Sunday, 28 April 2024
รัฐประหาร

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทรงมีความคิดจะกำจัดจอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ การตรวจสอบความถูกต้องในการอ้างอิงทางวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง 

‘ประเด็น กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงมีความคิดที่จะกำจัด จอมพล ป.’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของ ณัฐพล ใจจริง ในหนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>> จุดที่ 1 หน้า 66

“พระองค์ [กรมขุนชัยนาทนเรนทร] แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นการส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ภายหลังการรัฐประหารว่า ไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ เลย ทรงเห็นว่าขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป.” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup (Malaysia: Faculty of Social Sciences and Humanities, Universiti Kebangsaan Malaysia, 1988 หน้า 49.)

ในวิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>> จุดที่ 1 หน้า 71

“ทรงได้แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ว่า ทรงไม่เคยไว้วางใจ จอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์เลย ทรงเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดต้องการกำจัดจอมพล ป.” (ณัฐพล อ้างอิงจาก ที่เดียวกัน หน้าเดียวกัน)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
จากการตรวจสอบเอกสารที่ ณัฐพล ใจจริง อ้างถึงจากทั้งหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และวิทยานิพนธ์ของเขา ณัฐพลได้เลือกใช้หนังสือของนักประวัติศาสตร์ชาวมาเลเซีย Nik Mahmud คือ The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup โดยเขาได้อ้างจากหน้า 49 ทั้งในหนังสือ ‘ขุนศึกฯ’ และวิทยานิพนธ์ข้างต้น พบว่า 

ไม่มีคำที่กล่าวใดในหน้า 49 นี้ หรือในส่วนใดจากเนื้อความจากหนังสือตลอดทั้งเล่ม ที่ Nik Mahmud เขียนว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. แต่อย่างใด

เราขอให้ผู้อ่านพิจารณาจากประโยคที่ Nik Mahmud อ้างจากรายงานการเข้าเฝ้ากรมขุนชัยนาทฯ ของ  Sir Geoffrey Thompson ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ว่า…

“He said that he would never trust Pibul who, like Pridi was very much at the mercy of certain extremely unscrupulous persons. He intimated that the longer the present Cabinet remained dependent upon Pibul for protection, the more difficult they would find it to shake him off.”

แปลได้ว่า “พระองค์ตรัสว่า ทรงไม่เชื่อใจ จอมพล ป. ผู้ซึ่งก็เหมือนกับปรีดี ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของพวกคนฉ้อฉล พระองค์ยังทรงตรัสเป็นนัยอีกด้วยว่า ยิ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังขึ้นอยู่กับความคุ้มครองของจอมพล ป. อีกนานเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพบว่ามันเป็นการยากยิ่งขึ้น ที่จะสลัดจอมพล ป. ออกไปด้วยเท่านั้น”

จากข้อความข้างต้น สามารถย้อนกลับไปพิจารณาและวิเคราะห์การใช้เอกสารอ้างอิงอย่างวิชาการของณัฐพล ใจจริง ที่สามารถแบ่งได้ 3 ประเด็นย่อย ดังนี้

ประเด็นที่ 1. กรมขุนชัยนาทฯ (ทรง) ไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ (อ้างอิงถูกต้อง)

ประเด็นนี้ ณัฐพลอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง ตรงตามข้อมูลที่หนังสือของ Nik Mahmud จะเอื้ออำนวย กล่าวคือไม่มีการตีความและขยายความเกินกว่าหลักฐาน ประเด็นนี้จึงไม่เป็นปัญหา

ประเด็นที่ 2. รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ (อ้างอิงถูกบางส่วน)

ประเด็นนี้ ณัฐพลอ้างอิงถูกต้อง ‘เพียงบางส่วน’ (partial) เพราะหนังสือของ Nik Mahmud ในหน้านี้ ระบุเพียงว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเชื่อว่า รัฐบาลนายควงถูกคณะรัฐประหารครอบงำจริง แต่ไม่มีเนื้อความใดในเอกสารในส่วนนี้ระบุถึงกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์’ ว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลของนายควงเลย ถ้าณัฐพลจะอ้างข้อความตรงนี้ ก็ต้องอ้างจากส่วนอื่นของหนังสือเล่มนี้ที่มีข้อความเช่นนี้ประกอบ จึงสรุปว่าประเด็นที่ 2 นี้ ‘อ้างอิงถูกต้องเพียงครึ่งเดียว’

