Saturday, 4 May 2024
สีจิ้นผิง

'ดอน' เผย 'สี จิ้นผิง' มาร่วมประชุม APEC 2022 ย้ำ!! ดูแลความปลอดภัยสูงสุด

APEC 2022 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เผย 'สี จิ้นผิง' มาร่วมประชุมแน่นอน ย้ำดูแลความปลอดภัยสูงสุด

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่ในรอบ 3 ปีที่จะมีการประชุมเต็มรูปแบบ โดยทุกประเทศใน 21 เขตเศรษฐกิจจะมาเข้าร่วมประชุม เพียงแต่ว่าจะอยู่ในระดับไหนเท่านั้น

โดยแขกที่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการที่จะมาเยือนที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น มีประมาณ 6-7 ประเทศ รวมถึงนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจีนถือเป็นการเยือนพิเศษ เพราะมีการพูดคุยกันมานานแล้ว ส่วนนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียคงต้องรอต่อไป ซึ่งจนถึงวันนี้ยังยืนตามนี้ไปก่อน ส่วนจะเปลี่ยนหรือไม่ต้องรออีกสักระยะ

สำหรับสหรัฐอเมริกาจะส่งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาแทนตามที่โฆษกสหรัฐฯ ได้ชี้แจงไว้ ส่วนเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและไต้หวัน แม้ไม่ได้เป็นประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจ ที่เหลือเป็นระดับผู้นำที่จะเดินทางมา เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียที่ส่งตัวแทนมา เนื่องจากกำลังมีการเลือกตั้งในประเทศในวันที่ 29 พ.ย. และประเทศเม็กซิโกที่มีปัญหาในบ้านเมือง

ถอดรหัส 'จีน' ยุคก้าวกระโดด ผู้พลิกเกมโลกแบบเกินต้าน ผ่านเลนส์นักสังเกตการณ์จีน 'รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น'

"ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้มานั่งสุมหัวแล้วคิดกันเอง แต่ขับเคลื่อนด้วยการวิเคราะห์ฐานข้อมูล ทำ Social Listening จับกระแสความกังวลของสังคม เพื่อแก้ปัญหาออกแบบนโยบายได้ตรงจุด"

"การที่พรรคคอมมิวนิสต์ไฮเทคก็จริง แต่ถ้ามาจัดระเบียบชีวิตคนจีนมากเกินไป ก็แน่นอน ย่อมมีคนอึดอัดและไม่เห็นด้วย"

แค่สองประโยคสั้นๆ ที่รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่า คงชวนให้คิดในประเด็นอื่นๆ ได้อีก โดยเฉพาะเกมมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ 

แล้วไทยจะเรียนรู้จากจีนเรื่องไหนได้บ้าง?

อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นักเขียนที่มีผลงานหนังสือเกี่ยวกับจีน 9 เล่ม และผลงานวิจัยมากกว่า 20 เรื่อง รวมทั้งเป็นวิทยากรด้านเศรษฐกิจจีน และยุทธศาสตร์จีน ยังสนุกกับการวิเคราะห์เรื่องจีนๆ เพราะวันนี้จีนไปไกลถึงดาวอังคาร

ขอบอกก่อนว่า บทสัมภาษณ์ใน จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ครั้งนี้ อาจารย์อักษรศรี กระเทาะเปลือกโมเดลจีนมาให้อ่านแบบคร่าวๆ เท่านั้น 

"ในตอนแรก เคยมองว่า คอมมิวนิสต์และทุนนิยมไม่น่าไปด้วยกันได้ ตอนที่เพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องจีน เราเคยใช้แว่นตะวันตกมองจีน ก็เลยไม่เข้าใจระบบจีน" นี่เป็นการเปิดบทสนทนาอย่างจริงจังจากนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกตัวเองว่า 'นักสังเกตการณ์จีน' หลังเดินทางไปทุกมณฑลในจีน ก่อนที่เราจะได้รู้ว่า ผู้นำจีนกำลังจะเป็นผู้พลิกเกมโลกได้อย่างไรจากเธอ...

>> ทำไมสนใจและศึกษาจีนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี?
เริ่มสนใจจีนจริงจังปี 1992 ยุคเติ้งเสี่ยวผิง จุดเริ่มต้นความสนใจตอนนั้น ดิฉันไปเรียนปริญญาโทอยู่ที่ Johns Hopkins สหรัฐฯ อาจารย์ฝรั่งนำคลิปภาพเติ้งเสี่ยวผิงไปที่เชินเจิ้นมาให้วิเคราะห์ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่า Deng's Southern Tour จึงเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพความเจริญของจีนที่น่าทึ่ง ไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้ คือ ช่วงนั้น เคยมีภาพลักษณ์จีนที่ล้าหลัง และเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ก็เลยสงสัย ระบบคอมมิวนิสต์นจะไปกับระบบทุนนิยมได้อย่างไร และแปลกใจกับภาพที่เติ้งเสี่ยวผิงไปเยือนเชินเจิ้น จีนมีความทันสมัยและมีตึกสูงระฟ้า ไม่ได้ล้าหลังอย่างที่คิด แต่มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ที่สนใจเพราะระบบจีนไม่เหมือนใคร่ ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม แล้วระบบแบบนี้จะไปด้วยกันได้หรือ จะล้มครืนสักวันไหม ตอนนั้นคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ไม่เข้าใจระบบแบบจีน

