20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’

วันนี้ เมื่อ 65 ปีก่อน เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยอีกครั้ง โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร อ้างเหตุแห่งความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ซึ่งพร้อมใจลาออก) รัฐประหารครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากรัฐประหารครั้งก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยอาศัยเหตุจากการเดินขบวนประท้วง การประท้วงการเลือกตั้งสกปรก และการแย่งอำนาจกันเองในหมู่ทหาร

จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งพลโทถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถบริหารราชการไปอย่างราบรื่น ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ในนาม ‘คณะปฏิวัติ’ ก็ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยอาศัยทั้งเหตุความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและที่สำคัญคือ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์

ภายหลังยึดอำนาจ จอมพลสฤษดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อม ๆ กับการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือ ม.17 ให้อำนาจนายกฯ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถสั่งจับกุมคุมขังหรือประหารชีวิตใครก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้มีแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง