Sunday, 5 May 2024
อเมริกา

‘พงษ์ภาณุ’ อดีตรองปลัดคลังฯ วิเคราะห์ ‘จีน’ ผลิตชิปเองทั้งระบบ อ้างเหตุ ด้านความมั่นคง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า มนุษย์ผลิต ทรานซิสเตอร์ ชิป กันอย่างมากมายมหาศาล และราคาของชิปนั้น ก็ถูกมาก หาซื้อได้ง่าย ชิปนั้นมีความสำคัญกับมนุษย์มาก ทุกเครื่องใช้ไฟฟ้า จะต้องมีชิปเป็นส่วนประกอบ จุดเริ่มต้นของการผลิตชิปนั้น ก็ประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศอเมริกา มีผู้ผลิตวงจรทรานซิสเตอร์ได้สำเร็จ เริ่มต้นนั้น ชิป ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา นำไปใช้ในขีปนาวุธเพื่อนำวิถี เริ่มใช้ในสงครามเวียดนาม แต่มาประสบผลสำเร็จอย่างมากก็ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย

นอกจากนี้โครงการอพอลโล ที่เดินทางไปดวงจันทร์ ก็ใช้ชิปเหล่านี้ โดยมีการพัฒนาให้ชิปมีขนาดเล็กลงและมีน้ำหนักเบา ซึ่งต้องชื่นชมการประสานงานการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆในอเมริกา ที่ร่วมกันทำงานอย่างไร้รอยต่อ ซี่งหลังจากนั้นก็มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิป ให้ขยายออกไปในวงกว้าง เพื่อทำตลาดขายให้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งมีฐานการผลิตที่กระจายออกไปยังประเทศตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำชิปมาผลิตเป็นเคื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ เป็นการกระจาย เอาท์ซอร์ท ซัพพลายเชนท์ ออกไปทั่วโลก รวมทั้งกระจายมายัง ไทย เวียดนาม

แต่ในปัจจุบัน ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน กลับเน้นที่จะผลิตชิปเองภายในประเทศ เพราะเหตุผลทางด้านความมั่นคง ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันการผลิตชิป รวมทั้งสงครามทางการค้า ซึ่งก่อให้เกิดการตึงเครียด ไปถึงความมั่นคง

แต่ในขณะเดียวกัน อเมริกา ในฐานะต้นกำเนิดของผู้ผลิตชิปนั้นก็ยังคงเป็นผู้นำทางด้านความไฮเทคในการผลิตชิปต่างๆ ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับจีน ในการที่จะทำสงครามเรื่องชิปกับประเทศที่ไฮเทคอย่างอเมริกา

นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กล่าวในรายการ SONDHI TALK เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เรื่อง ‘พิธา-ก้าวไกล’ จิ๊กซอว์ตัวใหม่ของความวุ่นวาย โดยระบุว่า “จำคำพูดผมเอาไว้เลยว่า

อเมริกาต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ในไทย เขามีเครื่องมือที่พร้อมให้ใช้ได้แล้ว คือพรรคก้าวไกล นายพิธา นายธนาธร กับพวกนักวิชาการขายชาติ”

‘BCPG’ บริษัทย่อยเครือบางจาก ทุ่มเงิน 8.9 พันล้าน ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ 2 แห่ง

วันที่ (24 พ.ค. 66) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘BCPG’ เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ 2 แห่ง โดยใช้เงินลงทุนไม่เกิน 260 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 8,919.30 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนดังกล่าว ทำให้บริษัทได้มาซึ่งกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 426 เมกะวัตต์

โดยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2566 BCPG USA Inc. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น (Purchase and Sale Agreement) กับ Frankin Power Holdings LLC (ผู้ขาย)

เพื่อทำรายการซื้อหุ้นในสัดส่วน 25.00% ของหุ้นทั้งหมดใน Hamilton Holdings I LLC (บริษัทเป้าหมาย) ในจำนวนเงินไม่เกิน 260,000,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือเทียบเท่า 8,919,300,000 บาท) ซึ่งบริษัทเป้าหมายถือหุ้น 100% 

มีโครงการดังต่อไปนี้

1.) โครงการโรงไฟฟ้าก๊ซธรรมชาติ Hamilton Liberty LLC (Liberty) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 848 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ในเขตอไซลัม (Asylum) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 25% คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนเทียบเท่ากับ 212 เมกะวัตต์

2.) โครงการโรงไฟฟ้าก๊ซธรรมชาติ Hamiton Patriot LLC (Patriot) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 857 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในเขตคลินตัน (Cinton) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 25% คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนเทียบเท่ากับ 214 เมกะวัตต์

‘บิ๊ก บลจ.บัวหลวง’ ชี้!! ถึงเวลาที่ไทยต้องสวมบท ‘รจนา’ เลือกข้างระหว่าง ‘จีน - สหรัฐฯ’ หลังมะกันไม่ขาย F-35 ให้

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 66 นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘ไม่ขาย ก็ไม่ซื้อ’ มีเนื้อหาว่า…

สหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ยอมขาย F-35 ให้ไทย เพราะไม่ผ่านการอนุมัติจากสภาของเขา ซึ่งน่าจะมาจากการที่เราซ้อมรบกับจีนบ่อยขึ้น และเราไม่เข้าร่วมขบวนการนาโต้ 2

แต่นี่ไม่ใช่ข่าวร้ายสำหรับไทย เป็นข่าวดีด้วยซ้ำ เพราะ F-35 เนี่ยะมันมีปัญหาเยอะ เช่น บางทีก็บินไม่ขึ้น หลายครั้งที่เครื่องยนต์มีปัญหา ระบบนำร่องไม่เสถียร ฯลฯ เรียกว่าซ่อมมากกว่าใช้ (อันนี้ข้อมูลมาจากผู้รู้จริง จะลองหาเพิ่มในกูเกิ้ลก็ได้)

