Sunday, 19 May 2024
อิสราเอล

‘อิสราเอล’ ถล่มโรงเรียนในกาซา ปชช.ทั้งเด็ก-ผู้หญิง หนีตายระทึก พบผู้เสียชีวิตแล้ว 20 ราย อ้าง!! เป็นฐานปฏิบัติการลับของกลุ่มฮามาส

(4 พ.ย. 66) จากเหตุโจมตีโดยอิสราเอล ที่เล็งเป้าหมายเล่นงานโรงเรียนแห่งหนึ่งทางเหนือของกาซา เบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บหลายสิบคน จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขที่บริหารงานโดยฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์แห่งนี้ ในตอนเช้าวันเสาร์ (4 พ.ย.) แต่ฝ่ายอิสราเอลอ้างว่าโรงเรียนดังกล่าวถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการของพวกนักรบ

“พบผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บหลายสิบคน ที่ถูกส่งมาโรงพยาบาลอัล-ชิฟา ในกาซา ซิตี หลังมีการเล็งเป้าหมายโดยตรงใส่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อัล-ซาฟตาวี ทางเหนือของกาซา” กระทรวงสาธารณสุขกาซาแถลง “กระสุนปืนครกยิงจากรถถัง ตกใส่โรงเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายโดยตรง”

สำนักข่าวสกายนิวส์ ได้ตรวจสอบวิดีโอ เป็นภาพที่เผยให้เห็นว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในโรงเรียน แต่ไม่สามารถระบุถึงต้นเหตุได้ และเวลานี้กำลังรอถ้อยแถลงชี้แจงจากกองทัพอิสราเอล

ภาพในวิดีโอพบเห็นความตื่นตระหนกเกิดขึ้นทั่วจุดเกิดเหตุ บางส่วนพยายามวิ่งหนี ทั้งนี้พบเห็นชายคนหนึ่งเอามือกุมศีรษะในอารมณ์ช็อกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนผู้หญิงอีกคนพบเห็นกำลังคลุ้มคลั่งมอบไปรอบๆ เอามือปิดปากไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง

สำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติ ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากมีการยิงระเบิดทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่บริเวณดังกล่าวอย่างหนักในช่วง 2 วันก่อนหน้านั้น

“ในวันเดียวกัน ค่ายพักพิงอีกแห่ง Beach Refugee Cam ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน มีรายงานเด็กเสียชีวิต 1 ราย ทั้ง 2 จุดต่างตั้งอยู่ในทางเหนือของฉนวนกาซา” ถ้อยแถลงระบุว่า “ลงไปทางใต้ โรงเรียน 2 แห่งที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นค่ายพักพิงชั่วคราวก็ถูกโจมตีเช่นกัน มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บ 31 ราย”

ที่ผ่านมา กองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล อ้างความชอบธรรมในการโจมตีอาคารต่างๆ อย่างเช่นโรงพยาบาล โรงเรียนและสุเหร่าในกาซา โดยอ้างว่า ฮามาสใช้สถานที่แห่งนี้สำหรับจุดประสงค์ในด้านปฏิบัติการ

เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนในวันเสาร์ (4 พ.ย.) เกิดขึ้นไม่นาน หลังจากปฏิบัติการทางอากาศของอิสราเอลโจมตีใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งกำลังอพยพผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากทางเหนือของกาซาที่ถูกปิดล้อม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บ 60 คนในวันศุกร์ (3 พ.ย.)

กองทัพอิสราเอลรุดชี้แจงว่า พวกเขาตรวจพบและโจมตีเข้าใส่รถฉุกเฉินคันหนึ่ง ซึ่งถูกใช้งานโดยเครือข่ายก่อการร้ายฮามาสในเขตสู้รบ กองทัพบอกว่าพวกนักรบฮามาสถูกปลิดชีพในเหตุโจมตีดังกล่าว พร้อมกับกล่าวหาว่ากลุ่มนักรบกำลังใช้รถฉุกเฉินคันดังกล่าว ลำเลียงกำลังพลและอาวุธ

นอกจากนี้ เหตุการณ์โจมตีโรงเรียนยังเกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในเมืองจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ซิตี สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 195 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกมาเตือนว่า การกระทำของกองทัพอิสราเอลครั้งนี้อาจเข้าข่ายเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’

‘ฮามาส’ เผย ยอดดับฉนวนกาซาทะลุหมื่น บาดเจ็บอีกนับ 2.5 หมื่นราย หลังเกิดสงครามครบ 1 เดือน ด้าน ‘ไบเดน’ ตั้งข้อสงสัยตัวเลขถูกหรือไม่

(7 พ.ย. 66) กระทรวงสาธารณสุขของฮามาสในฉนวนกาซา ออกมาระบุตัวเลขความสูญเสีย หลังสงครามอิสราเอล-ฮามาสเกิดขึ้นครบ 1 เดือน ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาล่าสุดอยู่ที่ 10,022 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กปาเลสไตน์ 4,104 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 25,408 คน

ขณะที่ตัวเลขความสูญเสียในฝั่งอิสราเอล มีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย โดยเป็นเด็ก 31 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5,400 คน และมีผู้ถูกจับไปเป็นตัวประกันอีกมากกว่า 200 คน

ด้านนักการเมืองบางคนรวมถึง ‘ประธานาธิบดีโจ ไบเดน’ ของสหรัฐฯ ตั้งคำถามถึงความถูกต้องของตัวเลขผู้เสียชีวิตในส่วนของฮามาส เช่นเดียวกับ ‘กองกำลังป้องกันอิสราเอล’ (IDF) ที่ระบุว่า ข้อมูลใดๆ ที่องค์กรก่อการร้ายแจ้ง ควรพิจารณาด้วยความระมัดระวัง

