Sunday, 19 May 2024
ประชาธิปัตย์

‘จุรินทร์’ โชว์ฟอร์ม จวกนโยบายรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เหมือนหาเสียงการละคร ‘เลื่อนลอย-คลุมเครือ’

(11 ก.ย. 66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายนโยบายรัฐบาลว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านของประชาชน ตรวจสอบการบริหารอย่างเต็มความสามารถ โดยจะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง แต่จะไม่ค้านทุกเรื่อง รักษาประโยชน์สูงสุดของประเทศ ส่วนการทำงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น คือแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ยืนยันไม่สนับสนุนการแตะต้องมาตรา 112 แต่จะทำงานร่วมกับฝ่ายค้านอื่น ๆ อย่างเต็มความสามารถ

นายจุรินทร์ มองว่า มาตรฐานของนโยบายชุดนี้ ‘สวนทางกับความสูงท่านนายกฯ’ การตั้งโจทย์ประเทศก็คลุมเครือ ตัวนโยบายเลื่อนลอย ขาดความชัดเจน ฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรม วนไปวนมา กลายเป็นนโยบายน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง นโยบายที่แถลงกับที่หาเสียง เป็นหนังคนละม้วน ไม่ตรงปก เช่น นโยบายค่าแรงปริญญาตรี 25,000 บาท อยู่ๆ ก็เป็นนโยบายนินจา หายไปแบบไร้ร่องรอย หรือคิดว่าอย่างไรรัฐบาลก็อยู่ไม่ถึงปี 2570 ตามที่หาเสียงไว้ เช่นเดียวกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ที่เป็นนโยบายนินจาตัวที่ 2 นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำทันทีหายไป รถไฟฟ้าไปจอดหลับอยู่ที่ไหน จนนักข่าวทนไม่ไหว ตามไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็อึกอัก ๆ บอกว่าอีก 2 ปีจะทำ

ส่วนนโยบายเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จะเอางบประมาณมาจากที่ใด ขณะที่นโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ตอนนี้เหลือเป็น ผู้ว่าฯ CEO รวบอำนาจมาสู่การปกครองส่วนภูมิภาค ย้อนหลังไป 20 กว่าปี ที่พูดมา มองว่าเป็นแค่ลมปากตอนหาเสียง ต้องมีความรับผิดชอบ อย่าให้เหมือนตอนไล่หนูตีงูเห่า สุดท้ายทั้งหนูและงูเห่ามาอยู่ด้วยกัน และกลายเป็นนโยบายการละคร

สำหรับนโยบายด้านการเกษตร แม้นายกรัฐมนตรีจะประกาศว่าไม่มีนโยบายจำนำข้าว ถือเป็นเรื่องดี เพราะโครงการนี้สร้างหนี้รวม 884,000 ล้านบาท ยังต้องใช้หนี้อีก 254,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2566 อีกทั้งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ไม่มีการชี้แจงที่มาของเงินที่ชัดเจน ยังไม่มีข้อสรุป แปลว่าเป็นนโยบายไปตายเอาดาบหน้า และต้องขอเตือนว่าอย่าให้เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย

นายจุรินทร์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีข้อสังเกต ว่าในนโยบาย ระบุว่าไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ คือหมวด 2 ซึ่งเห็นด้วย แต่แปลว่าหมวด 1 แก้ได้ใช่หรือไม่ คือเรื่องระบอบการปกครอง และรูปแบบของรัฐแบ่งแยกมิได้ เหตุใดนโยบายรัฐบาลไม่ระบุให้ชัด หรือเกรงใจใคร หรือพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใด อย่าคิดว่าการแบ่งแยกดินแดนจะไม่เกิด ที่ผ่านมาก็มีการยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

สำหรับนโยบายการแก้ทุจริตคอร์รัปชัน นายจุรินทร์กล่าวว่ารัฐบาลเอาจริงแค่ไหน เพราะมีระบุเพียงเล็กน้อย รัฐบาลต้องตระหนักว่า รัฐบาลท่านในอดีตเคยถูกยึดอำนาจมา 2 ครั้ง เพราะเหตุแห่งการทุจริต และออกกฎหมายล้างผิดการทุจริต จะต้องไม่นำประวัติศาสตร์ให้ซ้ำรอยเดิม

“รัฐบาลต้องฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้กลับมาเข้มแข็ง ไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมาย ต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอกัน นักโทษทุกคนต้องเท่าเทียมกัน นโยบายนี้จะเป็นจริงได้ อยู่ที่นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล การพระราชทานอภัยโทษ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ผู้ได้รับอภัยโทษต้องสำนึก และรัฐบาลต้องสำนึก ว่าแม้โดนอภัยโทษก็ยังมีความผิด และยังมีโอกาสรับโทษใหม่ในอนาคต หากรัฐบาลก่อนหน้าทำไม่ถูก เราก็ทำให้ถูก อย่าปล่อยเลยตามเลย อย่าสร้างมาตรฐานใหม่ เหยียบย่ำหัวใจคนรักความยุติธรรมและความสุจริต ให้หมดกำลังใจ นี่เป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาล ที่จะทำให้วลีที่เราพูดกันติดปากว่า ‘คุกมีไว้แค่ขังคนจน กับคนไม่มีอำนาจ’ มลายไปได้ โดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ เศรษฐา ทวีสิน” นายจุรินทร์กล่าว 

‘สมบัติ’ จวก!! นโยบายด้านการเกษตรของ รบ.เศรษฐา ‘เลื่อนลอย-ไร้หลักเกณฑ์’ เป็นนโยบาย Metaverse ที่เสมือนจริง แต่ไม่ใช่ความจริง

(12 ก.ย. 66) จากรัฐสภา อภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาลของ ครม.เศรษฐา วันแรก 11 ก.ย. 2566 นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล ไว้ว่า...

นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลชุดนี้ ยังกว้าง เลื่อนลอย สร้างความฝัน ไม่มีหลักเกณฑ์ หลักประกันให้แก่พี่น้องเกษตรกร

โดยเฉพาะที่กล่าวไว้เรื่อง นโยบาย 'ตลาดนำ' นำแบบไหน เขียนไว้แต่หัวข้อ วิธีแนวปฏิบัติก็ไม่มี เช่น...

นโยบาย เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผล ก็เขียนไว้ลอยๆ ทางสมาชิกสภา และคนที่อยู่ทางบ้าน ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ว่ารัฐบาลจะหาทางออก หรือทำให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีได้อย่างไร เกษตรกร รอความหวัง รอทางรอด กันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายหาเสียง โดยจะทำให้ราคาสินค้า 'ขึ้นยกแผง' และกล่าวว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มอีก 3 เท่าภายใน 4 ปี

แต่ในคำแถลงนโยบายของท่าน เผยว่า มีเป้าหมายทำให้รายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ... ตรงไหน คือ 3 เท่า ก็ไม่มีบอก บอกว่าจขึ้นเป็นนัย และนี่คือความไม่ชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้

สำหรับพี่น้องเกษตรกร ที่กำลังมีความหวังกับรัฐบาลชุดนี้ แต่กลับต้องมาเจอกับการไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ เพื่อออกมาให้เขาชื่นอกชื่นใจ

ผมขอยกตัวอย่าง พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด (ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, ปาล์มน้ำมัน, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่าง 'ข้าว' อย่างเดียวก็ได้ เพราะประเทศไทยเราผลิตข้าวได้มาก

เวลาผลผลิตข้าวออกมาในช่วงฤดู แน่นอนว่าคนย่อมต้องการขาย เยอะกว่าคนต้องการซื้อ แต่ถ้าราคาตกต่ำแล้ว ท่านจะมีมาตรการอย่างไร ที่จะรองรับสถานการณ์ข้าวล้นตลาดได้บ้าง

เพราะตอนข้าวล้นตลาด ท่านก็เคยบอกว่าไม่เอาประกันราคาข้าว ไม่เอาจำนำราคาข้าว แล้วท่านจะมีวิธีการทำให้ข้าวราคาดีได้อย่างไร

สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เรามีโครงการ 'ประกันรายได้' ซึ่งได้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร เฉพาะข้าวอย่างเดียวมากกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน และถ้ารวมพืชเศรษฐกิจทั้ง 5 ชนิด เกษตรคนไทยที่ได้รับประโยชน์ก็มีมากกว่า 8 ล้านครัวเรือน สะท้อนให้เห็นถึงการดูแลจากรัฐบาลหลังเกษตรกรปลูกพืชต่างๆ ขึ้นมาแล้ว จะไม่ต้องประสบกับความยากลำบาก

แต่ว่าวันนี้รัฐบาลชุดนี้ มีแต่โยบายภาพลวงๆ กว้างๆ ไม่ชัดเจน ไม่มีแนวปฏิบัติ

ดังนั้น ผมจึงอยากเรียกนโยบายชุดนี้ว่า 'นโยบาย Metaverse อยู่ในโลกเสมือนจริง ที่ไม่ใช่ความจริง'

มีแต่นโยบายที่สร้างให้คนฝัน ปิดสวิตช์เมื่อไร เราก็จะกลับสู่โลกแห่งความจริง ก็คือ 'เกษตรกรลำบากเหมือนเดิม'

อันที่จริงรัฐบาลนี้ ยังมีนโยบายหาเสียงอีกมากมาย แต่กลับไม่ได้นำมาบรรจุไว้ เช่น...

นโยบายโคขุนเงินล้าน ... หายไปไหนครับ? เกษตรกรที่อยากรวยเงินล้าน เขารอท่านอยู่ แต่กลับไม่มีอยู่ในเนื้อนโยบายแถลง

นโยบายทุเรียนล้านไร่ ... อยู่ไหนครับ? 

นโยบายปลูกพืชทดแทน ... พืชตัวไหนราคาตกต่ำ จะหาพืชมาทดแทนให้ คำถามคือ ชนิดไหนบ้าง หรือแม้แต่เลี้ยงสัตว์ทดแทนชนิดไหนบ้าง ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จริง

นโยบายสนับสนุนประมงพื้นบ้าน ... ไม่มีครับในคำแถลง

ทั้งหมดเป็นคำพูด เป็นนโยบายที่สวยหรู เพื่อขอคะแนนจากพี่น้องประชาชน ให้ชนะเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ ท่านไม่ได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงใช่หรือไม่

ผมหวังให้พวกท่านหลุดออกจาก Metaverse แล้วกลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างตรงจุดและเป็นความหวังให้พวกเขาได้จริงๆ

'สรรเพชญ' สับรัฐบาลไม่จริงใจ 'กระจายอำนาจ' ไม่เห็นหัวท้องถิ่น  ชี้!! แค่ปล่อยวาทกรรมประชาธิปไตยอำพราง หวังคะแนนเสียง

เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 ที่อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมอภิปรายวาระเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2562 โดยระบุว่า...

