Monday, 17 June 2024
อิสราเอล

‘ศาลโลก’ มีคำสั่งให้ ‘อิสราเอล’ ระงับปฏิบัติการโจมตีที่เมือง ‘ราฟาห์’ หลัง ‘แอฟริกาใต้’ ได้ยื่นฟ้องว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

(25 พ.ค.67) คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) หรือที่เรียกกันว่า 'ศาลโลก' มีคำสั่งวานนี้ (24 พ.ค.) ให้อิสราเอลต้องยุติปฏิบัติการโจมตีทางทหารที่เมืองราฟาห์ (Rafah) ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาทันที ซึ่งถือเป็นคำตัดสินฉุกเฉินครั้งสำคัญหลังจากที่แอฟริกาใต้ยื่นฟ้องกล่าวหาอิสราเอลว่ามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide)

แม้ ICJ จะไม่มีกลไกในการบังคับใช้คำสั่งนี้ ทว่าคดีดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นว่าปฏิบัติการโจมตีกาซากำลังทำให้อิสราเอลถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่กองทัพยิวเริ่มเคลื่อนพลเข้าสู่ราฟาห์ในเดือนนี้ โดยไม่สนใจแม้แต่เสียงเตือนจากพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา

นาวาฟ ซาลาม ประธานศาล ICJ ระบุในคำตัดสินว่า สถานการณ์ในฉนวนกาซา ‘เลวร้ายลง’ จากที่ศาลได้มีคำสั่งครั้งก่อนให้อิสราเอลต้องดำเนินการแก้ไขวิกฤตมนุษยธรรม และเงื่อนไขต่าง ๆ เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะออกคำสั่งฉุกเฉินใหม่

“รัฐอิสราเอลจะต้องระงับทันทีซึ่งปฏิบัติการโจมตีทางทหาร และการกระทำอื่น ๆ ภายในเขตปกครองราฟาห์ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในกาซา จนอาจนำมาซึ่งการทำลายล้างเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมด” ซาลาม กล่าว

ประธาน ICJ ยังชี้ด้วยว่า รัฐบาลอิสราเอลไม่เคยให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่าจะปกป้องพลเรือนให้ปลอดภัยได้อย่างไรระหว่างการอพยพคนออกจากราฟาห์ รวมถึงการจัดส่งอาหาร น้ำดื่ม ระบบสุขาภิบาล และยารักษาโรคให้แก่ชาวปาเลสไตน์ 800,000 คนที่ได้อพยพหนีกองทัพอิสราเอลไปแล้วก่อนหน้า

ICJ ยังสั่งให้อิสราเอลเปิดด่านพรมแดนราฟาห์ที่เชื่อมอียิปต์กับกาซาเพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปได้ นอกจากนี้ ยังต้องเปิดทางให้คณะผู้ตรวจสอบ และรายงานความคืบหน้าให้ศาลทราบภายใน 1 เดือน

คำสั่งนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะผู้พิพากษา 15 คนด้วยคะแนน 13 ต่อ 2 เสียง โดยผู้ที่คัดค้านมีเพียงผู้พิพากษาจากยูกันดาและอิสราเอลเองเท่านั้น

แอฟริกาใต้ออกมายกย่องคำสั่งศาล ICJ ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ (groundbreaking) ขณะที่โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐฯ มีความชัดเจนในจุดยืนเกี่ยวกับราฟาห์มาโดยตลอด

องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) แถลงชื่นชมคำสั่ง ICJ ว่าเป็นการสะท้อนมติของประชาคมโลกว่าสงครามกาซาควรยุติลงได้แล้ว ขณะที่ นาบิล อบู รูไดเนห์ โฆษกของประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส ยังติงว่าคำสั่งนี้ ‘ไม่เพียงพอ’ เพราะไม่ได้เรียกร้องให้มีการหยุดสู้รบในภูมิภาคอื่น ๆ ของกาซาด้วย

ด้าน บาเซม นาอิม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส ให้สัมภาษณ์ผ่านรอยเตอร์ว่า เราขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินำคำสั่งของ ICJ ไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงทันที เพื่อบีบให้พวกศัตรูไซออนิสต์ต้องปฏิบัติตามด้วย

