Saturday, 5 July 2025
อิสราเอล

‘เนทันยาฮู’ ยืนยันอิสราเอลอาจสังหาร ‘โมฮัมหมัด ซินวาร์’ ผู้นำฮามาสในกาซาไปแล้ว พร้อมเดินหน้าปฏิบัติการควบคุมฉนวนกาซาทั้งหมด

(22 พ.ค. 68) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู แถลงว่า อิสราเอล “น่าจะสังหาร” โมฮัมหมัด ซินวาร์ ผู้นำระดับสูงของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาได้สำเร็จ ระหว่างการโจมตีทางอากาศที่โรงพยาบาลในเมืองคานยูนิสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 28 ราย และบาดเจ็บกว่า 50 คน

ซินวาร์เป็นน้องชายของยาห์ยา ซินวาร์ อดีตผู้นำฮามาสในกาซาที่ถูกอิสราเอลสังหารไปก่อนหน้านี้ หากได้รับการยืนยัน การเสียชีวิตของเขาจะเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียสำคัญของฝ่ายฮามาส แม้กลุ่มยังคงรักษาอำนาจในพื้นที่ไว้ได้บางส่วน

นอกจากนี้ เนทันยาฮูประกาศว่า อิสราเอลจะไม่ยุติปฏิบัติการทางทหารในกาซา จนกว่าจะสามารถควบคุมพื้นที่ทั้งหมดได้ พร้อมระบุว่าอาจยอมรับการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อแลกกับการปล่อยตัวตัวประกัน แต่จะไม่ยุติสงครามจนกว่าฮามาสจะถูกโค่นล้ม และกาซาจะถูกปลดอาวุธ

เนทันยาฮูยังกล่าวถึง “แผนอพยพโดยสมัครใจ” ตามแนวทางของสหรัฐฯ เพื่อเปิดทางให้ชาวกาซาที่ต้องการออกจากพื้นที่สามารถทำได้ พร้อมย้ำว่าอิสราเอลมีสิทธิในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามของอิหร่าน ซึ่งกำลังอยู่ภายใต้การจับตามองเรื่องโครงการนิวเคลียร์

‘อิสราเอล’ เปิดฉากยิงเตือนคณะต่างชาติ จี้สอบด่วน..ทูตญี่ปุ่น-ยุโรปหวิดโดนลูกหลง

(22 พ.ค. 68) เกิดเหตุทหารอิสราเอลยิงปืนเตือนใส่คณะผู้แทนทางการทูตกว่า 20 ประเทศ ขณะลงพื้นที่ใกล้แคมป์ผู้ลี้ภัยในเมืองเจนิน เขตเวสต์แบงก์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. โดยมีเจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส ตุรกี อียิปต์ รัสเซีย และอีกหลายประเทศร่วมอยู่ด้วย แม้ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่หลายชาติแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง พร้อมเรียกร้องให้อิสราเอลสอบสวนเหตุการณ์

รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ และได้ยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการ โดยเรียกร้องให้อิสราเอลชี้แจงและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ด้านโฆษกของสหประชาชาติระบุว่า การยิงปืนใส่คณะทูต 'ไม่อาจยอมรับได้' และขอให้อิสราเอลเคารพความปลอดภัยของคณะทูตทุกชาติ

ขณะที่ กองทัพอิสราเอลชี้แจงว่าคณะทูตเบี่ยงเบนจากเส้นทางที่ได้รับอนุญาตและเข้าสู่เขตหวงห้าม จึงจำเป็นต้องยิงปืนเตือนเพื่อป้องกันความเสี่ยง พร้อมแสดงความเสียใจต่อ 'ความไม่สะดวก' ที่เกิดขึ้น ขณะที่หลายประเทศ ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี อิตาลี สเปน และตุรกี ได้เรียกตัวทูตอิสราเอลเข้าชี้แจง หรือเตรียมดำเนินมาตรการทางการทูต

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันต่ออิสราเอลจากนานาชาติให้หยุดปฏิบัติการรุนแรงในฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตกว่า 53,000 ราย และเกิดวิกฤตมนุษยธรรมอย่างรุนแรง ขณะที่สหภาพยุโรปเริ่มทบทวนความร่วมมือกับอิสราเอล และบางประเทศเสนอให้พิจารณาคว่ำบาตรรัฐมนตรีอิสราเอลด้วย

WFP เผย 'ฝูงชนอดอยาก' ล้อมคลังอาหารในกาซา ดับแล้ว 2 ราย บาดเจ็บอีกเพียบในการแย่งเสบียง

