Thursday, 25 April 2024
ทุเรียนไทย

'ทุเรียนไทย' ในตลาดจีน กำลังสั่นคลอน หลัง 'จีน-เพื่อนบ้านอาเซียน' รุมแย่งตลาด

รายงานจาก Reporter Journey ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ทุเรียนไทยในตลาดจีน ที่เริ่มจะไม่สดใสเหมือนเก่า หลังจากทางจีน รวมถึงหลายประเทศเพื่อนบ้านในย่านอาเซียนเข้ามาเป็นผู้เล่นที่กำลังสะเทือนบัลลังก์เบอร์ 1 ตลาดทุเรียนในจีนจากไทย ว่า...

'ทุเรียน' ผลไม้ยอดฮิตครองใจผู้บริโภคจีน และตลาดยังคงมีความต้องการบริโภคทุเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี อย่างปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยมีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 854,986 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 7.20 ให้ผลผลิต 1,201,458 ตัน โดยกว่า 8 แสนตัน ส่งออกมาตลาดจีน เรียกได้ว่าผลผลิตเกือบร้อยละ 70 ป้อนสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่จีนเริ่มปลูกทุเรียนเองในมณฑลไห่หนาน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการในตลาดได้อย่างเต็มที่ โดยจีนได้ทดลองปลูก ทุเรียนเองตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มจากสวนเงาะหัวเซิ่งเป่าถิง เขตปกครองตนเองชนชาติหลี และเหมียวเป่าถิง (Baoting li and Miao Autonomous Country) ในมณฑลไห่หนาน ปลูกทุเรียนจำนวนราว 40 ต้น และต้นทุเรียนได้ออกดอกและติดผลแล้วเมื่อปี 2562 และได้ให้ผลติดต่อกันมาเป็นเวลา 3 ปี

ในช่วงหลายปีมานี้ ทางสวนเงาะหัวเซิ่งเป่าถิงยังได้ทยอยขยายการเพาะปลูกทุเรียนจำนวน 200 หมู่ หรือราว 83 ไร่ (2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่) สิ่งที่น่าสนใจคือ ความสำเร็จของการปลูกทุเรียนในครั้งนี้เป็นพลังขับเคลื่อนสู่การพัฒนาการเพาะปลูกทุเรียนในจีนอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบการชาวจีนหันมาลงทุนเพาะปลูกทุเรียนในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น

ปัจจุบันการเพาะปลูกทุเรียนในมณฑลไห่หนานจะกระจุกตัวอยู่ที่อำเภอและเมืองทางตอนใต้ของไห่หนาน เช่น เป่าถิง, ซานย่า, เล่อตง และหลิงสุ่ย เป็นต้น

สถิติจากสำนักวิจัยไม้ผลเขตร้อน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลไห่หนาน พบว่า ขณะนี้ มณฑลไห่หนานมีพื้นที่ เพาะปลูกทุเรียนจำนวนกว่า 30,000 หมู่ หรือประมาณ 12,500 ไร่ โดยทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนานเป็นพันธุ์ต้นกล้าที่มาจากไทย, มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองและพิจารณาเพื่อเลือกสายพันธุ์ทุเรียนที่ดีและเหมาะแก่การเพาะปลูกในประเทศจีน

>> มาเลเซียส่งทุเรียนมูซานคิงท้าชน แถมจีนปลูกเองทุน 400 ล้าน

แม้ว่าไทยจะเป็นเพียงประเทศเดียวที่จีนอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนสดก็ตาม แต่ไทยก็ยังมีคู่แข่งในตลาดที่สำคัญอย่างมาเลเซีย โดยตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา จีนได้อนุญาตให้มาเลเซียนำเข้าเนื้อทุเรียนแช่แข็งและทุเรียนติดเปลือกแช่แข็งทั้งลูกมายังจีนได้ ทำให้ทุเรียนพันธุ์มูซานคิงจากมาเลเซียได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน และยังพบว่ามีผู้ประกอบการจีนลงทุนทำสวนเพาะปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงแล้วเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นสวนทุเรียนพันธุ์มูซานคิงขนาดใหญ่สวนแรกของจีน ตั้งอยู่ ณ ตำบลจื้อจ้ง ในอำเภอเล่อตง มณฑลไห่หนาน มีพื้นที่ขนาด 3,300 หมู่ หรือ 1,375 ไร่ ลงทุนโดยบริษัท Hainan Rouminghongxinhuolongguo ด้วยเงินทุนมูลค่ากว่า 80 ล้านหยวน (ประมาณ 400 ล้านบาท) และคาดว่าผลผลิตในแต่ละหมู่จะสูงถึง 2,500 กิโลกรัม

นอกจากสวนดังกล่าวจะปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงแล้ว บางส่วนยังทำการเพาะปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์โอวฉี (หนามดำ) นอกจากนี้ บริษัทดังกล่าวยังได้ลงนามความร่วมมือในด้านการ เพาะปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงกับทางรัฐบาลมาเลเซียอีกด้วย

สำหรับผลผลิตทุเรียนพันธุ์มูซานคิงในสวนคาดว่าจะสามารถออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดจีนได้ประมาณปี 2566 นี้ ซึ่งนอกจากการวางจำหน่าย ภายในประเทศแล้ว ทางบริษัทฯ ยังมีเป้าหมายที่จะส่งออกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงไปต่างประเทศอีกด้วย