บีบีซีได้เผยขั้นตอนที่นำมาสู่การประกาศตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยกระทรวงสาธารณสุขฮามาส ซึ่งระบุว่า เมื่อมีผู้เสียชีวิตอันเป็นผลจากการโจมตีของอิสราเอล โรงพยาบาลจะบันทึกรายละเอียดต่างๆ อาทิ ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ และหมายเลขประจำตัวประชาชนลงในคอมพิวเตอร์ จากนั้นจะมีการถ่ายโอนข้อมูลจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งไปยังระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง เมื่อกระทรวงทำการประมวลผลแล้วจะมีการส่งข้อมูลไปยังสำนักงานสถิติกลางปาเลสไตน์ (PCBS)

อย่างไรก็ดี PCBS บอกกับบีบีซีว่า ตัวเลขดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงผู้เสียชีวิตใต้ซากอาคารหรือผู้ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ปกติแล้วจะมีการบันทึกสาเหตุการเสียชีวิตแบบเฉพาะเจาะจงไว้ด้วย แต่ขณะนี้ไม่สามารถทำได้เนื่องจากจำนวนตัวเลขการเสียชีวิตที่สูงมาก

ด้าน ‘ริชาร์ด เบรนเนน’ โฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า เขาเชื่อว่าตัวเลขความสูญเสียในฉนวนกาซานั้นเชื่อถือได้ เพราะมั่นใจว่าระบบการจัดการข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขในกาซาได้ดำเนินการตลอดหลายปีที่ผ่านมา สามารถที่จะรับมือกับการวิเคราะห์ข้อมูลได้ และฐานข้อมูลในช่วงหลายปีที่ผ่านมาถือว่ามีความแข็งแกร่ง

'รัสเซีย' ซัด!! 'อิสราเอล' หลุดปากสารภาพครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ถาม!! องค์กรนิวเคลียร์ระหว่างประเทศทั้งหลายมัวทำอะไรอยู่ 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุมีคำถามมากมายผุดขึ้นมา หลังรัฐมนตรีรายหนึ่งของอิสราเอลเสนอทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฉนวนกาซา ดูเหมือนเป็นการรับสารภาพว่าอิสราเอลมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง แล้วองค์กรนิวเคลียร์ระหว่างประเทศทั้งหลายมัวทำอะไรอยู่

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์ (5 พ.ย.) สั่งพักงาน อามิไช เอลิยาฮู รัฐมนตรีกระทรวงมรดกอิสราเอล ไม่ให้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบเพิ่มเติม หลังแสดงความคิดเห็นผ่านสถานีวิทยุท้องถิ่น แนะนำให้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฉนวนกาซา

เอลิยาฮู ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุท้องถิ่น บอกว่าเขาไม่พอใจกับภาพรวมของขอบเขตการแก้แค้นของอิสราเอล และครั้งที่ถูกผู้สัมภาษณ์สอบถามว่าเขาสนับสนุนให้ทิ้งบอมบ์ "ระเบิดปรมาณูบางอย่าง" ใส่ฉนวนกาซา เพื่อเข่นฆ่าทุก ๆ คนหรือไม่ ทาง เอลิยาฮู ตอบว่า "มันเป็นทางเลือกหนึ่ง"

ในเรื่องนี้สำนักข่าวอาร์ไอเอของรัสเซีย อ้างคำกล่าวของ มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เมื่อวันอังคาร (7 พ.ย.) ระบุว่า "มันก่อคำถามต่าง ๆ มากมาย" พร้อมชี้ว่าประเด็นหลักก็คือ มันดูเหมือนว่าอิสราเอลยอมรับสารภาพว่าพวกเขามีนิวเคลียร์ในครอบครอง

อิสราเอลไม่เคยยอมรับต่อสาธารณะว่าพวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง แต่ทางสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน คาดการณ์ว่าอิสราเอลมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ราว 90 หัวรบ

"คำถามหมายเลข 1 สิ่งที่ปรากฏออกมาก็คือ ดูเหมือนเรากำลังได้ยินถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีอยู่ของอาวุธนิวเคลียร์" ชาคาโรวา ระบุ "ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศและคณะตรวจสอบนิวเคลียร์นานาชาติอยู่ที่ไหน มัวทำอะไรอยู่?"

ความเห็นของ เอลิยาฮู เรียกเสียงประณามอย่างกว้างขวางทั่วโลกอาหรับ ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่ามันเป็นถ้อยคำโวหารแห่งความเกลียดชัง ซึ่งรังแต่จะโหมกระพือความตึงเครียดเพิ่มเติม ส่วนอิหร่านเรียกร้องให้นานาชาติตอบสนองเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน

"คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและทบวงพลังงานปรมาณูสากล ต้องดำเนินการในทันทีและอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดอาวุธรัฐบาลที่ป่าเถื่อนและแบ่งแยกเชื้อชาติแห่งนี้ พรุ่งนี้อาจสายเกินไป" ฮอสเซน อามีร์อับดอลลาเฮียน รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์เมื่อวันจันทร์ (6 พ.ย.)