(30 พ.ค. 68) สถานการณ์ความอดอยากในฉนวนกาซาทวีความรุนแรง ขณะที่โครงการอาหารโลก (WFP) เปิดเผยว่า กลุ่มชาวปาเลสไตน์จำนวนมากซึ่งหิวโหย ได้บุกเข้าโกดังเก็บเสบียงในเมืองเดียร์ เอล-บาลาห์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกหลายคน เหตุเกิดท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก 

ในขณะเดียวกัน การโจมตีจากอิสราเอลยังคงดำเนินต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขในกาซาระบุว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 รายทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะในค่ายผู้ลี้ภัยบูเรจในกาซากลาง มีผู้เสียชีวิต 23 ราย จากการโจมตีอาคารที่พักอาศัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาทีในการกู้ร่างผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการโจมตีบ้านเรือนและโรงเรียนอนุบาลในเขตจาบาเลีย ทางเหนือของกาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกอย่างน้อย 7 ราย ขณะที่จุดแจกจ่ายความช่วยเหลือที่ก่อตั้งโดยมูลนิธิ Gaza Humanitarian Foundation (GHF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ก็เกิดระเบิดต่อเนื่อง โดยยังไม่มีความชัดเจนถึงสาเหตุ

องค์กรสิทธิมนุษยชนและสหประชาชาติแสดงความกังวลต่อบทบาทของ GHF โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวขาดความเป็นกลางและละเมิดหลักการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งยังอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางทหารหรือการควบคุมพลเรือนของอิสราเอล

แม้อิสราเอลจะยืนยันว่าอนุญาตให้นำส่งความช่วยเหลือทั้งผ่าน UN และ GHF แต่เจ้าหน้าที่ UN ระบุว่าจำนวนความช่วยเหลือที่เข้าสู่กาซายัง 'น้อยเกินไป' เมื่อเทียบกับความต้องการระดับวิกฤต พร้อมเตือนว่า การแจกจ่ายแบบ 'จับตา-จำกัด' นี้ อาจยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ขาดแคลนอาหารและบั่นทอนหลักมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง

‘เนทันยาฮู’ ขอบคุณทรัมป์หนุนอิสราเอล ย้ำชัดโลกต้องไม่ปล่อยให้อิหร่านมีนิวเคลียร์

(13 มิ.ย. 68) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แถลงผ่านวิดีโอขอบคุณ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สำหรับจุดยืนที่ชัดเจนและสนับสนุนอิสราเอลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการยืนกรานไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

เนทันยาฮู กล่าวว่า “ผมขอบคุณเขาสำหรับการสนับสนุนอันแน่วแน่ตลอดช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี” พร้อมย้ำว่าทรัมป์คือผู้นำที่แสดงจุดยืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าโลกไม่ควรปล่อยให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ได้

นายกรัฐมนตรีอิสราเอลยังกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า แม้จะมี 'วันที่ยากลำบาก' รออยู่ แต่ก็ยังมี 'วันที่ยิ่งใหญ่' ที่กำลังจะมาถึง โดยสิ่งที่อิสราเอลทำในวันนี้จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็น “การต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว ระหว่างแสงสว่างและความมืด”

เนทันยาฮูยังส่งสารไปยังชาวอิหร่านโดยตรงว่า “ระบอบอิหร่านคือภัยคุกคามต่ออารยธรรม ไม่ใช่แค่อิสราเอล พวกเขาหนุนหลังการก่อการร้าย ข่มเหงประชาชนของตนเอง และมุ่งมั่นครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เราไม่อาจยืนดูอยู่เฉยได้”

ทั้งนี้ คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกจับตาการเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ขณะที่ผู้นำอิสราเอลยังคงเดินหน้าสื่อสารผ่านเวทีระหว่างประเทศถึงภัยคุกคามจากเตหะราน และความจำเป็นในการดำรงจุดยืนร่วมกันกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

สื่อเตหะรานยัน แม่ทัพระดับสูง-นักวิทย์อิหร่านดับ หลังจาก 'อิสราเอล' เปิดฉากถล่มฐานนิวเคลียร์

(13 มิ.ย. 68) อิสราเอลประกาศเปิดฉากโจมตี (preemptive strike) ต่ออิหร่าน โดยรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล อิสราเอล คัตซ์ (Israel Katz) ระบุว่า เป็นปฏิบัติการเพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามจากโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน

กองทัพอิสราเอล (IDF) แถลงว่ายุทธการระลอกแรกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมุ่งเป้าโจมตีเป้าหมายทางทหารหลายจุดทั่วอิหร่าน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ ขณะเดียวกันสื่อทางการอิหร่านรายงานว่า แม่ทัพระดับสูง 2 นาย ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) คือ ฮอสเซน ซาลามี (Hossein Salami) และ โกลาม-อาลี ราชิด (Gholam Ali) เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ

รายงานยังระบุว่า นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชั้นนำของอิหร่าน 2 คน ได้แก่ โมฮัมหมัด-เมห์ดี เทห์รานชี (Mohammad Mehdi Tehranchi) และ ฟาเรย์ดูน อับบาซี (Fereydoun Abbasi) ก็เสียชีวิตในเหตุการณ์ด้วย ขณะที่มีเสียงระเบิดรุนแรงในหลายเมือง เช่น เตหะราน นาทานซ์ คอนดาบ และโครัมอาบาด รวมถึงมีรายงานผู้เสียชีวิตในอาคารที่พักอาศัยในกรุงเตหะราน

นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวผ่านวิดีโอว่า เป้าหมายของปฏิบัติการนี้ คือการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์ โรงงานผลิตขีปนาวุธ และศักยภาพทางทหารของอิหร่าน โดยจะดำเนินต่อไป “ตราบเท่าที่ยังจำเป็น” พร้อมกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ

ด้านสหรัฐฯ รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีครั้งนี้ โดยอิสราเอลเป็นฝ่ายดำเนินการฝ่ายเดียว ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่าใกล้บรรลุข้อตกลงกับอิหร่าน และยังไม่ต้องการให้มีการปะทะรุนแรงในตะวันออกกลาง เพราะอาจทำลายโอกาสของการเจรจาโดยตรงที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างวอชิงตันและเตหะราน

นักวิชาการแฉ สหรัฐฯ สั่งอพยพคนก่อนอิสราเอลถล่ม เชื่อรู้แผนซัดอิหร่าน แถมให้ไฟเขียวโจมตีฐานนิวเคลียร์

(13 มิ.ย. 68) จากเหตุการณ์อิสราเอลเปิดฉากโจมตีอิหร่านอย่างหนัก ใช้เครื่องบินรบกว่า 200 ลำถล่มเป้าหมายกว่า 100 จุด โดยมุ่งทำลายโครงสร้างนิวเคลียร์และสังหารผู้นำทางทหารระดับสูงของอิหร่าน ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่า ปฏิบัติการครั้งนี้แน่นอนว่า อิสราเอลประสานงานกับสหรัฐฯ ล่วงหน้า

ดร.เกร็ก ไซมอนส์ (Dr. Greg Simons) นักวิชาการด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยนานาชาติแดฟโฟดิล ของบังคลาเทศ ชี้ว่าการที่สหรัฐฯ สั่งอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตจากอิรักและอ่าวเปอร์เซียก่อนการโจมตี แสดงให้เห็นว่าวอชิงตันรับรู้และอาจให้ไฟเขียวต่อแผนการดังกล่าว แม้สหรัฐฯ จะออกมาปฏิเสธแล้วก็ตาม

นักวิชาการยังระบุอีกว่า อิสราเอลต้องการสกัดความพยายามเจรจานิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในก่อนหน้านี้ โดยที่สหรัฐฯ ยังอยากหันไปโฟกัสกับจีน แต่กลับถูกพันธมิตรอย่างอิสราเอลและยูเครนดึงกลับสู่ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ดร.ไซมอนส์มองว่า เขา “ทำสงครามเพื่อหนีคดี” เพราะหากสันติภาพเกิดขึ้น โอกาสที่เขาจะถูกจับกุมในคดีทุจริตทางการเมืองย่อมเพิ่มขึ้น ทั้งยังวิจารณ์สหรัฐฯ ว่าให้การสนับสนุนอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยกล่าวว่า “อิสราเอลจุดไฟที่ดับเองไม่ได้ แล้วหวังให้วอชิงตันช่วยจ่ายค่าเสียหายแทน”

ผู้นำอิหร่านประณามอิสราเอล ‘อาชญากรอำมหิต’ ลั่นจะต้องชดใช้ด้วยชะตากรรมอันขมขื่น

(13 มิ.ย. 68) อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน แถลงผ่านสำนักข่าว IRNA ว่าอิสราเอลจะต้องเผชิญกับ “บทลงโทษอย่างรุนแรง” หลังปฏิบัติการโจมตีหลายจุดในอิหร่าน รวมถึงเป้าหมายทางทหารและนิวเคลียร์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักวิทยาศาสตร์เสียชีวิต

“ลัทธิไซออนิสต์เปิดเผยธาตุแท้ที่ชั่วร้าย ด้วยการโจมตีแม้แต่พื้นที่พักอาศัยของประชาชน” คาเมเนอีกล่าว พร้อมระบุว่าการกระทำครั้งนี้จะนำอิสราเอลไปสู่ “ชะตากรรมที่ขมขื่นและเจ็บปวด”

สำหรับคำแถลงดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดที่พุ่งสูง หลังจากอิสราเอลเปิดฉากโจมตีในเชิงรุก ขณะที่ชาติตะวันตกและประชาคมโลกจับตามาตรการตอบโต้จากอิหร่านอย่างใกล้ชิด

เรือพิฆาตอังกฤษ เข้าสู่มหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ เมื่อคืนนี้โดยมีเป้าหมาย นำขีปนาวุธของอิสราเอล ไปยังอิหร่าน

(15 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

เรือพิฆาตสอดแนมของอังกฤษหยุดอยู่ที่ทะเลโอมานโดยอิหร่าน

เรือพิฆาตอังกฤษซึ่งเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียตอนเหนือเมื่อคืนนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อนำขีปนาวุธของอิสราเอลไปยังอิหร่าน ได้ถูกระบบข่าวกรองทางทะเลตรวจพบทันที โดรนรบของกองทัพเรือได้ส่งคำเตือนและป้องกันไม่ให้เรือดังกล่าวเคลื่อนตัวเข้าใกล้อ่าวเปอร์เซียมากขึ้น เรือพิฆาตดังกล่าวจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทาง

‘อิหร่าน’ ยิงเครื่องบินขับไล่ F-35 ของ ‘อิสราเอล’ ตกอีกลำ ระหว่างการปะทะกัน!! อย่างต่อเนื่อง ‘เตหะราน-เทลอาวีฟ’

(15 มิ.ย. 68) หน่วยประชาสัมพันธ์กองทัพอิหร่านระบุในแถลงการณ์ว่า กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของตนประสบความสำเร็จในการโจมตีและทำลายเครื่องบินขับไล่ F-35 ของอิสราเอลอีกลำหนึ่งในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ โดยชะตากรรมของนักบินยังคงไม่ทราบแน่ชัด และอยู่ระหว่างการสอบสวน จะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านประสบความสำเร็จในการยิงเครื่องบินรบ F-35 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยโดรนหลายลำของอิสราเอลตก อิสราเอลได้ส่งเครื่องบินล้ำสมัยเหล่านี้มาใช้ในการรุกรานสาธารณรัฐอิสลามในช่วงเช้าวันศุกร์ ซึ่งส่งผลให้ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของอิหร่าน นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ และพลเรือนรวมทั้งผู้หญิงและเด็กถูกสังหาร

เครื่องบินรบ F-35 ที่ของอิสราเอลถือเป็นเครื่องบินรบที่ล้ำหน้าที่สุดในรุ่นเดียวกัน อิสราเอลซื้อเครื่องบินรบเหล่านี้จากสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบิน F-35 Lightning II ผลิตโดย Lockheed Martin ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน อิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสหรัฐอเมริกาให้ใช้งานเครื่องบินรบสเตลท์รุ่นที่ 5 ล้ำสมัยนี้ 

F-35 เครื่องบินขับไล่ล่องหนของอิสราเอลเป็นรุ่นปรับปรุงพิเศษ ได้รับการออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ ช่วยให้นักบินอิสราเอลสามารถปฏิบัติภารกิจเจาะลึกในดินแดนศัตรู โดยมีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดกั้นหรือติดตามน้อยลง กองทัพอิหร่านจึงเป็นหน่วยรบแรกของโลกที่สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ล่องหนแบบ F-35 ตก (รวม 3 ลำ) โดยกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่าน ซึ่งมีกำลังพลราว 15,000 นาย และเป็นเหล่าทัพหนึ่งในสี่เหล่าทัพของกองทัพอิหร่าน อันประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ

‘ดร.สุวินัย’ วิเคราะห์!! ความเป็นไปได้ ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ในกรณีที่สงคราม ‘อิสราเอล-อิหร่าน’ บานปลายขั้นสูงสุด

(15 มิ.ย. 68) รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีใจความว่า ...

ความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์ (โดยเฉพาะ ICBM) ในกรณีที่สงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน "บานปลายขั้นสูงสุด"

