ถอดรหัส 'จีน' ยุคก้าวกระโดด ผู้พลิกเกมโลกแบบเกินต้าน ผ่านเลนส์นักสังเกตการณ์จีน 'รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น'

"ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้มานั่งสุมหัวแล้วคิดกันเอง แต่ขับเคลื่อนด้วยการวิเคราะห์ฐานข้อมูล ทำ Social Listening จับกระแสความกังวลของสังคม เพื่อแก้ปัญหาออกแบบนโยบายได้ตรงจุด"

"การที่พรรคคอมมิวนิสต์ไฮเทคก็จริง แต่ถ้ามาจัดระเบียบชีวิตคนจีนมากเกินไป ก็แน่นอน ย่อมมีคนอึดอัดและไม่เห็นด้วย"

แค่สองประโยคสั้นๆ ที่รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่า คงชวนให้คิดในประเด็นอื่นๆ ได้อีก โดยเฉพาะเกมมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ 

แล้วไทยจะเรียนรู้จากจีนเรื่องไหนได้บ้าง?

อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นักเขียนที่มีผลงานหนังสือเกี่ยวกับจีน 9 เล่ม และผลงานวิจัยมากกว่า 20 เรื่อง รวมทั้งเป็นวิทยากรด้านเศรษฐกิจจีน และยุทธศาสตร์จีน ยังสนุกกับการวิเคราะห์เรื่องจีนๆ เพราะวันนี้จีนไปไกลถึงดาวอังคาร

ขอบอกก่อนว่า บทสัมภาษณ์ใน จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ครั้งนี้ อาจารย์อักษรศรี กระเทาะเปลือกโมเดลจีนมาให้อ่านแบบคร่าวๆ เท่านั้น 

"ในตอนแรก เคยมองว่า คอมมิวนิสต์และทุนนิยมไม่น่าไปด้วยกันได้ ตอนที่เพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องจีน เราเคยใช้แว่นตะวันตกมองจีน ก็เลยไม่เข้าใจระบบจีน" นี่เป็นการเปิดบทสนทนาอย่างจริงจังจากนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกตัวเองว่า 'นักสังเกตการณ์จีน' หลังเดินทางไปทุกมณฑลในจีน ก่อนที่เราจะได้รู้ว่า ผู้นำจีนกำลังจะเป็นผู้พลิกเกมโลกได้อย่างไรจากเธอ...

>> ทำไมสนใจและศึกษาจีนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี?
เริ่มสนใจจีนจริงจังปี 1992 ยุคเติ้งเสี่ยวผิง จุดเริ่มต้นความสนใจตอนนั้น ดิฉันไปเรียนปริญญาโทอยู่ที่ Johns Hopkins สหรัฐฯ อาจารย์ฝรั่งนำคลิปภาพเติ้งเสี่ยวผิงไปที่เชินเจิ้นมาให้วิเคราะห์ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่า Deng's Southern Tour จึงเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพความเจริญของจีนที่น่าทึ่ง ไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้ คือ ช่วงนั้น เคยมีภาพลักษณ์จีนที่ล้าหลัง และเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ก็เลยสงสัย ระบบคอมมิวนิสต์นจะไปกับระบบทุนนิยมได้อย่างไร และแปลกใจกับภาพที่เติ้งเสี่ยวผิงไปเยือนเชินเจิ้น จีนมีความทันสมัยและมีตึกสูงระฟ้า ไม่ได้ล้าหลังอย่างที่คิด แต่มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ที่สนใจเพราะระบบจีนไม่เหมือนใคร่ ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม แล้วระบบแบบนี้จะไปด้วยกันได้หรือ จะล้มครืนสักวันไหม ตอนนั้นคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ไม่เข้าใจระบบแบบจีน