เกาะติดจับตามาเรื่อยๆ จีนก็ไม่ย่ำแย่สักที มีระบบเฉพาะของจีนเอง โมเดลจีน ดิฉันมองว่า มันก็เหมาะกับบริบทจีน เขาไม่เลียนแบบตำราฝรั่ง แต่สามารถนำพาประเทศมาถึงจุดนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าสนใจเรียนรู้ จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 30 ปีแล้ว ก็ยังเกาะติดพัฒนาการของจีนด้วยความสนุกและมีอะไรใหม่ๆ ให้ค้นคว้าหาคำตอบตลอด ดิฉันขอเรียกตัวเองว่า นักสังเกตการณ์จีน

>> แรกๆ มองจีนด้วยความรู้แบบตะวันตก จากนั้นศึกษาจีนอย่างลึกซึ้ง?
ถ้าเรื่องใดที่ดิฉันมี Passion สนใจใฝ่รู้ในเรื่องอะไร ก็จะทุ่มเทเต็มที่ หลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยความอยากรู้สภาพที่แท้จริงของจีนด้วยตาตัวเอง จึงเดินทางไปลงพื้นที่ในประเทศจีนครบทุกมณฑล (31 มณฑล) เริ่มไปจีนอย่างจริงจังในปี 2000 ตระเวนเดินทางจนครบในปี 2009 ใช้เวลา 9 ปี คิดว่า มีนักวิชาการไทยไม่กี่คนที่บ้าลุยลงพื้นที่จีนขนาดนี้ คนไทยทั่วไปมักนิยมไปแค่ปักกิ่ง เชี่ยงไฮ้ จีนชายฝั่ง

แต่ดิฉันบุกไปจนถึงสุดชายแดนจีนตอนในทางตะวันตก มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของดิฉัน เจาะลึกมณฑลจีนตะวันตก และเจาะลึกการค้าไทยและมณฑลจีน น่าจะเป็นงานแรกๆ ของประเทศไทยที่เน้นศึกษาความสัมพันธ์ในระดับมณฑล ตระเวนลงพื้นที่ทั่วประเทศจีน เช่น ซินเจียงและทิเบตก็เดินทางไปแล้วสองรอบ หนิงเชี่ยและชิงไห่คนไทยไม่ค่อยรู้จักก็ไปมาแล้ว

ก่อนเกิดโควิด ทางการจีนจะเชิญดิฉันไปพรีเซนต์งานวิจัยทุกปี มีบางปีไปทุกเดือน และเคยเป็นแขกของรัฐบาลทิเบต ไปงาน Tibet Forum ไปพรีเซนต์ร่วมกับนักวิชาการจากหลายประเทศ ส่วนใหญ่ดิฉันรับเชิญไปในนามแขกรัฐบาลมณฑลหรือฝ่ายวิชาการของมณฑล

>> อะไรทำให้อยากเดินทางไปทุกมณฑลของจีน?
ต้นแบบที่ทำให้ดิฉันมุ่งมั่นเดินทางไปลงพื้นที่จีนให้ครบทุกมณฑล คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์เสด็จเยือนจีนครบทุกมณฑล พระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับจีนหลายเล่ม ดิฉันมีทุกเล่ม ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้อักษรศรีไปจีนให้ครบทุกมณฑล

>> อยากให้เล่าประสบการณ์การเดินทางในมณฑลต่างๆ สักนิด?
น่าสนใจทุกพื้นที่ แต่ขอยกตัวอย่างบางแห่ง เช่น ตอนไปเมืองอุรุมชี เมืองเอกของซินเจียง ก่อนไปก็คิดว่าเป็นดินแดนมุสลิมที่มีความขัดแย้งคงไม่สงบและน่ากลัว แต่พอไปเห็นด้วยตา จริงๆ แล้ว คนที่นั่นก็ใช้ชีวิตปกติ และมีความทันสมัย ไปครั้งแรกเมื่อปี 2005 ไปตามรอยเส้นทางสายไหม และไปอีกครั้ง ปี 2015 รอบนี้ อาจจะเห็นภาพเจ้าหน้าที่จีนถือปืนอยู่ตามท้องถนน เพราะเป็นช่วงที่มีความไม่สงบเกิดมากขึ้น แต่ก็ไม่อันตรายอย่างที่คิด ดังนั้น แต่ละแห่งที่ไปต้องการไปเห็นด้วยตาตัวเอง จะได้รู้ข้อเท็จจริงของพื้นที่ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นนะคะ

ดิฉันไปถึงเมืองตะวันตกที่สุดของจีนด้วย คือ เมืองคาสือ ความฝันของดิฉันต้องไปเมืองนี้ให้ได้ อยู่ติดกับปากีสถาน เมืองนี้เป็นชุมทางเส้นทางสายไหมโบราณ มีความเป็นมุสลิมอุยกูร์สูงมาก เคยเกิดความรุนแรง แต่ตอนที่ไปถึงก็ปลอดภัย ผู้คนในเมืองนี้ก็น่ารัก ส่วนใหญ่พูดภาษาอุยกูร์ แม้กระทั่งภาษาจีนกลาง ก็พูดไม่เข้าใจ ประชากรอุยกูร์ น่าจะเกิน 80-90 เปอร์เซ็นต์ในเมืองนี้ ดิฉันเรียกที่นี่ว่า ดินแดนอุยกูร์บนแผ่นดินจีนไม่ได้อันตรายเหมือนที่สื่อนำเสนอ

