Saturday, 5 July 2025
อิสราเอล

ตัวแทนทรัมป์เดือด! ข่าวบึ้มฐานนิวเคลียร์อิหร่าน รั่วไหลถึงสื่อ..ซัดแรง ‘คนทรยศชาติ’ ต้องสอบสวนด่วน

(25 มิ.ย. 68) สตีฟ วิทคอฟฟ์ (Steven Charles Witkoff) ทูตพิเศษของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง หลังรายงานข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลการโจมตีฐานนิวเคลียร์ของอิหร่านรั่วไหลสู่สื่อ โดยระบุว่า ‘เป็นการทรยศชาติ’ และต้องมีการสอบสวนหาผู้กระทำผิดมารับโทษ

วิทคอฟฟ์ กล่าวในรายการของ Fox News ว่า ตนได้อ่านรายงานการประเมินความเสียหายทั้งหมดแล้ว และยืนยันว่า ‘ไม่มีข้อสงสัยเลย’ ว่าทั้ง 3 ฐานนิวเคลียร์ที่ถูกโจมตีถูกทำลายสิ้นแล้ว โดยเฉพาะฐาน ฟอร์โดว์ (Fordow) ที่เขาย้ำว่า ‘ระเบิดทะลวงเข้าถึงเป้าหมายแน่นอน’ ด้านทรัมป์ยังได้แชร์คลิปคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวบน Truth Social พร้อมย้ำว่า ‘การรายงานข่าวที่บอกว่าเราไม่สำเร็จนั้น ไร้สาระสิ้นดี’

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กลับให้ภาพที่ต่างออกไป โดยระบุว่าการโจมตีด้วยระเบิดทะลวงดิน 12 ลูก แม้สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นดินและทางเข้าโรงงาน แต่โครงสร้างใต้ดินที่สำคัญ รวมถึงเครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียม (centrifuges) ส่วนใหญ่ยัง ‘อยู่ครบ’ และการโจมตีอาจเพียงแค่ทำให้แผนของอิหร่านล่าช้าไปไม่กี่เดือนเท่านั้น

รายงานยังเปิดเผยอีกว่า อิหร่านได้เคลื่อนย้ายยูเรเนียมบางส่วนออกจากโรงงานก่อนการโจมตี โดยที่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าโครงการจะฟื้นกลับมาได้เร็วเพียงใด ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขุดเจาะและซ่อมแซมความเสียหาย

ด้านสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต แบรด เชอร์แมน แสดงความกังวลว่า คำประกาศชัยชนะของรัฐบาลทรัมป์อาจใช้ถ้อยคำคลุมเครือเกินไป พร้อมระบุว่าอิหร่านยังมีปริมาณยูเรเนียมที่สามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ถึง 9 ลูก และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสหรัฐฯ ได้ทำลายเครื่องหมุนเหวี่ยงที่จำเป็นต่อการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเหล่านั้นแล้วจริงหรือไม่

ทรัมป์เดือด! ตำหนิสื่อใส่สีอิสราเอลพ่าย ยันแค่ ‘โดนหนักไปหน่อย’ ไม่ได้แพ้อิหร่าน

(26 มิ.ย. 68) ในระหว่างการประชุมสุดยอดนาโต้ที่จัดขึ้นที่กรุงเฮก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกโรงโจมตีสื่อมวลชนอย่างรุนแรง หลังจากที่หลายสำนักข่าวรายงานว่า อิสราเอลอาจพ่ายแพ้ต่ออิหร่านในการสู้รบที่ใช้เวลาประมาณ 12 วัน ทรัมป์กล่าวว่า “อิสราเอลไม่ได้แพ้ แค่พวกเขาโดนหนักไปหน่อย” และเสริมว่าประชาชนอิสราเอลได้รับผลกระทบมากเกินควร เมื่อเห็นว่าขีปนาวุธพิสัยไกลของอิหร่านโจมตีอาคารในอิสราเอลจนพังหลายหลัง

ทรัมป์กล่าวอย่างชัดเจนอีกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางการนำเสนอข่าวของสื่อต่างชาติและในสหรัฐฯ เช่น CNN, The New York Times, MSNBC ที่วิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพการป้องกันของอิสราเอล ซึ่งเขายังเรียกนักข่าวบางคนว่า “พวกคนป่วยและทำลายผลงานทางทหาร” พร้อมเรียกร้องให้มีการปลด นาตาชา เบอร์ทรานด์ (Natasha Bertrand) จาก CNN และเรียกสื่อเหล่านี้ว่า “fake news”