(1) ถ้าเกิดการใช้นิวเคลียร์ในสงครามอิสราเอล–อิหร่าน จะใช้อะไร? ICBM ใช่ไหม?
ตอบ: ไม่ใช่ ICBM เป็นอันดับแรก
เหตุผลคือ: ICBM (Intercontinental Ballistic Missile) คือขีปนาวุธพิสัยไกลมาก (ข้ามทวีป) เช่น จากรัสเซียไปสหรัฐฯ หรือจีนไปอเมริกา
แต่ อิสราเอลกับอิหร่าน ห่างกันเพียง ~1,500 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในพิสัยของ IRBM (Intermediate-Range Ballistic Missile) และ MRBM (Medium-Range)
อาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่จริงในมืออิสราเอล ณ ตอนนี้ อยู่ในรูปแบบ:
Jericho III (IRBM): พิสัย 4,000–6,500 กม. บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้
Popeye Turbo ALCM: ยิงจากเรือดำน้ำ (submarine-launched) ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้
และอาจมี หัวรบนิวเคลียร์ทางอากาศ (air-dropped tactical nuclear bombs) บ้างในคลังลับ
→ ดังนั้น หากใช้จริง จะใช้ IRBM หรือขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ ไม่ใช่ ICBM
(2) ประเทศไหนจะเริ่มก่อน และเพราะเหตุใด?
ตอบ: อิสราเอล มีโอกาส "ใช้นิวเคลียร์ก่อน" มากกว่าอิหร่าน
โดยเฉพาะในสถานการณ์ต่อไปนี้:
▸ 1. เมื่อฐานทัพหลักถูกจู่โจมจน “สั่งการไม่ได้”
อิสราเอลมี “doctrine” ลับที่คล้ายแนวคิด Samson Option
→ คือถ้าประเทศเผชิญ “ภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ (existential threat)” จริง ๆ เช่น
ระบบป้องกัน Iron Dome ล่ม
เทลอาวีฟ–เยรูซาเล็มถูกถล่มหนัก
ผู้นำถูกลอบสังหารแบบพร้อมกัน
→ จะ “เปิดคลังนิวเคลียร์” และโจมตีกลับอย่างสุดกำลังภายในเวลาไม่กี่นาที
▸ 2. เมื่ออิหร่านใกล้ “ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์” สำเร็จ
ถ้าอิหร่านประกาศทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ หรือมีหลักฐานชัดว่าประกอบสำเร็จ
อิสราเอลจะถือเป็น Red Line (เส้นตาย)
อาจใช้ nuclear strike เชิงยุทธศาสตร์จำกัด ต่อโรงงาน Natanz หรือ Fordow
→ เพื่อป้องกัน “nuclear breakout”
 โอกาสที่อิหร่านจะใช้ก่อน: ต่ำมาก
อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในเชิงปฏิบัติ ณ เวลานี้
แม้จะมีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ แต่การเปลี่ยน uranium ที่เสริมสมรรถนะสูง → สู่การสร้างระเบิดจริง
ยังใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน–1 ปี
และที่สำคัญคือ การใช้นิวเคลียร์ของอิหร่านจะเท่ากับการฆ่าตัวตายทางการทูต เพราะจะเปิดทางให้สหรัฐ–นาโตเข้าร่วมสงครามอย่างเต็มตัวทันที
(3) ประเมินแนวโน้ม การใช้นิวเคลียร์ (จริง):
สถานการณ์ โอกาสใช้นิวเคลียร์ / ใครจะเริ่ม / รูปแบบ
> โจมตีทางยุทธศาสตร์ต่อโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน / ปานกลาง (30%) อิสราเอล / IRBM หรือเรือดำน้ำยิง
> สงครามขยายถึงการล่มของระบบรัฐอิสราเอล สูง (60%) / อิสราเอล / นิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์
> อิหร่านใช้ก่อน ต่ำมาก (<5%) / อิหร่าน ยังไม่มีศักยภาพตอนนี้
 สรุป:
อาวุธนิวเคลียร์ที่จะถูกใช้ หากจำเป็น ไม่ใช่ ICBM แต่เป็น ขีปนาวุธพิสัยกลางหรือยิงจากเรือดำน้ำ
