Saturday, 4 May 2024
สีจิ้นผิง

‘สี จิ้นผิง’ หนุน!! มหาวิทยาลัย บรรจุวิชาจับสายลับลงหลักสูตร เปลี่ยนนักศึกษา ร่วมแรงเป็นนักสืบ สกัดสปายจากต่างแดน

(20 ก.ย. 66) สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ได้ยกระดับโปรแกรมป้องกันการสอดแนมของต่างชาติ ที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ด้วยการสนับสนุนให้บรรจุวิชาการจับสายลับ ลงในหลักสูตรของหลายสถาบันชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อเทรนนักศึกษาจีน ให้ช่วยสอดส่อง และชี้ตัวบุคคลต้องสงสัยที่อาจแฝงตัวมาสืบราชการลับในจีนได้ 

อย่างที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ก็ได้มีการอบรมผ่านสื่อวิดีโอแก่นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน กระตุ้นให้ตระหนักถึงบทบาทในการเป็นแนวป้องกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากต่างชาติ 

ด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปักกิ่ง มีการจัดงานเลี้ยงในสวน ที่มีธีมงานเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคง  

ส่วนมหาวิทยาลัยเป่ยหาง ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านการบิน และอวกาศชั้นนำของจีน ได้พัฒนาเกมที่ชื่อว่า ‘Who's The Spy’ ให้นักศึกษาทดลองเล่นเพื่อจับสังเกต คนที่มีพฤติกรรมเป็นสายลับโดยเฉพาะ 

แคมเปญเสริมหลักสูตรไล่ล่าหาสายลับนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน ซึ่งนอกจากหลักสูตรฝึกอบรมในสถาบันชั้นนำแล้ว ยังจับมือร่วมกับ WeChat แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของจีน ในการเผยแพร่เนื้อหาวิธีการจับตา สอดส่องบุคคลต้องสงสัยแก่ประชาชนทั่วไป เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลจีนยังตั้งรางวัลนำจับแก่ผู้ที่สามารถชี้ตัวสายลับต่างชาติได้อย่างถูกตัวสูงถึง 5 แสนหยวน (ประมาณ 2.25 ล้านบาท) 

ทั้งนี้ การเร่งเผยแพร่หลักสูตรจับสายลับ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายต่อต้านการสอดแนมของสี จิ้นผิง โดยผู้นำจีน ได้กล่าวในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสกัดการสอดแนมในจีนให้ได้ และยกให้เป็นวาระเร่งด่วน เทียบเท่ากับการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติ โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่อง เป็นหู เป็นตาให้กับรัฐบาล

จากแคมเปญที่เอาจริง เอาจริงกับการจับสายลับของรัฐบาลจีน ทำให้สื่อต่างชาติอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมผู้นำจีนถึงหวาดระแวงกับการสอดแนมจากต่างชาติมากถึงขนาดต้องเทรนนักศึกษา และประชาชน มาช่วยจับสายลับกับทั้งประเทศ 

และยังเปรียบเทียบแคมเปญจับสายลับของสี จิ้นผิง กับ การสร้างกองกำลัง Red Guard ในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของอดีตผู้นำ ‘เหมา เจ๋อตุง’ ที่มีการไล่ล่า ลงโทษกลุ่มคนชั้นสูง ที่ไม่จงรักภักดีต่อระบอบสังคมนิยมจีน จนได้ชื่อว่าเป็นยุคที่มีความรุนแรงในสังคมมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน 

โดยความเห็นของ ‘ชีนา เกรทเทน’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส - ออสติน มองว่า การสนับสนุนให้ประชาชนจ้องจับผิดซึ่งกันและกัน จะส่งผลเสียต่อการดูแลความเรียบร้อยโดยรวมของรัฐบาลจีน และจะนำมาซึ่งการแจ้งความเท็จ แจ้งความพร่ำเพรื่อ ซ้ำซ้อน กลายเป็นการเพิ่มงานให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ต้องมาสะสาง แยกแยะข้อมูลจำนวนมากเกินความจำเป็น 

และยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่ต้องระวังการสอดแนมรอบตัว สร้างความหวาดระแวงระหว่างชาวต่างชาติ และชาวจีน ที่อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความลังเลในการพัฒนาธุรกิจบนแผ่นดินจีนได้ 

แต่ฟาก ‘เฉิน อี้ซิน’ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแสดงความเห็นว่า ความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งแก่นแท้ของความมั่นคงทางการเมืองคือความมั่นคงของระบอบการปกครอง 