ในช่วงที่เขาออกมาประกาศว่า อิสราเอลและอิหร่านตกลงหยุดยิง (ceasefire) ภายหลัง 'สงคราม 12 วัน' ทรัมป์แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนเมื่อเห็นอิสราเอลยังปล่อยขีปนาวุธ แม้ว่าเขาจะประกาศหยุดยิงแล้วก็ตาม ทั้งนี้เขาเน้นย้ำว่าอิสราเอล “โดนหนักไปหน่อย” แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ความล้มเหลว 

ขอปกป้องเต็มที่! ‘ทรัมป์’ พร้อมหนุน ‘เนทันยาฮู’ เรียกร้องยกเลิกคดีทุจริต ชี้เป็นการ ‘ล่าแม่มด’

(26 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกโรงปกป้องนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลยุติการดำเนินคดีทุจริต หรือออกอภัยโทษให้โดยทันที โดยชี้ว่าเป็น ‘การล่าแม่มด’ ต่อผู้นำที่เขายกย่องว่าเป็น ‘วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของรัฐอิสราเอล’

เนทันยาฮูถูกฟ้องในปี 2019 ในข้อหาติดสินบน ฉ้อโกง และละเมิดความไว้วางใจ โดยการไต่สวนเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2020 และยังคงดำเนินอยู่ในศาลกรุงเทลอาวีฟ โดยล่าสุดเริ่มการซักค้านเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลานานถึง 1 ปี จึงจะเสร็จสิ้น

ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ว่า “คดีของ Bibi (เนทันยาฮู) ควรถูกยกเลิกทันที หรือไม่ก็ให้อภัยโทษกับวีรบุรุษที่ทำคุณมากมายเพื่อชาติอิสราเอล” พร้อมกล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาเคยช่วยอิสราเอล และตอนนี้จะเป็นฝ่ายช่วย Bibi เนทันยาฮู”

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีอิสราเอล ไอแซก เฮอร์ซ็อก ได้ยืนยันผ่านสื่อว่า ยังไม่มีการยื่นขออภัยโทษอย่างเป็นทางการ และ ‘เรื่องนี้ยังไม่อยู่บนโต๊ะ’ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่า ทรัมป์หรือรัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของอิสราเอลได้เพียงใด โดยก่อนหน้านี้ ทรัมป์เพิ่งวิจารณ์อิสราเอลกรณีทิ้งระเบิดอิหร่านหลังการหยุดยิงว่า ‘มากเกินไป’ และทำให้เขาไม่พอใจมาก

‘อิหร่าน’ ในวันที่สูญเสียจาก ‘อิสราเอล’ โจมตี แม้ประเทศเสียหายแต่หัวใจคนอิหร่านกลมเกลียว

หนึ่งประเทศ หนึ่งใจ (One Nation, One Heart) การรุกรานของอิสราเอลทำให้ชาวอิหร่านสามัคคีกันมากขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร?

มุมมองของ Soheila Zarfam จาก Tehran Times

'One Nation, One Heart' เป็นคำขวัญที่ใช้กันในอิหร่าน ซึ่งเน้นย้ำถึงความเป็นเอกภาพและความรักชาติของชาวอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งหรือความตึงเครียดกับอิสราเอล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวอิหร่านที่เกิดขึ้นจากการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ภายนอก

เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย. 68) เป็นวันพุธที่น่าประหลาดใจในเตหะราน หนึ่งวันหลังจากการสู้รบระหว่างอิหร่านและอิสราเอลยุติลง ผู้คนออกมาทำงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับวันก่อน ๆ และทางตอนใต้ ณ สุสานเบเฮชท์-เอ-ซาฮรา ก็มีผู้คนพลุกพล่านมากที่สุดในรอบหลายปี

มีการจัดงานศพหลายงานที่นั่น มีทั้งศพของคนหนุ่มสาว คนชรา ชาย และหญิง ห่อด้วยผ้าขาวที่ชาวมุสลิมใช้ฝังศพ บรรยากาศน่าขนลุก มีผู้คนจำนวนมากร้องไห้ แต่ก็มีบางคนที่ดูหนักแน่นละมั่นคง แม้ว่าใบหน้าของพวกเขาจะแสดงออกถึงความเศร้าโศกก็ตาม