เกาะติดจับตามาเรื่อยๆ จีนก็ไม่ย่ำแย่สักที มีระบบเฉพาะของจีนเอง โมเดลจีน ดิฉันมองว่า มันก็เหมาะกับบริบทจีน เขาไม่เลียนแบบตำราฝรั่ง แต่สามารถนำพาประเทศมาถึงจุดนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าสนใจเรียนรู้ จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 30 ปีแล้ว ก็ยังเกาะติดพัฒนาการของจีนด้วยความสนุกและมีอะไรใหม่ๆ ให้ค้นคว้าหาคำตอบตลอด ดิฉันขอเรียกตัวเองว่า นักสังเกตการณ์จีน

>> แรกๆ มองจีนด้วยความรู้แบบตะวันตก จากนั้นศึกษาจีนอย่างลึกซึ้ง?
ถ้าเรื่องใดที่ดิฉันมี Passion สนใจใฝ่รู้ในเรื่องอะไร ก็จะทุ่มเทเต็มที่ หลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยความอยากรู้สภาพที่แท้จริงของจีนด้วยตาตัวเอง จึงเดินทางไปลงพื้นที่ในประเทศจีนครบทุกมณฑล (31 มณฑล) เริ่มไปจีนอย่างจริงจังในปี 2000 ตระเวนเดินทางจนครบในปี 2009 ใช้เวลา 9 ปี คิดว่า มีนักวิชาการไทยไม่กี่คนที่บ้าลุยลงพื้นที่จีนขนาดนี้ คนไทยทั่วไปมักนิยมไปแค่ปักกิ่ง เชี่ยงไฮ้ จีนชายฝั่ง

แต่ดิฉันบุกไปจนถึงสุดชายแดนจีนตอนในทางตะวันตก มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของดิฉัน เจาะลึกมณฑลจีนตะวันตก และเจาะลึกการค้าไทยและมณฑลจีน น่าจะเป็นงานแรกๆ ของประเทศไทยที่เน้นศึกษาความสัมพันธ์ในระดับมณฑล ตระเวนลงพื้นที่ทั่วประเทศจีน เช่น ซินเจียงและทิเบตก็เดินทางไปแล้วสองรอบ หนิงเชี่ยและชิงไห่คนไทยไม่ค่อยรู้จักก็ไปมาแล้ว

ก่อนเกิดโควิด ทางการจีนจะเชิญดิฉันไปพรีเซนต์งานวิจัยทุกปี มีบางปีไปทุกเดือน และเคยเป็นแขกของรัฐบาลทิเบต ไปงาน Tibet Forum ไปพรีเซนต์ร่วมกับนักวิชาการจากหลายประเทศ ส่วนใหญ่ดิฉันรับเชิญไปในนามแขกรัฐบาลมณฑลหรือฝ่ายวิชาการของมณฑล

>> อะไรทำให้อยากเดินทางไปทุกมณฑลของจีน?
ต้นแบบที่ทำให้ดิฉันมุ่งมั่นเดินทางไปลงพื้นที่จีนให้ครบทุกมณฑล คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์เสด็จเยือนจีนครบทุกมณฑล พระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับจีนหลายเล่ม ดิฉันมีทุกเล่ม ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้อักษรศรีไปจีนให้ครบทุกมณฑล

>> อยากให้เล่าประสบการณ์การเดินทางในมณฑลต่างๆ สักนิด?
น่าสนใจทุกพื้นที่ แต่ขอยกตัวอย่างบางแห่ง เช่น ตอนไปเมืองอุรุมชี เมืองเอกของซินเจียง ก่อนไปก็คิดว่าเป็นดินแดนมุสลิมที่มีความขัดแย้งคงไม่สงบและน่ากลัว แต่พอไปเห็นด้วยตา จริงๆ แล้ว คนที่นั่นก็ใช้ชีวิตปกติ และมีความทันสมัย ไปครั้งแรกเมื่อปี 2005 ไปตามรอยเส้นทางสายไหม และไปอีกครั้ง ปี 2015 รอบนี้ อาจจะเห็นภาพเจ้าหน้าที่จีนถือปืนอยู่ตามท้องถนน เพราะเป็นช่วงที่มีความไม่สงบเกิดมากขึ้น แต่ก็ไม่อันตรายอย่างที่คิด ดังนั้น แต่ละแห่งที่ไปต้องการไปเห็นด้วยตาตัวเอง จะได้รู้ข้อเท็จจริงของพื้นที่ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นนะคะ

