Thursday, 2 May 2024
มิจฉาชีพ

ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งค์เครื่อง Stingray ที่ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปดูดเงิน

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒนครบัญชา ผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. สั่งการให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 , พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 , พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 นำกำลังตำรวจไซเบอร์ร่วมกันเปิดปฏิบัติการล่าเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการระดับสั่งการแก๊งค์เครื่อง Stingray ที่ส่งข้อความให้กดลิงก์โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน 

สืบเนื่องจากการขยายผลกลุ่มเครือข่ายขบวนการเครื่องกระจายสัญญาณ ที่ใช้อุปกรณ์ส่งข้อความ SMS ให้ประชาชนกดลิงก์ จากนั้นคนร้ายเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินในบัญชีธนาคารที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่น Mobile Banking ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย โดยตำรวจ สอท.ได้รวบรวมหลักฐานขอศาลอาญาธนบุรีออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งเป็นขบวนการในระดับสั่งการจัดหาชุดอุปกรณ์เครื่องกระจายสัญญาณ ในความผิดฐาน "ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเห็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน , ร่วมกัน นำ มีใช้นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต , ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และเป็นอั้งยี่และหรือซ่องโจร”ต่อมาศาลอาญาธนบุรีได้อนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา ตำรวจไซเบอร์ชุดปฏิบัติการจึงได้วางแผนเข้าจับกุมในคราวเดียวกันทุกจุด เพื่อตัดวงจรของกลุ่มขบวนการดังกล่าว

ตำรวจไซเบอร์นำโดย พ.ต.อ.อภิรักษ์ จำปาศรี ผกก.1 บก.สอท.3 และ พ.ต.อ.มรกต แสงสระคู ผกก.2 บก.สอท.3 นำกำลังตรวจค้น 4 จังหวัด 5 จุด ภายในวันเดียว เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ จังหวัดพัทลุง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสระแก้ว และกรุงเทพมหานคร สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาธนบุรี 5 คน ได้แก่

1. น.ส.พรรธช์ธนกรณ์ จับกุมที่บ้านเลขที่ 28/2 ถ.อุบลนุสรณณ์ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง 
2. นายชิษณุพงษ์ จับกุมที่หอพักนักศึกษาชาย ห้อง 103 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี หมู่ 10 ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี 
3. นายศุภชัย จับกุมที่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 3 ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 
4. น.ส.บุญรอด จับกุมที่บ้านเลขที่ 55/5 ถ.บ้านวังปาตอง ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 
5. นายภูริช จับกุมที่บ้านเลขที่ 18/108 ซอยประชาอุทิศ 60 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาในขบวนการแก๊งค์เครื่อง Stingray 6 ราย พร้อมยึดของกลางรถยนต์ 4 คัน ที่มีการติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้ขยายผลกลุ่มเครือข่ายขบวนการ จนกระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาระดับสั่งการเป็นผู้ว่าจ้าง จัดหาและขนส่งเครื่อง Stingray และหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท.จะร่วมกันสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่ร่วมขบวนการที่เหลือมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้หมดทั้งขบวนการต่อไป

‘ตร.ไซเบอร์’ เผย 3 ภัยออนไลน์ที่คนร้ายนิยมใช้หลอกเหยื่อ เตือน!! ข้าราชการวัยเกษียณ-ปชช. ระวังกลลวงมิจฉาชีพ

(24 ก.ย. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เปิดเผยว่า ตามที่ในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี จะมีข้าราชการต่างๆ ครบกำหนดอายุการรับราชการ หรือที่เรียกว่า ‘เกษียณอายุราชการ’ นั้น ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีมิจฉาชีพมักนำมาใช้หลอกลวงประชาชน หรือนำมาแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย โดยจากการตรวจสอบสถิติผ่านระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ที่ผ่านมานั้น พบ 3 เรื่องที่มิจฉาชีพนำมากล่าวอ้าง หรือแอบอ้างในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้

1.) หลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมิจฉาชีพจะสร้างช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แอบอ้างบุคคล หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการลงทน หลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ทองคำ เหรียญดิจิทัล พลังงาน เป็นต้น โดยมีการใช้คำโฆษณาสวยหรู อ้างว่าเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยใกล้เกษียณอายุ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินหลักพันบาท แต่ได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว

2.) หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ โดยมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย ซึ่งเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หรือกำลังจะเกษียณอายุราชการ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าจะขอทำการตรวจสอบข้อมูลการรับบำนาญให้ทำการลงทะเบียนยืนยันตัวตน หรือแจ้งว่าจะได้รับเงินประกันบำนาญ ให้ทำการอัพเดตข้อมูล จากนั้น หลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมบัญชีกลางปลอม ‘Digital Pension’ ผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือลิงก์ที่ส่งให้ จากนั้น ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินสแกนใบหน้า และให้สิทธิการเข้าถึง และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ กระทั่งมิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย

3.) หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) โดยมิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์เป็นชาวต่างชาติ เป็นข้าราชการทหาร หน้าตาดี หลอกลวงผู้เสียหายให้หลงรัก มีความเชื่อใจ อยากมาใช้ชีวิตเกษียณอายุกับผู้เสียหายในประเทศ ต่อมาอ้างว่าจะส่งสิ่งของมาให้ แต่ภายในกล่องเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง หลอกผู้เสียหายให้โอนเงินจ่ายค่าขนส่ง ค่ารับรองต่อต้านการฟอกเงิน ค่าภาษี ไปให้กับมิจฉาชีพ

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 17 ก.ย.66 การหลอกลวงให้ร่วมลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 4 จำนวน 26,827 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.18% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 14,313 ล้านบาท การหลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 9 มีจำนวน 8,158 เรื่อง หรือคิดเป็น 2.49% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 862 ล้านบาท และการหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 12 มีจำนวน 2,621 เรื่อง หรือคิดเป็น 0.80% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 881 ล้านบาท

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวอีกว่า บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

โฆษก บช.สอท.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายังคงพบว่า มีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มิจฉาชีพมักจะเปลี่ยนเนื้อเรื่อง เปลี่ยนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลา หรือสถานการณ์ในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ แอบอ้างโครงการของรัฐฯ การหลอกลวงให้อัปเดตข้อมูลเพื่อยืนยันตัวบุคคล หรือหลอกลวงสร้างสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ อาศัยความความโลภ ความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ​ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกันการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวดัง ต่อไปนี้

1.) ระมัดระวังการชักชวนจากคนที่เพิ่งรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า หรือเป็นคนต่างชาติหน้าตาดี ที่เข้ามาตีสนิทแล้วชวนให้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันต่างประเทศ อ้างว่าลงทุนแล้วได้ผลกำไรสูง การันตีผลกำไรแน่นอน

2.) มิจฉาชีพมักอ้างว่ารู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยบุคคลที่มักนำรูปและชื่อมาแอบอ้างนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหรือมีความรู้ด้านการลงทุน พร้อมสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงเหยื่อ

3.) หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่าย โดยเฉพาะเรื่องเงิน” และ “การลงทุนมีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ”

4.) ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่ www.sec.or.th/seccheckfirst

5.) ระวังการกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาให้ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือช่องทางที่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานนั้นๆ

6.) ระวังการรับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก โดยมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง

7.) การติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store จะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่จะต้องตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ป้องกันมิจฉาชีพสร้างแอปพลิเคชันปลอมนั้นขึ้นมา

8.) ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อสังคมออนไลน์

9.) หมั่นติดตามข่าวสารของทางราชการอยู่เสมอ

ทิ้งทวนก่อนเกษียณ ผบ เด่น นำทีมรวบคอลเซนเตอร์อ้างเป็นพนักงานธนาคาร เสียหายหลักล้าน

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ประสานงาน พล.ต.อ.ซอ เทศ ผบ.ตร.กัมพูชา  นำเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด PCT5 ผนึกกำลังตำรวจกัมพูชา ตามรวบพนักงานคอลเซนเตอร์คนไทย 3 ราย คาตึกพาณิชย์ที่ใช้เป็นฐานปฏิบัติการ เมืองโอเสม็ด จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา โดยจุดดังกล่าว เป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ที่แอบอ้างเป็นพนักงานเร่งรัดหนี้สินของธนาคารแห่งหนึ่ง โทรป่วนคนไทยด้วยกัน เสียหายจำนวนมาก