ถ้าไม่ติดว่าโยกงบที่จะซื้อ F-35 ไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ ก็อาจจะเล็งไปที่ SU-35 จะดีกว่า

ผู้สันทัดกรณีระบุว่า “SU-35 ของรัสเซียนี่น่ะหลายชาติอยากได้มาก เนื่องจากถ้ามีไว้ก็เรียกได้ว่าน่านฟ้าเป็นของเขาเพียงผู้เดียว ขนาด F-35 เห็นแล้วต้องรีบหลบ เพราะ SU-35 มีเรดาร์ขั้นเทพ จะพรางตัวก็ขั้นเซียน ยิงได้ไกลโคตรจนเป้าหมายตายทั้งที่ยังไม่เห็นหน้าในจอเรดาร์”

ส่วนเรื่องการเมืองในไทยยุคนี้ ต้องขอย้ำว่า อย่าไปอินอะไรมากนัก ข่าวสารที่ได้รับต่าง ๆ ก็ไม่แน่ว่าใครเป็นคนเผยแพร่ให้แฟนคลับเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ให้เขาตกลงกันเล่นเถิดเทิงตั้งรัฐบาลกันไปตามลำบากเหอะ พวกเราคั่วป๊อปคอร์นกินไป ดูไป บันเทิงใจดีออก

แต่ถ้าจะดูทิศทางการเมืองที่ถูกต้อง ก็ขอให้ดูที่การต่อสู้ของมหาอำนาจสองฝั่งที่กำลังรุกคืบมาแถวนี้แล้ว โดยที่กระแสโลกที่ ‘ไม่เอานาโต้ ไม่เอากองทัพสหรัฐฯ’ กำลังแพร่กระจายอย่างฉุดไม่อยู่… แหม มันสาแก่ใจอีช้อยยิ่งนัก

ผู้สันทัดกรณีระบุอีกว่า “ไทย พม่า ลาว คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้อาเซียนรอด มีรัสเซียกับจีนคอยโอบอุ้ม กับพร้อมลงมือทันทีหากฝ่ายตรงข้ามเขยิบ”

สรุปคือ สองขั้วมหาอำนาจขยายอิทธิพลและเป้าหมายมาที่อาเซียนแล้ว แบบไม่มีใครยอมใคร ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนต่างเลือกข้างแล้ว

เหลือแต่พี่ไทยนี่แหละ ซึ่งมันชัดขึ้นทุกทีว่าเราถูกกดดันให้เลือกข้าง จะเล่นบทเดิมเป็นนางวันทองสองใจอีกไม่ได้ ต้องเป็นรจนาเสี่ยงพวงมาลัยเลือกระหว่าง ‘หยางหยาง’ กับ ‘คริส อีแวนส์’

แหม ก็มันหล่อคนละแบบ จะให้ตัดใครไปได้ลงเล่า!?

‘ติวเตอร์ภาษา’ ชี้!! ประเทศที่คนไทยควรกลัว ไม่ใช่ ‘อเมริกา’ แต่เป็น ‘จีน’ ที่กำลังบุกยึดพื้นที่ทำกิน แย่งงานคนไทยทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 66 ได้มีผู้ใช้ติ๊กต็อกท่านหนึ่ง ชื่อ ‘krudewtoeic’ หรือ ‘ครูดิว’ ซึ่งเป็นติวเตอร์สอนภาษาชื่อดัง ได้ออกมาโพสต์คลิป อธิบายเรื่องที่คนไทยกลัวประเทศสหรัฐอเมริกา จะเข้ามาตั้งฐานทัพและแทรกแซงประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เป็นกระแสในโลกโซเชียลอย่างมาก โดยระบุว่า…

ประเทศที่คนไทยกลัว มีอยู่ 2 ประเทศ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน คนไทยกลัวว่า อเมริกาจะมาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องของอนาคต ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้

แต่สิ่งที่กำลังเกิดจริงในตอนนี้ คือ การที่ประเทศจีนได้ตั้งฐานทัพอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศไทย จนเกิดการกระจายตัวของเหล่าคนจีน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตลอดจนถึงการที่คนจีนมาเปิดร้านอาหารแข่งกับคนไทย ในย่านการค้าที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย อย่างย่านเยาวราช ห้วยขวาง และรัชดา รวมถึงในอีกหลายๆ พื้นที่ของประเทศ อีกทั้งยังอาจไม่ได้เสียภาษีให้กับประเทศไทยอีกด้วย

“คำถามคือ ระหว่างสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว คนไทยเราควรจะกลัวอะไรมากกว่ากัน คิดสิคะ คิด หากถามดิฉัน ดิฉันกลัวคนจีนค่ะ เพราะเขามาแล้ว แต่คนไทยยังเถียงกันเรื่องอเมริกากันอยู่เลย เพราะอะไร ดิฉันไม่เข้าใจ?” ครูดิว กล่าวทิ้งทาย

‘พงษ์ภาณุ’ อดีตปลัดคลังฯ ชี้ 1 มิถุนายนนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ อาจไม่มีเงินจ่ายข้าราชการ ชำระหนี้ และดอกเบี้ย

(28 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า ...

