Sunday, 19 May 2024
ประชาธิปัตย์

‘ปชป.’ จี้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาทุเรียนไทยทั้งระบบ ออกกฎหมายควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐานและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 66 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืนทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน โดยมี สส.จากทุกพรรคการเมืองร่วมลงนามเสนอญัตติดังกล่าว จำนวน 20 คน

ด้วยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปี 2565 มูลค่าส่งออกจำนวน 125,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นพืชผลการเกษตรที่ส่งออกทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับสาม รองจากยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ รวม 43 จังหวัด ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างรวดเร็ว 

ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1,340,000 ไร่ มีทั้งที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และที่ปลูกโดยนักลงทุนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน ทำให้ต้องใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าเพื่อการเกษตร แรงงานภาคเกษตร การขนส่งผลผลิตทุเรียน อุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในปริมาณที่สูงขึ้น 

หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร ถ้าผลผลิตทุเรียนล้นตลาด และคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ราคาอาจจะตกต่ำ หากใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัจจุบันภาครัฐมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน จึงใช้การขอความร่วมมือ การออกระเบียบหรือคำสั่งในระดับจังหวัด โดยอิงมาตรฐานทางวิชาการ ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนระดับ พ.ร.บ. มาบังคับใช้โดยเฉพาะ ต้องอาศัยกฎหมายทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 47 ทำให้มีข้อจำกัดในการลงโทษผู้นำทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด หากมีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนเป็นการเฉพาะ จะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภาครัฐไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนโดยเฉพาะมาบังคับใช้เพื่อการส่งเสริม การพัฒนา การแก้ปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ ครบวงจรเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 

เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้ประเทศเป็นอันดับต้น ๆ และประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง เหนือประเทศคู่แข่ง แต่ปัจจุบันจึงยังไม่มีกองทุนทุเรียนไทยที่สามารถหักเงินจากการส่งออกทุเรียนเข้ากองทุน เหมือนยางพาราที่มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน มีเงินทุนมาศึกษาวิจัย พัฒนา เกี่ยวกับทุเรียนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 นี้ จะให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ให้มีความมั่นคงต่อไป 

'ชัยชนะ' ฟาด!! 2 เดือน 'รัฐบาล-นายกฯ' สอบตก ยก 3 ผ่าน 'อนุทิน-ชาดา-ธรรมนัส' ทำงานเห็นผล

(9 พ.ย.66) นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของรัฐบาลหลังเข้ามาบริหารประเทศ 2 เดือน ว่า  2 เดือนในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายก​รัฐมนตรี​ สิ่งที่น่าผิดหวัง คือ ไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจของประเทศได้ ประชาชนยังอยู่ในยุคที่ข้าวของมีราคาแพง อีกทั้งปัญหาการพนันออนไลน์ ทุกวันนี้ก็ยังมีข่าวปัญหาอาชญากรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการพนันออนไลน์มากมาย และสุดท้ายการแก้ไขปัญหายาเสพติดก็ล้มเหลว ส่วนการปรับลดราคาพลังงาน ก็เหมือนเป็นการปรับลดแบบไฟไหม้ฟางระยะสั้น แก้ปัญหาไม่ตรงจุด และการทำงานของนายกฯ 2 เดือนที่ผ่านมา ก็เปรียบเสมือนนายกฯ เป็นหัวหน้าทัวร์ศูนย์เหรียญ ส่วนใหญ่จะท่องเที่ยวในต่างประเทศมากกว่า และดูว่าการเดินทางต่างๆ ก็ไม่มีเป้าหมาย

นายชัยชนะ ยังกล่าวต่อด้วยว่า มีรัฐมนตรีแค่ 3 คนที่สอบผ่าน คือ นายอนุทิน ชาญ​วี​ร​กูล​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องของสังคมหลายเรื่อง ​ทั้งเรื่องเปิดผับถึงตี 4, นายชาดา ไทยเศรษฐ์​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย วางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพลอย่างมีระบบ, ร้อยเอกธรรมนัส พรหม​เผ่า​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนและดูแลพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐาต้องกลับไปทบทวน เพราะรัฐมนตรีใน ครม. 35 คนสอบผ่านแค่ 3 คน ที่เหลือยังไม่มีผลงานประดับชัดเจน