ประเด็นที่ 3. กรมขุนชัยนาทฯทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. (ไม่มีข้อความตามปรากฏ)

สำหรับประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความใดที่จะสนับสนุนข้อความที่ ณัฐพล ใจจริง ระบุว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป.’ อยู่เลย พบแต่เพียงการกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ อาจจะพบความยากลำบากในอนาคต ถ้าหากยังคงอาศัยอิทธิพลของจอมพล ป. ต่อไป

หากอนุมานตามข้อความนี้ ก็จะพาไปสู่ทางออกที่ว่า หากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ต้องการเป็นอิสระจากจอมพล ป. ก็ต้อง ‘สลัด/กำจัด/ขจัด’ จอมพล ป. ออกไป (shake him off)  

ข้อเสนอเช่นนี้ก็เป็นที่ประจักษ์โดยกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามวิถีประชาธิปไตยของนายควงในเวลาต่อมา 

การพยายามสลัด/ขจัดอิทธิพลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหาร 2490 ดังกล่าว เป็นผลสำเร็จโดยการชนะเลือกตั้งของนายควงและประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปช่วงต้นปี พ.ศ. 2491 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต่างชาติสำคัญ ๆ เช่น อเมริกาและอังกฤษ รับรองสถานะของรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการหลังรัฐประหาร 2490 

ต่อมาไม่นานได้เกิด ‘เหตุการณ์จี้ควง’ โดยคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เพื่อบีบนายควงออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นคณะรัฐประหารก็เชิญจอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง 

และในอีก 3 ปีต่อมาจอมพล ป. ก็ได้ทำการรัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจให้มากขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 

ผลจากการยึดอำนาจครั้งนี้ ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยยาวนานสืบเนื่องจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 

ควรบันทึกด้วยว่า การใช้คำว่า ‘กำจัด’ ซึ่งมีความหมายในทางที่ลบกว่า ‘สลัด’ หรือ ‘ขจัด’ ของณัฐพล ใจจริงนั้น เมื่ออ่านผ่าน ๆ อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปด้วยว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องการที่จะ ‘กำจัด’ จอมพล ป. จริง ๆ

ทั้งที่คำดั้งเดิมและบริบทของประโยคนั้น ควรจะใช้คำว่า ‘สลัด’ เสียให้พ้นทางเท่านั้น 

อีกทั้งประธานของคำกริยาดังกล่าว คือ ‘They’ ก็มีนัยหมายถึงบุคคลที่สามคือนายควงและรัฐบาลของเขา ไม่ได้หมายถึงตัวของกรมขุนชัยนาทฯ เองแต่อย่างใด

พระเพทราชา 'พระเอก' หรือ 'ผู้ร้าย' ? | THE STATES TIMES Story EP.132

พระเพทราชา ผู้ได้รับการขนาน ว่า 'พระมหาบุรุษ' กลายเป็นนักบุญผู้ทรงศีลสุขุมล้ำลึก ต้องการปกปักพระศาสนา ช่วยกอบบ้านกู้เมืองให้พ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส พระเพทราชา จึงกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาว ในสายตาของนักการศึกษาด้านพุทธศาสน์และนักประวัติศาสตร์สายอนุรักษนิยม

แต่ทว่าอีกมุมหนึ่ง นักประวัติศาสตร์เชิงรัฐประศาสนศาสตร์ กลับมองว่าการสังหารโหดชาวต่างชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศส และการขับไล่ฝรั่งดั้งขอให้พ้นหูพ้นตานั้น นำไปสู่ 'การแช่แข็งสยามประเทศ' อยู่ช่วงระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลาอีกนานทีเดียว กว่าจะก้าวเดินให้ทันเพื่อนบ้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า และการศึกษา นั้น เกิดจากวิสัยทัศน์ 'ล้าหลังคลั่งชาติ' แท้เชียว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top