‘ปชป.’ จี้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาทุเรียนไทยทั้งระบบ ออกกฎหมายควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐานและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 66 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืนทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน โดยมี สส.จากทุกพรรคการเมืองร่วมลงนามเสนอญัตติดังกล่าว จำนวน 20 คน

ด้วยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปี 2565 มูลค่าส่งออกจำนวน 125,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นพืชผลการเกษตรที่ส่งออกทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับสาม รองจากยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ รวม 43 จังหวัด ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างรวดเร็ว 

ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1,340,000 ไร่ มีทั้งที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และที่ปลูกโดยนักลงทุนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน ทำให้ต้องใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าเพื่อการเกษตร แรงงานภาคเกษตร การขนส่งผลผลิตทุเรียน อุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในปริมาณที่สูงขึ้น 

หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร ถ้าผลผลิตทุเรียนล้นตลาด และคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ราคาอาจจะตกต่ำ หากใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัจจุบันภาครัฐมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน จึงใช้การขอความร่วมมือ การออกระเบียบหรือคำสั่งในระดับจังหวัด โดยอิงมาตรฐานทางวิชาการ ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนระดับ พ.ร.บ. มาบังคับใช้โดยเฉพาะ ต้องอาศัยกฎหมายทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 47 ทำให้มีข้อจำกัดในการลงโทษผู้นำทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด หากมีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนเป็นการเฉพาะ จะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภาครัฐไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนโดยเฉพาะมาบังคับใช้เพื่อการส่งเสริม การพัฒนา การแก้ปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ ครบวงจรเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 

เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้ประเทศเป็นอันดับต้น ๆ และประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง เหนือประเทศคู่แข่ง แต่ปัจจุบันจึงยังไม่มีกองทุนทุเรียนไทยที่สามารถหักเงินจากการส่งออกทุเรียนเข้ากองทุน เหมือนยางพาราที่มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน มีเงินทุนมาศึกษาวิจัย พัฒนา เกี่ยวกับทุเรียนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 นี้ จะให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ให้มีความมั่นคงต่อไป