'อลงกรณ์' เผยเตรียมส่งออกทุเรียนล็อตใหม่ด้วยรถไฟ 'จีน-ลาว' กลางสัปดาห์หน้า

'อลงกรณ์' เผยเตรียมส่งออกทุเรียนล็อตใหม่ด้วยรถไฟ 'จีน-ลาว' กลางสัปดาห์หน้า พร้อมลงพื้นที่จันทบุรีผนึกผู้ว่าฯ-สมาคมทุเรียนไทยเดินหน้ายกระดับมาตรการป้องกันทุเรียนปนเปื้อนโควิดต่อเนื่อง ประกาศดีเดย์ 22เมษาฯ วันฆ่าเชื้อโควิดทุกล้ง (Big ATK Day)

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีในวันนี้ (17เม.ย.) ว่า ได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ให้ติดตามความก้าวหน้าของการยกระดับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนโควิดจึงร่วมกับนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) นาย ภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา คณะกรรมการโครงการจันทบุรี มหานครผลไม้ นายชรัตน์ เนรัญชร รองเลขาธิการหอการค้า ทพ.อิทธิพล จังสิริมงคล นายวิษณุศักดิ์ จิรกฤติยากุล คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. ผศ.ดร.ยศพล ผลาผล ตัวแทนชาวสวน สพว.6 กรมวิชาการและผู้ประกอบการส่งออกตรวจตราสถานประกอบการคัดแยกบรรจุทุเรียนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีตามมาตรการยกระดับการป้องกันการปนเปื้อนโควิดซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือด้วยดีและกำหนดให้วันที่ 22 เมษายนเป็นวันทำความสะอาดฆ่าเชื้อสถานที่ล้งและตรวจเอทีเค.พนักงานทุกคน (Big Cleaning & ATK day)

“แม้ว่าด่านโม่ฮานของจีนได้เปิดนำเข้าทุเรียนไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาหลังจากระงับการนำเข้าทุเรียนไทย 3 วันระหว่างวันที่ 12-14 เมษายนจากเหตุพบการปนเปื้อนโควิดในรถบรรทุกคอนเทนเนอร์จากไทยก็ยังประมาทไม่ได้ การ์ดต้องไม่ตกตามข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) เพราะใกล้ถึงช่วงที่ผลผลิตจะออกมามากที่สุดหรือเรียกว่าช่วงพีค(peak season)ของทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกองซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจในภาคตะวันออกโดยมีปริมาณของผลผลิตปีนี้กว่า 1 ล้านตัน"

จีนเริ่มวางขายทุเรียนไทยแล้ว ฟากชาวจีนรอซื้อแม้ราคาสูง

(5 พ.ค. 65) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนทยอยวางจำหน่ายทุเรียนไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ส่งสัญญาณว่าฤดูทุเรียนมาถึงแล้ว โดยปีนี้ทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนช้ากว่าปกติและราคาสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคชาวจีนยังคงเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ

ทุเรียนจากสวนในไทย จะถูกเก็บเกี่ยวและส่งออกด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำสู่ท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจว ไป๋อวิ๋นในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน และกระจายไปยังทุกภูมิภาคของจีนอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นร้านค้าในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง

หวงเหม่ยเสีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ประจำกว่างซี เผยว่า ร้านค้าของบริษัทได้รับทุเรียน 100 กล่อง ซึ่งถูกกระจายสู่ร้านสะดวกซื้อในท้องถิ่นและขายให้ลูกค้าขาจรจนหมดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกังวลแม้ราคาจะสูงขึ้นกว่าปีก่อน

โดยทุเรียนยังคงเป็นผลไม้ยอดนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ครองตำแหน่งผลไม้นำเข้าดาวเด่น และปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีนี้ ซึ่งการนำเข้าทุเรียนสดในปี 2564 สูงกว่าในปี 2560 ราว 4 เท่า ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย รวมถึงมีกว่างตง กว่างซี และฉงชิ่ง เป็นแหล่งนำเข้าหลัก

ด้าน คุณนิศาชล ไทยทอง หรือไท่ลู่ลู่ หญิงไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในหนานหนิง และทำธุรกิจนำเข้าทุเรียนจากสวนในไทยมาขายในจีนจนมีกลุ่มลูกค้าในมือ เผยว่า เมื่อก่อนคนจีนรู้จักแต่ทุเรียนหมอนทอง แต่ตอนนี้เริ่มรู้จักทุเรียนพันธุ์อื่นๆ กันมากขึ้น ทั้งกระดุมทอง ก้านยาว และพวงมณี

ด้านเหว่ยพ่าน พ่อค้าไลฟ์สดขายของในกว่างซี จับมือทำธุรกิจกับคุณนิศาชลมานานหลายปี ส่วนปีนี้ทั้งสองนำเข้าทุเรียนไทยสู่กว่างโจว คุนหมิง และเมืองอื่น ๆ ทางเครื่องบิน ซึ่งใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ทำให้ทุเรียนยังคงสดใหม่เปลือกยังเป็นสีเขียวเงางามดูน่าซื้อไปรับประทาน

ปัจจุบันแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและห้างสรรพสินค้าในจีนวางจำหน่ายทุเรียนกันแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขนส่งทางเครื่องบินเช่นกัน โดยบริษัทไทยหลายแห่งเริ่มขนส่งทุเรียนทางเครื่องบิน แม้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 35-40 บาทในปีก่อน เป็นราว 100 บาทต่อกิโลกรัมในปีนี้

ทั้งนี้ ช่องทางขนส่งทุเรียนไทยสู่จีนนั้นหลากหลาย นอกจากเครื่องบินแล้วยังมีรถบรรทุกที่วิ่งเข้าจีนผ่านเมืองผิงเสียงของกว่างซี หรือเรือที่แล่นจากท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือชินโจวของกว่างซีและท่าเรือหนานซาของกว่างโจว คุณวรรณลดา รัตนพานิช กงสุลฝ่ายการพาณิชย์ประจำสถานกงสุลใหญ่ของไทย ณ นครหนานหนิง กล่าวว่าชาวจีนชื่นชอบทุเรียนไทยเป็นทุนเดิม โดยปีนี้ผู้ส่งออกหลายรายเลือกขนส่งทางเครื่องบินแทน

