Sunday, 19 May 2024
อิสราเอล

‘คนไทยในอิสราเอล’ อัปเดตสถานการณ์ล่าสุด สะเก็ดระเบิดลอยว่อน หลัง 'อิสราเอล-ฮามาส' เลิกพักรบ แนะ!! เข้าที่กำบัง อย่ามัวถ่ายคลิป

(2 ธ.ค.66) จากช่องติ๊กต็อก @dobung ซึ่งเป็นคนไทยในอิสราเอล ได้โพสต์คลิปอัปเดตสถานการณ์ล่าสุดที่อิสราเอล ในวันที่ 1 ธันวาคม โดยระบุว่า…

“ได้มีการพักรบมาประมาณอาทิตย์นึงแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 26 ที่มีการปล่อยตัวประกัน และวันนี้วันที่ 1 ธันวาคม ก็เลิกพักรบแล้ว และพอเลิกพักรบแล้วก็จัดกันเลย…ยิงมาตู้ม เลยทำให้ฝั่งอิสราเอลมีการยิงสกัดไว้ แต่ทีนี้พอมีการยิงสกัดไว้มันก็จะแตกตู้ม ส่วนแตกตรงไหน แตกบนหัวผมเลยครับ…เลยเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่ามันยังไม่จบ…สงครามยังคงดําเนินต่อไป เพียงแค่พักรบมาพบรักกันชั่วคราวเฉย ๆ 

และเวลาที่มันมีบั้งไฟยิงมา แล้วมีการยิงสกัดเราต้องหลบ ไม่ถ่ายคลิป แต่สถานการณ์นี้เจอกับตัว มีสะเก็ดร่วงลงมาจากฟ้า ลงมาข้างหน้าที่ยืนอยู่ และมันก็ไม่ได้ร่วงทันที แต่จะร่วงหลังจากสกัดประมาณสัก 3 นาที มันเป็นชิ้นส่วนเหมือนโลหะ และที่พบกับตัวนั้นเป็นเพียงแค่สะเก็ดลูกเล็ก ส่วนลูกใหญ่ไม่ต้องพูดถึง ถ้ามันจิ้มไปบนหัวคิดว่าไม่น่ารอด เพราะฉะนั้นควรหลบอย่าไปหาทำแบบถ่ายคลิปอยู่ที่โล่งแจ้ง…” 

เปิดข้อหักล้างคำโกหกของ ‘สื่อหลักตะวันตก’ เกี่ยวกับ ‘ซินเจียง’  ผ่านภาพความขัดแย้งระหว่าง ‘ปาเลสไตน์-อิสราเอล’ ปมฉนวนกาซา

ความจริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 15,000 คน ซึ่งเสียชีวิตในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ผู้เสียชีวิตได้รับการบันทึกและรับรองเป็นรายบุคคล และจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าว มีเด็กมากกว่า 6,000 คน โดยตัวเลขนี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากสหประชาชาติ นี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พลเรือนอย่างเปิดเผยต่อ ‘ระเบียบระหว่างประเทศที่อิงกฎเกณฑ์’


ภาพซ้ายกาซาก่อนถูกอิสราเอลถล่ม จนมีสภาพตามภาพขวา
(ภาพเหล่านี้มาจากสำนักข่าวรอยเตอร์และบีบีซี)


กาซาถูกอิสราเอลถล่มจนมีสภาพเช่นดังภาพ


ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กาซาถูกอิสราเอลถล่มจนมีสภาพเช่นดังภาพ


ส่วนภาพนี่คือ ‘นครอุรุมชี’ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้


นี่คือ ‘เมืองคอร์ลา’ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้


ส่วนนี่คือ ‘เมืองอักซู’ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยเมืองคอร์ลาและเมืองอักซู มีประชากรเพียง 500,000 คนเท่านั้น ปัจจุบัน ‘ชาวอุยกูร์’ มากกว่า 1 ล้านคน จากจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน อาศัยอยู่นอกเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และสามารถพบได้ในทุกจังหวัดของจีนรวมทั้งฮ่องกงด้วย และถ้าไปถามพวกเขาเรื่อง ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียง’ แล้วพวกเขาจะถามกลับมาว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อะไรกัน? ไม่เห็นรู้เรื่องเลย”

Bill Chen, Moderate Singaporean

โลกใบนี้มี 2 ด้านเสมอ สื่อตะวันตกย่อมเสนอแต่มุมที่โลกตะวันตกอยากให้เห็น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามภาพ และแทบจะไม่มีการเผยแพร่โดยสื่อตะวันตกเลย