รัฐบาลอิสราเอลออกมาตอบโต้คำสั่งของ ICJ ด้วยท่าทีกราดเกรี้ยว โดย บาซาเลล สโมตริช รัฐมนตรีกระทรวงการคลังหัวขวาจัด ชี้ว่าใครก็ตามที่เรียกร้องให้อิสราเอลยุติสงครามครั้งนี้ ก็เท่ากับบอกให้อิสราเอลยุติการดำรงอยู่ ซึ่งอิสราเอลไม่มีวันยอม

ยาอีร์ ลาพิด ผู้นำฝ่ายค้านอิสราเอล ชี้ว่าคำสั่ง ICJ ถือเป็นการล่มสลายและหายนะทางศีลธรรม เพราะไม่ได้เชื่อมโยงข้อเรียกร้องยุติการสู้รบเข้ากับการปลดปล่อยตัวประกันในกาซา

ICJ ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงเฮกถือเป็นองค์กรสูงสุดของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ไต่สวนข้อพิพาทระหว่างรัฐ คำพิพากษาของ ICJ ถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันตามกฎหมาย ทว่าที่ผ่านมาเคยถูกเพิกเฉยมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากศาลไม่มีกลไกที่จะบังคับให้เกิดผลตามคำสั่งได้

‘อียู’ ลั่น!! ‘อิสราเอล’ ต้องทำตามคำสั่งศาลโลก พร้อมยุติปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์

(27 พ.ค.67) นายโจเซฟ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป (อียู) ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ว่า อิสราเอลจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก และยุติปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

ทั้งนี้ บอเรลล์ ยังตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลที่เกี่ยวข้องกับผู้ตั้งถิ่นฐานได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงค์ที่ถูกยึดครอง

บอเรลล์ยังยืนยันว่า อิสราเอลได้ผลักดันชาวปาเลสไตน์ให้ไปสู่หายนะ เพราะสถานการณ์ในฉนวนกาซาขณะนี้ถือได้ว่าเกินกว่าที่จะบรรยายได้ ขณะที่เวสแบงค์ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองก็เหมือนอยู่ที่ปากเหว และเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดได้ทุกเมื่อ

การออกมาให้ความเห็นของผู้ดูแลด้านนโยบายต่างประเทศของอียูมีขึ้นในวันเดียวกับที่นายโมฮัมหมัด มุสตฟา นายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ ได้รับการรับรองสถานภาพของรัฐปาเลสไตน์จากสองประเทศในอียูและนอร์เวย์ บอเรลล์ยังกดดันให้อิสราเอลทำให้แน่ใจว่ารายได้ทางภาษีที่จัดให้เพื่อช่วยเหลือทางการปาเลสสไตล์จะไม่ถูกระงับอีกต่อไป

แม้ว่าขณะนี้ความสนใจส่วนใหญ่ของโลกจะพุ่งไปยังฉนวนกาซา แต่บอเรลล์ระบุว่าเราต้องไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่หน่วยงานของทางการปาเลสไตน์ตั้งอยู่เช่นกัน

“ที่นั่นเราเห็นความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการโจมตีตามอำเภอใจเพื่อลงโทษโดยผู้ตั้งถิ่นฐานหัวรุนแรง และมีการมุ่งเป้าไปที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มุงหน้าไปสู่ฉนวนกาซามากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็ติดอาวุธหนัก คำถามคือใครเป็นคนติดอาวุธให้พวกเขา และใครบ้างที่ขัดขวางไม่ให้มีการป้องกันการโจมตีที่เกิดขึ้น” บอเรลล์กล่าว และว่า ความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขยายการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลและการยึดครองที่ดินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

บอเรลล์ยังตอบโต้ภัยคุกคามของอิสราเอลที่จะโจมตีชาวปาเลสไตน์ทางด้านการเงิน หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐมนตรีคลังอิสราเอลระบุว่า จะหยุดโอนรายได้จากภาษีที่จัดสรรให้กับทางการปาเลสไตน์ ซึ่งอาจคุกคามความสามารถในการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานหลายพันคน โดยเขาเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดของรายได้ที่ถูกระงับซึ่งเขาเห็นว่ามากเกินไป

การออกออกมาแสดงท่าทีดังกล่าวของบอเรลล์มีขึ้นขณะที่นอร์เวย์ได้ส่งมอบเอกสารทางการทูตเพื่อรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้อิสราเอลโกรธเคือง

นอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทั้งยังให้การสนับสนุนปาเลสไตน์มาอย่างยาวนาน ได้ประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการซึ่งทำให้อิสราเอลโกรธเคือง แม้ว่ามันจะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม

ด้านมุสตาฟากล่าวว่า การรับรองนี้มีความหมายมากสำหรับเรา นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ใคร ๆ ก็ทำได้เพื่อชาวปาเลสไตน์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเรา

ทั้งนี้ ราว 140 ประเทศหรือมากกว่าสองในสามของชาติสมาชิกสหประชาชาติได้ยอมรับรัฐปาเลสไตน์ แต่ประเทศส่วนใหญ่ในอียูทั้ง 27 ประเทศยังคงไม่ให้การยอมรับ และตั้งเงื่อนไขว่าพวกเขาจะให้การยอมรับต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขที่ต้องการเท่านั้น

เบลเยียมซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอียูในขณะนี้ระบุว่า ตัวประกันชาวอิสราเอลกลุ่มแรกที่ฮามาสจับไปต้องได้รับการปล่อยตัว และการสู้รบในฉนวนกาซาจะต้องยุติลงขณะที่รัฐบาลอื่น ๆ บางแห่งสนับสนุนข้อริเริ่มใหม่ในการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ

‘รมว.แรงงาน’ เข้าหารือหน่วยงานรัฐของ ‘อิสราเอล’ ดัน!! เพิ่มโควตาการจ้างงาน-ดึงแรงงานเก่ากลับไปทำงาน

(29 พ.ค. 67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท แห่งรัฐอิสราเอล ที่กรุงเทลอาวีฟ รัฐอิสราเอล เมื่อวันที่28พ.ค.ที่ผ่านมาว่า จากความต้องการเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอลของแรงงานไทย และความต้องการแรงงานไทยของนายจ้างรัฐอิสราเอล ทำให้กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นขยายตลาดแรงงานไทย ทั้งการเพิ่มโควตาจัดส่งแรงงาน การเพิ่มประเภทงานที่จัดส่ง และการเพิ่มระยะเวลาการทำงานในรัฐอิสราเอล ตลอดจนเพิ่มการคุ้มครองดูแลแรงงานในด้านสวัสดิการมาโดยตลอด การมาเยือนครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้าพบเพื่อหารือร่วมกับ นายโมเช่ อาร์เบล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายยูอาฟ เบน เซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายอาวี ดิชเตอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท แห่งรัฐอิสราเอล ซึ่งรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านมีทัศนคติที่ดีต่อแรงงานไทยอย่างมาก และยอมรับว่านายจ้างในรัฐอิสราเอล มีความผูกพันที่ดีและต้องพึ่งพาแรงงานไทย

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการนี้ฝ่ายไทย ได้เสนอประเด็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 3 ประเด็นคือ 1.เพิ่มโควตาจ้างแรงงานภาคเกษตร จากปีละ 6,000 คน เป็น 20,000 คน 2.ขอแรงงานไทยที่ทำงานครบ 5 ปี 3 เดือน กลับมาทำงานอิสราเอลได้อีก 3.เพิ่มการจัดส่งแรงงานภาคก่อสร้าง แบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีทุกประเด็น พร้อมแจ้งว่าอิสราเอลมีความต้องการจ้างแรงงานภาคก่อสร้างถึง 25,000 อัตรา ในส่วนการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ได้ขอความร่วมมือช่วยเน้นย้ำนายจ้างให้ดูแลความปลอดภัยแรงงานไทยให้ทำงานในพื้นที่สีเขียวเท่านั้น ไม่อนุญาตแรงงานไทยเปลี่ยนนายจ้าง/สถานที่ทำงาน ไปทำงานในพื้นที่สีเหลือง หรือสีแดง รวมถึงให้นายจ้างจัดทำที่หลบภัยที่แข็งแรงและปลอดภัยอย่างเพียงพอ เนื่องจากรัฐบาลไทยตระหนักถึงความปลอดภัยของแรงงานไทยเป็นสำคัญ นอกจากนี้จากการหารือยังขอเสนอให้พิจารณารับนักศึกษาจากประเทศไทยเข้ามาฝึกงาน แบบรับค่าจ้าง ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน โดยทางการอิสราเอลจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการจนสำเร็จต่อไป