ส่วนมองโกเลียใน ดิฉันไปเมืองเปาโถวมีแหล่งแร่แรร์เอิร์ธหรือกลุ่มแร่หายาก ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ตอนที่ไปเยี่ยมชมโรงงานแร่แรร์เอิร์ธ จึงได้รู้ว่า การประกอบสมาร์ทโฟนต้องมีแร่ตัวนี้เป็นวัตถุดิบหลัก จีนเป็นแหล่งแร่แรร์เอิร์ที่สำคัญของโลก ตอนที่เกิดสงครามการค้า จีนก็ใช้แร่ตัวนี้เป็นแต้มต่อกดดันสหรัฐฯ หากจีนจำกัดการส่งออกแร่ตัวนี้ สหรัฐฯ และผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีทั้งหลายเดือดร้อนแน่

>> นักวิชาการต่างประเทศที่เข้าไปพรีเซนต์งานวิจัย ทางการจีนต้องการรู้อะไรเป็นพิเศษ?
จีนชอบที่จัดเวทีประชุมวิชาการ จัดงานฟอรัมเชิญนักวิชาการมาจากชาติต่างๆ จีนสนใจเรียนรู้ประสบการณ์ของชาติอื่น แล้วจีนจะไม่ยอมผิดพลาดซ้ำ สิ่งที่ฝ่ายจีนมักจะถามดิฉันบ่อยมาก จนถึงทุกวันนี้ คือ ประสบการณ์ของไทยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยจัดการเรื่องนี้อย่างไร

รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จีนก็สนใจ ดิฉันเองเคยขึ้นเวทีกับนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีน และอดีตนักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งรางวัลโนเบิลระดับโลก ดิฉันได้รับเชิญไปจีนล่าสุดปี 2019 ก่อนเกิดโควิด ไปนำเสนองานวิชาการในงาน CDAC ที่จัดใหญ่มาก ตอนนั้นสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนมาเปิดงานนี้ด้วย แล้วก็มาร่วมชมงานแสดงตอนค่ำ มาเซอร์ไพรส์พร้อมภรรยา มาดามเผิงลี่หยวน จีนจัดงานยิ่งใหญ่ที่สนามกีฬารังนก กรุงปักกิ่ง

>> อยากให้ขยายความที่บอกว่า โมเดลจีนย่อมเหมาะกับจีน?
ถ้าเราศึกษาจีนอย่างลึกซึ้ง นไม่ได้ลอกตำราฝรั่งในการพัฒนาประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นไม่ได้เดินตามแนวคิดของสหรัฐที่เรียกว่า "ฉันทามติวอชิงตัน" หรือ Washington Consensus เป็นแนวทางการพัฒนาที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เป็นต้นแบบ เป็นเสมือนเมนูแนวนโยบาย มี10 ข้อ แต่จีนไม่เดินตามทั้งหมด จีนมีแนวทางการพัฒนาของจีนเอง จนถูกเรียกว่า "ฉันทามติปักกิ่ง" หรือ Beijing Consensus มีผู้นำนักปฏิรูปคือ เติ้งเสี่ยวผิง ที่เปลี่ยนจีนสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจ

เติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้ปฏิเสธตะวันตก แต่ปรับดึงเพียงสวนที่เหมาะสมมาใช้กับจีน จีนจะเน้นรักษาเสถียรภาพ ล่าสุด ประเทศอื่นมีปัญหาเงินเฟ้อ แต่จีนไม่มี เพราะผู้นำให้ความสำคัญในการคุมเงินเฟ้อมาโดยตลอด กลไกรัฐของเขา เน้นป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ใช่แค่มาตามแก้ปัญหา มีการวางแผนระยะยาว มีวิสัยทัศน์ นี่คือจุดเด่นของจีน บางคนไม่เข้าใจ เพราะใช้แนวคิดตะวันตกมาจับ อย่างเช่นสีจิ้นผิงจะไม่ชอบเศรษฐกิจฉาบฉวย ไม่ชอบเศรษฐกิจตีโป้ง ไม่ชอบการเก็งกำไร และบอกว่า บ้านมีไว้อยู่ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร ดังนั้น เราอาจจะไม่เข้าใจ ทำไมจีนไม่เอาคริปโตเคอร์เรนซี่ หรือทำไมต้องจัดระเบียบทุน

เมื่อไรที่เริ่มมีเค้าลางว่า จะเกิดปัญหาและจะกระทบความสงบเรียบร้อยในประเทศหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จีนจะตัดไฟแต่ต้นลม ถ้าจะเข้าใจจีน ต้องเข้าใจบริบทของพวกเขา ประเทศใหญ่มีคนเยอะ จึงไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย เสถียรภาพต้องมาก่อน นี่คือตัวอย่างว่า ทำไมระบบแบบจีนต้องคำนึงถึงบริบทจีน

