Sunday, 5 May 2024
อเมริกา

ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธอัจฉริยะ เกราะป้องกันภัยหมื่นล้านของ ‘อิสราเอล’ ตรวจจับอันตรายด้วยเรดาร์ พร้อมหน่วยยิง Tamir คล่องตัว-แม่นยำสูง

‘Iron Dome’ เกราะป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอล… ทำงานอย่างไร?

ในท้องฟ้ายามค่ำคืนมองเห็นจรวดที่ยิงจาก Beit Lahiya ทางตอนเหนือของฉนวน Gaza ไปยังอิสราเอล เส้นแสงที่โค้งไปมาคือ ‘ระบบสกัดกั้น’ (Iron Dome)

ความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี ระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่ปกครองฉนวน Gaza ทำให้เกิดการเผชิญหน้าอันน่าตื่นตะลึง โดยฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ ยิงจรวดถล่มใส่อิสราเอลมากกว่า 5,000 ลูก ในช่วงไม่กี่วันผ่านมา แต่จรวดของฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ ยิงประมาณ 90% ถูกสกัดกั้นโดย ‘ระบบป้องกันขีปนาวุธ’ (Iron Dome) จากแถลงการณ์ของกองทัพอิสราเอล 

‘ระบบป้องกันขีปนาวุธ’ (Iron Dome) ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากจรวดและปืนใหญ่ ในระยะตั้งแต่ 4 กม. ถึง 70 กม. (2.5 ไมล์ ถึง 43 ไมล์) ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อขยายระยะไปถึง 250 กม.

ระบบนี้เกิดจากการที่อิสราเอลสู้รบกับ ‘ขบวนการฮิซบอลเลาะห์’ (Hezbollah) กลุ่มติดอาวุธในเลบานอนในปี 2006 มีการยิงจรวดหลายพันลูกเข้าสู่อิสราเอล ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง มีการอพยพผู้คนจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย หลังจากนั้น อิสราเอลจึงเริ่มการพัฒนาเกราะป้องกันจรวดขึ้น

‘Iron Dome’ ซึ่งสร้างขึ้นโดย ‘Rafael Advanced Defense Systems’ บริษัทอิสราเอล ร่วมกับ ‘Israel Aerospace Industries’ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคจากสหรัฐฯ เริ่มประจำการในปี 2011 Iron Dome ถือเป็นระบบป้องกันจรวดที่ทันสมัยที่สุดในโลก ใช้เรดาร์เพื่อตรวจจับ ประเมิน และสกัดกั้นเป้าหมายระยะสั้นที่หลากหลาย เช่น จรวด ปืนใหญ่ และปืนครก รวมถึงภัยคุกคามที่เข้ามาก่อนที่จะสร้างความเสียหาย เช่น จรวดที่ยิงจากฉนวน Gaza ระบบป้องกันขีปนาวุธ Iron Dome ใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอดจนถึงในทุกสภาพอากาศ รวมถึงเมฆต่ำ ฝน พายุฝุ่น และหมอก 

‘Iron Dome’ ใช้งบประมาณในการพัฒนาสูงมาก แต่ผู้ผลิตกล่าวว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้มีความสามารถในการแยกความแตกต่างระหว่าง จรวดที่มีแนวโน้มที่จะโจมตีพื้นที่ที่จะสร้างความเสียหาย และไม่สกัดกั้นจรวดที่จะตกในพื้นที่ที่ไม่สร้างความเสียหาย ขีปนาวุธจะถูกยิงเพื่อสกัดกั้นสิ่งใดก็ตามที่ถูกระบุความว่า ‘สร้างความเสียหายจนเป็นอันตราย’ เท่านั้น

Iron Dome มีส่วนประกอบหลัก 3 อย่าง :
1.) เรดาร์ตรวจจับและติดตาม : ระบบเรดาร์สร้างโดย Elta ของอิสราเอล และบริษัทในเครือของ Israel Aerospace Industries และ IDF

2.) การจัดการการรบและการควบคุมอาวุธ (BMC) : ศูนย์ควบคุมถูกสร้างขึ้นสำหรับ Rafael โดย mPrest Systems ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ของอิสราเอล

3. ) หน่วยยิงขีปนาวุธ : หน่วยยิงขีปนาวุธสกัดกั้น Tamir ซึ่งติดตั้งเซ็นเซอร์ไฟฟ้าออปติกและครีบบังคับเลี้ยวหลายอันเพื่อความคล่องตัวสูง ขีปนาวุธนี้สร้างโดย Rafael โดย EL/M-2084 เรดาร์ของระบบจะตรวจจับการปล่อยจรวดและติดตามวิถีของมัน BMC จะคำนวณจุดผลกระทบตามข้อมูลที่รายงาน และใช้ข้อมูลนี้เพื่อพิจารณาว่าเป้าหมายถือเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ที่กำหนดหรือไม่ เฉพาะเมื่อมีการระบุภัยคุกคามแล้ว ขีปนาวุธสกัดกั้นจะถูกยิงเพื่อทำลายจรวดที่เข้ามาก่อนที่จะถึงพื้นที่ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะชน

กว่าหนึ่งทศวรรษนับตั้งแต่ Iron Dome เข้าประจำการ ปัจจุบันอิสราเอลมีชุดยิงของ Iron Dome 10 ชุดที่ประจำการอยู่ทั่วประเทศ โดยแต่ละชุดยิงของ Iron Dome ประกอบด้วย 20 ท่อยิงขีปนาวุธ ซึ่งสามารถสกัดกั้นจรวดได้ราว 1 ต่อ 5 โดยมีความแม่นยำราว 96.5% ระบบ Iron Dome สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกมากและใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการติดตั้ง และขีปนาวุธสกัดกั้น Tamir มีความคล่องตัวสูง มีความยาว 3 เมตร (เกือบ 10 ฟุต) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว (15 ซม.) และมีน้ำหนัก 90 กิโลกรัม (198 ปอนด์) แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้งาน Iron Dome อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่จรวดของฮามาสแม้ว่าจะดูหยาบและไม่มีระบบนำทาง แต่จำนวนที่แท้จริงและต้นทุนที่ต่ำของจรวดเหล่านี้ก็เป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับ Iron Drome ด้วยจรวดของฮามาสอาจมีราคาเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์ แต่ราคาขีปนาวุธที่ใช้ในระบบ Iron Drome แต่ละลูกมีราคาประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น การสกัดกั้นจรวดที่เข้ามานับพันลูก อิสราเอลจึงมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทุ่มเงินกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ให้แก่อิสราเอล เพื่อสนับสนุนโครงการ Iron Dome มาแล้ว