“ซินหัว” ตีข่าว ชาวจีนเฝ้ารอทุเรียนไทยอย่างใจจดใจจ่อ แม้ราคาจะสูงกว่าปีที่แล้วแต่ขายหมดอย่างรวดเร็วทั้งตลาดออฟไลน์และออนไลน์

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. และประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าในคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (10 พ.ค) ว่า มีรายงานจากสำนักข่าวซินหัวของจีนว่าปีนี้ทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนช้ากว่าปกติและมีราคาสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคชาวจีนยังคงเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ

บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน ทยอยวางจำหน่าย ‘ทุเรียนไทย’ กันแล้วและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ส่งสัญญาณว่า ‘ฤดูทุเรียน’ มาถึงแล้ว

ทุเรียนจากสวนในไทยจะถูกเก็บเกี่ยวและส่งออกด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ มุ่งสู่ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจว ไป๋อวิ๋น มณฑลกวางตุ้ง ทางใต้ของจีน จากนั้นจะกระจายไปยังทุกภูมิภาคของจีนอย่างรวดเร็ว

ร้านผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เมืองกว่างซี บอกว่า ทางร้านได้รับทุเรียน 100 กล่อง ถูกกระจายสู่ร้านสะดวกซื้อ ขายให้ลูกค้าขาจร ทั้ง 100 กล่องหมดอย่างรวดเร็ว แม้ราคาจะสูงขึ้นกว่าปีก่อนก็ตาม

‘ดร.สมเกียรติ’ เผยผลไม้ส่งออกไทยสดใส เชื่อ!! อนาคตขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งโลกแทนชิลี

ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์ส่งออกผลไม้ไทย ผ่านตัวเลขส่งออกของทุเรียนไว้ว่า... 

ไทยส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนปี 2560 มูลค่า 7,300 ล้านบาท 

ปีนี้เป้าหมายส่งออกมูลค่าเกินแสนล้าน

คำถามขยายตัว ปีละกี่ %?

ยังมีคนจีนที่ยังไม่ได้กินทุเรียนอีกเยอะมาก

ไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ อันดับหนึ่งของโลกแทนชิลี

เมืองไทยมีความมหัศจรรย์เสมอมา 

ต่อไปชาวโลกจะคิดถึงไทยในฐานะเมืองแห่งผลไม้ของโลก เมืองอันดับหนึ่ง

นอกจากเรื่องส่งออกผลไม้แล้ว ผู้หญิงไทยสวยกว่าผู้หญิงทั้งละตินอเมริกาด้วย


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=5316453168410653&id=100001380665898 

'อลงกรณ์' โต้ 'สนธิ ลิ้ม' ไม่ยอมให้ใครผูกขาดทุเรียนไทย วอนออกข่าวอะไรให้นึกถึงความสัมพันธ์ที่ดี 'ไทย-จีน' ด้วย

