Wednesday, 1 May 2024
มิจฉาชีพ

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ เตือนภัย!! แนะนำผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลาน เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันหาคู่ อาจเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยจากแอฟพลิเคชันหาคู่ แนะนำผู้ปกครองควรดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเสี่ยงถูกมิจฉาชีพล่อลวงสร้างความเสียหายในหลายรูปแบบ

ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีบทบาทช่วยให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเรื่องการหาคู่ก็เช่นกัน  จึงมีผู้คิดค้นแอปพลิเคชันหาคู่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่   ซึ่งแอปพลิเคชันหาคู่ที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ได้แก่  Tinder ,Omi ,Bumble เป็นต้น แอปพลิเคชันเหล่านี้จะช่วยจับคู่หนุ่มสาวที่มีความชอบคล้ายๆกัน ให้ได้พูดคุยกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่เหรียญก็มักจะมีทั้ง 2 ด้านเสมอ กลุ่มมิจฉาชีพมักใช้โอกาสจากช่องทางนี้ในการหลอกล่อเหยื่อเช่นกัน ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เหยื่อเป็นเด็กและเยาวชน   ตามที่ปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์และสื่ออื่นๆ หากรูปแบบการกระทำความผิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ อาจจะพัฒนาจนเป็นการค้ามนุษย์และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้นได้

ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 65 ในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ ได้มีเด็กหญิงอายุ 14 ปี หายตัวไป จนผู้ปกครองได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน และได้ทำการติดตามค้นหาจนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 65 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบเด็กหญิงคนดังกล่าวอยู่กับชายอายุ 18 ปี ซึ่งทั้งสองได้พูดคุยกันผ่านแอพพลิเคชัน Litmatch และได้มีการนัดเจอกัน ซึ่งเป็นเหตุให้เด็กหญิงคนดังกล่าวหายตัวไป ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมชายคนดังกล่าวพร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีฯ และ พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปจากบิดามารดาฯ ก่อนจะนำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

และในกรณีเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ร่วมกันจับกุมตัวชายอายุ 28 ปี ในข้อหา รีดเอาทรัพย์,กรรโชกทรัพย์,    ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ,ทำให้ผู้อื่นเกิดความหวาดกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ สืบเนื่องจากได้รับแจ้งจากหญิงสาวหลายรายว่าได้รู้จักกับผู้ต้องหาผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ชื่อดังก่อนจะนัดหมายเจอกัน จากนั้นก็ออกอุบายตีสนิท เมื่อคบหากันก็ได้ถ่ายคลิปตอนมีเพศสัมพันธ์ พอผ่านไปสักระยะก็จะขอยืมเงิน หากไม่ยินยอมให้ ก็จะขู่เผยแพร่คลิปดังกล่าว เมื่อฝ่ายหญิงขอเลิกผู้ต้องหาก็จะขอค่าเลิกเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท จะเห็นได้ว่าอันตรายไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน

ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการใช้บริการแอปพลิเคชันหาคู่ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกล่อลวงไปกระทำชำเราแล้ว การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็เสี่ยงต่อการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด หรืออาจถูกนำไปขายต่อบน Dark Web และนำไปใช้ในการกระทำความผิด ทำให้ท่านอาจตกเป็นผู้ต้องหา โดยท่านไม่รู้ตัวก็เป็นได้

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับและสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) และ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน ทราบถึงพิษภัยและรูปแบบการกระทำความผิดต่างๆ พร้อมเร่งทำการสืบสวนปราบปรามจับกุม  ผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและตัดโอกาสในการกระทำความผิดอย่างจริงจังต่อเนื่องโดยให้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนะนำผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน            ถึงแนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงผ่านแอปพลิเคชั่นหาคู่ ดังนี้

1.ควรระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ไม่บอกข้อมูลทั้งหมดกับคนที่เพิ่งรู้จัก เมื่อใช้บริการแอปพลิเคชั่นหาคู่ออนไลน์ต่าง ๆ

2.ไม่ควรหลงเชื่อ หรือไว้ใจบุคคลใดง่าย ๆ หากมีความจำเป็นต้องนัดเจอควรมีเพื่อนหรือผู้ปกครองไปด้วยเพื่อความปลอดภัย

3.ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือเพียงลำพัง, ควรพูดคุยทำความเข้าใจถึงขอบเขตการใช้งานว่าแอปพลิเคชั่นไหนใช้ได้บ้างหรือแอปพลิเคชั่นใดควรหลีกเลี่ยง, หมั่นเช็คประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชั่นของบุตรหลานว่ามีการใช้งานที่ไม่เหมาะสมหรือมีการพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือไม่