>> โฉมหน้าใหม่ของจีนเกิดขึ้นในยุคไหน?
หากย้อนไปตั้งแต่ยุคเหมาเจือตง จะเป็นคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างควบคุมโดยรัฐ ปิดประเทศ โดดเดี่ยวตัวเองต่อมา สู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเติ้งเสี่ยวผิงเน้นปฏิรูปเศรษฐกิจจีน เอากลไกตลาดเข้ามาทำงานกับกลไกรัฐ เน้นดึงดูดต่างชาติเข้ามา ถือเป็นจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจ ภาคเอกชนจีนเติบโต

ล่าสุด ในยุคสีจิ้นผิง ดิฉันเรียกว่า ผู้มาเปลี่ยนเกม (Game Changer) หลายอย่างแตกต่างจากยุคเติ้งเสี่ยวผิง คือ เน้นสร้างจีนให้แข็งแกร่ง และไม่เดินตามเกมฝรั่ง จีนจะพลิกเกม ผลักดันแนวทางของจีนเอง เช่นระบบนำทางที่โลกทั้งใบใช้ระบบ GPS ของฝรั่ง แต่นไม่ใช้และบล็อกระบบ GPS ไม่ให้เข้าจีน แล้วมุ่งพัฒนาระบบนำทางของจีนเอง เรียกว่า The BeiDou Navigation Satellite System (BDS) ระบบสัญญาณนำทางดาวเทียมเป่ยโต่ว และนอกจากจะใช้ในจีน ยังเริ่มส่งออกระบบ BDS ไปให้หลายประเทศใช้ด้วย รวมทั้งระบบ 5G ของจีนที่ส่งออกไปด้วย

สีจิ้นผิงมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้จีน พัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดหลายด้าน ยุคนี้ จีนกลายเป็น สังคมไร้เงินสด ชาวบ้านคนจีนจ่ายเงินโดยใช้วิธีสแกนผ่านแอปฯ แม้กระทั่งขอทานจีนก็ไม่ต้องการเงินสด แต่ขอเงินที่ใช้การโอนผ่าน QR code จีนก้าวข้ามระบบบัตรเครดิตมาเป็นสังคมที่ใช้ e-wallet ระบบสแกนจ่ายเงินออนไลน์

ยุคสีจิ้นผิง ให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม มีการใช้ประโยชน์จากการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นจำนวนมาก ตัวอย่าง แอปพลิเคชั่นชื่อดังของจีน คือ TikToK เริ่มพัฒนาโดยจาง อีหมิง เจ้าของบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) แค่ภายใน 10 ปี จางอี้หมิง กลายเป็นบุคคลที่รวยกว่ามาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก นี่คือ ความพยายามเอาชนะฝรั่ง และความพยายามที่จะไม่เดินตามเกมโลกของจีนในยุคสีจิ้นผิง

อีกตัวอย่าง คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ จีนก้าวข้ามจากยุคเครื่องยนต์สันดาปไปสู่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV และพัฒนาแบตตารี่รถยนต์ไฟฟ้า จีนเน้นการพัฒนาครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จนในขณะนี้ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนจากเชินเจิ้น คือ BYD กลายเป็นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมาลงทุนในไทยด้วย ตอนนี้ จีนไปไกลถึงขั้นมีรถแท็กซี่ไร้คนขับ และเมืองเชินเจิ้นกลายเป็นเมืองอัจฉริยะและใช้รถยนต์ EV ทั้งเมือง

>> สาเหตุที่จีนก้าวกระโดด เพราะแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยไหม?
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริง คือ จีนยุคนี้เป็นคอมมิวนิสต์ที่ไฮเทค และคิดใหญ่มองไกล มีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี สีจิ้นผิง เป็นผู้นำที่เชิดชูบทบาทพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างเข้มข้น ระบุชัดเจนใน "ความคิดสีจิ้นผิง" ที่ใสในรัฐธรรมนูญประเทศจีนตั้งแต่ปี 2018 ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และมีอำนาจควบคุมทุกอย่างในประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จีนใหญ่กว่ากองทัพจีน และใหญ่กว่าทุกองค์กรในจีน กลไกพรรคแทรกซึมทุกอย่างในจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ใช่พรรคที่ล้าหลัง แต่กลับรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การออกแบบนโยบายของจีน เขาใช้ระบบวิเคราะห์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้ Social Listening รับฟังข้อกังวลของชาวจีน ใช้เทคโนโลยีเอไอ ทำให้รู้ว่าความทุกข์ของคนในชาติคือเรื่องอะไร อย่างเช่น ปัญหาเด็กติดเกม พ่อแม่แก้ปัญหาไม่ได้ สี จิ้นผิง ก็ออกกฏว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง พรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกว่า เกมคือ ฝิ่นทางจิตวิญญาณ ก็ได้ใจพ่อแม่จีนที่รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในครอบครัวที่ตัวเองแก้เองไม่ได้ ลูกไม่ฟัง

