Sunday, 19 May 2024
อิสราเอล

'อิสราเอล' ยิงขีปนาวุธใส่ 'ซีเรีย' โดยใช้เครื่องบินรบ บินขึ้นโจมตีฐานป้องกันภัยทางอากาศ

อัลจาซีรา รายงานว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อิสราเอลได้โจมตีสนามบินและฐานทัพอากาศของซีเรียอย่างเข้มข้น เพื่อขัดขวางการใช้สายส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้นของ #อิหร่านในการส่งมอบอาวุธให้กับพันธมิตรในซีเรียและเลบานอน รวมถึง #ฮิซบอลเลาะห์ ของ #เลบานอน

การที่อิสราเอลโจมตี เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับความขัดแย้งที่เลี้ยงความรุนแรงมานานหลายปี เป้าหมายไม่ให้อิหร่านยึดที่มั่นมากขึ้น 
นับแต่อิทธิพลของอิหร่านเติบโตขึ้นในซีเรีย เริ่มสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในสงครามกลางเมืองที่เริ่มต้นในปี 2554

5 กันยายน พ.ศ. 2515 สังหารหมู่นักกีฬาอิสราเอล 11 คน โศกนาฏกรรมในมหกรรมโอลิมปิกมิวนิค

ครบรอบ 51 ปี เหตุการณ์ ก่อการร้ายโอลิมปิกมิวนิค โดยกลุ่มก่อการร้าย ‘Black September’ ได้สังหาร นักกีฬาและเจ้าหน้าที่อิสราเอลเสียชีวิตไปถึง 11 คน นับเป็นโศกนาฏกรรมในความทรงจำของกีฬาโอลิมปิกที่ยากจะลบเลือน

ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ในปี 1972 (พ.ศ.2515) ผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มกันยายนทมิฬ (BLACK SEPTEMBER) จำนวน 8 คน พร้อมอาวุธปืนและลูกระเบิด ได้บุกเข้าไปในบ้านพักนักกีฬา และสังหารนักกีฬาอิสราเอลเสียชีวิต 2 คน พร้อมกับจับตัวนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ชาวอิสราเอล 9 คนไว้เป็นตัวประกัน

สาเหตุของการจับตัวประกันครั้งนี้ กลุ่มผู้ก่อการร้ายต้องการให้ปล่อยตัวสมาชิกของกลุ่มจำนวน 236 คน ที่ถูกจองจำอยู่ทั่วโลก แต่อิสราเอลปฏิเสธข้อเรียกร้อง ผู้ก่อการร้ายจึงสังหารตัวประกันทั้ง 9 คน โดยผู้ก่อการร้ายถูกยิงเสียชีวิตไป 5 คน ยอมมอบตัว 3 คน และมีตำรวจเยอรมนีเสียชีวิต 1 คน จากการยิงต่อสู้เพื่อช่วยเหลือตัวประกัน

หลังเกิดเหตุ นักกีฬาอิสราเอลที่เหลือเดินทางกลับประเทศทันที แต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของนักกีฬาที่มาร่วมแข่งขัน ขณะที่ธงโอลิมปิกถูกลดลงครึ่งเสา เพื่อแสดงความอาลัยต่อผู้เสียชีวิต ตลอดจนการแข่งขันเสร็จสิ้น นับเป็นโศกนาฏกรรมในความทรงจำของกีฬาโอลิมปิกที่ยากจะลบเลือน

‘อิสราเอล’ เดือด ประกาศภาวะสงคราม หลัง ‘ฮามาส’ ยิงจรวดกว่า 5,000 ลูกถล่ม

(7 ต.ค.66) กลุ่มฮามาส ซึ่งปกครองฉนวนกาซา ปฏิบัติการยิงจรวดถล่มอิสราเอลอย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า 5,000 ลูก ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของกลุ่มฮามาสว่าเป็นการจุดชนวนนำไปสู่การทำสงครามกับอิสราเอล 

ทั้งนี้ การยิงจรวดโจมตีอิสราเอลครั้งนี้มาจากรอบทิศทาง ส่งผลให้เบื้องต้น มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงอายุอยู่ในช่วงวัย 60 ปี และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 15 คน

ขณะที่กลุ่มฮามาสปลุกระดมกลุ่มนักรบแห่งการต่อต้านในเขตเวสต์แบงก์ และพันธมิตรอาหรับให้ร่วมกันลุกฮือต่อต้านอิสราเอล โดยมีแนวโน้มว่า การสู้รบครั้งนี้อาจรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่อิสราเอลและกลุ่มฮามาสสู้รบกัน นับตั้งแต่อิสราเอลใช้มาตรการปิดล้อมฉนวนกาซา เมื่อปี 2550 

ชนวนเหตุของความขัดแย้งครั้งนี้ มาจากการที่อิสราเอลปิดจุดผ่านแดนในฉนวนกาซานาน 2 สัปดาห์ เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการจลาจลของชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ และอิสราเอลยอมเปิดจุดผ่านแดนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 ก.ย.

