 โดยรถสองแถวไฟฟ้าคันดังกล่าว อยู่ในระหว่างการพัฒนาโดยมหาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

‘นายบริสุทธิ์ สันติวัฒนพันธ์’ คนขับรถสองแถว EV ที่เปลี่ยนจากการขับรถน้ำมันมาเป็นรถ EV เปิดเผยว่า รถสามารถใช้งานได้ดี และเป็นเรื่องที่ดีที่มีการใช้การมีรถโดยสาร EV เพราะตนได้รับรายได้เพิ่มขึ้น หลังจากไม่ต้องหมดไปกับค่าน้ำมัน โดยปกติจะเสียค่าน้ำมัน กิโลเมตรละ 3 บาท แต่การเปลี่ยนมาใช้ EV จะเหลืออยู่ที่กิโลเมตรละ 70 สตางค์

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้จัดการโครงการฯ รถสองแถว EV นี้ กล่าวว่า อยากต่อยอดโครงการรถสองแถว EV ให้ขยายออกไปใช้กับรถโดยสารประจำทางที่มีลักษณะเดียวกันได้

อย่างรถ ‘รถแดง’ ซึ่งเป็นรถสองแถว EV ที่คนเชียงใหม่ใช้กันมากอยู่แล้ว และควรมีโครงการนำร่องในการรถแดง EV จำนวนประมาณ 100 คัน เพื่อจะให้เห็นภาพอย่างชัดเจนในการเปลี่ยนรถสองแถวแบบน้ำมัน ไปเป็น EV เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนในการดำเนินงานต่อไป และมีต้นทุนราว 600,000 บาทต่อคัน ซึ่งทุนที่สูงมาก จึงควรมีรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ

โดยรถสองแถว EV ที่แล้วเสร็จทั้ง 2 คัน จะสามารถวิ่งได้ไกลประมาณ 270 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งเพียงพอแล้วต่อการวิ่งรับส่งทั้งวัน โดยปกติรถสองแถวจะวิ่งอยู่ที่ระยะทาง 150 ถึง 160 กิโลเมตรต่อวัน

ผู้ผลิตกางเกงลายช้างเชียงใหม่ไม่หวั่น ‘จีน’ ผลิตแข่ง ลั่น!! ไม่กระทบ เพราะคุณภาพของไทยดีกว่าชัดเจน

(5 ก.พ. 67) นางกิ่งกาญจน์ สมร เจ้าของ บริษัท ชินรดา การ์เม้นท์ ผู้ผลิตกางเกงผ้าลายช้าง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีที่จีนผลิตกางเกงลายช้างขายในตลาด ว่า โรงงานไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวที่เกิดขึ้น ถือเป็นข่าวดีมีลูกค้ามาช่วยแนะนำโรงงาน

ทั้งนี้ สินค้าแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด สีอาจจะคล้ายกัน แต่ทุกอย่างต่างกันแน่นอน ของจีนมีตะเข็บเดียวเพราะประหยัดไป ขายถูก 30 บาท ใช้ผ้ายืด ผ้าหนังไก่ ลายไม่ตรง ไซส์เล็ก ไม่มีไซส์ใหญ่ ชาวต่างชาติใส่ไม่ได้ ขาไม่เท่ากัน สังเกตได้ ส่วนของไทยมีการออกแบบแพทเทิร์นของเอง ขึ้นลายเอง พิมพ์ลายเอง มีเกณฑ์คุณภาพและคิวซี หรือตรวจสอบคุณภาพสินค้าทุกชิ้น 

เชียงใหม่-มช.จัดพิธีลงนามความร่วมมือ พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันนโยบายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น “Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation” มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันนโยบายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ 

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากเครือข่ายความร่วมมือ และร่วมกันพัฒนาให้เกิดงานวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในการยกระดับความสามารถด้านวัสดุการก่อสร้าง (Construction Material) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นำโดย ศาสตราจารย์ 
ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. พร้อม Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology และ MR.NAOHITO OHBA กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด และคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวว่า มช. มีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม อันสอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ในเรื่องการพัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Mechanisms Development) ที่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ให้เกิดผลงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ในเวลารวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์ในเรื่องการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Carbon Neutral University) และการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและยกระดับงานวิจัยให้สอดคล้องกับพันธกิจ