ผู้เขียนพูดคุยกับผู้ร่วมไว้อาลัยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหญิงที่กำลังฝังศพพี่ชายของเธอ เธอสวมชุดคลุมสีดำแบบอิหร่าน ข้าง ๆ เธอมีผู้คนที่แต่งตัวไม่เหมือนเธอเลย พวกเขาสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ และสวมฮิญาบ "ฉันสูญเสียพี่ชายไประหว่างการโจมตีของอิสราเอล เขาเป็นทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพ" ผู้หญิงคนดังกล่าวอธิบาย 'ซาห์รา' ซึ่งเป็นชื่อที่เธอใช้เอง บอกว่าเธอมาจากครอบครัวที่เสียสละสมาชิกจำนวนมากเพื่อประเทศ "ลุงของฉันสองคนเสียชีวิตในสงครามอิหร่าน-อิรัก พ่อของฉันก็เป็นทหารในสงครามนั้นด้วย เราคุ้นเคยกับการได้ยินและพูดคุยเกี่ยวกับผู้พลีชีพ แต่เราไม่เคยคิดว่าเราจะพูดถึงพี่ชายวัย 23 ปีของฉันในลักษณะเดียวกันอีก"

ผู้หญิงที่ยืนอยู่ข้างซาห์ราไม่ใช่ญาติกับเธอ พวกเธอมาเมื่อพวกเธอรู้ว่า มีผู้พลีชีพถูกฝัง คนแปลกหน้าอีกหลายสิบคนก็มารวมตัวกันรอบหลุมศพที่เพิ่งขุดใหม่เพื่อแสดงความเสียใจและสวดมนต์ ผู้เขียนถามผู้หญิงคนหนึ่งจากสองคนที่สะดุดตาผู้เขียนเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อที่เราได้ยินจากสื่อเปอร์เซียที่ตั้งอยู่ในตะวันตกว่า สงครามครั้งนี้เป็นสงครามของสาธารณรัฐอิสลาม และคนไม่เคร่งศาสนาควรแยกตัวจากกองทัพ "เราอยู่ที่นี่เพื่อประเทศของเรา ไม่สำคัญว่าเราจะนับถือศาสนาหรือการเมืองแบบใด เมื่อเป็นเรื่องของอิหร่าน เราพร้อมเสมอที่จะต่อสู้เพื่อมันและยอมสละชีวิต" เธอกล่าวขณะที่ใช้มือบังตาจากแสงแดด

การสร้างความแตกแยกและการแบ่งแยกเป็นวาระสำคัญของศัตรูในช่วงสงคราม 12 วันที่พวกเขาทำกับอิหร่าน ชาวอเมริกันและชาวอิสราเอลได้ขอให้ลูกชายของชาห์ผู้ถูกปลดออกจากอำนาจออกมาประกาศว่า เขาพร้อมที่จะเข้ารับตำแหน่ง อดีตมกุฏราชกุมารผู้ตกงานและหลงผิดคนนี้ถูกเรียกในอิหร่านว่า "เด็กโข่ง" ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ที่นักวิชาการชาวอิหร่านที่มีชื่อเสียงมอบให้กับเขาหลังจากที่เขาสนับสนุนสงครามของอิสราเอลต่อประเทศของเขา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงคราม ความสัมพันธ์ระหว่างชาวอิหร่านกลับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ทรัมป์กล่าวว่าประชาชนควร "อพยพออกจากเตหะราน" ผู้คนนับล้านทั่วประเทศก็ใช้โซเชียลมีเดียประกาศว่าพวกเขาพร้อมที่จะต้อนรับชาวอิหร่านในบ้านของตนเองแล้ว บนท้องถนน ประชาชนออกมาแจกเครื่องดื่มและอาหารแก่กองกำลังรักษาความปลอดภัยที่กำลังตามหาสายลับมอสสาด ส่วนในร้านขายของชำและปั๊มน้ำมัน ผู้คนระมัดระวังไม่ซื้อของมากเกินความจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและเชื้อเพลิง

ในวันอังคารและวันพุธ เจ้าหน้าที่ทหารและการเมืองต่างยกย่องความสามัคคีและความรักชาติว่า เป็นหัวใจสำคัญของชัยชนะของอิหร่านเหนืออิสราเอล ซึ่งเริ่มสงครามกับอิหร่านโดยคิดว่า จะสามารถล้มรัฐบาล โดยการทำลายเสถียรภาพของประเทศ และทำลายกองทัพตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานให้สิ้นซาก