“ต้องขอเรียนกับทุกท่านด้วยความเคารพอย่างตรงไปตรงมาว่า จากที่ได้อ่าน ได้ฟังนโยบาย เหมือนจะดูดี เหมือนจะเคลิบเคลิ้มตาม ว่านี่คือทิศทาง แนวทางการบริหารงานของท่าน ที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน แต่ภายใต้คำที่สวยหรู กลับเห็นอนาคตที่มืดมน ไร้ทิศทาง ในหลายๆ นโยบายที่ท่านได้หาเสียงไว้ เมื่อขมวดมาแล้ว กลับเห็นแต่นามธรรมกว้าง ๆ จับต้องไม่ได้”

สรรเพชญ ระบุต่อว่า “เท่าที่ทราบมา หลักการของการ กระจายอำนาจ คือ การลดบทบาท อำนาจภารกิจ หน้าที่ของรัฐส่วนกลาง รวมทั้งรัฐส่วนภูมิภาคลง และเอาอำนาจนั้นไปเพิ่มศักยภาพให้กับท้องถิ่น ทั้งในเรื่องงบประมาณ และทรัพยากรให้เขาสามารถดูแลตนเอง แต่เมื่อฟังท่าน แถลงนโยบายเรื่องผู้ว่า CEO  แล้ว เหมือนเป็นการสนับสนุนต่อยอดการกระจายอำนาจของไทยให้พัฒนาขึ้น แต่ผมคิดว่าตรงนี้ท่านอาจเข้าใจผิด สับสน หรืออาจแกล้งสับสน ที่กระผมพูดเช่นนี้ เพราะว่า แนวคิดเรื่องผู้ว่า CEO มันคือโลกคู่ขนานที่ไม่มีทางมาบรรจบกัน ไม่เชื่อท่านลองขีดเส้น 2 เส้นดู อย่างที่ผมนำเรียนครับ มันเป็นคนละเรื่อง คนละหลักการกัน เนื่องจากแนวคิดเรื่องผู้ว่า CEO คือ การบริหารงานแบบเอกชน แบบบริษัท ที่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่เบอร์หนึ่งของจังหวัด อำนาจรัฐที่มันกระจุกตัวไปที่ผู้ว่า CEO เช่นนี้ มันไม่ใช่การกระจายอำนาจ หากแต่มันเป็นการขยายอำนาจรัฐส่วนกลาง ไปสู่ส่วนภูมิภาคให้กว้างขึ้น”

นายสรรเพชญ ได้กล่าวต่อว่า “มาถึงตอนนี้เราสามารถสรุปได้ไหมครับ ว่านโยบายหาเสียงของท่านมันเป็นเพียงวาทกรรมประชาธิปไตยอำพราง เพื่อคะแนนเสียง เพราะท่านบอกว่าจะท่านจะเลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดที่มีความพร้อม ท่านบอกว่าท่านจะยกระดับพื้นที่เพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ แต่ภายหลังที่ท่านได้รับโอกาส ให้จัดตั้งรัฐบาล กลับไม่ปรากฏนโยบายเหล่านี้ ในการแถลงของท่านแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำท่านยังจะทำเรื่องที่ตรงกันข้าม ไม่ต่อยอดการกระจายอำนาจไม่ว่า แต่ท่านกลับกระจุกอำนาจ และรวมศูนย์อำนาจ ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้ง กระผมชักไม่แน่ใจ หากจะใช้คำว่า ‘โกหกประชาชน’ ได้หรือไม่ หรือคำว่า ‘โกหก’ มันอาจน้อยไปสำหรับท่าน”

นายสรรเพชญได้ยกตัวอย่างสถิติงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เห็นความพยายามผลักดัน การกระจายอำนาจในประเทศไทย ผ่านการจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่น โดยกล่าวว่า “ผมอยากให้ดูสถิติที่น่าสังเวชใจครับท่านประธาน เกือบ 30 ปี ที่เรามุ่งผลักดันการกระจายอำนาจมา เราสามารถจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ไม่ถึง 30% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งแท้ที่จริงแล้วความมุ่งหมายของกฎหมายกระจายอำนาจต้องการให้ทะลุเพดาน คือ 35% สิ่งที่ท่านกลัว คือ ท่านกลัวว่าถ้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่น คือความสุ่มเสี่ยงที่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีการทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น แต่จากฐานข้อมูลงานวิจัยในปี 2564 พบว่าการทุจริตของ อปท. นั้นสร้างความเสียหายน้อยกว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจ ขณะที่งบการเงินของท้องถิ่นได้รับการรับรองจาก สตง. ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาครัฐ / รัฐวิสาหกิจ ด้วยซ้ำไป” 

อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญกล่าวในตอนท้ายโดยสรุปว่า "ตนยังมีความหวังอยู่ริบหรี่ ว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้ จะนำเอาวาระเรื่องการกระจายอำนาจ เข้าไปเป็นวาระหลักวาระหนึ่ง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันว่าท้องถิ่นในยุคต่อไปจะได้รับการเอาใจใส่ และมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด”

‘มัลลิกา’ ประกาศลาออก ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ขอไปใช้ชีวิตส่วนตัว-ดูแลมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน

(21 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา ช่วงการจัดรายการไลฟ์สดในติ๊กต็อก tiktok live ช่องทางของ Account ชื่อว่า mallikaboon ในตอนหนึ่งนั้น นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเว้นวรรคทางการเมือง โดยให้เหตุผลในการไปใช้ชีวิตส่วนตัว

ขณะเดียวกันยังคงดำรงพื้นที่สาธารณะไว้เพียงช่องทางสื่อสารใน Account แพลตฟอร์ม TikTok ในชื่อว่า mallikaboon จัดเป็นรูปแบบรายการวาไรตี้ทอล์กโชว์ประจำทุกค่ำคืน และมีผู้ติดตาม 1.18 แสนคน และ 1.5 ล้านวิวในโปรไฟล์ โดยนางมัลลิกา มีจัดรายการถ่ายทอดสดเกือบทุกคืนหลังเวลา 20.00 น.ถือว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการจัดรายการตามความถนัดและมีผู้ติดตามประจำจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการลาออก นางมัลลิกา กล่าวว่า กำลังให้คนเอาหนังสือลาออกไปยื่นที่สำนักงานพรรค และเหตุผลคืออยากเว้นวรรคทางการเมือง และไปใช้ชีวิตส่วนตัว นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน www.mallikafoundation.net ที่ทำประโยชน์ต่อสาธารณะในภาคประชาชนที่จะต้องขับเคลื่อนองค์กรและวางแผนงานกิจกรรมประจำปีโดยอิสระ อย่างไรก็ตาม นางมัลลิกา ระบุว่า เวลาขณะนี้ตกผลึกทางความคิดแล้ว และต้องการใช้ชีวิตส่วนตัวกับครอบครัวให้มากที่สุดในช่วงเวลานี้

