Sunday, 19 May 2024
อิสราเอล

‘อิสราเอล’ ส่งโดรนสังหารเจ้าหน้าที่ฮามาสถึงเลบานอน โจมตีอย่างโจ่งแจ้ง ละเมิดอธิปไตยชาติอื่นอย่างร้ายแรง

สำนักข่าว Reuters อ้างอิงแหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงในเลบานอน และ กองกำลังฝ่ายปาเลสไตน์ รายงานว่า นายซาเลห์ อัล-อาโรรี หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มฮามาสถูกลอบสังหารเสียชีวิตแล้ว จากการโจมตีด้วยโดรนพิฆาตของอิสราเอล ภายในสำนักงานของกลุ่มฮามาสในเมือง Haret Hreik ชานกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงค่ำของคืนวันที่ 2 ม.ค. 67 ทางการเลบานอนได้รับรายงานเหตุระเบิดภายในอาคารแห่งหนึ่งที่เมือง Haret Hreik ที่ต่อมาพบว่าเป็นสำนักงานของกลุ่มฮามาส และพบผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุอย่างน้อย 6 คน หนึ่งในนั้นคือ นายซาเลห์ อัล-อาโรรี (57 ปี) สมาชิกคนสำคัญของโปลิตบูโร และหนึ่งในแกนนำของฝ่ายกองกำลังฮามาส ที่มีค่าหัวจากทางการสหรัฐฯ ถึง 5 ล้านเหรียญ 

ด้วยสงครามระหว่างกองกำลังฮามาส และ อิสราเอล ที่ผ่านมา ทำให้ ซาเลห์ อัล-อาโรรี ถูกหมายหัวจากกองกำลังป้องกันประเทศของอิสราเอล จนนำไปสู่การส่งโดรนลอบสังหารข้ามแดนมาโจมตีถึงเลบานอนในวันนี้ 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเลบานอนกล่าวว่า เนื่องจากสำนักงานของกลุ่มฮามาสตั้งอยู่ชั้นบนสุดของอาคาร 3 ชั้น และไม่มีตึกสูงอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง จึงง่ายต่อการล็อกเป้าโจมตีด้วยโดรน 

แรงระเบิดทำให้ตัวอาคารชั้น 3 เสียหายอย่างรุนแรง และเกิดเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยและหน่วยดับเพลิงของเลบานอน ยังพบซากชิ้นส่วน แขน ขา ของผู้เสียชีวิต กระจายเกลื่อนตามพื้นถนนด้านล่าง อย่างน่าสยดสยอง 

หลังจากเหตุการลอบสังหาร แดเนียล ฮาการี โฆษกประจำกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ได้ออกแถลงการณ์ว่า กองกำลังอิสราเอลอยู่ในระดับความพร้อมที่สูงมากในทุกพื้นที่ และทุกสถานการณ์ ทั้งเชิงป้องกัน และ เชิงรุก เพื่อต่อสู้กับกลุ่มฮามาสเป็นสำคัญ 

แต่ทว่า ด้าน นาจิบ มิกาตี นายกรัฐมนตรีแห่งเลบานอน แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงในระดับภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาชญากรรมครั้งล่าสุดของฝ่ายอิสราเอลใกล้กรุงเบรุต ยังไม่นับรวมการโจมตีของกองทัพอิสราเอลเป็นประจำแทบทุกวันทางตอนใต้ของเลบานอน ดังนั้นรัฐบาลเลบานอนจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับ ‘การโจมตีอย่างโจ่งแจ้ง’ ของฝ่ายอิสราเอลในดินแดนของตน ซึ่งถือเป็นการละเมิดอธิปไตยอย่างร้ายแรง 

เช่นเดียวกันกับถ้อยแถลงของกลุ่มกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน ได้ออกมาประณามการก่อเหตุลอบสังหารครั้งนี้ว่าไม่ต่างจากการโจมตีประเทศเลบานอนโดยตรงเช่นกัน ที่จะนำไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้นอย่างแน่นอนของฝ่าย ‘Axis of Resistance’ หรือ กลุ่มพันธมิตรแห่งการต่อต้าน - กองกำลังผสมที่มีเป้าหมายต่อต้านอิสราเอล และ สหรัฐอเมริกา ที่ประกอบด้วย อิหร่าน. กลุ่มฮามาส, กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน, กองกำลังติดอาวุธในอิรัก และกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน

ในอีกด้านหนึ่ง มาร์ก เรเจฟ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า อิสราเอลไม่ขอรับผิดชอบต่อการโจมตีสำนักงานฮามาสในเลบานอน แต่ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายใด ก็ชัดเจนว่าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อโจมตีรัฐบาลเลบานอน แต่เพื่อทำลายกองกำลังฮามาสเท่านั้น 

แต่ถึงรัฐบาลอิสราเอลจะไม่ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวกับการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มฮามาสในเลบานอน ทว่า แดนนี ดานอน อดีตนักการทูตอาวุโสของอิสราเอลและ สส. ในพรรคลิคุดของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู โพสต์ข้อความผ่าน X เพื่อแสดงความยินดีกับหน่วย IDF, ชินเบต, มอสสาด และกองกำลังรักษาความปลอดภัย ที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดนายซาเลห์ อัล-อาโรรี

