Sunday, 5 May 2024
อเมริกา

‘เซเลนสกี’ เตรียมพบ ‘โจ ไบเดน’ ขอความช่วยเหลือต่อสู้กับรัสเซีย  เชื่อ!! สหรัฐฯ หนุนต่อ แม้เสียงคัดค้านจาก ‘รีพับลิกัน’ เริ่มหนาหู

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 66 ที่ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนจะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 78 ที่นครนิวยอร์ก เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเข้าประชุมร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ

ด้าน นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำยูเครนในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤต และประธานาธิบดีไบเดน ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนยูเครน ซึ่งกำลังปกป้องเอกราช อธิปไตย และบูรณาภาพแห่งดินแดน จากการรุกรานของรัสเซีย

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดน กำลังเผชิญกับการคัดค้านสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกัน ในการจัดส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ยูเครน อีก 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยูเครน

เปิดตัวเลขกราดยิงหมู่ในสหรัฐฯ ทะลุ 500 เคสในปีนี้ คู่ขนาน ปชช.ถือครองอาวุธปืนเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

(19 ก.ย. 66) จำนวนเหตุกราดยิงหมู่ในสหรัฐฯ พุ่งผ่าน 500 เหตุการณ์แล้วเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข้อมูลของ ‘Gun Violence Archive’ (GVA) องค์กรไม่แสวงกำไรที่ศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงจากอาวุธปืน เฉลี่ยแล้วเท่ากับเกือบ 2 เหตุการณ์ต่อวันเลยทีเดียว

เมื่อวันอาทิตย์ (17 ก.ย.) ที่ผ่านมา กรมตำรวจเดนเวอร์ โพสต์แจ้งเตือนบนแฟลตฟอร์ม X (เดิมคือ ทวิตเตอร์) ยืนยันเกิดเหตุกราดยิงมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย ซึ่งนับเป็นเหตุกราดยิงเหตุการณ์ที่ 500 ของปีนี้

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ตำรวจเอลปาโซ รัฐเทกซัส รายงานว่า พวกเขากำลังสืบสวนเหตุการณ์ยิงกันเหตุการณ์หนึ่งช่วงเช้าในอีสต์ เอลปาโซ ซึ่งคร่าชีวิตชายวัย 19 ปีรายหนึ่ง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 คน ส่งผลให้ตัวเลขรวมของเหตุกราดยิงเพิ่มเป็น 501 เหตุการณ์

อ้างอิงข้อมูลบนเว็บไซต์ของ GVA ได้ให้คำจำกัดความเหตุกราดยิงว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 4 คน หรือมากกว่านั้น ไม่นับรวมผู้ก่อเหตุ

ปี 2021 กลายเป็นปีที่มีเหตุกราดยิงหมู่มากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ หลังมีรายงานเกี่ยวกับเหตุกราดยิง 689 เหตุการณ์ ก่อนที่จำนวนเหตุกราดยิงจะลดลงเล็กน้อยเหลือ 647 เหตุการณ์ในปี 2022 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของเอฟบีไอพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บกลับเพิ่มขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์สถิติศึกษาแห่งชาติสหรัฐฯ (NCES) เผยแพร่รายงานอาชญากรรมและความปลอดภัยประจำปี พบว่า มีเหตุยิงกันที่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บในโรงเรียน 188 เหตุการณ์ ในปีการศึกษา 2021-22 เพิ่มขึ้นจากหนึ่งปีก่อนหน้านี้กว่าเท่าตัว

เหตุกราดยิงหมู่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีเหตุกราดยิงหมู่เพียงแค่ 273 เหตุการณ์ในปี 2014

ผลการศึกษาหนึ่งที่เผยแพร่โดยวารสารการแพทย์ Annals of Internal Medicine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ บ่งชี้ว่ามีประชาชนครอบครองอาวุธปืนเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยระหว่างเดือนมกราคม 2019 ถึงเมษายน 2021 มีผู้ใหญ่ชาวสหรัฐฯ กลายเป็นเจ้าของอาวุธปืนรายใหม่มากถึง 7.5 ล้านคน

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา มาตรา 2 บัญญัติว่า อนุญาตให้ชาวอเมริกันที่อายุ 21 ปีขึ้นไป (หรือ 18 ปีในบางรัฐ) มีสิทธิครอบครองอาวุธปืนเพื่อป้องกันตนเองโดยชอบธรรม และผลสำรวจความคิดเห็นพบว่ามีราว 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ มีอาวุธปืนในครอบครอง อย่างไรก็ตาม อีกโพลหนึ่งที่จัดทำโดยแกลลัพ ในเดือนตุลาคม 2022 พบว่าชาวอเมริกาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการควบคุมอาวุธปืน โดยมีถึง 57% ที่สนับสนุนกฎหมายควบคุมอาวุธปืนเข้มข้น

กระนั้น เรื่องนี้ยังคงเป็นประเด็นแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมอเมริกา โดยผลสำรวจอีกอันของแกลลัพ พบว่า ชาวเดโมแครตมีความเห็นเกือบเป็นเอกฉันท์สนับสนุนควบคุมอาวุธปืน แต่สำหรับชาวรีพับลิกันแล้ว มีไม่ถึง 1 ใน 4 ที่สนับสนุนกฎหมายควบคุมอาวุธปืน

‘โฆษก รบ.’ แจง!! ‘นายกฯ’ ภารกิจแน่น ร่วมประชุม UNGA ที่สหรัฐฯ วอนกลุ่มจับผิดหยุดให้ข่าวเท็จ-ด้อยค่าความทุ่มเทเพื่อบ้านเมือง

