Saturday, 27 April 2024
รัฐประหาร

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จนทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แทน

กลุ่มรัฐประหารไนเจอร์ 'ปิดน่านฟ้า-ขอแรงหนุน Wagner' เตรียมรับมือกองกำลังทหารจากแอฟริกาตะวันตก

สถานการณ์ภายในประเทศไนเจอร์ยังคงน่าเป็นห่วง หลังเกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 และได้ก่อตั้งรัฐบาลทหาร ภายใต้ชื่อกลุ่มว่าสภาพิทักษ์มาตุภูมิแห่งชาติ - National Council for the Safeguard of the Homeland (CNSP) โดยมีนายพล อามาดู อับรามาเน ชีอานี เป็นผู้นำสูงสุด

ล่าสุด กลุ่มชาติพันธมิตรแห่งแอฟริกาตะวันตก ภายใต้ชื่อกลุ่มว่า Economic Community of West African States (ECOWAS) ตัดสินใจยื่นคำขาดที่จะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไนเจอร์ หากผู้นำทหารไม่ยอมปล่อยตัว และ คืนอำนาจให้ ประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม ภายในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม

แต่ทว่า คณะรัฐบาลทหารไนเจอร์ไม่นำพาคำขู่จากพันธมิตร ECOWAS ได้สั่งปิดน่านฟ้าทั่วประเทศ หลังถึงกำหนดเส้นตายของ ECOWAS โดยโฆษกของกองทัพไนเจอร์ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่ามีข้อมูลยืนยันแล้วว่า มีกองกำลังต่างชาติในแอฟริกากลางได้เตรียมพลล่วงหน้าเพื่อบุกโจมตี แทรกแซงกิจการของไนเจอร์ แต่กองทัพไนเจอร์ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ ในประเด็นนี้ กล่าวเพียงว่าพร้อมรับมือ และ ป้องกันดินแดนอยางเต็มที่ อันเป็นเหตุที่ต้องปิดน่านฟ้า และได้ขอแรงสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สื่อตะวันตกจึงจับตามองไปที่ความเคลื่อนไหวของกองกำลัง ECOWAS ว่าจะมีการยกระดับอย่างไรในการกดดันรัฐบาลทหารไนเจอร์หลังจากพ้นกำหนดเส้นตายที่ทางกลุ่มได้เคยประกาศไว้

ด้านนาย อับเดล ฟาตู มูซาห์ กรรมาธิการด้านการเมือง สันติภาพ และความมั่นคง ได้กล่าวว่า "องค์ประกอบทั้งหมดในการเข้าแทรกแซงสถานการณ์ที่ไนเจอร์ รวมถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ แผนการ และ เงื่อนไขเวลา ทางกลุ่มได้พิจารณาไว้หมดแล้ว แต่เรายังต้องการใช้วิธีทางการทูต ส่งสาส์นถึงคณะรัฐบาลทหารที่ไนเจอร์ว่าเรายังให้โอกาสพวกเขาได้แก้ไขในสิ่งที่ได้ทำลงไป"

ECOWAS หรือ กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐอาฟริกาตะวันตก ประกอบด้วยชาติสมาชิกถึง 15 ประเทศ กินพื้นที่รวมกันกว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร และประชากรมากกว่า 387 ล้านคน และเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรเสาหลักของทวีปแอฟริกา

แต่ด้วยคลื่นกระแสการรัฐประหารของหลายชาติสมาชิกในกลุ่ม เริ่มต้นตั้งแต่การรัฐประหารในมาลี และ กีนี ในปี 2021 ที่บูร์กินา ฟาโซ ในปี 2022 และล่าสุดที่ไนเจอร์ในปีนี้ ทำให้ทั้ง 4 ชาติถูกคว่ำบาตร และระงับสถานะความเป็นสมาชิก ECOWAS ซึ่งส่งผลต่อความเป็นเอกภาพและความมั่นคงในกลุ่มเศรษฐกิจแห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านนาย มูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีของไนจีเรีย ประเทศที่ถือเป็นพี่ใหญ่ที่สุดใน ECOWAS ได้ตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงไนเจอร์ แต่ทั้งนี้นโยบายการแทรกแซงการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของผู้นำไนจีเรีย ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาสูงด้วยเหตุว่าไนจีเรียไม่ควรเข้าไปวุ่นวายในกิจการภายในของประเทศอื่น

ด้าน มาลี และ บูร์กีนา ฟาโซ ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร รวมถึง แอลจีเรีย ออกมาคัดค้านการแทรกแซงไนเจอร์ด้วยกำลังทหาร เพราะนั่นหมายถึงการประกาศสงครามที่จะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นไปอีก

ส่วนชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป ได้ออกมาประณามกลุ่มก่อการรัฐประหารที่ไนเจอร์ และประกาศพร้อมที่จะสนับสนุนกลุ่ม ECOWAS การใช้กำลังกดดันรัฐบาลทหารไนเจอร์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด เพื่อคืนอำนาจให้กับประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม และปกป้องระบอบประชาธิปไตยของไนเจอร์

ในขณะเดียวกัน ด้านผู้นำทหารของไนเจอร์ก็ได้เตรียมแผนสอง หากกองกำลังของ ECOWAS บุกเข้าโจมตีไนเจอร์จริง ด้วยการขอกำลังเสริมจากกลุ่ม Wagner กองกำลังทหารรับจ้างของรัสเซีย เพื่อเสริมทัพรับมือกองทัพต่างชาติไว้แล้วเช่นกัน

เรียกได้ว่าสถานการณ์ที่ไนเจอร์ในวันนี้ กำลังเดินหน้าเข้าตามสูตรสงครามตัวแทนระหว่าง 2 ขั้วอำนาจโลก ที่อาจทำให้ไนเจอร์กลายเป็นยูเครนแห่งแอฟริกาตะวันตกก็เป็นได้ 

‘บิ๊กตู่’ เผยความในใจ ไม่ได้เข้ามาเพื่อทุจริต แต่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลบ้านเมืองด้วยความตั้งใจ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหาร ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พร้อมยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาในการทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ตนและคณะทำงานทุกท่านนั้นไม่ได้เข้ามาเพื่อทำการทุจริต แต่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลบ้านเมืองด้วยความตั้งใจ จากใจจริง โดยระบุว่า…

“วันแรกวันที่ 22 บ้านผมเนี่ย ร้องไห้ทั้งบ้าน เอาล่ะ พูดไปเดี๋ยวก็ไม่ดี ถ้าไม่อยากให้ผมเป็นอย่าง งี้เลย แต่ผมบอกไม่ได้ ต้องทํา แล้วผมก็ไม่ได้บอกใคร พี่ ๆ ผมบอกทีหลังทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่ได้ไง วันหน้าเกษียณก็โดนด่าอีก ปล่อยให้เป็นอย่างงี้ได้ไง? เพราะฉะนั้น อย่ารอเวลา เวลาของเรามันใกล้จะหมดแล้ว คําว่าหมดก็คือหมดจากเวทีโลก ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นอยู่แบบเดิม มันจะกลับมาอีกไม่ได้เลย เราจะเป็นประเทศที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง วันนี้ไม่ถึงขั้นนั้น เราเริ่มเดินหน้าได้แล้ว ด้วยความร่วมมือของทุกท่านในปัจจุบัน ใครก็ตามที่ยังเฉื่อยแฉะ ยังรอเวลา ผมว่าผมไม่ปล่อยให้ท่านรออยู่แล้วนะ”