‘วิกฤตเพดานหนี้’ (Debt Ceiling) ของสหรัฐฯ เดินมาถึงฉากสุดท้ายยังหาข้อยุติไม่ได้ หากไม่จบ 1 มิถุนายนนี้ รัฐบาลสหรัฐฯจะไม่เงินสดเพียงพอที่จะจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญข้าราชการ รวมทั้งชำระหนี้และดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครบกำหนดได้

การผิดนัดชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 มิถุนายน ถือเป็นวิกฤตการเงินของโลกครั้งใหญ่ เพราะตลาด Treasury ถือเป็นตลาดสินทรัพย์ทางการเงินที่ใหญ่ที่สุด นักลงทุนทั่วโลก ทั้งรัฐและเอกชน ลงทุนในพันธบัตรัฐบาลสหรัฐ โดยเชื่อว่าเป็นตราสารการเงินที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ที่สำคัญวิกฤตเพดานหนี้สะท้อนภาพฐานะการคลังของรัฐบาลทั่วโลกที่อ่อนแอและน่าเป็นห่วง รวมทั้งฐานะการคลังของรัฐบาลไทย ปัญหาการคลังที่สะสมมาเป็นเวลานาน ยังไม่ได้รับการแก้ไข รายจ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสังคมสูงอายุและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ขณะที่รายได้ภาษีอากรชะงักงัน ส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะสูงขึ้น ถือเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาดูแล การประชุมสุดยอด G7 ที่ Hiroshima ส่งสัญญาณเตือนจีนในเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจฝ่ายประชาธิปไตย การย้ายฐาน Supply Chain การบังคับขู่เข็ญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการคุ้มครองเทคโนโลยีสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรม Semiconductor ล้วนเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องสดับตรับฟัง เพราะมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลใหม่

ในด้านความมั่นคง การประชุมที่ Hiroshima ซึ่งเป็นเมืองแรกในโลกที่ถูกทำลายด้วยระเบิด Atomic Bomb ประกอบการมาร่วมของประธานาธิบดี Zelenskyy แห่ยูเครน ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงรัสเซียที่ได้ขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ถึงภัยร้ายแรงของสงครามที่รัสเซียจะต้องรับผิดชอบในฐานะอาชญากรสงครามอีกด้วย

‘ROTC’ หลักสูตรกองกำลังทหารสำรองแห่งกองทัพสหรัฐฯ เส้นทางสู่การติดยศนายทหาร เพื่อเป็นองครักษ์พิทักษ์ชาติ

Reserve Officers' Training Corps : ROTC 
กองกำลังการฝึกนายทหารสำรองแห่งกองทัพสหรัฐฯ


เดิมทีสหรัฐอเมริกาก็มีการเกณฑ์ทหาร และได้ยกเลิกไปนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ภายหลังทหารถอนตัวจากสงครามเวียดนาม ปัจจุบันกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯ มาโดยความสมัครใจทั้งหมด แน่นอนที่สุดคือ การรับสมัครบุคคลเพื่อเป็นทหารโดยสมัครใจ จะต้องเพิ่มงบประมาณด้านกำลังพลอย่างมากมาย เพื่อจูงใจให้มีคนมาสมัครเป็นทหาร สำหรับ Reserve Officers’ Training Corps หรือ ‘ROTC’ แปลเป็นไทยคือ ‘กองกำลังการฝึกนายทหารสำรองแห่งกองทัพสหรัฐฯ’ ROTC เป็นระบบการรับสมัครนายทหารชั้นสัญญาบัตรอีกรูปแบบหนึ่ง ROTC เป็นกลุ่มของโปรแกรมการฝึกอบรมผู้ที่จบจากวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย เพื่อฝึกอบรมเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรของกองทัพสหรัฐฯ


หลาย ๆ คนเข้าใจว่า ROTC เป็นนักศึกษาวิชาทหารที่เรียนรักษาดินแดน (รด.) แบบบ้านเรา แต่ไม่ใช่ครับ แนวคิดของ ROTC ในสหรัฐอเมริกาถูกจัดทำขึ้นโดย Alden Partridge ผู้เป็นนักเขียน สมาชิกสภามลรัฐ Vermont นักกฎหมาย นักสำรวจจัดทำแผนที่ และผู้บัญชาการโรงเรียนนายทหารสหรัฐฯ แห่งแรกที่ West Point มลรัฐ New York เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเน้นการฝึกด้วยออกกำลังกาย ตลอดจนเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดของทหารประชาชน (Citizen Soldier) และจัดตั้งสถาบันการศึกษาทางทหารของเอกชนทั่วประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัย Norwich

ROTC เริ่มจาก รัฐบัญญัติ Morrill ปี ค.ศ.1862 กำหนดให้วุฒิสภาและผู้แทนราษฎรแต่ละคน มอบที่ดินของรัฐบาลกลางจำนวน 30,000 เอเคอร์ เพื่อเป็นที่ดินสำหรับการเกษตรกรรมและสร้างสถาบันการศึกษา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถือกันว่า เป็นกฎหมายที่วางรากฐานด้านการศึกษาขั้นสูงให้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการให้ที่ดินเพื่อจัดตั้งวิทยาลัย ซึ่งข้อกำหนดส่วนหนึ่งของรัฐบาลสำหรับโรงเรียนเหล่านี้คือ ต้องมีหลักสูตรทางการทหารเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรประจำด้วย ซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักในฐานะ ROTC 

มหาวิทยาลัยที่ ROTC เริ่มตั้งขึ้นคือ Norwich University ใน Northfield มลรัฐ Vermont ก่อตั้งขึ้นในปี 1819 โดยอดีตอาจารย์ผู้สอนในวิทยาลัยการทหาร West Point ร้อยเอก Alden ผู้เป็นเจ้าของแนวความคิดของ ‘ทหารพลเมือง’ โดยชายแต่ละคนจะได้รับการฝึกฝนให้ทำหน้าที่ในฐานะทหารเมื่อชาติต้องการ แต่สามารถปฏิบัติหน้าที่เช่นพลเรือนทั่วไปในยามสงบ ซึ่งในที่สุดความคิดนี้ก็นำไปสู่การจัดตั้งกองหนุนของแต่ละเหล่าทัพ (Reserve Force) และกองกำลังพิทักษ์ชาติ (National Guard) ด้วยการฝึกอบรมในที่ตั้งของกองกำลังพิทักษ์ชาติในท้องถิ่นนั้น