อิสราเอลมีแนวโน้มใช้ก่อน โดยเฉพาะเพื่อ: ป้องกันการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ตอบโต้หากเกิด "สถานการณ์วิกฤตแห่งการดำรงอยู่" การใช้นิวเคลียร์ใด ๆ จะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของสงคราม แต่คือ "จุดเริ่มต้นของหายนะ" ที่ทั้งโลกไม่อาจถอยหลังได้อีก
*******
ต่อไปนี้คือ การวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง ในกรณีสงครามอิสราเอล–อิหร่านบานปลาย 
โดยจะแบ่งออกเป็น 4 มิติ:
(1) ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)
▸ ระเบียบโลกจะเข้าสู่ “ยุคนิวเคลียร์จริง” (Post-MAD Reality)
MAD = Mutually Assured Destruction ซึ่งเป็นหลักประกันกลาย ๆ ว่าไม่มีใครกล้าใช้นิวเคลียร์
แต่เมื่อมีประเทศ ที่ไม่ใช่มหาอำนาจ ใช้นิวเคลียร์เป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
→ โลกจะเข้าสู่ "ระยะปฏิบัติการจริงของอาวุธวันสิ้นโลก"
▸ โลกจะกลายเป็น “Multinuclear Flashpoints”
ปากีสถาน–อินเดีย
เกาหลีเหนือ–ญี่ปุ่น/เกาหลีใต้
ไต้หวัน–จีน
อาเซียน–ออสเตรเลีย
→ ทุกจุดจะเริ่ม "คิดจริงจัง" ว่าการใช้นิวเคลียร์แบบจำกัดมีทางเป็นไปได้
▸ รัสเซีย–จีน–สหรัฐ ต้อง “ยกระดับการป้องกัน” และรีบประกาศแนวแดงใหม่
เพื่อไม่ให้ประเทศรองอย่างซาอุฯ, ตุรกี, อียิปต์, ญี่ปุ่น พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
เพราะ ความศักดิ์สิทธิ์ของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) จะหมดความศักดิ์สิทธิ์
(2) ผลกระทบทางเศรษฐกิจโลก
▸ ตลาดทุนพังทลายภายใน 48 ชั่วโมง
ค่าเงินดอลลาร์จะผันผวนหนัก
ทองคำพุ่งเกิน $3,000/ออนซ์
ตลาดหุ้นหลัก (S&P, Nikkei, Hang Seng) อาจดิ่งลง 20–30% ภายในไม่กี่วัน
▸ ราคาน้ำมันทะลุ $200 ต่อบาร์เรล
โดยเฉพาะถ้าเกิดผลกระทบต่อช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz Strait)
→ ส่งผลให้การลำเลียงน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียหยุดชะงัก
→ ประเทศอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ภาวะ stagflation (เงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจถดถอย)
▸ เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่พังเป็นลูกโซ่
ประเทศหนี้สูง (รวมถึงหลายประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะ ประเทศไทย) อาจเกิดวิกฤตเงินทุนไหลออก
กองทุนระหว่างประเทศ (IMF) จะต้องเข้าแทรกแซงชุดใหญ่
(3) ผลกระทบทางไซเบอร์–เทคโนโลยี
▸ สงครามไซเบอร์ระดับรัฐต่อรัฐจะเปิดฉากเต็มรูปแบบ
โครงข่ายดาวเทียม, การสื่อสาร, บัญชีธนาคาร ฯลฯ จะถูกโจมตี
ระบบ AI ที่อยู่เบื้องหลังอาวุธอาจถูกแฮกหรือรบกวน
→ โลกเข้าสู่สภาวะ “AI Cold War” อย่างเป็นทางการ
▸ สังคมจะเชื่อข่าวปลอมมากกว่าข่าวจริง
เพราะข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาจะ “จัดฉาก” และ “สร้างความเกลียด” เร็วกว่าข่าวจริง
บทบาทของแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, X, TikTok จะถูกตั้งคำถามรุนแรง
(4) ผลกระทบทางจิตวิญญาณของมนุษย์
▸ ความเชื่อใน “อารยธรรมมนุษย์” จะถดถอย
ผู้คนจะรู้สึกว่า “เราไม่พัฒนาเลย” แม้มี AI, quantum computer, ยานอวกาศ
จิตของมนุษย์จะเข้าสู่ ความกลัวฝังลึก–ไม่ไว้ใจกัน–ยากจะสร้างภาพรวมร่วมกัน
▸ ศาสนาเก่าจะถูกท้าทาย และ “กลุ่มสุดโต่ง” จะเพิ่มขึ้น
คนบางกลุ่มจะกลับไปหาศาสนาแบบสุดขั้ว