โฆษกรัฐบาล แจง นายกฯ ร่วมประชุม UNGA 78 สหรัฐฯ ภารกิจแน่น จวกกลุ่มตามจับผิดให้ความเท็จต่อประชาชน แจงถึงไทย 24 ก.ย.ทั้งที่ประชุมเสร็จ 22 ก.ย.เพราะเวลาต่างกัน ยันผลหารือนักลงทุนได้ประโยชน์คุ้มค่าแน่นอน

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัย ชัชวรงค์ โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงภารกิจเดินทางต่างประเทศครั้งแรกของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เกิดข่าวลือและการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เป็นความจริงในสังคมไทย โดยระบุว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ในการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจครั้งแรกที่ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ถูกด้อยค่า และจับผิด จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตลอดเวลา

สำหรับภารกิจนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้มี 3 ด้านหลัก คือ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ซึ่งมีประเด็นหลักเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ที่นายกรัฐมนตรียังเป็นเจ้าภาพการประชุมในกรอบของอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องดังกล่าว และยังจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

ขณะที่ ช่วงเย็นของวันที่ 19 ก.ย. 66 นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมประชุม

นอกจากนี้ การเดินทางครั้งนี้ยังมีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำโลก เช่น ประธานาธบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี เวียดนาม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และเลขาธิการสหประชาชาติ รวมถึงประธาน FIFA และท่านนายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายที่จะแสวงหาโอกาสพัฒนาทีมฟุตบอลไทยในเวทีโลก รวมถึงการจัดการแข่งขันระดับโลกในประเทศไทย

โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด นายกรัฐมนตรีได้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และดึงการลงทุนจากต่างชาติให้ไหลเข้าประเทศไทย เนื่องจาก ในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา การลงทุนขนาดใหญ่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบผู้บริหารขนาดใหญ่ 8-9 บริษัท อาทิ Black Rock ซึ่งเป็นบริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเงินทุน 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 250 ล้านล้านบาท แค่เพียงบริษัทเดียวจะเห็นว่ามีเงินลงทุนมากขนาดไหน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังจะได้พบกับผู้บริหาร SpaceX, Tesla, Google, GoldMan Sachs, CitiBank, J.P.Morgan และ estee Lauder, Microsoft, บริษัทเหล่านี้ เมื่อรวมกันแล้วมีเม็ดเงินลงทุนนับพันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจการเงินการลงทุน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังจะพบหารือกับทีมประเทศไทย ทีมีทูตพาณิชย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือสร้างโอกาสการค้าการลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้ทิศนทางว่า ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าทางเศรษฐกิจอย่างไร และยังจะมีโอกาสพบปะกับชุมชนชาวไทยในสหรัฐฯ เพื่อรับฟังว่าคนไทยในสหรัฐฯ มีปัญหาอย่างไร และต้องการให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือในประเทศไทยทำอะไรบ้าง

“กิจกรรมทั้งหมดอัดแน่นเพียงเวลา 3 วันกว่าเท่านั้น แต่ยังมีการจับผิดถึงภารกิจ ทั้งๆ ที่มีภารกิจอัดแน่นจนถึง 22.00 น.วันที่ 22 ก.ย. 66 แต่ทำไมกลับถึงไทยในวันที่ 24 ก.ย. 66”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพมายังนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ใช้เวลาเดินทางร่วม 20 ชั่วโมง และเวลาไทยก็เร็วกว่าเวลาในนิวยอร์ก 11 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อออกเดินทางจากนิวยอร์ก เวลา 22.00 น. วันที่ 22 ก.ย. 66 ซึ่งในประเทศไทยเป็น 09.00 น.ของวันที่ 23 ก.ย. 66 และการเดินทางกลับใช้เวลาประมาณ 20 ชม. ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จะเดินทางถึงไทย เวลา 08.40 น.ของวันที่ 28 ก.ย. 66 จึงแปลได้ว่า การเอาเวลาไปตามจับผิด จึงเป็นความเท็จทั้งหมด 

ส่วนกรณีเครื่องเช่าเหมาลำการบินไทยนั้น รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร ซึ่งรับผิดชอบการบริหารจัดการเที่ยวบิน ได้ชี้แจงไปแล้ว กรณีว่าทำไมมีการนำผู้ไม่ใช่ข้าราชการการเมืองและข้าราชการการเมืองมาด้วยนั้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีความคิดก้าวหน้า ท่านมองว่าบุคคลใดก็ตามที่มีความสามารถทางเศรษฐกิจ หากเดินทางมาร่วมคณะ จะสามารถช่วยงานได้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศ เพราะใครก็ตามที่สามารถเข้ามาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี ขณะที่บางท่านเป็นคณะทำงานของนายกรัฐมนตรี มาแต่ต้น บางท่านเพิ่งเข้ามา

ส่วนกรณีบุตรสาวของนายกรัฐมนตรีนั้น เดินทางมาด้วยการออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งวิธีการคำนวณนั้นมีอยู่แล้ว หารเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัว คิดเป็นเท่าไหร่ ก็จ่ายเป็นราคาเต็ม และรัฐบาลไทย ก็จ่ายน้อยลง

“ยืนยันว่าการเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ โปรแกรมแน่นเอี้ยด และประเทศไทยได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าอย่างแน่นอน”