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ ผอ.PCT ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. / หน.PCT ชุดที่ 5 , พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก.สส.บช.น. / รอง หน. PCT ชุดที่ 5 , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.ณรงค์ฤทธิ์  ทองแพ , พ.ต.อ.พัชรดนัย การินทร์ ผกก.(สอบสวน) บก.สส.บช.น. , พ.ต.ต.คณิตนนท์ ถนอมศรี, ร.ต.อ.วรภัทร แสงเทียนประไพ , ร.ต.ท.พุฒิพงศ์ กองแก้ว ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 และ ชุดสืบสวนนครบาล (บก.สส.บช.น.)  ร่วมกับ พล.ต.อ.วรรณวีระ สม ผู้ช่วยผบ.ตร.กัมพูชา ,พ.ต.อ.ปิยวัฒน์ เกียรติก้อง ผชท.ตร.ไทย ประจำประเทศกัมพูชา สืบสวนติดตามจับกุมตัว

1.นายภานุ มาลัย อายุ 22 ปี ที่อยู่ 36/4 หมู่ 01 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 
ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 615/2566
2.นายกฤษณะ ศรียงค์  อายุ 20 ปี  ที่อยู่ 537 หมู่  04  ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา. ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 621/2566
3.นายพงศกร ศรียงค์  อายุ 20 ปี  ที่อยู่ 36/4 หมู่  01  ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 

ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 622/256 ในข้อหา “ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซอ่งโจร, ร่วมกันฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าข้อูมลสุ่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน”

สืบเนื่องจากชุดปฏิบัติการที่ 5 ศปอส.ตร. (PCT 5) ได้รับการประสานขอความช่วยเหลือจากชาวไทย ที่เดินทางไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่อาคารแห่งหนึ่ง เมืองโอเสม็ด จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา โดยได้ให้ข้อมูลกับชุดสืบสวนว่า ที่อาคารดังกล่าว มีพนักงานคอลเซนเตอร์เป็นชาวไทยทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า 100 ราย ทำหน้าที่โทรหลอกผู้เสียหายโดยแบ่งหน้าที่กันทำดังนี้

สาย 1 อ้างตัวเป็นฝ่ายเร่งรัดหนี้สินธนาคารกสิกรไทย ออกอุบายสอบถามผู้เสียหายว่า เลขท้ายบัตรเครดิตสี่หลักนี้ เป็นของผู้เสียหายหรือไม่ ซึ่งเมื่อผู้เสียหายตอบว่าไม่ใช่ ก็จะแจ้งกับผู้เสียหายว่า ข้อมูลของท่านอาจรั่วไหล แนะนำให้แจ้งกับที่ สภ.เมืองตาก โดยให้กดปุ่มสี่เหลี่ยม (#) 2 ครั้ง ระบบจะโอนสายอัตโนมัติไปยัง สาย 2

สาย 2 อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองตาก (ยศ ส.ต.ต. ถึง ด.ต.) สอบถามผู้เสียหายว่าจะแจ้งความเรื่องอะไร และหลอกว่าข้อมูลของผู้เสียหายนั้น มีคนร้ายได้นำไปใช้ ทำให้ผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงินและยาเสพติด และผู้เสียหายจะต้องโอนเงินมาตรวจสอบ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หากผู้เสียหายยังไม่หลงเชื่อ จะทำทีเดินไปเคาะประตูและให้คุยกับตำรวจระดับ ร.ต.อ. ขึ้นไป เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ
 
สาย 3 อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองตาก ระดับ ร.ต.อ. ขึ้นไป หลอกว่าจะดำเนินคดี กับผู้เสียหาย มีการส่งข้อมูลหลอกผู้เสียหายผ่านทางไลน์ เช่น หมายจับ (ปลอม) หรือบางครั้งใช้วิธีวิดีโอคอล และใช้เทคนิคตัดต่อ สร้างความน่าเชื่อถือว่าเป็นตำรวจจริง ๆ ในท้ายที่สุด ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้โอนเงินไปตรวจสอบความบริสุทธิ์ ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ สร้างความเสียหายหลักล้านบาท ชุด PCT 5 จึงได้ประสานงานกับตำรวจกัมพูชา ล่าสุดวันที่ 28 กันยายน 2566 ได้รับรายงานว่าตำรวจกัมพูชา ได้เข้าตรวจค้นและจับกุมตัวพนักงานคอลเซนเตอร์ชาวไทย รายสำคัญได้ 3 ราย ซึ่งทุกคนมีหมายจับไทย ดังนี้
1.นายภานุ มาลัย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 615/2566
2.นายกฤษณะ ศรียงค์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 621/2566
3.นายพงศกร ศรียงค์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 622/2566
ในข้อหา “ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซอ่งโจร, ร่วมกันฉ้อโกงโดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนำเข้าข้อูมลสุ่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน”ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างนำตัวกลับมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า “เราได้ดำเนินการสืบสวนปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์มาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงคิดหาวิธีที่ใช้นำมาใช้หลอกลวงเอาเงินของคนไทยอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นในกรณีนี้ที่ถึงขั้นหลอกผู้เสียหายว่า ข้อมูลอาจรั่วไหล หรือ มีคนร้ายนำข้อมูลของท่านไปใช้ จึงอยากขอฝากเตือนพี่น้องชาวไทยทุกท่าน เมื่อมีเบอร์แปลกโทรหา อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพนักงานบริษัทต่างๆ ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพ ขอให้ยึดหลัก ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไมโอน ไว้ครับ”

