Sunday, 19 May 2024
ประชาธิปัตย์

‘จุรินทร์’ ลั่น!! ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ใคร  เผย!! เตรียมให้ 16 สส. แหกมติพรรคชี้แจง 

(23 ส.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มี 16 สส.โหวตสวนมติพรรค ซึ่งนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรค ระบุอาจถึงขั้นไล่ออกจากพรรค และขณะนี้มีการล่ารายชื่อเตรียมเสนอรักษาการหัวหน้าพรรคแล้ว ว่า ตนได้สั่งให้ชี้แจงในที่ประชุม สส.ในการประชุม สส.ครั้งหน้า และถ้ามีสมาชิกพรรคเข้าชื่อกันร้องให้ตรวจสอบดำเนินการตามข้อบังคับพรรคตนก็จะดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถาม โทษจะเป็นอย่างไร เพราะนายสาธิตระบุว่าอาจถึงขั้นขับออกจากพรรค นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการแล้วก็ให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค ถึงแม้การโหวตเลือกนายกฯจะเป็นเอกสิทธิ์ สส. ตามรัฐธรรมนูญ แต่ข้อบังคับพรรคยังมีอยู่ อันนั้นไม่ขอตอบล่วงหน้า แต่ถ้ามีสมาชิกยื่นมาก็จะดำเนินการ ในส่วนกรณีของนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ ที่ลงมติไม่เห็นชอบนั้น ได้ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมพรรคว่าขอใช้สิทธิ์ในการลงมติไม่เห็นชอบ ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครขัดข้อง แต่ในกรณีของ16 สส.นั้น หลังจากการโหวตไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลกับตน จึงไม่ทราบเหตุผล และตนขอเรียนในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคว่าในนามพรรค พรรคยังไม่เคยมอบใครไปเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ตนยืนยันมาตลอด

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า 16 สส. มีความจงใจเพื่อให้พรรคขับออก เพื่อย้ายไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนตอบแทนไม่ได้ ก็ต้องสอบถามกับเจ้าตัว เมื่อถามว่า แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการพูดคุยกันหรือไม่ว่า การที่ 16 สส. โหวตให้เพราะต้องการไปร่วมรัฐบาล นายจุรินทร์ กล่าวว่า ต้องถามคนที่ไปโหวต แต่ตนได้แจ้งแล้วว่าเขาต้องไปชี้แจงต่อที่ประชุมหรือถ้ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน เขาก็ต้องไปชี้แจงกับคณะกรรมการว่าเป็นอย่างไร

“แต่สิ่งหนึ่งที่ผมขอเรียนตรงนี้ ประชาธิปัตย์มีศักดิ์ศรี เราเคยเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเป็นอะไรก็เป็นไม่มีปัญหา แต่เราไม่เคยไปเป็นพรรคอะไหล่ และผมคิดว่าเราต้องชัดเจนในเรื่องนี้” นายจุรินทร์ กล่าว

เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ความขัดแย้งในพรรคมากขึ้นหรือไม่ และจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนตอบล่วงหน้าไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งคือ พรรคจำเป็นต้องอยู่ อย่างน้อยตนคิดว่าความเป็นพรรคต้องสูงสุด นอกจากประชาชนที่เราต้องมีหน้าที่ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน พรรคยังต้องอยู่ เพราะพรรคเป็นองค์กร

เมื่อถามย้ำว่า ยิ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ฟื้นฟูยากหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องอนาคต ไม่เป็นไร ในสถานการณ์นี้เราต้องดำเนินการในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดสำหรับพรรค คิดว่าตนชัดเจนในจุดยืนนี้

เมื่อถามถึงกรณีพรรคก้าวไกลอาจไม่รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เพราะมีสมาชิกพรรคเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้านเองหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า อันนั้นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และต้องเป็นไปตามข้อบังคับของสภา ว่าผู้นำฝ่ายค้านจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และหากตนจำไม่ผิดผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็น หัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากในฝ่ายค้าน ส่วนจะมาถึงพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ตอบล่วงหน้าไม่ได้ แต่ตรงนี้ต้องถือว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในซีกนี้

‘เชาว์ มีขวด’ ยกโมเดล พปชร. แก้วิกฤติพรรค หวังใช้แก้ปัญหาใน ปชป. หลังมี สส. แหกมิติพรรคโหวตนายกฯ

(24 ส.ค. 66) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ‘ทนายเชาว์ มีขวด’ ระบุว่า…

ปล่อยมือเถอะครับ แล้วจากกันด้วยดี
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ในการโหวตให้ความเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสนุกปากว่าประชาธิปัตย์เละเป็นโจ๊ก เนื่องจากมี สส.กลุ่มของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค จำนวน 16 คน ได้โหวตสวนมติพรรคที่ให้งดออกเสียง เป็นเห็นชอบ

ที่ผมโฟกัสเฉพาะสส. 16 คน ไม่พูดถึง 2 อดีตหัวหน้าพรรคฯ ที่โหวตสวนมติเหมือนกัน แต่เป็นการลงคะแนนไม่เห็นชอบนั้น ก็เพราะทั้งคู่ได้แจ้งต่อที่ประชุมแล้วถึงจุดยืนที่ขอใช้เอกสิทธิ์ สส.ในกรณีนี้ แต่ สส. 16 คน ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่เคยตกเป็นข่าวว่า นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ใช้ต่อรองกับนายทักษิณ ชินวัตร ดีลร่วมรัฐบาลที่ฮ่องกง

เหตุการณ์ประหลาดเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นสถาบันหลักในทางการเมืองมายาวนานกว่า 78 ปี และยังมีจุดยืนทางการเมืองคนละขั้วกับพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจนในการต่อต้านระบอบทักษิณต่อสู้ห้ำหั่นกันมากว่าสองทศวรรษ ถึงขนาดนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค กล่าวภายหลังการประชุมรัฐสภาว่า ไม่น่าเชื่อว่า สส.ของพรรคจะโหวตออกมาอย่างนี้ ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากสมาชิกพรรคที่มีความห่วงใย ในอนาคตของพรรคว่าถึงคราวจะสูญพันธุ์ตามที่หลายคนได้พูดถึงหรือไม่

จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีคำชี้แจงจากกลุ่ม สส. ทั้ง 16 คน ถึงเหตุผลใดที่ให้พวกท่านตัดสินใจทำเช่นนั้น แต่ผมคิดว่าการฝ่าฝืนมติพรรคที่ตัวเองเป็นผู้กำหนดขึ้นเองคล้อยหลังเพียงหนึ่งวัน จากงดออกเสียงเป็นเห็นชอบ จะชี้แจงแก้ตัวอย่างไรคงฟังไม่ขึ้น เพราะการกระทำของพวกท่านหมดความชอบธรรมที่จะยกเหตุผลใดมาอธิบายนอกจากเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้าจากการเข้าร่วมรัฐบาล โดยที่พวกท่านลืมหลักการไปว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือในการแสวงหาอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์และความรู้สึกของประชาชนที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคมาอย่างยาวนาน

ผมเข้าใจดีว่าในวันที่พรรคอ่อนแอ หลายคนคิดแค่กอบโกยให้ได้มากที่สุด ทิ้งไว้เพียงซากปรักหักพัง เพราะไม่คิดที่จะอยู่ต่อแล้วในอนาคต แต่อยากให้ตระหนักสักนิดว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่คิดทิ้งพรรค หวังที่จะกอบกู้ สู้ไปด้วยกันแม้ในวันที่พรรคอ่อนล้าโรยแรง มีโมเดลที่พรรคพลังประชารัฐเคยทำ เมื่อครั้งมีความเห็นต่างจนไม่อาจหาข้อยุติได้ สุดท้ายร้อยเอกธรรมนัส เดินจากไป ปล่อยมือเถอะครับ แล้วจากกันด้วยดี”

‘สรรเพชญ’ ยินดี ‘เศรษฐา’ นั่งนายกรัฐมนตรี  ยืนยัน!! พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านสุดความสามารถ

(24 ส.ค. 66) นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยกมืองดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามมติพรรค ได้ออกมาแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และยืนยันพร้อมเป็นฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล

โดยสรรเพชญ ระบุว่า วันนี้ ประเทศไทยของเราได้มีนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เป็นที่เรียบร้อย ผมขอแสดงความยินดีกับคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย และขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อแก้ปัญหาที่รุมเร้าประเทศของเราอยู่ในขณะนี้ ทั้งปัญหาปากท้องของประชาชน และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ปัญหาสังคม และต่าง ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม นอกจากการมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแล้ว ประเทศของเราจำเป็นต้องมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ที่จะคอยตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล ไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิด เอื้อประโยชน์เพื่อพวกพ้อง อันนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชัน จนกลายเป็นต้นเหตุทางการเมืองที่ผ่านมา และผมเชื่ออย่างยิ่งว่าหากฝ่ายค้านทำงานอย่างมีคุณภาพแล้วนั้น ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนเช่นกัน ดังที่ผมเคยประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กของผม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2566 ภายหลังการเลือกตั้ง และ ณ วินาทีนี้ ความเชื่อของผมก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ผมในฐานะ สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยส่วนตัวผมแล้วผมไม่เห็นถึงความจำเป็นใด ๆ ที่พรรคฯ จะต้องไปเข้าร่วมรัฐบาล เนื่องจากจำนวน สส.พรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน นั้นมีมากกว่า 314 เสียง แล้ว ซึ่งถือเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมาก ๆ และถือว่ามีจำนวน สส. มากกว่าชุดรัฐบาลที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น จำนวนเสียง สส.ฝ่ายค้าน แทบจะไม่สามารถทำให้รัฐบาลสะดุดล้มได้เลย เว้นแต่รัฐบาลจะสะดุดขาตัวเอง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานั้น ผมจึงอยากให้พรรคฯ เดินหน้าทำหน้าที่เป็น ‘ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็ง’ เหมือนกับที่ประชาธิปัตย์เคยพิสูจน์ผลงานมาแล้วในอดีต เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน สำคัญที่สุดคือการกอบกู้ศรัทธาของพรรคให้กลับคืนมา

แต่ถ้าหาก สส. ส่วนใหญ่ของพรรคฯ คิดว่าอุดมการณ์ของผมนั้น ขัดแย้งกับเสียงส่วนใหญ่ ที่ได้อ้างกันอยู่ในขณะนี้ และไม่สามารถร่วมอุดมการณ์เดียวกันได้แล้ว ผมยินดีที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ ขับออกจากพรรค โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เพราะผมไม่สามารถหักหลังพี่น้องชาวสงขลาที่ได้ให้โอกาสผมมาได้ และผมยินดีที่จะตั้งใจทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอย่างมีคุณภาพ ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ในฐานะผู้แทนของราษฎร ตามอุดมการณ์ที่ผมยึดถือมาตลอดครับ

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมยึดถือและยึดมั่นเป็นสำคัญ ก็คือ คำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชาวประชาธิปัตย์ ยึดมั่นมาตลอด 77 ปี คือ สจฺจํ เว อมตา วาจา ‘คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย’

‘เดชอิศม์’ นำทีม 16 สส.ปชป. แจงหลังแหกมติพรรคโหวตนายกฯ ชี้!! ไม่อยากเอาความแค้นในอดีตมากำหนดอนาคตประเทศชาติ

(24 ส.ค. 66) นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเพื่อน สส.กลุ่ม 16 (ยกมือเลือกเศรษฐา ทวีสิน สวนมติพรรค) ร่วมกันแถลงข่าวถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ต้องขอโทษสื่อมวลชนที่ติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่ติดต่อไม่ได้ เนื่องจากติดภารกิจสำคัญ

นายเดชอิศม์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เริ่มไม่มีเอกภาพมาตั้งแต่การประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีการล้มการประชุมถึงสองครั้ง ซึ่งเป็นเจตนาของใครบางคนที่ต้องการให้ล่ม สร้างความเสียหายให้กับพรรค สมาชิกพรรคที่ต้องเดินทางมาประชุม พรรคก็เสียหาย ต้องจ่ายค่าจัดการประชุมครั้งละ 3 ล้านบาท จนถึงขณะนี้เราก็ยังกำหนดวันประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ไม่ได้