‘ยืนยันว่านายจ้างอิสราเอลดูแลแรงงานไทยเปรียบเสมือนเป็นคนอิสราเอลด้วยกัน นอกจากนี้ผมยังได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐอิสราเอล เพื่อเจรจาขยายสาขาการจัดส่งแรงงานไทยในสาขางานอื่นๆ โดยเฉพาะภาคบริการ พนักงานร้านอาหาร โรงแรม และการบริบาลซึ่งเป็นสาขาที่คนไทยมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพโดดเด่น” นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้าน นายวิชิต อินทรเจริญ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดส่งแรงงานเข้ามาทำงานในอิสราเอลยาวนานมากกว่า 20 ปี พี่น้องแรงงานไทยสามารถทำงานอยู่ในอิสราเอลได้อย่างมีความสุข เพราะนายจ้างมีความเข้าใจวัฒนธรรมของคนไทยอย่างลึกซึ้ง การเยือนอิสราเอลครั้งนี้ฝ่ายไทยได้รับคำยืนยันจากรัฐมนตรีทั้ง 3 กระทรวงว่า “พร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในทุกด้านอย่างเต็มที่เนื่องจากแรงงานไทยมีความขยันขันแข็งและเป็นที่ชื่นชอบของนายจ้างอิสราเอลเป็นอย่างมาก’ ทำให้การหารือร่วมกันตลอดการเยือนรัฐอิสราเอลเป็นไปด้วยความราบรื่น มีไมตรีจิต เพิ่มความเชื่อมั่นด้านความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งนี้ สำหรับแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานในรัฐอิสราเอล สามารถติดตามข่าวสารของกรมการจัดหางาน ผ่านเว็บไซต์ doe.go.th หรือทางเพจ Facebook : กรมการจัดหางาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

'ฮามาส' ขานรับ!! ข้อเสนอใหม่ 'ไบเดน' หยุดยิงใน 'กาซา' ภายใต้ท่าที 'อิสราเอล' ที่ยังอยากกำราบศักยภาพฮามาส

(1 มิ.ย.67) พวกฮามาสขานรับในทางบวก หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯเปิดเผยในวันศุกร์ (31พ.ค.) ว่าอิสราเอลเสนอโร้ดแมปใหม่ที่มุ่งหน้าสู่สันติภาพอย่างถาวรในกาซา พร้อมเรียกร้องนักรบปาเลสไตน์กลุ่มนี้ให้ตอบรับข้อตกลงที่น่าประหลาดใจดังกล่าว ระบุ ‘ถึงเวลาแล้วที่ต้องยุติสงครามนี้’

ในการกล่าวแบบจริงจังเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับโร้ดแมปล่าสุดที่ถูกเสนอให้เป็นทางออกของความขัดแย้ง ไบเดนระบุว่าข้อเสนอ 3 ขั้นพร้อมด้วยการหยุดยิงโดยสิ้นเชิงใน 6 สัปดาห์ จะพบเห็นอิสราเอลถอนกำลังออกจากพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยทั้งหมดของกาซา

ถึงเวลาแล้วที่สงครามนี้ต้องยุติลง 'ไบเดน' กล่าวปราศรัยผ่านโทรทัศน์จากทำเนียบขาว อิสราเอลเสนอข้อเสนอใหม่อย่างครอบคลุม มันคือโร้ดแมปสำหรับการหยุดยิงที่ยาวนานและปล่อยตัวประกันทั้งหมด

ไบเดน วัย 81 ปีจากพรรคเดโมแครต ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในสหรัฐฯ ให้หาทางยุติสงครามกาซา ก่อนถึงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน ที่เขาต้องต่อสู้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ท่ามกลางการประท้วงตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศและเสียงขุ่นเคืองภายในพรรคของเขาเอง

ประธานาธิบดีรายนี้บอกว่าภาระหน้าที่สำหรับสันติภาพจะตกอยู่บนบ่าของพวกนักรบปาเลสไตน์ฮามาส ซึ่งเปิดฉากจู่โจมอิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างไม่ทันตั้งตัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีก่อน จุดชนวนความขัดแย้งทำลายล้างในกาซา ‘ฮามาสจำเป็นต้องรับข้อตกลง’

อย่างไรก็ตาม ไบเดน เปิดเผยว่าเขาได้เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู และผู้นำอิสราเอลคนอื่น ๆ เช่นกัน ว่าอย่าปล่อยให้เวลานี้สูญเสียไป โดยบอกว่าปฏิบัติการรุกรานของอิสราเอลกัดเซาะศักยภาพของพวกฮามาสลงไปได้อย่างมากแล้ว ‘ฮามาส ไม่มีศักยภาพการโจมตีแบบเดียวกับ 7 ตุลาคม อีกแล้ว’ ผู้นำสหรัฐฯระบุ พร้อมบ่งชี้ว่าเขาเชื่อว่าอิสราเอลบรรลุเป้าหมายสงคราม และควรลดระดับปฏิบัติการดังกล่าวได้แล้ว