จึงเห็นได้ว่า ผู้นำจีน ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพ และความมั่นคงภายในประเทศอย่างมาก และได้ประกาศภารกิจในการกวาดล้างภัยคุกคามจากต่างชาติ มีการขยายกรอบกฎหมายต่อต้านการสอดแนมใหม่ และกวาดล้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจีนที่ทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองของต่างชาติเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น คงไม่มีอะไรหยุดยั้งแคมเปญปั้นนักเรียนเป็นนักสืบของสี จิ้นผิงได้ ตราบใดที่รัฐบาลจีน และ ชาติตะวันตก ยังแสดงออกถึงความไม่เป็นมิตรอย่างเห็นได้ชัด ความหวาดระแวงต่อกันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง 

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

‘จีน’ ออกหนังสือปกขาว เปิดวิสัยทัศน์มุ่งหน้าพัฒนาประชาคมโลก นำเสนอแนวทางจัดระเบียบโลกใหม่ เพื่อแบ่งปันอนาคตร่วมกัน

(27 ก.ย. 66) หลังจากที่ ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำสูงสุดของจีน เคยออกมาสร้างความฮือฮา ด้วยการประกาศเป้าหมายในการสร้างทางสายใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยโครงการยักษ์ใหญ่ ‘Belt and Road Initiative’ (ฺBRI) เมื่อปี 2013 มาแล้ว

ผ่านมา 10 ปี วันนี้ รัฐบาลจีนได้ออกหนังสือปกขาว ที่เป็นเหมือนพิมพ์เขียวฉบับใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า ‘A Global Community of Shared Future : China's Proposals and Actions.’ หรือ ประชาคมโลกแห่งอนาคตร่วมกัน : ข้อเสนอและแผนการดำเนินการของจีน

โดยได้นำเสนอพื้นฐานทฤษฎี, หลักปฏิบัติ และแผนพัฒนาประชาคมโลกในมุมมองวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจีน ซึ่งต่อต้านความคิดของบางประเทศ ที่พยายามแสวงหาอำนาจสูงสุดในการครอบงำโลก ในขณะที่จีนนำเสนอวิธีในการแบ่งปันอนาคตร่วมกันระหว่างประชาคมโลก ผ่านพันธมิตรในเขตเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ BRI ของจีน

การออกสมุดปกขาวแสดงเจตจำนง และ วิสัยทัศน์ฉบับล่าสุดของจีน ที่เป็นเหมือนการปักหมุดครบรอบ 10 ปี ของการเปิดโครงการ BRI เป็นเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายสำหรับจีนยิ่งกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน

เนื่องจากโลกเพิ่งผ่านวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ อาทิ การระบาดของ Covid-19, การหดตัวทางเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในหลายประเทศ รวมถึงสงครามทางเศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์การเมืองที่ยังคงเข้มข้น และจีนก็ถูกจับตามองมากขึ้นกว่าเมื่อ10 ปีก่อน ในฐานะที่เป็นทั้งชาติมหาอำนาจ และภัยคุกคาม

นักวิเคราะห์จีนมองว่า รัฐบาลปักกิ่งก็ตระหนักถึงความท้าทายนี้ ที่จีนมักถูกโจมตีจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ด้วยวาทกรรม เช่น ‘ประชาธิปไตย vs เผด็จการ’ การเผชิญหน้ากับจีนด้วยรูปแบบการใช้พันธมิตรกดดัน การกล่าวหาจีนในเรื่องการจารกรรมเทคโนโลยี ล้วนแต่เป็นวิธีในการรักษาระเบียบโลกเก่าที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นใหญ่

ซึ่งจีนมองว่าทั้งแนวคิด และพฤติกรรมของชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ทำให้เกิดความตึงเครียด และความขัดแย้งไปทั่วโลก อย่างไม่จบ ไม่สิ้น จนนำไปสู่สงครามเย็นรูปแบบใหม่ ดังนั้น จีนและอีกหลายประเทศจึงเกิดความคิดเหมือนกันว่า ควรหาหนทางจัดระเบียบโลกใหม่ ที่ให้ประชาคมโลกทั้งหมดสามารถสร้างและแบ่งปันอนาคตร่วมกันได้

ด้าน ‘ศาสตราจารย์ อู่ ซินปั๋ว’ ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันศึกษาของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ได้กล่าวถึงสมุดปกขาวฉบับใหม่ว่า รัฐบาลจีนต้องการก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจที่มีบทบาทสังคมโลกอย่างเปิดเผย และต้องการให้ชาติอื่นๆ ในประชาคมโลกสนับสนุน ดังนั้น รัฐบาลจีนจำเป็นต้องสื่อสารให้ชัดเจนถึงทิศทาง และเป้าหมายที่จีนกำลังจะมุ่งหน้าไปว่าไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของจีนชาติเดียว แต่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในสังคมโลกด้วย