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า มาถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีการประชุม สส.ของพรรคเพื่อกำหนดแนวทางในการโหวต ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นออกเป็นสองแนวทาง คือไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง

“ฝ่ายไม่เห็นชอบก็ยกเหตุผลจากความโกรธแค้นในอดีตที่รัฐบาลในยุคก่อนจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรม จัดงบพัฒนาภาคใต้ แต่ สส.น้อง ๆ รุ่นใหม่ เสนอให้แยกเรื่องความแค้นกับการเดินหน้าทางการเมืองออกจากกัน ฝ่ายที่เสนอให้เห็นชอบก็มองว่า เมื่อประเทศมาถึงทางตัน จึงควรจะมีทางออก บ้านเมืองจะเกิดศูนย์ยากาศทางการเมืองนานไม่ได้ แต่เสียงจำนวนมาก เห็นว่าควรงดออกเสียง”

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า เมื่อมาถึงจุดนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคจึงตัดบทว่า เรื่องนี้ไม่อยากให้มีการโหวต การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. วันนั้นจึงไม่มีการโหวต จึงไม่รู้ว่ามติเป็นอย่างไร

“วันโหวตพวกเราส่วนใหญ่มานั่งคุยกันถึงคุณสมบัติของนายเศรษฐา พร้อม ๆ กับนั่งดูการโหวตไปด้วย นายจุรินทร์โหวตงดออกเสียง นายชวน นายบัญญัติ โหวตไม่เห็นชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การโหวตไปคนละทิศคนละทางกัน”

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า พวกเรามานั่งพูดคุยกัน ก็เห็นตรงกันว่า การจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ จะทำให้ชาติเดินหน้าไปได้ จึงควรสนับสนุนนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี

“วันนี้เราเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว เราไม่กระเหี้ยนกระหือรือเป็นรัฐบาล การร่วมรัฐบาลต้องเป็นไปตามระเบียบพรรค มติเป็นอย่างไรทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น หลักของเรายังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง”

เมื่อถูกถามว่า เมื่อการโหวตเป็นการโหวตสวนมติพรรค ไม่กลัวจะถูกขับออกจากพรรคหรือ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตามระเบียบพรรค การขับสมาชิกพรรคต้องใช้เสียง สส. 3 ใน 4

“ตอนนี้เสียงส่วนใหญ่อยู่ฝั่งนี้หมดแล้ว แล้วใครจะขับใครเราไม่อยากให้เอาความแค้นในอดีตมาส่งมอบให้กับพวกเราคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าเป็นนโยบายดี ๆ เรายินดีรับต่อ” นายเดชอิศม์ กล่าว

‘มาดามเดียร์’ ลั่น!! ถึงเวลา ปชป. ประกาศจุดยืนฝ่ายค้าน ก่อนตั้ง ครม. ใหม่ ยัน!! ยึดหลักการอยู่ข้าง ปชช. ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน

เมื่อวานนี้ (24 ส.ค.66) น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เดียร์ วทันยา บุนนาค’ เพื่อเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนเป็นฝ่ายค้านอย่างสมศักดิ์ศรีก่อนจัดตั้ง ครม. ชุดใหม่ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์เรื่องผลโหวตนายกรัฐมนตรีที่ สส. พรรคประชาธิปัตย์มีทิศทางที่แตกต่างและไม่มีเอกภาพ โดยมีเนื้อหาดังนี้...

[ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องชัดเจน ประกาศจุดยืนฝ่ายค้านอย่างมีศักดิ์ศรีก่อนจัดตั้งครม.ชุดใหม่]

แม้ผลการโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางท่านในวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมาได้สร้างความเคลือบแคลงใจและไม่สบายใจให้แก่สมาชิกพรรคและสังคม แต่เดียร์ยังคงเชื่อมั่นว่าเป็นเพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมืองที่เกิดขึ้นของ สส. ในพรรคประชาธิปัตย์ 

ดังนั้นเพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่สมาชิกและประชาชนที่ติดตามการทำงานของพรรค จึงเห็นว่า สส. และคณะกรรมการบริหารซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ควรออกมา ‘ประกาศจุดยืนการเป็นฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์’ ให้ชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องรอการจัดตั้ง ครม. ให้เสร็จสิ้น เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรคที่พร้อมทำงานในฐานะตัวแทนประชาชนโดยไม่ยึดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและเพื่อพวกพ้องเป็นที่ตั้ง

ทั้งนี้เดียร์ยังคงเชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่สมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน สมาชิกสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ขับเคลื่อนการทำงานของพรรคอย่างแท้จริง อีกทางหนึ่งคือเครื่องบ่งชี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนอยู่บนกลไกความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของพรรคการเมืองที่เป็นองค์กรสาธารณะ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน ภาคสังคม และสมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ไม่ปิดกั้นโอกาสทางความคิด

อย่างไรก็ตามภายใต้เสรีภาพในการทำงาน ที่ต้องการพลังความคิดที่หลากหลาย แต่องค์กรจะเดินไปได้อย่างเข้มแข็ง ย่อมต้องเดินเคียงคู่กับความเป็นเอกภาพของสมาชิกภายใน และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องมี ‘กติกา’ ที่เรียกว่า ‘มติพรรค’ เพื่อให้สมาชิกสามารถทำงานร่วมกันได้ด้วยหลักการเคารพเสียงข้างมาก แต่ไม่ละเลยมองข้ามเสียงข้างน้อย สร้างให้พรรคเป็นพื้นที่ของคนทุกคน ดังนั้นไม่ว่ามติพรรคออกมาเป็นอย่างไรสมาชิกก็พร้อมน้อมรับผลลัพธ์ร่วมกันเพราะเกิดจากการตัดสินใจร่วมกัน

การกระทำใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามมติพรรค จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นการใช้เอกสิทธิ์โดยสุจริต ด้วยการยึดหลักยืนเคียงข้างประชาชน ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

'ร่มธรรม ขำนุรักษ์' ดาวจรัสแสงดวงใหม่ของประชาธิปัตย์ ยึดมั่น 'หลักการ-มติพรรค' พร้อมเลือดรักสิ่งแวดล้อมไม่แพ้พ่อ