'สรรเพชญ' ซัด!! ปัญหาความล่าช้าก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ ใบ้ชื่อย่อ 'ช' และ 'ม' อาจเอี่ยวทุจริตโครงการฯ ทำ 15 ปีไม่คืบ

(21 ก.ย.66) ณ ห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นกระทู้ถามแยกเฉพาะ ได้ถามคำถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในครั้งนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าตอบคำถามในกระทู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

ในการนี้ นายสรรเพชญ ได้กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าของโครงการ ที่มาและความจำเป็นของการที่ต้องมาตั้งกระทู้ถามสดในวันนี้ โดยกล่าวว่า “โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือที่รู้จักกันดี คือ อควาเรียมหอยสังข์ เป็นโครงการที่ตนคิดว่ามีวัตถุประสงค์ที่ดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวสงขลา และครั้งหนึ่งเคยมีการขายฝันกับชาวสงขลาไว้ว่า อควาเรียมหอยสังข์ จะเป็นอควาเรียมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง คือ ใช้เป็นสถานที่จัดแสดง วิจัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ซึ่งครอบคลุมทั้งสัตว์น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เพราะจังหวัดสงขลาเองก็เป็นจังหวัดใหญ่ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการนี้ตนจึงคิดว่าเป็นโครงการที่ดี” 

แต่อย่างไรก็ดี โครงการนี้กลับมีความฉ้อฉลที่ทำให้ประชาชนสงสัย และสร้างบาดแผลในใจให้กับพี่น้องชาวสงขลาเป็นอย่างมาก เพราะใช้เวลาก่อสร้างกว่า 15 ปีแล้ว ก็ยังไม่เสร็จ อีกทั้งใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท ได้มาเพียงตึกรูปหอยสังข์กับระบบภายในที่ไม่แล้วเสร็จ กลายเป็นอนุสาวรีย์ที่ผู้คนกล่าวขานกันว่า ถ้าอยากดูซากหอยล้านปีต้องไปที่กระบี่ แต่ถ้าอยากดูซากหอยที่สร้างไม่เสร็จซักทีต้องไปที่สงขลา 

นายสรรเพชญ จึงได้ถามคำถามในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ โดยถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 3 คำถามด้วยกัน คือ...

1) กระทรวงศึกษาธิการภายใต้รัฐบาลชุดนี้ มีแนวทางหรือแผนการดำเนินงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

2) กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวทางหรือนโยบาย เพื่อระงับข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม จากการขอลดสเปกของผู้รับเหมา แต่ราคากลับไม่ลดตาม เพื่อให้เกิดข้อยุติและไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ในอนาคต นอกจากนี้ ในเรื่องของรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงที่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบที่ผ่านมา ท่านมีข้อสรุปอย่างไร ขอทราบรายละเอียด

3) หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการอย่างไรกับงบประมาณที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการดำเนินการทางคดีกับผู้รับเหมาที่ทิ้งงานท่านได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่อย่างไร ขอทราบรายละเอียด 

หลังจากนั้น นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ ก็ได้ให้เกียรติตอบคำถามโดยสรุปว่า “ในขณะนี้คดีอยู่ในชั้น ป.ป.ช. และยังไม่ได้มีข้อสรุปออกมา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ส่งหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปยัง ป.ป.ช. เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงฯ  จึงยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เหตุเพราะว่ารอการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และเกรงว่าหากดำเนินการอะไรไปก่อน จะเกิดข้อผิดพลาดทางกฎหมายได้” 

นายสรรเพชญ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จากที่ตนได้ศึกษาที่มาที่ไปของปัญหาเบื้องต้น ก็ได้ทราบถึงต้นตอปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น อาจจะเกิดจากการทุจริตของคนบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะมีชื่อย่อ ช และ ม อย่างไรก็ตาม ต้องรอการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา” 

และในตอนท้าย นายสรรเพชญ กล่าวว่า “ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทรวง ศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการดำเนินการหาทางออกอย่างเร็วที่สุด เพราะกว่า 15 ปีแล้ว ที่งบประมาณถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นอื่นหรืออย่างไร ก็ขอให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วและโปร่งใส เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวสงขลาและประชาชนทุกคน”

คลี่สถานการณ์ 'ประชาธิปัตย์' ในจังหวะคลุมเครือ ยังเหลือโอกาสให้คงไว้ซึ่งสถาบันทางการเมืองอยู่

เงียบไปเลยสำหรับประชาธิปัตย์ จะจัดการกับปัญหาภายในพรรคอย่างไร เห็นตอบแรกๆ ดูขึงขัง เอาจริงเอาจัง หรือว่า "เขามีอะไรกันแล้ว"

ปัญหาในพรรคประชาธิปัตย์หลักๆ มีอยู่ 2-3 ประเด็น...

- ประเด็นแรกคือจะมีการประชุมใหญ่ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เมื่อไหร่ แทนชุดเก่าที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่พ่ายแพ้ยับเยิน หลังจากนัดประชุมกันมาสองรอบ แต่องค์ประชุมล่มทั้งสองครั้ง ซึ่งเป็นการล่มแบบ 'ผิดปกติ' มีการจัดการทำให้ล่ม

- ประเด็นที่สองคือ จะจัดการกับปัญหา สส.จำนวนหนึ่ง 16 คน ยกมือสวนมติพรรค ไปยกมือสนับสนุน 'เศรษฐา ทวีสิน' จากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มติพรรคให้ 'งดออกเสียง' มีการนินทากันว่า การโหวตสวนมติพรรค เป็นเกมเดินไปสู่การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