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' แชร์ประสบการณ์กลโกงออนไลน์ เหยื่อส่วนใหญ่ 'ไม่โง่' แต่ไม่ทันเล่ห์ ชี้!! 'เด็ก-สูงวัย' โดนเพียบ

(3 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า...

สังคมไร้เงินสด

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบการชำระเงินก้าวหน้าที่สุด และทั่วโลกก็กำลังเป็นระบบสังคมไร้เงินสด

การออมเงินผ่านระบบการฝากเงินใส่สมุดบัญชี เปลี่ยนเป็นระบบ Digital จากบัตร ATM สู่ App บนมือถือ และมันก็เป็นช่องทางที่เงินหลุดออกไปง่ายดายมาก ๆ ลูก ๆ ผมกำลังโตขึ้น เขาได้รับการออมเงินจากเงินที่ผู้ปกครองให้ ญาติให้ ทำงานพิเศษ ฯลฯ

วันหนึ่งเงินก็หายไปจากบัญชี จำนวนเยอะมาก ๆ หลายครั้ง จนลูกคนหนึ่งเหลือเงินในบัญชี 400 บาท เขามาบอกคุณแม่ เราเริ่มติดตามสาเหตุ พบว่าเขาถูกหลอกลงทุน ผ่านสังคมออนไลน์ เขาเพิ่งเป็นผู้ใหญ่ไม่ทันคน และที่ร้ายไปกว่านั้นก่อนหน้านี้ไม่นานลูกอีกคนก็เพิ่งเสียเงินจำนวนเยอะมาก ๆ จากเหตุการณ์คล้ายกัน ทั้งสองคนไม่โง่ แต่ไม่ทันคนคิดร้าย และเงินออกจากบัญชีง่าย ๆ มาก ถ้าหากเป็นระบบเดิม ต้องไปธนาคารเอาสมุดบัญชีถอนเงิน มันใช้เวลากว่ามาก 

ย้อนไป 30 ปีก่อน เพื่อนผมหลายคนเพิ่งมีบัตรเครดิต มันไม่ใช่เงินสด การใช้จ่ายคล่องตัว เขาใช้จนเป็นหนี้ธนาคารเยอะมาก ดอกเบี้ยก็แพง ผมถูกขอให้ช่วยเหลือ ผ่านไป 30 ปี เขาก็ยังไม่คืนเงิน เขาลืมความลำบากในการถูกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 20-30% ใช้ชีวิตดี แต่ปัญหาเพราะความระวังในการใช้ cashless น้อย

ผมเล่าให้เพื่อนอีกคนฟัง เขาก็ตอบว่าลูกเขาก็โดน อายุไม่มาก เป็นเด็กฉลาดเรียนเก่ง มีเงินเก็บที่พ่อแม่ให้เยอะ แต่ก็ไม่ทันคน โดนหลอกไปเยอะมาก ๆ คำว่าเยอะมาก ๆ ของผม หลายคนคงเดาได้ ถ้าเราไปบอกธนาคารเขาก็บอกเราโง่เอง 

แต่ท่านเชื่อไหมครับ ผม Search Google ง่าย ๆ ชื่อคนที่เราโอนเงินไป มีเต็มใน Google เป็นคนร้ายที่มีคดีมาก่อน ตำรวจเคยจับแล้ว 

บทความนี้เขียนเพื่อให้เพื่อน ๆ ที่อ่านระวัง มันอาจเกิดกับท่าน ลูกหลาน ผู้ใหญ่ที่ท่านรักที่อายุมากแล้ว

ตำรวจไซเบอร์จับเครือข่ายแก๊งสรรพากรปลอม โทรถ่วงเวลาสูบเงินเกลี้ยงบัญชีเกือบ 2 แสน