ซึ่งชัดเจนว่า สมุดปกขาวของจีน นำเสนอแนวคิดเชิงการทูตสไตล์จีน ที่ต้องการสร้างระเบียบโลกทางเลือก จากที่เคยนำโดยชาติพันธมิตรตะวันตก และเป็นการต่อยอดจากโครงการ BRI ของจีน ซึ่งจากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 มีประเทศกว่า 3 ใน 4 ของโลก และ องค์กรนานาชาติกว่า 30 แห่ง ได้เซ็นข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ BRI ของจีนแล้ว ซึ่งน่าจะมีพลังมากพอที่จีนจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประชาคมโลกที่เกิดจากความร่วมมือ และแบ่งปัน แทนการชี้นำโดยชาติมหาอำนาจเพียงชาติเดียว

และนี่ก็เป็นภาพรวมของยุทธศาสตร์โลกของจีน ที่หวังสร้างประชาคมโลกในอุดมคติใหม่ ท่ามกลางวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจ และ สังคมที่รุมเร้าจีน และอุปสรรคใหญ่ที่สุดของจีน ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ที่มีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง สามารถชี้นำไปในทิศทางเดียวกันได้

ซึ่งจีนต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการสร้างความมั่นใจให้ชาวประชาคมโลก ‘ซื้อ’ ไอเดียของสมุดปกขาวนี้ และมองเห็นอนาคตในมุมมองเดียวกันกับที่จีนมอง ที่อาจต้องใช้เวลา 10 ปี หรือนานกว่านั้น 

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

"อยากให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ" แรงบันดาลใจ ‘สี จิ้นผิง’ สู่หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบ ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’

เมื่อวานนี้ 17 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ห้วงยามนี้ทุกสายตาพากันจับจ้อง ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ และนักวิชาการจากทั่วทุกมุมโลก เข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงปักกิ่ง

แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) วิสัยทัศน์การพัฒนาระดับโลกอันเป็นเอกลักษณ์ของสี จิ้นผิง ได้กลายเป็นหนึ่งในสินค้าสาธารณะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก มอบโอกาสการพัฒนาแบบก้าวกระโดดแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การรวมตัว ณ กรุงปักกิ่ง จะส่งมอบโอกาสครั้งประวัติศาสตร์แก่หุ้นส่วนทั้งหมดของแผนริเริ่มฯ เพื่อต่อยอดผลสำเร็จอันโดดเด่นของแผนริเริ่มฯ และก้าวหน้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยสำนักข่าวซินหัวชวนร่วมทำความเข้าใจว่าเหตุใดสี จิ้นผิงจึงเสนอแนะแผนริเริ่มฯ อะไรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และสี จิ้นผิงมุ่งหวังบรรลุสิ่งใดด้วยแผนริเริ่มฯ นี้

>>กระตุ้นการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก

เมื่อปลายทศวรรษ 1960 สี จิ้นผิงซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘เยาวชนผู้มีการศึกษา’ ถูกส่งไปยังชนบทเพื่อการ ‘เรียนรู้ใหม่’ และต้องประหลาดใจกับความท้าทายของการใช้ชีวิตในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ทั้งการนอนในบ้านถ้ำที่เต็มไปด้วยเห็บหมัด ตรากตรำทำงานหนักหลายชั่วโมง และต่อสู้กับความหิวโหย

"เราไม่มีเนื้อสัตว์กินกันนานหลายเดือน" สี จิ้นผิงเล่าย้อนถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ขณะเดินทางเยือนเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐฯ ในฐานะประธานาธิบดีจีนในอีกหลายทศวรรษต่อมา "สิ่งหนึ่งที่ผมปรารถนามากที่สุดตอนนั้นคือการทำให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ"

รสชาติความยากจนอันขมปร่าตอกย้ำความเชื่อมั่นของสี จิ้นผิงว่า "การพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน" แต่จะทำได้อย่างไร?

สี จิ้นผิงมักหยิบยกสุภาษิตจีนอันโด่งดังอย่าง "ถนนมาก่อน ความเจริญรุ่งเรืองจึงจะตามมา" เพื่ออธิบายว่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสามารถกระตุ้นการพัฒนาได้อย่างไร และมองว่าการเปลี่ยนสายเคเบิลหรือซ่อมแซมถนน โดยเฉพาะพื้นที่ยากไร้บางแห่ง สามารถเปิดประตูสู่การบรรเทาความยากจนและความเจริญรุ่งเรืองของมวลชน

เมื่อครั้งสี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ จีนเพิ่งจะผงาดขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลกและเผชิญสารพัดความท้าทาย การเปิดประเทศถือเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ของจีนในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา และสี จิ้นผิงได้ยืนยันอีกครั้งถึงความทุ่มเทของจีนที่มีต่อการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