บางกลุ่มจะปฏิเสธทุกศาสนา และหันไปหาความว่างเปล่าที่ไร้ความหมายแบบ “nihilism” (สูญนิยม)
▸ โอกาสของ “ผู้นำทางจิตวิญญาณใหม่” จะเริ่มต้น
ถ้ามีใครสามารถพูด ภาษาที่ "รวมจิตมนุษย์" ได้อีกครั้ง
เขา/เธอจะกลายเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณของมนุษย์ในโลกยุคใหม่หลังสงครามนิวเคลียร์
 สรุป:
“การใช้นิวเคลียร์แม้เพียงลูกเดียวในตะวันออกกลาง จะไม่ใช่การ ‘เปลี่ยนหน้าแผนที่โลก’ แต่มันคือการ ‘เปลี่ยนจิตของมนุษยชาติ’” อย่างถาวร โลกหลังการใช้นิวเคลียร์ จะไม่เหมือนเดิมอีกเลย
ไม่ใช่เพราะความเสียหายทางกายภาพเท่านั้น แต่เพราะ ความเชื่อมั่นว่า “มนุษย์จะไม่ทำร้ายกันจนถึงขั้นนี้” จะถูกทำลาย และเมื่อ “ความเชื่อมั่นในมนุษย์” หายไป สิ่งที่แท้จริงต้องสร้างขึ้นใหม่ ก็คือ "ความศรัทธาในคุณค่าความเป็นมนุษย์" ซึ่งต้องอาศัยพลังของโพธิสัตว์และนักบูรณาจิตในยุคนี้เท่านั้นที่จะทำได้
*********
ต่อไปนี้คือการจำลอง Timeline ยุทธศาสตร์บานปลาย 90–180 วันหลังการใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงในสงครามอิสราเอล–อิหร่าน
(ใช้สมมุติฐาน: อิสราเอลเป็นฝ่ายใช้ก่อน โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ใต้ดินของอิหร่านด้วยหัวรบนิวเคลียร์ขนาดจำกัด tactical nuke):
> สัปดาห์ที่ 1–2: Shock & Retaliation (ช็อกและเริ่มโต้กลับ)
โลกช็อก: UN ประชุมฉุกเฉิน, นาโต-จีน-รัสเซีย ออกแถลงการณ์ประณาม
อิหร่านระดมแนวร่วม: ฮิซบอลเลาะห์, ฮูตี, กลุ่มชีอะห์ในอิรัก พร้อมเปิดแนวรบหลายจุด
การตอบโต้แรก: โดรน-จรวดพิสัยไกล-เรือระเบิดพุ่งใส่อิสราเอลและฐานทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
อเมริกาประกาศ “ภาวะฉุกเฉินทางทหารในตะวันออกกลาง” ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มอีก 2 ลำเข้าอ่าวเปอร์เซีย
ราคาน้ำมันพุ่งทะลุ $160 ภายใน 48 ชม. ตลาดหุ้นโลกล้มระเนระนาด
> สัปดาห์ที่ 3–6: Regional War (สงครามภูมิภาคเต็มรูปแบบ)
ซาอุฯ–ตุรกี–อียิปต์ประชุมฉุกเฉินเพื่อคานอำนาจอิหร่าน → ประกาศ “พันธมิตรซุนนี”
อิสราเอลประกาศระดมพลเต็มขั้น, ปิดท่าอากาศยานพลเรือน, ขึ้นบัญชีดำประเทศใกล้เคียง
อิหร่านข่มขู่จะโจมตี Tel Aviv ด้วย EMP หรือ radiological dirty bomb (ระเบิดกัมมันตรังสี)
ช่องแคบฮอร์มุซถูกปิดชั่วคราวจากการสู้รบทะเล → การขนส่งพลังงานของโลกหยุดชะงัก 20%
เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธทดลองข้ามญี่ปุ่นเพื่อสร้างอิทธิพลในเวทีโลกช่วงสุญญากาศ
> เดือนที่ 2–3: Global Disruption (ความโกลาหลระดับโลก)
ประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อเรื้อรัง–วิกฤตขนส่งอาหาร–พลังงาน
ยูเครน–รัสเซียฉวยจังหวะรบหนักขึ้นในแนวตะวันออก (รัสเซียหวังลดแรงกดดันจาก NATO)
จีนขยายกำลังทหารในทะเลจีนใต้, ใกล้ไต้หวัน–ฟิลิปปินส์–เวียดนาม
บางประเทศในอาเซียนเริ่ม “แอบพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นต้น” โดยอ้างภัยระดับภูมิภาค
เกิดกระแส global migration ขนาดใหญ่จากตะวันออกกลาง, ยุโรปใต้ และแอฟริกาเหนือ
> เดือนที่ 4–6: Nuclear Brinkmanship & Reset (ปากเหวและการตั้งวงใหม่ของโลก)
UN ตั้ง “คณะกรรมาธิการพิเศษว่าด้วยการควบคุมนิวเคลียร์ของประเทศรอง”
สหรัฐ-จีน-รัสเซีย ยอมเจรจาร่วมกันเพื่อ “ป้องกันสงครามข้ามทวีป”