เมื่อผู้เขียนกลับมาถึงบ้านพักในเตหะรานตะวันออก เพื่อนบ้านคนหนึ่งนำ "นาซรี" มาให้ผู้เขียน ซึ่งเป็นอาหารที่ชาวอิหร่านทำและแจกจ่ายให้ผู้อื่นหลังจากที่พวกเขาอธิษฐานขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากพระเจ้า "ผู้เขียนขอให้เราสามัคคีกันและเอาชนะศัตรู" เพื่อนบ้านของผู้เขียนกล่าว เธอเป็นผู้หญิงที่ใกล้จะอายุ 70 ปีแล้ว เธอเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าความสามัคคีและความสอดคล้องกันที่เธอเห็นในช่วงวันสุดท้ายทำให้เธอหวนนึกถึงช่วงสงครามอิหร่าน-อิรัก "ผู้เขียนคิดว่าตราบใดที่ชาวอิหร่านยังมีชีวิตอยู่ การปกป้องประเทศจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเขา ไม่มีใครสามารถพรากสิ่งนี้ไปจากเราได้"

รู้จัก ‘ฉนวนกาซา’ ความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ สู่การเรียนรู้!! ผลลัพธ์อันเหี้ยมโหดของสงคราม

(29 มิ.ย. 68) ใดๆdigest ep.นี้ พามารู้จักกับหนึ่งในพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และการสู้รบที่ทำให้เกิดความสูญเสียกับทุกฝ่ายมาอย่างยาวนานครับ 

ดินแดนที่เรียกกันว่า "ฉนวนกาซา" มีขนาดความยาวเหนือจรดใต้ 41 กิโลเมตร ขณะที่มีความกว้างเพียง 10 กิโลเมตร ขนาบข้างพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกด้วยเขตแดนของอิสราเอล ชายแดนทางใต้ติดกับอียิปต์ ส่วนชายทะเลด้านตะวันตกเป็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีขนาดพื้นที่ประมาณ 360 ตร.กม.เล็กกว่า จ.สมุทรสงคราม ของประเทศไทย ที่มีขนาด 416.7 ตร.กม. เพียงเล็กน้อย 

"กาซา"เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์มีผู้คนอาศัยอยู่ในฉนวนกาซากว่า 2.3 ล้านคนโดยประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กถึงร้อยละ 75 และเป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติจัดไว้ให้ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลังช่วง สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งแรกในปี 1948  และถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สาเหตุที่ถูกเรียกว่า "ฉนวนกาซา" เนื่องจากเขตแดนส่วนนี้ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์หลัง สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งแรก เมื่อปี 1948 ให้เป็นคล้ายกับเขตกันชนระหว่าง 2 ฝ่าย ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า กว่า 80% ของผู้ที่อาศัยในฉนวนกาซาต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากนานาชาติ และประมาณ 1 ล้านคนต้องขอรับความช่วยเหลือด้านอาหารในแต่ละวัน

หลังปี 1948 ฉนวนกาซ่าถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ก็ไม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนส่วนนี้เป็นของตน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงครามหกวัน ในปี 1967 ทำให้ฉนวนกาซ่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง อย่างไรก็ตาม อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 1993 ซึ่งส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้นคือ การอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซ่า

ต่อมาในปี 2005 อิสราเอลจึงได้ดำเนินการถอนทหารและนิคมชาวยิวที่ผิดกฏหมาย ออกจากฉนวนกาซ่าทั้งหมด จากนั้น เมื่อกลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งปี 2006 ฉนวนกาซ่าจึงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนกระทั่งถึงปัจจุบัน กลุ่มฮามาสมีจุดยืนแข็งกร้าวไม่ยอมรับการยึดครองของอิสราเอลอย่างเด็ดขาดและมักก่อเหตุโจมตีอิสราเอลทั้งการส่งมือปืนและมือระเบิดฆ่าตัวตายเข้าไปในอิสราเอลบ่อยครั้ง การบุกจู่โจมอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัว  กลุ่มฮามาสนี้ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งนับถือนิกายชีอะห์และสืบทอดอุดมการณ์จากขบวนการภราดรภาพมุสลิม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในอียิปต์ช่วงทศวรรษ 1920