หวังอี้เหวย ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ กลายเป็นการออกแบบการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนระดับสูงแบบใหม่ รวมถึงสะท้อนการเปิดกว้างระดับสูงยิ่งขึ้น และการแสวงหาการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง แผนริเริ่มฯ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของสี จิ้นผิงในการเปิดกว้างยิ่งขึ้น และมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงความต้องการการพัฒนาอันเร่งด่วนที่สุดของโลกกับสิ่งที่จีนเชี่ยวชาญ นั่นคือสร้างถนนและสะพานเพื่อการเชื่อมโยงถึงกันยิ่งขึ้น

รายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61.94 ล้านล้านบาท) ต่อปีจนถึงปี 2030 เพื่อรักษาทิศทางการเติบโต

นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนาแผนริเริ่มฯ ระบุว่าแผนริเริ่มฯ ยังเป็นแนวทางแก้ไขประเด็นปัญหาการพัฒนาระดับโลก ยามมนุษยชาติเผชิญความท้าทายอันน่าหวาดหวั่นจากการขาดดุลทางสันติภาพ การพัฒนา และธรรมาภิบาลในปัจจุบัน

สำหรับผู้นำจีนแล้ว จีนมิอาจพัฒนาโดยโดดเดี่ยวตนเองจากโลกได้ฉันใด โลกก็ต้องการจีนเพื่อการพัฒนาฉันนั้น ดังที่สี จิ้นผิงเคยกล่าวไว้ การดำเนินการตามแผนริเริ่มฯ ที่ตัวเขานำเสนอ "ไม่ได้หมายถึงการสละเวลาสร้างสิ่งที่ผู้อื่นเคยทำมาแล้วขึ้นมาใหม่" ทว่ามุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาของนานาประเทศที่เกี่ยวข้องโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของพวกเขา และมุ่งบรรลุการพัฒนาแบบแบ่งปันและได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มพลังการสื่อสารระหว่างอารยธรรม

สี จิ้นผิงนั้นถือเป็นคนรักการอ่านจนหนังสือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยนิสัยรักการอ่านทำให้สี จิ้นผิงรอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้งตะวันออกและตะวันตก กลายเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจในแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระดับโลก

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2013 ขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อมิร์ ติมูร์ ในกรุงทาชเคนต์ของอุซเบกิสถาน ระหว่างการเยือนเอเชียกลางครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีจีน มีแผนที่เส้นทางสายไหมโบราณฉบับหนึ่งได้ดึงดูดความสนใจจากสี จิ้นผิง

เส้นทางสายไหมโบราณนั้นเป็นมากกว่าเส้นทางการค้า เพราะการหมุนเวียนสินค้าผ่านเส้นทางนี้กระตุ้นการสื่อสารทางวัฒนธรรม โดยคลื่นคาราวาน นักเดินทาง นักวิชาการ และช่างฝีมือ ได้เดินทางระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตกในฐานะทูตวัฒนธรรม เชื่อมโยงแหล่งกำเนิดอารยธรรมอียิปต์ บาบิโลน อินเดีย และจีน รวมถึงหลายดินแดนศาสนาที่สำคัญ

"ประวัติศาสตร์เป็นครูที่ดีที่สุด" สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเสริมว่าการฟื้นฟูและสืบสานจิตวิญญาณแห่งเส้นทางสายไหม กอปรกับส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่างประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญของแผนริเริ่มฯ

"ขณะทำงานตามแผนริเริ่มฯ เราควรรับรองว่าเมื่อพูดถึงอารยธรรมที่แตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนจะเข้าแทนที่ความเหินห่าง การร่วมเรียนรู้จะเข้าแทนที่การปะทะ และการอยู่ร่วมกันจะเข้าแทนที่ความรู้สึกเหนือกว่า สิ่งนี้จะเพิ่มพูนความเข้าใจ การเคารพ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างนานาประเทศ" สี จิ้นผิงกล่าวในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1

นั่นคือเหตุผลที่สี จิ้นผิงเสนอให้มีการจัดการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (CDAC) และผลักดันแผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) โดยสี จิ้นผิงกล่าวว่าเราควรรักษาพลวัตของอารยธรรม และสร้างเงื่อนไขอันเกื้อหนุนอารยธรรมอื่น ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองด้วย

>> จุดประกายแรงบันดาลใจเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น

"มนุษยชาติที่อาศัยอยู่บนโลกและในยุคสมัยเดียวกันกับที่ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงบรรจบ ได้กลายเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" สี จิ้นผิงกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก ณ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมอสโกในปี 2013 ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของสี จิ้นผิงหลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน

สี จิ้นผิงนำเสนอการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติเป็นครั้งแรกระหว่างการเดินทางดังกล่าว แนวคิดนี้กลายเป็นหลักการพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศของจีน และอีกหลายเดือนต่อมา สี จิ้นผิงได้นำเสนอแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งถูกมองว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการทำให้วิสัยทัศน์ในการสร้างโลกที่ดีขึ้นของเขากลายเป็นความจริง