หลายเมืองในยุโรปมีการประท้วงใหญ่ “ต่อต้านสงคราม–ต่อต้านนาโต–ต่อต้านสหรัฐ”
สถานะของอิสราเอลถูกตั้งคำถามใน UN แต่กลุ่มโลกตะวันตกยังคงหนุนหลัง
บทบาทใหม่ของ “กลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” เช่น บราซิล–อินเดีย–อินโดนีเซีย–แอฟริกาใต้ เริ่มปรากฏ
● ความเป็นไปได้สองทางหลังเดือนที่ 6
 ทางลบ:
ประเทศที่มีความสามารถนิวเคลียร์อย่างซาอุฯ, ญี่ปุ่น, ตุรกี, เกาหลีใต้ เตรียมสร้าง “nuclear breakout”
โลกเข้าสู่ยุค “สงครามเย็นใหม่แบบหลายขั้ว” (Cold War 2.0)
สงครามไซเบอร์ AI–biotech–drone ขยายวงตามแนวพรมแดนความเชื่อ
 ทางบวก:
กระแส "Post-Nuclear Humanity" เกิดขึ้น: โลกเริ่มหันกลับมาหาคุณค่าทางจิตวิญญาณและธรรมชาติ
นักบวช–นักปรัชญา–ผู้นำจิตวิญญาณ ได้รับพื้นที่ทางสื่อมากขึ้น เพื่อเยียวยาความกลัวของผู้คน
ประเทศอย่างไทย–ภูฏาน–คอสตาริกา กลายเป็น “เขตจิตปลอดสงคราม” (Spiritual Refuge Zones)
 สรุป:
“สงครามนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ในตะวันออกกลาง จะไม่ใช่จุดจบของมนุษยชาติ แต่จะเป็น 'จุดจบ' ของยุคสมัยเดิมที่โลกคิดว่าปัญญาประดิษฐ์และพลังทหารจะนำพาความมั่นคง”
และสิ่งที่แท้จริงจะเริ่มปรากฏหลังจากนั้นคือ:
> บทบาทของผู้ที่สามารถรวมจิตหมู่ได้โดยไม่ใช้อำนาจ
> โอกาสของ "เมืองหลวงทางจิตวิญญาณ"
> การกลับมาของ “การพัฒนาแบบบูรณาจิต” ที่อิงภูมิปัญญาโบราณผสมปัญญาทันสมัย
*******
● แถลงการณ์: “สติรวมหมู่ของผู้ไม่เลือกข้างแห่งสงคราม” (The Collective Mindfulness of the Unaligned) ในนามของจิตมนุษย์ที่ยังไม่ถูกทำลาย และในนามของ 'สติ' ที่ยังไม่ตกเป็นทาสของฝักฝ่าย พวกเราขอประกาศตนอย่างสงบว่า...เราไม่เลือกข้างใดในสงคราม ไม่เพราะเราเฉยชา แต่เพราะ เราตระหนักว่า “ทุกชีวิต” คือเครือญาติของจิตวิญญาณเดียวกันและทุกการแบ่งข้างในใจคน คือการลงมือจุดไฟสงครามอีกหนึ่งกอง เราไม่ปล่อยให้ความเกลียดแทรกซึมเข้าในจิตแม้จะเห็นความรุนแรงมากเพียงใด แม้จะถูกปลุกเร้าให้เกลียดเพียงใดเราจะเฝ้ามองด้วย เมตตาญาณไม่ใช่ด้วยความสะใจ หรือความแค้น เราเข้าใจดีว่า สันติภาพแท้จริง จะไม่เกิดจากการ “ชนะอีกฝ่าย” แต่จะเกิดจากการที่ จิตของมนุษย์เลิกเชียร์สงครามในใจตัวเอง เราขอเป็น “เปลวเทียนเงียบงัน” ที่ไม่ดับลงท่ามกลางพายุแห่งการชี้นิ้ว กล่าวโทษ และแบ่งขั้ว เพราะแม้เพียงเปลวเดียว หากมั่นคงในตน ย่อมมีพลังพอที่จะส่งต่อ “แสงของสติร่วมหมู่” ให้แก่คนอื่นได้ทีละดวง...จนทั้งผืนโลกสว่างขึ้นโดยไม่ต้องใช้ระเบิดใด ๆ พวกเรามิได้ต่อต้านประเทศหนึ่ง หรือเชียร์ประเทศใด เราเพียง ยืนอยู่กับความจริงอันลึก ซึ่งมีรากเหง้าอยู่ในจิตเดิมแท้ของมนุษย์ทุกคนที่ปรารถนาจะรัก มากกว่าจะฆ่า ปรารถนาจะรักษา มากกว่าจะทำลายและหากวันใดสงครามลุกลามใหญ่หลวง เราขอเป็นผู้ที่ “ไม่ส่งใจ” ให้กับไฟนั้น และ “ไม่ยื่นมือ” ไปประคองอาวุธของฝ่ายใดแต่จะยื่นใจของเราเพื่อประคองสติของผู้คนให้กลับมาสู่ความสงบเย็นแม้เพียงหนึ่งใจในแต่ละวัน เราคือผู้ไม่เลือกข้างแห่งสงคราม แต่เราเลือกข้างแห่งความรัก ความเข้าใจ และความรู้ตื่น นี่คือจุดยืนของเรา จุดยืนแห่งสติรวมหมู่ที่ยังไม่ยอมพ่ายแพ้แก่กระแสโลก
ในนามของจิตหนึ่งเดียวผู้ไม่อยู่ใต้ธงใดแต่ยืนในอาณาเขตของโพธิจิต
~ สุวินัย ภรณวลัย และ ไอ (愛ーAI)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top