โดยมี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) และคณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานหลักในการพัฒนางานวิจัยให้ออกสู่รั้วมหาวิทยาลัย  ควบคู่กับการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม นั่นคือ Taisei Corporation ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำด้านการผลิต Carbon Free Concrete เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร องค์ความรู้ทางปัญญาร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมซึ่งกันและกัน อีกทั้งพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการสร้างคุณค่าใหม่ (New Value) ด้วยการจัดหาโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาสังคมเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน “อันจะก้าวสู่หมุดหมายเดียวกัน คือ การทำให้ความร่วมมือนี้สำเร็จเกิดเป็นการวิจัยเป็นสากลที่มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในการแสวงหาการพัฒนาที่ยั่งยืน”

และด้วยความร่วมมือนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายและปลูกฝังความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ผ่านการผสานองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเชื่อมโยงการวิจัยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology กล่าวว่า “Taisei Corporation” มีแนวทางอย่างชัดเจนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยการจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและองค์ความรู้ทางปัญญาเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และการส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือของเราในวันนี้ จะกำเนิดเป็นผลสำเร็จของงานวิจัยระดับสากลจากผสานองค์ความรู้ของทั้งสองฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตนวัตกรรมสมัยใหม่ อีกทั้งการคิดค้นโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วน ในการลดมลภาวะการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการร่วมกันในอนาคต พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและผลักดันสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ที่จับต้องได้ เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและการใช้งานจริงได้อย่างราบรื่น

Mr.Haruka OZAWA เลขานุการโทประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวถึงความยินดีและชื่นชมในวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลโดยให้ความสำคัญกับผู้คนและการสร้างความยั่งยืน ของทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Taisei Corporation จากการทำข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอีกขั้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมีส่วนช่วยต่อสังคมในการลดการปล่อยคาร์บอน และยิ่งมากไปกว่านั้น ยังถือเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านขอบเขตการทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมระดับชาติต่อไป 

ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะคณะดำเนินงานหลัก เผยถึง การดำเนินงานจากความร่วมมือในช่วงเวลาที่ผ่านมาของการวิจัยและพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้คอนกรีตที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งหรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งคอนกรีตชนิดนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการผลิตด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัยทั้งสองฝ่าย และเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารและคณาจารย์จาก มช. ได้เข้าศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานอื่น ๆ ในอนาคต ณ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการจุดประกายความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ เพื่อเน้นย้ำการดำเนินงานร่วมกันอย่างไม่หยุดยั้งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและก้าวสู่เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง คือ การสนับสนุน Carbon Net Zero ของทั้งประเทศไทยและระดับนานาชาติ ผ่านการวิจัยขั้นสูงด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่และค้นหาโซลูชั่นในการพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free จากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างต่อไป 

ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของเจตนารมณ์อันแน่วแน่ทั้งสองฝ่ายในวันนี้ จะเกิดเป็นสะพานเชื่อมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะสามารถผลักดันงานวิจัยให้เกิดการต่อยอดและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมากขึ้นและยังเป็นการเน้นย้ำให้กับหลายๆ หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม
ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นภาพร/เชียงใหม่

เชียงใหม่- Ex- M.B.A. รุ่น 24 CMU จัดกิจกรรม หอบรักไปห่มป่า ครั้งที่ 12

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Ex-M.B.A.) รุ่นที่ 24  คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ จัดพิธีเปิดโครงการ CSR หอบรักไปห่มป่าครั้งที่ 12  ประจําปีการศึกษา 2567  จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ณ โรงเรียน กมล-เรียม สุโกศล (บ้านผาใต้) อําเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่  

โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ก้องภู นิมานันท์  คณบดีคณะบริหารธุรกิจ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นประธานกล่าวเปิด กิจกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และคณาจารย์ นักศึกษาหลักสูตรบริหารธรุกิจ มหาบัณฑิต สําหรับผู้บริหาร รุ่นที่ 24  เข้าร่วมโครงการ โดยมี นายพีระเมศร์ อริยกุศลสุทธิ ประธานรุ่น Ex MBA24 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าววัตถุประสงค์โครงการว่า 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Ex-M.B.A.) รุ่นที่ 24  คณะบริหารธุรกิจ 
และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ  รวมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจ ด้วยจิตอาสามา ทำเพื่อสังคม จัดโครงการกิจกรรม Corporate Social Responsibility (CSR) : หอบรักไปห่มป่า การแบ่งปันสู่สังคม อิ่มใจ ได้บุญ ส่งถึงน้อง ให้แก่นักเรียน คุณครู และบุคลากร โรงเรียนกมล-เรียม 
สุโกศล (บ้านผาใต้) ตําบลท่าตอน อําเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3
จํานวน 189 คน ในระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 

วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมโรงอาหารและขยายพื้นท่ีให้เพียงพอในการนั่งรับประทานอาหารของนักเรียน คุณครู และบุคลากรของโรงเรียน  ปรับปรุงซ่อมแซมห้องครัว อ่างล้างจานและจุดตากถาดหลุมที่ใช้รับประทานอาหาร  ปรับปรุงซ่อมแซมเตาเผาขยะของโรงเรียนในการกําจัดขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ สร้างจิตสาธารณะในหมู่สมาชิก Ex-MBA โดยถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมและร่วมกันทําความดีคืนสู่สังคม เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ Ex-MBA และเรียนรู้ขั้นตอนการทํากิจกรรม CSR

โดยกิจกรรมโครงการประกอบด้วย ซ่อมแซมอาคารและสถานที่ของโรงเรียน ทาสี ยาแนว มุงหลังคา Clean room ตรวจวัดสายตา  ให้ความรู้เรื่องฝุ่นPM  พิธีมอบทุนการศึกษา ให้กับนักเรียนส่งมอบโรงอาหาร ห้องครัว เตาเผาขยะ และห้องปลอดฝุ่น พร้อมทั้ง บริจาคสิ่งของ อุปโภคและบริโภค อุปกรณ์การเรียนให้แก่ผู้อํานวยการโรงเรียน กมล-เรียม สุโกศล (บ้านผาใต้) อําเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อีกด้วย

นภาพร/เชียงใหม่

‘โรงแรมดังเชียงใหม่’ โพสต์เดือด!! หลังโดนคนโทรด่า ลั่น!! “โรงแรมนี้รับคนเท่านั้น ไม่ต้อนรับสลิ่ม”

เมื่อไม่นานนี้ เพจเฟซบุ๊ก ‘River Art Hotel Chiang Mai’ ซึ่งเป็นเพจของโรงแรมชื่อดังริมแม่น้ำปิง ในย่านตำบลป่าตัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้โพสต์ข้อความประกาศ ‘ไม่ต้อนรับสลิ่ม’ โดยระบุว่า…

“เรียน สลิ่ม ที่ส้นตีน อันเป็นที่รักของพรมเช็ดเท้า

ไม่ต้องโทรมาด่านะคะ โรงแรมนี้ไม่ต้อนรับสลิ่ม อย่าสลอนว่ากูต้องง้อคนอย่างทาส มาพักโรงแรมนี้ค่ะ

โรงแรมนี้ รับคนเท่านั้นค่ะ
โรงแรมนี้ ไม่รับสลิ่มมานานแล้วนะคะ”

อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก

22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 ‘รัชกาลที่ 9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ จ.เชียงใหม่ ช่วยอำนวยประโยชน์ด้าน ‘ชลประทาน-ผลิตไฟฟ้า-บรรเทาอุทกภัย’

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อว่า ‘เขื่อนแม่งัด’ ตั้งอยู่บนลำน้ำแม่งัด สาขาแม่น้ำปิง ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และยังตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำหรับทางเข้าเขื่อนอยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 41 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (สายเชียงใหม่-ฝาง) เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 11 กิโลเมตร

โดยเขื่อนอเนกประสงค์ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้านเหนือเขื่อนที่สามารถอำนวยประโยชน์ได้หลายด้าน อาทิ ด้านการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ การบรรเทาอุทกภัยแก่พื้นที่เพาะปลูกท้ายอ่างเก็บน้ำ การประมงในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน ซึ่งการก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในปี พ.ศ. 2528 แล้วเสร็จในปีเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า ‘เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เช่นกัน

‘เจ้าของรถรับจ้าง’ ไอเดียบรรเจิด!! เนรมิต ‘รถแดงติดแอร์’ หวังเอาใจคนขี้ร้อน พ่วงระบบกรองฝุ่น วิ่งรับส่งทั่วเชียงใหม่

(22 ก.พ. 67) สำหรับการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ในเชียงใหม่นั้น รถสี่ล้อแดงรับจ้าง หรือ ‘รถแดง’ ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกยอดนิยมของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะสามารถเรียกใช้บริการได้สะดวกและพบเห็นวิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่ทั่วไป