เกี่ยวกับข้อเสนอโร้ดแมป ไบเดน กล่าวว่าในช่วง 6 สัปดาห์ จะรวมไปถึงการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์และโดยสิ้นเชิง ถอนกำลังทหารอิสราเอลออกจากพื้นที่ประชากรทั้งหมดของกาซา ปล่อยตัวประกันจำนวนหนึ่ง ในนั้นรวมถึงพวกผู้หญิง คนชรา ผู้ได้รับบาดเจ็บ แลกกับการปล่อยนักโทษปาเลสไตน์หลายร้อยคน

"จากนั้นอิสราเอลและฮามาสจะใช้เวลา 6 สัปดาห์เหล่านี้ เจรจาหาทางบรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่ยั่งยืน แต่การหยุดยิงเบื้องต้นจะถูกขยายออกไปหากการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปและยังคงเดินหน้าต่อไป" ไบเดนกล่าว "ตราบใดที่พวกฮามาสทำตามคำมั่นสัญญาของพวกเขา ตามถ้อยคำในข้อเสนอของอิสราเอล การหยุดยิงชั่วคราว จะกลายมาเป็นการยุติความเป็นปรปักษ์อย่างถาวร" ไบเดนกล่าว

สำหรับขั้นที่ 3 จะเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูที่สนับสนุนโดยนานาชาติ ซึ่งจะใช้เวลานานหลายปี

ฮามาสระบุในวันศุกร์ (31พ.ค.) ว่าพวกเขา มองในแง่บวก ต่อโร้ดแมปของอิสราเอลในการมุ่งหน้าสู่ข้อตกลงหยุดยิง ที่แถลงโดยประธานาธิบดีไบเดน หลังสงครามในกาซาลากยาวมานานเกือบ 8 เดือน

ถ้อยแถลงของนักรบปาเลสไตน์ระบุว่า ฮามาสพิจารณาในทางบวก ต่อบริบทในคำปราศรัยของไบเดน ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ ในเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงถาวร การถอนกองกำลังอิสราเอลออกจากกาซา การบูรณะฟื้นฟูและแลกเปลี่ยนนักโทษ

คำแถลงของไบเดน มีขึ้นหลังจากความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าในการยุติสงครามต้องมีอันหยุดชะงักลง และมีสัญญาณว่าข้อตกลงอาจดับสนิทตั้งแต่ยื่นให้พิจารณา

เนทันยาฮู กล่าวหลังคำปราศรัยของไบเดน ว่าสงครามในกาซาจะไม่ยุติจนกว่าจะสามารถกำจัดศักยภาพในการปกครองและทำสงครามของพวกฮามาส ขณะที่พวกฮามาส ซึ่งได้รับข้อเสนอในวันพุธ (29พ.ค.) ผ่านคนกลางอย่างกาตาร์ ยืนยันว่าข้อตกลงหยุดยิงใด ๆ ควรเป็นข้อตกลงถาวร

ทางกลุ่มบอกก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ (31 พ.ค.) ว่าได้แจ้งกับพวกคนกลางว่าพวกเขาจะเห็นชอบข้อตกลงหยุดยิงอย่างครอบคลุม ในนั้นรวมถึงแลกเปลี่ยนตัวประกัน หากอิสราเอลระงับปฏิบัติการรุกราน ขณะที่อิสมาอิล ฮานิเยห์ แกนนำฝ่ายการเมืองของฮามาส ที่พำนักอยู่ในกาตาร์ เน้นย้ำว่าข้อเรียกร้องหลักของทางกลุ่ม ในนั้นรวมถึงการหยุดยิงถาวรและอิสราเอลถอนกำลังออกไปทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่อาจเจรจาต่อรองได้

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ บอกว่าข้อเสนอใหม่ของอิสราเอล แทบจะเหมือนกับที่ ฮามาส เสนอมาเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แต่ยอมรับว่ายังคงมีข้อเห็นต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ

ไบเดน ไม่ได้พูดถึงปฏิบัติการจู่โจมของอิสราเอล เล่นงานเมืองราฟาห์ ทางใต้ของกาซา ที่ทางกองทัพอิสราเอลเปิดเผยในวันศุกร์ (31 พ.ค.) ว่าได้เดินหน้าเข้าสู่ใจกลางเมืองแล้ว แม้มีเสียงคัดค้านจากนานาชาติ แต่ ไบเดน ยอมรับว่าชาวปาเลสไตน์ เหมือนตกอยู่ในขุมนรกอย่างแท้จริง

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนานาชาติ ต่อกรณีที่พวกให้การสนับสนุนอิสราเอล นับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีนองเลือดในกาซา ทำค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดไปด้วยผู้คน เกิดไฟลุกไหม้ในวันอาทิตย์ (26 พ.ค.) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 45 รายและบาดเจ็บ 250 คน

กระนั้นทำเนียบขาวบอกในช่วงกลางสัปดาห์ ว่าแม้การโจมตีของอิสราเอลได้ก่อการทำลายล้าง แต่ไม่ถือว่าละเมิดเส้นตายของไบเดน ที่ขีดไว้สำหรับระงับการส่งมอบอาวุธแก่พันธมิตรหลักของสหรัฐฯแห่งนี้

‘อิสราเอล’ เล็งเป้า ‘เลบานอน’ หลังจบศึกทำลายล้างกาซา เมินเสียงเตือน ‘ผู้นำสหรัฐฯ’ ที่หวั่นเหตุลุกลาม-สูญเสีย

นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ระบุในวันพุธ (5 มิ.ย.) อิสราเอลเตรียมพร้อมยกระดับปฏิบัติการเข้มข้นขึ้นตามแนวชายแดนติดกับเลบานอน บริเวณที่ทหารอิสราเอลยิงตอบโต้กับพวกนักรบฮิซบอลเลาะห์แทบทุกวัน เมินเสียงทัดทานจาก โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ที่เตือนว่าสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายจะก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแก่อิสราเอลเอง

(6 มิ.ย.67) เกือบ 8 เดือนแห่งการปะทะกันอย่างต่อเนื่องระหว่างอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์ ขบวนการเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและเป็นพันธมิตรของฮามาส การยิงตอบโต้กันไปมาระหว่าง 2 ฝ่ายได้ทวีความรุนแรงขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่อิสราเอลโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของเลบานอน

"เราเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการที่เข้มข้นอย่างมากในทางเหนือ เราจะกอบกู้ความมั่นคงสู่ทางเหนือของเรา" เนทันยาฮูกล่าวระหว่างเดินทางเยือนพื้นที่ตามแนวชายแดน

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ฮิซบอลเลาะห์ เปิดฉากโจมตีหลายระลอกใส่ฐานที่มั่นต่าง ๆ ของอิสราเอลในวันเดียวกัน ในนั้นรวมถึงยิงขีปนาวุธนำวิถีเข้าใส่ฐานปล่อยไอรอนโดม ในค่ายทหารรามอต นาฟตาลี

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อิสราเอลได้ยกระดับโจมตีเล่นงานเป้าหมายพวกนักรบฮิซบอลเลาะห์และพันธมิตรอย่างพวกกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์และกลุ่มติดอาวุธเลบานอน ที่อยู่ในรถยนต์และกำลังขับขี่รถจักรยานยนต์ในเลบานอน

อิตามาร์ เบน กาวีร์ รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ พันธมิตรในรัฐบาลผสมขวาจัดของเนทันยาฮู และเบซาเกล สโมทริช รัฐมนตรีคลัง ต่างเรียกร้องในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ให้ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูความมั่นคงทางเหนือของอิสราเอล "พวกเขาเผาผลาญเรา ป้อมปราการของฮิซบอลเลาะห์ทั้งหมดต้องถูกเผาผลาญและทำลาย สงคราม!" เบน กาวีร์ เขียนบนเทเลแกรมในวันอังคาร (4 มิ.ย.)