เกมการเดินไปสู่การร่วมรัฐบาล ถูกกำหนดโดยทีม 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เลขาธิการพรรค, เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ สส.บางกลุ่มก้อน กลุ่มหนึ่งมาจากสายของเดชอิศม์ อีกกลุ่มหนึ่งมาจากสายชัยชนะ เดชเดโช อีกกลุ่มมาจากสายเฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่เป็นการเลือกทางเดินที่ผิดพลาด เพราะพรรคเพื่อไทย แกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้ชายตามองมายังประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย แต่ สส.กลุ่มนี้ภายใต้การกุมทิศทางของ 'เฉลิมชัย-เดชอิศม์-แทน' ก็หวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะได้ร่วมรัฐบาล

สาทิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออก ยื่นหนังสือเป็นทางการถึงจุรินทร์ ให้ตั้งกรรมการสอบ 16 สส.ที่แหกมติพรรค แต่ 'เงียบกริบ' ไม่มีข่าวคราวการตั้งกรรมการสอบมาจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 'เงียบยิ่งกว่าเป่าสาก' แต่ #นายหัวไทร ได้รับเสียงกระซิบมาว่า "ตั้งแล้ว" แต่ไม่มีข่าวไม่มีคราว ใครเป็นประธาน ใครเป็นกรรมการสอบ และสอบไปถึงไหนแล้ว ต้องเสร็จเมื่อไหร่ ไม่มีอะไรออกมาให้ได้รับทราบกันเลยแม้แต่น้อย ยิ่งปล่อยไว้นานรังแต่จะเพิ่มความเสื่อมครับ

ได้เห็นภาพที่แปลกตาแปลกใจช่วงหาเสียงเลือกตั้งซ่อมระยอง เขต 3 มีคนประชาธิปัตย์มะรุมมะตุ้มกันไปช่วยหาเสียง ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์, สุทัศน์ เงินหมื่น, นิพนธ์ บุญญามณี พร้อมหน้าพร้อมตากันไปช่วยหาเสียง แต่ที่แปลกคือ มี 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' และ 'ชัยชนะ เดชเดโช' ไปร่วมเดินเคาะประตูบ้าน ช่วยหาเสียงด้วย ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นคนละขั้วกันชัดเจน

งานนี้จะขาดก็เพียง 'นายกฯ ชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง' ที่อาจจะไปก็ได้ แต่ #นายหัวไทร ไม่เห็น หรือติดภารกิจอะไร ถึงไม่ได้ไปร่วมภารกิจวัดดวงสำหรับประชาธิปัตย์

นายหัวไทรแอบคิดในใจว่า "หรือว่า เขาคุยกันแล้ว" คุยกันออกมาในแนวประนีประนอม เมื่อผลสอบออกมา ก็คือ "มีมูล" ว่า มีการละเมิดมติพรรค แต่ฐานความผิดต่างกัน บางคนแต่ทำตามผู้หลักผู้ใหญ่แนะนำ ช่วงคนลงมติตามผู้มีพระคุณบอก แต่บางคนเป็นแกนนำ แถมวิจารณ์พรรค วิจารณ์ผู้อาวุโสของพรรค ถึงขั้นเชิงตั้งคำถามว่า "ใครจะขับใครกันแน่" เมื่อฝ่ายเขากุมเสียง สส.อยู่มากกว่า อย่างน้อยเห็นๆ 16-20 คน

ที่พาให้คิดได้ว่า "เขาคุยกันแล้ว" และจะออกมาแนวประนีประนอม ไม่อยากให้แตกหัก และ สส.บางคนก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ทำตามผู้ใหญ่ ผู้มีพระคุณสั่ง แนวทางของประชาธิปัตย์จึงน่าจะออกมาแบบ "ขับออกจาก" บางคน อาจจะ 1-2 คน ส่วนที่เหลืออาจจะว่ากล่าวตักเตือน จะด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร ขึ้นอยู่กับฐานความผิดที่กระทำขึ้น ซึ่งต้องไปกำหนดด้วยว่า ฐานความผิดแต่ละฐานะเมื่อโดนลงโทษแล้ว จะมีผลอย่างไรต่อไปในอนาคต

แต่สำหรับมุมมองของนายหัวไทร มองว่า น่าจะขับออก 1 ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร 1 ที่เหลือตักเตือนด้วยวาจา คนที่โดนขับออกก็ไปหาพรรคใหม่สังกัดตามช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะตักเตือนด้วยวาจา หรือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ต่อไปได้ แต่จะมีผลอย่างไรในอนาคต ขึ้นอยู่กับพรรคกำหนด

จบข่าวสำหรับอนาคต 16 สส. แต่เรื่องใหญ่ของประชาธิปัตย์ จะฟื้นฟูพรรคอย่างไรให้กลับมาเฟื่องฟูเหมือนในอดีต ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องคิดหนัก คิดให้มาก ฟังให้มาก เสาะแสวงหาคนรุ่นใหม่ ดึงเข้ามาทำงาน "ร่วมคิดร่วมทำ" แบบซึมซับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ให้มาก

ในเวลานี้ประชาธิปัตย์ประกาศตัวชัดเจนแล้วว่า จะขอเป็นฝ่ายค้านแบบเข้มข้น ก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และเป็นแนวทางที่ประชาธิปัตย์ถนัด ขอให้มุ่งมั่น ตั้งใจ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างจริงจัง เข้มข้น ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเรียกศรัทธากลับคืนมาได้

แต่หันซ้ายมองขวา ก็ยังไม่เห็นดาวเด่นในบริบทของการตรวจสอบในฐานะฝ่ายค้าน อาจจะมีแค่ดาวจรัสแสงในเชิงการหารือ ตั้งคำถาม อย่างเช่น 'สรรเพชญ บุญญามณี -ร่มธรรม ขำนุรักษ์' แต่ยังไม่เห็นแววว่าจะมีใครแสดงบทฝ่ายค้านที่เข้มข้นเหมือนในอดีตได้

ในอดีตที่เราเห็น ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ - วิทยา แก้วภารดัย-อาคม เอ่งฉ้วน - ไตรรงค์ สุวรรณคีรี - พิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล - สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นต้น นึกถึงคนเหล่านี้ ก็นึกภาพออกของการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน แต่มองไปยัง สส.ปัจจุบัน 20 กว่าคน เว้น 'ชวน-บัญญัติ' บอกตามตรงว่า "มองไม่เห็น"

ขออนุญาต #ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน เสนอแนะว่า เมื่อประชาธิปัตย์จัดทัพลงตัว มีหัวหน้าพรรค มีเลขาธิการพรรค มีกรรมการบริหารพรรคครบถ้วนแล้ว 'ชวน-บัญญัติ' ควรลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่ที่เข้มข้น ซึ่งถ้า 'ชวน-บัญญัติ' ลาออก ลำดับที่ 4 คือ คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์ และลำดับที่ 5 นิพนธ์ บุญญามณี ก็จะขยับขึ้นมาเป็น สส.แทน แต่ไม่ใช่แค่นั้น คุณหญิงกัลยาก็ควรจะสละสิทธิ์ด้วย เพื่อให้ลำดับ 6 อย่าง 'องอาจ คล้ามไพบูลย์' ขยับขึ้นมาเป็น สส.บัญชีรายชื่อแทน

ประชาธิปัตย์ก็จะมี สส.แสดงบทบาทเด่นในสภาได้ 2 คน คือ นิพนธ์-อาอาจ ก็อาจจะมีคนถามว่าแล้วจะให้ 'ชวน-บัญญัติ' ไปทำอะไร เมื่อทั้งสองยังยึดมั่นอยู่กับประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น สำนึกรักประชาธิปัตย์ไม่เสื่อมคลาย ผมแนะนำว่า ให้ผู้อาวุโสทั้งสองท่าน และอาจจะรวมถึงคุณหญิงกัลยาด้วย ไปแสดงบทของนักบุญ ไปดูแลมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช ให้เป็นจริง เป็นเรื่องเป็นราว หรือไปขับเคลื่อนให้เป็นจริงเป็นจังในการผลักดันให้มีถนนคู่ขนาดขึ้น-ลงภาคใต้ ไปจนถึงนราธิวาส ตามเจตนารมณ์ของนายชวน ไปผลักดันงานพัฒนาภาคใต้ที่ต้องชดเชยจากการสูญเสียไปในบางรัฐบาล ที่นายชวนพล่ำบ่นมานาน

ทั้งหมดที่เขียนมาก็ด้วยความปรารถนาดีต่อพรรคการเมืองในตำนาน พรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองอย่าง 'ประชาธิปัตย์'

เรื่อง: นายหัวไทร

'ชัยชนะ' ยัน '25 สส.ปชป.' ไม่คิดย้ายพรรคจนหมดสมัยสภาฯ เผยได้ 'หัวหน้าพรรค' คนใหม่แน่ไม่เกินต้น พ.ย.นี้

(28 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกระแสข่าวสมาชิกพรรคบางส่วน และอดีต สส.จะไปจัดตั้งพรรคใหม่ เพื่อดัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าพรรคดังกล่าว ว่า ตนเพิ่งทราบข่าวผ่านสื่อมวลชน ซึ่งไม่ทราบว่าแหล่งข่าวมาจากไหน เพราะในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีการพูดคุยว่าใครจะย้ายออกจากพรรค หรือไปตั้งพรรคใหม่ แต่เท่าที่อ่านในข่าวบอกว่ามีกลุ่มหนึ่งจะย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งจะไปตั้งพรรคใหม่ เท่าที่ตนยืนยันได้ สส.ทั้ง 25 คนในปัจจุบัน ไม่มีใครที่จะย้ายพรรคและไปตั้งพรรคใหม่ ส่วนอดีตสมาชิกตนไม่ทราบ เพราะบางคนก็ไม่ได้พูดคุย แต่เท่าที่พูดคุยกันส่วนใหญ่ไม่มีใครมีความคิดแบบนี้

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่า สส.ทั้ง 25 คน อยู่กับพรรค ปชป.จนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า นายชัยชนะ กล่าวว่า ขอยืนยัน ณ ปัจจุบันก่อน ถ้าไปพูดเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น ในอีก 3 ปีจนกว่า ก็ไม่ได้ แต่ตนพูดว่าสมัยนี้จนถึงจบสมัย ไม่มีใครย้ายพรรค แต่หลังจากหมดสมัยสภาฯ แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่ใครจะอยู่หรือใครจะย้ายไปพรรคไหน ก็ต้องยอมรับและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

เมื่อถามถึง การเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ภายในต้นเดือนตุลาคมจะมีการประชุม กก.บห.ชุดรักษาการ เพื่อกำหนดแนวทางในการประชุมเลือกหัวหน้าพรรค และ กก.บห.พรรคชุดใหม่ อาจจะมีการหารือและขอมติจากที่ประชุม กก.บห.ชุดรักษาการ ว่าเราจะหาทางอย่างไรให้มีการประชุมเลือก กก.บห.ชุดใหม่ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีองค์ประชุมครบ ดังนั้น ตนคิดว่าภายในเดือนตุลาคม หรือช้าสุดไม่เกิดต้นเดือนพฤศจิกายน ต้องได้หัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ อย่างไรก็ตาม บุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ยังคงเป็นชื่อของ นายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวพรรค ปชป.เหมือนเดิม

"ผมคิดว่าวันนี้ทุกฝ่ายต้องถอยคนละก้าวเพื่อมาพูดคุยกัน และหาวิธีที่ดีที่สุด และวันนี้ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ประชาธิปัตย์อยู่ในยุคเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำในอดีตที่ดี เราต้องสืบทอดต่อไป อะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับโลกปัจจุบันก็ต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเรายังยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ เก่าๆ เราก็เริ่มต้นใหม่ไม่ได้ และถ้าเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ เราก็ไม่มีสิทธิที่จะสู้กับเขาได้" นายชัยชนะ กล่าว

