Sunday, 19 May 2024
หยุดเผาเรารับซื้อ

‘นายก อบจ.เชียงใหม่’ ชี้ ฝุ่นพิษส่งผลเสียหลายด้าน หวังภาคีเครือข่าย ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ ช่วยแก้ปัญหายั่งยืน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน มีทิวทัศน์ที่สวยงาม และบรรยากาศน่าอยู่ น่าท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงหน้าแล้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายนของทุกปี ได้เกิดฝุ่นควันปกคลุม ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่อย่างมาก

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) ยอมรับว่า ปัญหาฝุ่นควัน หรือ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างมาก ทั้งในด้านสุขภาพของประชาชนและความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างเม็ดเงินให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ปีละหลายหมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมมือกับทั้งภาคราชการและเอกชนในพื้นที่ เช่น แจกหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นพิษ และสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า เป็นต้น โดยทาง อบจ.เชียงใหม่ ได้สนับสนุนงบประมาณราว 12 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายก อบจ. เชียงใหม่ มองว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขที่ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะฉะนั้น ในอนาคตจะต้องเข้าไปแก้ที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาไฟป่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทําของมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น แต่มีหลายจังหวัดรวมถึงต่างประเทศเพื่อนบ้านด้วย

“ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานระดับจังหวัดเท่านั้น แต่ต้องได้รับความร่วมมือในระดับนานาชาติ และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ได้เกิดภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ขจัดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นความความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน จัดทำโครงการ ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ เพื่อลดการเผาตอซังข้าวโพด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยลดการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน”

‘วิชัย ทองแตง’ นำทัพขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน ร่วมพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ฝุ่นอย่างสมดุลและยั่งยืน

กว่า 10 ปีที่ชาวเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 แม้ว่าหลายภาคส่วนจะพยายามแก้ปัญหา แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นทุกปี

ล่าสุดได้มีความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่สั่งสมมานานอีกครั้ง ผ่านโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 50 องค์กร โดยมี ‘วิชัย ทองแตง’ นักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ที่มีแรงบันดาลใจมุ่งหวังให้เชียงใหม่และภาคเหนือปลอดจากฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

วิชัย ทองแตง บอกว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันช่วยเหลือชาวเชียงใหม่ เพราะทนไม่ได้ที่ต้องเห็นจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีมลพิษสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศด้วย 

แน่นอนว่า ทุกองค์กรที่ได้ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ล้วนตระหนักดีว่า เรื่องปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีนั้น จะแก้ไขได้จะต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ 

ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ จะรอคอยอีกไม่ได้ เพราะลมหายใจของเชียงใหม่รวยริน และแผ่วเบามากแล้ว 

“แม้ว่าชาวเชียงใหม่จะได้รับข่าวดี หลังศาลได้ตัดสินให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ชนะคดี กรณีได้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีละเลยการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใส่ใจปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิด 2.5 ไมครอน ไม่มีความจริงใจห่วงใยประชาชนในภาคเหนือที่ต้องสูดดมควันหรือฝุ่นละออง เมื่อวัน 10 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่การบังคับใช้กฎหมายและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลาอีกนาน ขณะที่ปัญหาหมอกควันนั้นรออีกไม่ได้แล้ว วันนี้เราต้องสร้างแนวทางใหม่ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หวังให้ลมหายใจดแห่งขุนเขาจะพัดกลับมา ให้คนเชียงใหม่จะกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ ตามวิถีของชาวเชียงใหม่ และวิถีล้านนา ซึ่งเป็นวิถีที่งดงามให้กลับมาเป็นเช่นเดิม”

‘ชีวมวลอัดเม็ด’ จากเศษพืช - ตอซังข้าวโพด ตอบโจทย์ลดเผาป่า ฟื้นเชียงใหม่จากฝุ่นพิษ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของคนในพื้นที่

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ทะยานขึ้นติดอันดับต้น ๆ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ในช่วงหน้าแล้ง แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะร่วมกันแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ และปัญหาจะวนกลับมาเป็นวัฏจักรทุกปี

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวอาจจะได้รับการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน หลังจากเกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน กว่า 50 องค์กร ดำเนินโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ เพื่อลดการเผาป่าและตอซังข้าวโพด ซึ่งเป็นต้นตอหลักของปัญหาดังกล่าว

ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวมวล และ Black Pellets ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับซื้อตอซังข้าวโพด เพื่อนำไปผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกมาแล้ว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากฝุ่นควันไฟป่า และการเผาป่าทำการเกษตร จึงเกิดการร่วมแรงร่วมใจภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมใจ ขจัด PM2.5 และลดโลกร้อน ในโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ 

ทั้งนี้ ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะนำองค์ความรู้จากประสบการณ์การผลิตชีวมวลอัดเม็ดกว่า 12 ปี เข้ามาร่วมแก้ปัญหา PM2.5 โดยเริ่มจากตัวเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวหนักที่สุด

โดยรูปแบบการดำเนินโครงการนั้น ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะรับซื้อเศษตอซังข้าวโพดและเศษฟางข้าว เพื่อนำมาผ่านกรรมวิธีอัดเม็ด จากนั้นนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป

“ปัญหาการเผาป่านั้น เกิดจากคนมักจะนำไม้ไปเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว ส่วนเศษตอซังข้าวโพด ฟางข้าว หรือแม้กระทั่งพวกใบอ้อยต่าง ๆ จะไม่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพราะมีความหนาแน่นไม่มากพอและมีความชื้นสูง ดังนั้น วิธีที่จะจัดการกับเศษพืชที่ง่ายสุดคือการเผา จึงทําให้ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาต้องเริ่มกิจกรรมการเพาะปลูกใหม่ จึงเกิดการเผาป่ากันเป็นวงกว้าง สุดท้ายปัญหาที่ตามมาก็คือฝุ่นควัน PM2.5 อย่างที่เราเห็นกันทุก ๆ ปี”

สำหรับ โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ เชื่อว่าจะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดการเผาป่าน้อยลง เพราะสามารถนำเศษตอซังข้าวโพดและเศษพืชอื่น ๆ มาขายเข้าโครงการ เป็นการเพิ่มรายได้จากเศษซากพืชที่เหลือใช้ให้กับเกษตรกรได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรวบรวมชีวมวลเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานจอมทองนั้น จะต้องเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกรที่จะนำมาขาย เพราะหากว่าจุดรับซื้ออยู่ระยะไกลมาเกินไปจะไม่คุ้มกับค่าขนส่ง และจะไม่มีแรงจูงใจให้รวบรวมเศษตอซังมาขาย ดังนั้น ในเบื้องต้นได้เปิดจุดรับซื้อทั้งหมด 6 จุดในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบ ๆ โรงงานที่จอมทอง และในอนาคตจะกระจายจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากขึ้น

‘คาร์บอนเครดิต’ ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หนึ่งในหมัดเด็ด ช่วยฟื้นเชียงใหม่จาก PM2.5

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งความร้อน อุณหภูมิและความชื้น และที่เห็นได้ชัดเจนคือการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายส่วน ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรกรรม

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ มาบ้าง ซึ่งคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย เพื่อหวังลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ซีอีโอ เครือจีอาร์ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า จังหวัดตากของประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงมากจนน่าตกใจ ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นหายนะจากผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและช่วยกันทำให้โลกนี้เย็นขึ้น

และไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ยังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่า โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้จับมือเพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดเชียงใหม่อย่างจริงจัง โดยทาง จีอาร์ดี จะเข้ามาช่วยในด้านคาร์บอนเครดิต สร้างธุรกิจสร้างรายได้ให้คืนสู่เกษตรกรและจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการลดขยะ ลดการเผา ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะคืนกลับมาเป็นรายได้และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“ผมพร้อมเชื่อมโยงธุรกิจคาร์บอนเครดิตมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่แก้ปัญหา PM 2.5 เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกช่องทางสนับสนุนโดยนำธุรกิจเข้ามาสร้างเม็ดเงินสู่ภาครัฐและภาคประชาชนให้มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถกลับมาคิดพร้อมพัฒนาช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ได้ ซึ่งประเด็นในเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่เกิดมาจากสภาวะโลกร้อน คือการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป โชคดีที่ประเทศไทยตระหนักในเรื่องของคาร์บอนเครดิตมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการเอาคาร์บอนเครดิตมาช่วยสร้างธุรกิจ และเอาธุรกิจนั้นมาสร้างเม็ดเงินป้อนกลับมาสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วทำให้จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีรายได้มากขึ้น เพื่อนำเม็ดเงินนั้นไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นให้ดีขึ้น โดยสิ่งที่ทางภาคีเครือข่ายต้องโฟกัสคือการจัดการขยะทางการเกษตร และการดูแลรักษาป่าเพื่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ย้ำชัด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หากต้องการพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ปัญหาไฟป่า - PM2.5

