Sunday, 19 May 2024
อิสราเอล

‘สหรัฐฯ’ เคลื่อนเรือรบประชิดชายฝั่งเมดิเตอร์ฯ หนุน ‘อิสราเอล’ ด้าน ‘กลุ่มชีอะห์’ เตือน!! พร้อมลุยฐานทัพสหรัฐฯ หากจุ้นกาซา

(9 ต.ค. 66) ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้เคลื่อนพลกองเรือรบ เรือบรรทุกเครื่องบินรบ และอากาศยานอื่นๆ เข้าประชิดชายฝั่งด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาสในอิสราเอล อันเป็นเหตุให้มีชาวอเมริกัน อย่างน้อย 4 คนเสียชีวิต

‘ลอยด์ ออสติน’ ได้กล่าวผ่านสื่อสหรัฐฯ ว่า ได้หารือกับ ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ ถึงสถานการณ์ในอิสราเอล และขั้นตอนการยกระดับบทบาทด้านการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ และในวันนี้ก็มีคำสั่งให้เคลื่อนเรือบรรทุกเครื่องบินรบ USS Gerald R. Ford ที่ได้ชื่อว่าเป็นเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเรือรบติดขีปนาวุธ USS Normandy, USS Thomas Hudner, USS Ramage, USS Carney และ USS Roosevelt เข้าประชิดชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งใกล้เขตน่านน้ำของอิสราเอล และบริเวณฉนวนกาซา

ด้านฝ่ายกลาโหมสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับ ‘โยอาฟ แกลลันต์’ รัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมจะสนับสนุนชาวอิสราเอลจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส เพื่อคืนความมั่นคง ปลอดภัยให้แก่อิสราเอล ส่วนยุทโธปกรณ์ด้านการรบ จะมีการขนส่งด่วนมาทางเครื่องบินในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอย่างแน่นอน

การเคลื่อนไหวของกลาโหมสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากที่โจ ไบเดน ได้พูดคุยกับ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมื่อวันอาทิตย์ (8 ตุลาคม 66) ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญากับผู้นำอิสราเอลว่า จะส่งความช่วยเหลือถึงกองทัพอิสราเอลในเร็ววันนี้ และเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ จะไม่รับฟังข้ออ้างใดๆ สำหรับการก่อการร้าย และทุกประเทศทั่วโลกต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อต้านการใช้อำนาจนิยมที่โหดร้ายเช่นนี้ อีกทั้งจะยกระดับการติดต่อทางการทูตอย่างเข้มข้นระหว่าง 2 ชาติตลอด 24 ชั่วโมง 

‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘อิสราเอล’ ถือเป็นประเทศพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งงบประมาณช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอลหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี นับเป็นประเทศที่ได้รับงบประมาณจากสหรัฐอเมริกามากที่สุดประเทศหนึ่ง 

จึงไม่แปลกใจที่สหรัฐอเมริกาจะแสดงจุดยืนสนับสนุนฝ่ายอิสราเอลอย่างชัดเจน และเตรียมความพร้อมที่จะแทรกแซง หากสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ขยายวงความรุนแรงจนเกินควบคุม 

แต่ทว่า ด้านกลุ่ม ‘Kata'ib Sayyid al-Shuhada’ กองกำลังติดอาวุธกลุ่มชีอะห์ ในอิรัก ออกมาเตือนว่า หากสหรัฐอเมริกาแทรกแซงสงครามในกาซาเมื่อใด ฐานทัพสหรัฐฯ ทุกแห่งในภูมิภาคแถบตะวันออกกลาง มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีโดยกองกำลังพันธมิตรของปาเลสไตน์ทันที เพราะปาเลสไตน์ ไม่ใช่ยูเครน ที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าแทรกแซงได้ตามอำเภอใจ เพราะความขัดแย้งในดินแดนปาเลสไตน์ และระบอบไซออนนิสต์ มีความละเอียดอ่อนสูงกว่ามาก 

และการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังทหาร และการเมืองตามแนวทางของสหรัฐอเมริกา ก็อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก และเกรงว่าจะยิ่งทับถมปมความขัดแย้งที่ยาวนานมากกว่า 75 ปี ให้ฝังลึกในดินแดนแถบนี้ลงไปอีกนั่นเอง

‘ไทย’ โล่ง!! ผลกระทบการโจมตีอิสราเอลน้อย เชื่อ!! ไม่สะเทือน ‘ส่งออก-ท่องเที่ยว-แรงงาน’

(9 ต.ค.66) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม หลัง ‘อิสราเอล’ และ ‘ปาเลสไตน์’ ได้เปิดฉากการโจมตีใส่กันจนเข้าสู่ภาวะสงคราม โดยระบุว่า…

ประเมินผลกระทบการโจมตีอิสราเอล

หลังจากที่ฮามาสโจมตีอิสราเอล​ และมีการตอบโต้จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก​ อีกทั้งสถานการณ์​ยังเสี่ยงรุนแรงและยืดเยื้อออกไป​ ผมมองว่าผลกระทบต่อไปมีทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยผลกระทบทางตรง ได้แก่
1.) การส่งออก
2.) การท่องเที่ยว
3.) รายได้แรงงาน

ผลกระทบทางตรงน่าจะจำกัด​ อิสราเอลไม่ใช่คู่ค้าหลักของไทย​ (ส่งออกเน้นสินค้าเกษตร/อาหาร)​ ไม่ใช่กลุ่ม​ท่องเที่ยวสำคัญ​ แต่ให้ระวังด้านการขนส่งทางอากาศ ที่อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางในตะวันออกกลางจนกระทบการท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ อีกทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลเพื่อส่งรายได้เข้าประเทศ​ ยังมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน​ (ตรงนี้ต้องไปเช็กต่อที่กระทรวง​แรงงาน​กันดูครับ​ ไม่คอนเฟิร์ม) หรืออาจจะต้องขอดูจำนวนเทียบเกาหลีใต้ หรือประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ (และขอแสดงความเสียใจ​กับครอบครัว​แรงงานไทยที่เสียชีวิตด้วยครับ) ส่วนด้านการลงทุนก็ยังไม่มาก

โดยผลกระทบทางอ้อม
1.) ราคาน้ำมันพุ่ง
2.) เงินวิ่งสู่สินทรัพย์​ปลอดภัย​ (ดอลลาร์​สหรัฐฯ)
3.) ราคาทองคำขึ้น

ผมยังมองว่าผลทางอ้อมไม่น่ารุนแรง​ อิสราเอล​ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมัน​ อีกทั้งประเทศรอบข้าง​อย่างจอร์แดน​ก็ไม่ได้มีน้ำมันมาก​นัก น่าจะห่วงการขยายวงกว้างไป​อิหร่านหรือซาอุดีอาระเบีย​มากกว่า​ (ตอนนี้ยังไม่มีท่าทีไปไกล)​ หรือจะกระทบการขนส่งน้ำมันดิบผ่านทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​ไปยุโรป​ แต่ก็ทำได้หลายช่องทาง​ (ระวังกระทบการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านช่องแคบเช่นคลอง​ Suez และ​ Supply Chain Disruption กลุ่ม​ยานยนต์​ อิเล็กทรอนิกส์)