และได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ 7/10 (วันที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีชุมชนอิสราเอลในชายแดนฉนวนกาซา) ก็ควรรู้ไว้ซะด้วยว่าเราจะตามล่า และปิดบัญชีพวกมันอย่างสาสม"

ก็คงไม่ต้องเดากันแล้วว่า เหตุการลอบสังหารข้ามพรมแดนแบบไม่ต้องเกรงใจเป็นฝีมือของใคร เพราะทุกคนคงเข้าใจตรงกัน

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘แบรนด์จีน’ เฮ!! ยอดขาย ‘EV’ ดีที่สุดในอิสราเอล ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 60.98 ในปี 2023

(3 ม.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สมาคมผู้นำเข้ายานยนต์แห่งอิสราเอล รายงานว่ารถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ขนาดเล็กมาก รุ่นอัตโต 3 (Atto 3) ผลิตโดยบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตยานยนต์ของจีน เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจำหน่ายดีที่สุดในอิสราเอลในปี 2023

ซึ่งทาง สมาคมฯ เปิดเผยว่า รถยนต์รุ่นดังกล่าวซึ่งเข้าสู่ตลาดอิสราเอลเมื่อช่วงปลายปี 2022 มียอดจำหน่าย 14,244 คันในปี 2023

อีกทั้ง จี๋ลี่ ออโต กรุ๊ป (Geely Auto Group) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนอีกราย มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าอเนกประสงค์ รุ่นจีโอเมทรี ซี (Geometry C) รวม 7,129 คันในช่วงเดียวกัน ซึ่งครองอันดับสองด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในอิสราเอล

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจำหน่ายดีเป็นอันดับสาม ได้แก่ เทสลา รุ่นโมเดล วาย (Tesla Model Y) ตามด้วย เทสลา รุ่นโมเดล 3 (Tesla Model 3)

ข้อมูลระบุว่า แบรนด์จีนครองสัดส่วนร้อยละ 60.98 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าของอิสราเอลในปี 2023 โดยมียอดจำหน่าย 29,402 คัน มากกว่าตัวเลข 13,294 คันในปี 2022 กว่าสองเท่า

สำหรับยอดจำหน่ายยานยนต์เชื้อเพลิงน้ำมัน เชอรี ออโตโมบิล (Chery Automobile) ผู้ผลิตยานยนต์ของจีน ซึ่งเข้าสู่ตลาดอิสราเอลช่วงปลายปี 2022 ครองอันดับ 6 ด้วยยอดจำหน่าย 11,162 คันในปี 2023

ทหารหญิงอิสราเอลเชื้อสายจีนถูกเพื่อนทหารข่มขืน ข่าวที่ไม่ปรากฏในบรรดาสื่อที่สนับสนุนอิสราเอล

ทหารหญิงอิสราเอลที่เกิดในจีนถูกเพื่อนทหารข่มขืน ข่าวเกี่ยวกับการข่มขืนทหารหญิงอิสราเอลที่มีเชื้อสายจีนโดยเพื่อนทหารของเธอระหว่างที่เธอมีส่วนร่วมในการสู้รบในฉนวนกาซาได้แพร่สะพัดใน Social media ระบุว่า ‘Abigail Weinberg’ ทหารหญิงอิสราเอลซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน และเข้าร่วมในกองทัพอิสราเอล ในระหว่างที่เธอมีส่วนร่วมในการสู้รบในฉนวนกาซา เธอถูกเพื่อนทหารข่มขืน 

‘Watan’ หรือ เว็บไซต์ข่าวรายวันของอียิปต์ ได้ติดตามคดีนี้ที่เผยแพร่บน Social media และพบบทความที่ตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ภาษาฮีบรู ‘Yedioth Ahronoth’ เมื่อเดือนกันยายน 2023 ได้เล่าเกี่ยวกับทหารหญิงเชื้อสายจีนในกองทัพอิสราเอล โดยระบุว่าเธอชื่อ ‘Abigail Weinberg’ บทความในหนังสือพิมพ์กล่าวถึงว่า ‘Abigail Weinberg’ อพยพมาจากจีนมายังอิสราเอลตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก และตัดสินใจเข้าร่วมกองทัพอิสราเอล โดยปัจจุบันเธอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานในกองพลทหารปืนใหญ่ที่ 215 และหน่วยของเธอได้ปฏิบัติการในที่ราบสูงโกลาน

ข่าวการข่มขืน Abigail ถูกเผยแพร่โดย Israeli Broadcasting Corporation กล่าวถึงการจับกุมและดำเนินคดีทหารจากกองกำลังสำรองของอิสราเอลในข้อหาข่มขืนเพื่อนร่วมงาน ซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการร่วมกับเขาในฉนวนกาซา รายงานเสริมว่าคำฟ้องของทหารรายนี้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนดึกของช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของสงครามอิสราเอลในฉนวนกาซา เนื้อข่าวยังเปิดเผยว่าสารวัตรทหารอิสราเอลจับกุมทหารรายดังกล่าวในข้อหาข่มขืนเพื่อนร่วมงานระหว่างปฏิบัติการทางทหาร

‘ซาอุฯ’ เสียงแข็ง!! ไม่เปิดสัมพันธ์การทูตอิสราเอล  จนกว่าจะยอมให้มีการตั้ง ‘รัฐปาเลสไตน์’

(7 ก.พ.67) กระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียแถลงวันนี้ว่า รัฐบาลได้แสดงจุดยืนให้สหรัฐฯ ทราบแล้วว่าจะไม่เดินหน้าสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล จนกว่าจะมีการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ตามเส้นพรมแดนปี 1967 ที่มีเยรูซาเลมตะวันออกรวมอยู่ด้วย และจนกว่าอิสราเอลจะยุติความรุนแรงในฉนวนกาซา

คำแถลงจากกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียมีขึ้น หลังจากที่ จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (6 ก.พ.) ว่า รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้รับ ‘ฟีดแบคที่ดี’ จากทั้งซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อปรับความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติ

ทางกระทรวงย้ำว่า ถ้อยแถลงที่ออกมานี้ก็เพื่อแสดงถึงจุดยืนที่หนักแน่นของซาอุดีอาระเบียในเรื่องปัญหาปาเลสไตน์ และเป็นการตอบโต้สิ่งที่ เคอร์บีย์ ออกมาพูดก่อนหน้า

แนวคิดในการผลักดันให้อิสราเอลและซาอุดีอาระเบียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มถูกนำมาหารืออย่างจริงจัง หลังจากริยาดไม่ได้แสดงท่าทีต่อต้านเมื่อเพื่อนบ้านในอ่าวเปอร์เซียอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรนหันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลในปี 2020

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวที่เข้าถึงมุมมองของผู้นำริยาดเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2023 ว่า
สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่คร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาไปแล้วกว่า 20,000 คน ทำให้ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจ ‘เบรก’ การเจรจากับอิสราเอลแบบไม่มีกำหนด

กองทัพอิสราเอลเริ่มเปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตีฉนวนกาซาทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน หลังจากพวกฮามาสที่ปกครองกาซาบุกจู่โจมภาคใต้ของรัฐยิวเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ปีที่แล้ว และสังหารประชาชนไปราว 1,200 คน อีกทั้งยังจับพลเมืองอิสราเอลและต่างชาติไปเป็นตัวประกันอีก 253 คน

‘มะกัน’ โดนแฉ!! เตรียมส่งระเบิด-อาวุธ หนุนอิสราเอลเพิ่ม ขณะ ‘ผู้นำไบเดน’ เล่นบทเรียกร้องหยุดยิงในฉนวนกาซา

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 สำข่าวรอยเตอร์อ้าง หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา อ้างแหล่งข่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เปิดเผยว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังเตรียมจะส่งระเบิดและอาวุธอื่นๆ ให้กับอิสราเอล ในการเติมคลังแสงทางทหารให้กับกองทัพอิสราเอล ในขณะที่อีกด้านผู้นำสหรัฐฯ เรียกร้องผลักดันให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา

การเสนอส่งมอบอาวุธดังกล่าว รวมถึงระเบิด MK-82 และ ยุทโธปกรณ์โจมตีร่วม KMU-572 ซึ่งเพิ่มการนำวิถีให้กับระเบิด รวมถึงฟิวส์ระเบิด FMU-139 คาดว่าอาวุธเหล่านี้น่าจะมีมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี การส่งมอบอาวุธเหล่านี้ยังคงอยู่ในระหว่างการตรวจสอบภายในของฝ่ายบริหาร ซึ่งแหล่งข่าวเปิดเผยว่า รายละเอียดในข้อเสนอดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนหน้าที่รัฐบาลไบเดนจะยื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาคองเกรส เพื่อพิจารณา ก่อนจะมีการอนุมัติเห็นชอบก่อนการส่งมอบต่อไป

กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) และ กระทรวงกลาโหมของอิสราเอล ยังไม่ได้ตอบสนองต่อการร้องขอความเห็นไปของทางรอยเตอร์ เกี่ยวกับรายงานข่าวนี้

ทั้งนี้ ถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไบเดนได้ข้ามการพิจารณาของสภาคองเกรส เกี่ยวกับการขายอาวุธให้กับอิสราเอลไปแล้ว 2 ครั้ง

ขณะที่รัฐบาลไบเดนเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง จากการยังคงจัดหาอาวุธให้กับอิสราเอล ท่ามกลางการกล่าวหาว่าอาวุธที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ถูกใช้ในการโจมตีในฉนวนกาซา ซึ่งเข่นฆ่าสังหาร และทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

