Thursday, 2 May 2024
มิจฉาชีพ

‘ตร.ไซเบอร์’ เตือนภัยหลังแอปธนาคารแห่ล่ม มิจฉาชีพปล้นทรัพย์ผ่านลิงก์ปลอมให้อัปเดต

(3 ก.ค.66) เพจกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี - บก.ปอท. โพสต์ระบุว่า…

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาระบบบริการโอนเงินต่างธนาคารเกิดขัดข้อง ส่งผลต่อการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking, Internet Banking ไม่สามารถดำเนินการได้ชั่วคราว

เตือนประชาชนระวัง มิจฉาชีพจะอาศัยจังหวะนี้ ส่งข้อความการอัปเดต Mobile Banking แนบลิงก์ปลอม ให้เหยื่อเผลอกดลิงก์ ส่งผลให้ถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ถูกติดตั้งแอปรีโมทเพื่อเข้าควบคุมโทรศัพท์ สุดท้ายถูกคนร้ายโอนเงินออกจากบัญชี

การอัปเดตแอปพลิเคชัน Mobile Banking
กดอัปเดตผ่าน Apple Store หรือ Play Store เท่านั้น

แจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com
Line : @police1441 แชตบอทกับหมวดขวัญดาว

‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ เล่านาทีโดนหลอกจนสูญเงิน 3.2 ล้าน เผย!! ช่วงแรกผวา ‘นอนไม่หลับ-กินข้าวไม่ลง’ รู้สึกเหนื่อย

(11 ก.ค.66) สืบเนื่องจากกรณีข่าวแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นตำรวจหลอกลวง นายวัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือ ‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ ให้โอนเงินสูญเงินไป 3.2 ล้านบาท

ล่าสุด ‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ ได้มาเปิดใจผ่านรายการ ‘คุยแซ่บ Show’ เผยนาทีโดนหลอกสูญเงิน 3.2 ล้าน ท้อใจโอกาสได้เงินคืนไม่ถึง 1%

ต๋อง เผย ชีวิตหลังโดนหลอกรู้สึกเข่าแทบทรุด การใช้ชีวิตหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไป ต้องไปปิดอายัดบัญชีธนาคารทั้งหมด เบอร์โทรศัพท์มือถือก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นเยอะมาก และเราก็ต้องประหยัดขึ้น ทำอะไรระวังตัวเองมากขึ้น ยอมรับว่าช่วงเกิดเหตุ 2 สัปดาห์แรกนอนหลับไม่สนิท กินข้าวก็ไม่ลง รู้สึกเหนื่อย และใช้ความคิดค่อนข้างเยอะ บอกเลยว่าไม่โดนด้วยตัวเองไม่มีทางเข้าใจ

หลงผิด ชีวิตพัง!! ‘ตร.’ บุกรวบ ‘สุนทรฟู่’ ครูดีเด่นเกียรตินิยมอันดับ 1 ดำดิ่งสู่มิจฉาชีพ จนท.ทึ่ง!! เจ้าตัวแต่งกลอนด้นสดเป็นอุทาหรณ์ เตือนสติสังคม

(14 ก.ค. 66) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. สั่งการให้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.ในฐานะ หน.PCT ชุดที่ 5, พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น., พ.ต.อ.ณรงค์ฤทธิ์ ทองแพ, พ.ต.อ.พัชรดนัย การินทร์ ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.บช.น., พ.ต.อ.ธัญญพัทธ์ บุญสุข ผกก.สส.2 บก.สส.บช.น., พ.ต.ท.มาโนชย์ ทองแก้ว สว.กก.2 บก.สส.บช.น., พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สว.(สอบสวน) บก.สส.บช.น., ร.ต.อ.วรภัทร แสงเทียนประไพ, ร.ต.อ.หญิง ธิดารัตน์ ผดุงประเสริฐ รอง สว. และ ส.ต.ท.จิรวัฒน์ ศรีมั่นมีชัย ผบ.หมู่ฯ ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 และชุดสืบสวนนครบาล (บก.สส.บช.น.)