สืบเนื่องจาก เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 24 ม.ค.66 ผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์จากหญิงปริศนา อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรจังหวัดนนทบุรี สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการร้านค้าคนละครึ่งของผู้เสียหาย จากนั้นออกอุบายว่าผู้เสียหายได้ส่วนลดในการชำระภาษี จากนั้นจึงให้ผู้เสียหายแอดไลน์กรมสรรพากรปลอม พร้อมกับทำการโอนสายไปให้ชายอีกคน ระหว่างคุยสายก็ให้ผู้เสียหายทำการกดลิงก์พร้อมกรอกข้อมูลต่างๆ ตามขั้นตอนที่แจ้งจนเสร็จสิ้น หลังจากวางสาย ผู้เสียหายพบว่าเงินในบัญชีธนาคารถูกโอนออกไป จำนวน 171,112 บาท จึงเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดี 

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ส่งเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนเพื่อจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีโดยเร็ว จนสามารถขออำนาจศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้หลายราย

ต่อมา กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า น.ส.ธัญญากร อายุ 27 ปี ชาวจังหวัดนนทบุรี หนึ่งในผู้ร่มขบวนการ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดมหาสารคาม พักอาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จว.นนทบุรี จึงทำการวางแผนเข้าจับกุม จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าวได้ริมถนนตรงข้าม ซอยแก้วอินทร์ 25 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จว.นนทบุรี

โดยได้แจ้งในข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์โดยลวงเป็นเจ้าพนักงาน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน” จากนั้นจึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บกสอท. 3 ต่อไป           

กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา  ผบช.สอท.  พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3, พ.ต.อ.พงศ์นรินทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะข่าวฯ บก.สอท.3 สั่งการให้ พ.ต.ท.ภาคภูมิ บุญเจริญพานิช รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พ.ต.ต.รุ่งเรือง มีสติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, พ.ต.ต.ธวัช ทุเครือ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, พ.ต.ต.ขจร แย้มชม สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ

ตำรวจไซเบอร์จับขบวนการแก๊งแอปกรมที่ดินปลอม หลอกสแกนใบหน้าดูดเงินหายกว่า 2 ล้าน

สืบเนื่องจากเมื่อ ต้นเดือน ก.ค.66 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งออนไลน์ว่า มีมิจฉาชีพโทรหาผุู้เสียหายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน อ้างว่าเคยส่งหนังสือเรื่องการขอให้ปักหมุดพิกัดที่ดินที่ผู้เสียหายครอบครองอยู่ โดยส่งหาผู้เสียหาย 2 ครั้งแล้วแต่ผู้เสียหายไม่ติดต่อกลับ มิจฉาชีพจึงแนะนำให้ผู้เสียหายดำเนินการปักหมุดพิกัดที่ดินออนไลน์ อีกทั้งมิจฉาชีพยังสามารถแจ้งข้อมูลที่ดินของผู้เสียหายได้ถูกต้อง ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อ 

ต่อมา มิจฉาชีพให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ที่ปลอมขึ้นมาแล้วให้ผู้เสียหายโหลดแอปกรมที่ดินปลอม จากนั้นได้ให้ผู้เสียหายทำการสแกนใบหน้าหลายครั้ง ระหว่างที่คุยกับมิจฉาชีพและทำตามขั้นตอนที่ปลายสายบอก ผู้เสียหายสังเกตเห็นข้อความแจ้งเตือนเงินออกจากบัญชี ผู้เสียหายตกใจจึงพยายามกดออกจากแอป ดังกล่าวแต่ปรากฎว่าโทรศัพท์มือถือค้าง ไม่สามารถดำเนินการใดใดได้ จึงถอดซิมออกแล้วทุบโทรศัพท์ตนเองทิ้ง สุดท้ายเมื่อมาตรวจสอบบัญชีธนาคาร พบว่าเงินถูกโอนออกไปจากบัญชี จำนวน 4 ครั้ง รวมสูญเงินกว่า 2 ล้านบาท จึงได้ทำการแจ้งความผ่าน www.thaipoliceonline.com

พล.ต.ท.วรวัฒน์  วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ออกสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้อง จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้หลายราย

ต่อมา เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3 ลงพื้นที่สืบสวนหาข้อมูลจนทราบว่ามีผู้ต้องหาในขบวนการดังกล่าวหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่ ม.5 ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี จึงนำหมายจับศาลจังหวัดบัวใหญ่เข้าจับกุมตัว น.ส.พึงชญา อายุ 37 ปี ชาวอุดรธานี ในข้อหา “ร่วมกันลักทรัพย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.สอท.3 ดำเนินการต่อไป