เมื่อถามว่า มีโอกาสที่จะพูดคุยว่าอีกฝั่งเป็นหัวหน้า อีกฝั่งเป็นเลขาหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ตนคิดว่าอยู่ที่การพูดคุยเจรจากันมากกว่า การเมืองคือการเจรจา ถ้าเจรจาภายใต้ความรักและปรารถนาดีต่อพรรค ปชป.ตนว่าจบ แต่ถ้าเจรจาแล้วมีกำแพงกั้นไว้ตนว่าไม่จบ และที่ผ่านมาพวกตนพร้อมเจรจาตลอดและไม่ได้มีกำแพงกั้น โดยนำเสนอบุคคลใหม่ ๆ เข้ามาทำงานกับพรรค แต่บางครั้งก็โดนมองว่าคนที่เข้ามาใหม่นั้นเป็นสมาชิกไม่ครบ 5 ปีบ้าง อะไรบ้าง ตนจึงมองว่าวันนี้การทำงานเราต้องย้อนกลับไปว่า ในเมื่อเรามีคนที่มีความสามารถแต่เขาเพิ่งเข้ามาในพรรคเราก็ต้องให้โอกาสเขา 

'จักพันธ์-ปชป.' อู้ฟู่ 161 ล้าน ส่วน 'พล.ต.ต.สุรินทร์' รวย 30 ล้าน ด้าน 'สส.หมิว-ก้าวไกล' มีแค่ 5 แสนกว่าบาท และยังเช่าบ้านอยู่

วันนี้ (29 ก.ย.66) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีเข้ารับตำแหน่ง สส. โดยมีบุคคลที่น่าสนใจ อาทิ นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ มีทรัพย์สินรวม 161,227,934.16 บาท มีหนี้สินรวม 11,446,764.85 บาท แบ่งเป็นบัญชีเงินฝาก 3 บัญชี รวม 1,620,769.16 บาท เลี้ยงไก่ชน 500 ตัว มูลค่า 5 ล้านบาท ที่ดิน 44 แปลงใน จ.ประจวบคีรีขันธ์, นครราชสีมา, ลำปาง มูลค่ารวม 94,769,165 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 11 หลัง มูลค่ารวม 44,750,000 บาท และมีรถยนต์ 29 คัน มูลค่ารวม 14,650,000 บาท เป็นรถโดยสารประจำทาง 26 คัน

ขณะที่ทรัพย์สินอื่น คือ อาวุธปืน 8 กระบอก มูลค่ารวม 438,000 บาท นอกจากนี้ยอดเงินกู้ จากธนาคารกรุงเทพฯ และกสิกรไทย คงเหลือ 11,446,764.85 บาท

ด้าน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนางจรีพรคู่สมรส แจ้งมีทรัพย์สินรวม 30,334,833.88 บาท มีหนี้สินเป็นของคู่สมรส 19,465.19 บาท ทรัพย์สินที่น่าสนใจของทั้งคู่เป็นเงินฝากรวม 13 บัญชี 5,764,833.88 บาท ที่ดินในจังหวัดสงขลา นราธิวาส รวม 9 แปลง 13,570,000 บาท บ้าน 1 หลังในอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1,200,000 บาท นอกจากนี้ยังมีปืนพกสั้นกึ่งอัตโนมัติขนาด 5 มม. อาร์อาร์จี 667 กล็อค มูลค่า 1 แสนบาท

ขณะที่ สส.ใหม่พรรคก้าวไกลอย่าง น.ส.สิริลภัส  กองตระการ แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 573,566 บาท มีหนี้สินเป็นเงินเบิกเกินบัญชี 12,625 บาท เงินฝาก 8 บัญชีรวม 144,566 บาท ยานพาหนะมูลค่า 329,000 บาท สิทธิสัมปทาน 1 แสนบาท ไม่มีรายการทรัพย์สินอื่น

นอกจากนี้แจ้งมีรายได้ต่อปี รวม 1,682,720 บาท เป็นเงินเดือน สส. 1,362,720 บาท เงินค่าจ้างการแสดง 320,000 บาท รายจ่ายต่อปี 1,051,810 บาท เป็นค่าเช่าที่อยู่อาศัย 132,000 บาท ค่าอุปโภคบริโภค 260,000 บาท ค่าเบี้ยประกันภัย 3,779 บาท จ่ายเงินกองทุน สส. 42,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 360,000 บาท ค่าเบี้ยประกัน 13,386 บาท ค่าเบี้ยประกันรถยนต์ 645 บาท ค่าอุปการะบิดามารดา 240,000 บาท ขณะที่ข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลในรอบปีที่ผ่านมาแจ้งว่ามีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร 0 บาท

ทั้งนี้ น.ส.สิริลภัส เคยมีข่าวดรามาถูกถ่ายภาพนำอาหารกล่องจากสภาผู้แทนราษฎรกลับบ้าน ซึ่งเป็นอาหารที่แม่บ้านสภาฯ บรรจุกล่องไว้ เนื่องจาก สส.เข้ามาประชุมน้อยทำให้อาหารที่เตรียมไว้เหลือเป็นจำนวนมาก มีการเปิดค่าอาหาร สส.ต่อหัวในวันประชุมสภาอยู่ที่หัวละ 1,000 บาท และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาหาร สส.แพงเกินอีกทั้งเหลือทิ้ง จนต้องมีการเรียกหารือถึงทางออกปัญหาดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป

‘สรรเพชญ’ เชื่อ!! วิกฤตเศรษฐกิจปีหน้าหนักหนาสาหัส แนะรัฐบาลหาทางรับมือ พร้อมแก้ปัญหาปากท้อง-ครัวเรือน