“ต้องบอกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่การเดินแบบแฟชันโชว์หรือเป็นไกด์ทัวร์ จุดสำคัญต้องมีวุฒิภาวะ ซึ่งนายกรัฐมนตรียังไม่มีโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่จูบมือ ‘อุ๊งอิ๊ง’ อันนี้ถือว่าขาดภาวะความเป็นผู้นำ และตนขอให้คะแนนนายกฯ แค่ 3 คะแนนจากเต็ม 10 และ 3 คะแนนที่ให้คือ 1.นายกไหว้สวย 2.ไปเที่ยวทำให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้นและ 3.คือนายกแต่งตัวแฟชัน” นายชัยชนะ กล่าว

ฤๅ 'ปชป.' 77 ปี จะเรียบร้อยโรงเรียน 'ต่อ' เอาใคร!! 'นราพัฒน์-มาดามเดียร์-เฉลิมชัย'

รอบนี้น่าจะ ‘เจ็บแต่จบ’...ซะที สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ภายในวันที่ 9 ธ.ค.ปีนี้ จะได้หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่...

ต้องทวนความสักนิดว่าวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ลาออกจาก 'รักษาการหัวหน้าพรรค' โดยให้เหตุผลลาออกว่า “เพื่อให้การประชุมใหญ่เลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ดำเนินการไปโดยสิ้นข้อสงสัยในเรื่องข้อกฎหมายกรณีรักษาการหัวหน้าพรรค...”

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ 'เล็ก เลียบด่วน' ต้องขอแส่รู้สักนิดว่า ทาง กกต. นั้นเขาระบุว่า เมื่อนายจุรินทร์ลาออกจากหัวหน้าพรรคเมื่อ 14 พ.ค. ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเลย กรรมการที่เหลือก็รักษาการกันไปโดยมีรองหัวหน้าพรรคลำดับแรกคือ นราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการหัวหน้าพรรค...

นั่นคือมองต่างมุมของ กกต. กับ ประชาธิปัตย์...

อ้าว ก็ว่ากันไป...ตอนนี้ท่าน 'อู๊ดด้า จุรินทร์' ก็ตัดปัญหาลาออกไปแล้ว ที่ประชุมพร้อมใจกันเลือก 'เสี่ยต่อ' เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค มารักษาการหัวหน้าพรรค...พร้อมมีมติแก้ข้อบังคับให้เพิ่มองค์ประชุมอีก 150 คน จาก 5 ภาค ๆ ละ 50 คน เป็นองค์ประชุมสำรองป้องกันองค์ประชุมล่มหรือไม่ครบเหมือนสองครั้งที่ผ่านมา...

นับเป็นวิวัฒนาการที่น่าอนาถใจยิ่งของพรรคการเมืองเก่าแก่อายุ 77 ปี...

สาเหตุที่การประชุมสองครั้งล่มไม่เป็นท่า ก็ไม่มีอะไรอื่น...นอกจากสองฝ่ายที่ห้ำหั่นเชือดเฉือนไม่ยอมซึ่งกันและกัน...

- ฝ่ายหนึ่งนำโดยเฉลิมชัย ศรีอ่อน เสนอสูตร นราพัฒน์ แก้วทอง เป็นหัวหน้าพรรค เดชอิศม์ ขาวทอง เป็นเลขาธิการพรรค

-อีกฝ่ายนำโดยผู้อาวุโสชวน หลีกภัย / บัญญัติ บรรทัดฐาน เสนอ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คัมแบ็กกู้พรรค...

เมื่อตกลงกันไม่ได้ เกมก็ถูกลากยาวมาเรื่อย ๆ กระทั่ง สส. ฝ่ายเฉลิมชัยเข้าชื่อยื่นโนติ๊สให้ 'จุรินทร์' เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายใน 60 วัน..

ปัญหาว่า...เวลาเปลี่ยน โผเปลี่ยนมั้ย...

ฝ่ายผู้อาวุโส คงไม่เปลี่ยน ถ้ายังคิดสู้ก็ส่งอภิสิทธิ์ลงสู้ ยกเว้นอภิสิทธิ์เกิดอาการเซ็งโลก...ไม่เล่นด้วย

ส่วนฝ่ายเสี่ยต่อ เฉลิมชัย ตอนนี้สายข่าวแบบลึกแต่ไม่ลับ กระซิบกระซาบมาว่าตำแหน่งหัวหน้ามีถึง 3 ทางเลือก คือ 

1) นราพัฒน์ แก้วทอง ตามโผเดิม 
2) มาดามเดียร์ วทัญญา บุนนาค ที่เจ้าตัวพร้อมมาก 
และ 3) เฉลิมชัย ศรีอ่อน ยอมผิดคำพูดขอกู้พรรค 2 ปี

ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค ของสูตรเสี่ยต่อ...ตอนนี้ไม่มีเพียง เดชอิศม์ ขาวทอง หรือ 'นายกฯ ชาย' ชื่อเดียวแล้ว หากแต่มี 'เดอะแทน' ชัยชนะ เดชเดโช ดาวรุ่งจากเมืองคอน โผล่มาลุ้นด้วยคน...