'อิสราเอล' กร้าว!! จะไล่ล่า 'ฮามาส' ทั้งใน 'เลบานอน-ตุรกี-กาตาร์' แม้ต้องใช้เวลาหลายปี หลังดับชีวิต 'เด็ก-สตรี' ในกาซาไปแล้วกว่า 15,000 คน

(4 ธ.ค.66) อิสราเอลจะไล่ล่าฮามาสในเลบานอน ตุรกีและกาตาร์ แม้ต้องใช้เวลานานหลายปี จากคำประกาศกร้าวของสำนักงานความมั่นคงชินเบต (Shin Bet) ระบุในถ้อยแถลงในเทปบันทึกภาพที่ออกอากาศผ่านสำนักข่าวข่าน สื่อมวลชนแห่งรัฐอิสราเอลเมื่อวันอาทิตย์ (3 ธ.ค.)

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ‘โรเนน บาร์’ หัวหน้า Shin Bet แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่และกับใคร ในขณะที่ตัวสำนักงานความมั่นคง ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

"คณะรัฐมนตรีกำหนดเป้าหมาย ในการพูดอย่างไม่เป็นทางการ ในการกำจัดฮามาส นี่คือมิวนิคของเรา เราจะทำสิ่งนี้ในทุกหัวระแหวงของกาซา ในเวสต์แบงก์ ในเลบานอน ในตุรกีและในกาตาร์ มันจะใช้เวลาหลายปี แต่เราจะทำมัน"

ในการกล่าวถึงมิวนิค ‘บาร์’ อ้างถึงปฏิบัติการตอบโต้ของอิสราเอล ต่อเหตุการณ์เมื่อปี 1972 ที่คณะนักกีฬาโอลิมปิกของอิสราเอล 11 คนเสียชีวิต จากกรณีที่พวกมือปืนจากกลุ่มปาเลสไตน์ กันยายนทมิฬ (Black September) เปิดฉากโจมตีมิวนิคเกมส์

อิสราเอล ตอบโต้ด้วยการเปิดยุทธการณ์ลอบสังหารแบบเล็งเป้าหมาย กับพวกมือปฏิบัติการและพวกผู้วางแผนของกลุ่มกันยายนทมิฬ เป็นเวลาหลายปีและในหลายประเทศ

ทั้งนี้ อิสราเอล ประกาศกำจัด ฮามาส หลังกลุ่มมือปืนของนักรบปาเลสไตน์ บุกจู่โจมข้ามชายแดนจากฉนวนกาซา เข้าไปสังหารผู้คนในอิสราเอลกว่า 1,200 รายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และจับตัวประกันราว 240 คน

นับตั้งแต่นั้น อิสราเอล ตอบโต้ด้วยการประกาศทำลายล้างฮามาส และเริ่มปฏิบัติการโจมตีทั้งทางอากาศ ทางทะเลและจู่โจมทางภาคพื้น สังหารผู้คนในฉนวนกาซามากกว่า 15,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก

นอกเหนือจากกาซาแล้ว พวกผู้นำฮามาสมักไปอาศัยอยู่หรือเดินทางเยือนเลบานอน ตุรกีและกาตาร์ บ่อยครั้ง ในขณะที่ กาตาร์ ช่วยเป็นคนกลางในข้อตกลงหยุดยิง 1 สัปดาห์ ที่พังครืนลงไปเมื่อวันศุกร์(1ธ.ค.)

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาติต่างๆ หลายประเทศก็เสนอมอบความคุ้มครองบางอย่างแก่พวกฮามาส แม้ว่าฮามาสอยู่ในบัญชีดำก่อการร้าย ทั้งในออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป อิสราเอล ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

ในปี 1997 หน่วยข่าวกรอง Mossad อิสราเอล ลอบวางยาพิษ คาเลด เมชาล ผู้นำฮามาส ณ ขณะนั้นใน จอร์แดน แต่ท้ายที่สุดแล้ว อิสราเอล ยอมมอบยาถอนพิษช่วยชีวิต เมชาล แก่จอร์แดน

‘สภาฯ สูงมะกัน’ โหวตคว่ำร่างงบฯ หนุน ‘ยูเครน-อิสราเอล’ แนะ!! โยกงบฯ ไปดูแลพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโก จะดีกว่า