“การทุจริตผิดกฎหมาย อะไรที่ร่ำลือกันมาว่าวันนี้ก็มีอยู่ 50% ส่ง คสช. สลึงพวกผมยังไม่ได้เลย ผมไม่มีต้นทุน ไม่มีต้นทุนในการทํางาน ไม่ได้เสียเงินสักสลึงเข้ามาทํางาน เพราะฉะนั้นผมไม่ต้องการที่จะเอากําไรกลับไป…ไม่มี เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่าพวกเราเข้ามาด้วยความตั้งใจ ทุกคนเข้ามาด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ ความรู้ความสามารถ เกียรติยศของแต่ละท่าน ผมเข้ามาด้วยชีวิต นะ ผมแตกต่าง…ผมอาจจะมีคุณวุฒิหรือมีความรู้ความสามารถไม่เท่าบรรดาพี่ ๆ แต่ผมก็เอาชีวิตเข้ามา ถ้าผมทํา 22 พฤษภาคม ทําจัดระเบียบไม่ได้ ผมก็กลายเป็นกบฏ แล้วผมได้อะไรขึ้นมา นั่นแหละคือสิ่งที่อยากให้ทุกคนรู้จิตใจผม เพราะผมปล่อยไปไม่ได้ เพราะผมสงสารลูกหลานผมในวันข้างหน้า เขาจะอยู่กันยังไง แล้วประเทศไทยมันจะเข้มแข็งกับเขาได้ยังไง…”

กองทัพทหาร บุกยึดอำนาจ ‘อาลี บองโก ออนดิมบา’ หลังคว้าชัยเลือกตั้งใหญ่ ล้มอำนาจผู้นำ 3 สมัยแห่งกาบอง

คลื่นกระแสการรัฐประหารในทวีปแอฟริกา ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง ล่าสุด กองทหารระดับสูงแห่งกาบอง ได้ประกาศผ่านช่อง Gabon 24 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 66 แถลงข่าวยึดอำนาจประธานาธิบดี ‘อาลี บองโก ออนดิมบา’ ผู้นำกาบอง 3 สมัย หลังจากเพิ่งคว้าชัยจากการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงขาดลอยถึง 63.4%

นับเป็นการเลือกตั้งที่มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์อย่างรุนแรงจากพรรคฝ่ายค้าน และชาวกาบอง ถึงความไม่โปร่งใส และทุจริต

แต่ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของกาบองได้รับรองผลการนับคะแนน และประกาศให้ ประธานาธิบดี อาลี บองโก ผู้นำคนปัจจุบัน เป็นผู้ชนะได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็มีกลุ่มกองทหารบุกยึดสถานีโทรทัศน์พร้อมออกแถลงการณ์ว่า “ได้ยึดอำนาจ ประธานาธิบดี อาลี บองโก แล้ว” โดยอ้างว่า “การเลือกตั้งที่ผ่านมาขาดความน่าเชื่อถือ จึงเป็นเหตุให้คณะทหาร ซึ่งเป็นตัวแทนของกองทัพที่หน้าที่ดูแลความมั่นคง และป้องกันประเทศ จำเป็นต้องยึดอำนาจรัฐบาล ให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และยุบสถาบันฝ่ายบริหารทั้งหมดในกาบอง”

ล่าสุด มีรายงานว่ามีการปิดพรมแดนของประเทศกาบอง และมีเสียงปืนดังขึ้นที่กลางกรุงลีเบรอวิล เมืองหลวงของกาบอง ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้

นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 8 ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในโซนภูมิภาคซาเฮล และประเทศใกล้เคียงอย่างกาบอง ที่ส่วนมากเป็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาก่อน

และหากรัฐประหารครั้งนี้สำเร็จ จะเป็นการสิ้นสุดการปกครองของตระกูลบองโก ที่ครองอำนาจในกาบองมานานถึง 56 ปี โดยประธานาธิบดี อาลี บองโก ผู้นำคนปัจจุบันที่ถูกรัฐประหารในวันนี้ ดำรงตำแหน่งมาแล้วถึง 14 ปี และสืบทอดอำนาจต่อจาก ‘โอมาร์ บองโก ออนดิมบา’ อดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ซึ่งเป็นพ่อของเขาเอง

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี อาลี บองโก เคยเกือบถูกรัฐประหารมาแล้ว เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 โดยกองทหารกลุ่มหนึ่งบุกยึดสถานีวิทยุแห่งชาติ ณ ใจกลางกรุงลีเบรอวิล ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล ในขณะที่ อาลี บองโก ยังพักรักษาตัวจากอาการโรคหลอดเลือดสมองในประเทศโมร็อกโก แต่ครั้งนั้นทำการไม่สำเร็จ

แต่หากรัฐประหารในวันนี้ของกาบอง สามารถโค่นล้ม อาลี บองโก ผู้นำ 3 สมัยลงได้ ทวีปแอฟริกาคงสั่นสะเทือนแรงอีกครั้ง หลังจากเกิดรัฐประหารล่าสุดที่ไนเจอร์ ที่จะส่งผลต่อดุลอำนาจในภูมิภาคอย่างมาก

เนื่องจาก กาบองเป็นอีกหนึ่งชาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝรั่งเศส และในด้านทรัพยากร ก็ยังเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติ แร่แมงกานีส และป่าไม้  อีกทั้งยังสะท้อนปัญหาการเมืองในหลายประเทศของแอฟริกา ที่สถาบันรัฐยังเปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อการถูกโค่นล้มจากคลื่นกระแสรัฐประหารในแอฟริกา เชื่อว่าจะไม่จบลงที่กาบองอย่างแน่นอน

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

รัฐประหารรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ฝีมือ ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ นำทีมยึดอำนาจ

ครบรอบ 17 ปี คณะทหารในนาม ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปค.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยในการรัฐประหารครั้งนี้ คปค. ได้ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจว่าการปกครองภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก่อให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพ เทิดทูน ของปวงชนชาวไทย อยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าหลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์ มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้

โดยทางทหารได้เตรียมการยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ถึงตอนบ่ายกำลังทหารจากต่างจังหวัดก็เคลื่อนกำลังเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ในตอนค่ำกำลังพลติดอาวุธพร้อมรถถัง ฮัมวี่ และบีเอ็มซีก็บุกเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์และตรึงกำลังอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในเวลา 22.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณได้ชิงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. สั่งปลด พล.อ.สนธิ แต่ยังประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณและออกประกาศการเข้ายึดอำนาจ จากนั้นก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับต่าง ๆ ออกมา อาทิ...

ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้น คปค. ก็ถอยไปอยู่ในฐานะ ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ (คมช.) คอยดูแลรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศและเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2550

รัฐประหารครั้งนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติถึงจุดวิกฤติแล้ว รัฐประหารคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยไทย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด และนับเป็นการสูญเสียประชาธิปไตยอีกครั้งในรอบ 15 ปี หลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 10 ของไทย โดยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และไร้การสูญเสียเลือดเนื้อ

20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’

วันนี้ เมื่อ 65 ปีก่อน เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยอีกครั้ง โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร อ้างเหตุแห่งความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ซึ่งพร้อมใจลาออก) รัฐประหารครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากรัฐประหารครั้งก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยอาศัยเหตุจากการเดินขบวนประท้วง การประท้วงการเลือกตั้งสกปรก และการแย่งอำนาจกันเองในหมู่ทหาร

จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพลโทถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถบริหารราชการไปอย่างราบรื่น ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ในนาม ‘คณะปฏิวัติ’ ก็ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยอาศัยทั้งเหตุความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและที่สำคัญคือ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

ภายหลังยึดอำนาจ จอมพลสฤษดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อม ๆ กับการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือ ม.17 ให้อำนาจนายกฯ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถสั่งจับกุมคุมขังหรือประหารชีวิตใครก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้มีแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯ -  ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

จากที่ได้โพสต์การตรวจสอบงานเขียนของ ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง โดย ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ไปเมื่อโพสต์ก่อนหน้าแล้ว

ต่อกรณีที่ ณัฐพลเขียนบิดเบือนให้ ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันและรวดเร็ว’ นั้น

ด้านอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์ให้ความเห็นต่อข้อความของ Edwin F. Stanton ที่ว่า…

“Later the Prince Regent told me it seemed to be in the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. “As you know,” he told me, “bloodshed is abhorrent to us as Buddhist”

ที่ ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ แปลว่า “ต่อมา The Prince (กรมขุนชัยนาทฯ) ได้ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า มันน่าจะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติที่สุด หากจำใจต้องยอมรับในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ‘อย่างที่คุณก็ทราบดี’ และพระองค์ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่าอีกว่า ‘การนองเลือดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับเราในฐานะชาวพุทธ’”

ซึ่งย่อมไม่สามารถสื่อว่า กรมขุนชัยนาทฯ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันได้

แต่อาจารย์สมศักดิ์ ให้ความเห็นแย้ง ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ว่า “บทบาทของกรมขุนชัยนาทในการรับรองรัฐประหารนั้น เท่าที่ ‘โต้แย้ง’ มา ผมว่ายังอ่อนนะ"

โดยอาจารย์สมศักดิ์เห็นว่าข้อความที่ Edwin Stanton กล่าวว่า กรมขุนชัยนาทฯ ตรัสให้เหตุผลในการจำใจยอมรับรัฐประหารนั้น 

“เป็นการแก้ตัวตามสไตล์ที่เราเห็นกันอยู่”

หลังจากที่ ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ได้อ่านความเห็นดังกล่าวของอาจารย์สมศักดิ์ ก็ได้ส่งข้อความมาถึงผมว่า…

“ทุ่นดำทุ่นแดงได้ฝากมาบอกว่า ให้อาจารย์สมศักดิ์ลองไปอ่านหนังสือ The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup ของ Nik Mahmud ดู (ได้แนบเอกสารหน้าที่อยากให้อาจารย์ดูมา) หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มเดียวกับที่ณัฐพลใช้ แต่เขาดันตัดวลี ‘โดนจี้’ ออก ลองอ่านนะครับ

“[Prince Rangsit] had been forced practically at the point of a tommy gun”

อาจารย์คิดว่า ประโยคข้างต้น แปลหรือสื่ออะไรครับ ?

แล้วดูประโยคที่ยกมาเองนะครับ ‘acquiesce’ ตาม Cambridge หมายความว่า “to accept or agree to something, often unwillingly”

ถ้าอาจารย์มีอะไรที่มีน้ำหนักและน่าสนใจกว่า ก็โพสต์มาได้เลยครับ 
และพวกเราจะโพสต์แยกถึงอาจารย์อีกอันนะครับ 

ขอบคุณครับ ที่มาร่วมวง

ทุ่นดำ-ทุ่นแดง

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว  10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ ความถูกต้องทางวิชาการในงานของ ณัฐพล ใจจริง

ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของณัฐพล ใจจริง ปรากฎในหนังสือ: ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (ฟ้าเดียวกัน, 2556 และ 2564) พบประเด็นดังกล่าวถึง 5 จุด ดังนี้

>>​จุดที่ 1 หน้า 44

“ควรบันทึกด้วยว่า ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 กรมขุนชัยนาทฯ หนึ่งในสองคณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2534) หน้า 96-100.

>> จุดที่ 2 หน้า 121
“การรัฐประหารดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือของกรมขุนชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ และลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2490 ด้วยพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Edwin F. Stanton, Brief Authority: Excursions of a Common Man in an Uncommon World (New York: Harper & Brothers Publishers, 1956, 209-210.)

>>จุดที่ 3 หน้า 122
“ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงพระปรมาภิไธยยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียว” (ขอความนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง เพราะเขาเท้าความจากหน้าก่อน)

>>จุดที่ 4 หน้า 168
“ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 ของคณะรัฐประหารจะมีปัญหาอันเนื่องมาจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบถ้วน กล่าวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ขณะนั้น เป็นผู้ลงนามแต่เพียงคนเดียว ในขณะที่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 109.)

>>จุดที่ 5 หน้า 228
“วันที่ 9 พฤศจิกายน ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว ทำให้การรัฐประหารนี้ราบรื่น” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 96-100.) 

หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>>​จุดที่ 1 หน้า 60
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ณัฐพล อ้างจากจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100. แต่ในงานของ สุธาชัย ไม่มีคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ดังที่ปรากฏในหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ของ ณัฐพล)

>>จุดที่ 2 หน้า 69 
ปรากฏภาพกรมขุนชัยนาทนเรนทร พร้อมคำอธิบาย ว่า “พระองค์รับรองการรัฐประหาร 2490 อย่างแข็งขัน และทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ข้อความตรงนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง แต่เป็นการดึงความมาจากข้อความในจุดที่ 1 หน้า 60 และไม่ปรากฏคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ เช่นกัน)

>> จุดที่ 3 หน้า 266 (‘บทสรุป’ ของหนังสือของ ณัฐพล)
“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล ไม่ได้อ้างอิง เพราะเป็นการสรุป และ ณัฐพล ยังคงย้ำคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ในส่วนนี้)

>>จุดที่ 4 หน้า 342 (นามานุกรม)
“ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงหนึ่งเดียวในสามคนที่ลงนามรับรองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490” (ก็มีความคลาดเคลื่อน! เนื่องจากผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นมีสองท่านเท่านั้น) 

ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล 
​วิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>>​จุดที่ 1 หน้า 63
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างอิงจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100.)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
​1. จากการตรวจสอบหลักฐานอ้างอิงที่ณัฐพล ใจจริง ใช้เป็นหลัก คือ แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ณัฐพลได้ใช้ฉบับตีพิมพ์คนละครั้งในการอ้างอิง คือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์ปี พ.ศ. 2534) ถูกอ้างอิงในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ 

ส่วนฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2550) ถูกอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ที่ณัฐพลเขียนเสนอแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​​และเมื่อได้ตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือ แผนชิงชาติไทย (ทั้ง 2 ฉบับ) พบว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้เขียนถึงประเด็น ‘ลงนามผู้เดียว’ ไว้จริง แต่ไม่ได้ถึงกับขยายพฤติกรรมของกรมขุนชัยนาทฯ เสียจนเกินจริงถึงขนาดว่าทรง ‘รับรองแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ อย่างที่ณัฐพลใช้แต่อย่างใด 
โดย สุธาชัย บรรยายไว้เพียงว่า

“น.อ. กาจ เก่งระดมยิง พร้อมด้วย พ.ท.ถนอม กิตติขจร รีบนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปหาพระวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ซึ่งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการให้ลงพระนามประกาศใช้” 

ในหน้า 97 ในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 และในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ.2550 ก็ปรากฏข้อความที่กล่าวเช่นเดียวกันในหน้า 98 และ