ก่อนหน้านี้ THE STATES TIMES ได้นำเสนอเรื่องราวและผลงานของ 'สรรเพชญ บุญญามณี' สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ว่า เป็นดาวจรัสแสง เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงในตัวเอง และไม่จำเป็นต้องทำตัว 'หิวแสง' แต่ผลงานคือเครื่องพิสูจน์ 'ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น' ไปพอสังเขป

มาในวันนี้ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ในบรรดา สส.หน้าใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นดาวเด่น นอกจากสรรเพชญบุญญามณีแล้ว ก็เห็นแสงระยิบระยับในตัวของ 'ร่มธรรม ขำนุรักษ์' สส.เขต 3 พัทลุง อีกคนหนึ่งที่ฉายแสงเจิดจรัส

ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 'ร่มธรรม' ก็ยึดมั่นตามมติพรรค 'โหวตงดออกเสียง' อีกคนหนึ่ง เป็น 1 ใน 6 

"ผมสั่งไว้ตั้งแต่ต้นว่า จะทำอะไรลงไปคิดให้ดี การกระทำจะเกิดอะไรขึ้น ประชาชนชอบไหม สื่อชอบไหม ทำแล้วต้องหลบหน้าหรือไม่ ทำแล้วต้องแก้ตัวหรือไม่ ผมสั่งไว้ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเลือกตั้ง จึงลงมติงดออกเสียงตามมติพรรค” นริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ผู้เป็นพ่อ อดีต สส.เขต 3 พัทลุง ที่เปิดทางให้ลูกก้าวเข้าสู่เวทีการเมือง กล่าว

นริศ กล่าวยืนยันว่า พรรคมีมติให้งดออกเสียงแน่นอน สุณัชชา โล่สถาพรพิพิธ รองโฆษกพรรคก็แถลงข่าวชัดเจน 

"มีท่านชวนขออนุญาตโหวตไม่เห็นชอบ ท่านบัญญัติขอโหวตตามนายชวน ไม่อยากให้นายชวนไปแบบโดดเดี่ยว"

กล่าวสำหรับ 'ร่มธรรม' ดาวจรัสแสงดวงใหม่ของประชาธิปัตย์ ถ้าพลิกดูประวัติแล้วจะน่าสนใจยิ่ง ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ไปเรียนต่อที่รัสเซีย และหลังจบการศึกษาก็เป็นครูอาสาตระเวนสอนอยู่ในหลายประเทศ

'ร่มธรรม' ได้เลือดพ่อสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อนริศมีภารกิจมาก ไม่ค่อยมีเวลาเขียนหนังสือ 'ร่มธรรม' รับบทเรียนเองในคอลัมน์ 'ร่มไม้ใบบัง' ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เดิมนริศเขียนมานานหลายปี

'ร่มธรรม' ชักชวนเพื่อนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งเพจ Environman นำเสนอเนื้อหาแนวสิ่งแวดล้อม ส่วนบทบาทในสภา ก็ได้เห็นการอภิปราย การชี้แนะอยู่บ่อยครั้ง เช่น การเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม-เท่าเทียม ในทุกพื้นที่ การอภิปรายเกี่ยวกับผลงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และการอภิปราย ตั้งข้อสังเกตผลงานของไทยพีบีเอส เป็นต้น

เท่าที่ติดตามผลงานในรอบ 3 เดือน เมื่อเทียบกับ สส.คนอื่น และเป็น สส.หน้าใหม่ ถือว่ามีผลงานน่าสนใจ และผลงานเจิดจรัสพอ ๆ กับ 'สรรเพชญ บุญญามณี'

เรียกได้ว่า ทั้ง 'สรรเพชญ' และ 'ร่มธรรม' ถือได้ว่า เป็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีพ่อเป็นลมใต้ปีกอยู่ห่าง ๆ

‘สาธิต’ ยกพลร่อนหนังสือ จี้ ‘จุรินทร์’ ลงดาบ 16 สส.โหวตเศรษฐา ซัด!! ทำพรรคเสื่อมเสีย 'สิ้นศรัทธา-เป็นปฏิปักษ์-ผิดข้อบังคับร้ายแรง'

เมื่อวานนี้ (25 ส.ค.66) นายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคกลาง พร้อมด้วย นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ รักษาการกรรมการบริหารพรรค นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอให้ลงโทษผู้มีพฤติกรรมทำผิดข้อบังคับพรรคอย่างร้ายแรง ด้วยการเป็นปฏิปักษ์กับพรรค ด้วยการฝ่าฝืนมติคณะกรรมการบริหารพรรค และที่ประชุม สส.ของพรรค ทำให้พรรคเสื่อมเสียชื่อเสียงและสร้างความแตกแยกในพรรค

หนังสือระบุว่า กระผมนายสาธิต ปิตุเตชะ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อีกจำนวนหนึ่ง พบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ปชป. (“สส.”) กระทำความผิด ฝ่าฝืนข้อ 18 (1) และ (2) และข้อ 124 ของข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ.2566 (“ข้อบังคับพรรคฯ”) และจรรยาบรรณพรรค ปชป. โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.นายเดชอิศม์ ขาวทอง และนายชัยชนะ เดชเดโช รวมถึง สส.ของพรรค ปชป.อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 คน ลงมติในที่ประชุมรัฐสภาขัดกับมติของคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม ส.ส. โดยไม่สุจริต โดยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ก่อนวันประชุมร่วมกันของรัฐสภากำหนดการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีนั้น พรรค ปชป.ได้มีมติของที่ประชุม สส. ว่าให้ สส.ของพรรค ปชป. “ลงมติงดออกเสียง” ต่อมา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามี สส.ของพรรค ปชป. ได้แก่ นายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวมถึง สส.ของพรรค ปชป. อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 คนออกเสียง “เห็นชอบ” ต่อการเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวมถึง สส.ของพรรค ปชป. อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 คนออกเสียง “เห็นชอบ” ต่อการเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยนั้นได้ออกมาแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนในลักษณะที่ทำให้พรรค ปชป. ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้พรรค ปชป. เกิดความแตกแยกสามัคคีภายใน การกระทำของนายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวมถึง สส.ของพรรคฯ คนอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 คน ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดมติของพรรค เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรค และกระทำความผิดข้อบังคับพรรค อย่างร้ายแรง เนื่องจากตามข้อบังคับพรรค สส.ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ดังนี้