‘เซเลนสกี’ เยือนวอชิงตันอีกรอบ ขอความช่วยเหลือเพิ่ม แม้ ‘ไบเดน’ หนุน แต่คองเกรสเอือมสงคราม รีพับลิกันเริ่มขวาง

(22 ก.ย. 66) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำแห่งยูเครน เดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อการเยือนเป็นครั้งที่ 2 ของเขาในช่วงเวลาทำสงครามกับรัสเซีย อย่างไรก็ดี นอกจากจะไม่ได้รับการต้อนรับดุจดังวีรบุรุษเหมือนหนที่แล้ว คราวนี้ผู้นำเคียฟยังต้องเผชิญบรรยากาศความเหนื่อยล้า จากสงครามของบรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และความเสี่ยงที่แพ็กเกจความช่วยเหลือล็อตใหม่มูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจถูกขัดขวาง

เซเลนสกีโพสต์ข้อความทางสื่อสังคมในตอนเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่า เขาและภรรยามาถึงวอชิงตัน ดี.ซี.แล้ว และระบบป้องกันภัยทางอากาศ คือหนึ่งในรายการที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด ซึ่งเขาต้องการจะได้รับในเมืองหลวงของสหรัฐฯ แห่งนี้

ผู้นำยูเครนวัย 45 ปีผู้นี้ มีกำหนดพบปะเจรจากับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว และจากนั้นจะไปเยือนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน)

ทว่านัดหมายที่สำคัญอย่างที่สุดของเขา น่าจะเป็นการพบหารือกับพวกผู้นำของพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตในรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งแพ็กเกจความช่วยเหลือยูเครนฉบับใหม่มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คณะบริหารของไบเดนได้เสนอเข้าไป มีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดขัดขวาง

เซเลนสกีเพิ่งออกมาจากการร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชนในนครนิวยอร์ก ซึ่งเขาปราศรัยเรียกร้องให้โลกยืนหยัดสนับสนุนยูเครน ต่อสู้กับสิ่งที่เขากล่าวหาว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของรัสเซีย

เขายังร้องขอชาวอเมริกันคงความสนับสนุนที่ให้แก่เคียฟต่อไป หลังจากที่วอชิงตันได้อัดฉีดเงินมากกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน นับตั้งแต่ถูกรัสเซียรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยที่เขากล่าวอ้างกับโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่า “เรากำลังอยู่ตรงเส้นชัยแล้ว”

ทว่า ทริปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของเขาหนนี้ จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหนแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยครั้งนั้นเซเลนสกีบินไปอเมริกาแบบไม่มีการออกข่าวล่วงหน้า และได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษจากทั้งทำเนียบขาวและที่รัฐสภาสหรัฐฯ

แต่ในครั้งนี้ วอชิงตันอบอวลไปด้วยความสงสัยข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอนาคตการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ โดยที่กลุ่มสมาชิกสายแข็งของรีพับลิกันประกาศว่า จะไม่ยกมือเห็นชอบมาตรการทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลต้องหยุดทำการชั่วคราว เพราะหมดงบประมาณ หรือที่เรียกกันว่า ‘ชัตดาวน์’ ถ้าหากมีการพ่วงความช่วยเหลือสำหรับยูเครนเข้าไปด้วย

แม้ว่าไบเดนยังคงให้สัญญาจะยืนหยัดเคียงข้างเคียฟไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยที่การรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในปีหน้าของเขา มีการวาดภาพเรื่องเขาสนับสนุนยูเครน ว่าเป็นการสาธิตถึงความเป็นผู้นำโลกของเขา

‘จอห์น เคอร์บี้’ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงว่า ไบเดนรอรับฟังสถานการณ์ในสนามรบจากเซเลนสกี ที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของยูเครนโดยตรง รวมทั้งจะหารือเกี่ยวกับสิ่งที่เซเลนสกีต้องการ และวิธีที่อเมริกาจะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นต่อไปในอนาคต

สำหรับข่าวที่ว่า เซเลนสกีจะร้องขอขีปนาวุธทางยุทธวิธี ATACMS ซึ่งมีพิสัยทำการ 300 กิโลเมตร ไกลขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับขีปนาวุธอื่นๆ ที่ยูเครนได้รับอยู่ในปัจจุบัน เคอร์บี้บอกว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกปัดตกไป แต่ก็ยังไม่มีการตัดสินใจในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม เห็นกันดีเรื่องน่าหนักใจที่สุดของผู้นำยูเครน คือการโน้มน้าวรัฐสภาสหรัฐฯ ในเมื่อความหวังที่จะได้ความช่วยเหลือเพิ่มก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งของยูเครน ถูกนำไปผูกโยงกับดรามาการต่อรองกันระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต

ไม่เพียงฝ่ายขวาจัดของรีพับลิกันในรัฐสภา แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า ถ้ารัฐบาลขืนผลักดันให้ผ่านงบช่วยเหลือเคียฟ ก็จะไม่ยอมตกลงเรื่องมาตรการหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ กระทั่งสมาชิกรีพับลิกันสายกลางก็แสดงความข้องใจมากขึ้น กับการยังคงช่วยเหลือยูเครนต่อไป

เป็นต้นว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ‘เควิน แมคคาร์ธีย์’ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า เขาคิดว่า คนอเมริกันอยากทราบว่ายูเครนมีแผนอย่างไร ที่จะทำให้ตัวเองรบชนะรัสเซีย

มี ส.ส.บางคนเห็นว่า น่าจะเอาเงินไปใช้ในการรักษาความปลอดภัยพรมแดนสหรัฐฯ มากกว่า ท่ามกลางความกังวลสงสัยที่การปฏิบัติการตอบโต้ของเคียฟมีความคืบหน้าน้อยมาก แถมยังมีข่าวการทุจริตหนักหน่วงในยูเครน จนเกิดคำถามว่า “หรือความช่วยเหลือที่ทุ่มเทให้ไปจะสูญเปล่า?”