นำกำลังจับกุม นายวิวัฒน์ หรือ ‘ครูฟู่’ หรือ ‘สุนทรฟู่’ อายุ 36 ปี หลังตระเวนก่อเหตุหลอกลวงผู้อื่นจนถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยถูกออกหมายจับกว่า 4 หมาย ข้อหาฉ้อโกง-ร่วมกันประชาชน โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

พล.ต.ต.ธีรเดชกล่าวว่า ‘ครูฟู่’ อดีตเป็นครูสอนภาษาไทยโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ กทม. จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชื่อดังด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และในการรับราชการได้รับรางวัล ‘ครูภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ’ ประจำปี 2560 ซึ่งความเก่งของครูฟู่นั้นเหลือล้น จนได้รับสมญานามว่า “สุนทรฟู่” แต่ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย เส้นทางชีวิตที่กำลังโลดแล่นของครูฟู่พลิกผันจากครูหนุ่มอนาคตไกล เริ่มดำดิ่งสู่การเป็น มิจฉาชีพเนื่องจากติดการพนัน และนำเงินไปเปย์ให้กับแฟนหนุ่มที่เป็น LGBTQ กระทั่งปี 2563 ครูฟู่ถูกไล่ออกจากการเป็นข้าราชการครู

‘สนธิ’ ถาม ‘ก้าวไกล’ บ้าคลั่งอะไรถึงขั้นต้องยกเลิก ม.112

สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กล่าวในรายการ SONDHITALK EP. 198 ‘พิธา’ นายกทิพย์ โดยบางช่วงบ้างตอนระบุว่า…

ผมถามพวกคุณอย่างนึงนะ คุณพิธา คุณช่อ คุณธนาธร คุณปิยะบุตร และแกนนำทั้งหลาย ทั้งชีวิตพวกคุณ บ้าคลั่งแต่กับการยกเลิก ม.112 มันเกิดอะไรขึ้นกับสมองพวกคุณ มันไม่ใช่หมกมุ่นนะ พวกคุณบ้าไปแล้ว วันนี้พิสูจน์ว่า ‘คนที่รักพระเจ้าอยู่หัว’ มันมากกว่าพวกคุณ

‘รองโฆษกตำรวจ’ เตือน!! แอปฯ ดูดเงินระบาดหนัก พร้อมแฉ ‘3 อุบาย’ โจรออนไลน์ใช้ดูดเงินหมดบัญชี

(16 ก.ค. 66) เวลา 09.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยอุบายของโจรออนไลน์ที่ใช้หลอกลวงประชาชนให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ และทำการดูดเงินในบัญชี

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปฯ ดูดเงินเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์เน้นย้ำถึงวิธีการของโจรออนไลน์ ที่จะทำการติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ ไลน์ หรือการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ เพื่อหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์และทำการดูดเงินในบัญชี โดยใช้อุบายดังต่อไปนี้

1. หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมที่ดิน (อ้างว่าสำรวจผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) สรรพกร (อ้างคืนภาษีหรือตรวจสอบภาษีประจำปี) และการไฟฟ้า/การประปา (อ้างโอนค่าบริการส่วนเกินคืนหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ฟรี) เป็นต้น โดยโจรออนไลน์จะทำการติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ภาครัฐ ส่งเอกสารราชการปลอมเพิ่มความน่าเชื่อถือ และพูดจาหว่านล้อมให้ประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอมที่คล้ายกับของจริง นำไปสู่การติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน 

2. หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สายการบิน และบริษัทขายอุปกรณ์ไอทีชื่อดัง โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความถึงประชาชน หรือโพสต์โฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ และอ้างอุบายที่ดึงดูดความสนใจ อาทิ ได้รับตั๋วเครื่องบินฟรี เป็นผู้โชคดีได้ของขวัญ/ของรางวัล หรือ มีโปรโมชั่นลดราคาสินค้า เมื่อประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์ก็จะถูกดูดเงินจนหมดบัญชี