ดิฉันไปถึงเมืองตะวันตกที่สุดของจีนด้วย คือ เมืองคาสือ ความฝันของดิฉันต้องไปเมืองนี้ให้ได้ อยู่ติดกับปากีสถาน เมืองนี้เป็นชุมทางเส้นทางสายไหมโบราณ มีความเป็นมุสลิมอุยกูร์สูงมาก เคยเกิดความรุนแรง แต่ตอนที่ไปถึงก็ปลอดภัย ผู้คนในเมืองนี้ก็น่ารัก ส่วนใหญ่พูดภาษาอุยกูร์ แม้กระทั่งภาษาจีนกลาง ก็พูดไม่เข้าใจ ประชากรอุยกูร์ น่าจะเกิน 80-90 เปอร์เซ็นต์ในเมืองนี้ ดิฉันเรียกที่นี่ว่า ดินแดนอุยกูร์บนแผ่นดินจีนไม่ได้อันตรายเหมือนที่สื่อนำเสนอ

ส่วนมองโกเลียใน ดิฉันไปเมืองเปาโถวมีแหล่งแร่แรร์เอิร์ธหรือกลุ่มแร่หายาก ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ตอนที่ไปเยี่ยมชมโรงงานแร่แรร์เอิร์ธ จึงได้รู้ว่า การประกอบสมาร์ทโฟนต้องมีแร่ตัวนี้เป็นวัตถุดิบหลัก จีนเป็นแหล่งแร่แรร์เอิร์ที่สำคัญของโลก ตอนที่เกิดสงครามการค้า จีนก็ใช้แร่ตัวนี้เป็นแต้มต่อกดดันสหรัฐฯ หากจีนจำกัดการส่งออกแร่ตัวนี้ สหรัฐฯ และผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีทั้งหลายเดือดร้อนแน่

>> นักวิชาการต่างประเทศที่เข้าไปพรีเซนต์งานวิจัย ทางการจีนต้องการรู้อะไรเป็นพิเศษ?
จีนชอบที่จัดเวทีประชุมวิชาการ จัดงานฟอรัมเชิญนักวิชาการมาจากชาติต่างๆ จีนสนใจเรียนรู้ประสบการณ์ของชาติอื่น แล้วจีนจะไม่ยอมผิดพลาดซ้ำ สิ่งที่ฝ่ายจีนมักจะถามดิฉันบ่อยมาก จนถึงทุกวันนี้ คือ ประสบการณ์ของไทยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยจัดการเรื่องนี้อย่างไร

รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จีนก็สนใจ ดิฉันเองเคยขึ้นเวทีกับนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีน และอดีตนักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งรางวัลโนเบิลระดับโลก ดิฉันได้รับเชิญไปจีนล่าสุดปี 2019 ก่อนเกิดโควิด ไปนำเสนองานวิชาการในงาน CDAC ที่จัดใหญ่มาก ตอนนั้นสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนมาเปิดงานนี้ด้วย แล้วก็มาร่วมชมงานแสดงตอนค่ำ มาเซอร์ไพรส์พร้อมภรรยา มาดามเผิงลี่หยวน จีนจัดงานยิ่งใหญ่ที่สนามกีฬารังนก กรุงปักกิ่ง

>> อยากให้ขยายความที่บอกว่า โมเดลจีนย่อมเหมาะกับจีน?
ถ้าเราศึกษาจีนอย่างลึกซึ้ง นไม่ได้ลอกตำราฝรั่งในการพัฒนาประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นไม่ได้เดินตามแนวคิดของสหรัฐที่เรียกว่า "ฉันทามติวอชิงตัน" หรือ Washington Consensus เป็นแนวทางการพัฒนาที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เป็นต้นแบบ เป็นเสมือนเมนูแนวนโยบาย มี10 ข้อ แต่จีนไม่เดินตามทั้งหมด จีนมีแนวทางการพัฒนาของจีนเอง จนถูกเรียกว่า "ฉันทามติปักกิ่ง" หรือ Beijing Consensus มีผู้นำนักปฏิรูปคือ เติ้งเสี่ยวผิง ที่เปลี่ยนจีนสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจ

เติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้ปฏิเสธตะวันตก แต่ปรับดึงเพียงสวนที่เหมาะสมมาใช้กับจีน จีนจะเน้นรักษาเสถียรภาพ ล่าสุด ประเทศอื่นมีปัญหาเงินเฟ้อ แต่จีนไม่มี เพราะผู้นำให้ความสำคัญในการคุมเงินเฟ้อมาโดยตลอด กลไกรัฐของเขา เน้นป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ใช่แค่มาตามแก้ปัญหา มีการวางแผนระยะยาว มีวิสัยทัศน์ นี่คือจุดเด่นของจีน บางคนไม่เข้าใจ เพราะใช้แนวคิดตะวันตกมาจับ อย่างเช่นสีจิ้นผิงจะไม่ชอบเศรษฐกิจฉาบฉวย ไม่ชอบเศรษฐกิจตีโป้ง ไม่ชอบการเก็งกำไร และบอกว่า บ้านมีไว้อยู่ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร ดังนั้น เราอาจจะไม่เข้าใจ ทำไมจีนไม่เอาคริปโตเคอร์เรนซี่ หรือทำไมต้องจัดระเบียบทุน

เมื่อไรที่เริ่มมีเค้าลางว่า จะเกิดปัญหาและจะกระทบความสงบเรียบร้อยในประเทศหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จีนจะตัดไฟแต่ต้นลม ถ้าจะเข้าใจจีน ต้องเข้าใจบริบทของพวกเขา ประเทศใหญ่มีคนเยอะ จึงไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย เสถียรภาพต้องมาก่อน นี่คือตัวอย่างว่า ทำไมระบบแบบจีนต้องคำนึงถึงบริบทจีน

>> โฉมหน้าใหม่ของจีนเกิดขึ้นในยุคไหน?
หากย้อนไปตั้งแต่ยุคเหมาเจือตง จะเป็นคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างควบคุมโดยรัฐ ปิดประเทศ โดดเดี่ยวตัวเองต่อมา สู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเติ้งเสี่ยวผิงเน้นปฏิรูปเศรษฐกิจจีน เอากลไกตลาดเข้ามาทำงานกับกลไกรัฐ เน้นดึงดูดต่างชาติเข้ามา ถือเป็นจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจ ภาคเอกชนจีนเติบโต

ล่าสุด ในยุคสีจิ้นผิง ดิฉันเรียกว่า ผู้มาเปลี่ยนเกม (Game Changer) หลายอย่างแตกต่างจากยุคเติ้งเสี่ยวผิง คือ เน้นสร้างจีนให้แข็งแกร่ง และไม่เดินตามเกมฝรั่ง จีนจะพลิกเกม ผลักดันแนวทางของจีนเอง เช่นระบบนำทางที่โลกทั้งใบใช้ระบบ GPS ของฝรั่ง แต่นไม่ใช้และบล็อกระบบ GPS ไม่ให้เข้าจีน แล้วมุ่งพัฒนาระบบนำทางของจีนเอง เรียกว่า The BeiDou Navigation Satellite System (BDS) ระบบสัญญาณนำทางดาวเทียมเป่ยโต่ว และนอกจากจะใช้ในจีน ยังเริ่มส่งออกระบบ BDS ไปให้หลายประเทศใช้ด้วย รวมทั้งระบบ 5G ของจีนที่ส่งออกไปด้วย

สีจิ้นผิงมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้จีน พัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดหลายด้าน ยุคนี้ จีนกลายเป็น สังคมไร้เงินสด ชาวบ้านคนจีนจ่ายเงินโดยใช้วิธีสแกนผ่านแอปฯ แม้กระทั่งขอทานจีนก็ไม่ต้องการเงินสด แต่ขอเงินที่ใช้การโอนผ่าน QR code จีนก้าวข้ามระบบบัตรเครดิตมาเป็นสังคมที่ใช้ e-wallet ระบบสแกนจ่ายเงินออนไลน์

