กองทัพทหาร บุกยึดอำนาจ ‘อาลี บองโก ออนดิมบา’ หลังคว้าชัยเลือกตั้งใหญ่ ล้มอำนาจผู้นำ 3 สมัยแห่งกาบอง

คลื่นกระแสการรัฐประหารในทวีปแอฟริกา ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง ล่าสุด กองทหารระดับสูงแห่งกาบอง ได้ประกาศผ่านช่อง Gabon 24 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 66 แถลงข่าวยึดอำนาจประธานาธิบดี ‘อาลี บองโก ออนดิมบา’ ผู้นำกาบอง 3 สมัย หลังจากเพิ่งคว้าชัยจากการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงขาดลอยถึง 63.4%

นับเป็นการเลือกตั้งที่มีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์อย่างรุนแรงจากพรรคฝ่ายค้าน และชาวกาบอง ถึงความไม่โปร่งใส และทุจริต

แต่ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของกาบองได้รับรองผลการนับคะแนน และประกาศให้ ประธานาธิบดี อาลี บองโก ผู้นำคนปัจจุบัน เป็นผู้ชนะได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็มีกลุ่มกองทหารบุกยึดสถานีโทรทัศน์พร้อมออกแถลงการณ์ว่า “ได้ยึดอำนาจ ประธานาธิบดี อาลี บองโก แล้ว” โดยอ้างว่า “การเลือกตั้งที่ผ่านมาขาดความน่าเชื่อถือ จึงเป็นเหตุให้คณะทหาร ซึ่งเป็นตัวแทนของกองทัพที่หน้าที่ดูแลความมั่นคง และป้องกันประเทศ จำเป็นต้องยึดอำนาจรัฐบาล ให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และยุบสถาบันฝ่ายบริหารทั้งหมดในกาบอง”

ล่าสุด มีรายงานว่ามีการปิดพรมแดนของประเทศกาบอง และมีเสียงปืนดังขึ้นที่กลางกรุงลีเบรอวิล เมืองหลวงของกาบอง ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้

นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 8 ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในโซนภูมิภาคซาเฮล และประเทศใกล้เคียงอย่างกาบอง ที่ส่วนมากเป็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาก่อน

และหากรัฐประหารครั้งนี้สำเร็จ จะเป็นการสิ้นสุดการปกครองของตระกูลบองโก ที่ครองอำนาจในกาบองมานานถึง 56 ปี โดยประธานาธิบดี อาลี บองโก ผู้นำคนปัจจุบันที่ถูกรัฐประหารในวันนี้ ดำรงตำแหน่งมาแล้วถึง 14 ปี และสืบทอดอำนาจต่อจาก ‘โอมาร์ บองโก ออนดิมบา’ อดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ซึ่งเป็นพ่อของเขาเอง

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี อาลี บองโก เคยเกือบถูกรัฐประหารมาแล้ว เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562 โดยกองทหารกลุ่มหนึ่งบุกยึดสถานีวิทยุแห่งชาติ ณ ใจกลางกรุงลีเบรอวิล ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล ในขณะที่ อาลี บองโก ยังพักรักษาตัวจากอาการโรคหลอดเลือดสมองในประเทศโมร็อกโก แต่ครั้งนั้นทำการไม่สำเร็จ

แต่หากรัฐประหารในวันนี้ของกาบอง สามารถโค่นล้ม อาลี บองโก ผู้นำ 3 สมัยลงได้ ทวีปแอฟริกาคงสั่นสะเทือนแรงอีกครั้ง หลังจากเกิดรัฐประหารล่าสุดที่ไนเจอร์ ที่จะส่งผลต่อดุลอำนาจในภูมิภาคอย่างมาก

เนื่องจาก กาบองเป็นอีกหนึ่งชาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝรั่งเศส และในด้านทรัพยากร ก็ยังเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติ แร่แมงกานีส และป่าไม้  อีกทั้งยังสะท้อนปัญหาการเมืองในหลายประเทศของแอฟริกา ที่สถาบันรัฐยังเปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อการถูกโค่นล้มจากคลื่นกระแสรัฐประหารในแอฟริกา เชื่อว่าจะไม่จบลงที่กาบองอย่างแน่นอน

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

 


อ้างอิง : France 24 / BBC / The Guardian