‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ย้ำชัด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากต้องการพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ปัญหาไฟป่า - PM2.5

ฝุ่นพิษ PM2.5 จากเดิมที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้คืบคลานเข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือและกำลังจะกลายเป็นต้นเหตุภัยสุขภาพของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะเป็นจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น และเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ภาพความเลวร้ายของสถานการณ์ได้ปรากฏแก่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหา

อย่างที่ทราบกันดีว่า นอกเหนือจากภาคขนส่ง-คมนาคมที่เป็นต้นกำเนิดของ PM2.5 แล้ว ปัญหา ‘การเผาป่า’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงมีการเรียกร้องให้วางมาตรการเข้มข้นในการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ และทุกภาคส่วนได้พยายามถอดบทเรียนถึงปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเตรียมการรับมือทั้งการปลูกป่า การทำป่าเปียก และใช้เทคโนโลยี บริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชันที่เรียกว่า ซึ่งเป็นแอประบบสนับสนุนการตัดสินใจในบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลโดยการใช้ไฟหรือการเผาในที่โล่ง เป็นระบบที่บูรณาการ ทั้งข้อมูลตรวจวัด ข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์จากแบบจำลองคุณภาพอากาศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

แต่ทว่า ด้วยสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นไม้เบญจพรรณผลัดไป เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี เมื่อใบไม้มีจำนวนมากขึ้น หากเกิดไฟป่าขึ้นมา ก็จะเกิดความลำบากในการควบคุม ดังนั้น จึงจะเห็นว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าเพิ่มเติม การทำป่าชุมชน และการทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น

และอีกหนึ่งแนวทาง ที่ทางจังหวัดเชียงใหม่จะทํานั่นก็คือ การดึงเชื้อเพลิงออกมาจากป่า เพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัชพืชใบไม้จากพื้นที่ป่า และตอซังข้าวโพด จากพื้นที่เกษตร เพื่อลดการเผา และนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เห็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการรับซื้อเศษวัชพืชต่าง ๆ เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงแบบชีวมวล 

“การนำเศษวัชพืชไปทำเป็นชีวมวล เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ผ่านมาทางหวัดได้พยายามที่จะศึกษา แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบผลสําเร็จ เนื่องจากว่า มูลค่าของวัสดุพวกนี้ ไม่คุ้มกับที่ชาวบ้านจะขนไปขาย เพราะมีต้นทุนค่าขนส่ง แต่การที่ภาคเอกชนได้เข้ามาเพิ่มจุดรับซื้อ ที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงง่ายขึ้น เชื่อว่าจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนขนวัชพืชและตอซังมาขายเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายจะช่วยแก้ปัญหาการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือร่วมใจแก้ไข เพราะไฟป่าหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะร่วมกันแก้ไข อย่าลืมว่าอากาศไม่มีพรมแดน ทุกคนหายใจด้วยอากาศเดียวกัน ถ้าเรานิ่งเฉยไม่แก้ไขปัญหาร่วมกัน คิดว่า เรื่องไฟป่า ก็จะอยู่คู่กับเชียงใหม่ไปอีกนาน”