4.พึงระลึกไว้เสมอว่า อะไรที่ดีเกินไป เร็วเกินไป มักจะลงเอยไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยง่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์และขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทาหรณ์ให้ระมัดระวังในเรื่องการมีความสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์หรือ Chat Application ในรูปแบบต่าง ๆ

 

“ตัดวงจรร้าย - วางสายทันที” รู้ทัน! คอลเซ็นเตอร์หลอกขอข้อมูลส่วนตัว ด้วยความห่วงใยจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในห้วงปัจจุบันได้มีมิจฉาชีพในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ เช่น หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกว่าเป็นพนักงานส่งสินค้า หลอกว่าพัสดุของท่านไม่สามารถส่งได้ หรือใช้คำถามลวงขอทราบเลขพัสดุทำให้ผู้รับสายเกิดความสับสน และทำให้เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงเพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัว เลขบัญชีธนาคาร หรือเลขบัตรประชาชน จนกระทั่งนำไปสู่การโน้มน้าวให้โอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ นั้น 

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากมิจฉาชีพในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างจริงจัง จึงได้ตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อปฏิบัติภารกิจกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยร้ายทางโลกออนไลน์อย่างเข้มงวด เพื่อลดความสูญเสียทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีนโยบายให้ประชาสัมพันธ์เตือนภัย และให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพเสมือนเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Vaccinated) และได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่กวาดล้างมิจฉาชีพอย่างเข้มข้น รวดเร็ว เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกต่อไป จึงอยากขอเน้นย้ำกับพี่น้องประชาชนว่า หากท่านรับสายโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พยายามขอให้บอกข้อมูลส่วนตัว หรือขอให้โอนเงินทางโทรศัพท์ "ขอให้ท่านสันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ และวางสายโดยทันที" เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ เร่ง!กวาดล้างแอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน “คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด - ทวงหนี้รุนแรง” คุกหนัก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท!!

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนว่าได้รับผลกระทบจากแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่หากกดยินยอมให้แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลก็จะสูญเสียข้อมูลส่วนตัวได้ และจะมีการกรอกข้อมูลส่วนตัวในระบบเพื่อเป็นหลักฐานถึงจะกู้เงินได้ เมื่อได้รับเงินกู้แล้วทางแอปพลิเคชันได้มีการเรียกดอกเบี้ยสูงเกินกฎหมายกำหนด หากชำระหนี้ไม่ตรงตามสัญญา บางรายจะมีการทวงหนี้ด้วยการประจานส่งข้อความไปยังคนรอบตัว หรือบางรายมีการทวงหนี้ด้วยความโหดร้ายทารุณ เกิดความเสียหายทั้งร่างกายและทรัพย์สิน นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำหนดให้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของพี่น้องประชาชน เป็นวาระแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เร่งกวาดล้างแอปพลิเคชันเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด และทวงหนี้อย่างผิดกฎหมาย

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจับกุมแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ดำเนินการคิดดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด และทวงหนี้ด้วยความรุนแรงอย่างผิดกฎหมายมาโดยตลอด และอยากขอเตือนไปยังเจ้าหนี้ที่กระทำการดังกล่าว อาจมีความผิดตามกฎหมาย

>> พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560

มาตรา 4 บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงินโดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

(1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้

(2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือ ตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

(3) กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใด ๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตาม เงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน

>> พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 

มาตรา 11 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้ 

(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น

มาตรา 41 บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา 11 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท

เตือนภัย!! โปรดดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระวัง!ตกเป็นเหยื่อ ‘แก๊งค้าประเวณีเด็ก’ ด้วยความห่วงใยจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

1 ก.พ.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนติดตามผู้กระทำความผิดโดยมีพฤติกรรมเป็นนายหน้า เป็นธุระจัดหา นำเด็กไปค้าประเวณี จนนำไปสู่การออกหมายจับข้อหาค้ามนุษย์ ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ได้เข้าทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าวที่ จังหวัดยโสธร เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย นั้น

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีพี่น้องประชาชนรวมถึงเด็กและเยาวชนหลายราย ตกเป็นเหยื่อของผู้กระทำผิดในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ด้วยความห่วงใยของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าว โดยมี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