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นตัวเก็งของรีพับลิกันท้าชิงทำเนียบขาวจากไบเดนในปีหน้า บอกว่า ควรเอาเงินที่จะให้ยูเครนมาใช้กับกิจการในประเทศมากกว่า ซ้ำทำนายว่า ที่สุดแล้วชัยชนะจะเป็นของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย

‘สาวแมนเชสเตอร์’ ดวงดี!! ซื้อภาพวาดจิตรกรดัง ‘เอ็น.ซี.ไวเอธ’ ราคาเพียง 4 ดอลลาร์ จากร้านมือสอง แต่ขายได้เกือบ 7 ล้าน

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 เว็บข่าวต่างประเทศรายงาน ภาพวาดที่ถูกซื้อจากร้านขายของมือสองในเมืองแมนเชสเตอร์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา ในราคา 4 ดอลลาร์ ราว 144 บาท ปรากฎว่าเป็นภาพวาดของ เอ็น.ซี.ไวเอธ จิตรกรเอกชาวรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกาที่ทำราคาประมูลได้สูงถึง 191,000 ดอลลาร์ ราว 6,856,900 บาท

ข่าวระบุภาพวาดดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ราโมนา (Ramona)’ เป็นผลงานภาพวาด 1 ใน 4 ภาพที่ไวเอธ วาดสำหรับหนังสือนิยายเรื่องราโมนา ของ เฮเลน ฮันต์ แจ็กสัน ฉบับปี 1939 ขณะที่ฉบับแรกตีพิมพ์ปี 1884 โดยภาพวาดดังกล่าวเป็นภาพของเด็กสาวกำพร้ำกำลังทะเลาะกับแม่บุญธรรมของเธอ

สำนักประมูลบอนแฮมส์ สกินเนอร์ อ้างผู้เชี่ยวชาญผลงานของไวเอธ ให้ความเห็นว่าภาพวาดดังกล่าวคาดว่าเป็นภาพวาดของไวเอธที่หายไปนานมาก แต่ต่อมาตกอยู่ในมือของหญิงชาวเมืองแมนเชสเตอร์ รัฐนิว แฮมป์เชียร์ ที่ซื้อภาพวาดนี้มาจากร้านเซฟเวอร์ (Savers) ร้านขายของมือสองแถวบ้านในราคา 4 ดอลลาร์ (ประมาณ 143 บาท) และแขวนภาพวาดนี้บนฝาผนังที่บ้านสักพัก ก่อนจะนำไปเก็บไว้ตู้เสื้อผ้า

ข่าวระบุภาพวาดดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ราโมนา (Ramona)’ เป็นผลงานภาพวาด 1 ใน 4 ภาพที่ไวเอธ วาดสำหรับหนังสือนิยายเรื่องราโมนา ของ เฮเลน ฮันต์ แจ็กสัน ฉบับปี 1939 ขณะที่ฉบับแรกตีพิมพ์ปี 1884 โดยภาพวาดดังกล่าวเป็นภาพของเด็กสาวกำพร้ำกำลังทะเลาะกับแม่บุญธรรมของเธอ

สำนักประมูลบอนแฮมส์ สกินเนอร์ อ้างผู้เชี่ยวชาญผลงานของไวเอธ ให้ความเห็นว่าภาพวาดดังกล่าวคาดว่าเป็นภาพวาดของไวเอธที่หายไปนานมาก แต่ต่อมาตกอยู่ในมือของหญิงชาวเมืองแมนเชสเตอร์ รัฐนิว แฮมป์เชียร์ ที่ซื้อภาพวาดนี้มาจากร้านเซฟเวอร์ (Savers) ร้านขายของมือสองแถวบ้านในราคา 4 ดอลลาร์ (ประมาณ 143 บาท) และแขวนภาพวาดนี้บนฝาผนังที่บ้านสักพัก ก่อนจะนำไปเก็บไว้ตู้เสื้อผ้า

‘ทีมแพทย์สหรัฐฯ’ ปลูกถ่ายหัวใจหมูในมนุษย์ สำเร็จรายที่ 2 ของโลก จุดความหวังใหม่ให้มนุษยชาติ แก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะมนุษย์

(24 ก.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้กับ ‘นายลอว์เรนซ์ ฟาเซ็ตต์’ ทหารผ่านศึกของกองทัพเรือสหรัฐฯ วัย 58 ปี โดยใช้หัวใจหมูที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้เขากลายเป็นคนไข้คนที่ 2 ของโลกที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจหมูในมนุษย์

ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์เคยผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูให้กับคนไข้รายหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนไข้คนดังกล่าวเสียชีวิตหลังการผ่าตัด 2 เดือนต่อมาเนื่องจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงสุขภาพของคนไข้ที่ไม่ดีก่อนหน้าการผ่าตัด

ทั้งนี้ การปลูกถ่ายหัวใจหมูในมนุษย์ครั้งล่าสุดได้มีขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 ก.ย.) ให้แก่นายฟาเซ็ตต์ ผู้ไม่สามารถเข้ารับการบริจาคหัวใจมนุษย์ได้ เนื่องจากป่วยด้วยโรคหลอดเลือดและมีอาการแทรกซ้อนจากการเลือดออกภายใน หากเขาไม่ได้เข้ารับการปลูกถ่ายหัวใจดังกล่าว นายฟาเซ็ตต์อาจมีอาการหัวใจล้มเหลวในอนาคตอันใกล้

