Sunday, 19 May 2024
อิสราเอล

'อิหร่าน' ขู่!! ถล่มที่ตั้งนิวเคลียร์ของ 'อิสราเอล' ลั่น!! รู้ว่าซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง ปราม!! อย่าแหยมอีก

(19 เม.ย. 67) เจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน เตือนเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ว่า เตหะรานทราบดีถึงตำแหน่งที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิสราเอล และมีศักยภาพโจมตีที่ตั้งนิวเคลียร์ของรัฐยิว ในกรณีที่พวกเขาถูกโจมตีก่อน ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น

ความตึงเครียดโหมกระพือหนักหน่วงขึ้นในตะวันออกกลางในเดือนนี้ ตามหลังเหตุโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านประจำกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เมษายน ซึ่งว่ากันว่าเป็นฝีมือของอิสราเอล สังหารสมาชิกกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม 7 นาย เตหะรานแก้แค้นในสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการปล่อยโดรนและยิงขีปนาวุธห่าใหญ่เล่นงานอิสราเอล แต่ส่วนใหญ่ถูกสอยร่วงโดยรัฐยิวและบรรดาชาติตะวันตก ผู้สนับสนุนของอิสราเอล

แม้ขณะนี้อิสราเอลยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้วิธีการใดตอบโต้การโจมตีของอิหร่าน แต่วิธีหนึ่งที่กำลังสร้างความกังวลไปทั่วโลก นั่นคือการโจมตีโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่าน ซึ่งความเป็นไปได้ดังกล่าวนี้เองกระตุ้นให้เตหะรานออกมาขู่กลับเช่นกัน

"ทำเลที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของอิสราเอลถูกพบแล้ว และเรามีข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดเกี่ยวกับเป้าหมายต่าง ๆ ที่เราต้องการกำจัดในปฏิบัติการตอบโต้ของเรา" พันเอกอาห์หมัด ฮักตาลับ แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่านกล่าว ตามรายงานของทาสนิม สื่อมวลชนกึ่งรัฐ "มือของเราอยู่บนไกปืน ที่จะลั่นไกปลดปล่อยขีปนาวุธทรงพลังงานและทำลายเป้าหมายเหล่านั้น"

เตหะราน กล่าวว่า พวกเขากำลังหาทางคลี่คลายสถานการณ์ แต่ทางอิสราเอลประกาศจะโจมตีตอบโต้โดยไม่เปิดเผยว่าจะดำเนินการแบบไหนและเมื่อไหร่ ในเรื่องนี้ พันเอกฮักตาลับ เชื่อว่าอิสราเอลกำลังพิจารณาปฏิบัติการทางทหารเพิ่มเติม เป็นไปได้ว่าจะเล็งเป้าอุตสาหกรรมทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน และหากเป็นเช่นนี้ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของอิสราเอลจะถูกเล่นงานในการโจมตีแก้แค้นเช่นกัน

ที่ผ่านมา อิสราเอลไม่เคยยืนยันหรือปฏิเสธเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทางสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ประเมินว่าอิสราเอลน่าจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ราว 80 ลูก ในนั้นเป็น gravity bombs จำนวน 30 ลูก และหัวรบนิวเคลียร์สำหรับขีปนาวุธพิสัยกลาง 50 ลูก ในขณะที่ พันเอกฮักตาลับ ไม่ได้เจาะจงว่าที่ตั้งทางนิวเคลียร์ใดบ้างที่อิหร่านเล็งไว้สำหรับปฏิบัติการโจมตีตอบโต้

อิสราเอล กล่าวหา อิหร่าน ว่าลอบพัฒนาแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ของตนเองแบบลับ ๆ มานานหลายทศวรรษแล้ว และ กิลาด เออร์ดาน ผู้แทนทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ กล่าวอ้างเมื่อวันอาทิตย์ (14 เม.ย.) ว่าเตหะรานเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่สัปดาห์ในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ลูกหนึ่งสำเร็จ เขาเร่งเร้าให้บรรดาสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ พิจารณาว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าอิหร่านเปิดฉากโจมตีประเทศของพวกเขาด้วยระเบิดนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ถูกปฏิเสธโดยทบวงพลังงานปรมาณูสากล