3. หลอกให้เกิดความสงสัย โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความถึงประชาชนในเชิงหาเรื่อง ทำให้เกิดความสงสัย กระวนกระวายใจ เช่น “เธอทำแบบนี้กับเราได้อย่างไร”, “ไม่รู้ตัวเหรอว่ามีคลิปหลุด”, “ทำตัวแบบนี้ น่าโดนประจานให้อาย” แล้วโจรออนไลน์จะส่งลิงก์มาให้เพื่อกดดู เมื่อหลงเชื่อกดเข้าไป อาจถูกดูดเงินจนหมดบัญชี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนรับข้อมูลอย่างมีสติ ‘ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน’ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของโจรออนไลน์ โดย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้จัดทำแบบทดสอบ Cyber Vaccine จำนวน 40 ข้อ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ www.เตือนภัยออนไลน์.com และ เพจเฟซบุ๊ก ‘เตือนภัยออนไลน์’ ปรึกษา-ขอคำแนะนำได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-866-3000 โดยผู้เสียหายสามารถติดต่อธนาคารของตนเองเพื่อทำการระงับบัญชี โดยธนาคารจะออก Bank ID ผ่าน SMS และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุภายใน 72 ชั่วโมง หรือแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com

‘รัฐบาล’ เตือน!! มิจฉาชีพหลอกทำบัตร ปชช.ผ่านเฟสบุ๊ก สูญเงินฟรี แถมผิดกฎหมายเข้าข่ายปลอมแปลงเอกสาร

(19 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเตือนประชาชนว่า อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำบัตรประจำตัวประชาชน และเอกสารปลอมผ่านเพจเฟสบุ๊ก ทำให้สูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากเมื่อทำการตรวจสอบแล้วปรากฎข้อเท็จจริงว่า การโฆษณา และรับทำเอกสารทางราชการปลอมดังกล่าว มีลักษณะเป็นการหลอกลวงให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินไปให้และตัดการติดต่อหลังมิจฉาชีพได้เงินไป กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชน

ชี้แจงว่า การดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างรัดกุม ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกกรณี ทั้งนี้ ดำเนินการได้ ณ สำนักทะเบียนท้องถิ่นหรือสำนักทะเบียนอำเภอเท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาญา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลได้กำชับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายป้องกันและปราบปราม และสร้างการรับรู้ให้ประชาชน โดยให้เน้นย้ำในเรื่องสำคัญ ดังนี้

1.) ผู้ที่จ้างหรือสั่งทำเอกสารปลอมข้างต้น ถือเป็นตัวการสำคัญในการกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารสิทธิและเอกสารราชการ สำหรับผู้ที่จ้างต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้รับจ้างที่ทำเอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 265 หรือ 266 แล้วแต่กรณี ซึ่งมีระวางโทษสูง ต้องจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.) ผู้ที่จ้างหรือสั่งทำเอกสารปลอมข้างต้น หรือผู้ใดนำเอกสารปลอมไปใช้หรืออ้างให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารจริงโดยทุจริตและปกปิดข้อเท็จจริง มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ต้องระวังโทษเช่นเดียวกับข้อ 1 ข้างต้น ซึ่งมีระวางโทษสูง ต้องจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างรัดกุม ชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่รัฐทุกกรณี ซึ่งจะดำเนินการโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชนของคนไทย ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อคำชักชวน หลอกหลวงผ่านสื่อต่างๆ” น.ส.รัชดา กล่าว

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพใช้ภาพหญิงสาวหน้าตาดีประกาศโฆษณา ผ่านเพจเฟซบุ๊กหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน พบผู้เสียหายแล้วหลายราย

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบการกระทำความผิดในสื่อสังคมออนไลน์พบเพจเฟซบุ๊กจำนวนหลายเพจ มีการนำเสนอภาพและคลิปวิดีโอของหญิงสาวหน้าดี หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถูกมิจฉาชีพนำมาตัดต่อประกอบกับโพสต์ข้อความในลักษณะเชิญชวนบุคคลทั่วไปให้มาใช้บริการทางเพศออนไลน์ เช่นใช้คำโฆษณาว่า “ แหล่งรวมสาวสวย เราจัดให้แล้วมีทั้ง PR นักศึกษา ชุดคอสเพลย์ หรือแหล่งรวมสาว ม.ปลาย - มหาลัย ความสุขที่ไม่ต้องเดินทาง จัดส่งให้ถึงที่ไม่ว่าใกล้หรือไกล ” เป็นต้น โดยเมื่อเข้าไปตรวจสอบภายในเพจดังกล่าวแม้จะมีผู้ติดตามอยู่จำนวนมาก แต่จะมีผู้จัดการดูแลเพจอยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้เมื่อมีผู้หลงเชื่อติดต่อส่งข้อความ หรืออินบ็อก (Inbox) ไปยังเพจในลักษณะดังกล่าว ก็จะถูกมิจฉาชีพออกอุบายหลอกลวงให้โอนเงินไปยังบัญชีที่เตรียมไว้ เมื่อโอนเงินเรียบร้อยจะถูกบล็อคบัญชีทำให้ไม่สามารถติดต่อได้ แล้วไปหลอกลวงผู้เสียหายรายอื่นๆ ต่อไป

การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 343, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใดฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1), 16 และโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 7 ” หรือฐานความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินด้วยวิธีการหรือกลโกงต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเพจหรือเว็บไซต์ในลักษณะดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากท่านจะเสี่ยงถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินสูญเสียทรัพย์สินแล้ว ท่านยังมีอาจจะมีความผิดในส่วนของผู้ที่มีส่วนส่งเสริม หรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ โดยผู้ใช้บริการทางเพศโดยหลักแล้วไม่มีความผิดแต่อย่างใด เว้นแต่จะใช้บริการทางเพศจากอายุเกิน 15 แต่ไม่ถึง 18 ปี ในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี – 3 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 60,000 บาท ถ้าใช้บริการทางเพศจากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องรับโทษหนักขึ้นอีก คือ จำคุกตั้งแต่ 2 – 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 – 200,000 บาท กรณีนี้ แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะยินยอมก็มีความผิดตามกฎหมาย

เตือนภัย!! เพจโรงแรมปลอมระบาดหนัก ป่วนเขาใหญ่ นักท่องเที่ยวหลงโอนเงินนับร้อยราย เสียหายนับล้าน

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 66 น.ส.พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมที่พักในพื้นที่รอบผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับความเดือดร้อนจากมิจฉาชีพลักลอบปลอมแปลงเพจเฟซบุ๊ก สถานบริการที่พักของผู้ประกอบการ โพสต์หลอกลวงประชาชน ฉวยโอกาสช่วงวันหยุดยาว 6 วัน จะมีนักท่องเที่ยวมาพักค้างคืนในพื้นที่อำเภอปากช่อง เนื่องจากการเดินทางค่อนข้างสะดวก ซึ่งมีเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินหลายราย

น.ส.พันชนะกล่าวว่า กลโกงของเพจปลอมจะตั้งโปรโมชันราคาที่พักต่ำกว่าความเป็นจริง สามารถสร้างแรงจูงใจโดยง่าย ข้อสังเกตคือเลขบัญชีการโอนเงินมัดจำไม่ใช่ชื่อบริษัทสถานบริการที่พัก แต่เป็นชื่อบัญชีของบุคคล รวมทั้งใช้อุบายต่างๆ นานาเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินค่ามัดจำให้ก่อน จากนั้นเงียบหายไม่สามารถติดต่อได้ ช่วงเที่ยงที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน สภ.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจากนักท่องเที่ยวจาก จ.ระยอง ถูกเพจปลอมหลอกโอนเงินค่าห้องและค่าประกันร่วม 5,000 บาท ล่าสุดรวบรวมข้อมูลมีผู้เสียหายนับร้อยราย สร้างความเสียหายร่วมล้านบาท

ทั้งนี้ ได้ส่งข้อมูลแจ้งเตือนทางออนไลน์ไปยังกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังทุกช่องทาง โดยแจ้งเตือนและป้องกันผลกระทบเสียหายต่อภาพลักษณ์ และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่นได้แนะนำให้นักท่องเที่ยวตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนเงิน หรือติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงกับสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ‘สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่’ โทรศัพท์ 09-4239-3916 แอดมินยุ้ย

‘ใบเตย สุวพิชญ์’ โร่แจ้งความ โดนแอบอ้างชื่อบริษัทรับงาน  ชักชวนคนเข้าวงการบันเทิง-หลอกเอาเงิน วอนอย่าหลงเชื่อ