เวอร์ชันกองทัพสหรัฐฯ ในปี 2019 กองทัพสหรัฐฯ ได้ประกาศความตั้งใจที่จะซื้อระบบ Iron Dome 2 ชุดยิง เพื่อเติมเต็มความต้องการความสามารถในการป้องกันจรวด ด้วยความสนใจในความสามารถเฉพาะตัวของ Iron Dome ของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ‘Raytheon’ จึงได้เปิดตัวระบบ SkyHunter โดยความร่วมมือกับ ‘Rafael’ ด้วยพื้นฐานจาก Iron Dome ทำให้ SkyHunter สามารถผลิตได้ในสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายความพร้อมใช้งานและขีดความสามารถสำหรับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ระบบเหล่านี้ป้องกันระดับพื้นฐาน โดย Raytheon ยังร่วมมือกับ Rafael ในระบบ David's Sling System ซึ่งป้องกันในระดับที่มีความก้าวหน้ากว่า

‘หนุ่มมะกัน’ ซ่า!! ขับรถพุ่งชนสถานกงสุลจีน ในซานฟรานซิสโก พร้อมขู่ฆ่าเจ้าหน้าที่จีน สุดท้ายถูกตำรวจยิงสกัดเหตุจนดับสลด

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 เกิดเหตุที่เกือบจะเป็นการก่อการร้ายอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ได้มีชายชาวอเมริกันคนหนึ่ง ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีดาน สีน้ำเงิน พุ่งเข้าไปในสำนักงานสถานกงสุลจีน ในนครซานฟรานซิสโก ของสหรัฐอเมริกา พร้อมตะโกนขู่ฆ่าเจ้าหน้าที่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนโกลาหลในทั้งสถานกงสุล แต่สุดท้ายไม่รอด คนร้ายถูกตำรวจสหรัฐฯ ยิงสกัด และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา

โดยยังไม่มีการเปิดเผยชื่อของคนร้ายรายนี้ ระบุเพียงว่าเป็นชายคนหนึ่ง ‘แคทริน วินเทอร์ส’ โฆษกสำนักงานตำรวจนครซานฟรานซิสโก ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า คนร้ายมีอาวุธเป็นมีด และธนูหน้าไม้เตรียมไว้ในรถ และได้ขับรถยนต์พุ่งเข้าชนประตูหน้าของสำนักงานสถานกงสุลจีน จนเข้ามาถึงในโถงล็อบบี้ เมื่อช่วงเวลาประมาณบ่าย 3 โมง ซึ่งในขณะนั้นมีผู้คนมารอคิวยื่นวีซ่าอยู่เป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้น คนร้ายลงจากรถพร้อมอาวุธมีด ตะโกนขู่ฆ่าเจ้าหน้าที่จีน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาถึง จึงตัดสินใจยิงสวน และพาตัวคนร้ายส่งโรงพยาบาล แต่สุดท้ายก็เสียชีวิตเมื่อเวลา 18.30 น. ในวันเดียวกัน

‘เซอร์กี โมลชานอฟ’ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นหนึ่งในพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ได้เล่าว่า เขากำลังรอคิวเพื่อยื่นวีซ่าจีน มองเวลาอยู่ที่ 15.05 น. ก็มีรถยนต์คันหนึ่งพุ่งชนเข้ามาห่างจากจุดที่เขายืนรออยู่เพียง 2 เมตร จากนั้นคนร้ายก็ลงมาจากรถ และตะโกนหาเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่เขาไม่เห็นคนร้ายถืออาวุธ แต่เห็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถือมีดในมือ ตอนนั้นทุกคนกลัวว่าคนร้ายจะมีปืน จึงรีบหลบหนีออกจากสำนักงานกงสุล ก่อนที่ตำรวจจะเข้ามาและมีเสียงปืนดังภายในอาคาร 2 นัด

สื่อท้องถิ่นของซานฟรานซิสโก รายงานว่า มีตำรวจอย่างน้อย 11 นาย เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พร้อมหน่วยกู้ระเบิด และสุนัขตำรวจ เพราะเกรงว่าจะมีก่อวินาศกรรมคาร์บอมบ์ในสถานกงสุล แต่ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจซานฟรานซิสโก ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลน้อยมาก เพราะเป็นคดีที่มีความซับซ้อน และอ่อนไหวสูง

ด้านกงสุลจีนได้ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุโจมตีสถานที่ราชการจีน อีกทั้งยังข่มขู่ หมายเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน บุกรุก และทำลายทรัพย์สินเสียหาย

‘หวัง เหวินปิน’ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ เร่งสอบสวนคดีการโจมตีสถานกงสุลจีนโดยเร็วที่สุด อีกทั้งขอให้เพิ่มมาตรการป้องกัน รักษาความปลอดภัยแก่สถานที่ราชการ และบุคลากรของรัฐบาลจีนในสหรัฐฯ

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้สถานกงสุลจีนในนครซานฟรานซิสโก ต้องปิดให้บริการชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งสถานที่ราชการจีนในสหรัฐฯ เริ่มกลายเป็นเป้าหมายในการก่อกวน และโจมตีหลายครั้ง ตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ระบาด Covid-19 และการกล่าวโทษของรัฐบาลสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น ได้สร้างกระแสความเกลียดชังชาวจีนในสังคมคนอเมริกัน ซึ่งสถานกงสุลแห่งนี้ มักมีกลุ่มคนมาเขียนข้อความแสดงความเกลียดชังบนกำแพงอยู่เป็นประจำ และเคยมีกลุ่มผู้ประท้วงกว่า 100 รายมาชุมนุมประท้วงนโยบายปลอด Covid-19 ของรัฐบาลปักกิ่ง

ทั้งนี้ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การโจมตีสถานกงสุลจีนครั้งนี้ อาจเกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ที่ผู้นำสหรัฐฯ อย่าง ‘โจ ไบเดน’ จะมาพบกับ ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำของจีน แบบตัวต่อตัว ในงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ‘เอเปก’ ที่จะจัดขึ้นในซานฟรานซิสโก ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกาคม ที่จะถึงนี้ แต่ทว่า กำหนดการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาของผู้นำจีน ก็ยังคงไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลปักกิ่ง และอาจไม่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุครั้งนี้แต่อย่างใด

‘มะกัน’ จ่อส่งระบบ THAAD-ขีปนาวุธแพทริออตเพิ่มในตะวันออกกลาง เพื่อตอบโต้ท่าที ‘อิหร่าน’ หลังสถานการณ์เริ่มทวีความตึงเครียดต่อเนื่อง

(23 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเตรียมที่จะส่งระบบต่อต้านมิสไซล์เพดานบินสูง (THAAD) และระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตเพิ่มเติมไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง ตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีใส่กองทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางในช่วงที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้มีการส่งเรือบรรทุกอากาศยาน 2 ลำพร้อมเรือสนับสนุน และทหารเรือราว 2,000 คนไปในภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่อิหร่านให้การหนุนหลัง ขณะที่ความตึงเครียดในภูมิภาคดังกล่าวได้พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส

นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์ว่า “หลังมีการหารือกันอย่างละเอียดกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำของสหรัฐฯ ถึงท่าทีที่ยั่วยุของอิหร่านในช่วงที่ผ่านมา และกองกำลังตัวแทนของอิหร่านทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง วันนี้ผมได้กำหนดขั้นตอนเพิ่มเติมหลายขั้นตอนเพื่อเสริมท่าทีของกระทรวงกลาโหมในภูมิภาคดังกล่าว”

นอกจากระบบ THAAD และขีปนาวุธแพทริออตแล้ว อาจมีการส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มเติมอีกด้วย โดยไม่ได้มีการระบุตัวเลขจำนวนทหารที่แน่ชัด

“ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนความพยายามในการป้องปรามในภูมิภาค เพิ่มการป้องกันสำหรับกองกำลังของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และช่วยเหลือการป้องกันตนเองของอิสราเอล” นายออสตินกล่าว

โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้น 2 ปีหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ถอนระบบป้องกันภัยทางอากาศออกจากภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยให้เหตุผลว่า ความตึงเครียดกับอิหร่านได้คลี่คลายลงแล้ว

อย่างไรก็ดี การโจมตีใส่กองทัพสหรัฐฯ ในประเทศอิรักและซีเรียได้เพิ่มสูงขึ้นหลังสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรือรบของสหรัฐฯ ได้ยิงโดรนหลายลำและขีปนาวุธร่อน 4 ลูกที่ยิงมาจากที่ตั้งของกลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมน

‘มะกัน’ ผวา!! คนร้ายใช้ปืนไรเฟิลบุกกราดยิงในบาร์-วอลมาร์ต ที่รัฐเมน ดับสลด 22 ศพ บาดเจ็บครึ่งร้อย ตร.เร่งล่าตัว-สั่งร้านค้าปิดให้บริการชั่วคราว

(26 ต.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเหตุกราดยิงในเมืองลูอิสตัน รัฐเมน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในคืนวันพุธ ที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ครอบคลุมสถานที่ 3 แห่งซึ่งเป็นบาร์ ร้านอาหาร และวอลมาร์ต สโตร์ โดยเจ้าหน้าที่ได้เผยแพร่ภาพผู้ต้องสงสัย เป็นชายคนหนึ่งพร้อมอาวุธปืนไรเฟิล

ทั้งนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 22 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากกว่า 50-60 ราย และเจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนประชาชนให้อยู่ในสถานที่พักอาศัย และให้ร้านค้าผู้ประกอบการหยุดให้บริการ

โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจลูอิสตันยังคงเร่งไล่ล่าผู้ก่อเหตุ พร้อมเผยภาพผู้ต้องสงสัย และยานพาหนะที่คาดว่าใช้ในการหลบหนี

สำหรับ เมืองลูอิสตัน มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 38,000 คน ใช้เวลาขับรถ 45 นาทีไปทางเหนือของพอร์ตแลนด์ รัฐเมน

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ โศกนาฏกรรมแห่งสงครามเวียดนาม จากน้ำมือของ ‘ทหารอเมริกัน’ และการปกปิดความผิดโดยกองทัพสหรัฐฯ

‘Mỹ Lai’ เหตุการณ์สังหารหมู่โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ

มีภาพยนตร์ Hollywood มากมายที่คอยตอกย้ำให้คนชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นอดีตศัตรู ต้องตกเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอด ไม่ว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามต่าง ๆ การก่อการร้าย ฯลฯ โดยผู้ร้ายก็มักจะเป็นต่างชาติ เช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น, โซเวียต, อาหรับ, ตาลีบัน ฯลฯ แม้กระทั่งสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในขณะนี้ สื่อตะวันตกต่างก็เสนอข่าวเพียงด้านเดียว กล่าวหาให้ร้ายปาเลสไตน์เป็นผู้ร้ายแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้ง ๆ ที่ชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ถูกกระทำโดยกองทัพอิสราเอลแท้ ๆ

เรื่องของการสังหารหมู่ที่ ‘Mỹ Lai’ เป็นการสังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ที่ไม่มีอาวุธมากถึง 504 คน โดยทหารสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1968 ในระหว่างสงครามเวียดนาม Mỹ Lai เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบล Son My ตั้งอยู่ในจังหวัด Quang Ngai ห่างจากตัวจังหวัด Quang Ngai ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 11 กม. พื้นที่นี้ได้รับการขนานนามโดยทหารสหรัฐฯ ว่า ‘Pinkville’ เนื่องจากมีสีแดงที่ใช้บ่งบอกถึงพื้นที่ Mỹ Lai ที่มีประชากรหนาแน่นบนแผนที่ทางทหาร

เมื่อ ‘กองร้อย Charlie’ แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลทหารราบที่ 11 มาถึงเวียดนามในเดือนธันวาคม 1967 พื้นที่ ‘Pinkville’ ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘แหล่งซ่องสุม’ ของเวียดกงที่ใช้ในการหลบซ่อน ในเดือนมกราคม 1968 กองร้อย Charlie เป็น 1 ใน 3 กองร้อยที่ได้รับมอบหมายให้ทำลายกองพันที่ 48 ซึ่งเป็นหน่วยรบของเวียดกงที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ ซึ่งหน่วยดังกล่าวปฏิบัติการในจังหวัด Quang Ngai ตลอดเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม ทหารสังกัดกองร้อย Charlie ได้รับบาดเจ็บจากทุ่นระเบิดและกับดักไปหลายสิบคน ทั้งยังประสบความล้มเหลวในการสู้รบกับกองพันที่ 48 หลังจากความพ่ายแพ้ของการโจมตีใน ‘ปฏิบัติการตรุษญวน’ (Tet) เวียดกงได้กลับมาใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร และพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับกองกำลังสหรัฐฯ

‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie

หน่วยข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลว่า กองพันเวียดกงที่ 48 ได้เข้าไปซ่อนตัวในพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai (แต่ในความเป็นจริงแล้วกองพันเวียดกงที่ 48 ได้ฝังตัวในที่ราบสูง Quang Ngai ทางตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างออกไปมากกว่า 65 กม.)

ในการบรรยายสรุปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ‘ร้อยเอก Ernest Medina’ ผู้บังคับกองร้อย Charlie ได้บอกกับทหารของเขาว่า ในที่สุดพวกเขาก็จะได้รับโอกาสสู้รบกับศัตรูที่หลบหนีพวกเขามานานกว่าหนึ่งเดือน ด้วยเชื่อว่า พลเรือนชาวเวียดนามใต้ได้อพยพออกจากพื้นที่ของหมู่บ้าน Mỹ Lai ไปยังเขตเมือง Quang Ngai หมดแล้ว เขาจึงสั่งว่า “ใครก็ตามที่ยังอยู่ใน Mỹ Lai จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงสมาชิกหรือแนวร่วมของเวียดกง ภายใต้กฎการสู้รบเหล่านี้ ทหารมีอิสระที่จะยิงใครหรืออะไรก็ได้”

นอกจากนี้ กองทหารของกองร้อย Charlie ยังได้รับคำสั่งให้ทำลายพืชผลและสิ่งปลูกสร้าง และฆ่าปศุสัตว์ทั้งหมดด้วย

‘ร้อยโท William Calley’ ผู้บังคับหมวดที่ 1 กองร้อย Charlie

ก่อนเวลา 07.30 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 1968 ตำบล Son My ถูกปืนใหญ่ของสหรัฐฯ ถล่มอย่างหนัก เพื่อเคลียร์พื้นที่ลงจอดสำหรับเฮลิคอปเตอร์ของกองร้อย Charlie แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงกลายเป็นการบังคับพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ทยอยออกจากพื้นที่ให้กลับไปที่หมู่บ้าน Mỹ Lai เพื่อหาที่กำบัง

ต่อมา หมวดที่ 1 ของกองร้อย Charlie นำโดย ‘ร้อยโท William Calley’ ได้บุกเข้าไปทางตะวันตกของหมู่บ้านขนาดเล็กที่รู้จักกันในชื่อ ‘Xom Lang’ แต่ถูกทำเครื่องหมายระบุว่า เป็นหมู่บ้าน Mỹ Lai บนแผนที่ทางทหารของสหรัฐฯ เวลา 7.50 น. ส่วนที่เหลือของกองร้อย Charlie ลงจากเฮลิคอปเตอร์แล้ว และร้อยโท Calley นำทหารหมวดที่ 1 ไปทางทิศตะวันออกผ่านหมู่บ้าน Mỹ Lai ไป

แม้ว่าพวกเขาจะไม่พบการต่อต้านเลย แต่ทหารหมวดที่ 1 ก็เริ่มสังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ตามอำเภอใจ ในชั่วโมงถัดมา กลุ่มของผู้หญิง เด็ก และชายสูงอายุก็ถูกล้อมและยิงทิ้งในระยะประชิด นอกจากนั้นแล้วทหารสหรัฐฯ ยังทำการข่มขืนหญิงสาวอีกหลายคน

หมวดที่ 2 ของกองร้อย Charlie เคลื่อนพลขึ้นเหนือจากเขตลงพื้น สังหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปอีกหลายสิบคน ในขณะที่หมวดที่ 3 ที่ตามมาก็ได้จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่เหลืออยู่ของหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ และผู้รอดชีวิตที่เหลือถูกกราดยิง เวลา 09.00 น. ร้อยโท Calley สั่งประหารพลเรือนชาวเวียดนามใต้มากถึง 150 คน โดยต้อนคนเหล่านั้นลงไปในคูน้ำ

ทหารสังกัดกองร้อย Charlie จัดการเผาทำลายบ้านเรือนที่ Mỹ Lai

‘จ่า Ron Haeberle’ ช่างภาพของกองทัพบกสหรัฐฯ สังกัดกองร้อย Charlie บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น โดยเขาใช้กล้องถ่ายภาพขาวดำสำหรับบันทึกอย่างเป็นทางการของกองทัพบก แต่ถ่ายเป็นสีด้วยกล้องส่วนตัวของเขา ภาพขาวดำหลายภาพเป็นภาพทหารขณะที่กำลังซักถามนักโทษ ค้นทรัพย์สิน และเผากระท่อม แม้ว่าการทำลายทรัพย์สินจะละเมิดคำสั่งบัญชาการของกองทัพสหรัฐฯ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของภารกิจค้นหาและทำลาย และไม่ได้เป็นหลักฐานโดยตรงในกรณีอาชญากรรมสงคราม

ภาพถ่ายสีส่วนตัวของ Haeberle ซึ่งเขาไม่ได้ส่งต่อให้กองทัพบก ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘Cleveland Plain Dealer and Life’ ในเวลาต่อมา ภาพหนึ่งแสดงให้เห็นร่องรอยที่เกลื่อนไปด้วยศพผู้หญิง เด็ก และทารกที่เสียชีวิต และอีกภาพหนึ่งเป็นภาพของผู้หญิงและเด็กที่กำลังหวาดกลัวกลุ่มหนึ่ง ในช่วงเวลาก่อนที่พวกเขาจะถูกยิง ภาพถ่ายเหล่านี้กระตุ้นการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม และจะกลายเป็นชุดภาพเกี่ยวกับสงครามเวียดนามที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด

‘จ่า Hugh Thompson’ นักบินเฮลิคอปเตอร์ผู้ยุติการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

มีรายงานว่าการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai สิ้นสุดลงหลังจากที่ ‘จ่า Hugh Thompson’ ซึ่งเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในภารกิจลาดตระเวน เขาได้นำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดระหว่างทหารกับชาวบ้านที่กำลังล่าถอย และขู่ว่าจะเปิดฉากยิงทหารกองร้อย Charlie หากพวกเขายังคงโจมตีพลเรือนชาวเวียดนามใต้ต่อไป

เขาบอกว่า “เราบินไปมาเรื่อย ๆ… และในเวลาไม่นานนักเราก็เริ่มสังเกตเห็นศพจำนวนมากขึ้น ทุกที่ที่เรามอง เราจะเห็นศพเหล่านี้เป็นเด็กทารก เด็กอายุ 2-3 ขวบ และ 4-5 ขวบ ผู้หญิง ผู้ชายที่แก่มาก ไม่ใช่คนในวัยฉกรรจ์แต่อย่างใด” Thompson กล่าวในเวทีการสัมมนา ‘เหตุการณ์ Mỹ Lai’ ที่มหาวิทยาลัยทูเลน เมื่อปี 1994

Thompson และลูกเรือของเขานำผู้รอดชีวิตหลายสิบคนบินไปรับการรักษาพยาบาล ในปี 1998 Thompson และลูกเรืออีก 2 คนได้รับเหรียญรางวัลทางทหาร ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลขั้นสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ สำหรับความกล้าหาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบโดยตรงกับศัตรู

‘พันตรี Colin Powell’ ในเวียดนามใต้

เมื่อการสังหารหมู่ Mỹ Lai สิ้นสุดลง มีผู้เสียชีวิต 504 ราย ในบรรดาเหยื่อเป็นผู้หญิง 182 คน ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 17 คน และเด็ก 173 คน รวมถึงทารก 56 คน เมื่อทราบข่าวการสังหารหมู่ซึ่งจะทำให้เกิดเรื่องอื้อฉาว เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่บังคับบัญชากองร้อย Charlie และกองพลที่ 11 จึงพยายามมองข้ามเหตุนองเลือดนี้ทันที