ผู้เห็นเหตุการณ์ เปิดเผยว่า มีเสียงไซเรนเตือนภัยจากการยิงจรวดดังนานหลายนาทีในภาคใต้และภาคกลางของอิสราเอลในช่วงเช้าของวันนี้ (7 ต.ค.) และประชาชนในฉนวนกาซาก็ได้ยินเสียงการยิงจรวด

ชาวบ้านในฉนวนกาซา เปิดเผยว่า พวกเขาได้ยินเสียงการปะทะกันด้วยอาวุธตามแนวรั้วกั้นระหว่างอิสราเอล ใกล้กับเมืองข่าน ยูนิสทางตอนใต้ และได้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักรบติดอาวุธจำนวนมาก ขณะที่กองทัพอิสราเอลยังไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

หน่วยรถพยาบาลของอิสราเอลระบุว่า ทีมต่าง ๆ ได้ถูกส่งไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล ใกล้กับฉนวนกาซา และประชาชนได้รับคำเตือนให้อยู่ภายในบ้าน แต่ยังไม่มีรายละเอียดในทันทีเกี่ยวกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้น

ด้านสำนักงานของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลกล่าวว่า เขาจะเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ 

‘พิพัฒน์’ กำชับทูตฯ ดูแลแรงงานไทยในอิสราเอลใกล้ชิด หลังเกิดภาวะสงคราม เผย คนไทยถูกยิงบาดเจ็บ 1 ราย-ถูกจับตัวไว้ 2 ราย เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุจรวดโจมตีจากฉนวนกาซาไปยังหลายพื้นที่ในอิสราเอลเมื่อช่วงเช้าตรู่วันนี้ว่า ตามที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอลให้อยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากเกิดการโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซานั้น ทันทีที่ทราบข่าวผมมีความห่วงใยต่อแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลจากผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลเร่งตรวจสอบและดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิดทันที

จากรายงานของนายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เบื้องต้นพบว่า มีแรงงานไทยถูกยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บแล้ว 1 ราย ทราบชื่อคือ นายชาตรี ชาศรี อายุ 38 ปี เดินทางโดยกรมการจัดหางานจัดส่งไปทำงานเกษตรมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดนครพนม จากการตรวจสอบของกรมการจัดหางาน พบว่า เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแรงงานไทยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นสามีภรรยาถูกจับตัวไว้ ทราบชื่อคือ นายบุญถม พันธ์ฆ้อง อายุ 39 ปี และ น.ส.ศศิวรรณ พันธ์ฆ้อง อายุ 36 ปี ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินการที่ประเทศไทยผมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครพนม และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่บาดเจ็บ 1 ราย และแรงงานไทยที่ถูกจับตัวไว้ 2 ราย ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารสร้างขวัญกำลังใจพร้อมชี้แจงการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมายให้แก่ญาติทราบในทันที อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot , Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 5,000 คน

“ขอให้ญาติของแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอิสราเอล อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลไทยทั้งสถานทูตและกระทรวงแรงงานจะให้การคุ้มครอง ดูแล อย่างดีที่สุด และจะเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และแจ้งข้อมูลมายังฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อจะได้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าวท้ายสุด

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ออกประกาศเตือนคนไทยในอิสราเอล โดยขอให้คนไทยเข้าห้องหลบภัยทันทีที่ได้ยินเสียงไซเรน หากไม่ทัน ให้หมอบราบลงกับพื้น ไม่ถ่ายรูป ไม่วิ่งไปที่โล่ง ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และขอให้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยในเขตภาคใต้ใกล้เคียงฉนวนกาซา และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทลอาวีฟ ไม่ออกจากที่พักอาศัย

สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบโปรดติดต่อได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลขโทรศัพท์ (+972) 5 4636 8150 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ หมายเลข 0 2575 1047-51 ฝ่ายแรงงานไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โทร : +972 544693476 What app ID : 0544693476 Line ID : 0544693476 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

‘เพจดัง’ ชี้!! สถานการณ์ ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ซับซ้อนมายาวนาน แนะ ‘ไทย’ วางตัวเป็นกลาง-รับชมอยู่ห่างๆ ปล่อยทุกฝ่ายทำหน้าที่ตัวเอง

จากกรณีที่ประเทศอิสราเอล ได้ประกาศภาวะสงคราม หลังจากที่กลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ ได้ยิงขีปนาวุธจากกาซาประมาณ 5,000 ลูก ถล่มเข้าไปในประเทศอิสราเอล ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเสาร์ (7 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณช่วงเที่ยงตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลต้องประกาศภาวะสงคราม

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยในอิสราเอลได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง ทำให้มีนักการเมืองบางท่าน ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยได้ติดต่อไปยังทางสถานฑูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย และกระทรวงแรงงานของไทย เพื่อมอบหมายให้ทำการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศให้ได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัย

ล่าสุด ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา’ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า…

“เรื่องของอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ใครไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ศึกษามาจริง ไม่ต้องหาซีนไม่ต้องออกความเห็นนะครับ โดยเฉพาะนักการเมืองไทยสายโปรอเมริกัน

สรุปให้แบบสั้นๆ คือแถวนั้น ‘เขาไม่ปลื้มอเมริกัน’

เรื่องราวประวัติศาสตร์และการเมืองแถวนั้นซับซ้อน ย้อนกลับไปยาวนาน และในปัจจุบันแต่ละฝ่ายล้วนแต่มีแบ็กใหญ่ๆ ทั้งนั้น

ของปาเลสไตน์ระดับกาตาร์ ตุรกี อิหร่าน หนุนหลังนะครับ ไม่ใช่ธรรมดานะ ยิงจรวดปูพรมทีละ 5,000 ลูก นี่เล่นแบบรัสเซียเลยนะครับ จะมีสต๊อกโดรนพิฆาตมาเล่นซ่อนแอบแบบในยูเครนกันอีกรึเปล่าก็ไม่รู้

ผลประโยชน์ของประเทศไทยก็คือ ‘วางตัวเป็นกลาง’ และช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่ให้ปลอดภัย แค่นั้นเองนะ

เรื่องช่วยเหลือคนไทยกระทรวงแรงงานกับต่างประเทศทำอยู่แล้ว ฐานข้อมูลแรงงาน ฐานข้อมูลคนไทยในประเทศที่เกี่ยวข้องเขามีอยู่แล้ว

นอกจากนั้นแล้ว เรามีหน้าที่รับชมเท่านั้นครับ”

‘อ.ปิติ’ กางตำรา ‘สมรภูมิพลิกอำนาจโลก’ ตีแผ่ชนวนรบ ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ การแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ สู่สงครามตัวแทน ‘สหรัฐฯ-มุสลิม’

(8 ต.ค. 66) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสถานการณ์ ‘ภาวะสงคราม’ ระหว่างประเทศอิสราเอล ปะทะกับกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ โดยระบุว่า…

“ความขัดแย้งครั้งล่าสุดในดินแดนตะวันออกกลาง ที่กลุ่ม #ฮามาส #Hamas เรียกร้องให้ ชาว #ปาเลสไตน์ ที่ถูกย่ำยีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดย #ชาวยิว ออกมาใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้อง #มัสยิดอัลอักศอ #AlAqsaMosque ในดินแดน #กาซา มีปฐมบทอย่างไร?

ทั้งนี้ เนื่องจาก ได้เห็นข้อความ X (Twitter) ของท่านนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin’ แล้วมีความห่วงกังวลครับ การแสดงออกเรื่องการประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องครับ แต่เนื้อความในส่วนต่อจากนั้นที่ค่อนไปทางอิสราเอล อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมนัก เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้น เอาเข้าจริงมีเหตุผลมาจากทั้ง 2 ฝ่าย และต้องอย่าลืมว่า เพื่อนบ้านมุสลิมของไทยสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างมาก ดังนั้น การเขียนข้อความที่เลือกข้างอิสราเอลอย่างชัดเจน ทั้งที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ฝ่าย อาจถูกตีความได้หลายมิติ