ขอฝากเตือนไปถึงพี่น้องประชาชน ให้ดูแลและให้ความรู้บุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิด ไม่ให้หลงเชื่อบุคคลที่จะมาชักชวน ล่อลวง บุตรหลานของท่านให้ไปกระทำผิดกฎหมายเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกหลอกไปขายบริการหรือทำงานผิดกฎหมายได้ ส่วนผู้ที่มีพฤติการณ์เป็นธุระจัดหา หรือ เป็นนายหน้าหลอกลวงเด็กและเยาวชนไปค้าประเวณีหรือแสวงหาประโยชน์โดยผิดกฎหมาย อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551

>> มาตรา 6 (2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใดหน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

>> มาตรา 52 ผู้ใดกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 12 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 1,200,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำแก่บุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ ไม่ถึง 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 600,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกิน 15 ปี หรือ ผู้มีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท

“โอนเงินก่อนกู้...ไม่มีอยู่จริง” ห้ามโอน! เสี่ยงตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ด้วยความห่วงใย จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

7 ก.พ.65 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ในห้วงปัจจุบันมีมิจฉาชีพหลอกลวงผ่านโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก รวมถึงแอปพลิเคชันเงินกู้ปลอมด้วย ซึ่งจะมีวิธีการหลอกให้ยื่นกู้เงิน โดยให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หลอกให้โอนเงินค้ำประกันก่อน หรือบางราย หลอกให้ชำระค่าธรรมเนียมก่อนกู้เงิน หลังจากนั้นจะไม่สามารถติดต่อได้ นั้น

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วน ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อของแอปพลิเคชันเงินกู้ปลอม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงได้ตั้ง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เพื่อปฏิบัติภารกิจกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแอปพลิเคชันเงินกู้ปลอมอย่างเข้มงวด เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสียทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีนโยบายให้ประชาสัมพันธ์เตือนภัย และให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ เสมือนเป็นวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Vaccinated) และได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ปฏิบัติหน้าที่กวาดล้างมิจฉาชีพอย่างรวดเร็ว เข้มงวด เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชน

ต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอีกต่อไป โดยอยากฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่าห้ามโอนเงินโดยเด็ดขาด หากแอปพลิเคชันเงินกู้รายไหนให้โอนเงินก่อนที่จะได้รับเงินกู้ ขอให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพไว้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงและสูญเสียทรัพย์สิน

คุยดูดทรัพย์ ‘แก๊งคอลเซนเตอร์’ อัปเกรดมุกหลอกเหยื่อ ไม่ถามเลขบัญชี แต่คุยอยู่ดีๆ เงินหายเกลี้ยง

ปัจจุบัน “แก๊งคอลเซนเตอร์” มีพัฒนาการหลอกในรูปแบบต่างๆ เรื่อยมา จนบางคนหลงเชื่อทำให้สูญเงินจนเกลี้ยงบัญชี ล่าสุด พ...อังกูร อนุวงศ์ เป็นศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Angkoon Anuwong ระบุว่า…

เตือนภัย!! ระวัง! แกงค์คอลเซนเตอร์มุขหลอกใหม่ โหด อันตรายกว่าเดิม”!!….

วันนี้เที่ยงๆ มีเบอร์แปลกเข้ามา รับสาย เสียงอัตโนมัติ บอกว่าจาก FEDEX มีพัสดุตกค้าง ฟังแล้วรู้เลย ว่าแก็งคอลเซ็นเตอร์โทรมาหลอกแน่นอน ด้วยความอยากรู้ว่าจะมีมุขอะไรมาหลอกอีก ทั้งๆที่เขารู้กันทั้งประเทศแล้ว เลยลอง ตามน้ำ คุยกับ จนท (ปลอม) ไปเกือบชั่วโมง (จริงๆพักกินข้าว เหงาๆอยู่พอดี)

ในช่วงแรก ก็เป็นมุขคลาสสิคที่ได้ยินกันทั่วไป มีพัสดุชื่อเรา ส่งไปไต้หวันทาง FEDEX แต่ติดด่านศุลกากร กักไว้ เพราะมีของผิดกฎหมาย เป็น “กัญชา ยัดไว้ในตุ๊กตาหมี” ก็ถามว่าเราเป็นคนส่งไหม ได้ทำเอกสารไรหาย ได้ซื้อของออนไลร์ อะไรไหม ฯลฯ ถ้าไม่ใช่ของเราจริง แนะนำให้ไปแจ้งความ ที่ สภ.เมืองเชียงราย ที่เป็นที่เกิดเหตุ ถ้าไม่สะดวกไป จนท จะประสานให้ … ตามสูตรปกติ