ผมจึงมองว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไม่น่าไปไกล​ เว้นแต่ประเทศอื่นเข้าร่วมสงครามนี้​ ส่วนพอน้ำมันพุ่ง​ ทองก็ขึ้นตาม​ ดอลลาร์​สหรัฐฯ ​กลับมาแข็ง เพราะเป็น​ Safe Haven

ที่ผมกังวลต่อตลาดทุน น่าจะมาจากบอนด์ยิลด์​พันธบัตร​รัฐบาลสหรัฐ​ฯ ที่ยังขึ้น​จนเกิดการเทขายสินทรัพย์​เสี่ยง​ บาทเลยอ่อนได้อีก​ และที่ยิลด์ขึ้นน่าจะมาจากข่าวเมื่อวันศุกร์ (6 ต.ค.) ที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาค​เกษตร​ของ​สหรัฐฯ ยังเพิ่ม​ แม้อัตราว่างงานจะคงที่​ 3.8% และอัตราเพิ่มของค่าจ้างจะเริ่มชะลอที่​ +0.2% จากเดือนก่อน​

แต่ยังห่วงว่า ‘เฟด’ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในต้นเดือนพฤศจิ​กายนนี้​ CME​ Fedwatch มองโอกาสขึ้นเพิ่มไปมากกว่า​ 20%แล้ว​ และหากราคาน้ำมันเพิ่มยาว​ ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงก็มี

สรุป​ ผมห่วงปัญหาสงครามในอิสราเอล​จะยืดเยื้อ และลามไปกระทบประเทศอื่นในตะวันออกกลาง​ ที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจนไทยขาดดุลการค้า​ ตลาดการเงินเสียเสถียรภาพ​ บาทอ่อน​ ห่วงการคุมราคาน้ำมันยิ่งทำให้รัฐบาลขาดทุนในกองทุนน้ำมัน​ หนี้เพิ่มไปอีก​ น่าหาทางใช้พลังงาน​ให้มีประสิทธิภาพ​ และอุดหนุนเฉพาะที่จำเป็น​ ผมยังเชื่อว่าสงครามจะจบในไม่ช้า​ แต่ก็ไม่มีใครรู้​ อย่าง ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ที่ลากมาเป็นปีก็ยังทำได้​ เราคงต้องหาทางลดผลกระทบกันดูครับ

“พิพัฒน์” เผย ข่าวดี แรงงานล็อตแรกจากอิสราเอลกลับถึงไทย 12 ต.ค. นี้ พร้อมสั่งการทูตแรงงาน เยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องแรงงานชาวไทย ณ ศูนย์อพยพ ณ ประเทศอิสราเอล

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในนาม รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มีความยินดีที่แจ้งข่าวดีสำหรับพี่น้องแรงงานชาวไทย ที่ภายหลังสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา

กระทรวงต่างประเทศ และ กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมทำงานอย่างหนักเพื่อดำเนินการอพยพพี่น้องแรงงานไทยไปยังจากพื้นที่สู้รบไปยังพื้นปลอดภัย พร้อมวางแผนในการดำเนินการอพยพพี่น้องแรงงานชาวไทยกลับสู่ประเทศไทย

โดยในวันที่ 9 ตุลาคม ทางรัฐบาลไทยได้รับข่าวดี และ ยืนยันในการนำพี่น้องแรงงานไทยกลุ่มแรก จำนวน 15 คน กลับสู่ประเทศไทยโดยแบ่งเป็น 2 เที่ยวบิน โดยเที่ยวบินแรก LY081 จำนวน 5 คน และ เที่ยวบินที่สอง LY083 จำนวน 10 คน โดยพี่น้องแรงงานชาวไทย จะเดินทางถึง สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 12 ตุลาคม โดยเที่ยวบินแรกจะถึงในเวลา 10.35 น. และ เที่ยวบินที่สองเวลาในเวลา 12.35 น.

และ นายพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมาย อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในการเดินทางเยี่ยม และ ให้กำลังใจ พี่น้องแรงงานที่อพยพมาจากเขตสู้รบ มายัง ศูนย์หลบภัยแรงงาน ของประเทศอิสราเอล ซึ่งมีพี่น้องแรงงานไทยที่อพยพมาพำนักประมาณ 256 คน

'อ.ปิติ' ถอดบทเรียนวิกฤต ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ สิ่งที่คนไทยและรัฐไทย 'ควรทำ' และ 'ไม่ควรทำ'

(10 ต.ค. 66) รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจ และขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยและประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะกับครอบครัว ญาติ มิตร ของผู้สูญเสีย ทั้งชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญเสียทรัพย์สิน และผู้สูญเสียโอกาสในการทำงาน รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งขอเรียกร้องให้มีการทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ และยุติการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงต่อประชาชน

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งซึ่งสะท้อนจากการติดตามสถานการณ์ คือ พวกเราชาวไทยดูเหมือนจะมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนในภาวะวิกฤตที่ยังคลาดเคลื่อนอยู่มาก ทั้งประชาชนทั่วไป และผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล ดังนั้นจึงขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ถอดบทเรียนและกล่าวถึงสิ่งที่คนไทยและรัฐไทยควรทำ และไม่ควรทำ

>> สำหรับประชาชนทั่วไป

1. โทรหาสถานทูตไทยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ การตรวจสอบดูว่าประเทศที่ไป หรือเมืองที่จะไป มีสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยที่อยู่ใกล้ที่สุด ตั้งอยู่ที่ใด และช่องทางติดต่อกับสถานทูตสามารถทำได้อย่างไร เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะมาในรูปแบบภัยธรรมชาติ ภัยก่อการร้าย ภัยสงคราม หรือ ปัญหาส่วนบุคคล อาทิ ถูกหลอกลวง ถูกขโมย ถูกทำร้าย ช่องทางการติดต่อเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากจะให้คำปรึกษาต่อการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องแล้ว ยังเป็นช่องทางในการยืนยันตัวตน และเป็นจุดศูนย์กลางในการที่จะพาท่านกลับสู่ประเทศไทยในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย โดยภาพที่ผมแปะไว้ใน FB นี้คือ เบอร์ Hotline สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ที่ update โดยกรมการกงสุล

2. กรณีไม่มีสถานทูตไทย ให้ติดต่อสถานทูตอาเซียน สำหรับเมือง และประเทศที่ประเทศไทยไม่ได้มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ตั้งอยู่ เมื่อประสบเหตุคนไทยสามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือได้ทันทีที่สถานทูตของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน อันได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยประชาคมอาเซียนมีข้อตกลงกันแล้วในเรื่องนี้ว่าสถานทูตของแต่ละประเทศสมาชิกจะให้การดูแลและให้บริการกับประชาชนอาเซียนในรูปแบบเดียวกับคนชาติของตนเอง