กำเนิดอีกทางหนึ่งของ ROTC สมัยใหม่ มาจาก ‘Plattsburg Idea’ ในปี ค.ศ.1915 พลตรี Leonard Wood ได้จัดตั้งหน่วยฝึกทหารพลเมือง ซึ่งการฝึกตอนแรกจะแยกความเป็นทหารออกจากการเป็นพลเรือนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีความพยายามในการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม และมีการบรรจุนายทหารที่มีทักษะทางทหาร หลังจากการฝึกทหารในช่วงฤดูร้อน ชายอเมริกันกว่า 5,000 นาย มาถึงเมือง Plattsburgh ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1917 เพื่อเป็นกองทหารอาสากลุ่มแรก ปลายปี ค.ศ.1917 มีชายอเมริกันมากกว่า 17,000 นาย ได้รับการฝึกช่วงก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สหรัฐอเมริกามีกองกำลังเตรียมพร้อม รวมถึงหนึ่งในผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาก Plattsburgh รุ่นแรกสุดคือ Theodore Roosevelt Jr. (บุตรชายคนโตของ Theodore Roosevelt ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐฯ)


กระทั่งทศวรรษ 1960 มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ หลายแห่งจำเป็นต้องใช้ ROTC ภาคบังคับสำหรับนักศึกษาชายทุกคน อย่างไรก็ตาม จากการประท้วงต่อต้านบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม ROTC ภาคบังคับจึงถูกยกเลิกไป คงไว้แต่โปรแกรมอาสาสมัคร ในบางแห่ง ROTC ถูกยกเลิกจากมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิง

ศตวรรษที่ 21 การถกในรัฐสภาอเมริกันเน้นไปยัง ‘กฎหมายไม่ถามไม่บอก (Don't Ask, Don't Tell)’ ซึ่งลงนามในกฎหมายโดยประธานาธิบดี Bill Clinton ในปี ค.ศ.1993 และบังคับใช้จนถึงปี ค.ศ.2011 ซึ่งห้ามพวกรักร่วมเพศเข้าร่วมในกองทัพสหรัฐฯ จากการเปิดเผยถึงรสนิยมทางเพศ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกปลดประจำการ วิทยาลัยบางแห่งเชื่อว่า คำสั่งทางกฎหมายนี้จะกำหนดให้พวกเขายกเว้นหรือแก้ไขนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติ


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความพยายามร่วมกันกำลังทำอยู่ที่มหาวิทยาลัยไอวี่ลีกที่เคยยกเลิก ROTC (รวมทั้ง ม.Columbia) เพื่อให้ ROTC กลับคืนสู่มหาวิทยาลัย โปรแกรม Harvard ROTC ได้รับการดำเนินการใหม่ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.2011 หลังจากมีการยกเลิกกฎหมาย Don't Ask, Don't Tell ปี ค.ศ. 2010

ภายใต้กฎหมายปัจจุบันมีโปรแกรม ROTC 3 ประเภท ซึ่งแต่ละโปรแกรมมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ได้แก่


- โปรแกรมแรก คือ โปรแกรมที่วิทยาลัยการทหารระดับสูง (Senior Military Colleges : SMCs) 6 แห่งหรือที่เรียกว่า วิทยาลัยการทหาร ได้แก่ (1) Norwich University, Northfield, Vermont (2) Texas A&M University, College Station, Texas (3) The Citadel, The Military College of South Carolina, also known as The Citadel, in Charleston, South Carolina (4) Virginia Military Institute, in Lexington, Virginia (5) Virginia Tech, in Blacksburg, Virginia และ University of North Georgia, Dahlonega, Georgia สถาบันเหล่านี้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี (อย่างน้อยที่สุด) และจัดให้นักเรียนทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นนักเรียนนายทหารภายใต้ระเบียบวินัยทางทหาร ผู้ที่เข้าร่วมในโปรแกรมนักเรียนต้องเข้าร่วมการศึกษา ROTC อย่างน้อย 2 ปี


- โปรแกรมที่ 2 คือ ‘วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยพลเรือน’ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทัพบก วิทยาลัย/มหาวิทยาลัยเหล่านี้ เป็นวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีหรือสูงกว่าปริญญาตรี และไม่ได้สอนหลักสูตรทางทหาร


- ประเภทที่ 3 คือ หลักสูตรที่วิทยาลัยทหารชั้นผู้น้อย (Programs at military Junior Colleges (MJC)) เหล่านี้ เป็นโรงเรียนทหารที่ให้การศึกษาระดับมัธยมศึกษา/อนุปริญญา (โดยทั่วไปคือ AS หรือ AA) โรงเรียนเหล่านี้ไม่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี แต่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดอื่น ๆ ของวิทยาลัยการทหาร (หากเข้าร่วมในโครงการอบรม Early Commissioning Program : ECP ก่อน) และนักเรียนนายทหารจะต้องผ่านมาตรฐานทางทหารเช่นเดียวกับโรงเรียนอื่น ๆ (หากลงทะเบียนใน ECP) ตามที่คำสั่งระบุไว้ว่า นักเรียนนายทหารจะเข้าเป็นนายทหารยศร้อยตรีในกองทัพบก/กองกำลังพิทักษ์ชาติเมื่อเรียนจบ เมื่อทำสัญญาแล้ว ร้อยตรีเหล่านี้จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันอื่น (ตามที่นายทหารแต่ละคนได้เลือก) ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยของตน เมื่อได้รับปริญญาตรี ร้อยตรี (ECP) สามารถรับการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องในยศร้อยโท มีเพียงกองทัพเท่านั้นที่เสนอโปรแกรมการบรรจุล่วงหน้า ในช่วงสงคราม MJC มีบทบาทสำคัญในการสร้างนายทหารให้กับกองทัพบก ในช่วงสงครามเวียดนาม ความต้องการนายทหารสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้น ไม่ได้มีผลบังคับใช้ ดังนั้น เมื่อมีบรรจุนายทหารก็สามารถตรงไปทำหน้าที่ในตำแหน่งที่รับผิดชอบได้เลย