'อลงกรณ์' โต้ 'สนธิ ลิ้ม' ประกาศชัดไม่ยอมให้ใครผูกขาดทุเรียนไทย พร้อมชนทุนผูกขาด ลั่นใครเอี่ยวฟันเด็ดขาด มั่นใจผลงานทีมประชาธิปัตย์ 3 ปีดันทุเรียนไทยผงาดแชมป์จีนสร้างรายได้ทะลุแสนล้านเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
.
(27 พ.ย.65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ชี้แจงวันนี้ว่า...
.
ตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุลออกรายการ Sonthitalk (ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง) เผยแพร่ทางยูทูปเรื่อง 'แฉทุนจีนสีเทาผูกขาดทุเรียนไทย' นั้น ต้องขอบคุณที่ให้ความสนใจนำเสนอเรื่องดังกล่าวและได้ให้คำแนะนำในเรื่องการป้องกันการผูกขาดและการค้าทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพรวมทั้งปัญหาล้งนอมินีที่อาจกระทบต่อทุเรียนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับข้อห่วงใยของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด) เช่นเดียวกันโดยได้ให้กรมวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมสะสมมานานให้ลุล่วงโดยเร็วที่สุด
.
ทั้งนี้จากผลการบริหารจัดการผลไม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ จนยกระดับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนจนประสบความสำเร็จ ทำให้ผู้บริโภคจีนเชื่อมั่นในคุณภาพผลไม้ไทย ส่งผลให้ราคาทุเรียนหน้าสวนและหน้าล้งดีต่อเนื่องมากว่า 2 ปีทำรายได้เพิ่มให้กับชาวสวนทุเรียนของไทยแม้ว่าต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งต้องทำงานด้วยความยากลำบาก แต่ก็ฝ่าฟันมาได้
.
เป็นผลให้ในปีที่ผ่านมาผลไม้ไทยสามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีนจนครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40% ตามมาด้วยชิลีที่เป็นอันดับ 2 ซึ่งครองสัดส่วนตลาด 15% และเวียดนามครองอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนตลาด 6% สามารถสร้างรายได้จากตลาดจีนกว่า 2 แสนล้านบาท
.
ยิ่งกว่านั้นทุเรียนสดของไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดโลกกว่า 70% และครองส่วนแบ่งในตลาดจีนสูงเกินกว่า 90 %ด้วยปริมาณการส่งออกไปตลาดจีนกว่า 8 แสนตันคิดเป็นมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
.
สำหรับปีนี้ได้ส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วกว่า 7 แสนตันมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาทระหว่างวันที่ 1 ก.พ.ถึง 17 พ.ย.2565
.
ความสำเร็จข้างต้นเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตและยุทธศาสตร์ 3s (Safety / Security / Sustainability) โดยรูปแบบการทำงานเชิงรุกล่วงหน้าบูรณาการทุกภาคส่วนด้วยกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ แบบออนไลน์ออฟไลน์และการทำพิธีสารส่งออกนำเข้าผลไม้ไทย—จีนฉบับใหม่จนเปิดด่านจีนได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ด่านและสามารถเพิ่มการขนส่งทางรางด้วยรถไฟจีน-ลาวได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยกำลังขยายเป้าหมายเส้นทางขนส่งผลไม้และสินค้าเกษตรของไทยไปยังเอเซียกลาง ตะวันออกกลางและยุโรป
.
“ส่วนหนึ่งของความสำเร็จเป็นผลมาจากนโยบายยกระดับคุณภาพมาตรฐานและมาตรการป้องกันการปนเปื้อนโควิดของผลไม้ไทยโดยเฉพาะการปราบปรามทุเรียนอ่อนทุเรียนด้อยคุณภาพและทุเรียนสวมสิทธิ์อย่างเด็ดขาดของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดโดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ  กรมวิชาการและกรมส่งเสริมการเกษตรทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง สมาคมผลไม้ สหกรณ์และตัวแทนเกษตรกร โดยต้องไม่ให้ลูบหน้าปะจมูกเช่นกรณีการแอบอ้างเป็นที่ปรึกษาหรือคนรู้จักกับฝ่ายการเมืองไม่ว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านต้องไม่ละเว้นให้ดำเนินคดีให้หมดทุกราย
.
"และหากนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ทุจริตต่อหน้าที่โดยเรียกรับผลประโยชน์จะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด ยืนยันว่าไม่มีฝ่ายการเมืองในกระทรวงเกษตรฯ.ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนจีนสีเทา จึงขอให้กลั่นกรองข่าวสารข้อมูลอย่างถ้วนถี่หรือตรวจสอบข้อมูลกับฟรุ้ทบอร์ดหรือตนได้ตลอดเวลาทั้งในและนอกเวลาราชการ"
.
ส่วนกรณีใบรับรอง GAP จำนวน 8 หมื่นฉบับที่ต้องปรับรหัสตามระบบใหม่เพื่อให้การบริหารข้อมูล GAP ของประเทศไทยและประเทศจีนทันสมัยมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำงานแบบใหม่
.
ทางอธิบดีกรมวิชาการรายงานต่อฟรุ้ทบอร์ดว่าได้จัดหน่วยพิเศษเพิ่มขึ้นเพื่อดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยทันฤดูกาลใหม่ที่จะมาถึงแน่นอน
.
“การบริหารจัดการผลไม้ยังต้องแก้ไขปัญหาอีกมากทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบไม่ใช่ว่า 3 ปี จะแก้ไขได้หมดทุกเรื่องทุกประเด็นโดยเฉพาะเรื่องปัญหาคุณภาพมาตรฐานและปัญหาระบบการค้าเพราะเป็นปัญหาที่หมักหมมสะสมมานานหลายสิบปีรวมทั้งการยกระดับการป้องกันการปนเปื้อนของโควิด19 เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19ระลอกใหม่อย่างรุนแรงในประเทศจีนในช่วงนี้และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใดก็ต้องสร้างความพร้อมในการรับมือเผชิญหน้ากับปัญหาผลผลิตเพิ่มและคู่แข่งใหม่ๆภายใต้แผนบริหารจัดการผลไม้5ปีอย่างต่อเนื่อง
.
สำหรับประเด็นที่ว่ากลุ่มทุนจีนสีเทาวิ่งเต้นอยู่เบื้องหลังการย้ายผอ.สวพ.6 เพื่อเปิดช่องให้ขบวนการค้าทุเรียนอ่อนสมประโยชน์นั้น ยืนยันว่า ไม่มีใครมาวิ่งเต้นให้ย้ายผอ.สวพ.6 ซึ่งเหตุผลการโยกย้ายเป็นไปตามที่อธิบดีกรมวิชาการได้แถลงชี้แจงไปแล้วอยู่จังหวัดเดียวมา 30 กว่าปีมีประสบการณ์ความรู้ควรไปช่วยทุกภาคเพื่อประโยชน์ของผลไม้ทั้งประเทศวันหน้าเป็นรองอธิบดีเป็นอธิบดีได้ ไม่อยากให้ลาออก หรืออาจจะไปเล่นการเมืองเป็น ส.ส.แบบพี่ชายก็ห้ามกันไม่ได้ ขออย่างเดียวอย่าเอาการเมืองมาปั่นจนกระทบการค้าการส่งออกทุเรียนไปจีนที่กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี การออกข่าวหรือเคลื่อนไหวอะไรให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยกับจีน และความรู้สึกของคนจีนที่มีความรักคนไทยและผลไม้ไทยมิฉะนั้นจะกลายเป็นทุบหม้อข้าวชาวสวนผลไม้ไทยทั้งประเทศ
.
ทั้งนี้ฟรุ้ทบอร์ดได้กำชับให้กรมวิชาการต้องทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนทุเรียนด้อยคุณภาพทุเรียนสวมสิทธิ์ให้ดีกว่าเดิมยิ่งๆ ขึ้นไปอีกที่ผ่านมาจับกุมดำเนินคดีได้น้อยมาก ตรวจแล้วปล่อยก็มีและคดีก็ช้าผิดปกติซึ่งได้มอบให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและผู้ตรวจราชการกระทรวงลงไปช่วยสนับสนุนการทำงานในพื้นที่อีกแรงหนึ่งเพราะยิ่งตลาดดีราคาดีคนก็มาปลูกมาค้าทุเรียนมากขึ้นมีมือใหม่ๆเพิ่มขึ้นเนื่องจากเห็นเป็นโอกาสทองของทุเรียนไทยโดยฟรุ้ทบอร์ดพร้อมส่งเสริมคนไทยให้เป็นผู้ประกอบการล้งอย่างต่อเนื่องและจะมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบปัญหาการขายสวนทุเรียนให้ต่างชาติ ปัญหาทุนสีเทา ปัญหานอมินีและเรื่องสินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการล้งต่อไป