(7 ธ.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วุฒิสภาสหรัฐได้โหวตคว่ำร่างกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินเพื่อมอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงครั้งใหม่ให้แก่ประเทศยูเครนและอิสราเอล ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม หลังสมาชิกพรรครีพับลิกันเรียกร้องให้มีการนำเอางบประมาณดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับมาตรการเพื่อควบคุมการเข้าเมืองตามพรมแดนที่ติดกับประเทศเม็กซิโกที่รัดกุมยิ่งขึ้น

ร่างงบประมาณที่เป็นข้อเสนอของฝ่ายบริการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดังกล่าวแบ่งเป็นการมอบความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้กับยูเครนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเงินช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลยูเครน และยังมอบความช่วยเหลือให้กับอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาอีก 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ร่างงบประมาณนี้ได้รับเสียงสนับสนุนในวุฒิสภาไป 49 ต่อ 51 เสียง น้อยกว่า 60 เสียงที่ต้องการเพื่อเปิดให้มีการอภิปรายร่างงบประมาณในสภา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความพยายามของประธานาธิบดีไบเดนที่จะให้มีการมอบความช่วยเหลือครั้งใหม่ก่อนสิ้นปีนี้

สว.ของพรรครีพับลิกันทุกคนโหวตคว่ำร่างงบประมาณมอบความช่วยเหลือชุดใหม่แก่ยูเครนและอิสราเอล เช่นเดียวกับนายเบอร์นี แซนเดอร์ส สว.อิสระที่มักโหวตเห็นชอบกับพรรคเดโมแครตแต่ได้โหวตคว่ำร่างงบประมาณที่ว่านี้ โดยเขาเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการให้งบสนับสนุนยุทธวิธีทางทหารที่ไร้มนุษยธรรมของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ในขณะนี้

นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในสภาสูงจากพรรคเดโมแครตก็ได้โหวตคว่ำร่างงบประมาณฉุกเฉินฉบับนี้เช่นกัน เพื่อที่เขาจะสามารถเสนอร่างงบประมาณดังกล่าวได้อีกครั้งในอนาคต โดยภายหลังการโหวต ชูเมอร์ได้กล่าวถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหากยูเครนพ่ายแพ้สงคราม โดยกล่าวว่ามันจะเป็นเหตุการณ์ที่น่าตึงเครียดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปในระยะยาวตลอดช่วงศตวรรษที่ 21 และเสี่ยงที่จะทำให้ระบอบประชาธิปโตยของชาติตะวันตกอาจเสื่อมถอยลง

ขณะที่ฝ่ายพรรครีพับลิกันให้ความเห็นว่าการเพิ่มความรัดกุมให้กับนโยบายการเข้าเมืองและการควบคุมพรมแดนทางตอนใต้ของประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ และถึงแม้ร่างงบประมาณฉุกเฉินฉบับดังกล่าวจะผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภา แต่มันจะต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่รีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ซึ่งสมาชิกของรีพับลิกันหลายคน รวมถึงนายไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาล่าง ไม่เห็นด้วยที่จะมอบความช่วยเหลือให้กับยูเครนเพิ่ม

‘Zara’ เสียใจ ถูกกล่าวหาทำโฆษณาล้อเลียนในกาซา ยัน!! เป็นเพียง ‘ศิลปะ’ ในการแสดงชุดเสื้อผ้าเท่านั้น

เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.66) เกิดกรณีดรามาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนับหมื่นคนถล่มคอมเมนต์ใต้โพสต์แคมเปญโฆษณาชิ้นหนึ่งบนบัญชีอินสตาแกรมของ ‘ซารา’ (Zara) ซึ่งหลายคนมองว่าหุ่นที่ถูกห่อผ้าขาวในรูปนั้นคล้ายร่างไร้วิญญาณของเหยื่อในสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส พร้อมพากันติดแฮชแท็กคว่ำบาตร #BoycottZara

รูปภาพหนึ่งในแคมเปญโฆษณาดังกล่าวที่เรียกว่า ‘The Jacket’ แสดงให้เห็นนางแบบรายหนึ่งกำลังถือหุ่นรูปคนที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติกสีขาวซึ่งคล้ายกับคนกำลังแบกร่างไร้วิญญาณที่ถูกห่อด้วยผ้าสีขาว โดยในรูปภาพชุดดังกล่าวนั้น นางแบบได้ยืนอยู่ท่ามกลางหินที่แตกร้าว รูปปั้นที่เสียหาย และแผ่นยิปซัมที่แตกหัก