พันเอกฮักตาลับ เปิดเผยด้วยว่า พวกผู้นำอิหร่านเน้นย้ำพวกเขามองอาวุธทำลายล้างสูงทุกชนิดเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับโลกอิสลาม แต่มีความเป็นไปได้ที่เตหะรานจะพิจารณาทบทวน ‘ยุทธศาสตร์และนโยบายทางนิวเคลียร์’ หากว่าอิสราเอลยังคงคุกคามที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของพวกเขา

ทั้งนี้ พันเอกฮักตาลับ บอกว่าปกติแล้วที่ตั้งทางนิวเคลียร์มักถูกพิจารณาอยู่นอกเหนือปฏิบัติการทางทหาร แต่การที่อิสราเอลโจมตีสถานกงสุล สำนักงานทางการทูตที่ได้รับการคุ้มครองในระดับนานาชาติ เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า อิสราเอลไม่ได้สนใจเล่นตามกฎใด ๆ

‘Operation Alpha’ ปฏิบัติการลับที่ดำเนินการโดย ‘อินโดนีเซีย’ เพียงหวังซื้อเครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล


ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980 ช่วงยุคสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งระหว่างสองค่ายขั้ว นั่นก็คือ ค่ายประชาธิปไตย+เผด็จการ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อินโดนีเซียแม้จะเป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะนั้นต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในติมอร์ตะวันออกและภายนอกประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความขาดแคลนเครื่องบินรบสมัยใหม่ตอนนั้นกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเพียงแต่เครื่องบินรบที่ล้าสมัยของสหรัฐฯ เช่น F-86 Saber และ T-33 T-Bird ที่เก่ามากแล้วและมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการปรนนิบัติบำรุงอันเนื่องจากอายุใช้งานที่ยาวนานและอะไหล่ซึ่งขาดแคลนเพราะสหรัฐฯ เลิกผลิตแล้ว รวมทั้งเครื่องบินรบไอพ่นที่จัดหามาจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960 เช่น เครื่องบินรบแบบ MiG, Il-28 และ Tu-16 ซึ่งต้องจอดอยู่กับพื้นเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านเทคนิคหลังจากประสบปัญหาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ G30S* ตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยินดีที่จะขายเครื่องบินไอพ่น F-5 E/F Tiger2 จำนวน 16 ลำให้กับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย แต่เครื่องบินจำนวนนี้อินโดนีเซียเห็นว่ายังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามของประเทศได้

*G30S : เหตุการณ์ความพยายามในการทำรัฐประหารโดยสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา


(เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล)

หน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียได้รับข้อมูลว่า อิสราเอลยินดีที่จะขายเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ที่ผ่านการใช้งานแล้วจำนวน 32 ลำให้กับอินโดนีเซีย แต่ข้อตกลงนี้มีปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่อินโดนีเซียและอิสราเอลไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากอิสราเอลยังเสี่ยงต่อการถูกประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนชาวอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นมุสลิม อย่างไรก็ตามกองทัพแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ABRI) ได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปด้วยแผนการ ‘Operation Alpha’ โดยมี 2 ระยะคือ Operation Alpha I ในปี 1980 และ Operation Alpha II ในปี 1982 ทำให้อินโดนีเซียได้รับเครื่องบินโจมตี Douglas A-4 Skyhawk จำนวน 30 ลำ (14 ลำจากปฏิบัติการ Alpha I และ 16 ลำระหว่างปฏิบัติการ Alpha II) จากกองทัพอากาศอิสราเอล

(พล.อ.อ. Djoko Poerwoko หนึ่งนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอล)

สำหรับปฏิบัติการ Alpha ดังกล่าวนอกจากเครื่องบิน 30 ลำแล้ว ยังรวมไปถึงการฝึกนักบินชาวอินโดนีเซีย โดยครูการบินชาวอิสราเอล และมีการแปลงโฉมเครื่องบินระหว่างการขนส่งจากอิสราเอลไปยังอินโดนีเซีย โดย พล.อ.อ. Djoko Poerwoko อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศอินโดนีเซียหนึ่งในนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอลเล่าว่า ปฏิบัติการ Alpha เป็นปฏิบัติการลับที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการโดยกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Angkatan Bersenjata Republik Indonesia : ABRI) ก่อนที่จะส่งนักบินไปฝึกที่อิสราเอล รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งช่างเทคนิคของกองทัพอากาศจำนวนหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มไปฝึกในอิสราเอลเป็นเวลา 20 เดือน ในปี 1979 หลังจากช่างเทคนิคกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้นภารกิจในการฝึกอบรมแล้ว นักบินอินโดนีเซีย 10 นายได้รับแจ้งว่าจะถูกส่งไปฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งให้เดินทางไปยังอิสราเอลในเดือนกันยายน 1980 โดยพวกเขาออกเดินทางด้วยเที่ยวบิน Garuda ไปยังสิงคโปร์ หลังจากเครื่องลงจอดในสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI หลายนายก็ได้มาพบกับพวกเขาระหว่างรับประทานอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บหนังสือเดินทางและแทนที่ด้วยหนังสือเดินทางพิเศษ ‘Travel Document in Lieu of a Passport (SPLP)’