‘ปฏิญญา Balfour’ สารตั้งต้นแห่งความรุนแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันตก แรงบันดาลใจของ ‘กลุ่มไซออนิสต์’ สู่การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์

การแบ่งแยกและยึดครอง : มรดกของ ‘Arthur James Balfour’

กรุงเตหะราน, ประเทศอิหร่าน วันที่ 2 พฤศจิกายน 2023 ถือเป็นวันครบรอบ 106 ปี ปฏิญญาของรัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ‘Arthur James Balfour’

สิ่งที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ‘ปฏิญญา Balfour’ คือข้อความสั้น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตไม่เพียงแค่ชาวปาเลสไตน์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนหลายล้านคนในเอเชียตะวันตกด้วย เนื่องจากมันก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เลวร้าย เช่น การก่อตัวของระบอบการปกครองจอมปลอม การสังหารหมู่ผู้หญิงและเด็กหลายแสนคน พลเมืองปาเลสไตน์หลายล้านคนต้องพลัดถิ่น และการถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิด กระทั่งท้ายที่สุด จึงนำไปสู่การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์โดยอิสราเอล

คำประกาศที่ชั่วร้ายนี้ปูทางไปสู่การก่อตัวของเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง และเรื่องผิดกฎหมายในเอเชียตะวันตก โดยผลที่ตามมายังคงส่งผลกระทบต่อผู้คนปาเลสไตน์และในภูมิภาค หลังจากผ่านไปเกือบ 80 ปี คำแถลงต่อสาธารณะอาจเป็นประเด็นสำคัญของการหารือทางโทรศัพท์ ของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่านและสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยหัวหน้านักการทูตอิหร่านอาจทำให้ชาวสหราชอาณาจักรสนใจว่า ประเทศของเขาสนับสนุน ‘การสถาปนา ‘มาตุภูมิแห่งชาติสำหรับชาวยิว’ ในดินแดนปาเลสไตน์’ เมื่อปี 1917 ซึ่งเป็นรากฐานของทุกความท้าทาย และความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันตกในปัจจุบัน

‘กลุ่มไซออนิสต์’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพ่อแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxons) ในการส่งเสริมประวัติศาสตร์จอมปลอมและการกดขี่ กำลังเผชิญกับวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเอเชียตะวันตก การตื่นตัวและลุกขึ้นต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ได้เปิดหูเปิดตาของผู้คนทั่วโลก ให้มองเห็นความโหดร้ายและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของไซออนิสต์ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะอ่านปฏิญญา Balfour อีกครั้ง เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมิติของ Nakba (ภัยพิบัติ, หายนะ) ในปี 1948

ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ‘ปฏิญญา Balfour’ แสดงความเห็นอกเห็นใจของสหราชอาณาจักร ต่อความปรารถนาและแรงบันดาลใจของไซออนิสต์ในนานาชาติ ที่จะสถาปนาสิ่งที่เรียกว่า ‘มาตุภูมิแห่งชาติของไซออนิสต์ในดินแดนปาเลสไตน์’ ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 21 ปีก่อนที่ชาวยุโรปจะเดินหน้าสร้างสันติภาพระหว่างประเทศอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรู้ว่า ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ ลงเอยด้วยการสังหารชาวยิวจำนวนมาก ดูเหมือนว่าสหราชอาณาจักรและสหายไซออนิสต์จะตระหนักดี ถึงสิ่งที่รอคอยชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2

การปรากฏตัวโดยชอบธรรมของไซออนิสต์ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์นั้น ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่บิดเบี้ยวและเป็นเท็จ 2 เรื่อง โดยเรื่องราวแรกคือ ในพระคัมภีร์ของชาวยิว ดินแดนนี้ถูกสัญญาไว้กับพวกเขา (ไซออนิสต์) และคำบรรยายที่ 2 อ้างว่า เป็นการสังหารและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวยิวโดยพวกนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องเล่าทั้ง 2 นี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ 2 ได้ส่งชาวยิวจำนวนมากไปยังปาเลสไตน์ และปูทางไปสู่การยึดครองและการทำลายล้างประเทศอาหรับ 3 ปีหลังจากการเผยแพร่ปฏิญญา Balfour และในสนธิสัญญาที่ลงนามโดยประเทศที่ได้รับชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ชะตากรรมของดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งปาเลสไตน์ถูกส่งมอบให้กับสหราชอาณาจักร และคำมั่นสัญญาของ Balfour ที่มีต่อไซออนิสต์ก็ดำเนินไป

คงจะเป็นเรื่องไร้เดียงสามาก หากเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ

สหราชอาณาจักรส่งมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้กับไซออนิสต์ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวปาเลสไตน์ซึ่งแท้จริงแล้ว คือทายาทที่แท้จริงของชาวยิวปฐมวัย อาศัยอยู่ที่นั่นมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว ตลอดช่วงชีวิตนอกกฎหมายของระบอบการปกครองที่ฆ่าเด็ก รัฐบาลตะวันตกได้นำเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อมาใช้เล่นเกมกล่าวโทษและวาดภาพผู้กดขี่ว่า เป็นผู้ถูกกดขี่ พวกไซออนิสต์ได้ก่ออาชญากรรมครั้งใหญ่และไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อใดก็ตามที่มีการประท้วงเพื่อปกป้องปาเลสไตน์ ไซออนิสต์จะเป่าสโลแกน ‘ต่อต้านชาวยิว’ หลังจาก ‘ปฏิบัติการพายุแห่งอัล-อักซอ’ (Operation Al-Aqsa Storm) โดยกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ผู้สนับสนุนระบอบการปกครองเทลอาวีฟก็ออกมาเดินหน้าอีกครั้งเพื่อบิดเบือนความจริง ในขณะเดียวกันก็เตรียมการและให้กำลังใจอิสราเอล

ภารกิจที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่บนบ่าของสหราชอาณาจักร ถูกโอนไปยังสหรัฐอเมริกา หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในระบบของการเมืองระหว่างประเทศ การสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไขของสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร สำหรับระบอบไซออนิสต์เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ล้มเหลวในการยอมรับสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ด้วยการยับยั้งมติ (Veto) ถึง 45 ครั้ง สหรัฐฯ ไม่เพียงแต่ต่อต้านการหยุดยั้งอาชญากรรมของระบอบไซออนิสต์ในฉนวนกาซาเท่านั้น แต่ยังปฏิเสธที่จะช่วยบรรลุแนวทางแก้ไข เพื่อบรรเทาวิกฤติด้านมนุษยธรรมในดินแดนที่ถูกปิดล้อมอีกด้วย