ล่าสุด ‘ซารา’ ออกแถลงการณ์ผ่านอินสตาแกรมเมื่อวานนี้(12 ธ.ค.) ว่า แคมเปญโฆษณาดังกล่าวเริ่มกระบวนการผลิตตั้งแต่เดือน ก.ค. และถ่ายภาพในสตูดิโอเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งในฉนวนกาซาเมื่อเดือน ต.ค. ส่วนหุ่นรูปปั้นไร้แขนในสตูดิโอนั้น ทางแบรนด์ตั้งใจจะโชว์เป็นพร็อพประกอบฉากเท่านั้น

ด้านอินดิเท็กซ์ (Inditex) บริษัทแม่ของซารา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ได้ลบโฆษณาชุดดังกล่าวออกจากทุกแพลตฟอร์มของบริษัทแล้ว

“ภาพโฆษณาเหล่านี้ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์เดียว คือการแสดงชุดเสื้อผ้างานฝีมือภายใต้บริบทเชิงศิลปะเท่านั้น” ซาราชี้แจง

“ซารารู้สึกเสียใจที่เกิดความเข้าใจผิดนี้ และเราขอยืนยันอีกครั้งถึงความเคารพจากใจจริงของเราที่มีต่อทุกคน”

‘เยอรมนี’ เปลี่ยนท่าทีถอยห่าง ‘อิสราเอล’ วอน!! ให้ปกป้องชีวิตพลเรือนปาเลสไตน์

(13 ธ.ค.66) ‘เยอรมนี’ หวังว่า ‘อิสราเอล’ จะปรับยุทธวิธีทางทหาร หาทางป้องกันความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพลเรือนปาเลสไตน์ได้ดีกว่าเดิม” ความเห็นจากรัฐมนตรีต่างประเทศ ‘อันนาเลนา แบร์บ็อค’ (Annalena Charlotte Alma Baerbock) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 

คำพูดดังกล่าวถือเป็นการสะท้อนต่อการปรับเปลี่ยนท่าทีเล็กน้อยของเบอร์ลิน จากเดิมจุดยืนที่ผ่านมา เยอรมนี ออกมาปกป้องอย่างหนักแน่นต่อสิทธิของอิสราเอล ในการป้องกันตนเอง นับตั้งแต่ถูกพวกนักรบฮามาสโจมตีนองเลือดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยเน้นย้ำว่า พวกเขามีหน้าที่ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล เพื่อไถ่โทษต่อกรณีกระทำผิดในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ซึ่งพบเห็นชาวยิวมากกว่า 6 ล้านคนถูกสังหารโดยนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนภายหลังรัฐบาลเยอรมนีก็ถูกกล่าวหาต่างๆ นานา ซึ่งในนั้นรวมถึงพลเรือนชาวยิวคนดังที่พำนักอยู่ในเยอรมนีเอง ต่อกรณีให้สัญญาณผิดๆ เปิดทางให้อิสราเอลปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ ซึ่งก่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมในกาซาด้วย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนตอนนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเยอรมนี ต่างหันมาส่งเสียงเน้นย้ำดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงความจำเป็นที่อิสราเอลต้องยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศ ในการตอบโต้การโจมตีของพวกฮามาส แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงหลีกเลี่ยงวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาต่อพฤติกรรมต่างๆ นานาของอิสราเอลในฉนวนกาซา ดินแดนของปาเลสไตน์

โดยท่าทีที่ว่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว “เราคาดหมายอิสราเอล จะเปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางตอนเหนือ เพื่อรับประกันว่าปฏิบัติการทางทหารของพวกเขา จะเจาะจงเป้าหมายมากกว่าเดิมและก่อความสูญเสียแก่พลเรือนน้อยลง" รัฐมนตรีเยอรมนีรายนี้กล่าวระหว่างแถลงข่าวในดูไบ รอบนอกการประชุมโลกร้อนของสหประชาชาติ

ทั้งนี้ พลเรือนส่วนใหญ่จากประชากรทั้งหมด 2.3 ล้านคนของกาซา ต้องหลบหนีออกจากบ้านพักอาศัย และพวกชาวบ้านบอกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะหาที่หลบภัยในฉนวน ที่มีพลเรือนพลุกพล่านแห่งนี้ ในขณะที่ความขัดแย้งหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ได้สังหารผู้คนในกาซาไปแล้วกว่า 18,000 ราย