ฝุ่นพิษ PM2.5 จากเดิมที่เคยเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้คืบคลานเข้าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือและกำลังจะกลายเป็นต้นเหตุภัยสุขภาพของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะเป็นจังหวัดที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่น และเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ภาพความเลวร้ายของสถานการณ์ได้ปรากฏแก่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไขปัญหา

อย่างที่ทราบกันดีว่า นอกเหนือจากภาคขนส่ง-คมนาคมที่เป็นต้นกำเนิดของ PM2.5 แล้ว ปัญหา ‘การเผาป่า’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมาจึงมีการเรียกร้องให้วางมาตรการเข้มข้นในการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัญหาไฟป่าและ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ และทุกภาคส่วนได้พยายามถอดบทเรียนถึงปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการเตรียมการรับมือทั้งการปลูกป่า การทำป่าเปียก และใช้เทคโนโลยี บริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชันที่เรียกว่า ซึ่งเป็นแอประบบสนับสนุนการตัดสินใจในบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลโดยการใช้ไฟหรือการเผาในที่โล่ง เป็นระบบที่บูรณาการ ทั้งข้อมูลตรวจวัด ข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์จากแบบจำลองคุณภาพอากาศ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง

แต่ทว่า ด้วยสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นไม้เบญจพรรณผลัดไป เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี เมื่อใบไม้มีจำนวนมากขึ้น หากเกิดไฟป่าขึ้นมา ก็จะเกิดความลำบากในการควบคุม ดังนั้น จึงจะเห็นว่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อรับมือกับไฟป่ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าเพิ่มเติม การทำป่าชุมชน และการทำฝายชะลอน้ำ เป็นต้น

และอีกหนึ่งแนวทาง ที่ทางจังหวัดเชียงใหม่จะทํานั่นก็คือ การดึงเชื้อเพลิงออกมาจากป่า เพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัชพืชใบไม้จากพื้นที่ป่า และตอซังข้าวโพด จากพื้นที่เกษตร เพื่อลดการเผา และนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่เห็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการรับซื้อเศษวัชพืชต่าง ๆ เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงแบบชีวมวล 

“การนำเศษวัชพืชไปทำเป็นชีวมวล เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ผ่านมาทางหวัดได้พยายามที่จะศึกษา แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบผลสําเร็จ เนื่องจากว่า มูลค่าของวัสดุพวกนี้ ไม่คุ้มกับที่ชาวบ้านจะขนไปขาย เพราะมีต้นทุนค่าขนส่ง แต่การที่ภาคเอกชนได้เข้ามาเพิ่มจุดรับซื้อ ที่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงง่ายขึ้น เชื่อว่าจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนขนวัชพืชและตอซังมาขายเพิ่มมากขึ้น และสุดท้ายจะช่วยแก้ปัญหาการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือร่วมใจแก้ไข เพราะไฟป่าหมอกควันที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ไม่ใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะร่วมกันแก้ไข อย่าลืมว่าอากาศไม่มีพรมแดน ทุกคนหายใจด้วยอากาศเดียวกัน ถ้าเรานิ่งเฉยไม่แก้ไขปัญหาร่วมกัน คิดว่า เรื่องไฟป่า ก็จะอยู่คู่กับเชียงใหม่ไปอีกนาน”

‘อบจ.เชียงใหม่’ ยกมือหนุน ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’  จุดเริ่มต้น สู่การแก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน

ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยคน ๆ เดียว ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเท่านั้นที่จะนำพาให้งานลุล่วง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยแก้ปัญหา ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่

นั่นเพราะที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการระดมสรรพกำลังจากทางภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหา แต่ทว่าฝุ่นพิษก็ยังปกคลุมพื้นที่เชียงใหม่ทุกปีในช่วงหน้าแล้ง

อย่างไรก็ดี การที่มีภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ ด้วยการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล โดยการเปลี่ยนซังข้าวโพดและเศษใบไม้ให้เป็นพลังงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางและเป็นความหวังที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างยั่งยืน