ในความขัดแย้งที่ชัดเจนกับการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน สหรัฐฯ ยังได้ลงคะแนน ‘ไม่เห็นด้วย’ กับมติที่ร่างขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ความพยายามของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนไซออนิสต์ยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา เป็นที่ชัดเจนว่าการกระทำล่าสุดของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างของการเพิกเฉยต่อหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ประเด็นก็คือ ระบอบการปกครองจอมปลอม แม้ว่า อิสราเอลจะได้รับการสนับสนุนจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ มานานหลายปี แต่ก็ไม่ก็สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า อนาคตมีไว้สำหรับปาเลสไตน์

‘ชาติอาหรับ’ ประชุมเร่งด่วน เรียกร้อง ‘อิสราเอล’ หยุดโจมตีกาซา ซัด!! นี่ไม่ใช่การป้องกันตน แต่เป็นข้ออ้างเพื่อทำสงครามเท่านั้น

(12 พ.ย.66) กลุ่มประเทศโลกอาหรับประชุมกันที่ซาอุดีอาระเบีย ร่วมกันเรียกร้องให้มีการหยุดยิง เร่งจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง

โดยเป็นการประชุมฉุกเฉินร่วมระหว่างกลุ่มสันนิบาตอาหรับ หรืออาหรับ ลีก และองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ที่ซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพในกรุงริยาดห์ ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ร่วมกันประณามเหตุโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซา เรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันที และจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง

ด้านมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงกล่าวเปิดการประชุม ประณามและไม่ยอมรับการโจมตีชาวปาเลสไตน์ ซาอุดีอาระเบียไม่เห็นด้วยที่มีการใช้เหตุผลการป้องกันตนเองของอิสราเอล เป็นข้ออ้างเพื่อทำสงคราม เรียกร้องผู้นำโลกที่เข้าร่วมการประชุม ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในฉนวนกาซา

ขณะที่ ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี ประมุขแห่งกาตาร์ เรียกร้องอิสราเอลให้ยุติการโจมตีพลเรือนโดยทันที กาตาร์จะพยายามต่อไปเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป

ส่วนประธานาธิบดี อิบราฮิม ไรซี ของอิหร่าน ระบุสหรัฐฯ จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา เพราะได้ส่งอาวุธให้อิสราเอลเป็นจำนวนมาก รวมถึงระบุว่า อิหร่านจะส่งความช่วยเหลือด้านทางการทหารให้กับกลุ่มฮามาส กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และกลุ่มอื่น ๆ

เปิดความจริง!! กองกำลังอิสราเอลในฉนวนกาซา ส่วนหนึ่งเป็นทหารรับจ้าง ‘มิใช่’ แรงงานไทยผันตัว

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏมีภาพที่ระบุว่า เป็นชายไทยในชุดเครื่องแบบทหารสังกัด IDF (Israel Defense Forces) หรือกองกำลังป้องกันอิสราเอล โดยมีข่าวประกอบว่าเป็นแรงงานไทยซึ่งสมัครเป็นทหารรับจ้าง (Mercenaries) ให้กับอิสราเอล

ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวเรื่องแรงงานไทยสมัครเป็นทหารรับจ้างให้กับอิสราเอลดังนี้ 

“กรณีที่มีกระแสข่าวในโลกโซเชียลว่ามีแรงงานไทยไปเป็นทหารให้แก่ฝ่ายอิสราเอลในช่วงสถานการณ์อิสราเอล-กาซา นั้น ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่า มีคนไทยที่เป็นลูกครึ่งไทย-อิสราเอลไปเป็นทหารกองหนุนให้อิสราเอลจริง แต่ไม่ใช่พี่น้องแรงงานไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นอกเหนือจากแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมในอิสราเอลแล้ว ยังมีหญิงไทยจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 400 - 500 คน) ที่แต่งงานกับคนอิสราเอล และมีบุตรซึ่งถือ 2 สัญชาติ คือทั้งสัญชาติไทยและอิสราเอล ซึ่งตามกฎหมายอิสราเอล บุคคลสัญชาติอิสราเอลทุกคน (ทั้งหญิงและชาย) จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 18 ปี 

โดยผู้ชายมีระยะเวลารับราชการทหาร 32 เดือน และผู้หญิงมีระยะเวลารับราชการทหาร 24 เดือน และเมื่อเสร็จสิ้นระยะเวลาเกณฑ์ทหารดังกล่าวแล้ว ทุกคนจะถูกบรรจุเข้าเป็นทหารกองหนุน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ทหารหากถูกเรียกจากกองทัพอิสราเอล

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 กองทัพอิสราเอลได้เรียกทหารกองหนุนจำนวนกว่า 350,000 คน หรือประมาณร้อยละ 4 ของประชากรอิสราเอลทั้งหมด เข้าปฏิบัติหน้าที่ ถือได้ว่าเป็นการเรียกทหารกองหนุนครั้งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล จึงย่อมมีลูกครึ่งไทย-อิสราเอลที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ทหารกองหนุนตามกฎหมายอิสราเอล มิใช่แรงงานไทยที่แฝงตัวไปเป็นทหารรับจ้างให้แก่อิสราเอลตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศ จึงขอความร่วมมืออย่าเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข่าวที่อาจทำให้สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนทั้งไทยและต่างประเทศ” 