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 และ พ.ต.อ.พงศ์นริทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3, ได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ภาคภูมิ บุญเจริญพานิช รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ พ.ต.ต.รุ่งเรือง มีสติ และ พ.ต.ต.ธวัช ทุเครือ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการจับกุม

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยผู้สูงอายุระวังถูกมิจฉาชีพใช้คำหวานหลอกลวงให้ลงทุน ฝากบุตรหลานช่วยสอดส่องการใช้เงินที่ผิดปกติ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีบุตรชายพาผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา อายุ 75 ปี เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หลังจากถูกมิจฉาชีพหลอกลวงชักชวนให้ร่วมลงทุนในทองคำ ความเสียหายกว่า 18 ล้านบาท นั้น

การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ มิจฉาชีพจะเริ่มจากการมองหาเหยื่อที่ค่อนข้างมีอายุ หรือมีฐานะการงานดี ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook Instagram รวมถึงแอปพลิเคชันหาคู่รักต่างๆ สร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมเป็นบุคคลเพศตรงข้ามหน้าตาดี แล้วติดต่อขอเป็นเพื่อนกับเหยื่อ หรือขอเป็นเพื่อนกับเพื่อนของเหยื่อก่อน เมื่อเหยื่อไม่ทันระวังตัวรับมิจฉาชีพเป็นเพื่อน เนื่องจากเห็นว่ามีเพื่อนร่วมกันหลายท่าน จะเริ่มติดต่อทักทายเหยื่อ เพื่อพูดคุยเรื่องทั่วไป สอบถามกิจวัตรประจำวัน หรือถ่ายภาพทำกิจกรรมต่างๆ ส่งมาให้ ต่อมาก็จะขอพูดคุยกับเหยื่อผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ เมื่อเริ่มสนิทสนมกับเหยื่อ หรือเหยื่อไว้ใจมากขึ้นแล้ว จะบอกเหยื่อว่าตนมีรายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินดิจิทัล เงินสกุลต่างประเทศ ทองคำ หุ้น เป็นต้น หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หวังดีอยากให้เหยื่อมีรายได้เพิ่ม จากนั้นจะชักชวนให้ลองลงทุนผ่านเว็บไซต์ หรือเเพลตฟอร์มการลงทุนปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา ซึ่งในช่วงเเรกๆ ที่เหยื่อลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มาก เหยื่อมักจะได้รับผลตอบเเทนจริงเสมอ เเต่เมื่อเหยื่อใช้เงินลงทุนที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะไม่สามารถถอนเงิน หรือถอนกำไรออกมาใช้ได้ โดยมิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่างๆ เช่น แจ้งว่าอย่าเพิ่งถอนเงินรอจังหวะที่เหมาะสมก่อน และหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือหากจะถอนเงินดังกล่าวจะต้องโอนเงินค่าภาษี ค่าค้ำประกันต่างๆ เป็นต้น กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกก็จะปิดช่องทางการติดต่อแล้วหลบหนีไป

จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 30 ก.ย.66 พบว่า การหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 27,509 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.20% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 4 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน และหลอกให้กู้เงิน โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 13,952 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 1 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด

การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ” หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนรู้เท่าทันภัยที่แฝงมากับเทคโนโลยี

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวต่ออีกว่า กรณีการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว แม้ว่าจะมีผู้เสียหายในจำนวนที่น้อยกว่าการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นยังคงสูงเป็นอันดับแรกเสมอ ฝากไปยังประชาชนให้พึงระมัดระวังการรับเพื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ หากไม่ได้รู้จักผู้นั้นจริงอย่าได้รับเป็นเพื่อน หรือติดต่อพูดคุยเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบุคคลเพศตกข้ามติดต่อมาพูดคุยตีสนิท แล้วชักชวนให้นำเงินมาลงทุน โดยมิจฉาชีพเหล่านี้มักใช้คำหวานเพื่อหลอกลวงเหยื่อ ใช้ประโยคสนทนาในการพูดคุยที่ผิดปกติ เหมือนมีการใช้โปรแกรมแปลภาษามาก่อน และมิจฉาชีพจะไม่ยอมเปิดกล้องเพื่อให้เห็นใบหน้าแต่อย่างใด รวมถึงอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้แล้วฝากบุตรหลานช่วยสอดส่องบุคคลในครอบครัวว่ามีการใช้จ่ายเงินที่ผิดปกติหรือไม่ เพื่อป้องกันและยับยั้งความการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามหากท่านตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ โดยการแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย 66 ถึงวันที่ 13 ธ.ค. 66 เวลา 08.30 - 16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อเฉลี่ยทรัพย์คืนให้แก่ผู้เสียหายรวมกว่า 600 ล้านบาท