อย่างไรก็ตาม กองทัพบกสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการภายใน หนึ่งในผู้สืบสวนภายในของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับการสังหารหมู่ Mỹ Lai คือ ‘พันตรี Colin Powell’ ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานคณะเสนาธิการร่วม และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศภายใต้ ‘ประธานาธิบดี George W. Bush’

ตามรายงานของ Powell ระบุว่า “แม้ว่าอาจมีบางกรณีของการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อพลเรือนและนักโทษเชลยศึก แต่สิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนถึงทัศนคติทั่วไปของทหารทั้งกองพล”

สำหรับข้อกล่าวหาเรื่องความโหดร้ายที่กระทำโดยทหารอเมริกัน Powell กล่าวว่า “ในการหักล้างโดยตรงต่อการแสดงภาพนี้คือความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกองอเมริกากับชาวเวียดนามนั้นดีเยี่ยม” คำกล่าวนี้ ทำให้นักวิจารณ์หลายคนเยาะเย้ยว่าเป็น ‘การล้างบาป’ และกล่าวหาว่า Powell เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมที่ช่วยกันปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

‘Ronald Ridenhour’ ผู้เปิดเผยเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

การปกปิดการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งทหารในกองพลที่ 11 ซึ่งเคยได้ทราบรายงานการสังหารหมู่ ซึ่งเขาไม่ได้เข้าร่วม ได้เริ่มรณรงค์เพื่อให้เหตุการณ์ต่าง ๆ กระจ่างขึ้น หลังจากเขียนจดหมายถึง ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศ ประธานคณะเสนาธิการร่วม และสมาชิกรัฐสภาหลายคน โดยไม่มีการตอบกลับ ในที่สุด Ridenhour ก็ให้สัมภาษณ์กับ Seymour Hersh นักข่าวสืบสวนซึ่งรายงานเรื่องนี้ในเดือนพฤศจิกายน 1969 ท่ามกลางความโกลาหลระหว่างประเทศและการประท้วงสงครามเวียดนาม

ซึ่งมีการติดตามการเปิดเผยของ Ridenhour กองทัพบกสหรัฐฯ สั่งให้มีการสอบสวนเป็นพิเศษเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai และความพยายามปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าวในภายหลัง

การสอบสวนนำโดย ‘พลโท William Peers’ ซึ่งมีการเผยแพร่รายงานในเดือนมีนาคม 1970 ได้เสนอให้ตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่ทหารไม่น้อยกว่า 28 นายที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดการสังหารหมู่ การพิจารณาคดี Mỹ Lai เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1970 ต่อมา กองทัพได้ตั้งข้อหาทหารเพียง 14 คน รวมทั้งร้อยโท William Calley, ร้อยเอก Ernest Medina และพันเอก Oran Henderson ในข้อหาก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ Mỹ Lai

‘พลตรี Julian Ewell’ เจ้าของฉายา “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ทุกคนพ้นผิดยกเว้นร้อยโท Calley ซึ่งถูกตัดสินว่า ‘มีความผิดในข้อหาฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าจากการสั่งยิง’ แม้ว่าเขาจะโต้แย้งว่าเขาเพียงปฏิบัติตามคำสั่งของร้อยเอก Medina ผู้บังคับบัญชาก็ตาม ในเดือนมีนาคม 1971 ร้อยโท Calley ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ในฐานะผู้สั่งการในการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai

หลายคนมองว่า ร้อยโท Calley เป็นแพะรับบาป และเขาอุทธรณ์ลดโทษเหลือ 20 ปี และต่อมาได้ลดโทษเหลือเพียง 10 ปี และเขาถูกปล่อยตัวในปี 1974 หลังจากถูกจำคุกเพียง 3 ปีเท่านั้น

การสืบสวนในเวลาต่อมาเผยให้เห็นว่า การสังหารที่ Mỹ Lai ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์เดียว ความโหดร้ายอื่น ๆ เช่น การสังหารหมู่พลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่ Mỹ Khe ที่คล้ายกันนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก ปฏิบัติการทางทหารฉาวโฉ่ที่เรียกว่า ‘Speedy Express’ คร่าชีวิตพลเรือนชาวเวียดนามใต้ไปหลายพันคน จนกระทั่งพลเรือนชาวเวียดนามใต้ที่อาศัยอยู่บริเวนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้ให้ฉายา ‘พลตรี Julian Ewell’ ผู้บัญชาการในปฏิบัติการครั้งนั้นว่า “คนขายเนื้อแห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง”

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 การสนับสนุนการทำสงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามลดน้อยลง เนื่องจากฝ่ายบริหารของ ‘ประธานาธิบดี Richard M. Nixon’ ที่ได้ดำเนินนโยบาย ‘การทำให้เป็นเวียดนาม’ (Vietnamization) ซึ่งรวมถึงการถอนกำลังทหารและโอนการควบคุมการปฏิบัติการภาคพื้นดินไปยังกองทัพเวียดนามใต้ ในบรรดากองทหารอเมริกันที่ยังอยู่ในเวียดนาม ล้วนแล้วแต่มีขวัญกำลังใจต่ำ มีความโกรธแค้นและความคับข้องใจสูง มีการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์เพิ่มในหมู่ทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ และรายงานอย่างเป็นทางการในปี 1971 ประมาณการว่าทหารสหรัฐฯ 1 ใน 3 หรือมากกว่านั้นติดยาเสพติด

การเปิดเผยเรื่องราวของการสังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ทำให้ขวัญกำลังใจของทหารอเมริกันตกต่ำลดลงไปอีก เมื่อบรรดาทหารอเมริกันในเวียดนามใต้ต่างพากันสงสัยว่า ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาปกปิดความโหดร้ายอื่นใดอีก

ในสหรัฐฯ ความโหดร้ายของการสังหารหมู่ Mỹ Lai และความพยายามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งทำให้ความรู้สึกต่อต้านสงครามรุนแรงขึ้น และเพิ่มความขมขื่นต่อการปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนาม ต่างจากเหตุการณ์สงครามอื่น ๆ ที่ทั้งศัตรูและอดีตศัตรูของสหรัฐฯ มักกลายเป็นผู้ร้ายในภาพยนตร์ Hollywood ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วน Mỹ Lai เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวบ้านเวียดนามใต้ 504 ศพ โดยทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ ไม่เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Hollywood เลย จะมีก็เพียงแต่ถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีเท่านั้น