(3 ส.ค. 66) เรียกว่ารีบออกมาแจ้งเตือนภัยให้แฟนๆไดรับทราบอย่างด่วนจี๋ หวั่นคนหลงเชื่อ สำหรับนักแสดงสาว ‘ใบเตย สุวพิชญ์ ไตรพรวรกิจ’ ภรรยาคนสวยของนักร้องดัง ‘ปั๊บ โปเตโต้’ หรือ ‘ปั๊บ พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข’ โดยล่าสุดเจ้าตัวได้เข้าแจ้งความ หลังถูกมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อบริษัทของตัวเอง จัดหางานนักแสดง Extra นายแบบ นางแบบ

โดย ‘ใบเตย สุวพิชญ์’ ได้โพสต์ภาพตัวเองระหว่างเข้าแจ้งความผ่านอินสตราแกรมส่วนตัว ระบุอแคปชันว่า

"สวัสดีค่ะ วันนี้เตยมีเรื่องเตือนภัยมาแจ้งให้ทุกคนทราบนะคะ ตอนนี้มีมิจฉาชีพแอบอ้างนำข้อมูลบริษัทของเตยไปโพสต์ทาง Facebook ชื่อ นักแสดง Extra งานแสดง นางแบบ นายแบบ งานโฆษณา งานภาพยนตร์ งาน Event โดยเนื้อหาเป็นการชักชวนเข้าสู่วงการบันเทิง และอาจมีการหลอกลวงให้ชำระเงินภายหลัง

เตยและบริษัทขอชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโพสต์ดังกล่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวทั้งสิ้นค่ะ ซึ่งตอนนี้ทางเตยได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเรียบร้อยแล้ว หากใครมีเบาะแสสามารถDM ข้อมูลมาได้ที่ IG : pummeimei ได้เลยนะคะ

เตยจึงมาโพสต์เพื่อเตือนให้ทุกคนได้ระวังมิจฉาชีพในอีกรูปแบบนึง เพราะเตยไม่อยากให้ใครหลงเชื่อเพราะอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ในภายหลัง ขอบคุณค่ะ"

‘ตร.ไซเบอร์’ เตือนภัย!! เพจโรงแรม-ร้านอาหารปลอมระบาดหนัก หลอกเหยื่อโอนเงินค่าจองโต๊ะอาหาร เสียหายกว่า 140 ล้านบาท

(6 ก.ค. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (บช.สอท.) กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าสำรองโต๊ะอาหาร สำรองบุฟเฟต์ (Buffet) ผ่านเพจ facebook ของโรงแรม และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันสำคัญต่างๆ จะมีการหลอกลวงจัดโปรโมชันราคาพิเศษ หรือหากมาหลายท่านทานฟรี 1 ท่าน เป็นต้น

ซึ่งมิจฉาชีพยังคงใช้แผนประทุษกรรมเดิมๆ คือ สร้างเพจ facebook โรงแรม หรือร้านอาหารปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจ facebook เดิมที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อบัญชีเพจให้เหมือนกับเพจจริงทุกตัวอักษร หรือใกล้เคียงกัน คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ค้นหาร้านอาหารให้พบเพจปลอมเป็นอันดับแรกๆ หากไม่ทันสังเกตให้ดีก็จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้นได้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66 – 31 ก.ค.66 การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวนกว่า 7,714 เรื่อง หรือคิดเป็น 49.09% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์เดือน ก.ค. 66 และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 140 ล้านบาท

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวัง ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามิจฉาชีพก็ได้ปลอมเพจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานเอกชนหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ที่พักหลอกลวงให้สำรองค่าที่พัก ร้านค้าหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจ เหมือนหรือคล้ายเพจจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาในเว็บไซต์ทั่วไป หรือพบเจอในกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 9 ข้อ ดังนี้

1.) โรงแรม หรือร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัว หรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อโรงแรม หรือร้านอาหาร หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น

2.) ควรสำรองโต๊ะอาหารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ

3.) หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจ facebook ใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่

4.) เพจจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด รวมถึงไปถึงไลน์ทางการต้องเครื่องหมายโล่สีฟ้า หรือสีเขียวเช่นเดียวกัน (Verified Account)

5.) เพจจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อ

6.) เพจปลอมมักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน

7.) ระมัดระวังการประกาศโฆษณาโปรโมชันต่างๆ

8.) ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ สร้างมาเมื่อใด ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

9.) ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อไปยังโรงแรม หรือร้านอาหารก่อนทำการโอนเงิน ว่าเพจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top