โดยนับจากอิสราเอลเปิดปฏิบัติการบุกโจมตี ทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินถล่มฉนวนกาซา เพื่อตอบโต้กลุ่มฮามาสที่บุกโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่ผ่านมา ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาแล้วมากกว่า 28,775 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และทำให้ชาวปาเลสไตน์เกือบทั้งหมด จากที่มีทั้งสิ้นกว่า 2 ล้านคนในฉนวนกาซา ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นหนีภัยสงคราม

ส่วนในอิสราเอลมีผู้เสียชีวิตจากน้ำมือของกลุ่มฮามาสที่บุกเข้ามาโจมตีในวันดังกล่าว จำนวน 1,200 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และยังจับไปเป็นตัวประกันในฉนวนกาซาอีกราว 253 คน โดยได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วกว่าร้อยคน

เทียบ!! ‘Gaza West Bank’ VS ‘Xinjiang’ ความต่างของการปกครองระหว่าง ‘พระเดช-พระคุณ’

การปกครองในพื้นที่ซึ่งผู้ถูกปกครองส่วนใหญ่มีเชื้อชาติ ความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา ฯลฯ ที่แตกต่างไปจากการปกครองเกิดขึ้นบนโลกนี้มากมายหลายแห่ง รวมทั้งในบ้านเราเองด้วย ซึ่งการปกครองนั้นมีเพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็น สันติสุข อันจะนำไปสู่การพัฒนาและที่สุดจะนำมาซึ่งความเจริญสู่พื้นที่นั้น ๆ จึงถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่น่าเรียนรู้ บทความนี้ขอนำเรื่องราวความแตกต่างที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวอันโด่งดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเปรียบเทียบระหว่าง 2 พื้นที่ได้แก่ Gaza-West Bank ซึ่งถูกควบคุมโดยอิสราเอล และ Xinjiang ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยทั้ง 2 พื้นที่สามารถหยิบยกรูปแบบการปกครองควบคุมด้วยการใช้พระเดชกับพระคุณให้เห็นได้อย่างเด่นชัด ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน Gaza-West Bank ก็ด้วยเพราะอิสราเอลใช้อำนาจทางทหาร หรือพระเดชในการจัดการกับชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนที่อยู่ใน Gaza-West Bank กระทั่งชาว Gaza ต่างพากันเรียก Gaza บ้านของพวกเขาว่าเป็น ‘เขตกักกัน’ ที่เสมือนกับเป็น ‘เรือนจำกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ด้วยจำนวนผู้คนร่วม 2 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ที่นี่ บนพื้นที่เพียง 365 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประชากรในฉนวน Gaza สองในสามอายุน้อยกว่า 25 ปี อาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ‘António Guterres’ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เตือนว่า ฉนวน Gaza จะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ภายในปี 2020 เว้นแต่จะมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปรับปรุงบริการและโครงสร้างพื้นฐาน 

เปรียบเทียบปริมาณการใช้น้ำระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ซึ่งต่างกันถึง 4 เท่า

ภายใต้การปิดล้อมของอิสราเอลเป็นสาเหตุในการโจมตีอิสราเอลของกลุ่ม Hamas สิ่งที่ประเทศตะวันตกปล่อยให้อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ เป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในสื่อหลักของโลกตะวันตก ไม่ว่าการปิดล้อมฉนวน Gaza การให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza มีไฟฟ้าใช้ได้เพียงวันละ 4 ชั่วโมง การขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคอย่างหนักในฉนวน Gaza เรื่องราวการกดขี่ข่มเหงต่าง ๆ ที่กระทำโดยอิสราเอลนั้นทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza มีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ 1.) การต่อสู้กับผู้ปิดล้อม หรือ 2.) ขอให้อิสราเอลยอมผ่อนปรนมาตรการลดการปิดล้อม และยอมปล่อยให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ใช้ชีวิตอย่างอิสระเยี่ยงเสรีชนของรัฐอิสระปกติทั่วไป (https://thestatestimes.com/post/2023101017)

รถไฟความเร็วสูงใน Xinjiang

ในขณะที่สื่อหลักของโลกตะวันตกพากันประณามสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรณีของ Xinjiang ในประเด็นที่ว่า มี ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ และ ‘การบังคับใช้แรงงาน’ ใน Xinjiang โดยคำว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ น่าจะถือเป็น ‘คำโกหกคำโต’  เพราะหลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดตั้งเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ซินเจียง (Xinjiang Uygur Autonomous Region) เป็นต้นมา ชาวอุยกูร์ (ซึ่งเป็นประชากรดั้งเดิมในพื้นที่) เพิ่มมากขึ้นจากกว่า 3 ล้านคนมาเป็นกว่า 12 ล้านคนในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของประชากรชนเผ่าต่าง ๆ ในเขต Xinjiang สูงขึ้นจากเฉลี่ยราว 30 ปีในสมัยก่อนมาเป็น 75.6 ปีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเสรีภาพในการนับถือศาสนาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดีด้วย

เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ซินเจียง (Xinjiang Uygur Autonomous Region)