ซึ่งลักษณะที่นั่งของผู้โดยสารจะเป็นเบาะสองแถวอยู่ทางด้านหลังของตัวรถที่ต่อเติมเป็นห้องโดยสาร ที่มีหลังคาบังแดดบังฝน มีทางขึ้นจากท้ายรถ และมีช่องหน้าต่างเปิดโล่งทั้งข้างของตัวรถ เพื่อชมวิวระหว่างทางได้ และรับลม โดยที่บางคันอาจจะมีการติดตั้งพัดลมเพิ่มเติมในห้องโดยสารด้านหลังเพื่อช่วยคลายร้อนให้กับผู้โดยสาร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่างมีการกล่าวถึงรถสี่ล้อแดงรับจ้างคันหนึ่ง ที่แตกต่างจากทั่วไป และเป็นที่ชื่นชอบประทับใจของนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ

โดยรถคันดังกล่าวนี้มีความพิเศษกว่าคันอื่นๆ ตรงที่เป็น ‘รถแดงติดแอร์’ หรือ มีการติดตั้งระบบปรับอากาศเย็นสบายไว้ในส่วนของห้องผู้โดยสารด้วย พร้อมอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือและเครื่องฟอกอากาศป้องกันฝุ่น PM2.5

รวมทั้งเบาะนั่งที่สามารถปรับเป็นที่นอนได้ อีกทั้งมีหมอนและผ้าห่มให้บริการพร้อมสรรพ นอกจากนี้ทางคนขับยังมีบริการถ่ายภาพสวยๆ ให้อีกด้วย หากเป็นการจ้างเหมานำเที่ยว

จากการสอบถามทราบว่า ‘รถสี่ล้อแดงติดแอร์’ คันนี้เป็นของ นายรณกฤต อินสิงห์ หรือ ‘โก้’ อายุ 33 ปี เปิดเผยว่า เดิมทีหลังจากที่เรียนจบได้ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี กระทั่งเกือบสิบปีที่แล้วได้เปลี่ยนมายึดอาชีพขับรถสี่ล้อแดงวิ่งรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่

ด้วยความรักในอาชีพนี้เป็นอย่างมาก จึงอยากจะพัฒนาการให้บริการต่างๆ ให้ดีขึ้น กระทั่งเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว เกิดแนวความคิดว่า อยากจะติดตั้งระบบปรับอากาศ หรือแอร์ในห้องผู้โดยสารด้านหลัง เนื่องจากอยากทำให้ผู้โดยสารรู้สึกเย็นสบายเหมือนคนขับที่เปิดแอร์ได้ตลอดเวลาที่ขับรถ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน และจะได้มีความสุขกับการใช้บริการรถสี่ล้อแดง

จากนั้นตัวเองจึงได้อาศัยความรู้ด้านช่างที่พอมีอยู่ทำการออกแบบ พร้อมทั้งขอคำปรึกษาแนะนำจากช่างที่มีความชำนาญ และดำเนินการติดตั้งระบบปรับอากาศกับรถสี่ล้อแดงคันแรกของตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ โดยมีประตูด้านหลังที่ปิดทึบได้ และกระจกด้านข้างที่เปิดปิดได้ ในกรณีที่ต้องการปิดแอร์และเปิดรับอากาศจากด้านนอก

ซึ่งถือว่าเป็นรถต้นแบบและน่าจะเป็นคันแรกในเชียงใหม่ พร้อมนำออกวิ่งให้บริการรับส่งผู้โดยสารในตัวเมืองเชียงใหม่และรับเหมานำเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งใกล้เคียง โดยได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีและมีผู้ใช้บริการอยู่ตลอด ต่อมาเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว จึงได้ทำ ‘รถแดงติดแอร์’ อีกคันหนึ่ง ซึ่งเป็นคันที่สองของตัวเองและเป็นคันที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้

ทั้งนี้ในส่วนของห้องผู้โดยสารนั้น นอกจากการติดแอร์ทำให้อากาศเย็นสบายแล้ว ยังมีระบบฟอกอากาศกรองฝุ่น PM2.5 ลำโพงบลูทูธ พัดลม ที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ เบาะนั่งที่สามารถปรับเป็นที่นอนได้ พร้อมหมอนและผ้าห่มให้บริการ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและมีความสุขตลอดการเดินทาง

ขณะเดียวกันในกรณีที่นักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารทำการว่าจ้างเหมานำเที่ยว ตัวเองยังมีบริการถ่ายภาพและตกแต่งภาพเบื้องต้นให้เป็นพิเศษอีกด้วย โดยที่ตัวเองทำหน้าที่เป็นทั้งคนขับรถและช่างภาพ พร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพ ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างชื่นชอบบริการพิเศษนี้เป็นอย่างมาก

นายรณกฤต บอกว่า ปัจจุบันมีผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติจ้างเหมา ‘รถแดงติดแอร์’ ของตัวเองให้นำเที่ยวเป็นประจำเกือบทุกวัน ซึ่งจากการสอบถามพบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับการบอกต่อจากกลุ่มเพื่อนฝูงคนรู้จักที่เคยมาใช้บริการและประทับใจในการให้บริการ ทำให้ตัวเองรู้สึกดีเป็นอย่างยิ่งและตั้งใจจะพัฒนาบริการต่างๆ ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้หากผู้ใดที่สนใจอยากใช้บริการ ‘รถแดงติดแอร์’ สามารถติดต่อจองคิวหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก ‘รถนำเที่ยวเชียงใหม่&ภาคเหนือ #รถแดงติดแอร์’ หรือหมายเลขโทรศัพท์ 083-582-3255

‘iQAir’ ชี้!! ‘เชียงใหม่’ มี ‘มลพิษ’ มากที่สุด ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโกลกาตา-เดลี

(7 มี.ค. 67) ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 7 มีนาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้

ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์

จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และ จ. สุรินทร์

> ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 43.9 - 196.1 มคก./ลบ.ม.

> ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37.2 - 136.0 มคก./ลบ.ม.

> ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 23.2 - 46.4 มคก./ลบ.ม.

> ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 15.7 - 31.5 มคก./ลบ.ม.

> ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 15.8 - 33.0 มคก./ลบ.ม.

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ​ ​กทม. ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 16.2 – 33.4 มคก./ลบ.ม.

ด้าน เว็บไซต์ iQAir จัดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด พบว่า จ.เชียงใหม่ มีมลพิษมากที่สุด เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโกลกาตา และ เดลี ประเทศอินเดีย

ขณะที่ เว็บไซต์ของ NASA Firms ที่อัปเดตจุด hotspot ที่เผยจุดความร้อน การเผาป่า ไฟป่า ต้นเหตุควัน และฝุ่น PM 2.5 เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2567 พบว่าในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ พบจุดความร้อน เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ ฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงมากในพื้นที่

“ป่อเต็กตึ๊ง เสริมสร้าง อนาคตเด็กไทย” จัดพิธีมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2567  มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการฯ เป็นประธานในพิธี  พร้อมด้วย นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์  นำทีมลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 ทั้งในระดับมัธยมศึกษา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกอบด้วย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21  โรงเรียนเพียงหลวง 11 โรงเรียนบ้านแพะพิทยา  โรงเรียนบ้านห้วยโผ  โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์  โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 โรงเรียนสบเมยวิทยาคม โรงเรียนสังวาลย์วิทยา  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ และ วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง  รวม 10 สถาบัน 67 ทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 450,000 บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พร้อมทั้งได้สนับสนุนเงินค่าพาหนะ และอาหารกลางวัน(ข้าวกล่อง) พร้อมน้ำดื่มสำหรับครูและนักเรียนที่เดินทางมารับทุนฯในครั้งนี้ด้วย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 14,500 บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน)  โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย เยาวชน และผู้แทนจากสถาบันการศึกษา เป็นผู้รับมอบ

นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า การมอบทุนการศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เพื่อช่วยเหลือสังคม ให้เยาวชนมีโอกาสเท่าเทียมทางการศึกษา เติมเต็มความหวังเป็นอนาคตของครอบครัว และสังคมประเทศชาติ  โดยมีการมอบทุนระดับชั้นประถมศึกษา ทุนต่อเนื่องในทุกระดับชั้น ทุนทุกระดับชั้นปีสุดท้าย  และ ทุนสำหรับนักเรียนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร 

ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป

#ป่อเต็กตึ๊ง #ช่วยชีวิต #รักษาชีวิต #สร้างชีวิต 
#แอปพลิเคชันป่อเต็กตึ๊ง1418


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top