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่ตอนนี้ มีการพูดถึงสูตร 'มาดามเดียร์-เสี่ยแทน' กันหนาหู

แต่สำหรับ 'เล็ก เลียบด่วน' สังหรณ์ใจว่า...นาทีสุดท้าย 'เสี่ยต่อ' จะล่อซะเอง...ขออภัยหากไม่สุภาพ 

สวัสดี!!

‘มาดามเดียร์’ เปิดตัวชิง ‘หัวหน้าพรรคปชป.’  กาง 3 แนวทางกู้ศรัทธาฟื้นความเชื่อมั่น

(29 พ.ย. 66) ที่ลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม.พรรคประชาธิปัตย์ นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างมายังพรรค ถือฤกษ์เวลา 09.29 น. นำพวงมาลัยไหว้สักการะพระแม่ธรณีมวยผม ก่อนแถลงเปิดตัวลงสมัครลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

โดย น.ส.วทันยา กล่าวว่า มาแถลงเพื่ออยากบอกถึงตั้งใจของตัวเองผ่านไปพี่ ๆ สื่อมวลชนผ่านไปยังสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน ประชาชนที่ยังคงรักในพรรคประชาธิปัตย์ และประชาชนทั่วไปว่า ตนตั้งใจขอเสนอตัวเองเป็นหนึ่งทางเลือกในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ซึ่งการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตนยังเชื่อมั่นและเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า พรรคประชาธิปัตย์มี ความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ และการเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีเจ้าของอย่างแท้จริง เราจะเริ่มต้นด้วยการทำการเมืองใหม่ที่ซื่อตรงและจริงใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ให้กลับมาได้รับความไว้วางใจ ให้กลับมาเป็นความหวัง เพื่อยืนยันในพลังประชาธิปไตย และเพื่อเสนออนาคตให้กับทุกคนในวันข้างหน้า

เมื่อถามถึงคะแนนเสียงสนับสนุนและทีมงานนั้น น.ส.วทันยา กล่าวอีกว่า วันนี้ก่อนที่ตนจะมาแถลงข่าว ตนได้มีโอกาสไปกราบเรียนผู้ใหญ่ภายในพรรค และได้พูดคุยกับสมาชิกพรรคบางคน แต่วันนี้ตนยังไม่ได้มีข้อสรุปในเรื่องของทีมงาน เพราะจุดเริ่มต้นวันนี้เป็นการเสนอตัวของตนเพื่อเป็นตัวเลือกให้กับสมาชิกพรรค ซึ่งตนเชื่อว่าการจะฟื้นฟูพรรคนั้นจะต้องเลือกคนจากความสามารถเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เลือกเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือระบบอุปถัมภ์ เพราะตนต้องการให้ก้าวข้ามในเรื่องของเพศ และวัย และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ตนอยากนำพรรคประชาธิปัตย์ไปข้างหน้า ด้วยการที่เราจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน และเชื่อมั่นว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนจะเปิดโอกาสพิจารณาให้กับบุคลากรที่เหมาะสม ทั้งนี้ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ตนก็พร้อมน้อมรับ

ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคนั้น น.ส.วทันยา ระบุว่า ตนยังไม่ได้มีในใจ แต่คิดว่าต้องเป็นคนที่มีความเหมาะสม โดยต้องเริ่มต้นจากบุคลากรภายในพรรคก่อน ซึ่งตนพร้อมที่จะทำงานกับทุกคน ทุกฝ่ายในพรรค ไม่ได้เลือกตัวบุคคล โดยวันนี้ตนขอเสนอตัวเองก่อน แล้วจะค่อยไปพูดคุยในเรื่องทีมงานต่อไป รวมถึงคนที่จะมาเป็นเลขาธิการพรรคนั้นอาจจะมีในใจตนฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลคนนั้นว่าพร้อมที่จะมาทำงานกับตนด้วยหรือไม่