‘อลงกรณ์’ เผย!! มีผู้อ้างชื่อทุเรียนไทย หลอกขายในจีน มอบทูตเกษตรในจีนตรวจสอบ - รักษาภาพลักษณ์ผลไม้ไทย

(29 พ.ย. 65) จากกรณีที่สื่อบางฉบับนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่ามีการเผยแพร่คลิปทุเรียนซึ่งวางจำหน่ายในประเทศจีน ที่ผู้ขายอ้างว่าเป็นทุเรียนจากไทย จนทำให้ลูกค้าในเซี่ยงไฮ้หลงเชื่อซื้อกลับไปรับประทานในราคากิโลกรัมละ 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท แต่กลับพบว่ารสชาติไม่ใช่ของไทย และคลิปดังกล่าวยังถูกส่งต่อในประเทศจีนเป็นวงกว้างจนเกรงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบต่อชื่อเสียงของทุเรียนไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (29 พ.ย.) ว่า ทันทีที่ทราบข่าวได้รายงานต่อดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดโดยสั่งการทันทีในวันที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว (28พ.ย) ให้ทูตเกษตรของไทยทั้ง 3 สำนักงาน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมกับเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที 

โดยได้รับรายงานในตอนค่ำของวันวานจากกงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจุดจำหน่ายทุเรียนตามที่ปรากฏในข่าวแต่ไม่พบการขายทุเรียน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า กรณีที่เป็นข่าว เป็นรถขายทุเรียนริมทาง (รถกระบะ) ไม่ใช่การขายทุเรียนจากร้านค้าที่มีแหล่งที่ตั้งถาวร โดยปกติรถขายทุเรียนคันนี้จะจอดขายช่วงกลางคืนบนถนน Xinhua ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ช่วงวันที่ขายก็ไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะมาขายวันเสาร์อาทิตย์ ที่ผ่านมารถดังกล่าวไม่ได้มาจอดขายทุเรียน ณ บริเวณนั้นนานกว่าสัปดาห์แล้ว ราคาขายจะเป็นราคาต่อจินหรือ 500 กรัม ปกติทุเรียนไทยที่จำหน่ายในช่วงนี้ราคาประมาณ 25-40 หยวน/500กรัม หรือ 50-80 หยวน/กก. (หรือประมาณ 250-400 บาท/กก.)

ทั้งนี้ รถขายทุเรียนข้างทาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นตามชานเมือง จอดขายริมถนนเฉพาะช่วงกลางคืน เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ และทุเรียนที่ขายก็เป็นทุเรียนตกเกรด คุณภาพต่ำ และส่วนใหญ่ราคาถูกกว่าร้านค้าผลไม้ที่ได้มาตรฐาน

จากการสอบถามข้อมูลจากตลาดค้าส่งทราบว่า รถขายทุเรียนข้างทางในเซี่ยงไฮ้เป็นรถกระบะมาจากมณฑลอื่น โดยพ่อค้าจะไปซื้อทุเรียนตกเกรดราคาต่ำ ในปริมาณมากๆ มาเร่ขายริมถนน โดยบางคันจะเปลี่ยนที่ขายไปเรื่อยๆ จะแกะเนื้อทุเรียนขายเฉพาะเนื้อ ไม่ขายทั้งเปลือก นอกจากนี้ เครื่องชั่งก็ไม่ได้มาตรฐาน จากการสอบถามคนที่เคยซื้อทุเรียนจากรถกระบะ จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุเรียนคุณภาพต่ำ รสชาติไม่อร่อย 

นอกจากนี้จากการสำรวจร้านจำหน่ายผลไม้ในพื้นที่ 5 ร้าน ทุเรียนไทยราคาสูงกว่าทุเรียนเวียดนาม  พ่อค้าบอกว่าทุเรียนไทยอร่อยและเป็นที่รู้จัก คนที่รู้จักทุเรียน ก็จะมักเลือกซื้อทุเรียนไทย ในสายตาผู้บริโภค จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างทุเรียนไทยและทุเรียนประเทศอื่นจากรูปลักษณ์ได้ แต่จะสังเกตความแตกต่างจากสติกเกอร์ที่ขั้วผลที่ระบุว่าเป็นทุเรียนจากประเทศไทยหรือเวียดนาม

นายอลงกรณ์กล่าวว่า สปษ.ปักกิ่ง ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจวและเซี่ยงไฮ้ ได้มีการรายงานและเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนที่ส่งออกมายังจีนอย่างต่อเนื่องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยก่อนการส่งออกเพื่อมิให้มีทุเรียนตกเกรด หรือทุเรียนคุณภาพต่ำมาจำหน่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในภาพรวม ตามนโยบายยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทยของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประธานฟรุ้ทบอร์ด 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเกษตรทั้ง 3 สำนักงานร่วมกับทีมไทยแลนด์ในจีนเฝ้าระวังติดตามข่าวสารในสื่อออนไลน์และสื่อต่าง ๆ หากปรากฏข่าวที่กระทบต่อผลไม้ไทยให้ตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนทันที

ทัพทุเรียนไทย’ บุก ‘ตลาดจีน’ เอาชนะใจผู้บริโภค ทำยอดขายพุ่งทะยาน 4 เท่า ‘หมอนทอง’ ขายดีสุด!!