‘บิ๊กต่อ’ สั่งล่าแก๊งหลอกขายไอโฟน เด็กม.6 จนเครียดผูกคอดับ พบยอดเงินรอโอนไปเมียนมา เตรียมรวมหลักฐานออกหมายจับ

(18 ต.ค.66) ความคืบหน้ากรณี น้องพลอย (นามสมมุติ) นักเรียนหญิงชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ผูกคอลาโลกในห้องนอนบ้านพัก เมื่อช่วงเย็นวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทางตำรวจสันนิษฐานสาเหตุคาดว่าเบื้องต้นมาจากความเครียด เนื่องจากถูกแก๊งมิจฉาชีพ หลอกให้ผ่อนโทรศัพท์มือถือไอโฟน 13

ล่าสุด พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผบก.สอท.5 เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ รรท.รองผบ.ตร. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รองผบช.สอท. สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมกลุ่มแก๊งที่หลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินทั้งขบวนการ

พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวว่าจึงประสานงานกับตำรวจภูธรภาค 8 และทางบก.สส.ภ.8 เพื่อรับโอนสำนวนคดีมาให้ทาง บช.สอท. สืบสวนสอบสวนเนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจและกลุ่มคนร้ายทำเป็นลักษณะขบวนการ โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ทางผู้ปกครองของผู้เสียหายแจ้งความผ่านระบบออนไลน์แล้วที่สภ.เกาะทวด แล้ว

พล.ต.ต.ชรินทร์ กล่าวอีกว่าตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กลุ่มขบวนการดังกล่าวเปิดบัญชีม้า 4 แถว โดยแถวแรกอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ พนักงานสอบสวน บช.สอท.5 อยู่ระหว่างเชิญตัวเข้ามาสอบสวนในช่วงบ่ายที่ บช.สอท. ส่วนอีก 3 แถวอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอยู่ระหว่างสืบสวนดำเนินการ

ผบก.สอท.5 กล่าวว่าส่วนยอดเงินยังอยู่กับปลายแถวที่ 4 ยังไม่มีความเคลื่อนไหว โดยกลุ่มคนร้ายเตรียมรอโอนไปปลายทางฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งภายในวันนี้พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอศาลขอออกหมายจับ

ตร. ตีแผ่ กลลวง มิจฉาชีพ ตีเนียน ปลอมเสียงเป็นคนรู้จักโทรหลอกยืมเงิน ความจริงอาจไม่ได้ใช้ AI อย่างที่คิด

วันนี้ ( 20 ตุลาคม 2566) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือที่เรียกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีรูปแบบในการหลอกลวงที่หลากหลาย แตกต่างกัน โดยรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยคือการปลอมเสียงเป็นคนรู้จักโทรศัพท์หาผู้เสียหายเพื่อหลอกยืมเงิน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอมาตีแผ่หนึ่งในเทคนิคกลลวงของกลุ่มคนร้ายปลอมเสียงคนรู้จักเพื่อหลอกยืมเงิน ซึ่งอาจใช้วิธีการที่ง่ายกว่าที่เราคิด และไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมดัดแปลงเสียงต่าง ๆ หรือต้องมีข้อมูลรูปแบบเสียงคนรู้จักของเราแม้แต่น้อย

ซึ่งวิธีการที่พบคือ คนร้ายจะโทรศัพท์หาเป้าหมายแล้วทำทีพูดว่า “จำได้ไหมนี่ใคร” “จำเพื่อนได้รึเปล่า” หรือ “แค่ไม่สบายเสียงเปลี่ยน เปลี่ยนเบอร์โทรนิดหน่อย ก็จำกันไม่ได้แล้วหรือ” แล้วจะพยายามให้เหยื่อพูดชื่อมาก่อน ซึ่งหากเสียงของคนร้ายมีความคล้ายกับเสียงเพื่อนหรือคนรู้จักของเราจริง ๆ แล้วเราพูดชื่อของคนนั้นออกไป คนร้ายก็จะสวมรอยเป็นคนนั้นทันที