สิ่งที่เรียกว่า ‘การบังคับใช้แรงงาน’ นั้นยิ่งเป็นข้อกล่าวหาที่บิดเบือนร้ายแรง โดยใช้คำว่า ‘การบังคับใช้แรงงาน’ เป็นข้ออ้าง ในการทำให้บริษัทต่าง ๆ ของจีนที่เข้าไปลงทุนใน Xinjiang ถูก Boycott จนไม่สามารถจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตในพื้นที่ดังกล่าวได้ รัฐบาลจีนได้กล่าวว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีนทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจและวิตกกังวลในบางประเทศ จุดประสงค์ของพวกเขาในการสานต่อคำโกหกที่เกี่ยวข้องกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์คือ การขัดขวางการพัฒนาความเจริญของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ 

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ใน Xinjiang

ด้วยเหตุนี้การโฆษณาชวนเชื่อของสื่อตะวันตกจึงเป็นการขัดขวางการพัฒนาและการฟื้นฟูของจีนโดยรวม แต่จีนก็ยังคงมีพัฒนาความเจริญอย่างไม่หยุดยั้ง ความทันสมัยของประชากร 1.4 พันล้านคนจะเป็นความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในกระบวนการอารยธรรมของมนุษย์ การก่อตัวของตลาดขนาดใหญ่พิเศษของจีนจะมอบโอกาสการพัฒนาใหม่ ๆ ให้กับทุกประเทศ รวมทั้งช่วยให้โลกบรรลุการพัฒนาร่วมกันและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ดังที่ ‘ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง’ ได้เน้นย้ำว่ามนุษย์อาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน และทุกประเทศในโลกต่างก็ต้องอาศัยอยู่บนเรือที่มีชะตากรรมร่วมกัน พลโลกจึงต้องก้าวข้ามความแตกต่าง โดยสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ และทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มนุษยชาติอาศัยอยู่ได้ นี่คือความรู้สึกของจีนต่อโลกใบนี้ และถือเป็นเป้าหมายทางการทูตของจีนอีกด้วย

‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ใน Gaza-West Bank มีหลักฐานเชิงประจักษ์ปรากฏมากมาย

เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Gaza-West Bank และ Xinjiang จึงบ่งบอกถึงความแตกต่างระหว่างการปกครองด้วยพระเดชกับพระคุณอย่างเป็นรูปธรรมที่เห็นชัดเจน วิธีการปฏิบัติของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นวิธีการปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับของรัฐบาลไทยในกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นการปฏิบัติต่อพลเมืองในพื้นที่ด้วยความเมตตา ความเข้าใจ ความยุติธรรม บนพื้นฐานของการมีสิทธิเสรีภาพในด้านต่าง ๆ การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกันกับพลเมืองทั้งประเทศ ในขณะที่วิธีการปฏิบัติของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ใน Gaza-West Bank มีความชัดเจนว่า เป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ปรากฏมากมาย แต่ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสื่อหลักตะวันตกกลับหลับตาเพื่อให้มองไม่เห็น และสนับสนุน ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์ต่อไป โลกใบนี้ยังคงตัดสินความถูกผิดของมวลมนุษยชาติด้วยชี้นำจากการโฆษณาชวนเชื่อของชาติตะวันตกโดยสื่อหลักตะวันตกเช่นนั้นหรือ?

ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ ‘อิสราเอล’ หลังลาก ‘อิหร่าน’ เข้ามาอยู่ในวงสงคราม


ถ้อยแถลงประณามการโจมตีอันโหดร้ายของอิสราเอลต่อสถานเอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ณ กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

กลายเป็นประเด็นลุกลามขึ้นมาในโลกทันที หลังจากกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ได้ประณามการโจมตีด้วยขีปนาวุธของ ‘รัฐบาลอิสราเอล’ อย่างผิดกฎหมายที่อาคารส่วนกงสุลของสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านในกรุงดามัสกัส ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด ในตอนเย็นของวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2024

นั่นก็เพราะการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมายในสถานที่ทางการทูตแห่งนี้ ซึ่งมีที่ปรึกษาทางทหารด้านต่อต้านการก่อการร้ายของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านหลายคนพักอาศัยอยู่ โดยทุกคนนั้นยังได้รับความคุ้มครองทางการทูต ภายหลังกำลังเข้าร่วมพิธีละศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ในอาคารดังกล่าว

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การโจมตีที่น่ารังเกียจและน่าอับอายนี้ จะเป็นการละเมิดเอกสิทธิและความคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ทางการทูตและสถานที่ โดยเฉพาะสถานทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านในกรุงดามัสกัส และละเมิดกฎระเบียบระหว่างประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม ค.ศ. 1973 การลงโทษอาชญากรรมที่กระทำต่อบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนทางการทูต และกฎบัตรสหประชาชาติ 