เมื่อเข้าร่วมในโครงการ ROTC ที่เลือกได้จากมหาวิทยาลัยมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ มี เหตุผลหลัก 2 ประการที่ทำให้ ROTC เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ คือ (1) มีโอกาสได้รับทุนการศึกษาและ (2) ผู้สำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เข้าร่วมกองทัพในตำแหน่งนายทหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับยศ ‘ร้อยตรี’ มีโปรแกรมแยกต่างหาก สำหรับกองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ และหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สำหรับ Coast Guard ไม่มีโปรแกรม ROTC นักศึกษา ROTC จะได้รับผลประโยชน์ทางการเงิน โดยมีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนใน ROTC หากได้รับการคัดเลือก สามารถได้รับการสนับสนุนทางการเงินไม่เกิน 4 ปีสำหรับ ค่าเล่าเรียน, ห้องพัก, ค่าอาหาร และค่าหนังสือ มีทุนการศึกษามากมายผ่านทางการฝึกทหาร แต่ ROTC ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะได้รับการศึกษาผ่านทางการทหาร หากเคยทำหน้าที่ในกองทัพแล้ว คุณสามารถเรียนต่อระดับวิทยาลัยในฐานะทหารผ่านศึกได้


ประเภทของ ROTC : กองทัพบก ด้วยวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกว่า 1,100 แห่ง ที่ร่วมโปรแกรม ROTC กองทัพบก มีสาขาวิชาและวิทยาเขตที่หลากหลายเป็นตัวเลือก ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายให้เป็นร้อยตรี จากเว็บไซต์กองทัพบกสหรัฐฯ จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นระยะเวลา 8 ปี หากได้รับทุนการศึกษา หากไม่ได้รับทุนการศึกษาจะต้องเป็นนายทหารกำลังสำรองที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 5 ปีหรือ 3 ปี


กองทัพเรือ จากเว็บ NROTC ของกองทัพเรือสหรัฐฯ มีสถาบันการศึกษา 75 แห่งทั่วประเทศที่เป็นหน่วยร่วม NROTC มี 3 เส้นทางอาชีพ พยาบาลทหาร และเรือตรีสังกัดกองทัพเรือ ร้อยตรีสังกัดนาวิกโยธิน กองทัพเรือ และหน่วยบัญชานาวิกโยธินต้องใช้ทุน 8 ปีหลังจากสำเร็จการศึกษาจากการเรียนตามโครงการ ROTC วิทยาลัย/มหาวิทยาลัย 4่ ปี


กองทัพอากาศ จากเว็บ AFROTC วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยกว่า 1,100 แห่งร่วมโครงการ ROTC กองทัพอากาศ หลังจากจบการศึกษาแล้วผู้เข้ารับการฝึกจะได้รับยศเป็น เรืออากาศตรี ส่วนใหญ่ต้องทำหน้าที่เพื่อใช้ทุน เป็นเวลา 4 ปีในกองทัพอากาศสหรัฐฯ บางสาขาต้องการความมุ่งมั่นที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นนักบินจะต้องทำหน้าที่ใช้ทุนเป็นเวลา 10 ปี


ทางเลือกในอาชีพ คุณสมบัติสำหรับนักศึกษา ROTC ผู้สมัครจะต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา มีส่วนสูงและน้ำหนักตามมาตรฐานเฉพาะเจาะจง และอยู่ในช่วงอายุตามที่กำหนด การเข้าร่วมโครงการ ROTC ของวิทยาลัยตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกของวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย ถือเป็นเส้นทางที่จะก้าวไปสู่การเป็นนายทหารที่บรรจุแต่งตั้งในกองทัพสหรัฐฯ ตามเหล่าทัพที่เลือกสมัคร มีโอกาสในการทำงานในสาขาต่าง ๆ หลังจากสำเร็จการศึกษาหลังจากที่ภาระหน้าที่ทางทหารเสร็จสิ้นแล้ว สามารถเลือกที่จะเป็นนายทหารต่อ หรือเปลี่ยนอาชีพไปอยู่ในภาคเอกชนพลเรือน


อาจสรุปได้ว่า นายทหารหลักของกองทัพสหรัฐฯ มาจากโรงเรียนนายทหารของเหล่าทัพต่าง ๆ และจากโปรแกรม ROTC จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งโปรแกรม ROTC สามารถผลิตนายทหารเป็นกำลังสำรองให้เหล่าทัพต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อไล่เรียงดูนายทหารยศพลเอก (4 ดาว) ของกองทัพบกสหรัฐฯ ปรากฏว่า มาจากโครงการ ROTC ที่รู้จักมากที่สุดท่านหนึ่ง คือ พลเอก Colin Powell อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ อดีตประธานคณะเสนาธิการร่วม กองทัพสหรัฐฯ เป็นผู้จบปริญญาตรี ด้านธรณีวิทยา จาก City College of New York (CCNY) ก็เป็นนายทหารตามโครงการ ROTC 