ดังนั้น เพื่อให้พวกเราได้เข้าใจสถานการณ์ ขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ ‘Amidst the Geopolitical Conflict #สมรภูมิพลิกอำนาจโลก’ ที่ ผม ปิติ ศรีแสงนาม และ ‘จักรี ไชยพินิจ Chakkri Chaipinit’ ร่วมกับเขียน และจะวางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 12-23 ตุลาคมนี้ โดย Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน มาเผยแพร่ เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับการติดตามสถานการณ์นะครับ”

“ประเด็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่าง #อิสราเอล และ #ปาเลสไตน์ เป็นปัญหาที่มีรากฐานมาอย่างยาวนานหลายช่วงอายุคน โดยเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านศาสนา และเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายจากการที่ชาติมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในดินแดนบริเวณนี้ และการเขียนประวัติศาสตร์ที่มีทั้งรูปแบบเข้าข้างอิสราเอลและเข้าข้างปาเลสไตน์ ความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ จึงทำให้การเมืองในตะวันออกกลางซับซ้อนไปด้วย

หากย้อนไปเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว ดินแดนอิสราเอลหรือพื้นที่เยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นข้อพิพาทในปัจจุบัน เคยอยู่ในการครอบครองของชาวยิวมาก่อน แต่ในฐานะที่อาณาบริเวณแห่งนี้เป็น ‘ทางแยก’ ที่อยู่กลางแผนที่ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของทั้งศาสนา #ยูดาห์ #คริสต์ และ #อิสลาม จวบจนกระทั่งจักรวรรดิออตโตมันได้เข้ามาปกครองบริเวณแถบนี้ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงตั้งชื่อ ‘เยรูซาเล็ม’ และบริเวณโดยรอบว่าเป็น ‘ปาเลสไตน์’ โดยชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณแถบนี้ก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘ชาวปาเลสไตน์’

จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อ สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ปะทุขึ้น อังกฤษได้ให้คำมั่นสัญญากับชาวยิวว่า หากให้ความช่วยเหลือกับอังกฤษจนได้รับชัยชนะในสงคราม พวกเขาจะได้รับดินแดนปาเลสไตน์เป็นการตอบแทน บทสรุปของสงครามทำให้ชาวยิวได้เข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ตามสัญญา อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของสถานะชาวยิวในดินแดนแถบนี้ก็มาพร้อมกับความขัดแย้งระหว่างยิวและอาหรับอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ทำให้ชาวยิวสามารถสถาปนารัฐเอกราชได้สำเร็จในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1948 ในชื่อว่า ‘อิสราเอล’ การเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนออกเป็นของชาวยิวและชาวอาหรับ โดยมีเยรูซาเล็มเป็น ‘#ดินแดนร่วม (common land)’ สำหรับทั้ง 2 ฝ่ายตามมติ ค.ศ.1947

ในสายตาของ ‘องค์การสหประชาชาติ’ การแบ่งแยกดินแดนนี้เป็นการยุติปัญหาอย่างสันติ แต่กลับกลายเป็นว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับได้ยกระดับกลายเป็น ‘สงครามระหว่างประเทศ’ ที่มีคู่ขัดแย้งหลักคืออิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยมีพันธมิตรจากโลกตะวันตกและจากโลกมุสลิมเป็นฉากทัศน์ของความขัดแย้งที่ดำเนินไปนี้

ตลอดช่วงสงครามเย็น ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์ของการต่อสู้นั้น ฝ่ายอิสราเอลได้รับประโยชน์โดยได้ดินแดนที่เพิ่มขึ้น ปาเลสไตน์ที่เพลี่ยงพล้ำในการรบ จึงได้จัดตั้ง #องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (#PLO) เพื่อเคลื่อนไหวแบบกองโจรในการขับไล่อิสราเอล กระนั้นก็ตาม ในเหตุการณ์สำคัญอย่าง ‘#สงครามหกวัน’ ใน ค.ศ.1967 อิสราเอลก็สามารถผนวกเอาฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเคยเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเองได้สำเร็จ

หลังจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง อาทิ #วิกฤติการณ์อินทิฟาดา (#Intifada) ครั้งที่ 1 (ค.ศ.1987-1993) และครั้งที่ 2 (ค.ศ.2000-2005) รวมไปถึงการเกิดขึ้นของกองกำลังฮามาส (Hamas) ซึ่งมีวิธีการรบที่ดุดันมากกว่ากลุ่มองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ ถึงแม้ว่านานาชาติจะพยายามไกล่เกลี่ยผ่านข้อตกลงสำคัญ เช่น #การเจรจาที่แคมป์เดวิด (ค.ศ.1978)  #ข้อตกลงออสโล (ค.ศ.1993 และ 1995) แต่ก็ไม่เป็นผล ทั้ง 2 ฝ่ายมีแนวโน้มการใช้อาวุธหนักมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเวลาผ่านไป

ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำหน้าที่เสมือนเป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐฯ และโลกมุสลิมไปโดยปริยาย ความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่า 7 ทศวรรษจะคลี่คลายหรือดำเนินไปในลักษณะใด ย่อมส่งผลโดยตรงต่อหน้าตาของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่แบบสามก๊กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รูปที่นำมาให้ชมคือ แผนที่แสดงภาพการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ระหว่างปี ค.ศ. 1917-2020 ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าเพราะเหตุใดกลุ่ม Hamas ถึงเรียกร้องว่า ชาวปาเลสไตน์ถูกกดดันย่ำยีตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพราะบ้านของพวกเขาถูกยึดเอาไปทีละน้อยๆ และพื้นที่ศักสิทธิ์สุดท้ายที่พวกเขาต้องปกป้องคือ ‘มัสยิดอัลอักศอ’ (Al-Aqsa Mosque) 1 ใน 3 สถานที่สำคัญสูงสุดของชาวมุสลิม (ร่วมกับ มัสญิดอัลฮะรอม ในนครมักก๊ะฮฺ ซึ่งเป็นที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ และ มัสญิดนะบะวีย์ หรือ ‘มัสญิดของท่านนบีมุฮัมมัด’ ซึ่งตั้งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ)

และในขณะเดียวกัน ชาวยิวก็เชื่อว่าสถานที่เดียวกันนี้คือที่ตั้งของ Temple Mount ซึ่งคัมภีร์ฮีบรูระบุว่าพระเจ้าโซโลมอน (สุไลมาน) ราชโอรสแห่งกษัตริย์เดวิด โปรดให้สร้างพระวิหารแรก (First Temple) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนายูดาห์ตามบทบันทึกคัมภีร์ฮีบรู

ถามว่า แล้วพวกเขาจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเลยหรือ?

คำตอบคือ ได้ครับ และได้มาตลอดหลายร้อยปีด้วย โดยผมมีแผนที่ยืนยัน

ดูจากแผนที่แสดงการแบ่งเขตพื้นที่การอยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรมในเขตเยรูซาเล็ม ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐอิสราเอล นี่คือ ‘การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในดินแดนศักดิ์สิทธิ์’ ก่อนที่จะมีการแทรกแซงของมหาอำนาจอย่างอังกฤษและสหรัฐภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกจากดินแดนแห่งนี้แล้ว ในหนังสือเล่มนี้ พวกเรายังพิจารณาว่า ทั่วโลกยังมีจุดปะทุที่คนไทยต้องให้ความสนใจอีก 8 แห่ง ได้แก่ 

1.) NATO vs รัสเซีย : สงครามเย็นที่ไม่สิ้นสุด
2.) เอเชียใต้ : ดินแดนแห่งตัวแปรของภูมิรัฐศาสตร์
3.) แอฟริกา : กาฬทวีปที่ถูกมองข้าม
4.) ตะวันออกกลาง : ทางแยกของแผนที่โลก
5.) คาบสมุทรเกาหลี : ภูมิรัฐศาสตร์เก่าในบริบทใหม่ (บทความพิเศษ โดย Seksan Anantasirikiat)
6.) ช่องแคบไต้หวัน : การช่วงชิงพื้นที่ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา
7.) ทะเลจีนใต้ : เขตอิทธิพลของจีนกับประเด็นพิพาทของอาเซียน
8.) Zomia : จากดินแดนแห่งเทือกเขาสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์การเมืองในเมียนมา

‘อดีต นร.ไทยในญี่ปุ่น’ จวก ‘พิธา’ หลังต่อสายตรงทูตอิสราเอลในไทย ชี้!! ไม่ใช่หน้าที่ แถมไร้ความเป็นมืออาชีพ หวั่นทำสื่อสารคาดเคลื่อน