ฉะนั้น รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย จึงสมควรต้องออกแสดงความไม่พอใจและประณามการกระทำอันชั่วร้ายที่เป็นการรุกรานและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศครั้งนี้ โดยคาดหวังว่าสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและเลขาธิการสหประชาชาติ ที่น่าจะต้องรีบออกมาตอบสนองอย่างรวดเร็วกับการกระทำของอิสราเอล ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การโจมตีของอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวัง ทำอะไรไม่ถูก และความงุนงงทางยุทธศาสตร์ของอิสราเอล อันเป็นผลจากความล้มเหลวทางการทหาร การเมือง และศีลธรรมในฉนวนกาซา หลังจากหกเดือนของสงครามอาชญากรรมอันโหดร้าย ล้วนล้มเหลวในการบรรลุชัยชนะใดๆ ต่อขบวนการต่อต้าน ตลอดจนประเทศปาเลสไตน์ที่อดทนและยืดหยุ่น

ย้อนกลับไป อิสราเอล ล้มเหลวในการยุติความกล้าหาญของชาวปาเลสไตน์ และเริ่มหันไปใช้กลยุทธ์ที่น่าอับอาย อย่างการสังหารหมู่ สตรี เด็ก และพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ที่ถูกปลิดชีพไปแล้วหลายหมื่นคน ภายใต้ความล้มเหลวในการพยายามขยายขอบเขตสงครามที่อันตรายและไม่ฉลาด จนเริ่มกลายเป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาค โดยมีประเทศอื่นร่วมเป็นเหยื่อ 

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน คงไม่เหมือนปาเลสไตน์ และมีความเป็นไปได้ที่ต่อจากนี้จะทำให้ผู้รุกราน (อิสราเอล) กลายเป็นเป็ดง่อยและต้องเสียใจกับอาชญากรรมครั้งล่าสุดอย่างถึงที่สุด เพื่อตอบโต้อาชญากรรมที่ชั่วร้ายนี้

นั่นก็เพราะการกระทำของผู้นำแห่งอิสราเอลในครั้งนี้ กำลังกระตุกปฏิบัติการพายุอัลอักซอ และความแน่วแน่อย่างกล้าหาญของประเทศปาเลสไตน์ที่ถูกกดขี่แต่ทรงอำนาจในฉนวนกาซาในช่วงหกปีที่ผ่านมา ภายใต้แรงหนุนแห่งสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ที่อาจทำให้ปาเลสไตน์ไม่มีวันถอยแม้แต่ก้าวเดียวต่อจากนี้...ซวยแล้ว!!

‘อิสราเอล’ สั่งปิดสัญญาณ GPS - ห้ามทหารลาหยุด หวังเสริมการป้องกัน หลังเพิ่งโจมตีสถานกงสุล ‘อิหร่าน’ มา

(5 เม.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อิสราเอลปิดใช้งานระบบ GPS ทั่วประเทศเพื่อขัดขวางการใช้งานของขีปนาวุธและโดรน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นกับอิหร่าน ซึ่งประกาศคำมั่นว่าจะตอบโต้ หลังอิสราเอลโจมตีอาคารของแผนกกงสุลในสถานทูตอิหร่านที่ซีเรียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย รวมถึงนายพลอิหร่านจากหน่วยรบพิเศษคุดส์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการรบกวนการทำงานของระบบ GPS ในพื้นที่ตอนกลางของอิสราเอล ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันที่ออกแบบมาเพื่อขัดขวางการใช้อาวุธที่สามารถระบุตำแหน่งได้ โดยพลเมืองอิสราเอลระบุว่า พวกเขาไม่สามารถใช้บริการแอปในการระบุสถานที่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น เทลอาวีฟและเยรูซาเลม ซึ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สู้รบได้

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ไทม์ออฟอิสราเอล รายงานว่า ได้มีการร้องขอให้ชาวอิสราเอลตั้งค่าตำแหน่งบนแอปด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้มีการส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับการโจมตีด้วยจรวด เพื่อให้แน่ใจว่าตำแหน่งของพวกเขายังคงแม่นยำ แม้ว่าจะมีการรบกวนสัญญาณ GPS อยู่ก็ตาม

ด้าน ดาเนียล ฮาการี โฆษกกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ยืนยันว่า อิสราเอลกำลังทำการบล็อคการใช้งาน GPS ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่าเป็นการปลอมแปลง

ดาเนียล ฮาการี ยังเรียกร้องให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนกด้วยการกักตุนซื้อสินค้า โดยเขาโพสต์บน X ว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องปั่นไฟ กักตุนอาหาร หรือถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ทำตัวเหมือนปกติอย่างที่เคยทำมา และเราแจ้งให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทันที หากมีอะไรที่เป็นทางการ

ขณะเดียวกันไอดีเอฟยังประกาศว่าจะระงับการขอลาพักของทหารทั้งหมดที่อยู่ในหน่วยรบ โดยคำประกาศดังกล่าวมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ทหารกองหนุนอิสราเอลเพิ่งถูกเรียกเข้าเสริมกำลังในหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ

ดูเหมือนไอดีเอฟจะเชื่อว่าการตอบโต้ของอิหร่านใกล้จะเกิดขึ้น และอาจเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดในวันศุกร์ที่ 5 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันศุกร์สุดท้ายในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม

นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวหลังมีข่าวเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับความเป็นไปได้ของการโจมตีตอบโต้ของอิหร่านว่า อิสราเอลจะทำร้ายใครก็ตามที่ทำร้ายเรา หรือวางแผนที่จะทำร้ายเรา