ห้วงยามที่บางประเทศตะวันตกอ้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การลดความเสี่ยง’ (de-risking) มาบังหน้าการแยกตัว (decoupling) จากจีน โดยประเทศจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงยังคงยึดมั่นความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่ายและลัทธิพหุภาคีที่แท้จริง ซึ่งสี จิ้นผิงชี้ว่าการที่ผู้คนทั่วโลกมีชีวิตดีขึ้นเป็นหนทางเดียวที่จะค้ำจุนความเจริญ คุ้มครองความมั่นคง และปกป้องสิทธิมนุษยชน

สี จิ้นผิง ผู้ตระหนักดีว่ากลุ่มประเทศโลกซีกใต้ (Global South) ต้องการการพัฒนาเพิ่มขึ้น ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) เสมอมา นำสู่การนำเสนอแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) ในปี 2021 และเรียกร้องประชาคมนานาชาติรับรองว่าทุกประเทศจะได้ร่วมสร้างความทันสมัย

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการค้าที่เพิ่มขึ้นจากความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเพิ่มรายได้ที่แท้จริงทั่วโลกร้อยละ 0.7-2.9 และโครงการตามแผนริเริ่มฯ อาจช่วยนำพาผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง 7.6 ล้านคน

ส่วนรายงานจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) คาดการณ์ว่าแผนริเริ่มฯ มีแนวโน้มเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 258 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายในปี 2040

พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ เป็นแผนริเริ่มระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล นำพาสันติภาพ ความร่วมมือ การพัฒนา และการแบ่งปันมาสู่โลก ลดความแตกต่างและความขัดแย้ง ทำให้ผู้คนหันมาแสวงหาการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวัฒนธรรม การค้า และการเดินทางท่องเที่ยว

"ผมมีโอกาสพบปะกับผู้นำของหลายประเทศ ซึ่งในสายตาของผมแล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเป็นผู้นำที่มีความคิดกว้างไกล สุขุมลึกซึ้ง และมุ่งมั่นแน่วแน่" พินิจกล่าวทิ้งท้าย

ประโยคชวนคิดจาก ‘สี จิ้นผิง’

ประโยคชวนคิดจาก ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ พิธีเปิดการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 

“เมื่อคุณมอบดอกกุหลาบให้ผู้อื่น กลิ่นหอมยังคงติดตรึงอยู่ที่มือคุณ”

‘สีจิ้นผิง’ พบปะ ‘นายกฯ ไทย’ ร่วมหารือความร่วมมือระหว่างประเทศ มุ่งเพิ่มมิติใหม่สู่ความสัมพันธ์ฉันครอบครัว พัฒนาเพื่ออนาคตร่วมกัน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานความคืบหน้า นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบปะหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 และเยือนจีนอย่างเป็นทางการ

นายสีจิ้นผิง กล่าวว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

จีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนาน เป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

นายสีจิ้นผิงกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้าง ‘ทางรถไฟจีน-ไทย’ ขยับขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของสองประเทศ

นายสีจิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่ และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย

ด้านนายเศรษฐากล่าวว่า ไทยจะทำงานร่วมกับจีนเพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไทยจะพยายามอย่างสุดกำลังในการรับรองความปลอดภัยของพลเมืองจีนในไทย และยินดีต้อนรับผู้ประกอบการชาวจีนเข้ามาลงทุน และพลเมืองจีนเดินทางเยือนไทย

อนึ่ง คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน รวมถึงช่ายฉีและหวังอี้ ได้เข้าร่วมการพบปะหารือครั้งนี้ด้วย

‘สี จิ้นผิง’ พบหารือนายกฯ ออสเตรเลีย ให้คำมั่นพร้อมทำงานร่วมกันทุกด้าน

(7 พ.ย.66) นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบกับนายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ที่มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยผู้นำจีนกล่าวว่า ทั้งสองประเทศสามารถเป็นพันธมิตรที่ไว้ใจได้ พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับออสเตรเลียในทุกด้าน ตั้งแต่ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่นายอัลบาเนซี ซึ่งเป็นผู้นำออสเตรเลียคนแรกที่เดินทางเยือนประเทศจีนในรอบกว่า 7 ปี ได้กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ที่เป็นบวกอย่างมาก และนับตั้งแต่ที่ผู้นำทั้งสองพบกันที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว การค้ามีความไหลลื่นมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ 

จับตา!! ‘โจ ไบเดน’ พบ ‘สี จิ้นผิง’ สะท้อนสงคราม ‘ชิป’ ผ่อนคลาย ส่อดันหุ้นกลุ่มเทคฯ-EV พุ่ง ลุ้น!! ท่าทีตอบสนองตลาดทุนจีน

