‘พงษ์ภาณุ’ อดีตปลัดคลังฯ ชี้ 1 มิถุนายนนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ อาจไม่มีเงินจ่ายข้าราชการ ชำระหนี้ และดอกเบี้ย

(28 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลก ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า ...

‘วิกฤตเพดานหนี้’ (Debt Ceiling) ของสหรัฐฯ เดินมาถึงฉากสุดท้ายยังหาข้อยุติไม่ได้ หากไม่จบ 1 มิถุนายนนี้ รัฐบาลสหรัฐฯจะไม่เงินสดเพียงพอที่จะจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญข้าราชการ รวมทั้งชำระหนี้และดอกเบี้ยเงินกู้ที่ครบกำหนดได้

การผิดนัดชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 1 มิถุนายน ถือเป็นวิกฤตการเงินของโลกครั้งใหญ่ เพราะตลาด Treasury ถือเป็นตลาดสินทรัพย์ทางการเงินที่ใหญ่ที่สุด นักลงทุนทั่วโลก ทั้งรัฐและเอกชน ลงทุนในพันธบัตรัฐบาลสหรัฐ โดยเชื่อว่าเป็นตราสารการเงินที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ที่สำคัญวิกฤตเพดานหนี้สะท้อนภาพฐานะการคลังของรัฐบาลทั่วโลกที่อ่อนแอและน่าเป็นห่วง รวมทั้งฐานะการคลังของรัฐบาลไทย ปัญหาการคลังที่สะสมมาเป็นเวลานาน ยังไม่ได้รับการแก้ไข รายจ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสังคมสูงอายุและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ขณะที่รายได้ภาษีอากรชะงักงัน ส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะสูงขึ้น ถือเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาดูแล การประชุมสุดยอด G7 ที่ Hiroshima ส่งสัญญาณเตือนจีนในเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจฝ่ายประชาธิปไตย การย้ายฐาน Supply Chain การบังคับขู่เข็ญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการคุ้มครองเทคโนโลยีสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรม Semiconductor ล้วนเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องสดับตรับฟัง เพราะมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลใหม่

ในด้านความมั่นคง การประชุมที่ Hiroshima ซึ่งเป็นเมืองแรกในโลกที่ถูกทำลายด้วยระเบิด Atomic Bomb ประกอบการมาร่วมของประธานาธิบดี Zelenskyy แห่ยูเครน ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงรัสเซียที่ได้ขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ถึงภัยร้ายแรงของสงครามที่รัสเซียจะต้องรับผิดชอบในฐานะอาชญากรสงครามอีกด้วย