ยุคสีจิ้นผิง ให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม มีการใช้ประโยชน์จากการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นจำนวนมาก ตัวอย่าง แอปพลิเคชั่นชื่อดังของจีน คือ TikToK เริ่มพัฒนาโดยจาง อีหมิง เจ้าของบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) แค่ภายใน 10 ปี จางอี้หมิง กลายเป็นบุคคลที่รวยกว่ามาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก นี่คือ ความพยายามเอาชนะฝรั่ง และความพยายามที่จะไม่เดินตามเกมโลกของจีนในยุคสีจิ้นผิง

อีกตัวอย่าง คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ จีนก้าวข้ามจากยุคเครื่องยนต์สันดาปไปสู่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV และพัฒนาแบตตารี่รถยนต์ไฟฟ้า จีนเน้นการพัฒนาครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จนในขณะนี้ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนจากเชินเจิ้น คือ BYD กลายเป็นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมาลงทุนในไทยด้วย ตอนนี้ จีนไปไกลถึงขั้นมีรถแท็กซี่ไร้คนขับ และเมืองเชินเจิ้นกลายเป็นเมืองอัจฉริยะและใช้รถยนต์ EV ทั้งเมือง

>> สาเหตุที่จีนก้าวกระโดด เพราะแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยไหม?
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริง คือ จีนยุคนี้เป็นคอมมิวนิสต์ที่ไฮเทค และคิดใหญ่มองไกล มีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี สีจิ้นผิง เป็นผู้นำที่เชิดชูบทบาทพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างเข้มข้น ระบุชัดเจนใน "ความคิดสีจิ้นผิง" ที่ใสในรัฐธรรมนูญประเทศจีนตั้งแต่ปี 2018 ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และมีอำนาจควบคุมทุกอย่างในประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จีนใหญ่กว่ากองทัพจีน และใหญ่กว่าทุกองค์กรในจีน กลไกพรรคแทรกซึมทุกอย่างในจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ใช่พรรคที่ล้าหลัง แต่กลับรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การออกแบบนโยบายของจีน เขาใช้ระบบวิเคราะห์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้ Social Listening รับฟังข้อกังวลของชาวจีน ใช้เทคโนโลยีเอไอ ทำให้รู้ว่าความทุกข์ของคนในชาติคือเรื่องอะไร อย่างเช่น ปัญหาเด็กติดเกม พ่อแม่แก้ปัญหาไม่ได้ สี จิ้นผิง ก็ออกกฏว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง พรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกว่า เกมคือ ฝิ่นทางจิตวิญญาณ ก็ได้ใจพ่อแม่จีนที่รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในครอบครัวที่ตัวเองแก้เองไม่ได้ ลูกไม่ฟัง

มีการตั้งหน่วยงาน Cyberspace Administration of China หรือ CAC ที่เป็นเสมือนตำรวจอินเตอร์เน็ตมากำกับดูแลสื่อโซเชียลด้วย สีจิ้นผิง มาเป็นผู้นำตั้งแต่ปี 2013 ก็เริ่มตั้งหน่วยงาน CAC นี้ในปี 2014 เลย เขาป้องกันปัญหาตั้งแต่ก่อนที่จะมีปัญหาข่าวปลอม หรือข้อมูลขยะในสื่อโซเชียลยังไม่หนักขนาดนี้ และแน่นอนว่า หน่วยงานนี้มาคุมสื่อโซเชียลจีนด้วย พร้อมๆ ไปกับการสอดส่อง จับกระแสความทุกข์หรือความไม่สบายใจของชาวเน็ต เช่น ปัญหาลูกติดเกม ปัญหาโรงเรียนกวดวิชาแพง ปัญหาไรเดอร์จีนถูกเอาเปรียบจากบริษัทนายจ้าง แล้วทางการจีนก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดนั้นใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา และระบบเอไอมาจัดการ