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ โดยมีทั้งหมด 24 อำเภอที่ติดผืนป่า เพราะฉะนั้นจึงเกิดปัญหาไฟป่าทุกปี และทางอบจ. ได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลจัดการปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ในปี 2564 จำนวน 13 ล้านบาท ปี 2565  จำนวน 13 ล้านบาท และในปี 2566 อีกประมาณ 10 ล้านบาท  โดยให้แต่ละหมู่บ้านมาบูรณาการทำงานร่วมกัน ตั้งเป็น ‘สภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่’ เพื่อช่วยกันดูแลและแก้ปัญหา รวมถึงระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับป่า ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อาศัยเพียงหน่วยงานในจังหวัดคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ได้เกิดการผสานความร่วมมือ เพื่อทำโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ด้วยการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล จากซังข้าวโพดและเศษใบไม้ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการเผาของเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน และหากสามารถสร้างแรงจูงใจด้วยการกระจายจุดรับซื้ออย่างทั่วถึงและราคาที่เกษตรกรมองว่าคุ้มค่า จะช่วยให้การแก้ปัญหาเกิดได้เร็วยิ่งขึ้น

‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อนภาพ ภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่น่าห่วง หวังเห็นแสงสว่าง หลังภาคีเครือข่ายรัฐเอกชนร่วมกู้วิกฤต PM2.5 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยว นับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเพราะรายได้ราว 80% มาจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงที่บูมสุดขีดมีมากถึง 10 ล้านคน ในปี 2562 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19

แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ทว่า กลับมาได้รับผลกระทบจากไฟป่า และฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ฟื้นตัวตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันไว้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อผลกระทบจาก PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ พบว่ารายได้ประมาณ 80% มาจากภาคการท่องเที่ยวใหญ่มา สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่กระทบต่อการท่องเที่ยว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทั้งนี้ จากการติดตามตัวเลขสถิติด้านการท่องเที่ยวอย่างละเอียด จะเริ่มเห็นสัญญาณที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเชียงใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ เพราะคนจีนชอบมาเที่ยวเชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ทว่า หลังจากเกิดวิกฤต PM2.5 กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และคงเป็นเรื่องยากที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงใหม่ถึงกว่า 10 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน จากกรณีที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตัดสินให้ประชาชนชนะคดีกรณีรัฐละเลยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นข่าวดีที่ชาวเชียงใหม่ชนะคดี แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า กลไกภาครัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมล้มเหลว ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเหมาะสม

“การที่ประชาชนชนะคดีภาครัฐในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าจะพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในอดีตเมื่อครั้งที่ผมเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เคยมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีรถยนต์ จากเดิมที่เก็บตามจำนวนซีซี แต่จะเปลี่ยนไปใช้รูปแบบเก็บภาษีตามการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสมัยนั้นทำการศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่ก็ไม่สำเร็จ”

นายพงษ์ภาณุ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตประชาชน คงต้องพึ่งกลไกของภาคเอกชนเข้ามาช่วยลด คาร์บอน ลดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะแนวคิดการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าจากอากาศที่บริษัท ประกอบกับโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ที่เริ่มเป็นรูปร่างจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าจะเป็นทางออกในการคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นและจะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ได้อีกครั้ง

‘สภาอุตฯภาคเหนือ’ ชี้ ฝุ่นควันเชียงใหม่ทำสูญ 3 หมื่นลบ. หวังโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ แก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ในช่วงหน้าแล้งของทุกปี จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อเวลาพูดถึงเชียงใหม่ คนส่วนใหญ่พูดถึงหมอกควัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างประเทศ ต่างมุ่งไปที่จุดเดียวกันว่า เชียงใหม่ในวันนี้ มาพร้อมกับคําว่า “ฝุ่นควัน” แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบทั้งเรื่องด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ

นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากไฟป่าและหมอกควัน PM2.5 ว่า จากผลการวิจัยและเก็บข้อมูล พบว่า เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่เสียหายประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเรื่องแรกที่ได้รับผลกระทบ เป็นเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ เกิดการเจ็บป่วย มีค่าใช้จ่ายในการรักษาตลอดในช่วงเวลาสามเดือนที่เกิดฝุ่นควัน และยังเกิดความเสียหายต่อประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ หากภาคแรงงานในช่วงนั้น เกิดการเจ็บป่วย แน่นอนว่า ย่อมทำให้ภาคการผลิตต้องชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ความเสียหายส่วนที่สอง เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งระบบนิเวศเชิงเศรษฐกิจและเชิงเกษตร เนื่องจากภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ มีอุตสาหกรรมที่สําคัญ นั่นก็คืออุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เมื่อระบบนิเวศเปลี่ยน ย่อมส่งผลให้หลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไปมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากผลผลิตภาคการเกษตรที่ลดลง จากผลกระทบในเรื่องของโลกร้อน