ข้อ 18 ระบุว่า “สมาชิกมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ (1) ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับพรรค และมติคณะกรรมการบริหารพรรค (2) รักษาชื่อเสียงของพรรคโดยไม่ปฏิบัติไปในทางที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่พรรค…”
ข้อ 96 ระบุว่า “ให้ที่ประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เป็นผู้ลงมติว่าจะจัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลหรือถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหรือไม่”
ข้อ 115 ระบุว่า “นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับตามหมวด 4 ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกแล้ว ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติตามวินัย ดังต่อไปนี้ (6) ห้ามดำเนินการอื่นใดอันอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่พรรค…”
ข้อ 124 ระบุว่า “การลงโทษสมาชิกผู้ถูกกล่าวหาให้พ้นจากสมาชิกภาพจะกระทำได้ต่อเมื่อปรากฏว่าสมาชิกผู้นั้นกระทำการให้พรรคเสียหายอย่างร้ายแรง หรือทำให้เกิดการแตกแยกสามัคคีภายในพรรค หรือผู้ถูกกล่าวหาได้ฝ่าฝืนข้อบังคับพรรคหรือจรรยาบรรณของพรรค มติหรือคำสั่งของคณะกรรมการบริหารพรรค”

หนังสือระบุอีกว่า 2.การกระทำของนายเดชอิศม์สร้างความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรง นอกจากการกระทำความผิดของนายเดชอิศม์ ในข้อ 1. ข้างต้นแล้ว นายเดชอิศม์ยังกระทำการสร้างความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรงด้วยการพูดจาไม่น่าเชื่อต่อสาธารณชน พูดกลับกลอกไม่มีความจริง โดยมีรายละเอียดดังนี้...

2.1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายเดชอิศม์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าไม่ได้เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบนายทักษิณ ชินวัตร เพียงแต่ไปฮ่องกงเพื่อแก้บนให้แก่ภรรยาเท่านั้น นายเดชอิศม์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปฮ่องกงเพื่อแก้บนหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทย เนื่องจากได้บนไว้ให้ภรรยาชนะการเลือกตั้ง ส่วนได้ไปพบนายทักษิณหรือไม่ ไม่ขอพูดดีกว่า” และยังพูดถึงเรื่องการร่วมรัฐบาลต่อไปอีกว่า “ส.ส.ในกลุ่มของนายเดชอิศม์ จะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย นายเดชอิศม์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับมติพรรค และการจะร่วมรัฐบาลหรือไม่จะเป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ชุดที่มีอยู่ รวมกับ ส.ส.ปัจจุบัน เหมือนปี 2562 ที่มีการเถียงกัน 1 วัน 1 คืน สุดท้ายมีมติ 61 ต่อ 16 ให้ร่วมรัฐบาล ถ้าไปก็ไปทั้งพรรค และยืนยันจะไม่มีใครฉีกมติพรรค และไม่มีงูเห่าจากพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน ภายใต้มติของกรรมการบริหารพรรค”

2.2 แต่ทว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายเดชอิศม์ได้ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าได้เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบนายทักษิณและพูดคุยถึงการร่วมรัฐบาลจริง และยังมีการพูดถึงแนวทางการร่วมจัดตั้งรัฐบาลตอนหนึ่งว่า “จริงๆ หลักของประชาธิปัตย์ การร่วมรัฐบาลตนคิดคนเดียวไม่ได้ โดยหลักแล้ว 1.ต้องเทียบเชิญก่อน 2.กรรมการบริหารพรรคประชุมร่วม ส.ส. 25 คน รวม 52 คน ซึ่งการประชุมนี้ส่วนใหญ่ว่าอย่างไรถือเป็นมติพรรค” และกล่าวยอมรับว่าได้เจอนายทักษิณที่ฮ่องกงจริงเมื่อโดนถามว่าไปฮ่องกงไหมจึงตอบว่า “ไป ซึ่งเป็นช่วงวันเกิดนายทักษิณพอดี ส่วนเจอนายทักษิณหรือไม่ นายเดชอิศม์กล่าวว่า เจอครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ไม่อยากพูดเพราะกลัวว่านายทักษิณ หรือใครก็ตามจะเสียหาย ซึ่งนายทักษิณสนิทสนมกับตนส่วนตัว เพราะเคยลงสมัครพรรคไทยรักไทยปี 2548 ซึ่งก็ไม่มีความแค้นส่วนตัวกับใครอยู่แล้ว” และยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ส่วนตัวผมจริงๆ ผมอยากให้ร่วมรัฐบาล เพื่อแนวคิดของเราอยากแก้ปัญหาประชาชนจะแก้ได้”

ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริง พรรค ปชป.ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล และพรรค ปชป.ก็ไม่เคยมีมติเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆ แต่อย่างใด หากพรรค ปชป.จะเข้าร่วมรัฐบาลนั้นจะต้องมีมติพรรคจัดตั้งรัฐบาลหรือเข้าร่วมรัฐบาล และจะต้องมีการแต่งตั้งบุคคลกลุ่มหนึ่งเพื่อเข้าร่วมการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว ไม่ใช่เป็นกรณีดังเช่นนายเดชอิศม์จะสามารถดำเนินการเจรจาโดยการตัดสินใจเพียงลำพัง

ด้วยเหตุนี้ การกระทำของนายเดชอิศม์ จากข้อเท็จจริงในข้อ 2.1 และ 2.2 ข้างต้นเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่านายเดชอิศม์ พูดจากลับไปกลับมา และการเข้าไปพูดพบนายทักษิณเพื่อพูดคุยเรื่องการร่วมรัฐบาลนั้น เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรง และสร้างความไม่น่าเชื่อถือต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วนายเดชอิศม์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นถึง สส.ของพรรค ปชป. พึงดำรงตนปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค และมติของพรรค รวมถึงจรรยาบรรณของพรรคอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนและสมาชิกพรรคคนอื่น ดังนั้น การกระทำของนายเดชอิศม์ จึงเป็นเหตุสมควรให้ได้รับการลงโทษตามข้อ 124 ของข้อบังคับของพรรค