3. ออกจากพื้นที่อันตราย และงด Live สด แน่นอนว่าการออกจากพื้นที่อันตรายน่าจะเป็นสัญชาตญานอัตโนมัติ แต่ในโลกยุคดิจิตอลที่ทุกคนเข้าถึง Social Media สิ่งย้อนแย้งที่เราเห็นซึ่งเชื่อว่าเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการคือ เราเห็นพี่น้องคนไทยจำนวนหนึ่งออกไป Live สด เพื่อเล่าให้เพื่อนฝูง ญาติสนิทมิตรสหาย และครอบครัวทราบว่า ท่านปลอดภัยดี และบางคนก็อยากได้ยอด Like อยากได้ Engagement ซึ่งนั่นคือ การกระทำที่อันตรายที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นภัยจากการก่อการร้าย และ/หรือ ภัยสงคราม เพราะผู้ก่อเหตุที่มีแนวคิดสุดโต่งจะรู้ทันทีว่าตำแหน่งของท่านอยู่ ณ จุดใด ท่านกำลังเปิดเผยสถานที่อยู่ของท่านให้อันตราย และ/หรือ ฆาตกรเข้ามาหาตัวท่านได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการ กรณีปาเลสไตน์ต้องอย่าลืมว่า การที่เราคนไทยไปทำงานให้ฝั่งอิสราเอลทำให้มีกลุ่มแนวคิดสุดโต่งจำนวนหนึ่งพิจารณาว่า คนไทยคือส่วนหนึ่งของขบวนการ Zionist หรือขบวนการชาตินิยมในหมู่ชาวยิวทั้งที่เชื่อในการสถาปนาใหม่และสนับสนุนรัฐยิวในบริเวณที่นิยามว่าเป็นแผ่นดินอิสราเอล ซึ่งถือเป็นศัตรูคู่แค้นโดยตรงของพวกเขา ดังนั้นหากอยากจะแจ้งข่าวให้ครอบครัวทราบว่าท่านปลอดภัยดี อย่าได้ Post ใน Social Media หากแต่ต้องอยู่ในที่ปลอดภัย และใช้โทรศัพท์ในการโทรแจ้งกับครอบครัว อย่า live สด

4. เตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อท่านอยู่ในต่างประเทศกับครอบครัว กับเพื่อน สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ การเตรียมแผนรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉิน สำรวจทางหนีทีไล่ เตรียมอุปกรณ์ยังชีพ Supply ต่าง ๆ ที่จำเป็น อาทิ เครื่องปฐมพยาบาล น้ำสะอาด อาหารกระป๋อง รองเท้า สำเนาเอกสารสำคัญ ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ Power Bank ฯลฯ บรรจุใส่ประเป๋า วางในตำแหน่งที่รับรู้กัน และนำติดตัวไปด้วยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งนัดหมายสถานที่ที่จะนัดเจอกันเมื่อต่างคนต่างหนีเอาตัวรอดออกไปได้ ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะห่วงหน้าพะวงหลัง นัดจุดนัดพบที่ปลอดภัย และรอคอยความช่วยเหลืออยู่ ณ บริเวณนั้น

>> สำหรับรัฐบาล

ด้วยความเคารพท่านผู้บริหารรัฐบาล ผมพิจารณาว่าการบริหารการสื่อสารในภาวะวิกฤตของท่านต้องได้รับการปรับปรุง การสื่อสารในภาวะวิฤต (Crisis Communication) เบื้องต้น มีหลักการดังนี้

1. การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุวิกฤต 

• ท่านต้องกำหนด Spokeperson ที่ชัดเจน และให้เขาเป็นผู้สื่อสารแต่เพียงผู้เดียวจากจุดเดียวเพื่อป้องกันความสับสน ดังนั้นสายการบังคับบัญชาต้องชัดเจน ซึ่งผู้ที่เหมาะสมที่สุดถ้าเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงจริงๆ ท่านนายกรัฐมนตรีต้องหยุดภารกิจในต่างประเทศและกลับมาทำหน้าที่นี้ในการแถลงด้วยตนเอง จากนั้นอาจจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศ หรือถ้าจะให้เป็นมืออาชีพก็ควรจะเป็นอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโฆษกกระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว และมีคณะทำงานที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ครบถ้วน

• วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายหลักของการสื่อสารในภาวะวิกฤต องค์ความรู้ในเรื่องการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Communication) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป้าหมายของการสื่อสาร (End) อยู่ที่จุดใด แนวทางในการสื่อสาร (Ways) ที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์เป็นอย่างไร และเครื่องมือ (Means) หน่วยงานไหน ใคร สื่อไหน และพันธมิตรในการสื่อสารคือใคร เหล่านี้ต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า

2. ระหว่างเกิดวิกฤต

• กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าในวิกฤตแต่ละวิกฤต เป้าหมายแรกที่สำคัญที่สุดคือสิ่งใด เป้าหมายรองลงมาคือเป้าหมายใด ในกรณีวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป้าหมายที่สำคัญที่สุดตามลำดับความสำคัญ อาทิ  1) ช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นตัวประกัน 2) ช่วยเหลือคนไทยให้อพยพออกจากพื้นที่ 3) เยียวยา ชดเชย ผลกระทบจากเหตุการณ์ ฯลฯ เมื่อเป้าหมายชัด Ways และ Means จะตามมา

• แถลงการณ์ที่จะออกมาต้องใช้ช่องทางที่เป็นทางการ หลีกเลี่ยงการใช้ Social Media โดยเฉพาะ Twitter-X เพราะมีข้อจำกัดเรื่องความยาวจากจำนวนตัวอักษร รวมทั้งไม่ควรใช้ Social Media เพราะเป็นการสื่อสารที่ฉับพลันทันที อาจทำให้มือลั่น สื่อสารออกไปโดยยังไม่ได้คิดวิเคราะห์พิจาณาอย่างรอบคอบรอบด้าน หลีกเลี่ยงข้อความที่สามารถตีความได้ว่า ประเทศไทยได้เลือกข้าง เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะสถานกาณ์อย่างกรณีวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์มีความซับซ้อนในทางประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ และมีการแทรกแซงจากหลายฝ่าย และถูกตีความโดยอคติได้ง่าย