จากนั้นคนร้ายก็จะชวนคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเพื่อสร้างความเชื่อใจ แล้วทำทีว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยอ้างว่า แอปธนาคารล่ม, มีแต่เงินสดโอนเงินไม่ได้, มีเหตุด่วนต้องใช้เงิน หรือเหตุผลความจำเป็นอื่น ๆ เพื่อหลอกให้เราโอนเงินให้กับคนร้ายต่อไป

จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คนร้ายจะใช้เทคนิคในการหลอกล่อให้เราพูดชื่อคนรู้จัก ที่เสียงเหมือนกับคนร้ายออกไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เสียหายมักจะเชื่อโดยสนิทใจ ว่าคนที่คุยด้วยคือคนรู้จักจริง ๆ เพราะเป็นคนพูดออกไปเองว่าเสียงของคนร้ายเหมือนเสียงของใคร และทำให้ผู้เสียหายไม่ทันระวัง หลงเชื่อโอนเงินตามที่คนร้ายขอนั่นเอง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อบุคคลที่ติดต่อมาทางโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก โดยเฉพาะการติดต่อจากเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก เพราะอาจเป็นคนร้ายที่มาแอบอ้างหลอกยืมเงินได้

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากคนร้ายที่ปลอมเสียงคนรู้จักแอบอ้างหลอกยืมเงิน สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือสถานีตำรวจในท้องที่ที่ท่านทราบการกระทำความผิด ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เด็กๆ เศร้า!! ซ้อมเต้นรอเก้อ ถูกหลอกจะมาเลี้ยง 'ไก่ทอด-มอบทุน' แต่ยังดี!! มีผู้ใหญ่ใจดีตัวจริงมาช่วยเยียวยาแทน หลังโพสต์แพร่สะพัด

(7 พ.ย.66) จิตใจทำด้วยอะไร…เมื่อเฟซบุ๊กโรงเรียนบ้านป่าหัด อำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้โพสต์ข้อความต้อนรับ เภสัชกรหญิงรายหนึ่งและคณะ โดยระบุไว้ว่า…

“โครงการ #อุ่นน้องท้องอิ่ม ในปี 2566 นี้ วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน เป็นโครงการที่ ภกญ.xxxx และเพื่อนๆ กลุ่มเภสัชกร & เพื่อนๆ กลุ่มรร.มัธยมศึกษา 1-6 ได้จัดทำขึ้น ให้กับน้องๆ ตามรร.ต่างๆ ทุกๆ จังหวัดได้รับความอบอุ่น & อิ่มท้อง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสุข ซึ่งโครงการนี้เริ่มต้นที่ จ.น่าน เป็น รร.แรก คือ โรงเรียนบ้านป่าหัด อำเภอปัว จังหวัดน่าน 

ทางคณะเราขอส่งมอบเสื้อวอร์ม คนละ 1 ชุด ให้กับน้องๆ ทุกคน รวม 117 ชุด เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว น้องๆ จะได้รับทุนการศึกษาคนละ 1,000 บาท ทุกคนรวม 117 คน เพื่อใช้จ่ายในด้านอุปกรณ์การเรียน น้องๆ ได้รับความอบอุ่นแล้ว ท้องก็ต้อง อิ่มด้วย ขอขอบคุณ เคเอฟซี ป.ต.ท ปัว ในด้านบริการ อาหารกลางวันให้กับน้องๆ ทั้งหมด 117 ชุด พร้อมคณะอาจารย์ทุกท่านและคณะทางเรา ได้อิ่มท้องแล้วพบกันค่ะ” 

ขณะที่ทางโรงเรียนและนักเรียนก็จัดสถานที่ จัดทำป้ายต้อนรับคณะผู้ใหญ่ใจดีพร้อมทั้งเด็กๆ นักเรียนก็ซ้อมทำการแสดงไว้รอต้อนรับอย่างมีความหวังและตื่นเต้นกันสุดๆ แต่แล้วเมื่อถึงเวลานัดหมายคือวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มเภสัชกร ไม่สามารถติดต่อได้และปิดเฟซบุ๊กไป คณะครูจึงได้ทำการตรวจสอบจึงพบว่าเป็น มิจฉาชีพ สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับทางโรงเรียน ทางผู้บริหารได้ดำเนินการแจ้งความไว้เป็นคดีความเรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่โพสต์นี้ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ได้มีผู้ใหญ่ใจดีเข้ามาเยียวยาจิตใจเด็กๆ ด้วยการสมทบทุนกันซื้อไก่ทอด KFC ให้เด็กๆ ได้กินกันอย่างมีความสุข 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top