(8 ต.ค. 66) จากกรณีที่อิสราเอลและกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีใส่กัน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และสถานการณ์เริ่มลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น เมื่อได้มีการจับกุมตัวแรงงานคนไทยที่ทำงานในอิสราเอลเป็นตัวประกัน ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็สั่งการให้เร่งตรวจสอบดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิด

ซึ่งต่อมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ (X) ส่วนตัว ระบุว่า…

“ผมพึ่งวางสายโทรศัพท์จากการพูดคุยกับท่านทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และพี่น้องแรงงานคนไทยในอิสราเอลจากการประสานของปีกแรงงานพรรคก้าวไกล ได้ทราบมาว่าสถานการณ์มีความรุนแรงต่อเนื่อง และได้รับคำขอร้องว่าครอบครัวของแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถติดต่อญาติที่อิสราเอลได้ และกำลังตกอยู่ในความกังวลอย่างมาก หากท่านมีญาติไปทำงานที่อิสราเอล และบัดนี้ยังติดต่อไม่ได้ ท่านสามารถระบุชื่อของบุคคล เมืองที่พำนัก มาที่ email : [email protected] เพื่อรวบรวมเป็น database ประสานงานกับ สถานทูตอิสราเอล และ/หรือส่งมอบต่อกระทรวงต่างประเทศต่อไปได้”

จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดการท้วงติงถึงความไม่เหมาะสม และดูไม่เป็นมืออาชีพ ของนายพิธา ในโลกโซเชียลกันเป็นจำนวนมาก

ล่าสุด ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ ให้มุมมองเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวไว้ ระบุว่า…

“ทวิตนี้แสดงถึงความไม่เป็นงาน และต้องการแสงของผู้ทวิต โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่อาจตามมาในภายหลัง

1.) เหตุการณ์นี้ คนที่ควรโทรคุยควรเป็นทูตไทยในอิสราเอล มิใช่ทูตอิสราเอลในประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นคนที่มีหน้าที่โดยตรง และต้องพยายามติดต่อคนไทยที่อาศัยในอิสราเอลตามข้อมูลที่มี เพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

ในทางกลับกันคนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศควรมีช่องทางติดต่อกับสถานทูตไทยในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่เช่นเดียวกัน เพราะสถานทูตคงไม่สามารถทราบว่าเราอยู่ที่ใดโดยไม่ได้แจ้ง การไปอยู่ต่างประเทศแบบไม่มีการเตรียมตัวรับสถานการณ์ฉุกเฉินเลย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเลย

2.) การใช้อีเมลส่วนตัวเป็นช่องทางรับข้อมูล ถือเป็นการกระทำที่ไร้ความเป็นมืออาชีพ และแสดงให้เห็นว่า อีเมลดังกล่าว ตัวเองไม่ได้จัดการดูแลอีเมลดังกล่าวด้วยตัวเอง มีคนอื่นสามารถเข้าถึงอีเมลของตัวเองได้ เพื่อจัดการข้อมูลที่จะเข้ามา

การสร้างอีเมลใหม่เพื่อใช้ในงานเฉพาะกิจไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรเลย เจ้าหน้าที่ไอทีทั่วไปสามารถทำได้ด้วยเวลาไม่กี่วินาที ทำให้คิดได้ว่า อาจจะไม่ได้คิดหรือต้องการให้ใช้ชื่อตัวเองเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง

3.) เรื่องสำคัญที่สุดคือ คนทวิตไม่ได้มีหน้าที่อะไรเลย แต่สร้างความสับสนในการติดต่อสื่อสารเพื่อแสงที่ตัวเองเคยทำเสมอมา และผมคิดว่าสุดท้ายก็คงไม่ต่างกรณีติดต่อไปยังรุ่นพี่ที่ MIT เพื่อเอาวัคซีนโควิดเข้ามา สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปล.ตัวผมเองเคยอยู่ในวิกฤตการณ์ในต่างประเทศอย่างเหตุการณ์สึนามิที่โทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นการติดต่อสื่อสารพิการ ทั้งระบบสัญญาณมือถือและอินเตอร์เน็ต เลยต้องติดต่อบอกสถานกงสุลไทยในโอซาก้า ด้วยโทรศัพท์ระบบสาย และค่อยบอกข่าวสารตัวเองไปยังมารดาเมื่อมีโอกาสในภายหลัง

‘แรงงานไทยในอิสราเอล’ เล่านาทีระทึก หลังกลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตี เผย มีกลุ่มก่อการร้ายลักลอบเข้าประเทศ กราดยิง ปชช.-จับเป็นตัวประกัน