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าเลขาธิการพรรคจะเป็นนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช นั้น น.ส.วทันยา บอกว่า ตนต้องให้เกียรติกับนายชัยชนะ ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไรในการเข้ามาทำงานกับตนในฐานะเลขาธิการพรรค และเรื่องนี้ขอให้นายชัยชนะเป็นคนตอบคำถามนี้เอง ซึ่งที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสพูดคุยกับนายชัยชนะ เพียงว่าตนตัดสินใจลงสมัครหัวหน้าพรรค เพราะตนคิดว่าวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ถ้าวันนี้ตนยังไม่กล้าตัดสินใจลงมาสู้ก็ไม่ต้องพูดถึงการเมืองในอนาคต ทั้งการเมืองท้องถิ่น และระดับชาติ

น.ส.วทันยา ยังกล่าวต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้ตนได้กราบเรียนผู้ใหญ่ภายในพรรค ทั้ง นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน โดยผู้ใหญ่ทุกคนได้อวยพรและให้คำแนะนำว่าทำให้ดีที่สุด ซึ่งที่ตนไปกราบเรียนก็ด้วยความตั้งใจ และเป็นการตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่มีการเจรจาใด ๆ รวมถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ตนก็ได้กราบเรียนเป็นคนแรก ว่าตนตัดสินใจลงสมัคร อยากให้นายเฉลิมชัย ช่วยสนับสนุน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ตนพร้อมน้อมรับ

น.ส.วทันยา ยังได้แสดงถึงจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีที่สุด โดยไม่ได้คิดจะไปหาผลประโยชน์กับทางรัฐบาล ส่วนการฟื้นฟูพรรคให้กลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้งนั้น ตนมี 3 แนวทาง คือ 

1.อุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งตั้งแต่วันก่อตั้งพรรคได้เขียนไว้ชัดเจน แต่ในช่วง 77 ปีที่ผ่านมาการเดินทางอาจจะทำให้เลือนลางไปบ้าง การฟื้นฟูจึงต้องทำอุดมการณ์ให้ชัดเจน 

2.ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สมกับการเป็นพรรคการเมืองที่เป็นของประขาชนอย่างแท้จริง ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด 

และ 3.การดำเนินการทางอุดมการณ์เศรษฐกิจ ที่สนับสนุนเสรีนิยม แต่ก็เชื่อเรื่องการทำงานภาครัฐที่ต้องมีระบบรัฐสวัสดิการ และจะต้องมีการกระจายอำนาจ

‘มาดามเดียร์’ แลกเปลี่ยนมุมมอง ผู้นำฯ นักศึกษา มข.  รับฟังไอเดีย ‘ศก.-การเมือง’ เพื่อปรับสู้เลือกตั้งหนหน้า

‘มาดามเดียร์’ ล้อมวงคุย ผู้นำองค์การนักศึกษา ม.ขอนแก่น แลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจ-การเมือง-ความคาดหวัง พร้อมนำปรับใช้ทำนโยบายสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะนักศึกษาเชียร์นั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ 

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 66 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ พบปะแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดและข้อเสนอแนะกับกลุ่มผู้นำองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย นายวรเชษฐ์ อสิพงษ์ ประธานกลุ่มเลือดสีอิฐ มหาวิทยาลัยขอนแก่น น.ส.บุญยานุช อ่อนนางใย อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีนายวีระยุทธ งามจิตร อดีตผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมด้วย ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนถึงมุมมองของนักศึกษาที่มีต่อการเมืองระดับชาติ มุมมองด้านเศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยน เช่น เรื่องของระบบการศึกษา เรื่องของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมถึงยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองในการบริหารงานขององค์การนักศึกษา 

โดย น.ส.วทันยา ได้อธิบายถึงเรื่องของ กยศ. ว่า เมื่อการเลือกตั้งในปี 2566 พรรคประชาธิปัตย์ได้มีนโยบายในเรื่องของการเรียนฟรีถึงปริญญาตรีเพื่อเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้นักศึกษาจะได้ไม่ต้องกู้ยืมเงินในกองทุน กยศ.เพื่อนำมาเป็นค่าเทอมอีกต่อไป และจะปรับกองทุน กยศ. ให้นักศึกษาสามารถกู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันแทน 