• เมื่อเป้าหมายคือการช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นตัวประกันออกมาจากพื้นที่ และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ไทยไม่ได้มีสถานเอกอัครราชทูต ถึงแม้ไทยจะยอมรับสถานะของ State of Palestine มาตั้งแต่ปี 2012 และมีการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดี Mahmoud Abbas แห่งปาเลสไตน์ในปี 2016 แต่ด้วยความที่ประเทศไทยยังไม่มีสถานทูตในปาเลสไตน์ และสถานทูตในอิสราเอลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะเจรจาได้ โดยสถานทูตไทยที่อยู่ใกล้ที่สุดคือที่ กรุง Amman ประเทศจอร์แดน ดังนั้นการขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาลมาเลเซียและ/หรืออินโดนีเซียที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับปาเลสไตน์เป็นเรื่องสำคัญ และทั้ง 2 ประเทศเองก็ไม่ต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอล ดังนั้นการออกข้อความที่ทำให้คิดได้ว่า ไทยสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะทำให้การขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทำได้ยากมากยิ่งขึ้น

• แถลงการณ์ที่จะออกต้องมาจากจุดเดียว เพื่อป้องกันความสับสน ใช้ข้อมูลทางการ ผ่านการวิเคราะห์อย่างรอบด้านจากผู้เชี่ยวชาญ มีการตรวจสอบเนื้อหาอย่างรอบคอบรอบด้าน เน้นเรื่องการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง รวมทั้งให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในอนาคต

• ใช้วิธีการอ่านแถลงการณ์อย่างช้าๆ ด้วยน้ำเสียงเนิบ ปราศจาการใส่อารมณ์ และไม่จำเป็นต้องมีการถาม-ตอบปัญหาหลังการอ่านแถลงการณ์ เพราะอาจเกิดการยั่วยุ อาจเกิดการเข้าใจผิด หรืออาจเกิดการผลิดพลาดทางการสื่อสาร

• สื่อสารจากจุดๆ เดียว ในกรณีวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สิ่งที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง การให้ผู้บริหารภาครัฐหลายคนออกมาแถลงกับสื่อ โดยไม่มีความเป็นหนึ่งเดียว หรือการสื่อสารโดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง การใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ หรือข้อมูลที่ผิดพลาด รวมทั้งการใช้คำพูดที่พลั้งปาก จะทำให้เกิดความเสียหาย อาทิ ผู้บริหารระดับสูงบางท่านออกมาแถลงข่าวและแจ้งว่าเป็นข่าวดีหรือเป็นเรื่องดีที่คนไทยเสียชีวิตเพียงหนึ่งราย เพราะอีกรายเป็นชาวจีน การใช้คำว่า ข่าวดีหรือเรื่องดี ในสถานการณ์เช่นนี้ อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะคนไทยไม่เสียชีวิต แต่คนชาติอื่นเขาเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ก่อนหน้านี้พึ่งจะมีการเสียชีวิตของคนต่างชาติในประเทศของเราจากเหตุการณ์เลวร้ายก่อนหน้า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่สมควรเกิดขึ้น

3. ระยะเวลาต่อเนื่อง

• เร่งหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับทราบในเบื้องต้นถึงผลกระทบในมิติต่างๆ ที่จะตามมาทั้งมิติความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อสังคม

• การมอบหมายให้มีการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น การถอดบทเรียน และจัดทำเป็น Playbook คู่มือการจัดการภายใต้ภาวะวิกฤต เพื่อรับมือกับสภานการณ์ในอนาคต คือสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง

4. พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

• เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียน ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีสถานทูตในทั้งอิสราเอล และปาเลสไตน์ แต่ทุกประเทศมีโอกาสที่จะมีประชาชนของเขาตกค้างอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะขอให้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน เพื่อยืนยันความเป็นประชาคมอาเซียนร่วมกัน ว่าเราจะมอบหมายให้ประเทศสมาชิกที่มีสถานทูตอยู่ในทั้ง 2 รัฐนี้ ให้ความช่วยเหลือกับประชาชนอาเซียนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนอาเซียนได้เห็นว่า ในภาวะวิกฤต อาเซียนคือที่พึ่งของเขา อาเซียนคือกลไกที่เป็นประชาคมของประชาชน และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้กลไกของอาเซียน ที่เรียกว่า ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management หรือ AHA Centre ในการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากอาเซียนไปสู่ผู้ประสบภัยในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายใด แต่นี่คือภารกิจของอาเซียนต่อประชาคมโลก นี่คือโอกาสในการกลับมามีบทบาทนำของไทยในเวทีอาเซียน

‘ฉนวน Gaza’ เขตกักกันอันแสนสิ้นหวัง-ไร้มนุษยธรรม ที่ทั่วโลกมองข้าม ชนวนเหตุในการโต้ตอบด้วยความรุนแรงจากกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอล

ฉนวน Gaza เขตกักกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทำไมกลุ่ม ‘Hamas’ จึงกล้าโจมตีอิสราเอลอย่างบ้าเลือด ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าจะต้องถูกอิสราเอลตอบโต้เอาคืนอย่างรุนแรง เมื่อได้พยายามหาข้อมูลที่เขียนจากแหล่งข้อมูลที่มีความเป็นกลางที่สุด ก็ทำให้ได้บทความนี้มา ซึ่งเป็นบทความที่เขียนโดย ‘War Child International’ องค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร (NGO) ที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามจากความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในที่ต่าง ๆ บนโลกนี้

คำเตือนที่สิ้นหวัง 
ชาว Gaza เรียกบ้านของพวกเขาว่าเป็น ‘เขตกักกัน’ ที่เสมือนกับเป็น ‘เรือนจำกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ด้วยจำนวนผู้คนร่วม 2 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ที่นี่ บนพื้นที่เพียง 365 ตารางกิโลเมตร ประชากรในฉนวน Gaza สองในสามอายุน้อยกว่า 25 ปี อาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ‘António Guterres’ เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เตือนว่า ฉนวน Gaza จะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ภายในปี 2020 เว้นแต่จะมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปรับปรุงบริการและโครงสร้างพื้นฐาน

ด้วยผลจากการปิดล้อม ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ต้องดิ้นรนกับสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ อันเนื่องมาจากอัตราความยากจนและการว่างงานที่สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ฉนวน Gaza มีความหนาแน่นของประชากรสูงมาก สำนักงานสถิติกลางกาซา ระบุว่า มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 5,453 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าความหนาแน่นของประชากร 13 เท่าในพื้นที่ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง คือ 400 คนต่อตารางกิโลเมตร ความยาวของฉนวน Gaza ไม่เกิน 41 กม. และความกว้างระหว่าง 6 ถึง 12 กม. สถิติท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานในฉนวน Gaza เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยแตะระดับ 50.2% และเนื่องจากการปิดล้อมฉนวน Gaza อย่างต่อเนื่องและยาวนาน การโจมตีของอิสราเอล ทำให้ประชากรชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ประมาณ 85% อยู่ในระดับที่ ‘ต่ำกว่าเส้นของความยากจน’