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมทำโพล มติชน x เดลินิวส์ สอบถามประชาชนว่าอยากให้รัฐบาลเศรษฐา แก้ปัญหาอะไรก่อนระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งสามารถโหวตได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ว่า ในส่วนการทำงานของรัฐบาล อย่างที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ หลังจากนี้ก็คงจะเป็นกระบวนการของการจัดทำงบประมาณปี 67 ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าพี่น้องประชาชนก็ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้มากพอสมควร ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดก็คือเรื่องของปากท้อง เศรษฐกิจ ที่เราต้องยอมรับว่าอยู่ในช่วงของวิกฤตเศรษฐกิจที่คิดว่ารุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบ ณ วันนี้ แต่ตนเชื่อว่าปีหน้าเราอาจจะได้เห็นการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าปีนี้ เพราะฉะนั้นตนก็อยากเห็นรัฐบาลมีการเตรียมตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า พี่น้องประชาชนก็อยากจะเห็นรัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องให้ในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือการลดภาระค่าครองชีพภาคครัวเรือน ลดค่าน้ำมัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่กำลังพุ่งสูงขึ้น และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะฉะนั้นตนคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง โดยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมไปถึงนโยบายที่รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพราะถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ารายละเอียดของโครงการจะเป็นอย่างไร ตนไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าจะทำเงินดิจิทัลต่อไปก็ขอให้มีการทบทวนหรืออาจจะต้องปรับหลักเกณฑ์ สำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องตอบพี่น้องประชาชนให้ได้ว่าเงินดิจิทัล ที่รัฐบาลจะนำมาแจก คือ

1.แหล่งที่มาของเงิน 
2.หลักเกณฑ์ในการแจกต้องแจกทุกคนหรือไม่ 
3.ทำไมต้องเป็นเงินดิจิทัล ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลยังไม่ให้ความชัดเจน

“ผมจึงอยากให้นายกฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ต่อพี่น้องประชาชน เพราะผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนก็มีสิทธิที่จะรับรู้ รับทราบ เพราะสุดท้ายแล้วการที่รัฐบาลเอาเงินมาแจกได้ก็ขึ้นอยู่กับภาษีของพี่น้องประชาชนและภาระของพี่น้องประชาชนที่จะต้องจ่ายในอนาคต” นายสรรเพชญ กล่าว

นายสรรเพชญ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปสังคม การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามโรดแม็บที่ได้ตกลงกันไว้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งตนเชื่อว่าต้องดำเนินควบคู่กันไป ขณะเดียวกันก็อยากเห็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำงานร่วมมือกันอย่างเข้มข้น เราสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม เพื่อที่จะทำงานร่วมกันในการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และครอบคลุมสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เชื่อว่าพี่น้องประชาชนตั้งความหวังอยากจะให้สภาฯ ชุดนี้ได้ช่วยกันแก้ไขและออกกฎหมายดี ๆ ที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และลดผลกระทบของปัญหาต่างๆ  ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ จึงขอฝากประเด็นนี้ให้รัฐบาลได้พิจารณาด้วย

นายสรรเพชญ กล่าวว่า ดังนั้นขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ท่านใดมีความคิดเห็นอย่างไร ก็สามารถที่จะเข้าไปในคิวอาร์โค้ด สแกนเข้าไปแสดงความคิดเห็นทำโพลเพื่อสะท้อนให้กับรัฐบาลและสภาฯ ได้รู้ เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชนสามารถร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลได้

'สรรเพชญ' ยัน!! จุดยืน 'ประชาธิปัตย์' หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แต่ห้ามแตะหมวด 1 และ หมวด 2 หวั่นสังคมแตกแยก

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) เวลา 14.20 น. ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วงของการอภิปรายญัตติ เรื่อง 'ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่' ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ โดยมีนายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาทั้งเรื่องของที่มา และกระบวนการรับรอง โดยอาศัยกระบวนการจัดทำประชามติ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามครรลองที่ควรจะเป็น เนื่องจากในตอนนั้นมีการปิดกั้นการแสดงความเห็น การรณรงค์ ที่จะเสนอเนื้อหาว่ารัฐธรรมนูญมีจุดบกพร่องอย่างไร จนมาถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่ผ่านมา ก็มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยมีส่วนร่วม ในการเสนอแก้ไขและได้ยื่นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาแล้ว จำนวน 6 ฉบับ แต่ก็ผ่านแค่เรื่องเดียว เพราะติดอุปสรรคต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หลายประการ"

นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า "ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า ต้องมีการทำประชามติ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจ และหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากรัฐบาลดึงดันพลิกลิ้น ไม่รับให้มีการทำประชามติ ก็เหมือนกับว่าเป็นการถ่วงเวลา ผมคิดว่าอันที่จริงแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นวาระแรก ๆ ที่ท่านจะดำเนินการเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ท่านอย่าเอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวประกันให้เป็นระเบิดเวลาของตัวท่านเองเลยครับ"

อย่างไรก็ดี นายสรรเพชญ ได้พยายามกล่าวย้ำต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะรัฐบาลเคยรับปากกับประชาชนไว้ตอนหาเสียงไว้ว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่แม้ว่า นายสรรเพชญ จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการจัดทำประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ ก็ได้ย้ำจุดยืนว่า "ตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม"

นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า "เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องปากท้องของประชาชน เพราะ รัฐบาลได้เคยพูดเอาไว้ตอนหาเสียง ก็ขอให้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ว่าจะทำเป็นเรื่องเร่งด่วนทันที แต่เมื่อถึงการโหวตญัตติฯ ที่ประชุมสภาฯ มีมติ ตีตกญัตติดังกล่าว"

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "รู้สึกผิดหวัง เพราะรัฐบาลเคยประกาศเอาไว้แล้วว่าจะทำการแก้ รธน. เป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อมีโอกาสกลับทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ตนก็เคารพและยอมรับผลการลงมติดังกล่าว และก็หวังว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไข รธน. และรีบดำเนินการโดยเร็ว ตามที่ได้เคยหาเสียงไว้"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top