​“การประกาศใช้ (รัฐธรรมนูญ) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน นั้นมีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการที่ลงนามแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่พระยามานวราชเสวี มิได้ลงนามด้วย ถึงกระนั้นก็ยังถือว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา” หน้า 109 ฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 (ข้อความส่วนหลังนี้ ณัฐพล ตัดออกหลังจากได้กล่าวว่าพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย)

​จากข้อความต้นฉบับทั้ง 2 ที่ยกมาจะเห็นได้ว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุถึงข้อเท็จจริงเพียงว่า…

1. คณะรัฐประหารต้องการให้ทั้งกรมขุนชัยนาทฯ และพระยามานวราชเสวี ทั้ง 2 พระองค์/ท่านลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 (ฉบับตุ่มแดง)

2. แต่คณะรัฐประหารได้เดินทางไปถึงวังของกรมขุนชัยนาทฯ เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ลงนาม (อย่างไม่ได้เต็มใจนัก-รายละเอียดอ่านจากประเด็นรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันในครั้งก่อน)

3. สุธาชัย ระบุเพียงว่าพระยามานวราชเสวีมิได้ลงนามด้วย (แต่ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ได้ลงนาม)

4. สุธาชัย ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา ​แต่ณัฐพล ใจจริง กลับหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวมาตีความขยายเสียจนมีความหมายไปคนละทาง!

กล่าวคือ เขาระบุเพียงว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ เฉย ๆ หรือกระทั่งขยายให้ใหญ่โตไปถึงขั้นว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียวอย่างรวดเร็ว’

ซึ่งเกือบทุกจุดที่ ณัฐพล กล่าวในประเด็นนี้ ย้อนกลับสู่การอ้างอิงจากงานเขียน แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเท่านั้น (มีอ้างของ Stanton แค่ครั้งเดียว) และในจำนวนหลายครั้งในหน้าหลัง ๆ เป็นการกล่าวถึงแบบลอย ๆ ไม่มีเชิงอรรถหรืออ้างอิงประหนึ่งว่าการที่ ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ (อย่างรวดเร็ว) เป็นความจริงหรือเป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องได้รับการพิสูจน์หรือตรวจสอบอีกแล้ว

​ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว สุธาชัย ระบุไว้ชัดเจนว่า…
คณะรัฐประหารต้องการให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 ลงนาม แต่เมื่อกรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว (อย่างไม่ได้เต็มพระทัยนัก) คณะรัฐประหารก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลสมบูรณ์ แต่ด้วยเหตุว่า สุธาชัย ไม่ได้ระบุว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ นี่อาจเป็นช่องว่างให้ ณัฐพล เข้าใจผิดไปเองตามธงในใจที่มีอยู่แล้ว และนำช่องว่างนี้มาตีความขยายจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

​เมื่อได้ตรวจสอบเอกสารร่วมสมัยในประเด็นย่อยที่ สุธาชัย ไม่ได้ให้คำตอบไว้ว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ 

ในชั้นต้น ได้พบข้อความดังกล่าวอย่างละเอียดในเอกสารร่วมสมัยในเวลานั้น คือ หนังสือสารคดีการเมืองที่ตีพิมพ์ พ.ศ. 2493 ชื่อ ‘ประเทศไทยจะต้องเป็นคอมมูนิสต์’ เขียนโดย คนสภา (นามปากกา) ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ในการปฏิวัติวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ไว้อย่างละเอียดว่า…

ภายใต้คณะของหลวงกาจสงครามพร้อมกำลังนายร้อยทหาร 20 คน เมื่อให้กรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว

​“หลังจากนี้คณะผู้แทนรัฐประหารก็ได้มุ่งตรงไปยังบ้านพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถนนสาธร เพื่อจะให้ลงนามด้วยอีกคนหนึ่ง แต่พอเข้าไปถึงบ้านพระยามานวราชเสวีแล้ว พระยามานวราชเสวีไม่เต็มใจลงรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้

​ชะรอยพระยามานฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมายจะนึกเหยียดในใจ หรือทราบแล้วแน่ว่า ถ้าลงนามรับรองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใต้ตุ่มแดงนี้ อาจจะผิดแน่ ๆ เพราะหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ (ชาติเสือต้องไว้ลาย) เลยหลบหนีออกไปทางหลังบ้านเสีย ทำให้ท่านหัวหน้าตุ่มแดงหน้าแห้งกลับมากองอำนวยการ ณ กระทรวงกลาโหม.” (ดูหน้า 284-285)

​รายละเอียดดังกล่าวแยกเป็นข้อเท็จจริงได้ว่า
1. คณะรัฐประหารเดิมทีมีความตั้งใจจะให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 พระองค์/ท่าน ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญ

2. กรมขุนชัยนาทฯ รับรองแล้ว คณะรัฐประหารจึงออกมาจากวังตอนเวลาตีสองกว่า เพื่อไปบ้านพระยามานวราชเสวีต่อ

3. พระยามานวราชเสวี รู้ตัวก่อน จึงแอบหนีออกจากบ้านไปก่อนที่คณะรัฐประหารจะเดินทางมาถึง

4. คณะรัฐประหารจึงได้มาเพียงแค่พระนามของกรมขุนชัยนาทฯ แต่เพียงพระองค์เดียว

5. ความรับผิดในการรับรองรัฐธรรมนูญจึงมาตกกับกรมขุนชัยนาทฯ ที่ได้ลงนามไปแล้วเพียงพระองค์เดียว

​ทั้ง 5 ประเด็นนี้ โดยเฉพาะข้อที่ 3, 4 และ 5 จึงสามารถตอบคำถามที่ สุธาชัย ค้างไว้ในประเด็นว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ได้อย่างหมดจด (evidently) การณ์จึงกลับ ‘พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ’ หากเทียบกับข้อความของ ณัฐพล ใจจริง 

ด้วยเหตุนี้ การที่ ณัฐพล พยายามทำให้ผู้อ่านหนังสือของเขาเชื่อว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญเพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ จึงเป็นการกล่าวไม่หมดและจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งจากหนังสือของสุธาชัยที่เขาอ้าง รวมไปถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาเสนอนี้ 

การทำการบิดเบี้ยวข้อเท็จจริงโดยอาศัยช่องว่างทางประวัติศาสตร์ย่อมเป็นการอยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องที่วายชนม์ไปแล้ว 

​กล่าวโดยสรุป ณัฐพล ใจจริง พยายามอธิบายประหนึ่งว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ทั้งรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขันและรับรองรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียว (อย่างรวดเร็ว)” โดยเขาพยายามโยนความรับผิดชอบในการรับรองรัฐประหารให้ตกแก่กรมขุนชัยนาทฯเพียงพระองค์เดียว อย่างที่หลักฐานประจักษ์ว่า ณัฐพลได้ ‘ตอกย้ำ’ บทบาทสำคัญของกรมขุนชัยนาทฯ ในประเด็นข้างต้นเป็นอย่างมาก (นับได้เป็นจำนวนถึง 9 ครั้ง) และทำขนาดถึงว่าต้องนำไปเขียนใส่ไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ว่า…

“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (หน้า 266)​

การระบุไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือเช่นนี้ ย่อมจะมองเป็นอย่างอื่นเสียไม่ได้ นอกจาก ณัฐพล พยายามขับให้บทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ สูงเด่น ‘ในแง่ลบ’ เพราะทรง ‘ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ แต่ข้อความดังกล่าวนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่า ‘ไม่เป็นความจริง’

​ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักอ่าน หรือนักวิชาการจะทราบดีว่า ในส่วนของบทสรุปของหนังสือวิชาการ มีความสำคัญเพียงใดต่อหนังสือทั้งเล่ม!! ตลอดจนถึงการนำเสนอประเด็นทางวิชาการนั้น ๆ ทั้งที่ข้อเท็จในเหตุการณ์คืนวันที่ 8 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 หลักฐานระบุเพียงว่า

1. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องลุกขึ้นมากลางดึก (ตอนตี 1)
2. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกใช้กำลังบังคับให้ลงนามรัฐธรรมนูญ โดยคณะของหลวงกาจสงครามและ ‘นายร้อย 20 คน’
3. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่เต็มพระทัยที่จะลงนามในรัฐธรรมนูญ 2490 (แต่จำใจต้องกระทำ)
4. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกปรักปรำว่าสนับสนุนและต้องรับผิดชอบกับการรัฐประหาร เพียงเพราะเหตุว่าผู้สำเร็จราชการอีกท่านหนึ่งไม่อยู่บ้าน
5. แต่กระนั้น กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่ได้กระทำรับรองรัฐธรรมนูญเพียงลำพัง เพราะปรากฏว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผู้รับสนองฯ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งจะกล่าวในวาระต่อไป)

​ควรบันทึกด้วยว่า ณัฐพล ใจจริง ได้พยายามเน้นประเด็น ‘ลงนามรับรองแต่เพียงผู้เดียว’ อย่างยิ่ง 
โดยในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ นั้น ณัฐพลได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ‘5 ครั้ง’ ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี กล่าวไว้ ‘3 ครั้ง’ และในวิทยานิพนธ์เพียง 1 ครั้ง 

จะเห็นได้ว่าประเด็นนี้ได้ถูกขยายมากขึ้นและพยายามชี้ให้เห็นถึงบทบาทกรมขุนชัยนาทฯ ว่ามีส่วนในการทำให้รัฐประหาร พ.ศ. 2490 สำเร็จไปได้ และในหนังสือ ขุนศึกฯ นั้นปรากฏว่ามีการกล่าวถึงการรับรอง ‘อย่างรวดเร็ว’ เพียงครั้งเดียวในบทสรุป แต่ไม่ปรากฏในที่อื่น ๆ ด้วย

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทำตัวแทรกแซงการเมืองดุจกษัตริย์ 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

ทำไม 2 ปีกว่า จนบัดนี้ 

ในหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ฯ’ อ.ณัฐพลไม่แก้ ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทฯ แทรกแซงการทำงานของคณะรัฐมนตรี จอมพล ป.’ ที่ อ.ณัฐพลเขียนว่าพระองค์เข้าไปประชุม ครม. แต่ไม่ปรากฏหลักฐานดังกล่าวในแหล่งอ้างอิง? 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 63 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในหน้าที่ 3 ลงชี้แจงข้อมูลในกรอบแดง ระบุว่า “ขอชี้แจงกรณีข่าวเมื่อปี 1950 (พ.ศ. 2493) ('Post' clarifies article from 1950)” โดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ไม่เคยรายงานข้อมูลที่นายณัฐพล ใจจริง อ้างอิงในวิทยานิพนธ์การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

“จากการที่เชิงอรรถ (วิทยานิพนธ์) อ้างอิงถึงข่าวในบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พยายามขยายบทบาททางการเมือง โดยเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อยู่บ่อยครั้ง โดยการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. และตอบโต้ด้วยการขอเข้าร่วมการประชุมองคมนตรีด้วย ...บางกอกโพสต์ขอชี้แจงว่า หนังสือพิมพ์ไม่เคยรายงานข้อมูลดังกล่าวตามที่มีการอ้างอิง รวมถึงนำไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ ซึ่งรวมถึงหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันคือนายณัฐพล รวมถึงในงานเสวนา” นสพ.บางกอกโพสต์ระบุ พร้อมตีพิมพ์ข่าวฉบับเต็มเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ให้อ่านอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในหน้าที่ 124 ของหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดย ผศ.ดร.ณัฐพล และตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2556 ย่อหน้าหนึ่งระบุข้อความว่า

“การเข้าแทรกแซงการเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. หลังรัฐประหาร 2490 โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทรในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ ได้สร้างปัญหาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งปลายปี 2494 ดังเห็นได้จากหลักฐานที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปลายปี 2493 จนถึงก่อนการรัฐประหาร Bangkok Post และรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ได้ระบุข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลในขณะนั้นว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่งกษัตริย์เป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การดำเนินการก้าวก่ายทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีรวมทั้งการที่พระองค์แต่งตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภา ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐบาลเป็นอย่างมาก...”

ทั้งนี้ นักวิชาการควรช่วยหาคำตอบตรงนี้ และหาทางออกร่วมกัน 
สามารถฟังการบรรยายได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=1-WHryPHPDM 

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทรงค้านตั้ง จอมพล ป. เป็นนายกฯ 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับการตรวจสอบงานวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง 

ประเด็นที่ 4 ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงไม่พอใจกับการขับไล่ ควง อภัยวงศ์ ลงจากอำนาจ  และค้านการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของ ณัฐพล ใจจริง ใน หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>>จุดที่ 1 หน้า 73
“เหตุการณ์ชับไล่ควงลงจากอำนาจสร้างความไม่พอใจให้กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงคัดค้านอย่างเต็มกำลังเรื่องการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนควง ทรงพยายามประวิงเวลาการลาออกของควงและคาดการณ์ว่ารัฐบาลจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน สถานทูตรายงานต่อไปว่า พระองค์ทรงมีความเห็นว่าจากนี้ไปมีความเป็นไปได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการและส่วนใหญ่สนับสนุนควงจะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลจอมพล ป. ในกระบวนการทางรัฐสภา” 

(ณัฐพลอ้างอิงจาก NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 7 April 1948; Stanton to Secretary of State, 8 April 1948, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 9 April 1948 และ ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ: ช. ชุมนุมช่าง, 2517) หน้า 612)

ในวิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>> จุดที่ 1 หน้า 77
“เมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ควง อภัยวงศ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที่ การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือ ควง ด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ 

ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ’กลุ่มรอยัลลิสต์ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป’”
(ณัฐพลอ้างอิงจาก ที่เดียวกัน แต่ในวิทยานิพนธ์ไม่มีการอ้างเอกสารของประเสริฐ)

2. หลักฐานที่ค้นพบ

จากการตรวจสอบเอกสารที่ณัฐพล ใจจริง ใช้อ้างอิง คือ เอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ หรือเอกสาร NARA และหนังสือของประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ พบว่า ไม่มีข้อความที่กล่าวว่า “พระองค์ทรงไม่พอพระทัย” และ “คัดค้านอย่างเต็มกำลัง” แต่อย่างใด 

2.1 เราสามารถแยกประเด็นของณัฐพลที่นำเสนอไว้ออกมาได้ 3 ส่วน ดังนี้

2.1.1 ทรงคาดว่าเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน และสมาชิกวุฒิสภาซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนควงจะลงมติไม่ไว้วางใจในกระบวนการรัฐสภา (อ้างอิงถูกต้อง)

ในส่วนประเด็นนี้ณัฐพลกล่าวได้ถูกต้อง โดยจากการตรวจสอบเอกสาร NARA พบว่ามีการระบุข้อความว่า “[…] he anticipated Field Marshal would experience difficulty in forming government […] Rangsit, had insisted cabinet must consist of good men and that not improbable Phibun and his government would be overthrown in few months time […] Attitude of Parliament, particularly Senate, which is largely pro-Khuan, also uncertain and rather than risk vote no confidence […]”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า…