สงครามใหญ่ 4 ครั้งในรอบ 16 ปี

เด็ก ๆ และผู้ปกครองในฉนวน Gaza ไม่รู้อะไรเลยนอกจากชีวิตภายใต้การปิดล้อม และไม่สามารถออกไปไหนได้ แม้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็ตาม หนึ่งทศวรรษหลังจากที่กลุ่ม Hamas ยึดครองดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ผู้อยู่อาศัยต้องมีชีวิตที่ต้องผ่านการสู้รบครั้งใหญ่ถึง 4 ครั้ง ในปี 2008-2009, 2012, 2014 และ 2021 และตอนนี้กำลังอยู่ในครั้งที่ 5

ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 มีประชากรในฉนวน Gaza ได้รับบาดเจ็บแล้วกว่า 23,500 ราย มากกว่า 5,500 รายถูกยิงโดยกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล ผลการประท้วงตามแนวชายแดนส่งผลให้มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 4,250 ราย และมีผู้เสียชีวิต 31 ราย (ไม่นับรวบเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้)

การจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
หลายปีมานี้ สถานการณ์ในฉนวน Gaza ย่ำแย่ลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ระบบการดูแลสุขภาพและการศึกษาในท้องถิ่นจวนเจียนที่จะล่มสลาย และการเผชิญกับความรุนแรงในระยะยาวยังคงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ ทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพทางใจของเด็ก ๆ และเยาวชน พ่อแม่ ผู้ดูแล และนักสังคมสงเคราะห์ต้องดิ้นรน เพื่อรับมือกับความเครียดในระดับที่ท่วมท้นและหันไปใช้วิธีทุก ๆ รูปแบบเพื่อเอาชีวิตรอด พวกเขาไม่สามารถให้การสนับสนุนแก่เด็ก ๆ ตามที่ต้องการได้

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่มีอัตราสูงในฉนวน Gaza ทำให้เกิดภาวะทางจิตซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย รวมถึงโรคความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า อาการเหล่านี้มีความรุนแรงในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เด็กกว่าครึ่งหนึ่งในฉนวน Gaza กล่าวว่า “พวกเขาไม่มีความหวังอะไรเลยสำหรับอนาคตของพวกเขา”

‘Rami’ เด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 10 ขวบ เติบโตภายใต้การปิดล้อมฉนวน Gaza ของอิสราเอล

เรื่องราวของ ‘Rami’ (10 ขวบ) ผู้ซึ่งเติบโตภายใต้การปิดล้อมฉนวน Gaza ของอิสราเอล
‘Rami’ เป็นเด็กชายชาวปาเลสไตน์วัย 10 ขวบ เขาและน้องชายอีก 3 คน ต้องใช้ชีวิตในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครองมาทั้งชีวิต ‘Haifa’ แม่ของเด็ก ๆ พยายามดิ้นรนเพื่อปกป้องลูก ๆ ของเธอจากความทุกข์ทรมานตลอดกาล และการถูกคุกคามจากความรุนแรง

“พื้นที่ที่เราอาศัยอยู่นั้นอันตรายมากในช่วงสงคราม มีการโจมตีด้วยขีปนาวุธเป็นประจำ” เธอกล่าว

ครอบครัวนี้ต้องอพยพออกจากบ้านหลายครั้งหลายหน เพื่อหลบหนีการโจมตีด้วยรถถังและระเบิดของอิสราเอล “หลายปีแห่งความหวาดกลัว มันหมายความว่า เราไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ ไม่ใช่เพียงแค่ด้านจิตใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านการเงินด้วย” เธอกล่าวเสริม โดยอ้างถึงนโยบายการปิดล้อมและการปิดเมืองอย่างถาวรที่บังคับใช้ในฉนวน Gaza

เพื่อเรียนรู้วิธีจัดการกับประสบการณ์ของเธอและช่วยเหลือลูก ๆ Haifa จึงเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการของ ‘War Child’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กในสภาวะสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตของสังคมในฉนวน Gaza โดยเจ้าหน้าที่ของ War Child ได้สัมภาษณ์พวกเขาเกี่ยวกับเวลาที่พวกเขาเข้ามาร่วมโครงการ Haifa กล่าวว่า “ฉันรู้สึกสบายใจมากที่ได้อยู่กับกลุ่มนี้ ฉันสามารถปรับตัวได้ในเวลาไม่นาน และรู้สึกว่าได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นอย่างดี ฉันยังคงต้องฝึกหัดจินตนาการและผ่อนคลายมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งช่วยให้ฉันมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้น”

ก่อนที่จะเข้าร่วมกลุ่มที่รับการดูแลของ War Child ทำให้ Haifa พบว่า การแสดงความรู้สึกของเธอออกมานั้นเป็นเรื่องยาก เธอไม่อยากสร้างภาระให้คนรอบข้าง ในระหว่างการประชุม เธอเรียนรู้ที่จะเปิดใจอย่างช้า ๆ แต่แน่นอน สิ่งนี้ได้ช่วยให้ Haifa สร้างความผูกพันอันแน่นแฟ้นกับแม่ของเธอ และเรียนรู้ที่จะพึ่งพาผู้อื่นเพื่อรับการสนับสนุน Haifa พบว่า แม่ของเธอสามารถให้ที่หลบภัยแก่เธอได้อย่างแท้จริง “ฉันกลัวมากในระหว่างการสู้รบ และลูก ๆ ของฉันก็ได้รับความหวาดกลัวนั้นไปด้วย”

Rami กับแม่และน้องชาย

ความฝันแรกของ Rami คือการเป็นศัลยแพทย์เพื่อที่เขาจะสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ Haifa ได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก ๆ ของเธอ เมื่อก่อนบางครั้งเธอก็อารมณ์เสีย แต่ตอนนี้เธอต้องนับหนึ่งถึงสิบเพื่อสงบสติอารมณ์ เธอยังสอนวิธีนี้ให้สามีของเธอและเตือนเขาเสมอเมื่อเขาโกรธลูก ๆ พ่อ-แม่ทั้งสองกลายเป็นผู้รับฟังที่ดีและพยายามให้กำลังใจลูกให้มากที่สุด Rami ได้เห็นความแตกต่างซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในตัวแม่ของเขา เธอไม่ดุเขาและน้อง ๆ ของเขาอีกแล้ว แต่กลับเล่นกับพวกเขาแทน นอกจากนั้นเธอยังแบ่งปันแบบฝึกหัดการผ่อนคลายกับพวกเขาอีกด้วย Rami กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ผมรู้สึกว่า มันง่ายขึ้นที่จะบอกแม่เกี่ยวกับความรู้สึกและปัญหาของตัวผมเอง หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็รู้สึกอายน้อยลง และตอนนี้ผมก็กล้าที่จะแสดงรู้สึกมากขึ้น” Rami บอก

กล้าที่จะฝัน
Rami มีความสุขมากที่ได้มีส่วนร่วมกับโปรแกรมของ War Child ในฉนวน Gaza “มันช่วยให้ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็รู้สึกเขินอายน้อยลง และทุกวันนี้ผมก็กล้าที่จะแสดงรู้สึกมากขึ้น” ตอนนี้เขาตั้งตารอถึงอนาคตและสิ่งที่เขาต้องการจะบรรลุในปีต่อ ๆ ไป “ความฝันแรกของผมคือ การเป็นศัลยแพทย์เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้คนได้ เป็นคุณหมอมีความรัก ความฝันที่สองของผมคือ การสร้างครอบครัวและมีลูกเป็นของตัวเอง”