ฟาเซ็ตต์กล่าวก่อนหน้าการผ่าตัดว่า “ความหวังสุดท้ายที่ผมมี คือ การใช้หัวใจหมูในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์ หรือที่เรียกในทางการแพทย์ว่า ‘Xenotransplantation’ แต่อย่างน้อยตอนนี้ผมก็มีหวังแล้ว” ภายหลังจากการผ่าตัด มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ระบุว่า นายฟาเซ็ตต์สามารถหายใจได้ด้วยตนเองและหัวใจใหม่ของเขากำลังทำงานได้ดี โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ช่วยเหลือ รวมถึงสามารถนั่งบนเก้าอี้และหยอกล้อกับคนอื่นๆ ได้แล้ว โดยขณะนี้เขากำลังรับยาต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายของเขาทำลาย หรือต่อต้านอวัยวะใหม่การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์นั้น อาจสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะมนุษย์อย่างรุนแรง

โดยขณะนี้มีชาวอเมริกันกว่า 1 แสนคน กำลังรอเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ อย่างไรก็ดี การปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์นั้นมีความท้าทายมาก เพราะระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้จะโจมตีอวัยวะใหม่ที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่าย

‘ก.ยุติธรรมสหรัฐฯ’ ฟ้อง!! แกนนำพรรคเดโมแครต  รับสินบนลับจาก ‘อียิปต์’ เพื่อปลดล็อกแบนขายอาวุธ

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 สำนักข่าวเอเจนซีส์ / รอยเตอร์ รายงานว่า แกนนำพรรคเดโมแครต ‘สว.บ็อบ เมเนนเดซ’ (Bob Menendez) และภรรยาล็อบบี้ยิสต์ชาวอาร์เมเนียเกิดในกรุงเบรุต ‘นาดีน เมเนนเดซ’ (Nadine Menendez) โดนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ วันศุกร์ (22 ก.ย.) ฟ้องดำเนินคดีรับสินบนจากหลายแสนดอลลาร์จากรัฐบาลอียิปต์ เพื่อปลดล็อกแบนให้วอชิงตันขายอาวุธให้ไคโร เจ้าตัวปฏิเสธลาออกจาก สว. แต่ยอมลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศประจำสภาสูงสหรัฐฯ ชั่วคราว นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจค้นบ้านพักและพบเงินสดร่วม 500,000 ดอลลาร์แอบซุกซ่อนไว้ รวมไปถึงทองคำแท่งจำนวนมากและรถหรูอีกด้วย

สำนักข่าวเอบีซีนิวส์ของออสเตรเลีย รายงานเมื่อวันเสาร์ (23 ก.ย.) ว่า FBI ค้นบ้านพักของ ‘สว.บ็อบ เมเนนเดซ’ ในรัฐนิวเจอร์ซีที่ถูกตกแต่งพร้อมกับของกลางรถสุดหรู ‘เมอร์เซเดสเบนซ์’ จอดอยู่ในโรงรถ ล้วนแล้วมาจากนักธุรกิจนิวเจอร์ซีย์ 3 คนที่เป็นตัวกลางติดต่อกับรัฐบาลอียิปต์ ได้แก่ วาเอล ฮานา (Wael Hana), โฮเซ่ อูริบ (Jose Uribe) และเฟรด เดบส์ (Fred Daibes)

อ้างอิงจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เมเนนเดซ และภรรยา นาดีน เมเนนเดซ ในวันศุกร์ (22 ก.ย.) ถูกอัยการสหรัฐฯ ประจำเขตแมนแฮตตัน สั่งฟ้องดำเนินคดีข้อหารับสินบนจำนวนหลายแสนดอลลาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับอำนาจและอิทธิพลในฐานะวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ของเขา เพื่อปกป้องและสนับสนุนเพื่อนนักธุรกิจของตัวเองและผลประโยชน์ของรัฐบาลอียิปต์

สำนักข่าวรอยเตอร์ชี้ว่า ‘บ็อบ เมเนนเดซ’ เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ เขานั่งในตำแหน่งสำคัญประธานคณะกรรมาธิการด้านกิจการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำสภาสูงสหรัฐฯ ซึ่งเมเนนเดซยอมลาออกจากตำแหน่งชั่วคราวหลังเขาและภรรยาและก๊วนเพื่อนนักธุรกิจทั้งหมดโดนรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินคดีทางกฎหมาย

เมเนนเดซเป็นคนใกล้ชิดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘โจ ไบเดน’ จากการที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องการทำให้อเมริกายังคงความเป็นเจ้าอิทธิพลในเวทีโลก และในช่วงเวลาที่ไบเดนต้องการผ่าทางตันให้แพกเกจความช่วยเหลือยูเครนผ่านสภาคองเกรสหรัฐฯ ในเวลาเดียวกันกับที่ต้องต่อต้านการผงาดขึ้นมาของ ‘จีน’

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า การสอบสวนล่าสุดนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่เมเนนเดซโดนรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สอบ แต่ทว่าเขาไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน

อ้างอิงจากสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ พบว่า อัยการแมนแฮตตันกล่าวหา สว.เมเนเดซ และภรรยาจำนวน 3 กระทง ได้แก่ สมคบคิดในการรับสินบน สมคบคิดต่อไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ (honest services fraud) และสมคบคิดในการกรรโชก