ความรุนแรงที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม สังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 455 รายในฝั่งเลบานอน ส่วนใหญ่เป็นนักรบ แต่ก็มีพลเรือนรวมอยู่ด้วย 88 ราย ส่วนฝั่งอิสราเอลมีทหารอย่างน้อย 14 นาย และพลเรือน 11 คนเสียชีวิต

การเตรียมพร้อมยกระดับปฏิบัติการของอิสราเอล มีขึ้นแม้สหรัฐฯ พันธมิตรสำคัญส่งเสียงเตือนเนทันยาฮูในวันพุธ (5 มิ.ย.) ว่าสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายในเลบานอน อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอลเอง

"เราไม่ต้องการเห็นสถานการณ์ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย ซึ่งรั้งแต่จะนำมาซึ่งการเสียชีวิตเพิ่มเติมจากทั้งประชาชนอิสราเอลและประชาชนเลบานอน และจะก่ออันตรายใหญ่หลวงแก่ความมั่นคงโดยรวมของอิสราเอลและเสถียรภาพในภูมิภาค" แมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าว

อย่างไรก็ตาม มิลเลอร์ ปฏิเสธข้อสันนิษฐานที่ว่าสงครามกับเลบานอนใกล้เข้ามาแล้ว "ถ้อยแถลงต่าง ๆ จากรัฐบาลอิสราเอล บอกว่าพวกเขาพร้อมสำหรับปฏิบัติการทางทหารถ้าจำเป็น ซึ่งมันมีความแตกต่างจากที่พวกเขาเคยบอกว่าได้ตัดสินใจดำเนินการปฏิบัติการทางทหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรายังคงอยู่ในขั้นที่เชื่อว่า พวกเขาอยากหาทางออกทางการทูตมากกว่า"

มิลเลอร์ บอกว่าสหรัฐฯ เข้าใจดีถึงสถานการณ์ที่ควบคุมไม่อยู่สำหรับอิสราเอล ตามแนวชายแดนทางเหนือของประเทศ "พลเมืองอิสราเอลหลายแสนคนไม่อาจกลับสู่บ้านพักทางเหนือของอิสราเอล เพราะว่ามันไม่ปลอดภัย เพราะว่าพวกฮิซบอลเลาะห์ยังคงยิงปืนใหญ่ และโจมตีด้วยโดรนเล่นงานพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง"

‘ปาเลสไตน์’ ประณาม ‘อิสราเอล’ หลังถล่มค่ายผู้ลี้ภัยในกาซา สังหารพลเรือนบริสุทธิ์ 274 ราย เพื่อช่วยเหลือ 4 ตัวประกัน

กองทัพอิสราเอลถล่มค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ตอนกลางกาซา ระบุช่วยตัวประกันออกมาได้ 4 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ระบุในวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.67) การโจมตีดังกล่าวทำให้พลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 274 คน และบาดเจ็บอีกเกือบ 700 ซึ่งถือเป็นการโจมตีนองเลือดที่สุดอีกครั้งในสงครามที่ยืดเยื้อมาถึง 8 เดือน

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.67) การปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (8 มิ.ย.67) ในค่ายผู้ลี้ภัยนูเซรัต ตอนกลางของกาซา โดยพลเรือตรีแดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอลอ้างว่า กองทหารรัฐยิวได้เข้าโจมตีกลางย่านที่พักอาศัยซึ่งกลุ่มฮามาสใช้เป็นที่กักขังตัวประกันไว้ในอพาร์ตเมนต์สองหลัง แต่ถูกระดมยิงอย่างหนักจึงตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและจากภาคพื้นดิน ก่อนสำทับว่า กองทัพรับรู้ว่า มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไม่ถึง 100 คน แต่ไม่รู้ว่าในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ก่อการร้ายกี่คน

ด้าน อิสราเอล ยังบอกว่า ตัวประกันที่ช่วยออกมาได้ทั้ง 4 คน ได้แก่ โนอา อาร์กามานี วัย 26 ปี, อัลม็อก เมร์ แจน วัย 22 ปี, แอนเดรย์ คอสลอฟ วัย 27 ปี และชโลมี ซิฟ วัย 41 ปี มีสุขภาพดีและถูกนำตัวไปโรงพยาบาล โดยทั้งหมดนี้ถูกจับจากเทศกาลดนตรีโนวาระหว่างที่นักรบฮามาสบุกเข้าโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 คน อีก 250 คนถูกจับเป็นตัวประกัน และจุดชนวนสงครามในกาซาที่ยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้

ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลเพื่อตอบโต้และกำจัดฮามาสทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 36,801 คนแล้ว

ทางด้านอาบู อูไบดา โฆษกของกองกำลังอาวุธอัล-กัสซัม ซึ่งเป็นกองกำลังของฮามาส อ้างว่า ตัวประกันบางคนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการของอิสราเอล

ทว่า ปีเตอร์ เลอร์เนอร์ โฆษกกองทัพอิสราเอลอีกคน ตอบโต้ว่า ฮามาสโกหก

เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับรายงานข่าวที่ว่า หน่วยข่าวกรองของอเมริกาให้การสนับสนุนปฏิบัติการช่วยตัวประกันครั้งนี้ เลอร์เนอร์แบ่งรับแบ่งสู้ว่า อิสราเอลและอเมริกามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในด้านปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับข่าวกรอง

ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกาที่อยู่ระหว่างการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ แสดงความยินดีกับการช่วยเหลือตัวประกันในกาซา และย้ำว่า วอชิงตันจะไม่ยุติความพยายามจนกว่าตัวประกันทั้งหมดจะกลับบ้านอย่างปลอดภัย และทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิง

ทว่า บรรยากาศในกาซากลับตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์และหน่วยแพทย์ท้องถิ่นเผยว่า การโจมตีของอิสราเอลในค่ายนูเซรัตทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) กระทรวงสาธารณสุขของกาซา ซึ่งอยู่ในความควบคุมของกลุ่มฮามาส แถลงว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 274 คนจากการบุกโจมตีล่าสุดของอิสราเอลนี้ เป็นเด็ก 64 คน และผู้หญิง 57 คน ขณะที่ในหมู่ผู้ได้รับบาดเจ็บเกือบ ๆ 700 คน ที่เป็นเด็กมี 153 คน และผู้หญิง 161 คน

เจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในนูเซรัตระบุว่า เป็นการสังหารหมู่อย่างแท้จริง โดยโดรนและเครื่องบินรบอิสราเอลซุ่มโจมตีบ้านประชาชนและคนที่พยายามหนีออกจากบริเวณดังกล่าวตลอดทั้งคืน

เขายังบอกอีกว่า การโจมตีทางอากาศพุ่งเป้าที่ตลาดท้องถิ่นและมัสยิดอัล-ออดา และสำทับว่า อิสราเอลสังหารพลเรือนบริสุทธิ์นับสิบเพื่อช่วยตัวประกัน 4 คน

ค่ายผู้ลี้ภัยนูเซรัต ที่ตั้งอยู่นอกเมืองเดอีร์ อัล-บาลาห์ ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศอย่างหนักของอิสราเอลระหว่างสงคราม นอกจากนี้กองทหารอิสราเอลยังยกกำลังบุกภาคพื้นดินเข้าโจมตีทางด้านตะวันออกของค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้น หน่วยแพทย์ปาเลสไตน์เผยว่า อิสราเอลยังโจมตีทางอากาศใส่ค่ายผู้ลี้ภัยอัล-บูเรจ ซึ่งอยู่ทางตอนกลางกาซาเช่นกันเมื่อคืนวันเสาร์ ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 5 คน

ขณะเดียวกัน แม้ข่าวการช่วยตัวประกันล่าสุดสร้างความยินดีให้กับชาวอิสราเอล แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับชะตากรรมของตัวประกันที่เหลืออยู่ ทำให้ผู้คนนับพันไปชุมนุมกันที่กรุงเทลอาวีฟเพื่อเรียกร้องให้ยุติสงครามในกาซา เนื่องจากเชื่อว่า ปฏิบัติการทางทหารไม่สามารถช่วยเหลือตัวประกันทั้งหมดออกมาได้

นอกจากนั้นยังมีการชุมนุมในลอนดอนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ยุติสงครามในกาซา

วันเดียวกันนั้น ที่สหรัฐฯ ผู้ประท้วงต่อต้านสงครามกาซานับพันชุมนุมใกล้ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน โดยส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดง ชูธงปาเลสไตน์และป้ายที่มีข้อความว่า “เส้นแดงของไบเดนคือคำโกหก” และ “การทิ้งระเบิดใส่เด็กไม่ใช่การป้องกันตัว”

ทั้งนี้ ไบเดนกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากทำเนียบขาวเคยแถลงเมื่อเดือนที่แล้วว่า การโจมตีของอิสราเอลในเมืองราฟาห์ ยังไม่ได้ข้าม ‘เส้นแดง’ ที่ไบเดนระบุไว้เมื่อสองเดือนก่อนหน้านั้นตอนที่ถูกผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อิสราเอลจะบุกเมืองดังกล่าว โดยที่เขาบอกว่าหากมีการข้ามเส้นแดง สหรัฐฯก็จะพิจารณางดส่งอาวุธให้อิสราเอล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top