(พลตรี Leonardus Benyamin Moerdani) 

ตอนนั้นเองพลตรี Leonardus Benyamin Moerdani ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย) ก็มาพบนักบินทั้งสิบและได้บรรยายสรุปว่า “ภารกิจนี้เป็นภารกิจลับ หากพวกคุณรู้สึกไม่มั่นใจก็อนุญาตให้ถอนตัวกลับบ้านไปได้ เพราะหากภารกิจนี้ล้มเหลว ประเทศจะไม่ยอมรับว่าพวกคุณเป็นพลเมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อนำพวกคุณกลับบ้าน ภารกิจนี้จะถือว่าสำเร็จหาก A-4 Skyhawk (ชื่อรหัส 'Merpati') ไปถึงอินโดนีเซียแล้ว” ซึ่งนักบินทั้ง 10 นายจึงทราบว่า ภารกิจของพวกเขาจะเกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินรบจากอิสราเอล และในคืนเดียวกันนั้นนักบินทั้ง 10 คนได้ใช้ตัวตนใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองของอินโดนีเซีย จากนั้นพวกเขาก็บินไปที่แฟรงก์เฟิร์ต และเดินทางต่อไปสนามบินเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล และเมื่อมาถึงอิสราเอล พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบินพาตัวออกไปที่ชั้นใต้ดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI


(นักบินอินโดนีเซียทั้งสิบนาย)

ทั้งนี้ นักบินทั้ง 10 ได้รับการบรรยายสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปที่ต้องพิจารณาขณะอยู่ในอิสราเอล พวกเขาได้รับการสอนให้จำประโยคภาษาฮีบรูที่จำเป็นสองสามประโยค หลังจากการบรรยายสรุปพวกเขาก็เดินทางต่อทางบกไปทางใต้เลียบทะเลเดดซีไปยังฐานทัพอากาศ Etzion ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ‘Arizona’ เนื่องจากการฝึกอย่างเป็นทางการนั้นนักบินเหล่านี้จะต้องถูกส่งไปฝึกในมลรัฐ Arizona ณ ฐานทัพอากาศ Etzion พวกเขาได้ฝึกบินกับเครื่องบิน A-4 Skyhawks ด้วยเทคนิคและยุทธวิธีมากมาย หรือแม้แต่การฝึกบินเจาะทะลุผ่านชายแดนซีเรีย ซึ่งการฝึกบินสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1980 นักบินทั้ง 10 คนสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของ ABRI ที่ตามมาด้วยได้รวบรวมและเผาทำลายประกาศนียบัตรเหล่านั้นต่อหน้านักบิน เพื่อให้ไม่มีหลักฐานของความร่วมมือทางทหารระหว่างอินโดนีเซียและอิสราเอลปรากฎ


(ฐานบินนาวิกโยธินยูมาในมลรัฐแอริโซนา)

เพื่อให้เรื่องราวบังหน้าครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ นักบินทั้ง 10 นายจึงถูกพาตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างหลักฐาน เช่น รูปถ่าย ฯลฯ พวกเขามาถึงนิวยอร์กและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น น้ำตกไนแอการา พวกเขาได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปหน้าสถานที่สำคัญของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด จากนิวยอร์กพวกเขาถูกนำตัวไปที่ฐานบินนาวิกโยธิน Yuma ในมลรัฐแอริโซนา พวกเขาใช้เวลา 3 วันในฐานบินนาวิกโยธิน Yuma และได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 ของหน่วยบัญชการนาวิกโยธินสหรัฐฯ (USMC) และถ่ายรูปเพิ่มเติม นอกจากนี้พวกเขายังได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของ USMC และได้ถ่ายภาพการรับประกาศนียบัตรอีกด้วย ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI ได้ย้ำเตือนนักบินว่า แท้จริงแล้วพวกเขาได้รับการฝึกฝนในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อิสราเอล หลังจากนั้นพวกเขาก็บินไปสิงคโปร์แล้วกลับอินโดนีเซีย