หมวก Kippah 

จากภาพดังกล่าวจะเห็นว่า ชายหนุ่มในภาพหน้าตาคล้ายชาวเอเชีย และหลายคนสวมใส่หมวก Kippah อันเป็นหมวกผ้าใบเล็ก ๆ ซึ่งสวมใส่เฉพาะชายที่นับถือศาสนา Judaism เท่านั้น ดังนั้นบรรดาชายในภาพจึงน่าจะเป็นลูกครึ่งเอเชีย-อิสราเอล หรืออาจจะเป็นลูกติดของหญิงเอเชียที่แต่งงานกับชายอิสราเอล ต่อมาได้รับสัญชาติอิสราเอล และต้องทำหน้าที่ของพลเมืองอิสราเอลตามกฎหมาย 

ชาวจีนเชื้อสายยิว (Kaifeng Jews) ในเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน

นอกจากนั้นแล้วในอิสราเอลยังมีชาวจีนเชื้อสายยิว (Kaifeng Jews) อยู่อีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยไปจากชุมชนเล็ก ๆ ที่มีผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนเชื้อสายยิว ในช่วงศตวรรษแรกของการตั้งถิ่นฐานอาจมีสมาชิกประมาณ 2,500 คน แม้ว่าพวกเขาจะแยกตัวออกจากชาวยิวพลัดถิ่นส่วนที่เหลือ แต่บรรพบุรุษของพวกเขาก็ยังคงปฏิบัติตามประเพณีและขนบธรรมเนียมของชาวยิวมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนชาวจีนเชื้อสายยิวค่อย ๆ เสื่อมสลายหายไป เนื่องจากการหลอมรวมและการแต่งงานระหว่างชาวยิวเชื้อสายจีนใกับชาวจีนฮั่นและชาวจีนฮุย 

จนกระทั่งเมื่อถึงศตวรรษที่ 19 ความเป็นยิวก็แทบจะหมดไป นอกเหนือจากการเก็บรักษาความทรงจำเกี่ยวกับอดีตความเป็นชาวจีนเชื้อสายยิวในตระกูลของตน ปัจจุบันน่าจะเหลือสมาชิกในจีนอยู่ราว 600-1,000 คน และอพยพไปอยู่อิสราเอลไม่กี่สิบคน

มีข่าวจาก www.middleeastmonitor.com ระบุว่า IDF ได้ใช้ทหารรับจ้างต่างชาติเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติการในฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อม ตามรายงานจาก El Mundo สื่อใหญ่ของสเปน

ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่นี้ของ Pedro Diaz Flores ทหารรับจ้างชาวสเปนซึ่งเข้าร่วมกองกำลังอิสราเอล เคียงข้างเพื่อนร่วมงานที่จุดตรวจตามแนวรั้วที่กั้นดินแดนที่ถูกยึดครองกับฉนวนกาซา

ในบรรดาทหารรับจ้างต่างชาตินั้น มีทหารรับจ้างชาวสเปนที่เคยต่อสู้เคียงข้างนีโอนาซีชาวยูเครนหลังจากการรุกรานของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว Pedro Diaz Flores ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกสันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว แต่เขายังมีชีวิตสบายดี

ตามรายงานของสื่อที่ทำการสัมภาษณ์เขา “ผมมาเพื่อเงิน พวกเขาจ่ายดีมาก มีอุปกรณ์ดี และงานก็ใช้ได้ เงินก็ดีด้วย 3,900 ยูโร (4,187 ดอลลาร์) ต่อสัปดาห์ นอกเหนือจากภารกิจเสริม” Flores กล่าวถึงแรงจูงใจในการเข้าร่วมกองกำลัง IDF

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า เขาสู้รบในที่ราบสูงโกลันที่ถูกยึดครอง “เราให้การสนับสนุนด้านความปลอดภัยแก่ขบวนรถติดอาวุธหรือกองกำลังของกองทัพอิสราเอลที่อยู่ในฉนวนกาซาเท่านั้น เราไม่ได้ต่อสู้กับกลุ่มฮามาสโดยตรง และไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการจู่โจม”

“เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของจุดตรวจและการควบคุมการเข้าถึงบริเวณชายแดนฉนวนกาซาและจอร์แดน มี PMC [Private Mercenaries Companies : บริษัททหารรับจ้างเอกชน] จำนวนมาก ที่นี่และพวกเขาแบ่งปันงานกัน ปกติแล้วพวกเขาจะทำหน้าที่คอยคุ้มกันอาคารผู้โดยสารชายแดนระหว่าง Eliat และ Aqaba” เขากล่าวเสริม ตั้งแต่เดือนที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่า ทหารรับจ้างที่ประจำการอยู่ในยูเครนจะเริ่มหันเหความสนใจไปช่วยเหลือและเข้าร่วมกองทัพอิสราเอล ในขณะที่จุดสนใจของชาติตะวันตกก็เปลี่ยนไปยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอลในขณะที่ IDF กำลังก่ออาชญากรรมสงครามและการสังหารหมู่พลเรือนชาวปาเลสไตน์