3.นายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ เคยกล่าวว่า ต้องทำตามมติพรรค แต่ต่อมากลับกระทำการฝ่าฝืนมติพรรคอย่างชัดเจน เป็นการพูดไม่ตรงกับการกระทำ ไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาชื่อเสียงพรรค ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในพรรคและทำให้พรรคได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามที่ก่อนหน้านี้ นายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ เคยกล่าวว่า สมาชิกพรรคทุกคนจะต้องทำตามมติพรรค หากใครลงคะแนนเสียงขัดมติพรรคจะต้องลาออก แต่ต่อมาพวกเขากลับดำเนินการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีฝ่าฝืนมติพรรคโดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการพูดไม่ตรงกับการกระทำ ไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาชื่อเสียงพรรคทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในพรรค ปชป. และอุดมการณ์ของพรรค ปชป. ซึ่งกรณีนี้เป็นเหตุให้พรรค ปชป.ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ การกระทำทั้งหมดดังที่ได้เรียนข้างต้นของนายเดชอิศม์ ขาวทอง และนายชัยชนะ เดชเดโช กับ สส.ของพรรค ปชป. อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 คน ทำให้เห็นว่าเจตนาของ สส.ทั้งหมดในการแหกมติเป็นการส่อให้เห็นว่าอยากร่วมรัฐบาล แม้ว่าพรรค ปชป.จะไม่ได้มีมติให้เข้าร่วม ยิ่งเป็นการตอกย้ำและทำให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาและความนิยมต่อพรรค ปชป. อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อพรรคอย่างร้ายแรง

ด้วยเหตุนี้ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าว การกระทำของนายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวมถึง สส.พรรคคนอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 16 คน ลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้งนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม สส. เนื่องจากพรรคไม่เคยมีมติหรือเห็นชอบในการเข้าร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด และพรรคได้มีมติอย่างชัดเจนว่าจะลงคะแนนเสียงในการให้ความเห็นชอบบุคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว นายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวมถึง สส.ของพรรครวมทั้งสิ้น 16 คน เป็นการกระทำโดยเจตนาไม่สุจริต จงใจกระทำการฝ่าฝืนกับข้อบังคับพรรคด้วยการฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม สส. อีกทั้งเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรค ทำให้เกิดการแตกแยกสามัคคีภายในพรรค และทำให้พรรค ที่มีอุดมการณ์มั่นคงมาเป็นระยะเวลาเนิ่นนานนั้นได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง เสื่อมศรัทธาและคะแนนนิยมของประชาชน ทำให้พรรคได้รับความเสียหายร้ายแรงอย่างชัดเจน จึงเป็นการกระทำความผิดข้อบังคับข้อ 18, 96, 115 และ 124

ด้วยเหตุผลดังที่เรียนไว้ในข้างต้นนี้ ขอให้รักษาการหัวหน้าพรรคตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนการกระทำความผิดดังกล่าวโดยเร็วที่สุดและดำเนินการลงโทษ นายเดชอิศม์ และนายชัยชนะ รวมถึง สส.ของพรรครวมทั้งสิ้น 16 คน ที่กระทำการผิดข้อบังคับพรรค ฝ่าฝืนมติคณะกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุม สส. ทำให้พรรคได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับพรรคด้วย

‘บัญญัติ’ ยัน!! มติพรรคโหวตนายก ‘งดออกเสียง-ไม่เห็นชอบ’ ชี้!! พฤติกรรม 16 สส.งูเห่าอันตราย ฉุดภาพลักษณ์พรรคตกต่ำ

(30 ส.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์กรณี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป.และ สส.สงขลา พาดพิงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องย้ายไปอยู่พรรคไทยรักไทย ว่า จำได้แน่นอนว่าสมัยนั้นตอนที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค หลักใหญ่ที่ใช้ในการตัดสินใจสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนใครให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มีสองหลักการ หลักแรกมักให้ สส.ที่มีอยู่ในจังหวัดพูดจาและลงความเห็นกันเอง และหลักที่สองใช้หลักคณะกรรมการบริหาร โดยเฉพาะให้รองหัวหน้าพรรคเป็นหลัก ยืนยันตนตัดสินใจไม่ผิด เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรค ปชป.ได้ สส.สงขลา ยกจังหวัดเช่นกัน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนายเดชอิศม์จึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในเวลานี้

นายบัญญัติ ยืนยันว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. พรรคมีมติให้งดออกเสียง นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ แน่นอน ในวันดังกล่าวตนเป็นคนสรุปด้วยตัวเอง พูดกันเพียง 2 แนวทาง คือ จะงดออกเสียง หรือไม่เห็นชอบ คนเริ่มเรื่องนี้คือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา โดยบอกว่าเมื่อเที่ยวนี้พรรคไม่ได้เป็นรัฐบาล แนวทางมติก็มีเพียงงดออกเสียงกับไม่เห็นชอบเท่านั้น ซึ่งถูกต้อง เพราะในทางปฏิบัติที่แล้วมา ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เขาไม่เชิญเข้าร่วมรัฐบาล แล้วอยู่ ๆ ไปยกมือสนับสนุนนายกฯ ของเขา ตนยังแปลกใจว่าเที่ยวนี้ไปไกลแบบนั้นได้อย่างไร

"พรรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาลมีอยู่สองอย่างคือ งดออกเสียง กับไม่เห็นชอบ งดออกเสียงคือปฏิเสธแบบสุภาพ แม้กระทั่งนายเดชอิศม์เองก็ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมวันที่ 21 ส.ค. อยากให้งดออกเสียง หลังจากพูดกันพอดูออกว่าอยากให้งดออกเสียงจำนวนมาก นายชวน หลีกภัย ก็ลุกขึ้นบอกว่าขอลงมติไม่เห็นชอบ เพราะสู้กับระบอบทักษิณมายาวนานเป็นพิเศษ และวันนี้ก็ไม่ทราบว่าระบอบทักษิณเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญ อยากให้คนใต้สบายใจว่าจุดยืนยังมั่นคงแข็งแรง จากนั้นผมลุกขึ้นอภิปรายต่อ สุดท้าย ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลุกขึ้นพูดว่าคงไม่ต้องลงมติมั้ง ซึ่งหมายความคงไม่ต้องนับคะแนนกัน เพราะฟังแล้วก็พอรู้ว่าจะมีผลอย่างไร ไม่ใช่แปลว่าจะไม่มีมติ ซึ่งจำได้ว่านายเดชอิศม์ยังลุกขึ้นทักท้วงว่าไม่ต้องมีมติหรือ ซึ่งผมก็ได้บอกว่าสิ่งที่นายจุรินทร์พูด หมายความว่าไม่ต้องลงคะแนน เพราะฟังดูแล้วเสียงส่วนใหญ่ให้งดออกเสียง ถ้าเช่นกันก็มีมติให้งดออกเสียง จึงถือว่าวันนั้นมีมติพรรคแน่นอน และที่กล่าวหาว่าผมและท่านชวนฝืนมติพรรค ก็ไม่ใช่" นายบัญญัติ กล่าว

นายบัญญัติ กล่าวอีกว่า ส่วนกระแสที่ว่านายชวน จะขับ สส.ออกจากพรรคนั้น คิดว่าไม่ใช่วิสัยของนายชวน เพียงแต่ว่าอะไรไม่ถูกต้องนายชวนก็ทักท้วง เรื่องจะให้ขับกันเป็นเรื่องที่สมาชิกส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวกันเมื่อหลายวันก่อน ซึ่งเป็นปกติของพรรค วันดีคืนดีเมื่อสมาชิกจำนวนหนึ่งเห็นว่า สส.ไปลงคะแนนไม่น่าจะถูกต้องในความรู้สึกของเขา ก็ออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้พรรคพิจารณา ซึ่งพรรคจะไม่พิจารณาคงไม่ได้ และทราบว่านายจุรินทร์กำลังเล็งหาคนมาเป็นประธานคณะกรรมการมาทำหน้าที่สอบข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น และคณะกรรมการชุดนี้จะทำความชัดเจนได้มากขึ้น ทั้งเรื่องพรรคมีมติหรือไม่มีมติ และใครกันแน่ที่กระทำการฝ่าฝืนมติพรรค ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้จบ ไม่คาราคาซังกันอีก

นายบัญญัติ กล่าวตอนท้ายว่า ภายหลังลงมติโหวตนายกฯ ผ่านพ้นไป มี สส.ใหม่มาปรับทุกข์ว่าไม่สบายใจที่ลงมติเห็นชอบ ตนก็ได้ให้สติไปว่าอาจมีอีกหลายคนที่คิดแบบเดียวกัน และให้คำแนะนำว่าการทำการเมืองมีเพื่อนเป็นเรื่องดี แต่อย่าตามใจเพื่อนจนเสียหลัก นักการเมืองมีศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือสามารถขัดใจเพื่อนโดยเพื่อนไม่โกรธ เช่น การตัดสินใจทางการเมืองต้องคิดหลายปัจจัย นอกเหนือจากพรรคแล้ว ต้องมองว่าประชาชนคิดอย่างไร การเป็นนักการเมืองความคิดของตัวเองสำคัญ แต่ความคิดของคนอื่นสำคัญกว่า โดยเฉพาะความคิดของประชาชน กรณีที่ไปลงคะแนนกัน ตนคิดว่าอันตราย เพราะในความรู้สึกของชาวบ้านอาจมองว่าเราอยากเป็นรัฐบาลมากเหลือเกินหรือไม่ และอาจมองว่าเราตกเป็นเหยื่อของเขาแล้ว เพราะตนได้ยิน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่ายังเปิดกว้างสำหรับทุกพรรคการเมือง พรรคใดอยากเข้าเป็นสมการก็ดูวันโหวตนายกฯ ซึ่งตรงนี้ผิดธรรมเนียม ไม่มีใครลงคะแนนให้นายกฯ ง่าย ๆ เว้นแต่จะตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและตกลงกันแล้วถึงตำแหน่งรัฐมนตรี

'เสรีพิศุทธิ์' ฟาดงวงฟาดงาก่อนลาจาก แขวะลาม 'ชวน-ปชป.' พรรคแตก

เมื่อวาน (30 ส.ค.66) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แถลงลาออกจาก สส. บัญชีรายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา หรือหลังวัน #โหวตนายกรอบ 3 ได้ 1 วัน ตัดพ้อผู้สมัครของพรรคฯ ดี ๆ คนไม่เลือก ไปเลือกเมาแล้วขับ ทำร้ายผู้หญิง เคยติดคุกมาก่อน แต่งกายไม่เหมาะสม พาดพิงอดีตประธานสภาฯ 2 สมัย นายกรัฐมนตรี 2 สมัย แต่ไม่เสียสละ จนพรรคแตก

ส่วนตัว #นายหัวไทร อยากรู้ว่า แล้วพรรคเสรีรวมไทย จะโตไปข้างหน้าแค่ไหน ส่งผู้สมัครคนดีคนยังไม่เลือก คราวเลือกตั้งปี 62 ได้มาถึง 10 คน เลือกตั้งปี 2566 ได้มาแค่หน่อเดียว

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ หลังพรรคก้าวไกลจับขั้วเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ไปเข้าร่วมกับเขาด้วย และมีชื่อว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และเปิดหน้าแบบออกหน้าออกตา แต่เพียงไม่นาน ก็หลุดขั้วออกมาสนับสนุนเพื่อไทยเต็มสตีม

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ยังออกแรงเชียร์เพื่อไทยเต็มที่ และอาละวาดใส่ก้าวไกลแบบไม่ยั้ง เหมือนคนโกรธกันมานาน และหลังโหวตเลือก 'เศรษฐา ทวีสิน' เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว มีข่าวหลุดออกมาว่า จะมีการโปรดเกล้าฯ ในค่ำของวันนั้น มีสัญญาณให้ สส.เพื่อไทยแต่งชุดขาวเต็มยศ รอรับราชโองการ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ทะเล่อทะล่าแต่งชุดขาวเดินทางไปยังพรรคเพื่อไทย เพื่อรอรับราชโองการ เหมือนคนไม่รู้ระเบียบขั้นตอนอะไรเลย

ซึ่งขั้นตอนหลังจากสภาโหวตเลือกแล้ว ทางสภาต้องส่งผลไปให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้า ซึ่งวันนั้นชื่อจากสภายังมาไม่ถึงทำเนียบรัฐบาลเลย ยังไม่มีการทูลเกล้า แล้วจะโปรดเกล้าได้อย่างไร แต่กลับแต่งชุดขาวไปรอรับราชโองการแล้ว

...มันน่าขำ และน่าอายมาก!!