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตลาดค้าส่งผลไม้หนานหนิง ไห่จี๋ซิง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน มีชีวิตชีวาตั้งแต่ยามเช้ามืด รถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์คันใหญ่วิ่งเข้าออกและหยุดจอดขนถ่ายสินค้าหน้าแผงทุเรียน โดยมีผู้ซื้อจับกลุ่มรออยู่ก่อนแล้ว

บรรดาพ่อค้าแม่ขายรายใหญ่ต่างคึกคักกระปรี้กระเปร่าหลังจากเข้าสู่ ‘ฤดูทุเรียน’ ซึ่งปีนี้ทุเรียนไทยบุกตลาดจีนเร็วกว่าปีก่อน โดยทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีจะถูกเก็บเกี่ยวและขนส่งถึงชั้นวางสินค้าของซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วแผ่นดินใหญ่ของจีนภายในเวลาเพียงราวหนึ่งสัปดาห์

ตัวอย่างเช่น ‘ทุเรียนซีพี เฟรช’ (CP Fresh) ถูกขนส่งถึงจีนและกระจายสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่หลายแห่งอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อทุเรียนคุณภาพดีและสดใหม่ที่สุด โดยซีพีเอฟ (CPF) จัดสารพัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุเรียนหมอนทองหอมหวาน ดึงดูดผู้บริโภคมาซื้อไม่ขาดสาย

“ทุเรียนซีพีมีคุณภาพสูง รสชาติดี แถมมีการชดเชยและสับเปลี่ยนถ้าเจอทุเรียนลูกที่ไม่ดี ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายใจ” ชายแซ่ลู่ ชาวนครหนานหนิงของกว่างซีกล่าว

เหลียงซูถิง ประธานซีพีเอฟ สาขาหนานหนิง เผยว่ายอดจำหน่ายทุเรียนเฉลี่ยรายวันช่วงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสูงเกิน 100 กล่อง โดยหลายปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้พัฒนาการจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมทุเรียนแบบครบวงจร กำหนดมาตรฐานของสินค้า ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือน “รับประทานทุเรียนกลางสวนในไทย”

อนึ่ง จีนเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่และปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยทุเรียนครองตำแหน่ง “ราชาผลไม้นำเข้า” ของจีนตั้งแต่ปี 2019 และปริมาณการนำเข้าในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน มูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.36 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นทุเรียนไทยถึง 7.8 แสนตัน

กวนฉ่ายเสีย ผู้ค้าขายทุเรียนมานานหลายปี และเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ ได้ร่วมมือกับโรงงานไทยในการออกแบบแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ โดยมีการใช้อักษรจีน ‘ปั้ง’ (棒) ตัวใหญ่เตะตาบนกล่องทุเรียน ซึ่งกวนชี้ว่าสอดคล้องกับคุณภาพ ‘ยอดเยี่ยม’ ของทุเรียนไทย

การคลุกคลีอยู่กับการค้าขายทุเรียนไทยมานานถึง 20 ปี ทำให้กวนได้เห็นการเติบโตของทุเรียนไทยในจีน และเชื่อว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นทุเรียนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดจีน รวมถึงมีข้อได้เปรียบจากความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

ข้อมูลจากตลาดฯ ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนในตลาด 32 ราย ยอดค้าส่งในปีก่อนอยู่ที่ 24,000 ตัน ส่วนยอดจำหน่ายในปีนี้อยู่ที่ 17,000 ตัน เมื่อนับถึงวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยทุเรียนหมอนทองของไทยมียอดจำหน่ายสูงสุด

โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท กว่างซี โยวเซียนหยวน อะกรีคัลเจอรัล เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้อาเซียนสู่จีนจำนวนมาก เผยว่าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยมียอดจำหน่ายดีมาก แต่ละวันนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ 5-6 ตู้ บางช่วงสูงถึง 10 ตู้ และอาจสูงขึ้นอีกในอนาคต

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานผลไม้อาเซียนอย่างทุเรียน มะพร้าว และลำไย โดยบริษัทฯ ทำการค้าส่ง การจำหน่ายผ่านไลฟ์สตรีมมิง และการวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“ปีนี้บริษัทฯ วางแผนนำเข้าทุเรียนจากภาคตะวันออกของไทยราว 15,000-20,000 ตัน หรืออาจแตะ 25,000 ตัน” โม่กล่าว

แต่ละปีทุเรียนไทยเริ่มส่งออกสู่ตลาดจีนในเดือนเมษายน และพุ่งแตะระดับสูงสุดช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

“ครอบครัวของผมซื้อทุเรียนหมอนทองของไทยเป็นประจำ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ชอบรับประทานกันมาก ราคาและคุณภาพของทุเรียนในปีนี้น่าพอใจมากๆ จนอาจจะได้ซื้อบ่อยขึ้น” เหลียงเจ๋อหลิน ชาวเมืองหนานหนิงกล่าว

เฮ่อเยี่ยน รองผู้จัดการร้านค้าปลีกแซมส์คลับ เผยว่าสินค้าทุเรียนเป็นที่ต้องการมากทุกวัน โดยทุเรียนที่ขนส่งมาถึงใหม่ๆ มักจะขายหมดภายในครึ่งวัน ทำให้ร้านค้าต้องกำหนดเพดานการซื้อของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งแห่มาซื้อกันตั้งแต่หัววัน