เนทันยาฮูกล่าวก่อนเริ่มประชุมคณะรัฐมนตรีความมั่นคงเมื่อค่ำวันที่ 4 เม.ย.ว่า หลายปีมาแล้วที่อิหร่านดำเนินการต่อต้านเราทั้งโดยตรงและผ่านตัวแทน ดังนั้นอิสราเอลจึงจะดำเนินการต่อต้านอิหร่านและตัวแทนของอิหร่านทั้งในเชิงรับและเชิงรุก

“เรารู้วิธีที่จะป้องกันตนเอง และเราจะปฏิบัติตามหลักการง่าย ๆ ว่าใครก็ตามที่ทำร้ายเรา หรือวางแผนจะทำร้ายเรา เราก็จะทำร้ายพวกเขากลับ” เนทันยาฮู กล่าว

เมื่อการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 'อินโดนีเซีย' กับ 'อิสราเอล' อาจจะเป็น 'การฆ่าตัวตายทางการเมือง' ของรัฐบาลจาการ์ตาในบัดดล

"ประเทศสมาชิก ASEAN 3 ชาติได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามล้วน แต่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลเลย ขณะที่อินโดนีเซียได้ออกมาปฏิเสธรายงานที่ว่า รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลเพื่อสิทธิในการเข้าเป็นชาติสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) นั่นก็เพราะการกระทำเช่นนี้ในระหว่างสงครามอันโหดร้ายในฉนวนกาซา จะทำให้เกิด 'ความวุ่นวายและคลื่นแห่งความไม่เห็นด้วย' ในประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก" ผู้สังเกตการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรายหนึ่งระบุพร้อมเผยอีกว่า…

หากมีการเคลื่อนไหวดังกล่าวจริงจะถือเป็น ‘การฆ่าตัวตายทางการเมือง’ แม้ข้อตกลงที่อินโดนีเซียต้องรับรู้และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ก่อนการลงมติให้อินโดนีเซียเข้าเป็นสมาชิกขององค์การแห่งนี้ ซึ่งมีสมาชิก 38 ประเทศรวมทั้งอิสราเอล จะได้รับการเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วโดยเว็บไซต์ข่าว Ynet ของอิสราเอล

สำหรับ OECD เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก 

แต่เดิมองค์กรนี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในนาม องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป หรือ โออีอีซี (Organization for European Economic Co-operation: OEEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1948 ในช่วงสมัยสงครามเย็น วัตถุประสงค์คือ เพื่อร่วมมือกันฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจของประเทศยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้กลับคืนมาและคงไว้อย่างมั่นคงตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมโดยแผนการมาร์แชลล์ 

โดยบทบาทหลักของ OECD คือการปรับปรุงเศรษฐกิจโลกและส่งเสริมการค้าโลก เป็นทางออกสำหรับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกับประเทศประชาธิปไตยที่มีความมุ่งมั่นร่วมกันในการปรับปรุงเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร

อย่างไรก็ตาม การ 'พูดถึง' การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ไม่ว่าจะจากรัฐหรือนักการเมืองอินโดนีเซียคนใดก็ตาม "จะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองทันที" ซึ่งนี่ก็เป็นคำกล่าวของ Dina Sulaiman นักวิชาการผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาตะวันออกกลางของอินโดนีเซียที่มองว่า “ประชาชนชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนชาวปาเลสไตน์” ระหว่างที่เธอบอกกับ This Week in Asia

แน่นอนว่า หากประเทศใดต้องการเข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกของ OECD ประเทศผู้สมัครจะต้องได้รับการอนุมัติจากชาติสมาชิกปัจจุบันทั้งหมด ซึ่งนั่นก็รวมถึงชาติอย่างอิสราเอลด้วย 

"ประเทศผู้สมัครที่จะได้รับการยอมรับต้องแสดงให้เห็นถึง ความคิดที่เหมือนกันทั้งคำพูดและการปฏิบัติในความสัมพันธ์กับองค์กรและชาติสมาชิกตามแผนงานเพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกขององค์กรแห่งนี้" นี่คือรายงานของ Ynet ซึ่งอ้างถึงจดหมายที่ Mathias Cormann เลขาธิการ OECD ระบุไว้เมื่อเดือนที่แล้วถึง Israel Katz รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล โดยเผยว่า "OECD ตัดสินใจยึดหลักการขององค์กรในการเห็นพ้องอย่างเป็นทางการต่อเงื่อนไขเบื้องต้นที่ชัดเจนและปฏิบัติตาม ซึ่งอินโดนีเซียจะต้องสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสมาชิก OECD ทั้งหมด ก่อนที่จะมีการตัดสินใจใดๆ ที่จะยอมรับการสมัครเป็นชาติสมาชิกของ OECD”

รายงานยังอ้างถึงจดหมายที่ระบุว่า Katz ได้ส่งถึง Cormann โดนเผยอีกว่า "เขาคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก จาก 'นโยบายที่ไม่เป็นมิตร' ของอินโดนีเซียต่ออิสราเอล เพื่อที่ทั้งสองจะได้กระชับความสัมพันธ์" 