และไม่เพียงแต่ความเสียหายจากผลผลิตที่ลดลงเท่านั้น ในด้านสิ่งแวดล้อมยังต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเช่นเดิม

และแน่นอนว่า เรื่องที่ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนที่สุด ก็คือเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วงปกตินั้นจังหวัด เชียงใหม่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 10,000 หมื่นล้านบาทต่อเดือนนะครับ แต่ทว่าในช่วงสามเดือนที่เกิดวิกฤตฝุ่นควันนั้น ไม่ว่าคนไทยหรือชาวต่างชาติ แทบจะไม่มาเยือนเชียงใหม่เลย ทำให้รายได้หายไปราว 30%

นอกจากนี้ วิกฤตฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ยังลามไปถึงภาคการค้าการลงทุนด้วย โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจโรงแรม และโรงเรียนหลายโครงการได้ชะลอการลงทุน เนื่องจากมองว่า จะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจหากสถานการณ์ฝุ่นควันยังเกิดขึ้นทุกปี

“ความไม่แน่นอนเป็นเรื่องสําคัญมากในการที่นักลงทุนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจ ทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การลงทุนธุรกิจโรงเรียนและโรงแรม ได้หยุดชะงักไปหลายโครงการมาก และบางส่วนเปลี่ยนไปลงทุนที่อื่น ซึ่งภาคการลงทุนถือว่าสำคัญมาก และเราต้องสูญเสียเม็ดเงินส่วนนี้ไป 3-4 หมื่นล้านทุกปี เป็นระยะเวลานับ 10 ปีแล้ว ซึ่งเราต้องหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และเชื่อว่าโครงการที่เป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ที่เปิดโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ เพื่อนำเศษตอซังข้าวโพดและเศษใบไม้ ไปต่อยอดเป็นพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นโครงการที่ดีที่ได้ภาคเอกชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูสภาพอากาศของเชียงใหม่ได้อย่างยั่งยืน”

‘อ.อ.ป.’ แนะ ‘หยุดเผา – ลดฝุ่นควัน – รักษาผืนป่า’ แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืน ผ่านการขายคาร์บอนเครดิต

อย่างที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ป่า มีประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านสังคม และทางด้านสิ่งแวดล้อม

โดยผลประโยชน์ทางด้านสังคม คือเป็นการสร้างงานนะ สร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนที่อยู่โดยรอบสวนป่าหรืออยู่ในพื้นที่สวนป่า สามารถใช้เป็นแหล่งหาอาหารหรือสิ่งจําเป็นในปัจจัยสี่ได้เช่นกัน
ส่วนทางด้านสิ่งแวดล้อม คือสร้างอากาศที่ดี สร้างสมดุลทางนิเวศนะครับในบริเวณพื้นที่และบริเวณโดยรอบ

และในปัจจุบัน ผืนป่ายังสามารถสร้างรายได้คืนสู่ชุมชนได้ด้วย ผ่านการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันได้ หากทุกชุมชนที่อยู่ใกล้ฝืนป่าช่วยกันดูแลป่าไม้ให้สมบูรณ์และลดการทำลายผืนป่าด้วยการเผา

นายณรงค์ชัย ชลภาพ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคาร์บอน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตว่า คาร์บอนเครดิตเปรียบเทียบได้กับโบนัสจากผืนป่า เหมือนกับคนที่ทํางานมาทั้งปี แล้วได้โบนัสจากผลการทำงานหนัก ซึ่งคาร์บอนเครดิตคือโอกาส ที่จะมาสนับสนุนในกิจการในทุกกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งการลดปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยกตัวอย่างในส่วนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีพื้นที่สวนป่าในเขตจังหวัดเชียงใหม่ อยู่จำนวน 12 สวนป่า คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 70,000ไร่ กระจายอยู่ในทุกอําเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่ถึง 1% ของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่จากการประเมินพบว่า สามารถที่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ประมาณ 100,000 ตัน ซึ่งค่าการดูดซับที่ได้สามารถนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้