(A-4 Skyhawk ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5')

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 1980 เครื่องบินลำเลียงแบบ C-5 Galaxy ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในฐานทัพอากาศ Iswahjudi พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F Tiger II และในวันรุ่งขึ้น A-4 Skyhawks ชุดแรกของอิสราเอล ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินที่นั่งเดี่ยว 2 ลำ (หมายเลข TT-0401 และ TT-0414) และเครื่องบิน 2 ที่นั่ง 2 ลำ (หมายเลข TL-0415 และ TL-0416) ก็เดินทางมาถึงท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเครื่องบินไอพ่นดังกล่าวถูกห่อหุ้มที่ฐานทัพอากาศ Etzion และขนส่งทางเรือโดยตรงจากอิสราเอล A-4 ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5' เพื่อให้ดูเหมือนเป็นการจัดส่งจากสหรัฐฯ อีกรายการหนึ่ง หลังจากแกะออกจากห่อแล้วเครื่องบินทั้งหมดก็ได้รับการตรวจสอบและประกอบด้วยความช่วยเหลือจากช่างเทคนิคชาวอิสราเอล จากนั้นจึงบินไปยังฐานทัพอากาศฮาซานุดดินในมากัสซาร์ เพื่อเข้าประจำการในฝูงบินที่ 11 


(A-4 Skyhawk ฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศฮาซานุดดิน)

อย่างไรก็ตาม A-4 Skyhawks ยังคงมาถึงอินโดนีเซียเป็นระยะ ๆ โดยรวมแล้ว อินโดนีเซียได้รับเครื่องบิน A-4 Skyhawks 14 ลำ (+1 ลำเพื่อทดแทนที่ตก) จากอิสราเอลในปี 1980 และ A-4 จำนวน 16 ลำในปี 1982 รวมทั้งหมด 30 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็นแบบ A-4E และส่วนที่เหลือเป็นรุ่นฝึก TA-4H และ TA-4J ซึ่งในปี 1997-1998 อินโดนีเซียได้ซื้อ TA-4J (2 ที่นั่ง) 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และได้รับการปรับปรุงในนิวซีแลนด์ ในปี 1981 อิสราเอลได้ส่ง A-4E 2 ลำ (ลำหนึ่งคือ TT-0417) เพื่อทดแทน A-4 ที่ตกในระหว่างการรับประกัน เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของอินโดนีเซียได้ร่วมปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งได้แก่ ปฏิบัติการโลตัส (1980-1999) ในติมอร์ตะวันออก ปฏิบัติการออสการ์ (1991-1992) ในสุลาเวสี และปฏิบัติการเรนคอง เตร์บัง (1991-1995) ในอาเจะห์ เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียทั้งหมดถูกปลดระวางในปี 2005 และถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในฐานทัพอากาศและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วอินโดนีเซีย

‘ม็อบหนุนปาเลสไตน์’ ผุดขึ้นตามมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ ‘เจ้าหน้าที่’ ปราบดุ!! ใช้สารเคมี-ช็อตไฟฟ้า สลายการชุมนุม

เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการแข็งกร้าวกับผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ที่ปักหลักชุมนุมกันตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลังการชุมนุมลักษณะนี้แผ่ลามไปตามสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั่วอเมริกามากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลใช้สารระคายเคืองและอุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าเข้าควบคุมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในขณะที่บรรดาผู้บริหารของสถาบันการศึกษาที่ทรงเกียรติที่สุดของประเทศบางแห่งกำลังดิ้นรนขัดขวางการปักหลักชุมนุมยึดสถานที่ของผู้ประท้วง

การปักหลักชุมนุมและประท้วงอันครึกโครม ผุดขึ้นมาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ด้วยที่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในสงครามระหว่างอิสราเอลกับนักรบฮามาส เช่นเดียวกับเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอลและบริษัทต่าง ๆ ที่พวกเขาบอกว่าโกยกำไรจากความขัดแย้งดังกล่าว

"สำหรับ 201 วัน ที่โลกเฝ้าดูอย่างเงียบ ๆ ปล่อยให้อิสราเอลฆาตกรรมชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 30,000 คน" ข้อความหนึ่งที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์โดยแกนนำการประท้วงจุดใหม่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส 

"วันนี้ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเข้าร่วมกับนักศึกษาทั่วประเทศ เรียกร้องมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของเราตัดขาดกับบริษัทต่าง ๆ ที่แสวงหาผลกำไรจากการรุกราน การแบ่งแยก และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์"

มีผู้ประท้วงมากกว่า 200 คน ถูกจับกุมในวันพุธ (24 เม.ย.) และวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในลอสแอนเจลิส บอสตัน และในเมืองออสติน รัฐเทกซัส บริเวณที่มีผู้คนกว่า 2,000 ราย มารวมตัวกันอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.)