รายงานอ้างสิทธิ์ด้วยว่า อินโดนีเซียจะเข้าร่วม OECD ได้นานถึง 3 ปี หากยอมรับในความสัมพันธ์ดังกล่าวกับอิสราเอล แต่อินโดนีเซียก็ปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดย Lalu Muhammad Iqbal โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า "เราไม่มีแผนที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังความโหดร้ายของอิสราเอลในฉนวนกาซา"

Lalu ระบุว่า "จุดยืนของอินโดนีเซียไม่เปลี่ยนแปลง และเรายังคงสนับสนุนเอกราชของปาเลสไตน์อย่างมั่นคงภายใต้กรอบของการแก้ปัญหาสองรัฐ อินโดนีเซียจะมีความสม่ำเสมอและอยู่ในแนวหน้าในการปกป้องสิทธิของชาวปาเลสไตน์เสมอ" 

Lalu กล่าวอีกว่า "อินโดนีเซียอาจต้องใช้เวลา 'ค่อนข้างนาน' ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OECD" แต่ทั้งนึ้ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า จาการ์ตาวางแผนที่จะปรับ Roadmap การเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรแห่งนี้ภายในเดือนหน้าเช่นกัน

ทั้งนี้ หากย้อนไปในการประชุมเอกอัครรัฐทูต OECD เมื่อเดือนมกราคม มีรายงานว่าอิสราเอลคัดค้านอินโดนีเซียที่เข้าร่วมองค์กร เนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ และ รัฐบาลจาร์ตารู้ดีว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ความสัมพันธ์ปกติกับอิสราเอลในขณะนี้ เมื่อพิจารณาจากความรู้สึกของสาธารณชนท่ามกลางสงครามนองเลือดในฉนวนกาซา ที่มีรายงานชาวปาเลสไตน์มากกว่า 33,000 คนเสียชีวิต

"ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความรู้สึกของสาธารณชนชาวอินโดฯ กลับมาสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างมาก เนื่องจากผู้คนมีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา" สุไลมาน แห่งศูนย์ศึกษาตะวันออกกลางแห่งอินโดนีเซียกล่าว

การทำข้อตกลง Abraham ที่สหรัฐฯ เป็นตัวกลางให้อิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน 
ในปี 2020

ขณะที่การสำรวจโดยสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ของสิงคโปร์ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็สำทับชัดมุมมองของ สุไลมาน โดยพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามชาวอินโดนีเซียร้อยละ 74.7 มองว่าสงครามอิสราเอล-กาซาเป็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อันดับต้นๆ ของพวกเขา และเกือบร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลว่า การโจมตีฉนวนกาซารุนแรงจนเกินไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินการฟื้นฟูทางการทูตกับอินโดนีเซีย เพื่อสร้างมาตรฐานตามแนวทางในข้อตกลง Abraham ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สหรัฐฯ เป็นตัวกลางแบบที่อิสราเอลได้ทำกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และประเทศอาหรับอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2020 ผ่านความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ที่ไม่เป็นทางการ เช่น เครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียที่ซื้อจากกองทัพอากาศอิสราเอลระหว่างปี 1979-1982 พร้อมทั้งมีการฝึกนักบินอินโดนีเซียที่ฐานทัพอากาศของอิสราเอลในช่วงเวลาเดียวกัน

เครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียที่ซื้อจากกองทัพอากาศอิสราเอล

สำหรับเป้าหมายของอิสราเอลที่ต้องการสถาปนาความสัมพันธ์กับอินโดฯ ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นสะพานสำคัญในการขยายการทูตไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย, ปากีสถาน และบังคลาเทศ ตามมุมมองของ Siti Mutiah Setiawati อาจารย์ด้านธรรมาภิบาลและการเมืองในตะวันออกกลาง และ OECD จะเป็นแม่เหล็กที่ทำให้อินโดนีเซียต้องตัดสินใจ แม้ใน

ทว่าในปัจจุบันก็ยังไม่มีประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใดกล้าเสนอให้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตตามปกติกับอิสราเอลเลย แม้แต่ Jokowi Widodo

สำหรับ ASEAN นั้น ยังไม่มีประเทศใดมีสถานภาพเป็นสมาชิกของ OECD เลย โดยอินโดนีเซียมีสถานภาพเป็นประเทศหุ้นส่วน/พันธมิตรที่เข้าร่วม (Participating Partners) และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก (Negotiating Membership) 

ด้านประเทศไทยเองก็มีสถานภาพเป็นประเทศที่แสดงความสนใจที่จะเป็นสมาชิก (Expressed interest) 

ส่วนประเทศในทวีปเอเชียที่มีสถานะเป็นสมาชิกแล้วได้แก่ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ขณะที่ อินเดีย และ จีน มีสถานภาพเป็นประเทศหุ้นส่วน/พันธมิตรที่เข้าร่วม (Participating Partners) เช่นเดียวกับ อินโดนีเซีย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top