สำหรับบ้านเราหากเรียนรักษาดินแดน 3 ปี ได้ยศเป็นสิบเอก แล้วจะได้รับการปลดเป็นทหารกองหนุนไม่ต้องเกณฑ์ทหาร หากเรียน 5 ปี ได้รับยศว่าที่ร้อยตรี แล้วปลดเป็นทหารกองหนุนเช่นกัน สิทธิพิเศษไม่มี ยกเว้นศูนย์การบินทหารบกจะรับสมัครศิษย์การบินจากนายทหารชั้นสัญญาบัตร สังกัดกองทัพบก และผู้ที่จบทั้งปริญญาตรี และ รด.ปี 5 ปัจจุบันการรับสมัครนายทหารจากพลเรือนของกองทัพไทย แยกสมัครตามแต่ความต้องการตามความรู้ความสามารถตามที่เหล่าทัพต่าง ๆ โดยไม่มีการนำผลการเรียนวิชาทหารมาพิจารณาแต่อย่างใด หากเหล่าทัพต่าง ๆ รับสมัครนายทหารจากบุคคลพลเรือนทั่วไป โดยนำผลการเรียนวิชาทหารมาพิจารณา น่าจะทำให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา สนใจเรียนวิชาทหารมากขึ้น และจะเรียนต่อจนจบชั้นปีที่ 5 มากขึ้น จะได้บุคลากรที่มีพื้นฐานทางทหาร มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นทหารมากขึ้น และเหล่าทัพต่าง ๆ ก็จะได้นายทหารจากพลเรือนที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย

จีน’ ออกโรงเตือน ‘สหรัฐฯ’ ตั้งกลุ่มพันธมิตรสไตล์ ‘นาโต’ มีแต่ทำ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ จมลงสู่วังวนแห่งความขัดแย้ง

เมื่อไม่นานนี้ รัฐมนตรีกลาโหมจีน เตือนการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารสไตล์ ‘นาโต’ รังแต่จะทำให้ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เจอกับวังวนความขัดแย้ง ย้ำโลกจะต้องเผชิญหายนะที่ไม่อาจทนทานได้ หากมีการเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างจีนกับอเมริกา กระนั้น เขาก็ย้ำว่าประเทศของเขามุ่งแสวงหาการสนทนากันมากกว่าการเผชิญหน้า สำหรับทางด้านนายใหญ่เพนตากอน แสดงความไม่พอใจที่เรือจีนพุ่งตัดหน้าเรือพิฆาตของสหรัฐฯ ในระยะประชิด ขณะที่กองทัพปักกิ่งโต้ว่า อเมริกาและแคนาดาจงใจยั่วยุให้เกิดความเสี่ยงจากการร่วมกันเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวัน

‘หลี่ ช่างฝู’ รัฐมนตรีกลาโหมจีน กล่าวปราศรัยในเวทีประชุมความมั่นคง แชงกรีลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์เมื่อวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) ว่า ความพยายามในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารในรูปแบบคล้ายกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในเอเชีย-แปซิฟิกรังแต่จะทำให้ภูมิภาคนี้เผชิญวังวนความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

การแสดงความคิดเห็นนี้ตอกย้ำคำวิจารณ์ของจีนต่อความพยายามของอเมริกาในการรวบรวมพันธมิตรในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของปักกิ่ง ขณะที่จีนตอบโต้ว่าเป็นความพยายามของวอชิงตันที่จะรักษาฐานะความเป็นเจ้าใหญ่เหนือใคร ๆ ของพวกเขาเอาไว้

ทั้งนี้ อเมริการิเริ่มผลักดันและเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มออคัส ที่ประกอบด้วยออสเตรเลียและอังกฤษ ตลอดจนกลุ่มควอด ที่มีทั้งออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น

หลี่เสริมว่า เอเชีย-แปซิฟิกวันนี้ต้องการการร่วมมือที่เปิดกว้างและครอบคลุมทุกประเทศ ไม่ใช่การจับกลุ่มยิบย่อยมาต่อต้านชาติอื่น

รัฐมนตรีกลาโหมจีนยังพยายามสร้างภาพให้อเมริกาเป็นผู้ปลุกปั่นให้เอเชียไร้เสถียรภาพ ขณะที่จีนต้องการผ่อนคลายสถานการณ์ โดยกล่าวว่า โลกใหญ่พอที่จีนและอเมริกาจะเติบโตไปพร้อมกัน นอกจากนั้น แม้มีระบบและหลาย ๆ อย่างต่างกัน แต่ไม่ได้ขัดขวางไม่ให้สองประเทศแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการร่วมมือ และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากเกิดความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างจีนกับอเมริกา โลกจะต้องเผชิญหายนะที่ไม่อาจทนทานได้

ก่อนหน้านี้ ในวันเสาร์ (3 มิ.ย.) ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่ร่วมการประชุมแชงกรีลาที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน ประณามจีนที่ปฏิเสธการจัดการหารือทางทหาร โดยระบุว่า การหารือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและการคำนวณผิดพลาด ไม่ใช่การให้รางวัล

วันเดียวกันนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า ได้ส่งเรือพิฆาตยูเอสเอส ชุงฮุน จากกองเรือที่ 7 แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันพร้อมกับเรือฟริเกต เอชเอ็มซีเอส มอนทรีออลของแคนาดา และจีนตอบโต้ด้วยการส่งเรือลำหนึ่งเข้าประชิดเรือยูเอสเอส ชุงฮุน

ต่อมาในวันอาทิตย์ ออสตินกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า อันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากเรือจีนพุ่งตัดหน้าเรือพิฆาตของอเมริกาในระยะห่างแค่ 46 เมตร พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำจีนควบคุมการกระทำในลักษณะดังกล่าวที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ทว่า กองทัพจีนวิจารณ์ว่า อเมริกาและแคนาดาจงใจยั่วยุให้เกิดความเสี่ยงจากการร่วมกันเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวันซึ่งเป็นน่านน้ำที่มีความอ่อนไหว