เปิด 3 ประเด็นที่ต้องจับตาในการเจอกันของ ‘โจ ไบเดน - สี จิ้นผิง’ คือ ท่าทีที่ผ่อนคลายขึ้นเรื่องสงครามชิป อาจดันตลาดหุ้นกลุ่มเทคฯ พุ่ง ขณะที่การหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน อาจผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนหากมีมุมมองที่ดีต่อการลงทุนภาคเอกชน-ฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางธุรกิจ อาจทำให้ตลาดเงิน-ตลาดทุนจีนตอบสนองเชิงบวก

(14 พ.ย. 66) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า นักลงทุนหวังว่าการพบกันตามแผนระหว่างประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ (Joe Biden) และ ‘สี จิ้นผิง’ (Xi Jinping) ของจีนจะเป็นสัญญาณการกระชับความสัมพันธ์ และเพิ่มความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์ของเอเชียที่ปรับตัวลงอย่างร้อนแรง

โดยบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า การประชุมในวันพุธที่ซานฟรานซิสโกจะเป็นช่วงเวลาสําคัญในการเยือนสหรัฐครั้งแรกของประธานาธิปสีนับตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาได้พบกับประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) และยังเป็นการสนทนาครั้งแรกของทั้งสองในรอบหนึ่งปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาจจะยังคงเป็นประเด็นเรื่องภาษีที่ทรัมป์เรียกเก็บจากสินค้าจีนหลายชนิดและการปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง

ทั้งนี้ การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างสองมหาอํานาจอาจเป็นจุดเปลี่ยนเพื่อล่อนักลงทุนให้กลับมาที่จีน โดยนักลงทุนตราสารทุนและนักลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินกําลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดเนื่องจากหุ้นของประเทศกําลังฟื้นตัวจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และการอพยพออกของกองทุนทั่วโลก ท่ามกลางเงินหยวนที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์

“สัญญาณเรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดีมากขึ้น หรือแม้แต่การพยายามกระชับความสัมพันธ์เล็กน้อย อาจช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนชั่วคราว” เสี่ยว เจียจือ (Xiaojia Zhi) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Credit Agricole CIB กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าววงในของบลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ทั้งสองประเทศพยายามเพื่อบรรเทาความตึงเครียด ซึ่งไบเดนและสีเตรียมประกาศข้อตกลงที่จะเห็นรัฐบาลจีนปราบปรามการผลิตและส่งออกเฟนทานิล (Fentanyl) ซึ่งใช้ในการผลิตสารสังเคราะห์ซึ่งมีอันตรายถึงตาย

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนอาจเปิดเผยคํามั่นสัญญาเพื่อซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737 (Boeing’s 737) ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเปค (APEC) ตามรายงานของบลูมเบิร์ก และจีนซึ่งเป็นผู้นําเข้าถั่วเหลืองอันดับต้น ๆ เพิ่งจะซื้อสินค้าจากสหรัฐมากกว่า 3 ล้านตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยท่าทีปรารถนาดีก่อนการเจรจาในวันพุธ

ดังนั้น ในการเจอกันที่จะถึงนี้มีประเด็นทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตา ดังนี้

1.) เทคโนโลยี
จีนซึ่งเป็นตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกําลังต่อสู้กับการคว่ำบาตรของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเทคโนโลยี ดังนั้นสัญญาณของการกระชับความสัมพันธ์และระงับข้อพิพาทอาจช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนสําหรับบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ Apple Inc. Chip Bellwethers Taiwan Semiconductor Manufacturing Co., Samsung Electronics Co. และ Nvidia Corp.

2.) พลังงานสะอาด
การเน้นเป้าหมาย ‘สีเขียว’ อาจจุดประกายทำให้หุ้นที่เชื่อมโยงกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขยับตัวสูงขึ้น เช่น ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนํา Contemporary Amperex Technology Co. และผู้ผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ LONGi Green Energy Technology Co.

3.) ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา
นักลงทุนส่วนหนึ่งอยู่ในช่วงพิจารณาว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีโมเมนตัมแบบใดนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 ไม่ว่าจะมีขั้นตอนในการผ่อนคลายกฎระเบียบส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางธุรกิจ เพราะหากมีการผ่อนคลายกฎระเบียบเหล่านั้นอาจทำให้เงินหยวนหยุดการอ่อนค่าลงได้และตลาดหุ้นก็จะมีแง่มุมเชิงบวกด้วย

‘สีจิ้นผิง’ เดินทางถึง ‘เวียดนาม’ เริ่มต้นการเยือนอย่างเป็นทางการ พร้อมถกประเด็นเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับคณะผู้นำเวียดนาม

(12 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ฮานอย รายงานว่า ทางเวียดนามได้ปูพรมแดงต้อนรับ ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน และเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเริ่มต้นการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ด้วยเป้าหมายส่งเสริมสายสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคี

โดยก่อนหน้านี้ ‘วัง เหวินปิน’ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายจะหารือการยกระดับความสัมพันธ์ ‘จีน-เวียดนาม’ พร้อมกับทำงานเพื่อส่งเสริมและพิสูจน์ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างสองประเทศ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างการเยือนระยะสองวันนี้

สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ของ สี จิ้นผิง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ‘ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์’ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และผู้แทนภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชนจากจีนและเวียดนามกว่า 400 คน ร่วมโบกธงของทั้งสองพรรคการเมืองและสองประเทศเพื่อต้อนรับคณะผู้นำของจีน ณ ท่าอากาศยาน รวมถึงประชาชนตลอดเส้นทางจากท่าอากาศยานไปยังโรงแรมที่พัก

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีน แสดงความคาดหวังจะแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกกับคณะผู้นำของเวียดนาม ในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านอันสำคัญต่อทิศทางความสัมพันธ์ของ 2 พรรคการเมืองและ 2 ประเทศ

รายงานระบุว่า สี จิ้นผิง มีกำหนดหารือกับ ‘เหงียน ฟู้ จ่อง’ เลขาธิการใหญ่คณะกรรมกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม, ‘หวอ วัน เถือง’ ประธานาธิบดีเวียดนาม รวมถึงพบปะกับ ‘ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์’ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ ‘เวือง ดิ่งห์ เหวะ’ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ ระยะ 2 วัน

อนึ่ง การเยือนครั้งนี้นับเป็นการเยือนเวียดนาม ครั้งที่ 3 ของสีจิ้นผิง นับตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีจีน

ทั้งนี้ ได้มีการเผยถึงสุนทรพจน์ฉบับลายลักษณ์อักษรของ สี จิ้นผิง ซึ่งเผยแพร่หลังจากเขาเดินทางถึงเวียดนามด้วยว่า คณะผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะหารือประเด็นระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน

จีนถือว่าความสัมพันธ์กับเวียดนามเป็นพันธกิจสำคัญในการทูตประเทศเพื่อนบ้านของจีน และสีจิ้นผิงคาดหวังว่าการเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่ระดับใหม่

จีนและเวียดนามที่เชื่อมต่อด้วยภูเขาและแม่น้ำมีมิตรภาพเก่าแก่ยาวนาน ซึ่งสั่งสมและบ่มเพาะร่วมกันโดยคณะผู้นำรุ่นเก่าก่อนของ 2 ประเทศ และถือเป็นสมบัติล้ำค่าของประชาชน 2 ประเทศ

สีจิ้นผิงในนามพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีน และประชาชนชาวจีน ขอกล่าวทักทายและอวยพรให้กับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รัฐบาลเวียดนาม และประชาชนชาวเวียดนามอย่างจริงใจ

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศสำคัญในเอเชียและสมาชิกสำคัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ประชาชนชาวเวียดนามได้ก้าวสู่วิถีทางการพัฒนาอันเหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศ และเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านทุกด้านตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีอิทธิพลในระดับโลกและระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น

‘เวียดนาม’ ยัน!! ยึดมั่นหลักการจีนเดียว ค้านแทรกแซงกิจการภายในของจีน

(13 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ฮานอย เผยว่า ‘สี จิ้นผิง’ เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีจีน ได้กล่าวถึงการประกาศสร้างประชาคม ‘จีน-เวียดนาม’ ที่มีอนาคตร่วมกัน ซึ่งมีนัยสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ได้ส่งสัญญาณเชิงบวกของความมุ่งมั่นของสองประเทศสังคมนิยมในความสามัคคี มิตรภาพ และการพัฒนาร่วมกัน โดยคำกล่าวนี้ สี จิ้นผิง ได้กล่าวขณะพบปะหารือกับ ‘เวือง ดิ่งห์ เหวะ’ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ณ กรุงฮานอย

ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานถึงการพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้นำจีน กับ ‘เหงียน ฟู้ จ่อง’ เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดย จ่อง ได้กล่าวว่า เวียดนามยึดมั่นหลักการจีนเดียวอย่างหนักแน่น และคัดค้านกองกำลังใดๆ เข้าแทรกแซงกิจการภายในของจีน และกล่าวอีกว่าเวียดนามรับรองไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่มิอาจแบ่งแยกของดินแดนจีน สนับสนุนกิจการรวมชาติของจีน และคัดค้านกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนเพื่อ ‘เอกราชไต้หวัน’ ในทุกรูปแบบ

จ่อง กล่าวเสริมอีกว่า ประเด็นเกี่ยวกับฮ่องกง, ซินเจียง และทิเบต (ซีจ้าง) ล้วนเป็นกิจการภายในของจีน ซึ่งเวียดนามหวังและเชื่อว่าจีนจะรักษาเสถียรภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรืองไว้ได้