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 จากกรณีที่ประเทศอิสราเอล ได้ประกาศภาวะสงคราม หลังจากที่กลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ ได้ยิงขีปนาวุธจากกาซาประมาณ 5,000 ลูก ถล่มเข้าไปในประเทศอิสราเอล ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันเสาร์ (7 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี จนทำให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลต้องประกาศภาวะสงคราม

ล่าสุด ได้มีแรงงานคนไทยในอิสราเอล ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอผ่านช่องติ๊กต็อก ‘dobung’ บอกเล่าเหตุการณ์สุดระทึกที่ต้องหนีเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธกลุ่มฮามาส ใส่ประเทศอิสราเอล โดยระบุว่า…

“เช้าวันนี้ (7 ต.ค.) ผมไม่ได้ตื่นขึ้นมาเพราะเสียงนาฬิกาปลุก แต่ผมตื่นเพราะเสียงระเบิด และเสียงฝ้าภายในห้องพักที่ถูกแรงระเบิดปะทะจนสั่นสะเทือน เกิดเป็นเสียงอึกทึกครึกโครม เพราะวันนี้ที่ประเทศอิสราเอลได้เกิดการรบกันขึ้น ซึ่งจริงๆ อาจจะเรียกได้ว่าที่นี่มีการรบกันจนแทบจะเป็นเรื่องปกติเลยก็ว่าได้

สิ่งที่จะสามารถปกป้องผมได้คือ ระบบป้องกันจรวดของอิสราเอล หรือ ‘Iron Dome’ ซึ่งเป็นตัวต่อต้านจรวดที่ฝ่ายตรงข้ามยิงมา และอาจจะป้องกันได้ไม่เต็ม 100% หากจำนวนจรวดที่ฝ่ายตรงข้ามยิงมามีมากเกินจนสกัดไม่ทัน”

เจ้าของช่อง ยังได้กล่าวต่อว่า เหตุการณ์รบที่อิสราเอลครั้งนี้ ค่อนข้างมีความรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นทำให้นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลประกาศ ‘ภาวะสงคราม’ อีกทั้งช่วงที่เกิดเหตุชุลมุนขณะที่ได้มีจรวดถูกยิงเข้ามาเป็นพันๆ ลูก ก็ได้มีกลุ่มก่อการร้ายแทรกซึมเข้ามาในประเทศอิสราเอล โดยแทรกซึมเข้ามาทั้งทางรถยนต์และเครื่องร่อน

โดยหลังจากที่กลุ่มก่อการร้ายได้แทรกซึมเข้ามายังอิสราเอล ก็ได้ทำการกราดยิงประชาชน รวมถึงจับกุมตัวประชาชนไปเป็นตัวประกัน เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองอีกด้วย

“ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มพี่น้องแรงงานคนไทยที่อยู่ใกล้กับฉนวนกาซา ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้ของอิสราเอล… ผมขอให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัยนะครับ” เจ้าของช่อง กล่าวทิ้งท้าย

ภรรยา ‘หนุ่มกาฬสินธุ์’ เล่านาทีจุกอก ก่อนสามีถูกสังหารที่อิสราเอล พร้อมวอนรัฐบาลไทยช่วยนำศพกลับมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด

(9 ต.ค. 66) ความคืบหน้า กรณีกลุ่มฮามาส ในปาเลสไตน์ บุกจู่โจมประเทศอิสราเอล ทำให้แรงงานไทยส่วนใหญ่ไปทำงานสวนเกษตรในฉนวนกาซา อยู่ตอนใต้ของประเทศ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไร่เกษตรอยู่ติดกับชายแดนปาเลสไตน์

โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต จากข้อมูลของสำนักงานจัดหางานนครพนม พบว่า มีแรงงานไทยชาวนครพนม ไปทำงานฟาร์มเกษตร สูญหายขาดการติดต่อจากญาติ จำนวน 3 ราย และในรายงานมีการยืนยันผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายสมควร พันธ์สะอาด อายุ 39 ปี ชาว อ.เมืองกาฬสินธุ์ แต่มาเป็นเขยนครพนม ภรรยาชื่อ นางสาวรุ่งทิวา เรืองฤทธิ์ อายุ 31 ปี เป็นชาวบ้านดงยอ ต.นาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ทั้งนี้ ทางญาติ ครอบครัวผู้เสียชีวิต อยู่ระหว่างติดต่อทางกรมการจัดหางาน เพื่อประสานขอความช่วยเหลือ เพื่อนำศพกลับมาบำเพ็ญกุศล