ตัดมาที่ ตำรวจ สภ เมือง เชียงราย ร้อยเวรเป็นผู้หญิงโทรมา สอบถามโน่นนี่นั่น ทำเสียงดุๆ (เล่นให้สมเป็นตำรวจ) สุดท้าย สอบปากคำประกอบสำนวน โดยการแอดไลน์ line id: police…191 (แอดไปป่วนได้เลย 555) มันมีเหตุผลที่เค้าต้องลากเหยื่อมาแอดไลน์อยู่ แต่ไม่ใช่มุขวีดีโอคอล แบบเดิมแล้ว แต่โหดกว่าเดิม

ทีนี้ จะเป็นการโทรทางไลน์ ก็สอบถามข้อมูลส่วนตัว พอบอกชื่อ เลขบัตรประชาชนมั่วๆ ไป ทักขึ้นมาทันที ว่าเลขบัตรไม่ใช่ (เค้าคงมีข้อมูลบัตรเราอยู่แล้ว) พยายามจะให้ถ่ายบัตรประชาชนส่งให้ได้ เราก็ประวิงเวลาไปก่อน

จุดที่ว่าพีค และโหดสุด อยู่ตรงนี้ครับ เมื่อก่อน เค้าจะสอบถามบัญชี สอบถามจำนวนเงิน และให้เราโอนไปบัญชีม้า ใช่ไหมครับ แต่มันคงรู้ว่า คนรู้หมดแล้ว และไม่ยอมโอนแน่ เค้าเลยใช้มุข “ขอตรวจสอบโทรศัพท์ของเรา ว่ามีข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลไปได้ยังไง” โดยให้ ตำรวจไซเบอร์มาคุยกับเรา เพื่อติดตั้งแอพตรวจสอบความปลอดภัยมือถือ วิธีการนี้ คนทั่วไปจะยอมครับ เพราะไม่เกี่ยวกับเงินเหมือนเมื่อก่อน

จนท จะให้เราโหลดโปรแกรม ตามลิงค์ข้างล่าง (มีอยู่ใน app store) (ถ้าเป็น android จะส่งของแอนดรอยด์)

https://apps.apple.com/.../teamviewer.../id661649585

มันคือ โปรแกรม Team Viewer Support ถ้าคนทั่วไป ที่ไม่ใช่สาย tech จะไม่ค่อยรู้ว่ามันคืออะไร. โปรแกรมพวกนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า Remote Desktop Connection กล่าวคือ เรานั่งอยู่ กทม. สามารถ คอนโทรลเครื่องคอมหรือมือถือคนที่อยู่เชียงใหม่ได้แทบจะ 100% เค้าออกแบบมาเพื่อให้สามารถแก้ไข ควบคุมอีกเครื่องได้ (ต้องได้รับการอนุญาตให้เข้าถึงเครื่องก่อน) ปัจจุบัน มีการพัฒนา version มือถือแล้ว ซึ่งก็คือลิงค์ข้างบน สามารถให้คอม ควบคุม มือถือเป้าหมาย จะเห็นทั้งหมดบนหน้าจอ เลื่อน เปิดโปรแกรม รับ sms ได้เสมือนเราเป็นเจ้าของเครื่องเอง

เริ่มปะติดปะต่อได้แล้วใช่ไหมครับ ว่าโหดยังไง … ตำรวจ Cyber (ปลอม) จะสอนให้เรา รับ Connection และเปิดกลับมาหน้าจอ Home ทิ้งไว้ ห้ามปิด แล้วจะส่งให้ ร้อยเวร สภ.เมืองเชียงรายคนเดิมคุยต่อ

มิจฉาชีพแสบ!! ลอกเนียนชีวิตประจำวันพิธีกรสาว ปั้น ‘โปรไฟล์’ หลอกสายหวังรวยลัดโอนเงินลงทุน

(22 มิ.ย.65) ปริม-กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ดำเนินรายการ Click on Clear Original ทาง THE STATES TIMES ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Prim Kunjara Na Ayudha’ เกี่ยวกับมิจฉาชีพที่มีการหลอกใช้ภาพของตนไปหลอกลวงผู้อื่น ว่า…

มิจฉาชีพเดี๋ยวนี้มันเหิมเกริมมาก!!