“พระองค์ทรงคาดการณ์ว่า จอมพล ป. จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล [...] ซึ่งพระองค์เจ้ารังสิตฯทรงย้ำว่า คณะรัฐมนตรีจะต้องประกอบด้วยคนดี และนั่นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามจะไม่ถูกล้มล้างในเวลาไม่กี่เดือนต่อจากนี้ […] สำหรับท่าทีของรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสภาซึ่งส่วนมากเป็นพวกนิยมควงนั้นไม่แน่นไม่นอน และอาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้”

ดังนั้น ข้อความในส่วนนี้ณัฐพลจึงไม่มีปัญหาในการอ้างอิง

2.1.2 ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง (อ้างอิงถูกต้องบางส่วน)

ข้อความส่วนนี้ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ซึ่งแม้จะอ้างถูกต้องในคำพูดที่ว่า รัฐบาลจะถูกโค่นล้มลง แต่เป็นการ ‘คาดการณ์’ (anticipation) ของพระองค์เท่านั้นตามที่ได้กล่าวไว้ใน 2.1.1 มิใช่ว่าพระองค์จะมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ในส่วนนี้ณัฐพลจึงอ้างอิงถูกต้องเพียงบางส่วน 

2.1.3 จุดอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏในหลักฐานอ้างอิง (ไม่มีข้อความปรากฏ) ในส่วนที่ไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารพบว่าในวิทยานิพนธ์มีส่วนนี้อยู่มาก และถึงแม้จะแก้ไขในภายหลังตอนที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี แล้วก็ยังพบข้อความที่ไม่ปรากฏที่มาคงไว้เช่นเดิม คือข้อความที่ว่า…

1. “เหตุการณ์ขับไล่ ควง ลงจากอำนาจสร้างความไม่พอใจให้กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงคัดค้านอย่างเต็มกำลังเรื่องการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนควง ทรงพยายามประวิงเวลาการลาออกของควง”

2. “เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’”

3. “สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป””

4. 2.2 เมื่อพิจารณาจากเอกสารชั้นแรกเพิ่มเติม คือ เอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ ใน NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 7 April 1948 (ผู้เขียนเข้าไม่ถึงเอกสาร) ; Stanton to Secretary of State, 8 April 1948, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 9 April 1948 

ทั้งนี้ ได้พบข้อความที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ณัฐพลกล่าวถึง ดังนี้

ข้อความที่ 1 “This group told him coup d’etat party was determined force resignation Khuang government and place Phibun in power. They asked Prince Rangsit name Phibun Prime Minister.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “คนกลุ่มนี้กล่าวกับพระองค์ว่า คณะรัฐประหารมีความประสงค์จะบีบให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ลาออก และตั้งจอมพล ป. พิบูลสงครามให้อยู่ในอำนาจ แทนโดยพวกเขาขอให้กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี”

ข้อความที่ 2 “He said he had summoned Phibun to appear before Council and that Field Marshal was accompanied by General Luang Kach, Field Marshal talked at length situation in Siam, menace of Chinese and Communists, and Rangsit said he talked very intelligently.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “พระองค์ทรงเล่าว่าได้เชิญจอมพล ป. เข้าพบก่อนการประชุมของคณะองคมนตรี ซึ่งจอมพลได้เข้าพบพร้อมกับหลวงกาจสงคราม โดยจอมพล ป. ได้อธิบายถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในสยามอย่างยาวยืด เช่น ภัยคุกคามจากพวกจีนและคอมมิวนิสต์ พระองค์เจ้ารังสิตฯกล่าวแก่ข้าพเจ้า (สแตนตัน) ว่า จอมพล ป. พูดได้อย่างชาญฉลาด” 

ข้อความที่ 3 “Council now faced with problem appointing new prime minister. […] Luang Kach said Phibun obvious man. Rangsit suggested since Phibun was Commander-in-Chief Army, someone else perhaps more suitable as prime minister. Luang Kach in very vehement manner declared military group would accept no one but Phibun.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ขณะนี้คณะองคมนตรีกำลังเผชิญกับปัญหาของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ […] หลวงกาจ สงครามได้กล่าวว่า ‘จอมพล ป. เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด’ แต่พระองค์เจ้ารังสิตฯ ตรัสแนะไปว่าเวลานี้จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ น่าจะมีบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมกว่าที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลวงกาจสงครามจึงประกาศกร้าวด้วยความฉุนเฉียวว่า ‘คณะทหารจะไม่ยอมรับใครเว้นเสียแต่จอมพล ป. เท่านั้น’”

จะเห็นได้ว่า หากณัฐพล ใจจริง อาศัยหลักฐานจากสหรัฐ ฯชิ้นนี้ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่มีส่วนใดของเนื้อหาที่ระบุว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่พอใจกับการบังคับควงออกและคัดค้านอย่างเต็มกำลังในการแต่งตั้งจอมพล ป.” อยู่เลย พบเพียงข้อความที่กล่าวแต่เพียงว่า พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยหากจอมพล ป. จะเป็นนายกแทนนายควง เพราะจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่แล้ว แต่สุดท้ายเมื่อคณะรัฐประหาร 2490 ยืนยันและประสงค์เช่นนั้นกรมขุนชัยนาทฯก็ทรงยอมกระทำตาม 

ควรบันทึกด้วยว่า หากอ่านรายงานฉบับนี้ของสแตนตันโดยละเอียดและวางใจเป็นกลาง จะพบว่า ไม่มีข้อความใดที่กรมขุนชัยนาทฯ บริภาษหรือแสดงความไม่พอใจต่อจอมพล ป. 

แต่การณ์กลับตรงข้ามกัน กล่าวคือ สแตนตันบันทึกไว้ด้วยตนเองว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงชมจอมพล ป. ไว้หลายจุด อาทิ ทรงกล่าวว่าจอมพล ป. เป็นคนที่พูดได้อย่างชาญฉลาด น่าคล้อยตาม หรือกระทั่งมีคุณสมบัติเหมาะสม 

ดังนั้น หากณัฐพลเชื่อว่ากรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่พอใจจอมพล ป. ในกรณีบีบให้ควงออก ณัฐพลก็ต้องอ้างจากเอกสารฉบับอื่นที่ไม่ใช่ทั้งจากเอกสารสหรัฐฯ 

เพราะในรายงานทั้ง 2 ฉบับนี้ ล้วนมีแต่คำยกย่องชมเชยจอมพล ป. รวมถึงคำเตือนเกี่ยวกับความโลภของบรรดาคนใกล้ชิดของจอมพล ป. ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวจอมพล ป. เองแต่อย่างใด

และเมื่อตรวจสอบหนังสืออีกเล่มที่ถูกอ้าง คือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) ซึ่ง ณัฐพล ได้ใส่เป็นเอกสารอ้างอิงเพิ่มเติมจากเอกสารสหรัฐฯ ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ก็ไม่พบข้อความส่วนใดที่กล่าวในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน พบเพียงแต่ข้อความว่า…

“คณะอภิรัฐมนตรีได้รับใบลาไว้แล้ว แต่หากว่าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังมิได้มีบัญชาประการใด” (หน้า 612) 