ขณะที่ด้าน โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเรียกร้องให้ อิสราเอล เปิดทางความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้เข้าสู่กาซาเพิ่มเติม และประณามการใช้ความรุนแรงของพวกผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวในเวสต์แบงก์ ในนั้นรวมถึงระหว่างที่เขาพูดคุยทางโทรศัพท์กับ เบนจามิน เนทันยาฮู เมื่อวันเสาร์ (9ธ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี แสดงความยินดีในกรณีที่สหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรพวกผู้ตั้งถิ่นฐานอิสราเอลจำนวนหนึ่ง ต่อเหตุโจมตีชาวปาเลสไตน์ ในดินแดนยึดครองเวสต์แบงก์ และเรียกร้องให้อียู ทำการพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรแบบเดียวกัน

'เนทันยาฮู' รับ!! ทหารยิงพลาด ทำตัวประกันอิสราเอลเสียชีวิตไป 3 ราย หลังทหารคิดว่าตัวประกันทั้ง 3 เป็นภัยคุกคาม จึงระดมยิงใส่จนเสียชีวิต

(16 ธ.ค.66) กองทัพอิสราเอลออกมาแถลงยอมรับวานนี้ (15 ธ.ค.) ว่าเกิดการโจมตีที่ผิดพลาด จนทำให้ตัวประกันที่ถูกฮามาสคุมขังอยู่ในกาซาเสียชีวิตไป 3 ราย ซึ่งทางกองทัพกำลังดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้อยู่

โฆษกกองทัพยิวระบุว่า ตัวประกันกลุ่มนี้ถูกสังหารระหว่างปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มฮามาสในกาซา และขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้สูญเสีย พร้อมย้ำว่าจะมีการสอบสวนเรื่องนี้ ‘อย่างโปร่งใส’

กองทัพอิสราเอลอ้างว่า ระหว่างที่มีการสู้รบอย่างหนักหน่วงกับพวกฮามาส ทหารเกิดความเข้าใจผิด “คิดว่าตัวประกันชาวอิสราเอล 3 คนเป็นภัยคุกคาม จึงได้ระดมยิงใส่พวกเขาจนเสียชีวิต”

ตัวประกันที่เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ได้แก่ โยตัม ฮาอิม (Yotam Haim) ซึ่งถูกลักพาตัวไปจาก Kibbutz Kfar, ซาเมอร์ ทาลาลกา (Samer Talalka) ซึ่งถูกลักพาตัวไปจาก Kibbutz Nir Am และ อาลอน ชามริซ (Alon Shamriz) ซึ่งถูกลักพาตัวไปจาก Kibbutz Kjar Aza โดยพวกนักรบฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค.

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ได้มีถ้อยแถลงปลอบใจญาติผู้เสียชีวิต โดยระบุว่า “ผมขอร่วมกับชาวอิสราเอลทั้งหลายก้มศีรษะด้วยความโศกเศร้า และขอไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของลูกชายผู้เป็นที่รักของเราทั้ง 3 คนที่ถูกลักพาตัวไป”

“ผมขอส่งกำลังใจไปยังครอบครัวผู้สูญเสียในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้”

Hostages and Missing Persons Families Forum ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนครอบครัวของผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยฮามาสได้ออกมายืนยันรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คน และแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลได้ปฏิบัติการสู้รบอย่างหนักหน่วงกับพวกฮามาสซึ่งมักจะอำพรางตัวด้วยการสวมใส่ชุดพลเรือน และเมื่อวันพุธ (12) ก็ได้ประกาศว่ามีทหารอิสราเอลเสียชีวิตถึง 10 รายในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นความสูญเสียในรอบวันหนักที่สุดสำหรับอิสราเอลนับตั้งแต่สงครามกาซาปะทุขึ้น

กลุ่มมือปืนฮามาสได้บุกข้ามแดนมาโจมตีตอนใต้ของอิสราเอล สังหารประชาชนไปราว 1,200 คน และจับคนไปเป็นตัวประกันอีก 240 ชีวิตเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ขณะที่การโจมตีแก้แค้นของอิสราเอลที่ดำเนินมานานกว่า 2 เดือนก็ได้คร่าชีวิตพลเรือนปาเลสไตน์ไปแล้วเกือบ 19,000 คนตามข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขกาซา และอาจจะยังมีอีกหลายพันศพที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังโดยไม่ใครรับรู้