Copy ชีวิตเรา โดยเอาภาพในโลก Social ไปหลอกให้คนอื่นโอนเงินให้อีกแล้ว!! แน่นอนว่าเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย จนกระทั่งมีลูกเพจของ THE STATES TIMES ทักมา เช้านี้ที่ออฟฟิศเลยส่งมาให้ดู ถึงรู้เรื่อง

ชั่วมากๆ ค่ะ ที่รับไม่ได้คือ เอาภาพคุณยายกับน้องสาวไปด้วย 

ที่สำคัญมีผู้เสียหายโอนเงินไปจริง ๆ

ตร. เตือน รวม 5 มุกเด็ด SMS มิจฉาชีพ รู้ไว้ ปลอดภัยกว่า

วันที่ 3 ส.ค. 2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น
ปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ยังคงมีกลุ่มมิจฉาชีพใช้การส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในการหลอกลวงเหยื่อให้กดลิงก์หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล หลอกเอาทรัพย์สินจากเหยื่อ หลอกให้กู้เงินนอกระบบ  หรือหลอกให้เล่นพนันออนไลน์ เป็นจำนวนมาก 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบถึงกลโกงและวิธีการของกลุ่ม SMS หลอกลวง เพื่อให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทัน และสามารถป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย โดยจากการตรวจสอบพบว่าแผนประทุษกรรมในการหลอกลวงผ่าน SMS มีดังนี้

‘ชัยวุฒิ’ เตือน ระวัง มิจฉาชีพ TikTok ย้ำ อย่าเชื่อชวนลงทุนผลตอบแทนสูงเกินจริง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงปัญหามิจฉาชีพส่งข้อความ SMS ชวนทำงานผ่านแอปพลิเคชัน ติ๊กต๊อก (TikTok) ว่า ฝากเตือนพี่น้องประชาชนช่วงนี้มีมิจฉาชีพใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึง SMS ต่าง ๆ เข้ามาหลอกลวงพี่น้องประชาชน ล่าสุดมิจฉาชีพใช้ผ่านช่องทาง TikTok เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าไปลงทุน อ้างว่ามีผลตอบแทนสูงเกินจริง สุดท้ายก็หลอกลวงนำเงินประชาชนไป จึงอยากเตือนให้ระมัดระวัง ผู้ที่มาหลอกลวงมักเป็นคนที่เราไม่รู้จัก การจะลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียควรตรวจสอบว่าบุคคลนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้าอ้างถึงหน่วยงานหรือองค์กรต้องตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ถ้าท่านเอาเงินไปให้กับคนที่ท่านไม่รู้จักผ่านโซเชียลมีเดียโอกาสได้คืนน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงยิ่งถ้ามีผลตอบแทนที่สูงเกินจริงหลายเท่าตัว ขณะเดียวกันก็เตือนประชาชน ให้ระวังการสเเกนผ่านมือถือ ควรตรวจสอบให้ถูกต้อง ศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนกรอกข้อมูล 

ทั้งนี้ ใครที่มีปัญหาการถูกหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชัน TikTok หรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ สามารถร้องเรียนมาได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านสายด่วน 1212 เราจะพยายามแก้ปัญหาให้ทุกท่านให้ดีที่สุดนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

ตร.เตือน หลอกขายของออนไลน์ ภัยออนไลน์อันดับ 1 ของคนไทย เพียงเดือนกว่า ความเสียหายรวมเกือบ 120 ล้านบาท

วันที่ 31 ส.ค. 2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านเว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com พบว่า ประเภทคดีที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนมากที่สุดคือ หลอกขายของออนไลน์ โดยสถิติตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 จนถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 มีจำนวนการรับแจ้งถึง 9,841 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 118,874,403.38 บาท
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อของออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซื้อของผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพราะผู้ไม่หวังดีมักจะสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้ข้อมูลปลอม หรือข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่น เพื่อใช้หลอกขายสินค้าโดยเฉพาะ ดังนั้นก่อนที่พี่น้องประชาชนจะเลือกซื่อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ขอให้ใช้ความระมัดระวังก่อนที่จะโอนเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขาย เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อของการหลอกขายของออนไลน์ ดังนี้
1. เลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางหรือเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ
2.  ระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกเกินจริง หรือสินค้าหายากในท้องตลาด (Limited Edition)
3.  อ่านรีวิวจากผู้อื่นที่ซื้อสินค้าเดียวกัน ว่าเป็นอย่างไร น่าเชื่อถือหรือไม่
4.  ค้นหาข้อมูลของผู้ขายและบัญชีธนาคารรับโอนเงิน ในเว็บไซต์ Search Engine เช่น google หรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ที่ให้บริการตรวจสอบข้อมูล ว่าผู้ขายหรือบัญชีที่รับโอนเงินเคยมีประวัติฉ้อโกง หรือไม่ส่งสินค้าหรือไม่
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top