กลุ่มรัฐประหารไนเจอร์ 'ปิดน่านฟ้า-ขอแรงหนุน Wagner' เตรียมรับมือกองกำลังทหารจากแอฟริกาตะวันตก

สถานการณ์ภายในประเทศไนเจอร์ยังคงน่าเป็นห่วง หลังเกิดเหตุรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 และได้ก่อตั้งรัฐบาลทหาร ภายใต้ชื่อกลุ่มว่าสภาพิทักษ์มาตุภูมิแห่งชาติ - National Council for the Safeguard of the Homeland (CNSP) โดยมีนายพล อามาดู อับรามาเน ชีอานี เป็นผู้นำสูงสุด

ล่าสุด กลุ่มชาติพันธมิตรแห่งแอฟริกาตะวันตก ภายใต้ชื่อกลุ่มว่า Economic Community of West African States (ECOWAS) ตัดสินใจยื่นคำขาดที่จะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไนเจอร์ หากผู้นำทหารไม่ยอมปล่อยตัว และ คืนอำนาจให้ ประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม ภายในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม

แต่ทว่า คณะรัฐบาลทหารไนเจอร์ไม่นำพาคำขู่จากพันธมิตร ECOWAS ได้สั่งปิดน่านฟ้าทั่วประเทศ หลังถึงกำหนดเส้นตายของ ECOWAS โดยโฆษกของกองทัพไนเจอร์ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่ามีข้อมูลยืนยันแล้วว่า มีกองกำลังต่างชาติในแอฟริกากลางได้เตรียมพลล่วงหน้าเพื่อบุกโจมตี แทรกแซงกิจการของไนเจอร์ แต่กองทัพไนเจอร์ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ ในประเด็นนี้ กล่าวเพียงว่าพร้อมรับมือ และ ป้องกันดินแดนอยางเต็มที่ อันเป็นเหตุที่ต้องปิดน่านฟ้า และได้ขอแรงสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สื่อตะวันตกจึงจับตามองไปที่ความเคลื่อนไหวของกองกำลัง ECOWAS ว่าจะมีการยกระดับอย่างไรในการกดดันรัฐบาลทหารไนเจอร์หลังจากพ้นกำหนดเส้นตายที่ทางกลุ่มได้เคยประกาศไว้

ด้านนาย อับเดล ฟาตู มูซาห์ กรรมาธิการด้านการเมือง สันติภาพ และความมั่นคง ได้กล่าวว่า "องค์ประกอบทั้งหมดในการเข้าแทรกแซงสถานการณ์ที่ไนเจอร์ รวมถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ แผนการ และ เงื่อนไขเวลา ทางกลุ่มได้พิจารณาไว้หมดแล้ว แต่เรายังต้องการใช้วิธีทางการทูต ส่งสาส์นถึงคณะรัฐบาลทหารที่ไนเจอร์ว่าเรายังให้โอกาสพวกเขาได้แก้ไขในสิ่งที่ได้ทำลงไป"

ECOWAS หรือ กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐอาฟริกาตะวันตก ประกอบด้วยชาติสมาชิกถึง 15 ประเทศ กินพื้นที่รวมกันกว่า 5 ล้านตารางกิโลเมตร และประชากรมากกว่า 387 ล้านคน และเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรเสาหลักของทวีปแอฟริกา

แต่ด้วยคลื่นกระแสการรัฐประหารของหลายชาติสมาชิกในกลุ่ม เริ่มต้นตั้งแต่การรัฐประหารในมาลี และ กีนี ในปี 2021 ที่บูร์กินา ฟาโซ ในปี 2022 และล่าสุดที่ไนเจอร์ในปีนี้ ทำให้ทั้ง 4 ชาติถูกคว่ำบาตร และระงับสถานะความเป็นสมาชิก ECOWAS ซึ่งส่งผลต่อความเป็นเอกภาพและความมั่นคงในกลุ่มเศรษฐกิจแห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านนาย มูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีของไนจีเรีย ประเทศที่ถือเป็นพี่ใหญ่ที่สุดใน ECOWAS ได้ตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงไนเจอร์ แต่ทั้งนี้นโยบายการแทรกแซงการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านของผู้นำไนจีเรีย ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาสูงด้วยเหตุว่าไนจีเรียไม่ควรเข้าไปวุ่นวายในกิจการภายในของประเทศอื่น

ด้าน มาลี และ บูร์กีนา ฟาโซ ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร รวมถึง แอลจีเรีย ออกมาคัดค้านการแทรกแซงไนเจอร์ด้วยกำลังทหาร เพราะนั่นหมายถึงการประกาศสงครามที่จะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นไปอีก

ส่วนชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป ได้ออกมาประณามกลุ่มก่อการรัฐประหารที่ไนเจอร์ และประกาศพร้อมที่จะสนับสนุนกลุ่ม ECOWAS การใช้กำลังกดดันรัฐบาลทหารไนเจอร์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด เพื่อคืนอำนาจให้กับประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด บาซูม และปกป้องระบอบประชาธิปไตยของไนเจอร์

ในขณะเดียวกัน ด้านผู้นำทหารของไนเจอร์ก็ได้เตรียมแผนสอง หากกองกำลังของ ECOWAS บุกเข้าโจมตีไนเจอร์จริง ด้วยการขอกำลังเสริมจากกลุ่ม Wagner กองกำลังทหารรับจ้างของรัสเซีย เพื่อเสริมทัพรับมือกองทัพต่างชาติไว้แล้วเช่นกัน

เรียกได้ว่าสถานการณ์ที่ไนเจอร์ในวันนี้ กำลังเดินหน้าเข้าตามสูตรสงครามตัวแทนระหว่าง 2 ขั้วอำนาจโลก ที่อาจทำให้ไนเจอร์กลายเป็นยูเครนแห่งแอฟริกาตะวันตกก็เป็นได้ 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Al jazeera / BBC / VOA