หลังจากนั้น สี จิ้นผิง ได้กล่าวถึง ความพร้อมของจีนในการทำงานร่วมกับเวียดนาม เพื่อส่งเสริมพหุภาคีนิยมที่แท้จริง โดยฝ่ายจีนยินดีจะร่วมเพิ่มการส่งเสียงและอิทธิพลของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในกิจการระหว่างประเทศกับเวียดนาม

สื่อสหรัฐฯ เผย ‘สี จิ้นผิง’ บอก ‘ไบเดน’ ปักกิ่งจะรวมไต้หวันเข้ากับจีนแน่นอน ไม่สนการแทรกแซงจากภายนอก และพวกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไม่กี่คน

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 66 สำนักข่าว NBC News ของสหรัฐฯ อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งระบุว่า ประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ของจีน ได้กล่าวต่อหน้าประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ แห่งสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาระหว่างการประชุมซัมมิตที่ซานฟรานซิสโก ว่า ปักกิ่งจะรวมไต้หวันเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่แน่นอน แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำเมื่อไหร่

สี จิ้นผิง ยังกล่าวในที่ประชุมหารือซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ และจีนนั่งอยู่ด้วยกว่า 10 คน ว่า รัฐบาลจีนต้องการที่จะรวมชาติกับไต้หวัน ‘ด้วยสันติวิธี’ มากกว่าใช้กำลัง

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 2 คน และอดีตเจ้าหน้าที่อีก 1 คน ซึ่งได้รับทราบเนื้อหาของการประชุม ยังบอกด้วยว่า สี จิ้นผิง อ้างถึงเรื่องที่นายพลระดับสูงของอเมริกาบางคนออกมาทำนาย ว่าเขามีแผนจะยึดไต้หวันภายในปี 2025 หรือ 2027 โดยเขายืนยันกับไบเดนว่า คนเหล่านั้นคาดการณ์ ‘ผิด’ เพราะเขายังไม่เคยกำหนดกรอบเวลาเรื่องนี้มาก่อน

แหล่งข่าวเผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่จีนยังร้องขอก่อนการประชุมให้ ไบเดน ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชนภายหลังการประชุมว่า “สหรัฐฯ สนับสนุนเป้าหมายของจีน ในการรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ และไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน” ทว่าทำเนียบขาวปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้

โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานนี้

คำเตือนที่ สี จิ้นผิง กล่าวกับ ไบเดน เป็นการส่วนตัวนั้น แม้จะไม่แตกต่างจากสิ่งที่ผู้นำจีนเคยพูดต่อสาธารณชนมาแล้วหลายครั้ง เรื่องการรวมชาติกับไต้หวัน แต่ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เห็นว่าไม่ธรรมดา เพราะมีขึ้นในช่วงที่จีนหันมาใช้นโยบายก้าวร้าวกับไทเปมากขึ้น อีกทั้งไต้หวันจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน ม.ค. ปี 2024 ด้วย

หลังจากที่เรื่องนี้ถูกตีแผ่ออกมาในช่วงแรกๆ ‘สว.ลินด์เซย์ เกรแฮม’ จากพรรครีพับลิกัน ถึงขั้นออกคำแถลงเรียกร้องให้สมาชิกพรรครีพับลิกัน และเดโมแครตร่วมมือกันป้องปรามจีน

“เรื่องที่รายงานนี้มันยิ่งกว่าน่ากังวล” เกรแฮม กล่าว “ผมจะร่วมมือกับ สว.ทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตเพื่อทำ 2 เรื่องให้เร็วที่สุด หนึ่งคือมอบการสนับสนุนด้านความมั่นคงให้ไต้หวัน และสองคือจัดทำร่างมาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษจีน หากพวกเขาเริ่มลงมือยึดเกาะไต้หวัน”

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งทราบรายละเอียดการหารือระบุว่า คำพูดของ สี จิ้นผิง แม้ตรงไปตรงมาก็จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปในเชิงยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ

“สำนวนภาษาของเขาไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เคยพูดมาแล้ว เขาจริงจังเรื่องไต้หวันเสมอ และมีจุดยืนแข็งกร้าวเรื่องนี้มาโดยตลอด” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งบอก

ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปีที่แล้ว สี จิ้นผิง ประกาศชัดเจนว่าจีนจะส่งทหารบุกไต้หวัน หากไทเปกล้าประกาศเอกราชโดยมีต่างชาติให้การสนับสนุน พร้อมย้ำว่าคำขู่ใช้กำลังของจีนนั้นมุ่งป้องปราม “การแทรกแซงจากขั้วอำนาจภายนอก และพวกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนไม่กี่คน” ที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระ
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top