ทั้งคู่โดนกล่าวหาว่า รับเงินสินบน เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลอียิปต์อย่างลับๆ แต่ทว่าคนทั้งคู่ปฏิเสธอย่างหนักต่อข้อหาทั้งหมด

สำนักข่าวเอบีซีนิวส์ของออสเตรเลีย รายงานว่า เจ้าหน้าที่ FBI บุกค้นบ้านพักของ สว.สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และสามารถค้นพบเงินสดจำนวนไม่ต่ำกว่า 480,000 ดอลลาร์อยู่ในซองและซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าและภายในตู้เซฟที่บ้านพัก และเงินสดอีกก้อนจำนวน 70,000 ดอลลาร์อยู่ภายในตู้เซฟนิรภัยธนาคารของภรรยา นาดีน

โดยซองเงินสดบางส่วนพบอยู่ในเสื้อแจ็กเกตที่มีชื่อของ สว.อยู่ซึ่งถูกแขวนไว้ที่ตู้เสื้อผ้า ขณะที่ซองเงินสดอื่นๆ พบลายนิ้วมือหรือดีเอ็นเอของเพื่อนนักธุรกิจนิวเจอร์ซีย์ เฟรด เดบส์ ปรากฏ

สื่อออสเตรเลียเปิดเผยว่า มีการค้นพบทองคำแท่งจำนวนมากที่มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ดอลลาร์ อยู่ภายในบ้านของเมเนนเดซ

สำนักข่าวบิสซิเนสอินไซเดอร์ ชี้ว่า เป็นที่ฮือฮาที่เมเนนเดซ ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญพรรคเดโมแครต ใช้กูเกิลเพื่อค้นหาว่าทองคำหนัก 1 กิโลกรัมนั้นมีมูลค่ามากเพียงใด

ตามคำฟ้องระบุว่า อดีตประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ปี 2021 ได้ทำการค้นหามูลค่าของทองคำหนัก 1 กิโลกรัม

และหลังจากคำฟ้องเปิดเผยในวันศุกร์ (22 ก.ย.) พบว่าการเสิร์ชค้นหา ‘ทองคำหนัก 1 กิโลกรัม’ กลายเป็นกระแสฮิตในสหรัฐฯ ในทันที ทั้งนี้ พบว่า เขาเริ่มต้นค้นหาเกี่ยวกับมูลค่าของทองคำหลังจากนาดีน ภรรยาเดินทางกลับจากอียิปต์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในหลายโอกาสระหว่างปี 2018-2022 เมเนนเดซได้ยืนยันไปยังเจ้าหน้าที่อียิปต์ว่า เขาซึ่งดำรงตำแหน่งในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศประจำวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จะอนุมัติยกเลิกการห้ามขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อียิปต์ และนาดีน ภรรยาของ สว.ได้รับคำสัญญาที่จะได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน

นาดีนที่เป็นศูนย์กลางคดีคอร์รัปชันนี้ เธอมีบทบาทในการล็อบบี้ช่วยอียิปต์นั้นมีความน่าสนใจมาก

อ้างอิงจากสื่อนิวเจอร์ซีย์ nj.com ระบุว่า นาดีน เบนเนเดซ หรือ ‘นาดีน อาร์สลาเนียน’ (Nadine Arslanian) เป็นชาวอาร์มาเนีย เกิดในเบรุต เลบานอน ครอบครัวหนีภัยสงครามกลางเมืองเบรุตไปที่กรีซ และต่อมาย้ายไปที่กรุงลอนดอน อังกฤษ ก่อนเดินทางเข้ามาสหรัฐฯ ในที่สุด

สื่อ nj.com รายงานต่อว่า นาดีนนั้นสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กระดับปริญญาตรี และเรียกตัวว่าเป็น ‘นักธุรกิจหญิง’ เธอได้พบกับเมเนนเดซที่ร้านอาหาร IHOP เมื่อธันวาคม ปี 2018 และคนทั้งคู่สมรสระหว่างโควิด-19 เกิดระบาดในวันที่ 3 ต.ค. 2020 ทั้งสองฝ่ายต่างเคยผ่านการสมรสมาแล้วก่อนหน้า

เอบีซีนิวส์รายงานว่า นาดีน และวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เริ่มต้นคบหาเมื่อปี 2018 โดยนักธุรกิจนิวเจอร์ซีย์ ‘วาเอล ฮานา’ ที่เป็นตัวกลางติดต่อเจ้าหน้าที่กองทัพอียิปต์นั้นเป็นเพื่อนของนาดีน

ตามคำฟ้องระบุว่า ในการพูดคุยนั้นรวมไปถึงประเด็นเงินช่วยเหลือกิจการต่างประเทศทางการทหารให้อียิปต์

ขณะที่เมนเนเดซ ปัจจุบันวัย 69 ปี ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศประจำสภาสูงสหรัฐฯ และเขาถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ในสภาสูงสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่เขาเริ่มต้นคบหานาดีนภรรยา

และพบว่า ช่วงที่ระหว่างกำลังคบหาภรรยานักล็อบบี้ยิสต์ พบว่า สว.เมเนนเดซได้เคยสอบถามไปยังกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ สำหรับข้อมูลที่ไม่ใช่เป็นข้อมูลลับ แต่ถือเป็นข้อมูลอ่อนไหวสูงเนื่องมาจากเหตุผลด้านความมั่นคง