เมื่อมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และมีการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี ชื่อของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ก็ไม่มีอยู่ในสารบบคิดของพรรคเพื่อไทย เพราะน่าจะเป็นที่รับรู้กันว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์เคยถูกคำสั่งปลดออก จึงน่าจะขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี และคำสั่งนั้นก็ยังอยู่

ซึ่งผิดกับกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่เคยถูกปลดออกเหมือนกัน แต่ พล.ต.อ.พัชรวาทต่อสู้เรื่อยมา จนปี 2557 สมัย คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ได้ยกเลิกคำสั่งปลดออกของ พล.ต.อ.พัชรวาท เขาจึงมีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีได้

แต่ลึก ๆ จริงไม่รู้อารมณ์ไหนของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ จึงอาละวาดลามไปถึงอดีตประธานสภาสองสมัย อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย ถึงแม้นจะไม่เอ่ยชื่อ แต่สำหรับคอการเมืองแล้ว มันสิบ่ทราบกันได้ไม่ยาก ถ้าไม่ใช่ 'ชวน หลีกภัย' แล้วจะเป็นใคร

วันมูหะมัดนอร์ มะทา แม้จะเป็นประธานสภาสองสมัย แต่ไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี ยังนึกไม่ออกว่า ถ้าไม่ใช่ 'ชวน' แล้วจะเป็นใคร แถมยังพาดพิงไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัย อยู่จนจะพรรคแตกแล้ว

ก็อยากจะรู้เหมือนกันว่า พรรคเสรีรวมไทย ถ้าไม่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์เสียแล้ว จะยังดำรงความเป็นพรรคอยู่หรือไม่ แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้วเชื่อเหลือเกินว่า ไม่มี 'ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์-เฉลิมชัย-เดชอิศม์' ความเป็นประชาธิปัตย์จะยังคงดำรงอยู่ เพียงแต่ว่าช่วงนี้อาจจะมีสถานการณ์ความขัดแย้งสูง รอการแก้ไขภายในพรรคอยู่ เมื่อปัญหาภายในพรรคได้รับการแก้ไขปัญหาเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะได้แสดงบทบาทฝ่ายค้านอย่างเข้มข้นจริงจัง เวลาว่างก็กลับมาขบคิด ถอดบทเรียน วางแผน วางยุทธศาสตร์ใหม่ โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะฟื้นกลับคืนมาก็ยังมีอยู่ 

ที่กล่าวอ้างเช่นนั้น เพราะประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองไปแล้ว มีคนพร้อมสืบทอดเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของพรรค ที่ผ่านมาก็เห็นการสืบทอดมาจนมีหัวหน้าพรรคมาแล้วถึง 8 คน กำลังจะเลือกคนที่ 9 

"ความขัดแย้งนั้นคือ แรงหลักที่เป็นตัวผลักดันให้กงล้อเร็วไว"

ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อได้รับการแก้ไข สรุปบทเรียน กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางของพรรคใหม่ เปิดโอกาสให้เลือดใหม่ คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม สร้างคนใหม่ขึ้นมาสืบทอดเจตนารมณ์ อุดมการณ์ของพรรค เชื่อว่า แรงใจ แรงเชียร์จะกลับมายังประชาธิปัตย์ไม่ช้าไม่นาน

เรื่อง: นายหัวไทร

'นิพนธ์-ปชป.' ยกทัพหลวง อ้อนชาวระยองกาเบอร์ 2 'หมอบัญญัติ' ย้ำ!! เลือกหนนี้ อย่าเลือกผิด ถ้าเสียหายกว่าจะเปลี่ยนต้องอีก 4 ปี

(3 ก.ย. 66) นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.ปชป. นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, สส.ชัยชนะ เดชเดโช สส.ทรงศักดิ์ มุสิกอง, นายปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง ลงพื้นที่หาเสียงบริเวณหมู่บ้านชาวประมง ท่าเรืออ่าวมะขามป้อม ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อขอคะแนนเสียงให้กับนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ผู้สมัครหมายเลข 2 จากพรรคประชาธิปัตย์ ในการกลับเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยบรรยากาศการขอคะแนนเสียงเป็นไปอย่างคึกคัก เรียบง่าย 

จากนั้น ได้มีการพบปะแกนนำท้องที่ ท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม. บริเวณสถานีบริการน้ำมันเชลล์ริมถนนสุขุมวิท ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง พร้อมกับการปราศัยย่อยซึ่งนายนิพนธ์ รองหัวหน้าพรรคฯ ได้กล่าวย้ำถึงผลงานที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำไว้ในช่วงที่เป็นรัฐบาล ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดระยองผ่านการประสานงานจากผู้แทนราษฏรของพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำให้ปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาช้างป่าบุกรุก การออกโฉนดที่ดิน การแก้ไขปัญหาที่ทำกิน ฯลฯ ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องตามแนวทางที่ควรจะเป็น ทำให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ และหลังจากนี้ขอให้คำยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่าแม้กระทั่งในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เมื่อประชาชนเดือดร้อน ประชาธิปัตย์พร้อมทวงถามติดตามรัฐบาลเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

"การเลือกตั้งสส.นั้น พี่น้องประชาชนต้องพิจารณาให้รอบคอบ เลือกคนที่มีความรู้ คนที่มีประสบการณ์ เพราะถ้าหากพี่น้องเลือกผิด กว่าจะแก้ไขเปลี่ยนคนได้ต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นความเสียหายจะตามมาอย่างมาก" นายนิพนธ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top