ฮามาสได้ยอมปลดปล่อยผู้หญิง เด็ก และชาวต่างชาติออกมากว่า 100 คนระหว่างช่วงพักรบ 7 วันเมื่อปลายเดือนพ.ย. โดยแลกเปลี่ยนกับนักโทษหญิงและวัยรุ่นปาเลสไตน์ 240 คนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำอิสราเอล

นักโทษปาเลสไตน์เหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกจับฐานพยายามใช้มีดแทง ขว้างปาก้อนหินใส่ทหารอิสราเอล หรือถูกครหาว่ามีความเชื่อมโยงกับองค์กรที่ไม่เป็นมิตรกับอิสราเอล โดยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้คำสั่งคุมขังทางปกครอง(administrative detention) ซึ่งก็หมายถึงการจับไปขังไว้เฉยๆ โดยไม่ไต่สวนความผิด

สถานีโทรทัศน์ช่อง 12 ของอิสราเอลรายงานว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนไปรวมตัวกันที่ด้านนอกฐานทัพอิสราเอลในกรุงเทลอาวีฟ และตะโกนเรียกร้องให้มีการ “ทำข้อตกลงในทันที”

เวลานี้ยังมีตัวประกันถูกคุมขังอยู่ในกาซาอีกกว่า 100 คน ซึ่งบางคนก็ถูกทางการอิสราเอลยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว

‘มาเลเซีย’ ประกาศแบนเรือสินค้า ‘อิสราเอล’ ไม่ให้จอดเทียบท่า โต้ถล่มกาซา-ชาวปาเลสไตน์ มั่นใจการค้าของประเทศไม่กระทบ

(20 ธ.ค.66) ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศแบนไม่ให้เรือบรรทุกสินค้าสัญชาติอิสราเอลจอดเทียบท่าที่ท่าเรือของมาเลเซีย เพื่อเป็นการตอบโต้การที่อิสราเอลทำการโจมตีใส่ฉนวนกาซาและชาวปาเลสไตน์ ซึ่งมาเลเซียกล่าวว่าเป็นการเพิกเฉยต่อหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ระบุในแถลงการณ์ว่า “รัฐบาลมาเลเซียได้ตัดสินใจที่จะขัดขวางและไม่อนุญาตให้ ZIM บริษัทขนส่งสินค้าที่มีฐานการดำเนินงานในประเทศอิสราเอล จอดเรือเทียบท่าที่ท่าเรือใดก็ตามของมาเลเซีย” รวมถึงไม่อนุญาตให้เรือลำใดก็ตามที่ติดธงอิสราเอลเข้ามาจอดเทียบท่าในประเทศเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้ว มาเลเซียยังได้แบนไม่ให้เรือลำใดก็ตามที่กำลังเดินทางไปยังอิสราเอล ทำการลงสินค้าที่ท่าเรือของมาเลเซียโดยมีผลในทันที ด้านนายกรัฐมนตรีอิบราฮิมของมาเลเซียมั่นใจว่าการค้าของประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจดังกล่าว โดยมาเลเซียไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

ก่อนหน้านั้น รัฐบาลมาเลเซียได้อนุญาตให้บริษัท ZIM สามารถนำเรือมาจอดเทียบท่าที่ท่าเรือของมาเลเซียได้ในปี 2002 แต่ใบอนุญาตดังกล่าวก็ได้ถูกเพิกถอนออกไปแล้วตามแถลงการณ์ล่าสุดของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

‘อิสราเอล’ บุกโจมตีทางอากาศใน ‘ซีเรีย’ เด็ดชีวิต!! ที่ปรึกษาระดับสูงกองทัพอิหร่าน

(26 ธ.ค.66) อิสราเอลโจมตีทางอากาศใส่พื้นที่รอบนอกกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค.) สังหารที่ปรึกษาระดับสูงรายหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวด้านความมั่นคง 3 รายและสื่อมวลชนแห่งรัฐอิหร่าน ในเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สืบเนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส

แหล่งข่าวบอกกับรอยเตอร์ว่า ที่ปรึกษารายดังกล่าวก็คือซายเยด ราซี มัวซาวี ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานพันธมิตรทหารระหว่างซีเรียกับอิหร่าน

"ผมไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวของต่างประเทศ ในเรื่องเหล่านี้หรืออื่นๆ ในตะวันออกกลาง" พล.ร.ต.ดาเนียล ฮาการี โฆษกกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอลกล่าว ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง "แน่นอนว่ากองทัพอิสราเอลมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของอิสราเอล"

สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐของอิหร่าน แทรกรายงานข่าวปกติ ด้วยการออกอากาศคำแถลงแจ้งว่า มัวซาวี ถูกสังหาร พร้อมให้คำจำกัดความเขาว่าเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาเก่าแก่ที่สุดของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่านในซีเรีย

นอกจากนี้แล้วสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐของอิหร่าน ยังระบุด้วยว่า มัวซาวี เป็นหนึ่งในผู้ติดตามของ พล.ต.กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) แห่งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ซึ่งเสียชีวิตในอิรัก ในปฏิบัติการโดรนโจมตีของสหรัฐฯ เมื่อปี 2020

ฮอสเซน อัคบารี เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำดามัสกัสให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ ว่า มัวซาวี มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ณ สถานทูต ในฐานะผู้แทนทูต และถูกสังหารโดยจรวดของอิสราเอล ขณะเดินทางจากที่ทำงานมุ่งหน้ากลับบ้าน

เอบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน กล่าวว่าเหตุลอบสังหารมัวซาวี แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในส่วนของอิสราเอล "การกระทำนี้เป็นสัญญาณถึงความผิดหวังและความอ่อนแอของระบอบไซออนิสต์ในภูมิภาค ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาจะต้องชดใช้ราคาแพง"

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน บอกว่าอิสราเอลจะต้องทุกข์ทรมานจากการสังหารมัวซาวี ซึ่งประดับยศนายพลจัตวาแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ "รัฐบาลไซออนิสต์ผู้แย่งชิงและป่าเถื่อน จำเป็นต้องชดใช้อาชญากรรมนี้"

นาสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน บอกกับสื่อมวลชนแห่งรัฐว่า "อิหร่านขอสงวนสิทธิ์ในการใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อตอบโต้การกระทำนี้ ณ เวลาและสถานที่ที่เหมาะสม"

ในส่วนของญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ก็ประณามการสังหารมัวซาวีเช่นกัน โดยเรียกมันว่าเป็นการกระทำที่ขี้ขลาดตาขาว พร้อมเผยว่ามัวซาวี มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนขบวนการต่อต้านในภูมิภาค เช่นเดียวกับประชาชนชาวปาเลสไตน์และเหตุผลของชาวปาเลสไตน์

เป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่อิสราเอลปฏิบัติการโจมตีในสิ่งที่พวกเขาให้คำจำกัดความว่าเป็นเป้าหมายต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอิหร่านในซีเรีย ประเทศที่อิทธิพลของเตหะรานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่อิหร่านให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในสงครามกลางเมือง ที่ปะทุขึ้นในซีเรียเมื่อปี 2011

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน อิหร่านบอกว่าการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล ได้สังหารสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน 2 นายในซีเรีย ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางทหารแก่ซีเรีย

อิหร่าน ส่งสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติหลายร้อยนาย ในฐานะที่ปรึกษา เข้าไปช่วยฝึกฝนและจัดระบบแก่พวกนักรบติดอาวุธชีอะห์หลายพันคนจากอิรัก อัฟกานิสถานและปากีสถาน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีอัสซาด ในความขัดแย้งในซีเรีย ขณะที่นักรบจากกลุ่มฮิบบอลเลาะห์ในเลบานอน ก็ทำงานใกล้ชิดกับบรรดาผู้บัญชาการทหารของอิหร่านในซีเรียเช่นกัน

สงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ อีกหนึ่งความขัดแย้งที่สะเทือนโลกทั้งใบ

ปี 2566 กำลังจะจบลง แต่สิ่งที่คงยังไม่จบลงง่าย ๆ เห็นจะเป็นความขัดแย้งอันละเอียดอ่อน ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนตะวันออกกลางให้สั่นคลอน นั่นคือ สงครามระหว่าง ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ที่ได้เริ่มเปิดฉากโจมตีใส่กัน ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด

อีกทั้ง ประชาชนของทั้ง 2 ฝ่าย ก็ยังตกเป็นเหยื่อที่ต้องทนทุกข์จากพิษของสงคราม โดยชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์จำนวนมากยังคงติดอยู่ในประเทศ และเผชิญกับความยากลำบากเพราะขาดไฟฟ้า น้ำประปา และความสะดวกด้านสาธารณูปโภค