ที่มหาวิทยาลัยเอโมรี ในแอตแลนตา ปรากฏภาพถ่ายกำลังใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าระหว่างเข้าจัดการกับพวกผู้ประท้วงที่อยู่บริเวณลานหญ้า ขณะที่เว็บไซต์ข่าวของทางมหาวิทยาลัย เผยว่า พวกเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากป้องกันแก๊สและใช้สายรัดข้อมือควบคุมตัวผู้ชุมนุม

กรมตำรวจแอตแลนตา อ้างว่าทางมหาวิทยาลัยร้องขอให้ช่วยคุ้มกันมหาวิทยาลัย "พวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเจอกับการใช้ความรุนแรง เราทราบมาว่าเจ้าหน้าที่กรมตำรวจแอตแลนตาใช้สารระคายเคืองระหว่างเหตุการณ์นี้ แต่กรมตำรวจแอตแลนตาไม่ได้ใช้กระสุนยาง"

สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายของการประท้วง เริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก หลังจากผ่านพ้นเส้นตายที่พวกนักศึกษาได้รับคำสั่งให้รื้อถอนค่ายชั่วคราวที่พวกเขาใช้ปักหลักชุมนุมและกลายมาเป็นศูนย์กลางของความเคลื่อนไหว

การประท้วงที่ลุกลามกลายมาเป็นความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่พยายามรักษาสมดุลในพันธสัญญาของมหาวิทยาลัย ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพการแสดงออกกับเสียงโวยวายต่าง ๆ เกี่ยวกับการล้ำเส้นของพวกผู้ประท้วง

พวกผู้ประท้วงสนับสนุนอิสราเอลและอื่น ๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย โดยชี้ถึงเหตุการณ์ต่อต้านยิวต่าง ๆ และกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายกำลังสนับสนุนการข่มขู่คุกคามและประทุษวาจา (hate speech)

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาผู้ประท้วงบอกว่าพวกเขาต้องการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา ดินแดนที่มีผู้ถูกสังหารไปแล้วแตะระดับ 34,305 คน โดยผู้ชุมนุมบางส่วน ในนั้นรวมถึงนักศึกษายิวเองจำนวนหนึ่ง ปฏิเสธคำกล่าวหาต่อต้านยิว และวิพากษ์วิจารณ์พวกเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติกับพวกเขาสวนทางกับฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล

อิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ เปิดสงครามในกาซา แก้แค้นกรณีที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,170 ราย และจับตัวประกันไปประมาณ 250 คน คาดหมายว่าเวลานี้ยังเหลือตัวประกันอยู่ในกาซาอีก 129 คน แต่ในนั้น 34 คน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส ซึ่งมีผู้ประท้วงถูกจับกุมฐานบุกรุก 93 รายในวันพุธ (24 เม.ย.) พวกเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าได้ยกเลิกกิจกรรมพิธีสำเร็จการศึกษาในวันที่ 10 พฤษภาคม

ส่วนที่มหาวิทยาลัยเอเมอร์สัน ในบอสตัน สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าได้มีการยกเลิกการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) หลังจากตำรวจปะทะกับผู้ประท้วงเมื่อคืนที่ผ่านมา รวมถึงเข้ารื้อถอนค่ายของผู้ชุมนุมฝักใฝ่ปาเลสไตน์และจับกุมผู้ประท้วงไปราว 108 คน

ในวอชิงตัน พวกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน จัดตั้งแคมป์ปักหลักชุมนุมเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) โดยที่บรรดานักศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ยังมีแผนประท้วงไม่เข้าเรียนอีกด้วย

การประท้วงและการปักหลักชุมนุมยังผุดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเยล แม้พบเห็นนักศึกษาหลายสิบคนถูกจับกุมไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยบราวน์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน และที่อื่น ๆ