ลักษณะทางกายภาพของฉนวนกาซานั้นเป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร แถมยังเป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ที่ไม่มีงานทำ เสียเป็นส่วนใหญ่  สภาพอย่างนี้ โดยปกติชาวกาซ่าก็มีความเป็นอยู่ที่ลำบากอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลายปีหลังนับตั้งแต่ 2007 อิสราเอลยังใช้มาตรการปิดล้อมกาซ่า จำกัดการนำเข้าอาหารการกิน ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ด่านพรมแดนต่างๆ ทั้งที่จะข้ามไปอียิปต์และอิสราเอลก็ถูกปิด สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเปรียบเสมือนถูกลงโทษอยู่ใน ‘คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีคนตายจำนวนมากในกาซ่าอันเกิดจากมาตรการปิดล้อมดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากการโจมตีของอิสราเอลครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต หรือการตายอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเพราะไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษา โรคเพียงพอ ที่แย่กว่านั้นคือ เด็กปาเลสไตน์กว่าครึ่งในฉนวนกาซ่าเป็นโรคขาดสารอาหาร ทั้งหมดเป็นผลมาจากการปิดล้อมกาซ่าของอิสราเอลตลอด 7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อิสราเอลยังเป็นผู้ควบคุมน่านฟ้าเหนือเขตกาซา รวมถึงตลอดแนวชายฝั่งทะเลของกาซาด้วย โดยจำกัดผู้คนและสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกตามแนวพรมแดน เช่นเดียวกับอียิปต์ที่ควบคุมการเข้าออกของผู้คนบริเวณพรมแดนที่ติดกับกาซา โดยอิสราเอลและอียิปต์ให้เหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะเหตุผลด้านความมั่นคง

สถานการณ์ดูเหมือนจะย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อทางการอิสราเอลประกาศที่จะยึดครองเขตฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอลที่เกิดขึ้นหลายครั้ง  ซึ่งนั่นหมายถึงการตัดขาดการลำเลียงอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิงเข้าไปยังเขตกาซาด้วย

มาตรการปิดล้อมกาซ่ามีเป้าหมายประการหนึ่ง คือ ต้องการโดดเดี่ยวกาซ่าภายใต้การปกครองของกลุ่มฮามาส อิสราเอลตั้งใจให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าเจอปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จากนโยบายปิดล้อม และตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกอิสราเอลโจมตีอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าลุกฮือต่อต้านกลุ่มฮามาส แต่ผลที่ปรากฏออกมากลับตรงข้าม นับวันฮามาสยิ่งมีคะแนนนิยมมากขึ้น บ้านเมืองในฉนวนกาซ่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น หลักนิติธรรมถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด แม้ประชาชนจะได้รับความทุกข์ยากจากการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจก็ตาม ที่สำคัญคือ กองกำลังฮามาสมีความเข้มแข็งและถูกจัดตั้งอย่างเป็นระบบมากขึ้น 

จุดยืนที่ชัดเจนของ "กลุ่มฮามาส" คือ ไม่ยอมรับการยึดครองของอิสราเอล และมักใช้วิธีการรุนแรงโจมตีอิสราเอล จนทำให้นานาชาติทั้ง อิสราเอล สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา ประกาศขึ้นบัญชีกลุ่มฮามาสเป็น "องค์กรก่อการร้าย" แต่ขณะเดียวกันฮามาสก็มีพันธมิตรที่คอยหนุนหลัง ได้แก่ อิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิม นิกายชีอะห์ในเลบานอน ซึ่งในระยะหลังกลุ่มฮามาสกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาท และใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก

สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้อิสราเอลต้องใช้กำลังเข้ามาโจมตีกาซ่าอย่างที่เราเห็นกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน แม้อิสราเอลเคยบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับอียิปต์และจอร์แดน แต่อิสราเอลและปาเลสไตน์ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายได้ ความไม่ไว้วางใจระหว่างสองฝ่ายยังคงลึกซึ้งนำไปสู่การสู้รบที่ยังคงคุกกรุ่นอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซามาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง 

ไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส จะสิ้นสุดเมื่อใด ดูตามปัจจัยหลายข้อจากสถานการณ์ความรุนแรงระดับภูมิภาคนี้ ความขัดแย้งนี้มีรากฐานจากความตึงเครียดทางประวัติศาสตร์อันยาวนานทั้งทางการเมือง ศาสนา และชาติพันธุ์ในภูมิภาค การเจรจาสันติภาพในอดีตก็มักล้มเหลวเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน 