โดยเหตุการณ์ทั้งหมด เริ่มต้นมาจากการที่กลุ่มนักรบปาเลสไตน์ หรือ ‘ฮามาส’ ได้เปิดฉากระดมยิงจรวดหลายพันลูกจากฉนวนกาซา โจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค.ผ่านมา พร้อมทั้งส่งกองกำลังติดอาวุธหลายสิบคน แทรกซึมเข้าไปโจมตีในหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล พร้อมจับตัวประกันไว้หลายคน ซึ่งมีแรงงานไทยด้วยจำนวนหนึ่ง

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล ออกมาประกาศว่า เวลานี้ประเทศอิสราเอลอยู่ใน ‘ภาวะสงคราม’ อย่างเต็มรูปแบบ และยังได้ระดมทหารกองหนุนเพื่อมาร่วมต่อสู้แล้ว โดยเขาประกาศว่า นี่จะเป็นการแก้แค้นครั้งใหญ่ให้กับคนหนุ่มสาวทุกคนที่เสียชีวิต และจะเปลี่ยนฉนวนกาซาให้เป็น ‘เกาะร้าง’

กลุ่มฮามาสได้ออกมาอ้างเหตุผลว่า การโจมตีครั้งนี้มีขึ้นเพื่อตอบโต้ต่อความโหดร้ายทั้งหมด ที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญจากอิสราเอลตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการกระทำของกองกำลังอิสราเอลที่บุก ‘มัสยิดอัล-อักซอ’ (Al-Aqsa) ในนครเยรูซาเล็ม อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อนักโทษปาเลสไตน์ในเรือนจำอิสราเอล

การปะทะกันระหว่างฮามาสกับกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตของ 2 ฝั่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ นักรบ และพลเรือนผู้บริสุทธิ์ พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังถือเป็นวิกฤติตัวประกันครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อีกด้วย

โดยยอดผู้เสียชีวิตทางฝั่งของชาวปาเลสไตน์ ล่าสุดสูงถึง 20,000 คน (ตัวเลขเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 66) นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มทิ้งระเบิดเพื่อตอบโต้การโจมตี ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1% ของประชากรจำนวน 2.2 ล้านคนในพื้นที่ฉนวนกาซา ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4,100 คน หมายความว่า มีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ย 1 คนในทุก 10 นาที (ตัวเลขเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66)

ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตของทางฝั่งอิสราเอล ซึ่งมีทั้งชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติ เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย จากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อมูลอย่างละเอียดของทางการอิสราเอล ได้ทำการพิสูจน์อัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตแล้ว 1,159 ราย พบว่า เป็นพลเรือน 828 ราย และเด็ก 31 ราย (ตัวเลขเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 66) อย่างไรก็ดี ระบบป้องกันภัยทางอากาศ (Iron Dome) ของอิสราเอล สามารถป้องกันความเสียหายร้ายแรง หรือการบาดเจ็บล้มตายเอาไว้ได้

ต่อมา ในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นตัวกลางในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ได้ออกมาเผยว่า อิสราเอลและกลุ่มฮามาส จะหยุดยิงเป็นเวลา 4 วัน และตัวประกันชุดแรก 13 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก จะถูกปล่อยตัวออกมาฉนวนกาซา ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน และได้มามีการขยายเวลาหยุดยิงเพิ่มขึ้นอีก รวมเป็นระยะเวลา 7 วัน เพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกัน โดยมีประเทศกาตาร์ เป็นตัวกลางในการเจรจาข้อตกลง เพื่อช่วยเหลือตัวประกันที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ให้ได้รับอิสระ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายประกาศชัดเจนว่า จะกลับมาสู้รบกันอีกครั้ง หลังข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวสิ้นสุดลง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา กองทัพอิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีฉนวนกาซาอีกครั้งในรอบสัปดาห์ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนข้อตกลงสิ้นสุด จึงถือเป็นการสิ้นสุดข้อตกลงหยุดยิงของทั้ง 2 ฝ่าย และเดินหน้าสู้รบกันต่ออีกครั้ง

การสู้รบกันระหว่าง ‘อิสราเอล-ฮามาส’ รอบล่าสุดนี้ ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี และกลายเป็นการทำสงครามข้ามปี ตามรอย ‘รัสเซีย-ยูเครน’

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top