ในส่วนของการกำจัดตอซังข้าวโพดก็เช่นกัน หากการตรวจวัดการแปลงค่าเป็นการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ก็สามารถนำไปเคลมคาร์บอนเครดิตได้ เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเหลือตอซังอยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรจะใช้วิธีเผา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ แน่นอนว่า เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก แต่หากมีการประเมินว่าในการเผาในแต่ละครั้งนั้นสร้างก๊าซคาร์บอนฯจำนวนเท่าใด ก็จะเข้าโครงการคาร์บอนเครดิตได้ แต่ต้องควบคุมไม่ให้ถูกเผาเลย พร้อมกับพิสูจน์ได้ว่าตอซังข้าวโพดไม่ถูกเผาจริง ๆ เป็นจำนวนเท่าใด ก็จะสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้เท่านั้น ซึ่งปัจจัยสำคัญคือต้องสร้างการยอมรับจากผู้ซื้อให้ได้

“หากทุกหน่วยงานสามารถรณรงค์ให้เกษตรกรหยุดเผาตอซังข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือได้ จะเกิดประโยชน์หลายด้านทีเดียว ทั้งการลดฝุ่น PM2.5 ลดโอกาสการเกิดไฟป่า และยังสามารถนำไปเคลมคาร์บอนเครดิตกลับมาเป็นรายได้เพื่อพัฒนาชุมชนได้ด้วย ขณะเดียวกันเกษตรกรยังมีทางเลือกสร้างรายได้ให้กับตนเองเพิ่มขึ้น ด้วยการเก็บตอซังข้าวโพดและเศษใบไม้นำไปขายเข้าโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยลดการเกิด PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างยั่งยืน”

‘นางสาวไทยปี 66’ ชื่นชมโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ หวังเป็นจุดเริ่มต้นคืนอากาศบริสุทธิ์เชียงใหม่อย่างยั่งยืน

ผลพวงจากไฟป่าและหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ หลาย ๆ กิจกรรมต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่ต้องหยุดการเรียนการสอน หลาย ๆ ภาคส่วนพยายามที่จะรณรงค์เพื่อให้หยุดการเผาทำลายป่า

แต่ทว่า ไฟป่าก็ยังคงเกิดขึ้นทุกปี ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของทางจังหวัดเชียงใหม่ 

นางสาวชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทยประจำปี 2566 ในฐานชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด ได้สะท้อนมุมมองต่อปัญหาดังกล่าวว่า ในฐานะคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มาทั้งชีวิต และต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่นพิษมาทุกปี ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมาก ทั้งในแง่สุขภาพ และการเรียน เพราะในบางวันที่สถานการณ์รุนแรง จะต้องหยุดเรียน รวมถึงหยุดกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหมด  

แน่นอนว่า เรื่องของหมอกควันหรือฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะร่วมแรงร่วมใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุที่ไม่ใช่แค่ปลายเหตุ และในฐานะของอดีตนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยากสะท้อนให้เห็นปัญหาหลัก คือเรื่องของการศึกษา การที่ต้องหยุดเรียนทําให้เหมือนถูกลิดรอนสิทธิในการที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนจังหวัดอื่นๆ ที่ยังได้เรียนอยู่ตามปกติ 

เพราะฉะนั้น ต้องกลับมาอีกคิดกันใหม่ การแก้ไขปัญหาบางทีอาจจะไม่ใช่แค่การหลีกเลี่ยงฝุ่น แต่ควรจะมาเริ่มจากการแก้ไขที่ต้นเหตุ ว่าจะทํายังไงให้ประชาชนหรือเกษตรกรหยุดการเผา หรือแม้กระทั่งการปลูกฝังจิตสํานึกให้กับเด็กรุ่นใหม่ว่า การหันกลับมาช่วยเหลือบ้านเมือง เป็นเรื่องสําคัญมาก

อย่างไรก็ดี จากการที่ภาครัฐและเอกชนได้รวมตัวเป็นภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมขจัด PM2.5และลดโลกร้อน ร่วมผลักโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ด้วยการรับซื้อเศษตอซังข้าวโพดจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเปลี่ยนเศษซากทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล เชื่อว่า โครงการนี้จะช่วยลดการเผาป่าและจะช่วยคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับชาวเชียงใหม่ เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่สำคัญ ที่หวังว่าจะทำให้เกษตรหยุดการเผาได้อย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top