ล่าสุด นางสาวรุ่งทิวา เรืองฤทธิ์ อายุ 31 ปี ออกมาเปิดเผยยืนยันว่า นายสมควร พันธ์สะอาด อายุ 39 ปี สามีเสียชีวิตเมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา หลังจากขาดการติดต่อทางแชทเฟซบุ๊ก ปกติจะพูดคุยไถ่ถามความเป็นอยู่ทุกวัน โดยสามีเพิ่งไปทำงานยังไม่ถึงปี จะครบปีเดือนตุลาคมนี้ เป็นงานฟาร์มเกษตร

ก่อนเกิดเหตุ ตนได้วิดีโอคอลคุยกับสามีในตอนเช้า โดยไม่ได้วางสายและสามียังได้เล่าให้ฟังว่า มีการสู้รบกันเกิดขึ้นแต่ตอนนั้นสามีก็ยังไม่มีท่าทีร้อนรนแต่อย่างใด ยังคงใช้ชีวิตปกติ และก่อนจะวางสายสามีบ่นว่าเหนื่อยอยากนอนพักผ่อน ตนเองจึงให้สามีไปนอนพักผ่อน แต่หลังจากที่วางสายจากสามีได้ไม่นาน เห็นข่าวด่วนในทีวีว่ามีการโจมตีในอิสราเอล จึงรีบส่งแชทไปบอกสามีให้ดูแลตนเองและอย่าออกไปไหน สักพักมีเพื่อนของสามีทักแชทเฟซบุ๊กมาหา แจ้งข่าวร้ายว่าสามีถูกกลุ่มติดอาวุธหนักบุกเข้ามายิง ขณะที่สามีกำลังหลบหนีออกทางหน้าต่าง แต่หนีไม่ทัน จึงถูกกลุ่มติดอาวุธจับตัวไป ก่อนจะรัวยิงจนเสียชีวิต ส่วนเพื่อนคนอื่นต่างวิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น

น.ส.รุ่งทิวา น้ำคลอเบ้าเล่าต่อว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุร้าย สามีมักบ่นว่าลำบากและเหนื่อย แต่เวลาวิดีโอคอลคุยกัน สามีจะไม่ค่อยให้เห็นสภาพความเป็นอยู่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการบ่นให้ฟังมากกว่าว่าเหนื่อย นอกจากนี้ สามีได้สัญญากับตนเองว่าจะไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล 5 ปี และจะพยายามเก็บเงินกลับมาอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดนครพนม โดยนำไปเป็นเงินทุนสร้างอาชีพค้าขาย แต่สุดท้ายก็มาถูกยิงตายอย่างอนาถ นอกจากนี้ นางสาวรุ่งทิวา ยังบอกอีกว่า ตนเองไม่รู้ว่าจะติดต่อขอรับศพสามีได้อย่างไร คงต้องรอทางการไทยเป็นผู้ประสานมา และจะนำศพของสามีกลับมาจัดพิธีตามประเพณีที่บ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือ ที่จังหวัดนครพนม ต้องรอปรึกษาญาติอีกครั้งก่อน

‘กระทรวงพลังงาน’ เกาะติดสถานการณ์สู้รบ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ หวั่นดันราคาพลังงานโลกพุ่ง ย้ำ ปริมาณสำรองของไทยยังมีพร้อม

(9 ต.ค. 66) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากระทรวงพลังงานเกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas) หรือองค์กรการเมืองติดอาวุธของชาวปาเลสไตน์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่ได้มีการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากอิสราเอลหรือปาเลสไตน์

เนื่องจากปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 57 และในส่วนของแอลเอ็นจีนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 33 จากหลากหลายแหล่ง

ทางกระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน

โดยปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

“หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงานโลก เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก ซึ่ง sentiment หรือสภาวะอารมณ์ของตลาดอาจจะมีผลทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นได้ แม้ว่าในปัจจุบันราคาน้ำมันจะยังคงแกว่งตัวในช่วงแคบ ๆ แต่ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด”

นายประเสริฐกล่าวว่า แต่อย่างไรก็ดีกระทรวงพลังงานจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้และร่วมกันใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top