มีการตั้งหน่วยงาน Cyberspace Administration of China หรือ CAC ที่เป็นเสมือนตำรวจอินเตอร์เน็ตมากำกับดูแลสื่อโซเชียลด้วย สีจิ้นผิง มาเป็นผู้นำตั้งแต่ปี 2013 ก็เริ่มตั้งหน่วยงาน CAC นี้ในปี 2014 เลย เขาป้องกันปัญหาตั้งแต่ก่อนที่จะมีปัญหาข่าวปลอม หรือข้อมูลขยะในสื่อโซเชียลยังไม่หนักขนาดนี้ และแน่นอนว่า หน่วยงานนี้มาคุมสื่อโซเชียลจีนด้วย พร้อมๆ ไปกับการสอดส่อง จับกระแสความทุกข์หรือความไม่สบายใจของชาวเน็ต เช่น ปัญหาลูกติดเกม ปัญหาโรงเรียนกวดวิชาแพง ปัญหาไรเดอร์จีนถูกเอาเปรียบจากบริษัทนายจ้าง แล้วทางการจีนก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดนั้นใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา และระบบเอไอมาจัดการ

เพื่อให้เห็นเหรียญอีกด้าน แน่นอนว่า การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไฮเทคก็จริง แต่การเข้ามาจัดระเบียบทุนหรือจัดระเบียบชีวิตคนจีนมากไป คนก็อึดอัด ไม่พอใจ เช่น กรณีนโยบาย Zero COVID ที่ตึงเกินไป อาจจะเริ่มมีคนต่อต้านมากขึ้น ในมุมนี้ ดิฉันคิดว่า น่ากังวล แล้วความเหมาะสมและสมดุลจะอยู่ตรงไหน จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา โดยเฉพาะรายชื่อผู้นำจีนชุดใหม่ 7 คน น่าจะมีแนวโน้มไปทางสายเข้มงวดในเรื่องการจัดระเบียบอย่างเข้มข้น

>> พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีบทบาทในการส่งมอบอุดมการณ์อย่างไร?
ถ้าเราศึกษา "ความคิดสีจิ้นผิง" ทั้ง 14 ข้อ จะระบุชัดเจนว่า พรรคคอมมิวนิสต์ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด และเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทันสมัยไฮเทค ไม่ได้คร่ำครึ มีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นสูงมาร่วมทีมผู้บริหารสีจิ้นผิงได้วางวิสัยทัศน์ในปี ค.ศ. 2035 ไว้หลายด้าน เช่น China Standards 2035 จีนจะเป็นผู้วางมาตรฐานเทคโนโลยียุคใหม่ในระดับโลก (Next-generation Technology) และจะเป็นสังคมนิยมที่ทันสมัย ไฮเทค มั่งคั่ง และมีวัฒนธรรมที่สวยงาม

>> ยุทธศาสตร์แบบนี้ ทำให้จีนกลายเป็นผู้นำโลก?
จีนมีความฝันแน่วแน่ที่จะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้วยเทคโนโลยี ยุคสีจิ้นผิง จีนไม่ใช่แค่ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ทรงอำนาจด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า รวมไปถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศ จีนส่งยานอวกาศไปดาวอังคารแล้ว

สีจิ้นผิงแต่งตั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ขึ้นมาเป็นผู้บริหารหลายมณฑล เช่น ชินเจียง และหูหนาน ที่สำคัญหนึ่งในเจ็ดผู้นำจีนชุดล่าสุด คือ ติงเซวียเสียง (Ding Xuexiang) ก็เป็นวิศวกรด้านวิทยาศาสตร์ ดูแลด้านเทคโนโลยีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นี่คือ ความไม่ธรรมดาของคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้น ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดของจีนทำให้สหรัฐฯ หวั่นไหว และเริ่มจำกัดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงให้จีน เริ่มทำสงครามเทคโนโลยีกับจีนอย่างชัดเจน

>> ก่อนหน้านี้ จีนมีนโยบายการขจัดความยากจน ?
นอกเหนือจากการทำสงครามปราบคอรัปชั่น การประกาศทำสงครามกับความยากจนเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้สีจิ้นผิงได้ใจปวงชนชาวจีน เรื่องนี้เป็นงานวิจัยชิ้นลำาสุดของดิฉันด้วยค่ะ เพราะอยากรู้ว่า จีนขจัดความยากจนได้อย่างไร สีจิ้นผิงทำให้คนจีน 98.99 ล้านคนหลุดพ้นจากเส้นแบ่งความยากจนได้ตั้งแต่ปลายปี 2020 โดยใช้ "นโยบายขจัดความยากจนแบบตรงจุด" ไม่เหวี่ยงแหแก้ปัญหา

‘สี จิ้นผิง’ เยือนไทยครั้งแรกในหมวกผู้นำสูงสุดของจีน ด้าน ‘บิ๊กตู่’ ร่วมต้อนรับประชุม APEC สมเกียรติ

(17 พ.ย. 65) สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมศาสตราจารย์ เผิง ลี่หยวน ภริยา เดินทางมาถึงประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 14.20 น. โดยมี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยาให้การต้อนรับ ก่อนจะเดินทางไปยังเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยของ สี จิ้นผิง มีขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 19  พ.ย. 65 ซึ่งเป็นกำหนดการต่อเนื่องภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย 