“ปีนี้ทุเรียนได้รับความนิยมอย่างมาก มีราคาเหมาะสม ครอบครัวทั่วไปล้วนอยากซื้อไปรับประทาน” จางอี้เฉียว จากบริษัท การค้านำเข้าและส่งออกหนานหนิง เจี๋ยรุ่ย จำกัด กล่าว โดยบริษัทฯ ยังทำธุรกิจค้าส่งทุเรียนในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองเจียซิงของเจ้อเจียงด้วย

จางกล่าวว่าหากดูจากตลาดหลายแห่งพบยอดจำหน่ายทุเรียนเพิ่มขึ้น แต่ละวันบริษัทฯ สามารถจัดจำหน่ายทุเรียนตามตลาดแห่งต่างๆ ราว 3-4 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบปีต่อปี และทุเรียนหมอนทองขายดีที่สุด ส่วนทุเรียนกระดุมทองราคาแพงกว่าแต่ก็ขายดีเช่นกัน

ทั้งนี้ ‘ทุเรียน+มังคุด’ เป็นผลไม้ที่มักขายได้คู่กันตามตลาดหลายแห่ง โดยลูกค้าที่มาซื้อทุเรียนมักซื้อมังคุดด้วย โดยจางอธิบายว่าชาวจีนตอนใต้ไม่น้อยมองว่าทุเรียนเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อน การรับประทานมังคุดที่เป็นผลไม้ฤทธิ์เย็นจะช่วยลดฤทธิ์ร้อนดังกล่าว

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียนอาเซียนได้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันแหล่งทุเรียนนำเข้าหลัก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวจีนมองหาทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ๆ มาลองลิ้มชิมรสชาติกันเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านโม่เจียหมิงเสริมว่าบริษัทฯ มุ่งปรับปรุงโครงสร้างผลิตภัณฑ์ มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานรับซื้อทุเรียนในเวียดนาม 2 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ และหลังจากหมดฤดูทุเรียนตะวันออกของไทย จะหันไปนำเข้าทุเรียนเหนือและทุเรียนใต้ของไทย ควบคู่กับทุเรียนเวียดนามบางส่วน

การก่อสร้างระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ เส้นทางตะวันตก การเปิดใช้ทางรถไฟจีน-ลาว และการมีผลบังคับใช้ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงไม่นานนี้ ช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นและเกื้อหนุนการค้าข้ามภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น ‘ทุเรียนไทย’ นอกจากถูกนำเข้าสู่จีนทางอากาศ ยังมีการนำเข้าทางบก รวมถึงทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังของจังหวัดชลบุรีไปยังท่าเรือชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และท่าเรือหนานซาของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) อีกด้วย

“ยามสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ทั่วโลกทยอยคลี่คลาย มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของพิธีการศุลกากรขาเข้า-ขาออก ช่วยให้ทุเรียนเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” กวนฉ่ายเสียกล่าว พร้อมเสริมว่ามีการนำเข้าทุเรียนผ่านด่านบกโหย่วอี้ในกว่างซี ซึ่งถูกขนส่งต่อทางถนนและทางรางในจีน

ปัจจุบันทุเรียนกลายเป็นผลไม้ที่เข้าถึงหลายครอบครัวทั่วไปในจีน แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีผู้บริโภคกระจุกตัวอยู่เป็นกลุ่มเล็กเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการพัฒนาการค้าเสรีและการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

‘จีน’ ไม่แผ่ว!! นำเข้า ‘ทุเรียนไทย’ ต่อเนื่อง แม้มี ‘ทุเรียนไหหลำ’ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ตลาด

เมื่อไม่นานนี้ กระแสข่าวทุเรียนที่ปลูกในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เตรียมออกวางตลาดในประเทศช่วงปลายเดือนมิถุนายน ได้ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่ผู้บริโภค

บรรดาคนวงในมองว่าการผลิตทุเรียนภายในประเทศของจีนไม่ได้มีแนวโน้มแปรเปลี่ยนทิศทางการบริโภคทุเรียนของจีนที่พึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก และ ‘ทุเรียนไทย’ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีน

เนื่องจากการผลิตทุเรียนในจีนยังอยู่ระยะแรกเริ่มเหมือนเด็กทารกหัดตั้งไข่ ไม่ได้มีพื้นที่เพาะปลูกมากมาย รวมถึงมีไม่กี่มณฑลที่สามารถปลูกได้ ทั้งจีนยังเป็นประเทศผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่แปลงปลูกทุเรียนของบริษัท ไห่หนาน โยวฉี อะกรีคัลเจอร์ จำกัด ในเมืองซานย่า ซึ่งถือเป็นฐานปลูกทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในปัจจุบันด้วยขนาด 1.2 หมื่นหมู่ (ราว 5,000 ไร่)

ปัจจุบัน ทุเรียนที่ฐานปลูกแห่งนี้เริ่มสุก และคาดว่าจะทยอยถูกเก็บเกี่ยวเพื่อส่งขายช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทุเรียนเหล่านี้จะช่วยลดราคา หรือกระทบความต้องการทุเรียนนำเข้าหรือไม่

‘ตู้ไป่จง’ จากฐานปลูกทุเรียนแห่งนี้เผยว่าตอนนี้ไห่หนานมีการปลูกทุเรียนรวมกว่า 3 หมื่นหมู่ (ราว 12,500 ไร่) แต่มีทุเรียนสุกพร้อมส่งขายในปีนี้เพียง 1 พันหมู่ (ราว 416 ไร่) หรือคิดเป็นปริมาณราว 50 ตัน

แม้ไห่หนานจะเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแห่งหลักของจีน แต่ยังคงมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกทุเรียนอยู่อย่างจำกัดมาก โดยต่อให้มีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 10 เท่า ก็ยังถือเป็นแหล่งผลิต ‘ขนาดเล็ก’ อยู่ดี