*ชื่อทั้งหมดในบทความนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความปลอดภัยของเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมในโครงการของ War Child

ที่มา : https://www.warchildholland.org/stories-of-children/Rami/

ทางเข้าออกฉนวน Gaza ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของอิสราเอล

บทความนี้เป็นเรื่องราวอีกด้านที่เกิดขึ้นในฉนวน Gaza ภายใต้การปิดล้อมของอิสราเอล อันเป็นสาเหตุในการโจมตีอิสราเอลของกลุ่ม Hamas ส่วนตัวแล้วไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงใด ๆ ในการแก้ไขปัญหา เพราะประวัติศาสตร์ของโลก ไม่เคยมีครั้งใดที่สามารถการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งสำเร็จลงได้ ด้วยการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นประหัตประหารกัน แม้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นลักษณะเลือดเข้าตาหรือจนตรอกของชาวปาเลสไตน์ก็ตาม สิ่งที่ประเทศตะวันตกปล่อยให้อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ เป็นเรื่องราวที่ไม่ปรากฏในสื่อหลักของโลกตะวันตก ไม่ว่าการปิดล้อมฉนวน Gaza การให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza มีไฟฟ้าใช้ได้เพียงวันละ 4 ชั่วโมง การขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภคอย่างหนักในฉนวน Gaza และการปิดล้อมไม่ให้นำอาหารและเวชภัณฑ์เข้าไปในฉนวน Gaza ของอิสราเอล ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น

ทางเข้าออกฉนวน Gaza ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของอิสราเอล

โดยอิสราเอลได้เพิ่มแรงกดดันต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza นับตั้งแต่ปี 2007 ด้วยการสร้างกำแพงรักษาความปลอดภัยรอบฉนวน Gaza อันเป็นส่วนสำคัญของการลงโทษของอิสราเอลต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ หลังจากชัยชนะของกลุ่ม Hamas ในการเลือกตั้งรัฐสภาปาเลสไตน์เมื่อต้นปี ค.ศ. 2006 และการยึดครองฉนวน Gaza ของกลุ่ม Hamas ในกลางปี 2007 กำแพงล้อมรอบฉนวน Gaza จากตะวันออกไปเหนือมีระยะทางประมาณ 65 กม. และสร้างอาคารสถานีคอนกรีต 6 แห่งตามแนวพรมแดนติดกับฉนวน Gaza ซึ่งอิสราเอลได้มีการควบคุมฉนวน Gaza ทั้งน่านน้ำและน่านฟ้าของตน และมีกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าเข้าออกฉนวน Gaza ทั้งมีการปิดกั้นห้ามเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าเข้าออกอยู่บ่อยครั้ง

เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza มีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ 1.) การต่อสู้กับผู้ปิดล้อม หรือ 2.) ขอให้อิสราเอลยอมผ่อนปรนมาตรการลดการปิดล้อม และยอมปล่อยให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีตามปกติ

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงก็ต้องเกิดขึ้น เป็นเพราะกลุ่ม Hamas มองว่าเป็นความชอบธรรมในการเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่อิสราเอลเป็นผู้กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza และทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza โดยกลุ่ม Hamas จึงต้องตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ 1 คือ การสู้รบกับอิสราเอลที่ปิดล้อมนั่นเอง

ซึ่งอันที่จริงแล้วสิ่งที่ประชาคมโลกควรจะทำ นอกจากการประณามต่อการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม Hamas แล้ว ก็คือการกดดันให้อิสราเอลปฏิบัติต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวน Gaza ด้วยความมีมนุษยธรรม เพื่อไม่ให้กลุ่ม Hamas มีเหตุผลอ้างในการโจมตีอิสราเอลอีกต่อไป

‘สหรัฐฯ’ เร่งส่ง ‘เรือรบ-เครื่องบินรบ’ ครบชุดให้อิสราเอล หนุนตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, วอชิงตัน รายงานว่า ‘ลอยด์ ออสติน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ ‘เพนตากอน’ (Pentagon) ระบุว่า กระทรวงฯ กำลังส่งมอบเรือรบและเครื่องบินขับไล่ไปยังภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนอิสราเอล ท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น ระหว่างกองกำลังอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas)

ออสติน กล่าวในแถลงการณ์ว่า เขาได้สั่งการการเคลื่อนไหวของกองเรือบรรทุกเครื่องบินรบยูเอสเอส เจอร์รัลด์ อาร์. ฟอร์ด แคร์ริเออร์ สไตรก์ กรุ๊ป (USS Gerald R. Ford Carrier Strike Group) ซึ่งประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธ และเรือพิฆาตติดอาวุธปล่อยนำวิถี 4 ลำ ไปยังภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกแล้ว

ออสติน เผยว่า กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มฝูงเครื่องบินรบเอฟ-35 (F-35) เอฟ-15 (F-15) เอฟ-16 (F-16) และเอ-10 (A-10) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในภูมิภาคดังกล่าว พร้อมเสริมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะจัดหาอุปกรณ์และทรัพยากรเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่กองกำลังป้องกันอิสราเอลอย่างรวดเร็ว โดยความช่วยเหลือด้านความมั่นคงรอบแรกของสหรัฐฯ ไปยังอิสราเอล เริ่มส่งมอบเมื่อวันอาทิตย์ (8 ต.ค.) และจะถูกส่งถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

สื่อท้องถิ่นอิสราเอล อ้างอิงเจ้าหน้าที่รัฐบาล รายงานว่า มติข้างต้นของกระทรวงฯ มีขึ้นขณะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ทวีความรุนแรง เมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) หลังจากที่กลุ่มฮามาสยิงขีปนาวุธหลายพันลูกไปยังอิสราเอล ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลอย่างน้อย 600 ราย เมื่อนับถึงวันอาทิตย์ (8 ต.ค.)