นับว่าเป็นการเดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยครั้งแรกของประธานสี ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนมาเป็นระยะเวลา 10 ปี และนับเป็นครั้งที่ 2 ของการเดินทางมายังประเทศไทย โดยครั้งแรกของประธานสี เคยเดินทางมาเยือนไทยในฐานะรองประธานาธิบดีจีนเมื่อ 22 - 24 ธันวาคม 2554

คาดเดาบทบาท ‘มาครง’ ในเวที APEC 2022 ผูกมิตรกล่อม ‘จีน’ ด้วยท่าทีที่สวนทาง ‘ทรูโด’

แม้เป้าประสงค์หลักของการประชุมเอเปคจะอยู่ที่การส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคี หรือการร่วมพูดคุยกันหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก 

แต่ด้วยสมาชิกที่หลากหลาย และครอบคลุมมหาอำนาจโลกหลายแห่ง ซึ่งรวมไปถึง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้นั้น มันก็คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเหล่าผู้นำชาติมหาอำนาจที่มารวมตัวกัน จะช่วงชิงอิทธิพลในภูมิรัฐศาสตร์โลก ตามสถานการณ์และวิกฤตโลกที่เกิดขึ้น 

ยกตัวอย่างในปีนี้กับความตึงเครียดที่มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งเรื่องการค้า และประเด็นไต้หวัน รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ลามผลกระทบไปสู่เรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังต่อประเทศคู่ขัดแย้งที่เกี่ยวพันในห่วงโซ่นี้ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามใน ‘ทางแจ้ง’ ใครจะวัดพลังกันบนเวที ก็ทำกันไป แต่ใน ‘ทางลับ’ ก็มีเรื่องให้น่าจับตาไม่แพ้กัน เพราะหากสังเกตให้ดีบนเวทีประชุมใหญ่ ๆ ระดับโลกเช่นนี้ ก็มักจะมีท่าทีให้สอดรู้จากผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งในกลุ่มเขตเศรษฐกิจ และแขกรับเชิญพิเศษของเจ้าภาพ ซึ่งในปีนี้ไทยเราเชิญมาทั้งสิ้น 3 ชาติ ได้แก่ ฝรั่งเศส, ซาอุดีอาระเบีย และกัมพูชา ที่พร้อมจะใช้เสี้ยวเวลาในการพูดคุย เจรจา หรือปิดดีลบางเรื่องในช่วงเวลาแค่ชั่วพบปะ แล้วเรื่องแบบนี้ก็ไม่ค่อยจะหลุดรอดไปสู่ตาเหยี่ยวสื่อสักเท่าไรด้วย

กลับกันการพูดคุยลับ ๆ ที่ถูกทำให้ไม่ลับ ก็อาจจะทำให้เกิดความแคลงใจกันในภายภาคหน้า เหมือนกับกรณี สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน แหกหน้า จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ระหว่างการประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พูดคุยกับนายทรูโด ด้วยรอยยิ้มผ่านล่าม ตำหนิในกรณีที่นายทรูโดระบุว่า จีนแทรกแซงการเลือกตั้งของแคนาดา โดยสี จิ้นผิง กล่าวว่า “ทุกอย่างที่เราได้พูดคุยกันถูกรั่วไหลไปถึงสื่อ และนั่นไม่เหมาะสม” ซึ่งท่าทีของผู้นำแคนาดารายนี้ก็รู้กันอยู่ว่าแทบจะเป็นเงาพี่เงาน้องของลูกพี่แซมอยู่แล้ว ก็ได้แต่พยักหน้า ขณะที่ ผู้นำจีน กล่าวต่อว่า “นั่นไม่ใช่วิธีการที่ควรจะเป็น หากมีความจริงใจต่อกัน เราจะร่วมหารือด้วยทัศนคติที่เคารพซึ่งกันและกัน มิเช่นนั้น ผลที่ตามมาจะคาดเดาไม่ได้”

นี่คือตัวอย่างไม่ดี ที่เด็ก ๆ ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง!!

กลับกันกับท่าทีของอีกหนึ่งผู้นำ ที่เชื่อว่าพญามังกรคงรอดูท่าที คือ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ซึ่งมีหลายฝ่ายเชื่อว่า การมาเอเปค 2022 ในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่มาสานความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไทย-ฝรั่งเศส, ด้านความมั่นคง, หรือ BCG ที่สอดคล้องแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU หรือแค่หนุนประเด็นที่ไทยผลักดันในเวทีเอเปคเท่านั้น 

หากแต่นี่ก็คือเวทีที่ มาครง จะได้มีโอกาสใช้จังหวะ ‘ที่ไม่เป็นทางการ’ คุย ‘ประเด็นทางการ’ ต่อ สีจิ้นผิง สืบเนื่องต่ออีกคำรบจากเวที G20 ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นที่จะคุย ก็คงไม่พ้นความคาดหวังที่จะให้จีนเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการคลี่คลายปัญหาด้านพลังงานในยุโรป และการขาดแคลนชิปของจีน เป็นต้น

‘สี จิ้นผิง’ พบ ‘คิชิดะ’ ประชุมทวิภาคีครั้งสำคัญ ในวาระครบรอบ 50 ปีการทูต ‘จีน-ญี่ปุ่น’