เมื่อวันอาทิตย์ (21 เม.ย.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประณามความเคลื่อนไหวต่อต้านยิวอย่างโจ่งแจ้ง โดยบอกสิ่งแบบนี้ไม่ควรมีที่ว่างตามมหาวิทยาลัยทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวบอกเช่นกันว่าท่านประธานาธิบดีสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก ณ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ

'จอร์แดน' เลือกข้าง!! ช่วยอิสราเอลจากการโจมตีของอิหร่าน สกัดกั้น 'ขีปนาวุธ-โดรน' จากอิหร่านที่ผ่านน่านฟ้าจอร์แดน

ถือเป็นการเปิดหน้าอย่างชัดเจน เมื่อจอร์แดนได้ช่วยเหลืออิสราเอลระหว่างการโจมตีของอิหร่าน ด้วยการสกัดกั้นขีปนาวุธทุกลูกและโดรนทุกลำจากอิหร่านที่มุ่งสู่อิสราเอลผ่านน่านฟ้าของจอร์แดน 

โดยรัฐบาลจอร์แดนภายใต้การปกครองของกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 กล่าวว่า “เราจะสกัดกั้นโดรนหรือขีปนาวุธทุกตัวที่ละเมิดน่านฟ้าของจอร์แดนเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายใด ๆ สิ่งใดก็ตามที่เป็นภัยคุกคามต่อจอร์แดนและความปลอดภัยของชาวจอร์แดน เราจะเผชิญหน้ากับมันด้วยความสามารถและทรัพยากรทั้งหมดของเรา”

นอกจากนี้ จอร์แดน ยังเปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินรบของอิสราเอลและสหรัฐฯ ปฏิบัติการอีกด้วย โดยเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศอิสราเอลนายหนึ่งกล่าวว่า จอร์แดนอนุญาตให้เครื่องบินรบของอิสราเอลบินในน่านฟ้าของตนเพื่อยิงสกัดขีปนาวุธและโดรนของอิหร่านให้ตก โดยกองทัพจอร์แดนและอิสราเอลได้รับการประสานงานจากกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลและจอร์แดนทำการรบเคียงข้างกัน 

ทว่า การตัดสินพระทัยของกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 ในครั้งนี้ น่าจะทำให้ประชาชนชาวจอร์แดนที่เป็นมุสลิมกว่า 95% ของประชากรทั้งประเทศราว 10 ล้านคนไม่พอใจอย่างแน่นอน

‘ไบเดน’ กร้าว!! สหรัฐฯ จะ ‘หยุดส่งอาวุธ’ ให้อิสราเอล หากกองทัพยิวเปิดปฎิบัติการบุกโจมตีเมืองราฟาห์

(9 พ.ค. 67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ออกมาเตือนอิสราเอลต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก ในวันที่ 8 พฤษภาคม ว่า สหรัฐจะหยุดจัดหาอาวุธให้อิสราเอล หากกองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) บุกโจมตีเมืองราฟาห์ ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของฉนวนกาซาที่เต็มไปด้วยผู้ลี้ภัยสู้รบชาวปาเลสไตน์มากกว่า 1 ล้านคน

“ผมบอกให้ทราบชัดเจนว่า หากพวกเขาเข้าไปในราฟาห์ ผมจะไม่จัดหาอาวุธที่เคยใช้ในอดีตเพื่อให้พวกเขานำไปใช้ในราฟาห์หรือในเมืองอื่น ๆ นั่นคือวิธีที่จะจัดการกับปัญหานั้น” ไบเดนกล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น

ท่าทีดังกล่าวของไบเดนถือเป็นคำประกาศที่แข็งกร้าวที่สุดของเขานับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กลับในฉนวนกาซาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ความพยายามที่จะยับยั้งการโจมตีเมืองราฟาห์ของอิสราเอล แต่ก็เป็นการตอกย้ำความแตกแยกที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสหรัฐและชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในตะวันออกกลาง

ไบเดนยอมรับว่า อิสราเอลได้ใช้อาวุธของสหรัฐเพื่อสังหารพลเรือนในฉนวนกาซา พลเรือนที่ถูกสังหารในกาซาเป็นผลจากระเบิดเหล่านั้นและวิธีการอื่น ๆ ทั้งนี้ คำกล่าวของไบเดนดังกล่าวเป็นการตอบคำถามถึงระเบิดที่มีน้ำหนักรวม 2,000 ปอนด์ที่สหรัฐส่งให้กับอิสราเอล