“การปลูกทุเรียนภายในประเทศอาจได้ลดต้นทุนในการขนส่ง แต่ผลผลิตยังเป็นส่วนน้อยมากสำหรับส่วนแบ่งของตลาด” ตู้ไป่จง กล่าว พร้อมเสริมว่าผู้ประกอบการไม่ได้คิดเร่งเพิ่มการลงทุนและพื้นที่ปลูกอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าด้วย

ดังนั้น ผู้บริโภคชาวจีนนั้นชื่นชอบ ‘ราชาแห่งผลไม้’ อย่างทุเรียนกันมากจนทำให้จีนกลายเป็นตลาดผู้บริโภคทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยทุเรียนเกือบทั้งหมดในจีนมาจากการนำเข้า ซึ่งข้อมูลสถิติพบว่าจีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 สูงถึง 8.25 แสนตัน และส่วนใหญ่มาจากไทย

‘เฉินเหล่ย’ เลขานุการสมาคมการตลาดผลไม้แห่งประเทศจีน กล่าวว่าการผลิตทุเรียนในประเทศยังอยู่ในขั้นทดลองปลูกขนาดเล็ก ยังไม่มีการปลูกเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดังนั้นยังไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อราคาทุเรียนในระยะสั้นนี้

“ราคาทุเรียนจะทรงตัวอยู่ระดับสูงในระยะยาวเมื่อเทียบกับผลไม้อื่นๆ โดยทุเรียนถือเป็น ‘ผลไม้หรู’ ชนิดหนึ่งในจีน แม้จะมีทุเรียนที่ปลูกในประเทศออกวางตลาด แต่ด้วยการปลูกขนาดเล็ก ทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าทุเรียนปริมาณมากในระยะยาว” เฉิน กล่าว

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร ชี้ว่า ต่อให้สภาพอากาศจะเอื้ออำนวย แต่จีนจะยังคงเผชิญปัญหาความยากลำบากทางเทคนิค ในการเพาะปลูกทุเรียนขนาดใหญ่

‘โจวจ้าวสี่’ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน ระบุว่าทุเรียนเป็นพืชต่างถิ่น การปลูกต้นกล้าในประเทศจึงเป็นเรื่องยากในระดับหนึ่ง มีเงื่อนไขทั้งเรื่องอากาศ ความชื้น แสงแดด อุณหภูมิ ปุ๋ย และน้ำ

“แม้ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราค้นพบแนวทางการจัดการอย่างระบบน้ำหยดและบ่มเพาะต้นกล้าเตี้ย ๆ ที่ทนลมในไห่หนานได้ แต่การปลูกขนาดใหญ่ในท้องถิ่นทั้งหมดยังคงอยู่ขั้นทดลอง” โจว กล่าว

ปัจจุบันทุเรียนที่ปลูกในไห่หนานส่วนใหญ่เป็นต้นอ่อนไร้ผล และการปลูกยังคงเจอสารพัดปัญหาที่ต้องเอาชนะ ทั้งการเพาะและปลูกต้นกล้าคุณภาพสูง เทคนิคจัดการการปลูก และการควบคุมศัตรูพืช

คนวงในอุตสาหกรรมเชื่อว่า ไทยยังคงเป็นแหล่งทุเรียนนำเข้าแห่งหลักของจีนในระยะยาว เพราะทุเรียนไทยมีรสชาติอร่อยโดดเด่น เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบที่ทำให้ทุเรียนไทย จะยังครองตลาดการบริโภคทุเรียนของจีนในอนาคต

ด้านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ถือเป็นช่องทางหลักของการนำเข้าทุเรียนไทย

สถิติจากศุลกากรนครหนานหนิงของกว่างซี ระบุว่า ปริมาณการนำเข้าทุเรียนไทยผ่านด่านพรมแดนกว่างซี ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม สูงแตะ 1.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 381.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 5.51 พันล้านหยวน (ราว 2.69 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 403.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

นครหนานหนิงของกว่างซีมี ‘ตลาดไห่จี๋ซิง’ เป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดของเมือง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้าส่งทุเรียนอยู่ 32 ราย และปริมาณการค้าส่งทุเรียนในปีก่อนสูงราว 2.4 หมื่นตัน

ส่วนยอดจำหน่ายทุเรียนของตลาดฯ ช่วงเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม รวมอยู่ที่ราว 1.7 หมื่นตันแล้ว ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 4 เท่า โดยมีทุเรียนหมอนทองของไทยครองตำแหน่งขายดีที่สุด

‘หวงเจี้ยนซิน’ ฝ่ายบริหารธุรกิจของบริษัทขนส่งสินค้าท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เผยว่าแต่ละวันบริษัทรับรองการทำพิธีศุลกากรผ่านด่านโหย่วอี้ของทุเรียน 16 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นปริมาณราว 200-300 ตัน

“ความต้องการและความนิยมทุเรียนไทยของตลาดผู้บริโภคชาวจีนนั้นสูงมาก ส่วนทุเรียนที่ปลูกในประเทศยังคงต้องรอผ่านบททดสอบเรื่องรสชาติก่อน” หวง กล่าว
.
‘โจวจ้าวสี่’ ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชเขตร้อน สังกัดสถาบันการเกษตรเขตร้อนแห่งชาติจีน เสริมว่าจีนส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนที่มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งทุเรียนไห่หนานยังมีช่องโหว่ที่ต้องพัฒนาอีกมาก

“แม้จีนจะสามารถปลูกทุเรียนในประเทศได้ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านปัจจัยธรรมชาติและพื้นที่เพาะปลูก ทุเรียนนำเข้าจากไทยจึงยังจะเป็นส่วนเสริมสำคัญ” โจว กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : Xinhua Thai


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top