นับว่ามีประเด็นมากมายที่ต้องจับตามอง สำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14 - 19 พ.ย. 65 ทั้งในประความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ประเด็นความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประเด็นทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

โดยอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ต้องจับตามอง คือการประชุมทวิภาคีครั้งสำคัญระหว่างประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดแห่งจีน และนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการประชุมนอกรอบระหว่างการจัดการประชุมเอเปค ซึ่งเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกของผู้นำทั้งสองในรอบ 3 ปี ด้วยเป้าหมายด้านความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์และมีเสถียรภาพ เนื่องจากปีนี้ ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งผู้นำทั้งสองได้ให้สำคัญของการมีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดี ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากกันและกัน

ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในช่วงที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความตึงเครียด ด้วยความบาดหมางในอดีตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นทุนเดิม ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก, การทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ รวมทั้งการที่กองทัพจีนยิงขีปนาวุธตกในน่านน้ำของญี่ปุ่นในการซ้อมรบเพื่อตอบโต้ต่อการเดินทางเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และการแข่งขันแย่งชิงบทบาทการเป็นผู้นำในภูมิภาค

โดยทั้งผู้นำจากทั้งสองฝั่ง ต่างแสดงเจตจำนงในการการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสอง

‘สี จิ้นผิง’ ประกาศ เตรียมจัดฟอรั่ม BRI ปี 66 ฟื้นเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขยายฐานลงทุน

(18 พ.ย. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหนึ่งของการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งมีแผนจัดฟอรั่มการประชุม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3' (3rd Belt & Road Forum for International Cooperation) ในปีหน้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกหลังโลกผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ด้วย

โดยโครงการ Belt & Road หรือ BRI เป็นผลงานโดดเด่นที่ริเริ่มโดยประธานสี เป็นโครงการเพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค โดย ฟอรั่มการประชุม 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ' เคยถูกจัดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วสองหน ในปี ในปี 2560 และ 2562

แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการ 'โควิดเป็นศูนย์' ของจีน ทำให้ห่างหายจากฟอรั่มการประชุมดังกล่าวไป

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนได้เริ่มผ่อนปรนการใช้นโยบายปลอดโควิดที่เข้มงวด แม้จะต่อสู้กับการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ โดยนักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่าจะมีการเปิดประเทศมากกว่านี้ที่ในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน ปี 2566

รัฐบาลเผยเหตุ 'สี จิ้นผิง' ไม่จับมือนายกฯ เหตุ!! จีนเข้มมาตรการป้องโควิด-19

'โฆษกรัฐบาล' แจงปมดราม่า 'สี จิ้นผิง' เมิน จับมือ 'บิ๊กตู่' เหตุ จีนเข้มมาตรการป้องโควิด-19 

(18 พ.ย. 65) ที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีที่มีเสียงวิจารณ์กรณีที่ปรากฎภาพประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ปฎิเสธการจับมือทักทายกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่า...

‘สี จิ้นผิง’ ขอบคุณรัฐบาลไทยอย่างสุดซึ้งที่ตั้งใจและใช้ความพยายามจัดประชุม APEC 2022

สุนทรพจน์ของนาย ‘สี จิ้นผิง’ ปธน.จีนในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 29 ในหัวข้อ ‘สามัคคี ร่วมมือ และกล้ารับผิดชอบ เพื่อประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของเอเชียแปซิฟิก’ (ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022)

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมิตรสหายทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับท่านทั้งหลาย ณ กรุงเทพมหานคร ‘เมืองแห่งสวรรค์’ ที่สวยงาม นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้พบกันโดยตรงแบบออฟไลน์ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งไปยังรัฐบาลไทย โดยเฉพาะ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ตั้งใจและใช้ความพยายามเพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นซ้ำหลายระลอกและจะยืดเยื้อต่อไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ลัทธิฝ่ายเดียวและลัทธิคุ้มครองได้ทวีความรุนแรง ห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานของโลกได้รับผลกระทบ ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ความปลอดภัยด้านธัญญาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน และปัญหาอื่นๆ มีความซับซ้อนและรุนแรงอย่างหนัก

ภูมิภาค ‘เอเชียแปซิฟิก’ เป็นสถานที่ลงหลักปักฐานของเรา และเป็นแหล่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้พัฒนาและเป็นไปอย่างคึกคัก โดยได้สร้าง ‘ปาฏิหาริย์แห่งเอเชียแปซิฟิก’ ดึงดูดความสนใจของทั่วโลก ความร่วมมือส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้หยั่งรากลึกในใจของผู้คนทั้งหลายช้านานมาแล้ว

ขณะนี้โลกได้ยืนอยู่ที่ทางแยกของประวัติศาสตร์อีกครั้ง ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความสำคัญและมีบทบาทโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

คนจีนสมัยโบราณระบุไว้ว่า ‘ผู้รอบรู้จะไม่สับสน ผู้มีคุณธรรมจะไม่กังวล ผู้กล้าหาญจะไม่หวั่นเกรง’ ในสถานการณ์ใหม่เราต้องร่วมมือสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งเอเชียแปซิฟิก เพื่อสร้างความรุ่งโรจน์ใหม่ของความร่วมมือแห่งเอเชียแปซิฟิก ด้วยประการเหล่านี้ ข้าพเจ้ามีข้อเสนอดังต่อไปนี้