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐซึ่งไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า สหรัฐได้ตรวจสอบการส่งมอบอาวุธที่อาจถูกนำไปใช้ในราฟาห์อย่างรอบคอบแล้ว และด้วยเหตุนี้จึงมีการระงับการขนส่งระเบิดน้ำหนัก 2,000 ปอนด์จำนวน 1,800 ลูก และระเบิดน้ำหนัก 500 ปอนด์ จำนวน 1,700 ลูก

กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ประณามการตัดสินใจของสหรัฐในการเลื่อนการส่งมอบอาวุธให้อิสราเอลออกไป โดยระบุว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวังมาก แม้ว่าเขาจะไม่เชื่อว่าสหรัฐจะยุติการส่งมอบอาวุธต่าง ๆ ให้กับอิสราเอลก็ตาม

การคาดการณ์ของเออร์ดานสอดคล้องกับท่าทีของไบเดนที่ยืนยันขณะให้สัมภาษณ์ว่า สหรัฐจะยังจัดหาอาวุธเพื่อป้องกันตนเองให้กับอิสราเอลต่อไป รวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศไอรอนโดมด้วย

“เรากำลังดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า อิสราเอลมีความปลอดภัยในแง่ของไอรอนโดม และยังคงมีความสามารถในการตอบสนองการโจมตีที่มาจากตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่เราจะไม่จัดหาอาวุธและกระสุนปืนใหญ่ เราจะไม่ทำ เพราะมันผิด” ไบเดน กล่าว

การสัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นของผู้นำสหรัฐในครั้งนี้ถูกเผยแพร่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ออกมายอมรับต่อสาธารณะเกี่ยวกับการตัดสินใจของไบเดน ที่จะระงับการส่งระเบิดหลายพันลูกให้กับอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับราฟาห์ ซึ่งสหรัฐคัดค้านการรุกครั้งใหญ่ของอิสราเอลโดยไม่มีมาตรการปกป้องพลเรือน

143 ชาติโหวตหนุน ‘ปาเลสไตน์’ ได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในเวทียูเอ็น ย่างก้าวสำคัญสู่การพิจารณาให้สมาชิกภาพเต็มรูปแบบ

(11 พ.ค.67) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ปาเลสไตน์ ในเวทียูเอ็นเมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพิจารณาให้สมาชิกภาพเต็มรูปแบบ

กีลาด เออร์ดัน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำยูเอ็น แสดงท่าทีไม่พอใจภายหลังการโหวตซึ่งมีผลในเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่ ริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำยูเอ็น ชี้ว่านี่คือการลงมติครั้งประวัติศาสตร์

รัฐสมาชิกยูเอ็นจำนวน 143 ประเทศ รวมถึง 'ไทย' ได้ให้การรับรองมติดังกล่าว โดยมี 9 ประเทศคัดค้าน และอีก 25 ประเทศงดออกเสียง

มติดังกล่าวมีการระบุชัดเจนว่า ปาเลสไตน์จะไม่สามารถถูกเลือกเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (UNSC) หรือลงคะแนนโหวตในที่ประชุม UNGA ได้ ทว่าจะมีสิทธิยื่นข้อเสนอและแก้ไขข้อเสนอได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านประเทศอื่น ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

มตินี้ยังให้สิทธิแก่ผู้แทนปาเลสไตน์ในการนั่งอยู่ท่ามกลางรัฐสมาชิกยูเอ็น โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรด้วย

ริชาร์ด โกวาน นักวิเคราะห์จาก International Crisis Group ชี้ว่าความเคลื่อนไหวของยูเอ็นในครั้งนี้กำลังสร้างวงจรความล้มเหลวทางการทูต เพราะในขณะที่ UNGA เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ UNSC รับรองสมาชิกภาพเต็มรูปแบบแก่ปาเลสไตน์ แต่ถูกสหรัฐฯ ใช้สิทธิวีโต ตีตกทุกครั้งอีกเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี โกวาน ระบุว่า ผลโหวตในเชิงสัญลักษณ์นี้ มีความสำคัญ เพราะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังสหรัฐฯ และอิสราเอลว่า ประชาคมโลกเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์อย่างจริงจังเสียที

ปาเลสไตน์ได้ยื่นคำร้องซ้ำในเดือน เม.ย. เพื่อขอเข้าเป็นรัฐสมาชิกยูเอ็นเต็มรูปแบบ จากปัจจุบันที่มีฐานะเป็นเพียง ‘รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก’ (nonmember observer state)

กระบวนการดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องได้รับไฟเขียวจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น รวมถึงได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสมาชิก UNGA ถึง 2 ใน 3

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และเป็นชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอล ได้ใช้สิทธิ ‘วีโต’ ความพยายามของปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 18 เม.ย.