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ในกาซา เผยว่ากองทัพอิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศในกาซา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกลุ่มฮามาส ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 313 ราย

เมื่อวันอาทิตย์ (8 ต.ค.) คณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงของอิสราเอล ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “อิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม” โดยระบุในแถลงการณ์ว่าจะดำเนิน ‘ปฏิบัติการทางทหารที่มีนัยสำคัญ’ ในกาซาอีกไม่กี่วันข้างหน้า

‘สำนักจุฬาราชมนตรี’ ขอ ‘รบ.ไทย’ แสดงจุดยืนเป็นกลาง หลัง ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ สู้รบ ชี้!! อ่อนไหว-ซับซ้อน

(10 ต.ค. 66) สำนักจุฬาราชมนตรี แถลงการณ์สำนักจุฬาราชมนตรี เรื่อง เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ระบุว่า สำนักจุฬาราชมนตรี ขอแสดงความเสียใจต่อกรณีการเสียชีวิตของชาวไทยที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และขอให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการในการปกป้องให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนชาวไทยที่ถูกจับกุมตัว และบางส่วนที่ยังอยู่ในพื้นที่การปะทะอย่างเร่งด่วน สำนักจุฬาราชมนตรีขอเป็นกำลังใจและหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะสามารถช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้พ้นจากภัยอันตรายจากสถานการณ์เฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้น

สำนักจุฬาราชมนตรีขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียของประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้ง 2 ฝ่ายจากความรุนแรง และขอเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายยุติความรุนแรงและการสู้รบกัน และมีความจำเป็นที่จะต้องหันหน้าเข้ามาเจรจากันเพื่อคืนความสงบให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์

สำนักจุฬาราชมนตรีขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรักษาความเป็นกลางทางการเมืองร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ ต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ เพราะความขัดแย้งนี้มีความซับซ้อน มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนชาวยิว คริสต์ และมุสลิมทั่วภูมิภาค

ทั้งนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีสนับสนุนการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อความจำเป็นในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่ได้รับผลกระทบให้มีความปลอดภัยและให้ได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ในสถานการณ์เฉพาะหน้าในครั้งนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด

สำนักจุฬาราชมนตรี ขอประทานพรจากอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดให้ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นได้ยุติลงโดยเร็วและนำสันติภาพและความสงบสุขมาสู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเร็ววันต่อไป

‘นายกฯ’ ห่วงคนไทยในเขตสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สั่งเจ้าหน้าที่อพยพพลเมือง-ช่วยเหลือตัวประกันเร่งด่วน

(11 ต.ค. 66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้เพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่อดูแล ช่วยเหลือคนไทย โดยได้ชี้แจงถึงการทำงานรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการ เริ่มทำงานตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 

นายชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีชี้แจง ว่า สำหรับสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ดำเนินอยู่นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของประชาชนคนไทย ในการเตรียมแผนอพยพคนไทยมีความคืบหน้าเพิ่มเติม 2 ทาง

ทางแรก กลับมาโดยสายการบินพาณิชย์
ทางที่สอง กลับโดยเครื่องบินกองทัพอากาศไปรับ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ชุด 
1. อพยพออกมาพรุ่งนี้ถึงไทยวันที่ 12 ต.ค. 66 ประมาณ 15 คน ชุดแรกนี้เป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและแรงงานที่อพยพจากพื้นที่เสี่ยงภัย 
2. อพยพประมาณ 140 คน ออกจากไทยในวันที่ 14 ต.ค. 66 เป็นการส่งเครื่องบินกองทัพอากาศ Airbus A340 ไปรับ และจะไปถึงกรุงเทลอาวีฟ นครหลวงของอิสราเอลในวันที่ 15 เพื่อเตรียมพร้อมรับคนไทยกลับบ้านทันทีที่ได้รับอนุญาตจากทางการอิสราเอล 
3. ส่งคนไทยจำนวน 80 คนกลับทางเครื่องบินพาณิชย์ โดยจะถึงกรุงเทพฯในวันที่ 18 ต.ค. 66

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพยายามอพยพคนไทยกลับให้เร็วที่สุดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ในส่วนของผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพูดคุยกับบรรดามิตรประเทศต่าง ๆ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และอยากขอให้ความมั่นใจว่า เราได้ทำทุกทาง และจะพยายามอย่างสูงสุดเพื่อช่วยเหลือ โดยคำนึงถึงอิสรภาพของคนไทยที่ถูกจับตัวไปเป็นสำคัญที่สุด

โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเสริมข้าราชการไปสนับสนุนข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟในภารกิจช่วยเหลือพี่น้องชาวไทย

“ผมขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันเป็นกำลังใจให้ญาติ เพื่อน ของพี่น้องชาวไทยที่กำลังจะกลับมา และอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันปฏิบัติงาน อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือดูแล คนไทยทุกคน” นายชัย กล่าว

ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธอัจฉริยะ เกราะป้องกันภัยหมื่นล้านของ ‘อิสราเอล’ ตรวจจับอันตรายด้วยเรดาร์ พร้อมหน่วยยิง Tamir คล่องตัว-แม่นยำสูง

‘Iron Dome’ เกราะป้องกันขีปนาวุธของอิสราเอล… ทำงานอย่างไร?

ในท้องฟ้ายามค่ำคืนมองเห็นจรวดที่ยิงจาก Beit Lahiya ทางตอนเหนือของฉนวน Gaza ไปยังอิสราเอล เส้นแสงที่โค้งไปมาคือ ‘ระบบสกัดกั้น’ (Iron Dome)

ความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี ระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่ปกครองฉนวน Gaza ทำให้เกิดการเผชิญหน้าอันน่าตื่นตะลึง โดยฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ ยิงจรวดถล่มใส่อิสราเอลมากกว่า 5,000 ลูก ในช่วงไม่กี่วันผ่านมา แต่จรวดของฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ ยิงประมาณ 90% ถูกสกัดกั้นโดย ‘ระบบป้องกันขีปนาวุธ’ (Iron Dome) จากแถลงการณ์ของกองทัพอิสราเอล 

‘ระบบป้องกันขีปนาวุธ’ (Iron Dome) ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากจรวดและปืนใหญ่ ในระยะตั้งแต่ 4 กม. ถึง 70 กม. (2.5 ไมล์ ถึง 43 ไมล์) ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนาเพื่อขยายระยะไปถึง 250 กม.

ระบบนี้เกิดจากการที่อิสราเอลสู้รบกับ ‘ขบวนการฮิซบอลเลาะห์’ (Hezbollah) กลุ่มติดอาวุธในเลบานอนในปี 2006 มีการยิงจรวดหลายพันลูกเข้าสู่อิสราเอล ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง มีการอพยพผู้คนจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย หลังจากนั้น อิสราเอลจึงเริ่มการพัฒนาเกราะป้องกันจรวดขึ้น

‘Iron Dome’ ซึ่งสร้างขึ้นโดย ‘Rafael Advanced Defense Systems’ บริษัทอิสราเอล ร่วมกับ ‘Israel Aerospace Industries’ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคจากสหรัฐฯ เริ่มประจำการในปี 2011 Iron Dome ถือเป็นระบบป้องกันจรวดที่ทันสมัยที่สุดในโลก ใช้เรดาร์เพื่อตรวจจับ ประเมิน และสกัดกั้นเป้าหมายระยะสั้นที่หลากหลาย เช่น จรวด ปืนใหญ่ และปืนครก รวมถึงภัยคุกคามที่เข้ามาก่อนที่จะสร้างความเสียหาย เช่น จรวดที่ยิงจากฉนวน Gaza ระบบป้องกันขีปนาวุธ Iron Dome ใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ตลอดจนถึงในทุกสภาพอากาศ รวมถึงเมฆต่ำ ฝน พายุฝุ่น และหมอก 