ประการแรก ปกป้องความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมระหว่างประเทศ สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้มีสันติภาพและความมั่นคง

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่สงบสุขและมั่นคง ทำให้เราตระหนักว่าต้องให้เกียรติแก่กัน สามัคคีกัน และร่วมมือกัน เมื่อเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ เราต้องปรึกษาหารือกันเพื่อค้นหาปัจจัยร่วมที่ใหญ่ที่สุด

เราควรยึดมั่นแนวคิดด้านความปลอดภัยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ครอบคลุม ให้ความร่วมมือ และยั่งยืน เคารพอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนแต่ละประเทศ ไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น เคารพเส้นทางการพัฒนาและระบบสังคมที่ประชาชนของแต่ละประเทศเลือกเอง ให้ความสำคัญต่อความห่วงใยด้านความปลอดภัยที่สมเหตุสมผลของแต่ละประเทศ ขจัดความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยการเจรจาอย่างสันติ  

เราต้องมีส่วนร่วมในการสร้างธรรมาภิบาลโลกอย่างแข็งขัน เพื่อผลักดันให้ระเบียบของประชาคมโลกพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ยุติธรรม และสมเหตุสมผล อีกทั้งให้มีหลักประกันทางสันติภาพและความมั่นคงทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก

ประการที่สอง ยึดมั่นในความเปิดกว้าง สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้มีความมั่งคั่งร่วมกัน

ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าการเปิดกว้าง ร่วมมือและได้ชัยชนะร่วมกันถึงเป็นหนทางที่ถูกต้องในโลก เราต้องยืนหยัดลัทธิภูมิภาคแบบเปิดกว้าง เสริมสร้างการประสานนโยบายเศรษฐกิจแบบมหภาค สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน ขับเคลื่อนกระบวนการให้เศรษฐกิจเป็นแบบองค์เดียวกันในระดับภูมิภาคอย่างคงเส้นคงวา และสร้างเขตการค้าเสรีระดับสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้สำเร็จโดยเร็ว

เราต้องยืนหยัด ‘การพัฒนาเพื่อประชาชน ด้วยประชาชน และผลลัพธ์สู่ประชาชน’ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมั่งคั่งร่วมกัน จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ปฏิบัติตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้ครอบคลุมและมีคุณภาพ ขับเคลื่อนต่อไปเพื่อเข้าร่วม ‘ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ และ ‘ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจดิจิทัล’ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบหลอมรวมระดับภูมิภาค

ในปีหน้าจีนจะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฟอรัมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ( BRI : Belt and Road Initiative) ครั้งที่ 3 เพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อนใหม่แก่การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก

ถอดรหัสสุนทรพจน์ 'สี จิ้นผิง' ที่ APEC 2022 แย้ม!! จีนอาจเปิดประเทศกลางปี 2023

ในสุนทรพจน์ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 29 ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ในหัวข้อ ‘สามัคคี ร่วมมือ และกล้ารับผิดชอบ เพื่อประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของเอเชียแปซิฟิก’ 

มีข้อความท่อนหนึ่งที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวไว้ว่า... 

“ในปีหน้าจีนจะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฟอรัมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 เพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อนใหม่แก่การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก”

‘สี จิ้นผิง’ กล่าวสุนทรพจน์แนะนำ 4 ประการ สร้างความรุ่งโรจน์ใหม่ของความร่วมมือแห่งเอเชียแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 65 นาย ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 29 ในหัวข้อ ‘สามัคคี ร่วมมือ และกล้ารับผิดชอบ เพื่อประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของเอเชียแปซิฟิก’ 

โดยนายสี จิ้นผิงได้กล่าวขอบคุณ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ตั้งใจและใช้ความพยายามเพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในครั้งนี้

ทั้งนี้ยังได้กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นซ้ำหลายระลอกและจะยืดเยื้อต่อไป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ลัทธิฝ่ายเดียวและลัทธิคุ้มครองได้ทวีความรุนแรง ห่วงโซ่การผลิตและห่วงโซ่อุปทานของโลกได้รับผลกระทบ ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ความปลอดภัยด้านธัญญาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงปัญหาอื่นๆ มีความซับซ้อนและรุนแรงอย่างหนัก

โดยนายสี จิ้นผิงได้กล่าวเสนอแนะ 4 ประการ เพื่อสร้างความรุ่งโรจน์ใหม่ของความร่วมมือแห่งเอเชียแปซิฟิก ดังนี้

ประการแรก ปกป้องความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมระหว่างประเทศ สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้มีสันติภาพและความมั่นคง

ประการที่สอง ยึดมั่นในความเปิดกว้าง สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้มีความมั่งคั่งร่วมกัน

ประการที่สาม ยึดมั่นในการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้สะอาดและสวยงาม

ประการที่สี่ เราต้องยึดมั่นในการร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างสรรค์เอเชียแปซิฟิกให้สนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top