'อิสราเอล' เผย!! 2 ตัวประกันไทยในกาซาตายแล้ว คาดตั้งแต่เหตุโจมตี 7 ต.ค. ด้าน 'รมว.กต.ไทย' ลั่น!! ขอให้ปล่อยอีก 6 ตัวประกันคนไทยโดยทันที

(17 พ.ค. 67) กองทัพอิสราเอลเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) ตัวประกันไทย 2 คน ที่เดิมทีเชื่อว่ามีชีวิตรอดอยู่ในกาซา แท้จริงแล้วเสียชีวิตในเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และศพของทั้งคู่ถูกกักอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยรุดออกมาแสดงความเสียใจ และบอกว่าจะติดต่อประสานงานให้ความช่วยเหลือครอบครัวในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

"เราได้แจ้งกับครอบครัว 2 พลเมืองไทยที่ถูกลักพาตัว ซึ่งทำงานในภาคเกษตรกรรมในที่เพาะปลูกแห่งหนึ่งใกล้กับคิบบุตซ์บีรี (นิคมการเกษตรบีรี) ว่าพวกเขาถูกฆาตกรรมในเหตุโจมตีก่อการร้ายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และศพของพวกเขาถูกกักไว้โดยพวกฮามาส" จากการเปิดเผยของดาเนียล ฮาการี โฆษกของกองทัพอิสราเอล

กองทัพอิสราเอลกับกลุ่มครอบครัวตัวประกันและผู้สูญหาย (Hostages and Missing Families Forum) ระบุชื่อชายทั้ง 2 คน ได้แก่นายสนธยา อัครศรี และนายสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ ซึ่งได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยเช่นกัน

จากการนับของเอเอฟพีบนพื้นฐานข้อมูลของฝั่งอิสราเอล สำนักข่าวเอเอฟพีเชื่อว่าตอนนี้เหลือตัวประกันไทยที่ยังถูกควบคุมในกาซา อยู่ 6 คน

Hostages and Missing Families Forum ระบุในถ้อยแถลงว่า "ในขณะที่เราเศร้าโศกต่อเหตุฆาตกรรมอันน่าเศร้าของ 2 ตัวประกันไทย มันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประชาคมนานาชาติที่ต้องตระหนักว่าวิกฤตตัวประกันมีขอบเขตเกินเลยมากไปกว่าการเป็นประเด็นปัญหาของอิสราเอลแต่เพียงฝ่ายเดียว" พร้อมเรียกร้องการตอบสนองด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน

เอเอฟพีรายงานว่า ไทยมีพลเมืองในอิสราเอลราว 30,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม

เหตุโจมตีของพวกฮามาส เล่นงานทางภาคใต้ของอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,170 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน มันกระตุ้นให้อิสราเอลแก้แค้นด้วยการเปิดปฏิบัติการทางทหารในกาซา สังหารผู้คนไปแล้ว 35,272 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เผยแพร่ถ้อยแถลงเรื่องการเสียชีวิตของตัวประกันไทย 2 ราย ในกาซา ระบุว่ากระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟว่า คณะกรรมการด้านการประเมินสถานภาพตัวประกันของรัฐบาลอิสราเอล ได้พิจารณาหลักฐานแวดล้อมที่เชื่อถือได้ และแจ้งว่า ตัวประกันคนไทย 2 ราย จากจำนวนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว 8 ราย ได้เสียชีวิตแล้ว ประกอบด้วย นายสนธยา อัครศรี และนายสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ โดยคาดว่าเป็นการเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงต้นของเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2023

ถ้อยแถลงระบุต่อว่า รัฐบาลไทยขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยสถานเอกอัครราชทูต และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ติดต่อครอบครัวทั้ง 2 แล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประสานงานในการให้ความช่วยเหลือครอบครัวในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

รัฐบาลไทยขอย้ำการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมดโดยเร็วที่สุด รวมถึงตัวประกันคนไทยอีก 6 คน ให้กลับคืนสู่มาตุภูมิโดยปลอดภัย รวมถึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อบรรลุการเจรจา และนำไปสู่การแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมในกาซาโดยทันที ถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศระบุ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top