ดังนั้น การอ้างอิงของ ณัฐพล ใจจริง ในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นวิชาการอย่างยิ่ง 
เพราะไม่ได้อาศัยข้อเท็จจริงจากเอกสารต้นฉบับที่ใช้อ้างอิง โดยข้อความในงานวิชาการของเขาทั้ง 2 แห่งข้างต้น ได้ฉายภาพให้บทบาททางการเมืองและการต่อต้านจอมพล ป. ของกรมขุนชัยนาทฯ มีลักษณะเกินจริงและมุ่งประสงค์ร้ายต่อจอมพล ป. ทั้งที่เอกสารที่ใช้อ้างอิงไม่ปรากฏเนื้อหาเช่นนี้เลย

หมายเหตุ: ผู้เขียนไม่สามารถเข้าถึงเอกสาร NARA วันที่ 7 April 1948 ได้ แต่อย่างไรก็ตามเอกสาร NARA ทั้ง 3 ชุดเป็นเอกสารที่ระบุเนื้อหาเดียวกัน ต่างกันเพียงรายละเอียดที่สรุปย่อหรือขยายความเท่านั้น ซึ่งไม่ปรากฏข้อความตามที่ณัฐพลกล่าวอ้างใด ๆ ทั้งสิ้นตลอดทั้ง 2 ฉบับที่ผู้เขียนเข้าถึง

#จุดต่าง ๆ ในวิทยานิพนธ์ณัฐพลใจจริง

จุดที่สาม ได้เคยชี้จุดผิดพลาดในวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ไปแล้วสองจุด อันได้แก่ 

หนึ่ง การสร้างเรื่องให้กรมขุนชัยนาทฯ เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีหลักฐานตามที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถ  

สอง การเขียนให้กรมขุนชัยนาทฯรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันโดยไม่มีหลักฐานตามที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถ
มาคราวนี้ คือ จุดที่สาม 

ในวิทยานิพนธ์หน้า 77 หัวข้อ 3.5 จอมพลป. กับการล้มแผนทางการเมืองของ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ บรรทัดที่ 8-18 อ. ณัฐพลเขียนว่า…

“ในที่สุด เมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ควง อภัยวงศ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ส่งทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ ทรงกล่าวว่ารัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป” 

เนื้อความตอนนี้ใช้เชิงอรรถที่ 52 โดยอ.ณัฐพลอ้างเอกสาร 3 ชิ้น 

สำหรับข้อความครึ่งแรกที่ อ.ณัฐพลอ้างว่าเป็นรายงานจากสถานทูตสหรัฐความว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นอย่างมาก โดย 

(ก) ทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล 

(ข) ทำให้ทรงบริภาษจอมพลป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’

(ค)  ทรงกล่าวว่า "รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง” 

เมื่อตรวจสอบกับเอกสารที่ใช้อ้างอิงทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อความดังที่ อ.ณัฐพลเขียนไว้นี้เลย และสำหรับข้อความครึ่งหลังที่ อ.ณัฐพลอ้างว่าเป็นรายงานจากสถานทูตสหรัฐอีกเช่นกันที่ว่า กรมพระยาชัยนาทฯ (ง) “ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป” 

เมื่อเช็กกับเอกสารที่ใช้อ้างอิงทั้ง 3 ชิ้นแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความที่ระบุว่ากรมพระยาชัยนาทฯ ทรงทำการกระทำทั้ง 4 อย่างนี้เลย! อยากจะชวนให้มาดูเอกสารที่ใช้อ้างอิงกันไปทีละชิ้น

เอกสารชิ้นแรก NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, สแตนตันกับรมว.ต่างประเทศ วันที่ 7 เมษายน 2491 เนื้อความที่พอจะเกี่ยวข้องกับกรมพระยาชัยนาทฯ มากที่สุดในเอกสารชิ้นนี้ คือที่เขียนว่า 

“ถึงแม้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะไม่มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน แรงกดดันจากผู้สำเร็จราชการและประธานวุฒิสภาอาจทำให้ต้องมีการประชุมสภาในเดือนพฤษภาคม เหตุผลคือ ถ้าปราศจากรัฐสภาก็ไม่มีคณะอภิรัฐมนตรี ไม่มีการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดใหม่ ไม่มีประธานวุฒิสภาที่จะลงนามในคำสั่งของพระมหากษัตริย์ ไม่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (tribunal) ที่จะบังคับใช้บทบัญญัติต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” 

[“All though government decided no special session parliament advantages pressure from Regency and Senate president may result in May session. Reasons being no Regency council without parliament, no new Senate appointment, no Senate president to countersign orders, no constitutional tribunal to enforce new provisions particularly regards RP's.”] 

ผมคิดว่าเนื้อความส่วนนี้ชัดเจนในตัวเองว่า ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ อ.ณัฐพล เขียนว่าท่านกระทำเลย และไม่จำเป็นต้องอธิบายความใด ๆ อีก

นอกจากข้อความที่เกี่ยวกับท่านแบบเฉียด ๆ นี้แล้ว ไม่มีที่ใดในเอกสารชิ้นนี้ทั้งสิ้นที่กล่าวว่ากรมพระยาชัยนาทฯ (ก) ทรงพยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขาและทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร หรือ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ หรือ (ค) ทรงกล่าวว่า ‘รัฐบาลของจอมพล ป.และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง’ หรือ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป 

เช่นนั้นเรามาดูเอกสารชิ้นถัดไปกัน คือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, สแตนตันกับ รมว.ต่างประเทศ วันที่ 8 เมษายน 2491 ในเอกสารชิ้นนี้ก็ไม่มีข้อความที่กล่าวถึง (ก) กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงพยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา หรือทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารเลย 

ตรงกันข้าม เอกสารรายงานว่ากรมพระยาชัยนาททรงถูกจอมพลป. และคณะรัฐประหารบังคับให้เสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง 

โดยจากคำบอกเล่าของพระองค์ที่ถ่ายทอดโดยสแตนตัน เริ่มต้นจากเช้าวันที่ 6 เมษายน 2491 ที่พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริเสด็จมาเยี่ยมพระองค์พร้อมพระชายาและนายพันเอกท่านหนึ่ง และแจ้งให้พระองค์ทราบว่าคณะรัฐประหารตั้งใจจะบังคับให้นายควงลาออกแล้วตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และขอให้พระองค์เสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาเมื่อคณะอภิรัฐมนตรีขอพบจอมพล ป.

จอมพล ป. ก็มาพร้อมกับหลวงกาจซึ่งเป็นคนสนิท และหลวงกาจบอกแก่คณะอภิรัฐมนตรีว่าทหารจะไม่ยอมรับใครเป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากจอมพล ป. แม้กรมพระยาชัยนาทฯ จะทักท้วงว่านายกรัฐมนตรีควรเป็นคนอื่น เนื่องจากจอมพล ป. เป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่แล้วก็ตาม 

[“He said he had summoned Phibun to appear before Council and that Field Marshall was accompanied by general luang Kach. Field Marshall talked at length situation in Siam, menace of Chinese and communists, and Rangsit said he talked very intelligently. Prince Rangsit described developments which forced resignation Khuang and said Council now faced with problem appointing new Prime Minister. At this juncture Luang Kach said Phibun obvious man. Rangsit suggested since Phibun was Commander-In-Chief Army someone else perhaps more suitable as Prime Minister. Luang Kach in very vehement manner declared military group would accept no one but Phibun.”]

ทำให้ในที่สุดหลังจากที่คณะอภิรัฐมนตรีอภิปรายกันแล้วก็ต้องยอมให้แก่แรงกดดันและเสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง

สำหรับ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ – เอกสารชิ้นนี้รายงานว่ากรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตันว่า ทรงรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นโศกนาฎกรรมสำหรับประเทศสยาม และคนที่เป็นอันตรายร้ายแรงที่สุดต่อประเทศคือกลุ่มผู้ติดตามทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายการเมืองที่รายล้อมรอบตัวจอมพลป. ซึ่งเป็นคนที่ไร้ศีลธรรม 

[“Prince Rangsit described these developments as real tragedy for Siam and said greatest danger lay in group of unscrupulous followers both military and political now surrounding Field Marshall.”] 