สื่อออสเตรเลียกล่าวว่า เมเนนเดซต้องการทราบถึงจำนวนและสัญชาติของเจ้าหน้าที่ ที่ประจำอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงไคโร

และในเดือนเดียวกันนั้นหลังจากอาหารค่ำมื้อหรูที่ภัตตาคารชื่อดังระดับบนที่เมเนนเดซร่วมกับเพื่อนนักธุรกิจนิวเจอร์ซีย์ ฮานา พบว่านักธุรกิจได้แอบลอบส่งข้อความไปยังเจ้าหน้าที่อียิปต์อีกคนเป็น ‘ความลับที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ’

ซึ่งในครั้งนี้เอบีซีนิวส์กล่าวว่า มันเป็นข้อความเกี่ยวข้องกับการยกเลิกการแบนห้ามส่งอาวุธเบาและกระสุนไปให้อียิปต์

“นี่หมายความว่าการขายสามารถเริ่มต้นได้ ที่จะรวมถึงปืนไรเฟิลรวมไปถึงสิ่งอื่นๆ” หนึ่งในข้อความที่ถูกส่งไป

‘สหรัฐฯ’ จ่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกเพิ่ม หวังสกัดกั้นผู้อพยพ อ้าง!! เป็นงบที่เหลือค้างจากนโยบายของรัฐบาล ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

(6 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์และบีบีซีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ว่าจะสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกเพิ่มอีกราว 20 กิโลเมตรในสตาร์ เคาน์ตี้ รัฐเท็กซัส เพื่อสกัดการเข้าประเทศของผู้อพยพจากเม็กซิโก ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าในนโยบายหลักของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สนับสนุนให้มีการสร้างกำแพงตามชายแดนที่ติดกับประเทศเม็กซิโก

หลังจากที่ประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ต่อจากทรัมป์ในเดือนมกราคมปี 2021 หนึ่งในสิ่งแรกที่เขาทำคือออกแถลงการณ์ให้คำมั่นว่า “ภาษีของชาวอเมริกันจะไม่ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างกำแพงกั้นชายแดนอีก” รวมถึงสั่งให้มีการตรวจสอบทรัพยากรทั้งหมดที่ถูกใช้ในการสร้างกำแพงไปแล้ว

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า การตัดสินใจที่จะสร้างกำแพงกั้นชายแดนระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโกเพิ่มนั้นไม่ได้หันเหไปจากแถลงการณ์ให้คำมั่นของไบเดนเมื่อปี 2021 แต่อย่างใด เพราะงบประมาณที่ถูกจัดสรรไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทรัมป์เมื่อปี 2019 จำเป็นต้องนำออกมาใช้ตอนนี้ ‘นายอเลฮานโดร มายอร์กาส’ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่มีนโยบายการบริหารใหม่เกี่ยวกับกำแพงชายแดน ตั้งแต่วันแรกของการทำงาน ฝ่ายบริหารได้แสดงชัดเจนว่ากำแพงกั้นชายแดนไม่ใช่คำตอบ

มายอร์กาส กล่าวว่า โครงการก่อสร้างกำแพงชายแดนดังกล่าวได้รับการจัดสรรงบไว้แล้วในสมัยรัฐบาลของทรัมป์ และกฎหมายระบุให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณดังกล่าว ตามที่มีการประกาศเมื่อช่วงต้นปีนี้

“เราได้ขอให้สภาคองเกรสยกเลิกงบประมาณดังกล่าวหลายครั้ง แต่พวกเขายังไม่ทำเช่นนั้น เราจึงต้องดำเนินการตามที่กฎหมายระบุ และในปัจจุบันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างเครื่องกีดขวางและถนนใกล้กับชายแดนสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย” มายอร์กาส กล่าว

ด้านอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้รีบออกมาประกาศชัยชนะในนโยบายสร้างกำแพงของตนเอง และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนออกมาขอโทษเขา และประเทศอเมริกาที่เดินหน้าในเรื่องกำแพงชายแดนล่าช้ากว่ากำหนด

ขณะที่ประเทศเม็กซิโกได้ออกมาคัดค้านแผนการสร้างกำแพงชายแดนเพิ่มของสหรัฐฯ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศ ได้มีการหารือกันในกรุงเม็กซิโก ซิตี เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก

โดย ‘นายอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์’ ประธานาธิบดีเม็กซิโกกล่าวประณามว่า เป็นการเดินถอยหลัง และ ‘อลิเซีย บาร์เซนา’ รัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโก กล่าวคัดค้านแผนดังกล่าวเช่นกัน รวมถึงสมาชิกพรรครีพับลิกันและเดโมแครตหลายคนได้ออกมาวิจารณ์ไบเดน จากการหันมาเดินหน้าสร้างกำแพงกั้นชายแดนเพิ่ม

‘สหรัฐฯ’ เคลื่อนเรือรบประชิดชายฝั่งเมดิเตอร์ฯ หนุน ‘อิสราเอล’ ด้าน ‘กลุ่มชีอะห์’ เตือน!! พร้อมลุยฐานทัพสหรัฐฯ หากจุ้นกาซา

(9 ต.ค. 66) ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้เคลื่อนพลกองเรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบินรบ และอากาศยานอื่นๆ เข้าประชิดชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในอิสราเอล อันเป็นเหตุให้มีชาวอเมริกัน อย่างน้อย 4 คนเสียชีวิต