และในการแสดง The Lieutenant เป็นร็อกโอเปราที่มีทั้งหนังสือ ดนตรี และเนื้อร้องโดย Gene Curty, Nitra Scharfman และ Chuck Strand ได้เสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นศาลทหารของร้อยโท William Calley ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยแสดงบนเวทีละครบรอดเวย์ ในปี 1975 และ ‘Mỹ Lai Four’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์นั้นถูกสร้างโดยผู้สร้างและทีมงานชาวอิตาลี ไม่ใช่ผู้สร้างและทีมงานชาวอเมริกันจาก Hollywood แต่อย่างใด

มีการสร้างอนุสรณ์สถานเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ Mỹ Lai ณ ตำบล Sơn Mỹ และสวนสันติภาพ Mỹ Lai ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์สังหารหมู่ เมื่อ 16 มีนาคม 1998 สวนสันติภาพนี้อยู่ห่างจากสถานที่เกิดเหตุราว 2 กม. (1 ไมล์)

‘ไบเดน’ กร้าว!! ปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ถล่มซีเรีย ‘จำเป็น-สมน้ำสมเนื้อ’ เพื่อตอบโต้หลังกำลังพลสหรัฐฯ ถูกโจมตีด้วยโดรน-จรวดหลายครั้ง

(29 ต.ค. 66) ‘ประธานาธิบดีโจ ไบเดน’ ยืนยันว่า ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ถล่มภาคตะวันออกของซีเรียในสัปดาห์นี้มีความชอบธรรมทางกฎหมาย ระบุปฏิบัติการต่างๆ เหล่านั้นเป็นการตอบโต้ที่เหมาะสมต่อเหตุใช้โดรนและจรวดเล่นงานกำลังพลสหรัฐฯ รอบแล้วรอบเล่าในภูมิภาคแถบนี้

ในหนังสือที่ส่งถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) ที่ผ่านมา ทางทำเนียบขาวระบุว่า ปฏิบัติการทางอากาศเป็นไปตามกรอบอำนาจทำสงครามของประธานาธิบดี และมีขึ้นตามหลังเหตุโจมตีกำลังพลและที่ตั้งทางทหารของสหรัฐฯ ในซีเรียและอิรักซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดเดือนที่ผ่านมา

“ตามคำสั่งของผม ในค่ำคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2023 กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีเป้าหมาย เล่นงานที่ตั้งต่างๆ ทางภาคตะวันออกของซีเรีย” ไบเดนกล่าว พร้อมระบุว่า โกดังทั้งหลายที่ถูกโจมตีนี้ถูกใช้งานโดยกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน และกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

“การโจมตีมีเจตนาเพื่อตั้งมั่นป้องกันตนเองและดำเนินการในแนวทางที่จำกัดความเสี่ยงของสถานการณ์ลุกลามบานปลาย และหลีกเลี่ยงไม่ให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต” หนังสือระบุ พร้อมบอกว่าปฏิบัติการนี้ “เป็นสิ่งจำเป็นและสมน้ำสมเนื้อ”

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวครั้งแรกเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (26 ต.ค.) โดยบอกว่ามันเป็นภารกิจป้องกันตนเองและมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวเพื่อปกป้องและคุ้มกันบุคลากรของสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรีย

ทั้งนี้ ทาง ‘พลจัตวา แพท ไรเดอร์’ แห่งกองทัพอากาศ บอกในเวลาต่อมา ว่า เครื่องบินรบของอเมริกาโจมตีโกดังเก็บอาวุธและกระสุน ใกล้เมืองอัล-บูคามาล ตามแนวชายแดน พร้อมอ้างว่าโกดังทั้ง 2 ถูกทำลายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘จอห์น เคอร์บี’ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เน้นว่า พวกเจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ระหว่างประเมินปฏฺิบัติการ และเตือนว่ากองกำลังอเมริกาจะไม่ลังเลที่จะใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมในการป้องกันตนเอง

ฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ ในอิรักและซีเรียถูกโจมตีมาแล้วอย่างน้อย 16 รอบ นับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นมา จากข้อมูลของกองบัญชาการสหรัฐฯ มีทหารหลายนายได้รับบาดเจ็บจากเหตุโจมตีเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีพนักงานสัญญาจ้างที่เป็นพลเรือนรายหนึ่งเสียชีวิต สืบเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว ระหว่างที่ถูกโจมตี

ปัจจุบันมีทหารสหรัฐฯ ราว 1,000 นาย ประจำการอยู่ในซีเรีย ยึดครองบ่อน้ำมันสำคัญๆ และทางข้ามแม่น้ำยูเฟรทีสหลายแห่ง ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มติดอาวุธที่นำโดยพวกเคิร์ด แม้ว่ารัฐบาลในดามัสกัส ส่งเสียงประท้วงซ้ำๆ ว่า การปรากฏตัวของทหารสหรัฐฯ ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

เหตุโจมตีด้วยจรวดและโดรนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์เป็นไปอย่างดุเดือด เข่นฆ่าชีวิตในทั้ง 2 ฟากฝั่งแล้วมากกว่า 9,000 ราย

วอชิงตันตอบสนองสถานการณ์ความตึงเครียดที่พุ่งสูง ด้วยการประจำการทหารอย่างมีนัยสำคัญ ในนั้นรวมถึงกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี 2 กอง ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่นเดียวกับเรือยกพลขึ้นบกจู่โจม ที่บรรทุกกำลังพล 2,000 นาย ใกล้กับชายฝั่งอิสราเอล

นอกจากนี้ ยังมีทหารสหรัฐฯ อื่นๆ อีก 900 นาย ถูกส่งเข้าไปประจำการในจุดต่างๆ ที่ไม่มีการเปิดเผยในตะวันออกกลาง เจ้าหน้าที่อเมริกาอ้างว่าความเคลื่อนไหวนี้มีเจตนาเสริมการป้องกันกองกำลังของตนเองในภูมิภาค และป้องปรามไม่ให้ตัวละครภายนอกเข้าเกี่ยวพันในสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส

‘อดีตบิ๊ก TSMC’ ชี้!! อุตสาหกรรมชิปจีน กำลังรุดหน้าแบบก้าวกระโดด แนะ ‘สหรัฐฯ’ รักษามาตรฐานตัวเองให้ดี อย่ามัวจ้องสกัดความก้าวหน้าของจีน

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 ผู้เชี่ยวชาญเผย บริษัท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเทอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน และ หัวเว่ย (Huawei) ยังคงรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่องในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิปชั้นสูง แม้จะถูกสหรัฐฯ กีดกันทุกวิถีทาง และคาดว่าเครื่องจักรลิโธกราฟีของ ASML ที่ทาง SMIC มีใช้งานอยู่แล้วจะสามารถช่วยให้ผู้ผลิตจีนรายนี้พัฒนาชิประดับ 5 นาโนเมตรได้สำเร็จในที่สุด