น.ส.วทันยา ยังกล่าวอีกว่า วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาพูดคุยกับน้องนักศึกษาที่เป็นองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ช่วยเสนอมุมมองแลกเปลี่ยนในหลายเรื่องที่ทำให้เข้าใจในเรื่องของปัญหาในแต่ละช่วงวัย รวมถึงความคาดหวังของพวกเขาต่ออนาคตที่อยากจะเห็นในรูปแบบของการเมืองไทย และเศรษฐกิจที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งการพูดคุยนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นจุดหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แล้วทำให้เราเข้าใจในมุมมองของแต่ละช่วงวัยได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น รวมถึงทำให้เราเข้าใจถึงสภาพปัญหาและความคาดหวังขอเขาเพิ่มมากขึ้น โดยสิ่งที่วันนี้ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยจะได้นำกลับไปปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการที่จะนำเสนอต่อประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการพูดคุย น.ส.วทันยา ได้ให้กำลังใจน้องนักศึกษากลุ่มเลือดสีอิฐให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะลงรับเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษาที่จะเกิดในช่วงเดือนมกราคม 2567 ขณะที่น้องนักศึกษาก็ได้ให้กำลังใจกับ น.ส.วทันยา ขอให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ด้วย

‘มาดามเดียร์’ ขอโอกาสสมาชิก ปชป.นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค วอน!! ขอเลือกคนที่ความสามารถ ไม่ใช่เพราะระบบอุปถัมภ์

(8 ธ.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคปชป. ในฐานะผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรคปชป. แถลงว่า จุดยืนที่ตั้งใจเสนอตัวเองเป็นทางเลือก เพราะเชื่อมั่นและศรัทธาในพรรคปชป. ทางเดียวที่จะทำให้พรรคกลับมาเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชน คือการทำจุดยืนและอุดมการณ์ให้กลับมาชัดเจน ดังนั้น พรรคต้องเสนอทางออก เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเอง ตนตั้งใจและศรัทธาในวิถีอุดมการณ์ ไม่เปลี่ยนแปลงคำพูดใด ๆ ไม่เปลี่ยนจุดยืน แต่จะขอสู้ให้ถึงที่สุด

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ 21 สส. ปชป. มีมติสนับสนุนให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป ทั้งที่นายเฉลิมชัยเคยประกาศว่าจะเลิกเล่นการเมือง น.ส.วทันยา กล่าวว่า ไม่รู้สึกอย่างไร ยิ่งมีจำนวนผู้สมัครมากเท่าใดสมาชิกจะมีโอกาสที่ดี 

เมื่อถามอีกว่า การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งนี้ ยังมีความหวังหรือไม่ เพราะดูแล้วผลโหวตจะเทไปในทางนายเฉลิมชัย น.ส.วทันยา กล่าวว่า วันที่ตนตัดสินใจ เพราะศรัทธาวิถีของพรรคเช่นนี้ ดังนั้นจึงตัดสินใจลงมือทำ ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้น จะขอทำตามความฝันและสู้ถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า กรณีที่มีการระบุว่านายเฉลิมชัยดูแลสส.พรรคมาตลอด 4 ปี คิดเห็นอย่างไร น.ส.วทันยา กล่าวว่า คงต้องเป็นการตัดสินใจของสมาชิกพรรค ตนเคารพความเห็นที่แตกต่าง ไม่สามารถตอบแทนสมาชิกอื่น ๆ ได้ 

ส่วนหากผลการเลือกตั้งออกมาว่า ตนแพ้แล้ว ยังจะอยู่กับพรรค ปชป. ต่อหรือไม่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ขอกลับมาประเมินอีกครั้งว่าทิศทางจะยังเป็นเหมือนเดิมกับวันแรกที่ตนเดินเข้ามาสมัคร และเหมือนวันแรกที่เราศรัทธาหรือไม่ ตนศรัทธาพรรคในสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ ประชาชนเป็นเจ้าของ สมาชิกทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด ไม่มีเจ้าของมาชี้นิ้วสั่ง 

ถามย้ำว่าหากไม่เป็นไปตามที่หวังจะออกจากพรรคใช่หรือไม่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ ต้องขอประเมินก่อน ไม่ได้เป็นความผิดใคร พรรคเป็นเรื่องของพรรค สมาชิกก็เป็นเรื่องของสมาชิก แต่แนวอุดมการณ์ของตนเป็นเรื่องของตน ถ้าเราไม่เหมาะสมกับองค์กรใด ก็เป็นเรื่องของตัวเองที่ต้องพิจารณา

ถามอีกว่าการสมัครหัวหน้าพรรคครั้งนี้ เป็นการเทหมดหน้าตักหรือไม่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นการเทหมดหน้าตัก แต่มีความฝันในการเมืองแบบนี้ และเห็นว่าสิ่งที่พรรคต้องแพ้พ่ายในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะเราไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ ไม่ใช่เฉพาะปัญหาภายใน แต่เกิดจากการทำหน้าที่ของพรรคและนักการเมืองที่ต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ทำงานเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