‘ลอยด์ ออสติน’ ได้กล่าวผ่านสื่อสหรัฐฯ ว่า ได้หารือกับ ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ ถึงสถานการณ์ในอิสราเอล และขั้นตอนการยกระดับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ และในวันนี้ก็มีคำสั่งให้เคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินรบ USS Gerald R. Ford ที่ได้ชื่อว่าเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเรือรบติดขีปนาวุธ USS Normandy, USS Thomas Hudner, USS Ramage, USS Carney และ USS Roosevelt เข้าประชิดชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งใกล้เขตน่านน้ำของอิสราเอล และบริเวณฉนวนกาซา

ด้านฝ่ายกลาโหมสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับ ‘โยอาฟ แกลลันต์’ รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมจะสนับสนุนชาวอิสราเอลจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส เพื่อคืนความมั่นคง ปลอดภัยให้แก่อิสราเอล ส่วนยุทโธปกรณ์ด้านการรบ จะมีการขนส่งด่วนมาทางเครื่องบินในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอย่างแน่นอน

การเคลื่อนไหวของกลาโหมสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากที่โจ ไบเดน ได้พูดคุยกับ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์ (8 ตุลาคม 66) ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้นำอิสราเอลว่า จะส่งความช่วยเหลือถึงกองทัพอิสราเอลในเร็ววันนี้ และเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ จะไม่รับฟังข้ออ้างใดๆ สำหรับการก่อการร้าย และทุกประเทศทั่วโลกต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อต้านการใช้อำนาจนิยมที่โหดร้ายเช่นนี้ อีกทั้งจะยกระดับการติดต่อทางการทูตอย่างเข้มข้นระหว่าง 2 ชาติตลอด 24 ชั่วโมง 

‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘อิสราเอล’ ถือเป็นประเทศพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งงบประมาณช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอลหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี นับเป็นประเทศที่ได้รับงบประมาณจากสหรัฐอเมริกามากที่สุดประเทศหนึ่ง 

จึงไม่แปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะแสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายอิสราเอลอย่างชัดเจน และเตรียมความพร้อมที่จะแทรกแซง หากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ขยายวงความรุนแรงจนเกินควบคุม 

แต่ทว่า ด้านกลุ่ม ‘Kata'ib Sayyid al-Shuhada’ กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชีอะห์ ในอิรัก ออกมาเตือนว่า หากสหรัฐอเมริกาแทรกแซงสงครามในกาซาเมื่อใด ฐานทัพสหรัฐฯ ทุกแห่งในภูมิภาคแถบตะวันออกกลาง มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีโดยกองกำลังพันธมิตรของปาเลสไตน์ทันที เพราะปาเลสไตน์ ไม่ใช่ยูเครน ที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าแทรกแซงได้ตามอำเภอใจ เพราะความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์ และระบอบไซออนนิสต์ มีความละเอียดอ่อนสูงกว่ามาก 

และการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร และการเมืองตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา ก็อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก และเกรงว่าจะยิ่งทับถมปมความขัดแย้งที่ยาวนานมากกว่า 75 ปี ให้ฝังลึกในดินแดนแถบนี้ลงไปอีกนั่นเอง

‘สหรัฐฯ’ เร่งส่ง ‘เรือรบ-เครื่องบินรบ’ ครบชุดให้อิสราเอล หนุนตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, วอชิงตัน รายงานว่า ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ ‘เพนตากอน’ (Pentagon) ระบุว่า กระทรวงฯ กำลังส่งมอบเรือรบและเครื่องบินขับไล่ไปยังภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนอิสราเอล ท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น ระหว่างกองกำลังอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas)

ออสติน กล่าวในแถลงการณ์ว่า เขาได้สั่งการการเคลื่อนไหวของกองเรือบรรทุกเครื่องบินรบยูเอสเอส เจอร์รัลด์ อาร์. ฟอร์ด แคร์ริเออร์ สไตรก์ กรุ๊ป (USS Gerald R. Ford Carrier Strike Group) ซึ่งประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธ และเรือพิฆาตติดอาวุธปล่อยนำวิถี 4 ลำ ไปยังภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกแล้ว

ออสติน เผยว่า กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มฝูงเครื่องบินรบเอฟ-35 (F-35) เอฟ-15 (F-15) เอฟ-16 (F-16) และเอ-10 (A-10) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะจัดหาอุปกรณ์และทรัพยากรเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่กองกำลังป้องกันอิสราเอลอย่างรวดเร็ว โดยความช่วยเหลือด้านความมั่นคงรอบแรกของสหรัฐฯ ไปยังอิสราเอล เริ่มส่งมอบเมื่อวันอาทิตย์ (8 ต.ค.) และจะถูกส่งถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

สื่อท้องถิ่นอิสราเอล อ้างอิงเจ้าหน้าที่รัฐบาล รายงานว่า มติข้างต้นของกระทรวงฯ มีขึ้นขณะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ทวีความรุนแรง เมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) หลังจากที่กลุ่มฮามาสยิงขีปนาวุธหลายพันลูกไปยังอิสราเอล ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลอย่างน้อย 600 ราย เมื่อนับถึงวันอาทิตย์ (8 ต.ค.)

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ในกาซา เผยว่ากองทัพอิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศในกาซา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกลุ่มฮามาส ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 313 ราย

เมื่อวันอาทิตย์ (8 ต.ค.) คณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงของอิสราเอล ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม” โดยระบุในแถลงการณ์ว่าจะดำเนิน ‘ปฏิบัติการทางทหารที่มีนัยสำคัญ’ ในกาซาอีกไม่กี่วันข้างหน้า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top