‘เบิร์น เจ. ลิน’ (Burn J. Lin) วิศวกรไฟฟ้าซึ่งเป็นอดีตรองประธานบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ให้สัมภาษณ์กับสื่อบลูมเบิร์ก โดยระบุว่า “เป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐฯ จะปิดกั้นอย่างสมบูรณ์แบบไม่ให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีชิปของตัวเอง”

แม้สหรัฐฯ จะทั้งคว่ำบาตรและควบคุมการส่งออกเพื่อสกัดการพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีน แต่มันกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้ SMIC สำแดงความยืดหยุ่น (resilience) และความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น (ingenuity) ด้วยการพัฒนาชิป 7 นาโนเมตรรุ่นที่ 2 ออกมา และยังมีกำลังผลิตมากพอที่จะทำให้หัวเว่ยนำไปใช้เป็นขุมพลังให้กับสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ได้ถึง 70 ล้านเครื่อง

ว่ากันว่า SMIC ใช้เครื่องจักรลิโธกราฟีของ ASML รุ่น Twinscan NXT:2000i ซึ่งมีเทคโนโลยี deep ultraviolet (DUV) และสามารถยิงชิปขนาด 7 นาโนเมตร และ 5 นาโนเมตรได้ ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เพิ่งจะประกาศห้ามส่งออกเครื่องจักรดังกล่าวให้กับจีนเมื่อต้นปีนี้เอง

ทั้งนี้ ความละเอียดของเครื่อง Twinscan NXT:2000i นั้นอยู่ที่ระดับ ≤ 38nm ซึ่งดีพอที่จะใช้พิมพ์ลายบนแผ่นเวเฟอร์แบบ single-patterning สำหรับการผลิตชิป 7 นาโนเมตรในปริมาณมากๆ ได้ แต่หากจะก้าวไปถึงกระบวนการผลิตระดับ 5 นาโนเมตรนั้นจำเป็นต้องใช้ความละเอียดที่สูงขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นผู้ผลิตชิปสามารถใช้กลวิธีที่เรียกว่า ‘การถ่ายแบบลายวงจรหลายครั้ง’ หรือ ‘multi-patterning’ เพื่อให้ได้ลวดลายจุลภาคระดับนาโนเมตรที่แม่นยำและละเอียดขึ้น แต่เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนทำให้ไม่เอื้อต่อการผลิตในปริมาณมากๆ

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ทำให้ SMIC ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้วิธี ‘multi-patterning’ เพื่อให้ได้ความละเอียดที่สูงขึ้น และก็ดูเหมือนว่ากำลังผลิตจะอยู่ในระดับสูงพอที่หัวเว่ยรับได้ด้วย ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่น่าคิดว่า มาตรการกีดกันของสหรัฐฯ ต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนนั้น ‘เวิร์ก’ จริงหรือไม่?

“สิ่งที่สหรัฐฯ ควรจะทำก็คือ พยายามรักษาความเป็นผู้นำในด้านการออกแบบชิป มากกว่าพยายามสกัดกั้นความก้าวหน้าของจีน ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะจีนใช้ยุทธศาสตร์หลอมรวมทั้งประเทศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมชิปของตัวเอง และ (สิ่งที่สหรัฐฯ ทำ) ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกด้วย” ลิน ระบุ

มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ยังดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับ SMIC โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการที่วอชิงตันออกข้อจำกัดต่างๆ จนทำให้ TSMC ไม่สามารถทำธุรกรรมกับองค์กรจีนบางแห่ง ส่งผลให้คำสั่งซื้อจำนวนมากตกไปอยู่ในมือของ SMIC แทน และเอื้อให้บริษัทแห่งนี้สามารถพัฒนาเทคนิคการผลิตและศักยภาพทางเทคโนโลยีมากขึ้นตามไปด้วย

‘สหรัฐฯ’ ผุดแผนสร้างระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ พลังทำลายล้างสูงกว่าเดิม 24 เท่า!! เติมเต็มแสนยานุภาพให้กองทัพ เสริมแกร่งหลักประกันความสงบสุขของโลก

(1 พ.ย. 66) ‘กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา’ ชงแผนพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา รุนแรงกว่ารุ่นที่เคยใช้ถล่มญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 24 เท่า รอเพียงไฟเขียวจากสภาคองเกรซเท่านั้น ก็จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ทันที

โดยระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯ นี้ มีชื่อว่า ‘B61-13 Gravity Bomb’ ที่มีน้ำหนักมากถึง 360 กิโลตัน มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ ‘Little Boy’ ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ที่มีน้ำหนัก 15 กิโลตัน หรือ ‘Fat Man’ ที่ทิ้งลงในเมืองนางาซากิหลังจากนั้นอีก 3 วัน ก็มีน้ำหนักเพียง 24 กิโลตัน แต่ถึงกระนั้น แรงของระเบิดนิวเคลียร์ทั้ง 2 ลูกในครั้งนั้นก็ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และทำให้มีพลเมืองชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตมากกว่า 2 แสนคน

ส่วนงบประมาณในการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล โดยคาดว่าจะผลิตในปริมาณจำกัดไม่เกิน 50 ลูก และจะนำมาใช้แทนหัวรบนิวเคลียร์รุ่นเก่า ‘B61-7’ ที่ผลิตตั้งแต่ช่วงปี 1980 เพื่อให้โควตาคลังอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ยังคงเท่าเดิม

การใช้งานระเบิด B61-13 Gravity Bomb ก็เป็นไปตามชื่อของมัน คือจะต้องบรรจุระเบิดในเครื่องบินขับไล่พาไปสู่เป้าหมาย และทิ้งลงกลางเป้าโดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลก แทนการบรรจุลงในขีปนาวุธแล้วยิงออกสู่เป้าหมายในการโจมตี

‘จอห์น พลัมบ์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านนโยบายอวกาศ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การพัฒนาศักยภาพด้านอาวุธของสหรัฐฯ ในวันนี้ เป็นไปตามสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป จากภัยคุกคามจากศัตรูในรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โดยสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ในการประเมินศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในการยับยั้งภัยคุกคาม และตอบสนองต่อการโจมตีทางยุทธศาสตร์เมื่อจำเป็น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรของเรา ซึ่งระเบิดรุ่นใหม่จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้แก่ฝ่ายทำเนียบขาว ในการโจมตีเป้าหมายทางทหารในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นได้

แต่เมื่อมีผู้สนับสนุน ก็ย่อมมีผู้เห็นต่าง โดย ‘เมลิสซา พาร์ก’ ผู้อำนวยการบริหารของการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์รุ่นใหม่ของเพนตากอน ว่าเป็น ‘การเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารอย่างไร้ความรับผิดชอบ’ ที่จะนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่