สำหรับ (ค) ทรงกล่าวว่า "รัฐบาลของจอมพล ป.และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง" 

- เอกสารชิ้นนี้รายงานเพียงว่า กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตันว่าจอมพล ป. ‘น่าจะ’ ประสบความยุ่งยากในการตั้งรัฐบาล” [“He anticipated Field Marshall would experience difficulty in forming government”] 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะพระองค์ยืนกรานกับเขาว่าคณะรัฐมนตรีต้องประกอบด้วยคนดี [“He, Prince Rangsit, had insisted that cabinet must consist of good men.”] 

และทรงยอมรับว่า “ไม่ได้ถึงกับเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวที่จอมพลป. และรัฐบาลของเขาจะถูกโค่นล้มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” [“not improbable Phibun and his government would be overthrown in few months time.”] 

สำหรับ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป – เอกสารชิ้นนี้รายงานเพียงว่าพระองค์ทรงกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐสภาโดยเฉพาะวุฒิสภาจะตอบโต้กลับด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจจอมพล ป. เนื่องจากท่านทรงทราบองค์ประกอบที่เป็นอยู่ของรัฐสภาและทราบว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่สนับสนุนนายควงซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง  ดังนั้นจึงอาจลงมติไม่ไว้วางใจจอมพล ป. 

[“attitude of parliament particularly Senate which is largely pro-Khuang, also uncertain and rather than and risk vote no confidence by fighting parliament”] 

และท่านก็ได้กล่าวตามมาด้วยว่า จอมพล ป. อาจจะเลือกใช้วิธียุบสภาหรืออย่างน้อยก็ยกเลิกวุฒิสภาเพื่อให้รัฐบาลของตนมั่นคงจากการถูกลงมติไม่ไว้วางใจ 

[“Phibun may seek dissolution present parliament or at least of Senate by putting pressure on Supreme State Council which appointed Senate”] 

ซึ่งเท่ากับพระองค์เองก็ตระหนักอยู่แล้วว่ารัฐบาลนี้อาจอยู่รอดได้

ดังที่อ้างไปแล้ว ซึ่งเท่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าทรง “มีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ทั้งวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะเห็นได้จากเอกสารชิ้นต่อไปว่าพระองค์แทบไม่มีศรัทธาเท่าใดนักเสียด้วยซ้ำ 

ดังนั้น กรณีนี้ก็อีกเช่นกันที่ผมอยากจะกล่าวว่า ถ้า อ.ณัฐพลทำงานแบบที่อ้างไว้เกี่ยวกับวิธีวิทยาโดยให้ความสำคัญกับบริบทในการตีความจริง ๆ ก็ควรยกบริบทและปัจจัยแวดล้อมมาชี้ให้เห็นแบบชัด ๆ เลยว่าเพราะเหตุใดจึงควรเชื่อว่าท่านมีการกระทำเช่นนี้จริง โดยไม่ต้องหลบอยู่หลังคำรายงานของสแตนตัน (อีกแล้วครับท่าน)  ซึ่งก็เห็นกันอยู่แล้วว่าความจริงแล้วเขาก็ไม่ได้รายงานแบบนั้นด้วย 

อนึ่ง อยากเสริมว่า ตัวสแตนตันเองเขากล่าวถึงการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “เขารู้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ด้วยความเสียดายอย่างยิ่งว่าเป็นการใช้กำลังโดยพลการ” [“I said I most unhappy at turn of events and knew US government could only view this further instance arbitrary use force with great regret.”] 

แต่คิดว่า อาจารย์ณัฐพลคงไม่สนใจท่าทีของสแตนตันต่อรัฐประหารที่กระทำโดยจอมพล ป. เท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับรัฐประหารที่อาจารย์ยัดเยียดให้ กรมขุนชัยนาทฯ ทรงรับรอง ‘อย่างแข็งขัน’ ใช่ไหม? 

แล้วก็มาถึงเอกสารชิ้นที่สามคือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, บันทึกบทสนทนาระหว่างพระองค์เจ้ารังสิตกับสแตนตัน วันที่ 9 เมษายน 1948 เอกสารชิ้นนี้มีเนื้อความซ้ำกับเอกสารชิ้นที่สามค่อนข้างมาก จะมีจุดที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีที่ใดเลยที่สแตนตันรายงานว่ากรมขุนชัยนาททรง (ก) พยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา หรือทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร 

สำหรับ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า “ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” 

เอกสารชิ้นนี้บันทึกคำกล่าวของพระองค์ว่า ทรงผิดหวังที่จอมพล ป. ไม่สามารถรักษาคำพูดและควบคุมคนของเขาได้ดังที่เคยให้ไว้กับพระองค์และคนอีกหลาย ๆ คนว่า เขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และทรงกล่าวว่าพระองค์รู้สึกว่า จอมพล ป และผู้สนับสนุนของเขาได้ทำความผิดพลาดที่เป็นอันตรายในการที่จู่ ๆ ก็ไล่รัฐบาลที่พวกเขาเองเป็นผู้สร้างขึ้นและชื่อเสียงของนายพลรวมทั้งเกียรติยศของพวกของเขาจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

สำหรับ (ค) ทรงกล่าวว่ารัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้ม และ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป 

เอกสารชิ้นนี้รายงานว่าทรงแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลของจอมพล ป. น่าจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน โดยทรงอธิบายว่าจอมพล ป. เป็นคนทะเยอทะยาน และคนรอบ ๆ ตัวเขาก็เป็นแบบเดียวกัน และสิ่งนี้จะย้อนกลับมาทำลายตัวจอมพล ป. เอง และเมื่อสแตนตันสอบถามพระองค์ว่าทรงคิดว่าจอมพล ป. จะสามารถพึ่งการสนับสนุนของรัฐสภาได้มากหรือไม่ ทรงตอบว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่ไม่เอาจอมพล ป. แต่สภาผู้แทนราษฎรนั้น พระองค์คิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้เพราะสภาแห่งนี้ไม่ใคร่จะมีความรู้ความสามารถเท่าใดนัก 

บวกกับมีการทุจริตคอร์รัปชันด้วย จึงคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้นเมื่อจอมพล ป. ขอมติไว้วางใจจากพวกเขา และจะไม่ทรงแปลกใจเลยหากมีการเพิ่มแรงกดดันให้คณะอภิรัฐมนตรีต้องยุบวุฒิสภาเป็นอย่างน้อยซึ่งจะลดความเสี่ยงที่พิบูลจะถูกลงคะแนนไม่ไว้วางใจ 

“(I inquired whether he thought Phibun could count on much parliamentary support. Prince Rangsit replied that so far as the Senate was concerned sentiment there was largely anti-Phibun and pro-Khuang. As for the lower house he seemed to think that anything could happen and went on to explain that the caliber of members of the lower house was pretty poor and many of the members open to corruption. He said it was really difficult to say what might happen if Phibun appeared before parliament as now constituted and ask for vote of confidence. He said it would not surprise him if further pressures were brought on the council to dissolve at least the Senate which then would lessen the risk of a non-confidence vote. (It will be recalled that following the coup d’état of November 8 the Senate was appointed by the supreme council of state)”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top