ทางฝ่ายหลี่สำทับว่า จีนจะไม่ยอมให้อเมริกาและพันธมิตรใช้ข้ออ้างของเสรีภาพในการเดินเรือเพื่อครองอำนาจครอบงำการเดินเรือ

ภายหลังการกล่าวปราศรัยของหลี่ นักวิชาการหลายคนได้ถามย้ำหลี่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงการที่จีนเพิ่มประจำการทางทะเลในทะเลจีนใต้ซึ่งมีข้อพิพาทด้านอธิปไตยกับหลายชาติ ปรากฏว่ารัฐมนตรีกลาโหมจีนไม่ได้ตอบคำถามตรงๆ แต่บอกว่า การเคลื่อนไหวของประเทศนอกภูมิภาคทำให้ความขัดแย้งลุกลาม

ทั้งนี้ ออสติน และหลี่จับมือและคุยกันสั้นๆ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเปิดประชุมในวันศุกร์ (2 มิ.ย.) แต่ไม่ได้หารือกันเป็นเรื่องเป็นราว โดยอเมริกานั้นเชิญหลี่พบปะหารือกับออสตินนอกการประชุมแชงกรีลา แต่ปักกิ่งปฏิเสธ

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของสหรัฐฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า วอชิงตันยังเสนอการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ปักกิ่งไม่ตอบกลับ

ขณะที่สมาชิกคนหนึ่งของคณะผู้แทนจีนบอกกับเอเอฟพีว่า เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการหารือคือ อเมริกาต้องยกเลิกการแซงก์ชันหลี่ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2018 จากกรณีการซื้ออาวุธจากรัสเซีย

นอกจากนั้น ชุ่ย เทียนข่าย อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตัน ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้านนอกการประชุมแชงกรีลาเมื่อวันอาทิตย์เรียกร้องให้อเมริกาถอนปฏิบัติการทางทหารใกล้จีนเพื่อแสดง ‘ความสุจริตใจ’ หากต้องการฟื้นการเจรจาระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็มีสัญญาณบางประการเหมือนกัน ซึ่งแสดงว่าทั้งสองประเทศเริ่มมี ‘การสนทนา’ กันมากขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง

เป็นต้นว่า ‘วิลเลียม เบิร์นส์’ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้เดินทางอย่างลับๆ ไปยังจีนเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งประกาศเรื่องนี้เมื่อวันศุกร์ (2) ที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แดเนียล คริเทนบริงค์ ก็เดินทางไปจีนเมื่อวันอาทิตย์ (4) ในการเยือนซึ่งช่วงหลังๆ นี้เกิดขึ้นมาน้อยครั้ง
 

เปิดมุมมืดในอเมริกา อันตราย ต้องระวังตัวไว้  ต้องมีสติในการท่องเที่ยว และต้องดูแลตัวเองให้ดี

ผู้ใช้ TikTok ที่มีชื่อว่า bemolibeam (เบโมลิบีม) ได้โพสต์คลิปสั้น เกี่ยวกับ ประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีใจความว่า ...

รวมมุมมืดในอเมริกา 
1 ทุบรถคือเรื่องปกติ สามารถพบเจอเศษกระจกได้โดยทั่วไปแจ้งตำรวจก็ไม่ได้ความคืบหน้า ไม่ค่อยจะได้อะไรเท่าไหร่ ที่ท่องเที่ยว แม้จะคนเยอะแต่ก็ไม่ปลอดภัย อาจจะต้องจ้างคนเฝ้ารถไว้ตลอดเวลา เราจึงไม่ควรเลือกขับรถเที่ยวที่ซานฟรานซิสโก 
2 คนไร้บ้านคือเรื่องปกติ สามารถพบเจอคนไร้บ้านทะเลาะกับคนกวาดถนนได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะทำอะไรเราเท่าไหร่ แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะบางคนอาจจะมาตื้อขอเงิน 
3 รถไฟฟ้าใต้ดินเก่าและน่ากลัวมากๆ เป็นที่เสียขวัญของเรามากที่สุด จากประสบการณ์ที่ได้เข้าเมืองมาจากสนามบิน ก็ได้พบเจอกับแก๊งคนผิวสีที่ถือวิทยุและเปิดเพลงดังๆ กำลังรีดไถเงินคนอเมริกา อยู่ 
4 ถนนไม่ค่อยสะอาด สามารถเจอเศษอาหาร คราบขนม หรือบางครั้งก็เป็นรอยของสีที่คนเอามาสาดเล่น 
5 บางครั้งย่านอันตรายก็อยู่ติดกับย่านที่ปลอดภัยแค่เพียง 1 ช่วงตึก 
6 ป้ายรถเมล์ไม่มีบอกว่าเป็นป้ายรถเมล์ มีแค่กระดาษติดไว้แค่แผ่นเดียว ถ้าไม่มองให้ดีก็จะไม่เห็น 
7 อย่าเดินคนเดียวตอนกลางคืนเพราะยิ่งดึกยิ่งไม่ปลอดภัย 
8 เจอรถตำรวจเปิดไซเรนวิ่งอยู่ตลอดเวลา สำหรับที่นี่คือเรื่องปกติเพราะอาชญากรรมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ต้องดูแลตัวเองให้ดี 
9 ตามสถานที่ท่องเที่ยวชอบมีคนมาพ่นสี เลยทำให้สถานที่สวยงามต้องเสียไปหมด 

และนี่คือตัวอย่างแต่ถ้ามีสติและดูแลตัวเองให้ดี ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรมาก

‘มาเลฯ’ ร้อง ‘ตร.สากล’ ล่าตัว นักแสดงตลกสาวชาวสิงคโปร์ หลังเล่นมุกล้อเลียนโศกนาฏกรรม ‘เที่ยวบิน MH 370’