ทางองค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการพัฒนา Gravity Bomb โดยทันที เพราะการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นการสังหารเป้าหมายโดยไม่เลือกหน้า ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของพลเรือน ซึ่งเข้าข่ายอาชญากรรมทางสงคราม

แต่ข้อเรียกร้องนี้ คงไม่อาจหยุดยั้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้ เพราะล่าสุดทางรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่าจะเตรียมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ฐานทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินในรัฐเนวาดา หลังจากเกิดเหตุสงครามระหว่างกลุ่มฮามาส และอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ไม่นานนี้

เพราะในมุมมองของสหรัฐฯ การยกระดับแสนยานุภาพทางทหารของตน เป็นหนทางที่จะรักษาความสงบสุขของโลกได้นั่นเอง

‘ฝรั่ง’ เฉลย!! ทำไมต่างประเทศถึงไม่มีการ ‘เรียกพี่ เรียกน้อง’ เพราะ ‘วัยวุฒิ-อยู่บนโลกมานาน’ ไม่สำคัญเท่า ‘การกระทำ’

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 ผู้ใช้งานติ๊กต็อก ชื่อ ‘jpex.official’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอตอบกลับคอมเมนต์ที่เข้ามาถามว่า “ทำไมเพื่อนพ่อ หรือคนที่โตกว่าเรา ถึงเรียกเราว่าเป็นเพื่อนของเขาครับ? ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่าที่ต่างประเทศเขาเรียกกันแบบไหนครับ”

เจ้าของช่องจึงได้ตอบกลับคอมเมนต์ดังกล่าว โดยระบุว่า…

ทําไมฝรั่งถึงไม่มีคําว่า ‘พี่น้อง’?

วัฒนธรรม ‘พี่น้อง’ หรือว่าการเรียกผู้อื่นตามวัยวุฒินั้น จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่เรามักจะพบเห็นได้ในวัฒนธรรมของประเทศแถบเอเชียมากกว่าที่อื่นๆ เช่น ที่สหรัฐอเมริกา ไม่มีคําว่า “มาก่อนเรียก พี่ มาทีหลังเรียก น้อง” เพราะทุกคนเท่ากันหมด

วัฒนธรรมของฝรั่ง เขาจะตั้งคําถามว่า “ทําไมเราจะต้องเคารพใครบางคน เพียงเพราะว่าเขาอยู่บนโลกนี้มานานมากกว่าเรา?”

ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นวัฒนธรรมที่แฟร์ดีเหมือนกัน เพราะมันคือการวัดคนจากการกระทํา ไม่ได้วัดจากวัยวุฒิ

เพราะฉะนั้น เวลาผมไปอยู่ที่อเมริกา พ่อของเพื่อนผม ก็ถือว่าเป็นเพื่อนผม เด็กที่แคมป์ในอเมริกา ต่อให้เขาจะอายุแค่ 7-8 ขวบ ผมก็ถือว่าเขาเป็นเพื่อนผม หรือแม้แต่คุณลุงคนนึงที่ผมสนิทด้วยที่อเมริกา เขาก็คือเพื่อนผม

ซึ่งบางทีสิ่งเหล่านี้มันก็ชวนให้ผมตั้งคําถามว่า “ถ้าหากสังคมไทยของเรานั้น เลิกคิดถึงแต่เรื่องของวัยวุฒิ และหันมาให้ความสําคัญผู้อื่นโดยวัดจากการกระทํา หรือตัวตนจริง ๆ ของคนคนนั้น สังคมไทยของเรา จะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน?”

ย้อนอดีตการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศอิหร่าน เมื่อ ‘เตหะราน’ เชื่อ ‘สหรัฐฯ’ กำลังเข้ามาแทรกแซง ปท.

มองต่างมุม ‘กรณีการยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน’

การยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน ของนักศึกษาอิหร่าน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 นั้น รัฐบาลสหรัฐฯได้ยืนยันว่า กิจกรรมของสถานทูตสหรัฐฯในอิหร่านเป็นเรื่องปกติ โดยอธิบายว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิหร่านที่ยึดสถานทูตว่าไร้เหตุผลและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ อ้างตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในอนุสัญญาเวียนนาปี 1963 มีข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสถานทูตต่างประเทศ และเอกสิทธิ์คุ้มครองของสถานทูตต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม อนุสัญญายังได้ระบุด้วยว่า เมื่อสถานทูตของประเทศใดที่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองนี้ จะต้องปฏิบัติตามในสองประเด็นนี้ด้วย

อุปกรณ์สื่อสารภายในสถานสหรัฐฯซึ่งทางการอิหร่านเชื่อว่า 
มีขีดความสามารถในการดักฟังการสื่อสารของทางการอิหร่าน

ประเด็นแรกคือ การเคารพต่อกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านที่สถานทูตนั้น ๆ ตั้งอยู่ ดังนั้นแม้ว่า สถานทูตสหรัฐฯจะมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถานทูตสหรัฐฯจะสามารถละเมิดกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านได้

Operation Eagle Claw ยุทธการกรงเล็บอินทรี เพื่อช่วยเหลือตัวประกันอเมริกัน
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และกลับต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักแทน
อ่านได้ที่ https://www.facebook.com/doctoryothin/posts/pfbid0PS3swT2M1fRC5JnuEFE3APpDQjagekjPAf7XM8wMNo93ZX5Go2cv3VBad8rtvmJal

ประเด็นที่สองคือ เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศเจ้าบ้าน เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันได้ละเมิดประเด็นเหล่านี้ในอิหร่านมาหลายปีแล้ว (เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ทางการทูตอเมริกันยังคงปฏิบัติอยู่จนทุกวันนี้)

เริ่มจากประการแรกรัฐบาลสหรัฐฯให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในอิหร่าน ปี พ.ศ. 2496 จนเกิดการเปลี่ยนรัฐบาลของอิหร่าน ประการต่อมา มีเอกสารหลายร้อยฉบับที่พิสูจน์ถึงการแทรกแซงกิจการภายในของอิหร่านโดยรัฐบาลสหรัฐฯ

แม้ว่า การยึดสถานทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่ขบวนการนักศึกษาอิหร่านเชื่อว่า อาคารนั้นไม่ใช่สถานทูตจริง ๆ เพราะกิจกรรมมากมายหลายอย่างในอาคารนั้นบ่งบอก และหลายคนเชื่อว่าหากไม่ยึดสถานทูตสหรัฐฯ อาจเกิดการรัฐประหารในอิหร่านขึ้นซ้ำอีก ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอเมริกันยังคงสนับสนุนชาห์ปาเลวีต่อ แม้หลังจากการล่มสลายของระบอบการปกครองของพระองค์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top