‘Iron Dome’ ใช้งบประมาณในการพัฒนาสูงมาก แต่ผู้ผลิตกล่าวว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้มีความสามารถในการแยกความแตกต่างระหว่าง จรวดที่มีแนวโน้มที่จะโจมตีพื้นที่ที่จะสร้างความเสียหาย และไม่สกัดกั้นจรวดที่จะตกในพื้นที่ที่ไม่สร้างความเสียหาย ขีปนาวุธจะถูกยิงเพื่อสกัดกั้นสิ่งใดก็ตามที่ถูกระบุความว่า ‘สร้างความเสียหายจนเป็นอันตราย’ เท่านั้น

Iron Dome มีส่วนประกอบหลัก 3 อย่าง :
1.) เรดาร์ตรวจจับและติดตาม : ระบบเรดาร์สร้างโดย Elta ของอิสราเอล และบริษัทในเครือของ Israel Aerospace Industries และ IDF

2.) การจัดการการรบและการควบคุมอาวุธ (BMC) : ศูนย์ควบคุมถูกสร้างขึ้นสำหรับ Rafael โดย mPrest Systems ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ของอิสราเอล

3. ) หน่วยยิงขีปนาวุธ : หน่วยยิงขีปนาวุธสกัดกั้น Tamir ซึ่งติดตั้งเซ็นเซอร์ไฟฟ้าออปติกและครีบบังคับเลี้ยวหลายอันเพื่อความคล่องตัวสูง ขีปนาวุธนี้สร้างโดย Rafael โดย EL/M-2084 เรดาร์ของระบบจะตรวจจับการปล่อยจรวดและติดตามวิถีของมัน BMC จะคำนวณจุดผลกระทบตามข้อมูลที่รายงาน และใช้ข้อมูลนี้เพื่อพิจารณาว่าเป้าหมายถือเป็นภัยคุกคามต่อพื้นที่ที่กำหนดหรือไม่ เฉพาะเมื่อมีการระบุภัยคุกคามแล้ว ขีปนาวุธสกัดกั้นจะถูกยิงเพื่อทำลายจรวดที่เข้ามาก่อนที่จะถึงพื้นที่ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะชน

กว่าหนึ่งทศวรรษนับตั้งแต่ Iron Dome เข้าประจำการ ปัจจุบันอิสราเอลมีชุดยิงของ Iron Dome 10 ชุดที่ประจำการอยู่ทั่วประเทศ โดยแต่ละชุดยิงของ Iron Dome ประกอบด้วย 20 ท่อยิงขีปนาวุธ ซึ่งสามารถสกัดกั้นจรวดได้ราว 1 ต่อ 5 โดยมีความแม่นยำราว 96.5% ระบบ Iron Dome สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกมากและใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการติดตั้ง และขีปนาวุธสกัดกั้น Tamir มีความคล่องตัวสูง มีความยาว 3 เมตร (เกือบ 10 ฟุต) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว (15 ซม.) และมีน้ำหนัก 90 กิโลกรัม (198 ปอนด์) แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้งาน Iron Dome อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่จรวดของฮามาสแม้ว่าจะดูหยาบและไม่มีระบบนำทาง แต่จำนวนที่แท้จริงและต้นทุนที่ต่ำของจรวดเหล่านี้ก็เป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับ Iron Drome ด้วยจรวดของฮามาสอาจมีราคาเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์ แต่ราคาขีปนาวุธที่ใช้ในระบบ Iron Drome แต่ละลูกมีราคาประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น การสกัดกั้นจรวดที่เข้ามานับพันลูก อิสราเอลจึงมีค่าใช้จ่ายมหาศาล ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทุ่มเงินกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ให้แก่อิสราเอล เพื่อสนับสนุนโครงการ Iron Dome มาแล้ว

เวอร์ชันกองทัพสหรัฐฯ ในปี 2019 กองทัพสหรัฐฯ ได้ประกาศความตั้งใจที่จะซื้อระบบ Iron Dome 2 ชุดยิง เพื่อเติมเต็มความต้องการความสามารถในการป้องกันจรวด ด้วยความสนใจในความสามารถเฉพาะตัวของ Iron Dome ของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ‘Raytheon’ จึงได้เปิดตัวระบบ SkyHunter โดยความร่วมมือกับ ‘Rafael’ ด้วยพื้นฐานจาก Iron Dome ทำให้ SkyHunter สามารถผลิตได้ในสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายความพร้อมใช้งานและขีดความสามารถสำหรับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ระบบเหล่านี้ป้องกันระดับพื้นฐาน โดย Raytheon ยังร่วมมือกับ Rafael ในระบบ David's Sling System ซึ่งป้องกันในระดับที่มีความก้าวหน้ากว่า

'ไทย-อิสราเอล' ค้าขายอะไรกันบ้าง?

กลายเป็นข่าวใหญ่ เมื่ออิสราเอลถูกกลุ่มปาเลสไตน์ติดอาวุธหรือ ‘ฮามาส’ โจมตีแบบสายฟ้าแลบด้วยจรวดราว 5,000 ลูกและแรงงานไทยก็ถูกจับเป็นตัวประกันและเสียชีวิตหลายคน

แม้ตอนนี้อิสราเอลจะปิดล้อมฉนวนกาซาได้แล้ว แต่ความขัดแย้งยังคงเป็นฝุ่นตลบ ไม่จางหายโดยง่าย ‘ฮิซบอลเลาะห์’ ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมชีอะห์ติดอาวุธในเลบานอน ใช้โอกาสชุลมุนนี้เข้าโจมตีทางตอนเหนือของอิสราเอล จนอิสราเอลต้องเร่งระดมพลทหารสำรองอีกกว่า 3 แสนนาย เพื่อรับศึกรอบประเทศ

ถ้าความขัดแย้งบานปลายไปมากกว่านี้ คำถามสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยผูกติดกับอิสราเอลมากเพียงใด ไทยนำเข้าสินค้าอะไรจากอิสราเอลมากที่สุด ขณะเดียวกัน ไทยส่งออกอะไรไปอิสราเอลมากที่สุด เพื่อจะได้เตรียมรับมือผลกระทบในสินค้าเหล่านั้น

ข้อมูลจาก ‘กระทรวงพาณิชย์’ โดยร่วมมือกับกรมศุลกากร ระบุว่า ปี 2566 ตั้งแต่เดือน ม.ค - ส.ค. ไทยมีมูลค่าการค้ากับอิสราเอล 29,288 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าส่งออก 18,562 ล้านบาท และเป็นมูลค่านำเข้า 10,726 ล้านบาท ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าอิสราเอล 7,836 ล้านบาท อีกทั้งอิสราเอลนับเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย

สำหรับสินค้าที่ไทยค้าขายกับอิสราเอล THE STATES TIMES ได้รวบรวมมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน!!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top