มาเลเซียจะไม่ทน หลังมีกระแสคลิปไวรัลของ ‘โจเซลิน เจีย’ นักพูดเดี่ยวไมโครโฟนสาวชาวสิงคโปร์ สัญชาติอเมริกัน ที่ได้หยิบยกเอาเหตุโศกนาฏกรรม ‘เที่ยวบิน MH370’ ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ที่หายสาบสูญในมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 239 คน มาเป็นมุกล้อเลียน เหยียดประเทศมาเลเซียบนเวทีการแสดงสดของเธอ ในคลับแห่งหนึ่งที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และทำให้คลิปการแสดงของเธอกลายเป็นกระแสไวรัลไปทั่วทั้งช่องทางโซเชียล จนเป็นประเด็นร้อนแรงมากมาย

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66 ทางการมาเลเซีย นำโดย คามารุล ซามาน มามัท ผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจเมืองยะโฮร์ ได้ยื่นเรื่องประสานงานไปยัง องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ ‘ตำรวจสากล’ (Interpol) ให้ติดตามจับตัว โจเซลิน เจีย มาดำเนินคดีที่ประเทศมาเลเซีย ในความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 504/505 (c) และมาตรา 233 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารและมัลติมีเดีย ที่ว่าด้วยเรื่องการพูดจาดูหมิ่น ยุยง ปลุกปั่น ทำลายความสงบเรียบร้อยในสังคม ซึ่งจะมีโทษปรับ และจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี
.
‘โจเซลิน เจีย’ มาจากครอบครัวชาวสิงคโปร์ เกิดในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เดินทางกลับมาเข้าโรงเรียนมัธยม St Nicholas Girls' School และ National Junior College ในสิงคโปร์ ก่อนกลับไปศึกษาต่อด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา และทำงานเป็นนักกฎหมายบริษัทนานเกือบ 5 ปี ก่อนโบกมือลาสำนักงานมาเป็นนักพูดมืออาชีพ จนได้เปิดตัวเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากรายการ ‘Gotham Comedy Live’ ของ ‘วิลเลียม แชทเนอร์’ นักแสดงชื่อดัง

ซึ่ง โจเซลิน เจีย เคยชนะรางวัลจากการแข่งขันในงาน ‘Ladies Of Laughter’ และ ยังได้รับรางวัลนักแสดงดาวรุ่ง - สาขาตลกในงาน ‘Asian American Television & Film Festival’ มาแล้ว

แต่หลังจากทราบข่าวการออกหมายจับของทางการมาเลเซีย และยื่นคำร้องถึงตำรวจสากลแล้วในเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา โจเซลิน เจีย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าขันสิ้นดี ถ้าตำรวจสากลตามมาจับตัวจริงๆ เธอคงได้ดังไปทั่วโลกสมใจแน่ๆ

เดี่ยวไมโครโฟนสาว ได้กล่าวผ่านสื่อว่า คลิปที่เป็นประเด็น เป็นพียงการแสดงช่วงหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้ผู้ชมในโซเชียลไม่เข้าใจบริบททั้งหมดในการแสดงของเธอ

โจเซลิน ยังได้กล่าวอีกว่า เธอมักใช้มุกตลกเสียดสี การแข่งขันระหว่างมาเลเซีย และ สิงคโปร์ อยู่เป็นประจำ รวมถึงมุกตลกเรื่องเที่ยวบินของมาเลเซียแอร์ไลน์ เธอเคยเล่นมาแล้วนับร้อยรอบ รวมถึงที่สิงคโปร์ด้วย ก็มีเสียงตอบรับที่ดี ผู้ชมชื่นชอบ เพราะถ้ามุกไม่จอดแต่แรก เธอถอดออกจากการแสดงนานแล้ว

แต่ทั้งนี้ โจเซลิน เจีย ยอมรับถึงเรื่องความต่างของวัฒนธรรม เนื่องจากเธอเปิดการแสดงในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ที่ผู้ชมมักชอบมุกตลกร้ายหนักๆ เสียดสี จิกกัดแบบตรงไป ตรงมา แม้แต่เรื่องโศกนาฏกรรม 9/11 ก็ยังมาเล่นเป็นมุกตลกได้โดยไม่ถือสา เป็นจุดที่มีความต่างกับสังคมชาวเอเชีย ที่การพูดถึงเหตุโศกนาฏกรรมเป็นประเด็นที่อ่อนไหว

และก็ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากทั้งทางฝั่งมาเลเซีย ที่มีการประท้วงกันที่หน้าสถานทูตสหรัฐ ในกรุงกัลลาลัมเปอร์ อีกทั้ง นาย วานุ คุปลา มีนอน เอกอัคราชทูตสิงคโปร์ประจำมาเลเซีย ได้ออกแถลงการณ์ตำหนิว่า รู้สึกตกใจกับความคิดเห็นที่น่ารังเกียจโดยไร้เหตุผลของโจเซลิน เจีย

แม้การออกหมายจับของทางการมาเลเซีย ประเทศที่เธอมักพูดถึงเสมอว่าเป็นเพียง ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ อาจจะดูน่าขัน แต่รัฐบาลมาเลเซียมักไม่ขำกับมุกตลกลักษณะนี้ เพราะเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ปีที่ผ่านมา ตำรวจมาเลเซียได้จับกุมนาย ริเซล แวน กีย์เซล นักพูดชาวมาเลเซีย ในข้อหาเล่นมุกตลกที่เข้าข่ายหมิ่นศาสนาอิสลามมาแล้ว

แต่ทั้งนี้ การใช้มุกตลกล้อเลียนในเรื่องใดๆ ก็เป็นสิ่งที่พึงระวัง เหมือนอย่างที่ โจเซลิน เจีย เคยพูดไว้บนเวทีว่า “Some jokes don't land.” ตลกบางมุกมันก็ใช่จะหาจอดได้ทุกที่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top