ถามด้วยว่าก่อนเลือกตั้งที่จะถึงนี้ อยากฝากบอกไปยังเพื่อนสมาชิกอย่างไร น.ส.วทันยา กล่าวว่า หลายคนบอกตนเป็นเลือดใหม่ประชาธิปัตย์ แต่วันนี้ในฐานะคนคนหนึ่งเชื่อวิถีอุดมการณ์ ฉะนั้น การให้โอกาสครั้งนี้ไม่ใช่ให้โอกาสตนได้เลือกตั้งหัวหน้าพรรคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการให้โอกาสพรรคเติบโตเปลี่ยนแปลง 

ถามถึงความชัดเจนเรื่องกก.บห.ชุดใหม่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ยังไม่มี และที่ทราบกันอยู่แล้วคือมาด้วยตัวเอง หากวันนี้ต้องการฟื้นฟูต้องเลิกที่จะเลือกจากความสัมพันธ์ และจากระบบอุปถัมภ์ ต้องก้าวข้าม เลือกคนที่คุณสมบัติและความสามารถ หากเลือกเพราะความสัมพันธ์และระบบอุปถัมภ์จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งของคนในพรรค ท้ายที่สุดประชาชนและพรรคจะต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถออกไป

‘อี้-แทนคุณ’ กระตุกมุมคิด!! ทิศทางข้างหน้า ‘ประชาธิปัตย์’ อุดมการณ์แห่งพรรคที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์ ต้องหวนคืน

(8 ธ.ค.66) จากรายการ ‘ถลกข่าว ถลกปัญหา’ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.66 ดำเนินรายการโดย สถาพร บุญนาจเสวี ได้พูดคุยกับ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ในหัวข้อ ‘ประชาธิปัตย์ What's next?’ มีเนื้อหา ดังนี้...

หากให้พูดถึง ทิศทางในอนาคตของ ‘ประชาธิปัตย์’ คงต้องมองที่ ‘เอกภาพทางความคิด’ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดมากกว่า โดยส่วนตัวของผมเองมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ ได้บทเรียนหลายประการจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา หรือแม้แต่การเลือกตั้งก่อนหน้านั้นก็ดี ว่า การที่เราไม่สามารถสร้าง ‘เอกภาพ’ หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันใน ‘ทางความคิด’ ได้ อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต 

แน่นอนว่า เราอาจจะภูมิใจว่า เราเป็นพรรคการเมืองที่มีเสรีภาพในการคิดหรือพูดได้อย่างมากมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่ในวันที่เราต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน การมีเอกภาพทางความคิดสำคัญมากจริง ๆ เพราะเสรีภาพจากจำนวนคนในพรรค รวมถึงสมาชิกพรรคเรือนแสนคนนั้น มันอาจทำให้เราหลงทิศ 

เราฟังความคิดที่หลากหลายได้ครับ!!

แต่สุดท้าย!! เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องใด ทุกคนที่เป็นเลือด ปชป.ควรมุ่งมั่นและมีวินัย ในการเดินหน้าตามครรลองของความเป็นพรรคแห่งที่มีความเชื่อมั่นจากประชาชนในด้าน ‘ความซื่อสัตย์’ ใช่หรือไม่? เรื่องนี้สำคัญ!! 

คุณอี้ กล่าวต่อว่า 77 ปีของพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้ คือ ใหญ่มาก และสิ่งที่สำคัญต่อพวกเรามาก ๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ‘ป่า’ ซึ่งป่าในที่นี้ก็คือ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ประชาชน’ ที่สร้างเราให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า พรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคแห่งความซื่อสัตย์ ฉะนั้นต่อให้เราจะยืนหยัดมานานแค่ไหน แต่เราจะลืม ‘ประชาธิปไตย-ประชาชน’ ที่ปลุกปั้นให้เรามีตัวตนไม่ได้ 

ผมเชื่อว่า ‘ความสุจริต’ ประชาธิปไตยที่สุจริต จะเป็นจุดแข็งที่สุดของประเทศไทย เพียงแต่วันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่า มันจะหายไปเพียงเพราะความเห็นแก่ผลประโยชน์เพียงชั่วขณะแค่ไหน 