ส่วนองค์กรระหว่างประเทศและประเทศที่มีอำนาจ ก็ได้พยายามเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในกาซา แต่การเจรจาเหล่านี้มักเผชิญกับความล้มเหลวเนื่องจากข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกัน เช่น ฮามาสเรียกร้องให้มีการยุติการปิดล้อมกาซา ขณะที่อิสราเอลยืนกรานว่าต้องมีการหยุดการโจมตีจากฮามาสอย่างสิ้นเชิง ในขณะเดียวกัน ความรุนแรงทางทหารก็ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ และผู้ที่รับผลจากการสู้รบที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนี้ก็คือประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั่นเอง 

สิ่งที่เราทุกคนควรเรียนรู้จากเรื่องความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ และการสู้รบในฉนวนกาซานี้ก็คือ สงครามไม่เคยเป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงและยั่งยืนให้กับฝ่ายใดได้เลย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายมีแต่จะฝังรากลึกลงไปในจิตใจของผู้สูญเสียและเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังให้เจริญเติบโตต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ทุกร่างที่ทิ้งตัวลงทับถมบนแผ่นดินเปื้อนเลือดและถูกพรากเอาชีวิตไปล้วนเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนของใครสักคนเสมอ ลูกที่สูญเสียพ่อไปจากความเกลียดชังก็จะโตขึ้นไปพรากเอาชีวิตของพ่อใครซักคนไปด้วยความเกลียดชังเป็นวังวนต่อไปอีกหากมนุษย์ไม่เรียนรู้ที่จะให้อภัยและไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน 

ใดๆdigest หวังว่าทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้จะเข้าใจภัยร้ายแรงของสงคราม และปรารถนาการแก้ไขทุกความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในทุกกรณีโดยตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ในตัวของผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกันและแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในทุกๆความขัดแย้งเป็นสำคัญครับ 

ขอไว้อาลัยและแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณทุกดวงที่จาก ไป และขอให้สันติสุขบังเกิดขึ้นโดยเร็ว

ศาลอิสราเอลเลื่อนสืบคดี ‘เนทันยาฮู’ อ้างติดภารกิจดูแลเรื่องความมั่นคงชาติ

(30 มิ.ย. 68) ศาลกรุงเยรูซาเลม มีคำสั่งเลื่อนการไต่สวนคดีทุจริตของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเดิมมีกำหนดในสัปดาห์นี้ หลังเจ้าตัวยื่นคำร้องขอเลื่อน โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ และได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกคดี พร้อมยกย่องเนทันยาฮูว่าเป็น “วีรบุรุษ”

ทีมกฎหมายของเนทันยาฮูให้เหตุผลว่า นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดในการจัดการปัญหาทางการเมืองและความมั่นคง โดยเฉพาะหลังจากเกิดการสู้รบกับอิหร่านที่เพิ่งยุติลงด้วยข้อตกลงหยุดยิง และสถานการณ์ในฉนวนกาซาที่ยังมีตัวประกันชาวอิสราเอลถูกจับอยู่

ก่อนหน้านี้ศาลเคยปฏิเสธคำขอเลื่อนการไต่สวนของเนทันยาฮู แต่ภายหลังเปลี่ยนใจเมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าตัว รวมถึงหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหารและผู้อำนวยการมอสซาด (Mossad) ซึ่งยืนยันว่าเขาจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาให้กับภารกิจด้านความมั่นคง จึงเห็นควรให้เลื่อนการไต่สวนออกไปก่อนในช่วงนี้

สำหรับคดีของเนทันยาฮูมีหลายประเด็น โดยหนึ่งในนั้นคือการรับของขวัญหรูมูลค่ากว่า 260,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.49 ล้านบาท) จากนักธุรกิจ แลกกับผลประโยชน์ทางการเมือง อีกทั้งยังถูกกล่าวหาว่าพยายามต่อรองให้สื่อบางสำนักเสนอข่าวเชิงบวก ขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และมองว่าคดีนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง โดยที่ผ่านมาเขาเคยขอเลื่อนการพิจารณาคดีมาแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2020

‘ไอร์แลนด์’ ลุยแบนสินค้าจาก ‘อิสราเอล’ กลายเป็นชาติแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายชัดเจน

(30 มิ.ย. 68) ไอร์แลนด์กลายเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ผ่านร่างกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากพื้นที่ชาวยิวตั้งถิ่นฐาน (settlements) ของอิสราเอลในเขต West Bank และ East Jerusalem ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ต่อการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ 

ร่างกฎหมายมีชื่อว่า "Israeli Settlements (Prohibition of Importation of Goods) Bill 2025" ให้ความชัดเจนว่าห้ามนำเข้าสินค้าจากย่านเหล่านั้น เช่น ผลไม้ เครื่องสำอาง และไม้ เฉพาะสินค้าที่ผลิตในพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองเท่านั้น สินค้าที่ผลิตโดยชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่เดียวกันจะยังได้รับอนุญาต 

รัฐบาลไอร์แลนด์กล่าวว่า การกระทำนี้สอดคล้องกับคำปรึกษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เมื่อปีที่ผ่านมา ที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หยุดสนับสนุนเศรษฐกิจจากการยึดครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รองนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ไซมอน แฮร์ริส (Simon Harris) เผยว่าการเป็นผู้นำครั้งนี้จะสร้างแรงกดดันเชิงสากลและเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ปฏิบัติตาม

อิสราเอลตอบโต้ไอร์แลนด์อย่างรวดเร็วด้วยการปิดสถานทูตในกรุงดับลิน โดยให้เหตุผลว่าไอร์แลนด์มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งจริง ๆ แล้วอิสราเอลได้ดำเนินการปิดสถานทูตไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการจำนวนมากออกมาแสดงการสนับสนุนกฎหมายของไอร์แลนด์ โดยชี้ว่าแนวทางนี้มีฐานทางกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน

สหรัฐฯ ไฟเขียวขายอาวุธให้ยิว 510 ล้านดอลล์ หลังใช้ระเบิดจำนวนมากในสงครามกับอิหร่าน

(1 ก.ค. 68) สหรัฐฯ อนุมัติขายอุปกรณ์ระเบิดนำวิถีให้อิสราเอล มูลค่า 510 ล้านดอลลาร์ (ราว 18,700 ล้านบาท) หลังจากอิสราเอลใช้ระเบิดไปจำนวนมากในสงครามกับอิหร่าน โดยชุดอุปกรณ์นี้จะช่วยให้อิสราเอลสามารถโจมตีเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น

หน่วยงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ระบุว่า การขายอาวุธครั้งนี้จะช่วยให้อิสราเอลมีศักยภาพในการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามในตอนนี้และในอนาคต รวมถึงปกป้องพรมแดน สิ่งก่อสร้างสำคัญ และพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น

รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่า ความมั่นคงของอิสราเอลเป็นเรื่องสำคัญต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และการสนับสนุนให้อิสราเอลมีศักยภาพในการป้องกันตัวเองอย่างแข็งแกร่งและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สหรัฐฯ ต้องทำ

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติการขายอาวุธให้กับอิสราเอลในขั้นต้นแล้ว ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งเรื่องให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งยังต้องรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายก่อนจะเริ่มดำเนินการซื้อขายจริงได้

‘เยเมน-กาซา’ กระหน่ำยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอล สหรัฐฯ ขู่ใช้ B-2 ทิ้งบอมบ์เยเมน ตอบโต้กลุ่มฮูตี

(2 ก.ค. 68) อิสราเอลสกัดขีปนาวุธที่ยิงจากเยเมนได้สำเร็จ พร้อมประกาศตอบโต้ทันที ขณะที่ไมค์ ฮักคาบี (Mike Huckabee) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอล แถลงว่ามีความเป็นไปได้ที่จะส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 ไปโจมตีเยเมน เช่นเดียวกับที่เคยใช้โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ฟอร์โดวของอิหร่านเมื่อไม่นานนี้

เสียงไซเรนแจ้งเตือนการโจมตีทางอากาศดังทั่วเทลอาวีฟ เยรูซาเลม และภาคกลางของอิสราเอล ประชาชนพากันหลบในที่ปลอดภัย ท่ามกลางความตื่นตระหนก ด้านรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล อิสราเอล คัทซ์ (Israel Katz) กล่าวอย่างแข็งกร้าวว่า “เยเมนจะพบจุดจบเช่นเดียวกับเตหะราน” พร้อมระบุว่า “ใครยกมือทำร้ายอิสราเอล มือคนนั้นจะถูกตัดทิ้ง”