เพื่อให้เห็นเหรียญอีกด้าน แน่นอนว่า การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไฮเทคก็จริง แต่การเข้ามาจัดระเบียบทุนหรือจัดระเบียบชีวิตคนจีนมากไป คนก็อึดอัด ไม่พอใจ เช่น กรณีนโยบาย Zero COVID ที่ตึงเกินไป อาจจะเริ่มมีคนต่อต้านมากขึ้น ในมุมนี้ ดิฉันคิดว่า น่ากังวล แล้วความเหมาะสมและสมดุลจะอยู่ตรงไหน จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา โดยเฉพาะรายชื่อผู้นำจีนชุดใหม่ 7 คน น่าจะมีแนวโน้มไปทางสายเข้มงวดในเรื่องการจัดระเบียบอย่างเข้มข้น

>> พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีบทบาทในการส่งมอบอุดมการณ์อย่างไร?
ถ้าเราศึกษา "ความคิดสีจิ้นผิง" ทั้ง 14 ข้อ จะระบุชัดเจนว่า พรรคคอมมิวนิสต์ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด และเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทันสมัยไฮเทค ไม่ได้คร่ำครึ มีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นสูงมาร่วมทีมผู้บริหารสีจิ้นผิงได้วางวิสัยทัศน์ในปี ค.ศ. 2035 ไว้หลายด้าน เช่น China Standards 2035 จีนจะเป็นผู้วางมาตรฐานเทคโนโลยียุคใหม่ในระดับโลก (Next-generation Technology) และจะเป็นสังคมนิยมที่ทันสมัย ไฮเทค มั่งคั่ง และมีวัฒนธรรมที่สวยงาม

>> ยุทธศาสตร์แบบนี้ ทำให้จีนกลายเป็นผู้นำโลก?
จีนมีความฝันแน่วแน่ที่จะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้วยเทคโนโลยี ยุคสีจิ้นผิง จีนไม่ใช่แค่ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ทรงอำนาจด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า รวมไปถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศ จีนส่งยานอวกาศไปดาวอังคารแล้ว

สีจิ้นผิงแต่งตั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ขึ้นมาเป็นผู้บริหารหลายมณฑล เช่น ชินเจียง และหูหนาน ที่สำคัญหนึ่งในเจ็ดผู้นำจีนชุดล่าสุด คือ ติงเซวียเสียง (Ding Xuexiang) ก็เป็นวิศวกรด้านวิทยาศาสตร์ ดูแลด้านเทคโนโลยีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นี่คือ ความไม่ธรรมดาของคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้น ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดของจีนทำให้สหรัฐฯ หวั่นไหว และเริ่มจำกัดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงให้จีน เริ่มทำสงครามเทคโนโลยีกับจีนอย่างชัดเจน

>> ก่อนหน้านี้ จีนมีนโยบายการขจัดความยากจน ?
นอกเหนือจากการทำสงครามปราบคอรัปชั่น การประกาศทำสงครามกับความยากจนเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้สีจิ้นผิงได้ใจปวงชนชาวจีน เรื่องนี้เป็นงานวิจัยชิ้นลำาสุดของดิฉันด้วยค่ะ เพราะอยากรู้ว่า จีนขจัดความยากจนได้อย่างไร สีจิ้นผิงทำให้คนจีน 98.99 ล้านคนหลุดพ้นจากเส้นแบ่งความยากจนได้ตั้งแต่ปลายปี 2020 โดยใช้ "นโยบายขจัดความยากจนแบบตรงจุด" ไม่เหวี่ยงแหแก้ปัญหา

ดิฉันวิเคราะห์ประเด็นนี้ โดยใช้แนวทาง 2 D 3 M คือ Direction กับ Data และ 3 M คือ Man, Money, Materials เริ่มจาก Direction จีนมีทิศทางที่ชัดเจนมุ่งมั่นเป็นวาระแห่งชาติที่จะขจัดความยากจนให้หมดไป สีจิ้นผิงลงมาดูเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แน่วแน่ที่จะขจัดความยากจน ตั้งเป้าหมายสร้าง "สังคมเสี่ยวคัง" คือทุกคนต้องมีกินมีใช้ และ Data คือ การใช้การจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ นำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด มีการสำรวจข้อมูลทั่วประเทศก่อนแก้ปัญหา เพื่อให้ทราบสาเหตุของความยากจนในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน

Man หมายถึง เจ้าหน้าที่ที่จะไปช่วยชาวบ้านแก้จนต้องมีความรู้ในการแก้จนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ส่งใครไปก็ได้ และเจ้าหน้าที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้าน ทำงานไปด้วยกันจนกว่าพวกเขาจะหายจน จะหลุดพ้นจากเส้นแบ่งความยากจน ทางการจีนส่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวกว่า 3 ล้านคนไปกระจายอยู่กับชาวบ้านในชนบทจีน นอกจากนี้ยังมีนักศึกษามหาวิทยาลัย หรือทหารกองทัพจีนก็ไปช่วยแก้จนในชนบทด้วย

ส่วน Money คือ เรื่องงบประมาณ ในการแก้จนในจีนต้องใช้งินมหาศาล บางหมู่บ้านยากจนอยู่บนภูเขาไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา รัฐต้องไปสร้างระบบสาธารณูปโภคให้ สร้างถนน สะพาน สร้างโรงเรียน เด็กจีนกว่าสามแสนคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษาก็ได้มีโรงเรียน ทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณมาก และต้องใช้แบบคุ้มค่า โปร่งใส ต้องไม่มีการคอรัปชั่น จะมีระบบผู้ตรวจสอบมาประเมินด้วย

ส่วนเรื่อง Material คือ การระดมทรัพยากรทุกอย่างที่นำมาใช้ขจัดความยากจน ไม่ได้มาจากภาครัฐบาลเท่านั้น แต่ได้นำทุกภาคส่วนมาช่วยกัน มีบริษัทเอกชนจีนเป็นพี่เลี้ยงแก้ปัญหาความยากจนให้กับหลายหมู่บ้าน ตัวอย่างเช่น เครืออาลีบาบาทำโครงการ "หมู่บ้านเถาเป่า" เพื่อนำระบบ e-Commerce ไปช่วยคนจนในชนบทจีนให้นำผลผลิตมาขายออนไลน์ในแพลตฟอร์มเถาเป่า เป็นต้น 

>> ชาวโลกบางส่วนไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจัดการของจีนในเรื่องฮ่องกง ไต้หวัน ชินเจียง ?
ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ทางการจีนประกาศชัดว่า ทั้งฮ่องกง ไต้หวัน ชินเจียง และทิเบต เป็นกิจการภายในของจีน เป็นเรื่องของจีน จะไม่ยอมให้ประเทศใดมาล้ำเส้นจนเกินงาม สีจิ้นผิงประกาศในหลายวาระอย่างชัดเจนว่า ชาติอื่นไม่ต้องมายุ่งกับเรื่องภายในประเทศของจีน และในวาระครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์ สีจิ้นผิงได้ประกาศหน้าจัตุรัสเทียนอันเหมินว่า "จะไม่ยอมให้อิทธิพลภายนอกมากดขี่รังแกหากใครบังอาจทำเช่นนั้น นจะจับหัวโขกกับกำแพงที่สร้างด้วยเลือดเนื้อคนจีน 1,400 ล้านคนให้เลือดกระเด็น"

>> แล้วความขัดแย้งระหว่างจีนกับอเมริกา จะมองเรื่องนี้อย่างไร?
ในวาระที่ 3 ของสีจิ้นผิง ปมความขัดแย้งกับสหรัฐฯ น่าจะเข้มข้นมากขึ้น จีนใช้นโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟันในการตอบโต้สหรัฐฯ ยิ่งมีการแทรกแซงจีนในประเด็นไต้หวันของสหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหารุนแรงขึ้น ประเด็นนี้จึงน่าเป็นห่วง

