รัฐประหารรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ฝีมือ ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ นำทีมยึดอำนาจ

ครบรอบ 17 ปี คณะทหารในนาม ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปค.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยในการรัฐประหารครั้งนี้ คปค. ได้ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจว่าการปกครองภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก่อให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพ เทิดทูน ของปวงชนชาวไทย อยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าหลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์ มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้

โดยทางทหารได้เตรียมการยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ถึงตอนบ่ายกำลังทหารจากต่างจังหวัดก็เคลื่อนกำลังเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ในตอนค่ำกำลังพลติดอาวุธพร้อมรถถัง ฮัมวี่ และบีเอ็มซีก็บุกเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์และตรึงกำลังอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในเวลา 22.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณได้ชิงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. สั่งปลด พล.อ.สนธิ แต่ยังประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณและออกประกาศการเข้ายึดอำนาจ จากนั้นก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับต่าง ๆ ออกมา อาทิ...

ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้น คปค. ก็ถอยไปอยู่ในฐานะ ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ (คมช.) คอยดูแลรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศและเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2550

รัฐประหารครั้งนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติถึงจุดวิกฤติแล้ว รัฐประหารคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยไทย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด และนับเป็นการสูญเสียประชาธิปไตยอีกครั้งในรอบ 15 ปี หลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 10 ของไทย โดยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และไร้การสูญเสียเลือดเนื้อ