นอกจากนี้แล้วในสหราชอาณาจักร ศูนย์ยุติธรรมระหว่างประเทศสำหรับชาวปาเลสไตน์ (ICJP) ได้ส่งจดหมายถึงสำนักงานต่างประเทศ เครือจักรภพ และการพัฒนา (FCDO) เพื่อขอคำชี้แจงเร่งด่วนเกี่ยวกับจุดยืนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรต่อชาวอังกฤษที่จะสู้รบในอิสราเอลและฉนวนกาซา ตามรายงานของ  ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม พลเมืองอังกฤษหลายร้อยหรือหลายพันคนได้ออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อร่วมสู้รบกับกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ในฉนวนกาซา “ชาวอังกฤษจำนวนมากเหล่านี้อาจสมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอยู่แล้ว และอาจต้องเผชิญกับการดำเนินคดีในอนาคต หากเรื่องเหล่านี้ได้รับการพิจารณาคดี” จดหมายระบุ 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอิสราเอลเรียกทหารกองหนุน 360,000 นายจากทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมสงครามในฉนวนกาซา “ในสหราชอาณาจักร สื่อต่าง ๆ เต็มไปด้วยเรื่องราวของชาวอังกฤษเชื้อสายอิสราเอลที่ออกเดินทางเพื่อเข้าร่วม IDF บางคนอาจอยู่ที่นั่นผ่านโครงการ Mahal ซึ่งเป็นโครงการอาสาสมัครที่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลเข้ารับราชการใน IDF ในการต่อสู้เต็มรูปแบบและมีบทบาทสนับสนุนสำหรับ นานถึง 18 เดือน” ICJP ได้ขอให้ “รัฐบาลสหราชอาณาจักรชี้แจงจุดยืนของตนในเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายของพลเมืองอังกฤษที่จะสู้รบในอิสราเอลหรือฉนวนกาซา โดยสังเกตถึงความแตกต่างกับนโยบายของตนต่อยูเครน รัฐบาลได้ชี้แจงชัดเจนว่าพลเมืองอังกฤษไม่ควรเดินทางไปต่อสู้ในยูเครน และผู้ที่ทำเช่นนั้นอาจมีความผิดทางอาญา”

น่าจะพออนุมานได้ว่าไม่มีแรงงานไทยในกองกำลัง IDF แม้แรงงานส่วนหนึ่งอาจจะเคยรับราชทหารในกองทัพไทย แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย อาทิ ประสบการณ์การรบ วิธีปฏิบัติ ที่สำคัญที่สุดคือ ภาษา ฯลฯ อีกทั้งรัฐบาลไทยยึดมั่นในการดำรงนโยบายเป็นกลางต่อเหตุการณ์นี้ และยังคงมีการอพยพแรงงานที่สมัครใจกลับอยู่ตลอดเวลา การเข้าร่วมกองกำลัง IDF ของแรงงานไทยจึงน่าจะเป็นเพียงข่าวลือตามที่กระทรวงต่างประเทศของไทยได้แถลงนั่นเอง

‘พม.’ เดินหน้าช่วยเหลือ ‘แรงงานไทย​’ หลังกลับจากอิสราเอล​ พร้อมส่ง จนท.ดูแลสภาพจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต​อย่างใกล้ชิด​

(21 พ.ย. 66) นายวราวุธ​ ศิลปอาชา​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์​ (พม.) กล่าวถึงการให้การช่วยเหลือแรงงานไทย หลังจากเดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลว่า​ ขณะนี้มีแรงงานลงทะเบียนกับกระทรวง พม. 8,400 ราย โดยขณะนี้เอง เจ้าหน้าที่ได้มีการให้คำแนะนำไปแล้วกว่า 8,348 ราย พร้อมช่วยเหลือส่งกลับภูมิลำเนา​

ในกรณีที่เดินทางกลับเองไม่ได้อีกกว่า 300 ราย โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ พม.​ในพื้นที่​ 62 จังหวัด ทั่วประเทศได้มีการติดตาม และเข้าเยี่ยมแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เกือบ 2,000 ราย​  รวมไปถึงทางกระทรวง​ พม.ได้ให้ความช่วยเหลือ เยียวยา​ 1,030 ราย​ ทั้งเรื่องเงินสงเคราะห์​ การให้คำปรึกษา​ การสนับสนุนอาชีพ​ การให้ทุนการศึกษา​ ซึ่งที่ผ่านมา​ พม.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิต

‘ซูซาน ซาแรนดอน’ นักแสดงดีกรีออสการ์ ถูกฉีกสัญญา เพียงเพราะเธอออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุน ‘ปาเลสไตน์’

‘UTA’ เอเจนซีดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ประกาศฉีกสัญญาของ ‘ซูซาน ซาแรนดอน’ ดาราฮอลลีวูดรุ่นใหญ่ชื่อดังมากฝีมือ ดีกรีรางวัลออสการ์เป็นที่เรียบร้อย เพียงเพราะเธอแสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์ โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์ที่มีการใช้กำลังทหารโจมตีฉนวนกาซา จนตอนนี้มียอดผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์พุ่งขึ้นถึง 13,000 คน

สื่ออเมริกันรายงานว่า ‘ซูซาน ซาแรนดอน’ แสดงจุดยืนเคียงข้างฝ่ายปาเลสไตน์ และ เข้าร่วมเดินขบวนกับกลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อย่างน้อย 2 ครั้ง พร้อมได้กล่าวคำปราศรัยต่อหน้าฝูงชนอีกด้วย ซึ่งในส่วนหนึ่งของคำปราศรัย เธอได้กล่าวว่า…

“ในตอนนี้ มีคนจำนวนมากกลัวที่จะเป็นคนยิว และเริ่มรับรู้ถึงรสชาติของการเป็นชาวมุสลิมในประเทศนี้”

นอกจากนี้ ซูซาน ซาแรนดอน ยังให้กำลังใจชาวอเมริกันที่ออกมายืนหยัด และต่อสู้เพื่อชาวปาเลสไตน์ว่า ผู้คนเริ่มตั้งคำถาม และหาข้อมูลเกี่ยวกับปาเลสไตน์มากขึ้น และเริ่มรับรู้ถึงการล้างสมองของรัฐบาลที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กแล้ว เธอจึงต้องการสนับสนุนให้ผู้ที่เห็นด้วย ออกมาร่วมชุมนุมอย่างเข้มแข็ง อดทน และกล้าที่จะพูดออกมา พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณชาวยิวในสหรัฐฯ ที่ออกมาช่วยเหลือกิจกรรมเพื่อชาวปาเลสไตน์ในครั้งนี้อีกด้วย

การแสดงออกของ ซูซาน ซาแรนดอน ทำให้เธอถูกโจมตีว่า ‘ฝักใฝ่ลัทธิต่อต้านชาวยิว’ ซึ่งเธอปฏิเสธมาตลอดว่า “ไม่ใช่!!”