ทั้งนี้ คุณอี้ ยังกล่าวอีกว่า การได้อยู่กับพรรคที่มีอุดมการณ์ในแง่ของความรักชาติบ้านเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคอื่น ๆ ใช่ว่าจะไม่มีอุดมการณ์ที่กล่าวมานั้น สะท้อนให้เห็นผ่านการทำงานทั้งการเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ไม่เคยมีข้อครหาในเรื่องของคอร์รัปชัน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดแข็งและเป็นอุดมการณ์ที่มั่นคงของพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน และหวังให้ประเทศไทยใช้สิ่งนี้เป็นจุดแข็งของประเทศด้วยในอนาคต

อย่างตอนที่สมัยรัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนั้นพอเกิดปัญหาแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ปัญหาปลากระป๋องเน่า ท่านอภิสิทธิ์ก็ให้รัฐมนตรีที่ดูแลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกทันที ซึ่งภาพแบบนี้เราคงเคยเห็นที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นกันมาบ้าง ทั้ง ๆ ที่บางทีปัญหานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับคน ๆ นั้นโดยตรง แต่ถ้ามันเกิดขึ้นในความรับผิดชอบของเขา ก็ต้องพร้อมจะโค้งคำนับและลาออกทันที ไม่ใช่โค้งคำนับแล้วก็ไม่ลาออกเหมือนนักการเมืองไทย นี่คือประชาธิปัตย์

ดังนั้น ส่วนตัวของผมเอง ก็อยากเห็น ประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคที่หล่อหลอมเรื่องเหล่านี้มายาวนาน จนกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคที่ชัดเจน ไม่ปล่อยให้ ‘ความซื่อสัตย์’ นี้ เลือนหายไปในวันข้างหน้า

ผมขออนุญาตทิ้งท้ายไว้ด้วยคำกล่าวของ ท่านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า...

“ถนนทุกสายในเมืองไทย สามารถปูด้วยทองคําได้ ถ้าไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน”

‘มาดามเดียร์’ ย้ำ 3 จุดยืน ‘ประเทศไทย-ประชาธิปไตย-ปชช.’ ก่อนประชุมเลือก ‘หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์’ ในวันนี้

(9 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ในฐานะผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพพรรคประชาธิปัตย์พร้อมข้อความบนภาพ ‘Better Democrat For Better Democracy’ และเขียนข้อความประกอบภาพว่า

“ประเทศไทย - ประชาธิปไตย - ประชาชน สร้างประชาธิปัตย์เป็นพรรคของทุกคน เพื่อร่วมสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า”

ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ในเวลา 09.30 น.

‘จุรินทร์’ ชี้ 2 ภารกิจหลักของหัวหน้าคนใหม่ คอยพัฒนาพรรค - ทำงานในสภาอย่างเต็มที่

(9 ธ.ค.66) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สัมภาษณ์ก่อนการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ว่า อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันให้ได้หัวหน้าพรรคฯ ส่วนตัวหวังว่าน่าจะเรียบร้อย ส่วนกรณีกระแสข่าวนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ลงชิงหัวหน้าพรรคนั้น ตนไม่ทราบ แต่การแข่งขันภายในพรรคเป็นเรื่องปกติ

เมื่อถามว่าหลังการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้จะเกิดความขัดแย้งหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า อยู่ที่ตัวบุคคล ตนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่มีความตั้งใจที่จะเข้ามาพัฒนาพรรค โดยยึดถือประโยชน์พรรคเป็นหลัก

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ซึ่งตนคิดว่าภารกิจของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อย่างน้อยที่สุดต้องมี 2 เรื่องเฉพาะหน้าที่จะต้องทำ เรื่องแรกก็คือทำหน้าที่ในสภาฯ ให้มีความเข้มแข็ง เพราะอันนี้คือการทำหน้าที่แทนคนไทยทั้งประเทศที่เลือกพรรค เรื่องที่สองก็คือภารกิจในการพัฒนาพรรค หมายความว่าทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ หรือทำให้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้นต่อไปในอนาคต

‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ ผงาดนั่งหัวหน้า ‘ปชป.’ คนที่ 9 ด้วยคะแนนเสียง 88.5% จาก 260 องค์ประชุม

(9 ธ.ค.66) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กทม. ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่3/2566 ได้เข้าสู่ช่วงสำคัญคือการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ภายหลังจากเมื่อช่วงครึ่งวันเช้านายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรค อดีตหัวหน้าพรรค ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จนเกิดการเคลียร์ใจส่วนตัวในประเด็นที่คาใจของพรรค ระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรค และรักษาการเลขาธิการพรรค และทำให้นายอภิสิทธิ์ ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค หลังพักการประชุม 10 นาที ได้กลับเข้าสู่วาระเพื่อเสนอชื่อบุคคลชิงหัวหน้าพรรค

จากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการเสนอชื่ออีกครั้ง โดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ เสนอชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค ส่วน น.ส.ผ่องศรี ธารภูมิ สมาชิกพรรคเสนอชื่อ พันโทหญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล ขณะที่นายขยัน วิพรหมชัย อดีต สส.ลำพูน เสนอชื่อน.ส.วทันยา บุนนาค มีเสียงรับรองเพียงพอ แต่เนื่องจากคุณสมบัติเป็นสมาชิกไม่ถึง 5 ปี และไม่เคยเป็นสส.ของพรรค ขัดกับข้อบังคับพรรค ข้อ31(6) และข้อ32(1 ) จึงต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้มาประชุม หรือ 195 เสียง เพื่อยกเว้นข้อบังคับดังกล่าว

ปรากฏว่า น.ส.วทันยา ได้เพียง 139 เสียง เท่ากับที่ประชุมไม่อนุญาตให้ลงสมัคร จึงถือว่าไม่ได้รับการคัดเลือกชิงหัวหน้าพรรค เช่นเดียวกับ พันโทหญิงฐิฏา ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติชิงตำแหน่งเช่นเดียวกัน  ทำให้เหลือผู้ถูกเสนอชื่อคือ นายเฉลิมชัย เพียงคนเดียว

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ลุกขึ้นกล่าวกับที่ประชุมว่า "กราบเรียนท่านชวน หลีกภัย ท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ท่านผู้บริหารพรรค ท่านผู้อาวุโส ท่านสมาชิกพรรคที่เคารพทุกท่านครับ

ผมเรียนอย่างนี้ว่า ที่ผมขึ้นมาพูดนี้ ขออนุญาตอาจจะไม่ใช่เป็นวิสัยทัศน์ แต่อยากจะมาพูดในบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความรู้สึกของผม ผมขอกราบเรียนท่านสมาชิกทุกท่านว่า ผมรู้ว่าการตัดสินใจของผมในวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ผมสร้างมาทั้งชีวิต เข้าใจครับ แต่ผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์เมื่อสักครู่ ผมกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า ไม่มีสีอื่นเลย แล้วตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่ในประชาธิปัตย์ ก็ยึดหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และเป็นคนเคร่งครัดในหลักการด้วยซ้ำ ก็เรียนท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ 

แล้วเมื่อผมมาเป็นรัฐมนตรี พรรคให้โอกาส ผมยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต กล้าพูดนะครับว่า ผมไม่มีมลทินเรื่องนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เวลาที่ผมอยู่กระทรวงเกษตรฯ ผมกล้าท้าข้าราชการให้ตรวจสอบผมอีกครับ เพราะว่าผมไม่ได้ไปในนามของตระกูลศรีอ่อน ผมไปในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตัวผม 

แล้ววันนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อวานผมก็สัมภาษณ์ไป บอกวันนี้ถึงผมจะมีแต่วิญญาณแต่ผมยังมีความสำนึกในพระคุณ ในทุกอย่างที่เป็นประชาธิปัตย์ ที่ทำให้ผมมีโอกาสมายืนวันนี้ ผมเรียนท่านสั้นๆ ว่าผมมีความจำเป็นครับ และผมก็อยากจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า

ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ ผมจะทำให้พรรคซึ่งมีอยู่แล้วนี้ ยึดมั่นในหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญเมื่อสักครู่ที่ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ก็คือ ผมยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เป็นนะครับ เราไม่เคยเป็นตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่ผมอยู่ประชาธิปัตย์ เราไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านมา มันอาจจะทำให้การเมืองของพรรคสะดุด ผมก็จะพยายามทำทุกอย่าง เหมือนที่ผมบอกละครับว่า ผมมาทำงานในภารกิจหนึ่ง ผมจะพยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุด จะพยายามทำให้เป็นเอกภาพ และทำให้ดีที่สุดและจะไม่มีวันทำลายหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ขอบคุณมากครับ" นายเฉลิมชัย กล่าว

จากนั้นในเวลา 13.31 น. ที่ประชุมได้ลงมติเลือกนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ด้วยคะแนน 88.5 เปอร์เซ็นต์โดยที่ประชุมมีองค์ประชุม 260 คน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top