จีนจะไม่ยอมก้มหัวให้กับสหรัฐและพันธมิตร เช่น ญี่ปุ่น อสเตรเลีย ซึ่งเข้าร่วมกลุ่มอินโดแปซิฟิก สำหรับชาติใดที่มีประเด็นขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์กับจีน ก็จะใช้นโยบายแข็งกร้าว แต่สำหรับประเทศที่จีนต้องการดึงมาเป็นพวก ก็จะเน้นสร้างความเป็นมิตรกับจีน อย่างเช่นอาเซียนและไทย จีนมองว่าไม่ใช่คู่แข่งจีน ก็จะชวนมาร่วมมือกัน

>> อำนาจทางการค้าของจีนมีผลกระทบต่อไทยอย่างไร?
ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยมีความผูกพันโยงใยกับจีนสูงมาก จีนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย จีนเป็นนักลงทุนอันดับต้นที่เข้ามาลงทุนในไทย ที่สำคัญ ก่อนโควิด มีคนจีนมาท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน ใช้เงินเฉลี่ยคนละห้าหมื่นบาท ก็นำเงินเข้ามาประเทศไทยปีละกว่าห้าแสนล้านบาท ในเชิงเศรษฐกิจ จีนจึงมีอิทธิพลต่อไทยสูงมาก เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ไม่มีนักท่องเที่ยวจีนมาไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเราก็ถูกกระทบหนัก ดังนั้นบทเรียนจากนี้ไป เราควรกระจายความเสี่ยงให้มากกว่านี้ ไม่ควรไปผูกติดกับเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ก่อนเกิดโควิด ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวจีน แต่ยังมีนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในไทยหลายหมื่นคน มีครูสอนภาษาจีนหลายพันคนมากระจายอยู่หลายจังหวัด การเข้ามาของจีนในสังคมไทย จึงมีทั้งเรื่องวัฒนธรรม ภาษา ไลฟ์สไตล์

>> คนไทยจะเอาแบบอย่างวิธีคิดหรือแนวทางทำการค้าจากจีนเรื่องไหนได้บ้าง?
สิ่งที่ไทยควรเรียนรู้จากจีน คือ การไม่หยุดพัฒนาตัวเองด้วยแรงฮึด จีนตื่นตัวในการพัฒนายกระดับตัวเองอย่างต่อเนื่อง จีนสามารถปรับจากที่เคยผลิตและส่งออกสินค้าที่เน้นปริมาณและไร้คุณภาพ กลายมาเป็นสินค้าแบรนด์ รวมไปถึงสินค้าที่มีนวัตกรรม ยกตัวอย่างแบรนด์ Lenovo และ Xiaomi ที่สำคัญ ในยุคนี้ จีนไม่ได้ส่งออกแค่สินค้า แต่หันมาเน้นส่งออกแพลตฟอร์มจีน เช่น TikTok และส่งออกการค้าออนไลน์ เช่น อาลีบาบา รวมทั้งส่งออกเทคโนโลยี 5G คิดว่า ในอนาคต จีนก็จะส่งออก "เงินหยวนดิจิทัล" ด้วย

>> 5 ปีข้างหน้ากับผู้นำสีจิ้นผิง จะเดินนโยบายอย่างไร?
ชัดเจนว่า จีนจะเป็นมหาอำนาจของโลก ไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงด้านเทคโนโลยีและความมั่นคง ที่สำคัญ สีจิ้นผิงต้องการเป็นผู้พลิกเกมโลก จีนพยายามที่จะเป็นผู้นำด้านการพัฒนายุคใหม่ของโลก แนวนโยบายต่างประเทศของจีน จะไม่เน้นเพียงแค่ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่ร่วมมือกับประเทศในแนวเส้นทางสายไหม ในขณะนี้ สีจิ้นผิงยังพยายามที่จะผลักดัน "แผนริเริ่มการพัฒนาของโลก" หรือ Global Development Initiative (GDI) โดยบอกว่า โลกสามารถเรียนรู้ จากประสบการณ์การพัฒนาของจีนตามแนวทางของภูมิปัญญาจีน


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1036285