แต่จุดยืนของเธอคือ ‘ต่อต้านสงคราม ลัทธิเผด็จการ และการกดขี่’ มาโดยตลอด และเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า นอกจากการเป็นนักแสดงคุณภาพ เจ้าของรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Dead Man Walking’ ในปี 1995 และคว้ารางวัลด้านการแสดงอีกนับไม่ถ้วน เธอยังเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านสงครามตัวยง นอกจากนี้ เธอยังเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ‘ทูตสันถวไมตรี’ อย่างเป็นทางการขององค์กร ‘UNICEF’ มาแล้ว

แต่เมื่อเธอออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนปาเลสไตน์ เพราะไม่ต้องการเห็นการโจมตีพลเรือนในฉนวนกาซา กลับเป็นเหตุให้เธอ ‘ถูกยกเลิกสัญญา’ จากเอเจนซี ที่ดูแลเธอมานานตั้งแต่ปี 2014

และไม่ใช่แค่ ซูซาน ซาแรนดอน เท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ล่าสุด ‘เมลิสซา บาร์เรลา’ นักแสดงและนักร้องสาวเชื้อสายเม็กซิกัน หนึ่งในนักแสดงนำจาก ‘Scream VI’ ถูก ‘Spyglass’ บริษัทผู้สร้าง ตัดเธอออกจากทีมนักแสดงหนังสยองขวัญภาคต่อ ‘Scream VII’ ด้วยข้อกล่าวหาว่า ‘เธอเป็นพวกฝักใฝ่ลัทธิต่อต้านยิว’ หลังจากที่เธอได้โพสต์ข้อความลงใน Instagram สนับสนุนปาเลสไตน์ และกล่าวหาปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

รวมถึง ‘มาฮา ดาห์ฮิล’ หนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของ ‘CAA’ บริษัทเอเจนซียักษ์ใหญ่อีกแห่งของฮอลลีวูด ที่ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง เพียงเพราะเธอโพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสงครามระหว่าง ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ผ่าน Instagram ด้วยข้อความสั้นๆ ว่า “คุณเริ่มรู้แล้วหรือยัง? ว่าใครกันแน่ที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” แม้ในเวลาต่อมาเธอจะได้ออกมากล่าวขอโทษ และลบโพสต์ของเธอไปในภายหลังแล้วก็ตาม

จึงทำให้รู้ว่า แม้ในประเทศเสรีอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ก็ใช่ว่าจะมี ‘เสรีภาพในการพูด’ หรือสามารถแสดงความคิดเห็นได้ดั่งใจในทุกเรื่องอย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้จะมีเจตนาในการยุติสงคราม และความรุนแรงก็ตาม เพราะทุกที่มีอำนาจทางการเมืองที่เรามองไม่เห็นแอบแฝงอยู่เสมอ

‘นายกฯ’ แจ้งข่าวดี!! ‘ฮามาส’ ปล่อยตัวประกันกลุ่มที่ 2 แล้ว เผย มีคนไทย 4 ราย เบื้องต้นทุกคนปลอดภัย-สุขภาพดี

(26 พ.ย. 66) ความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์ตัวประกันของกลุ่มฮามาส ล่าสุด กลุ่มฮามาสยอมปล่อยตัวประกันกลุ่มที่ 2 ออกจากกาซาแล้วในช่วงกลางดึกวานนี้ (25 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความแจ้งข่าวดีผ่านแอปพลิเคชัน X (ทวิตเตอร์) Srettha Thavisin (@Thavisin) โดยระบุว่า…

“ดีใจด้วยครับ เมื่อ วันที่ 25 พ.ย. เวลา 23:50 (เวลาท้องถิ่น) ตัวประกันไทยได้รับการปล่อยตัว มีรายชื่อดังนี้

1.) อนุชา อ่างแก้ว
2.) นัฐพร อ่อนแก้ว
3. คมกฤษ ชมบัว
4.) มณี จิระชาติ

จากการตรวจร่างกายในเบื้องต้น
- ทุกคนสุขภาพดี ไม่มีใครต้องการการรักษาพยาบาลเร่งด่วน
- ทุกคนพูดคุยและเดินได้ปกติ
- ทุกคนดีใจที่ได้รับการปล่อยตัว โดยรวมสุขภาพจิตยังดีอยู่ พูดคุยได้ปกติ ต้องการอาบน้ำ และติดต่อกลับหาญาติ

ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินทางไปที่ รพ. Shamir Medical Center (Assaf Harofe) 
ขอขอบคุณ กระทรวงต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงครับ”

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ รายงานว่า ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่ามีคนไทยชุดที่สองได้รับการปล่อยตัวอีก 4 ราย ขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำตัวไปที่โรงพยาบาล ที่ฝ่ายอิสราเอลจัดไว้เพื่อตรวจสุขภาพตามขั้นตอน โดยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ไปช่วยเหลืออำนวยความสะดวก และประสานการติดต่อกับครอบครัวที่โรงพยาบาลแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับครอบครัวของพี่น้องคนไทยทั้ง 4 ราย ที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ รวมถึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาให้มีการปล่อยตัวประกันในชุดที่ 2 นี้

อนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ทางการอิสราเอลได้ยืนยันจำนวนคนไทยที่ถูกควบคุมตัว เพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ทำให้ภายหลังการปล่อยตัวคนไทยชุดที่ 2 แล้ว คาดว่ายังมีคนไทยที่ถูกควบคุมตัวอีกจำนวน 18 ราย ซึ่งรัฐบาลไทยจะพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่เหลือ ให้ได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ โดยที่มีตัวประกันเริ่มทยอยได้รับการปล่อยตัว และมีโอกาสได้พูดคุยกับญาติพี่น้องในประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนที่อาจ สัมภาษณ์ญาติของตัวประกัน มิให้ซักถามหรือเผยแพร่ ข้อมูลระหว่างการถูกควบคุมตัว ซึ่งอาจมีความอ่อนไหว และส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของตัวประกันที่ยังอยู่ในความควบคุมได้

ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานกับ ฝ่ายอิสราเอลเกี่ยวกับกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำพี่น้องคนไทยทั้ง 14 รายที่ได้รับการปล่อยตัวและผ่านกระบวนการเยียวยาเบื้องต้นในอิสราเอลแล้ว กลับสู่ประเทศไทยและครอบครัวโดยเร็วต่อไป

‘อีลอน’ รู้งาน!! บอก!! ‘อิสราเอล’ ต้องขุดรากถอนโคนฮามาส หลังแฟลตฟอร์ม ‘เอ็กซ์’ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ต่อต้านยิว’

“อิสราเอลไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทำลาย ‘ฮามาส’” ‘อีลอน มัสก์’ กล่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 หลังพบปะกับนายกรัฐมนตรี ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ในเยรูซาเลม ทั้งนี้ เจ้าของแฟลตฟอร์ม ‘เอ็กซ์’ เดินทางไปตะวันออกกลาง หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาต่อต้านยิว

เนทันยาฮู พา มัสก์ เดินทางทัวร์เคฟาร์ อะซา นิคมเกษตร หรือ ‘คิบบุตซ์’ ทางใต้ของอิสราเอล ที่ถูกฮามาสเล่นงานระหว่างการจู่โจมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา และฉายภาพยนตร์ความยาว 44 นาทีให้ผู้มาเยือนได้รับชม เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงคำกล่าวอ้างความโหดร้ายป่าเถื่อนของกลุ่มนักรบปาเลสไตน์

หลังการเดินทางเยือน เนทันยาฮู ได้กระจายเสียงบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ที่เขาพูดคุยกับ มัสก์ เกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลอิสราเอลกำลังทำ และให้คำจำกัดความฮามาสว่าเป็น ‘ลัทธิแห่งความตาย’ ที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังพลเรือนในกาซา ระหว่างการออกอากาศ มัสก์ เห็นพ้องกับคำกล่าวอ้างของ เนทันยาฮู เป็นส่วนใหญ่

“ถ้าคุณต้องการความมั่นคง สันติภาพ และชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับชาวกาซา เมื่อนั้นคุณจำเป็นต้องทำลายฮามาส อย่างแรกเลยคุณจำเป็นต้องกำจัดระบอบปกครองที่ร้ายกาจเสียก่อน แบบเดียวกับที่ทำในเยอรมนีและญี่ปุ่น” เนทันยาฮู กล่าว

มัสก์ ตอบว่า “ไม่มีทางเลือก คุณจำเป็นต้องแน่วแน่และกำจัดพวกก่อการร้าย และพวกที่มีเจตนาเข่นฆ่า ขณะเดียวกัน ก็ช่วยพวกที่เหลืออยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมนีและญี่ปุ่น”

การเดินทางเยือนอิสราเอลของมัสก์ในครั้งนี้ ถูกแถลงโดยประธานาธิบดี ‘ไอแซค เฮอร์ซอก’ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยที่ทำเนียบประธานาธิบดีบอกว่า มหาเศรษฐีชาวอเมริกาจะได้รับการบอกกล่าวเกี่ยว กับความจำเป็นที่ต้องต่อสู้ในการต่อต้านยิวที่เพิ่มมากขึ้นในโลกออนไลน์

ระหว่างการพบปะกัน เฮอร์ซอก บอกกับ มัสก์ ว่า “ภายใต้แพลตฟอร์มที่คุณเป็นผู้นำ เคราะห์ร้ายที่มันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของความเกลียดชังเก่าๆ มากมาย ซึ่งก็คือ ‘การเกลียดชังยิว’ ซึ่งก็คือการต่อต้านยิว” ตามรายงานของไทม์สออฟอิสราเอล

ในการพูดถึงภาพยนตร์ที่เนทันยาฮูฉายให้ดู มัสก์ให้คำจำกัดความฮามาส ว่าเป็นคนที่ถูกป้อนความเท็จตั้งแต่พวกเขาเป็นเด็ก ดังนั้น พวกเขาจึงคิดว่าการฆาตกรรมพวกผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ดี “โฆษณาชวนเชื่อสามารถส่งผลกระทบต่อความคิดของประชาชนได้มากมายขนาดนี้” เขากล่าว

มัสก์ ปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่าแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ให้สิทธิหรืออดทนกับการต่อต้านยิว โดยชี้ว่า เขาได้แบนกลุ่มที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไม่ว่ากลุ่มไหนๆ และแสดงความชัดเจนว่าการใช้ถ้อยคำต่างๆ อย่างเช่น ‘การปลดปล่อยอาณานิคม’ และ ‘จากแม่น้ำสู่ทะเล’ ซึ่งถูกใช้บ่อยครั้ง โดยพวกนักเคลื่อนไหวสนับสนุนปาเลสไตน์ มีความหมายโดยนัยคือ การสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว สามารถเป็นเหตุผลสำหรับการแบนทั้งหมด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top