รายงานจากสถานีวิทยุกองทัพอิสราเอลระบุว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธ Arrow ของอิสราเอลสามารถยิงสกัดขีปนาวุธจากเยเมนได้สำเร็จในอากาศ นอกจากนี้ ทางการได้สั่งปิดน่านฟ้าบางส่วนเป็นการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย โดยนับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการถล่มกาซาอีกครั้ง กลุ่มอันซารุลเลาะห์ในเยเมนได้ยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอลแล้ว 53 ลูก

ขณะเดียวกัน ทางภาคใต้ของอิสราเอล กองทัพประกาศว่าสามารถสกัดจรวด 2 ลูกที่ยิงจากฉนวนกาซาได้สำเร็จ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยมีรายงานเสียงไซเรนดังในหลายจุดใกล้ชายแดนกาซา ขณะที่กลุ่มอัลกอซซามของฮามาสอ้างความรับผิดชอบ พร้อมระบุว่าได้ยิงจรวด Q20 จากพื้นที่ทางเหนือของคานยูนิสใส่เป้าหมายของอิสราเอลที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

สหรัฐฯ สั่งเพิกถอนวีซ่า Bob Vylan ปมตะโกน ‘Free Palestine’ ตำรวจอังกฤษเปิดสอบสวนทางการ ฐานยุยงเกลียดชัง

(2 ก.ค. 68) แร็ปเปอร์แนวพังก์สัญชาติอังกฤษ บ็อบ ไวแลน (Bob Vylan) จุดกระแสร้อนกลางเวที Glastonbury Festival หลังตะโกนคำว่า “Free Palestine” (ปลดปล่อยปาเลสไตน์) และ “Death to the IDF” (ความตายจงมีแก่กองทัพอิสราเอล) ระหว่างการแสดงสดที่ถ่ายทอดผ่านช่อง BBC โดยคำพูดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการปลุกปั่นเกลียดชัง กระทบต่อความมั่นคงและอาจเข้าข่ายยุยงให้เกิดความรุนแรง

แม้กองทัพอิสราเอล (IDF) จะปฏิเสธให้ความเห็นโดยกล่าวสั้น ๆ ว่า "ไม่มีความเห็นในเรื่องนี้" แต่สถานทูตอิสราเอลในลอนดอนออกแถลงการณ์ว่า “รู้สึกกังวลอย่างลึกซึ้ง” ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศเพิกถอนวีซ่าของศิลปินโดยทันที พร้อมระบุว่า “ผู้ที่ยกย่องความรุนแรงและความเกลียดชังไม่ควรได้รับการต้อนรับในอเมริกา”

ตำรวจท้องถิ่นเอวอน (Avon) และ ซอมเมอร์เซ็ท (Somerset) ได้เปิดการสอบสวนอย่างเป็นทางการในข้อหาละเมิดกฎหมายด้านความสงบเรียบร้อย โดยย้ำว่า “ไม่มีที่ว่างในสังคมสำหรับถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง” ขณะที่ BBC ซึ่งออกอากาศสดในเหตุการณ์ดังกล่าว ยอมรับว่ามีเนื้อหา “รุนแรงและไม่เหมาะสม” พร้อมถอดคลิปการแสดงออกจากแพลตฟอร์ม iPlayer และเริ่มทบทวนขั้นตอนการควบคุมเนื้อหา

ด้านนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Sir Keir Rodney Starmer) และรัฐมนตรีหลายคน ออกมาประณามการกระทำว่าเป็น “วาจาแห่งความเกลียดชังที่น่ารังเกียจ” และเรียกร้องให้ BBC แสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย หากพบว่ามีความผิดชัดเจนจากการเผยแพร่เนื้อหาที่ยุยงปลุกปั่น

อย่างไรก็ตาม บ็อบ ไวแลน ยังคงยืนยันจุดยืน โดยโพสต์ข้อความบนอินสตาแกรมว่า “ผมพูดในสิ่งที่ผมเชื่อ” และเรียกร้องให้เยาวชนกล้าลุกขึ้นพูดความจริงเพื่อการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ทีมผู้จัดเทศกาล Glastonbury แถลงว่า “คำพูดของ Bob Vylan ข้ามเส้นความเหมาะสมไปไกลมาก” พร้อมย้ำว่าทางเทศกาลต่อต้านการยกย่องความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติ และการยุยงให้เกิดความเกลียดชังในทุกรูปแบบ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top