Sunday, 19 May 2024
ประชาธิปัตย์

“อลงกรณ์”ปลื้มส่งออกข้าวไทย 4 เดือน พุ่ง 3.05 ล้านตัน ดันราคาข้าวในประเทศสูง ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น คาดปี2566 ส่งออกทะลุเป้า7.5ล้านตัน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้(14 พ.ค.)ว่า เป็นข่าวดีที่การส่งออกข้าวของไทย 4 เดือนแรกของปีนี้ มีปริมาณสูงถึง 3.05 ล้านตัน และความต้องการข้าวในตลาดยังมีต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาข้าวในประเทศเกือบทุกประเภทสูงเกินราคาประกันรายได้โดยเฉพาะข้าวเจ้าซึ่งมีปริมาณการผลิตมากที่สุด คาดว่า การส่งออกข้าวของไทยในปี2566 จะทะลุเป้าหมาย 7.5ล้านตันและน่าจะแซงตัวเลขการส่งออกข้าวในปี2565

สำหรับการส่งออกข้าวไทยปี 2565 อยู่ที่ 7.69 ล้านตัน โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 22.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการส่งออกสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.5 ล้านตัน ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 138,451.8 ล้านบาท คิดเป็น 3,970.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดเป็นยุทธศาสตร์หลักบนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนและกระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มุ่งทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคเอกชน และภาคเกษตรกรมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตต่อไร่สูงมีคุณภาพมาตรฐานตรงความต้องการของตลาด การยกระดับข้าวแปลงใหญ่พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศมากขึ้นรวมทั้งค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ประการสำคัญคือชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด.

‘องอาจ’ ขอบคุณทุกคะแนนที่มอบให้ประชาธิปัตย์ แม้ไม่มี ส.ส.กทม. ก็ยินดีทำเพื่อพี่น้องประชาชน

(15 พ.ค. 66) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแล กทม. กล่าวถึงผลการเลือกตั้ง ส.ส.ใน กทม. ที่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว ว่า ขอขอบคุณทุกคนและทุกคะแนนเสียงที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าท่านจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดก็ตาม ถือว่าท่านได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ เพื่อช่วยทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเดินหน้าไปได้ต่อไป สำหรับท่านที่กรุณาลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ ตนขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ท่านมอบให้ด้วยหัวใจจากใจจริง 

“ขอยืนยันว่าทุกคะแนนเสียงที่ท่านมอบให้พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่สูญเปล่าเราจะทำงานเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนต่อไปในทุกช่องทางเท่าที่เราสามารถทำได้ ขณะเดียวกัน ก็ขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกล ที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แบบแลนด์สไลด์อย่างท่วมท้นทั่ว กทม. และทั่วประเทศ และ ขอให้พรรคก้าวไกล เดินหน้าทำงานตามที่สัญญาไว้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมืองโดยรวมต่อไป” นายองอาจ กล่าว

'ชวน' แนะ 'พิธา' อย่าก้าวก่ายพรรคการเมืองโหวตเลือกนายกฯ ชี้!! ทุกพรรคการเมืองมีสติปัญญาพิจารณาเองได้

(16 พ.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เรียกร้องให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ร่วมโหวตให้ตนเป็นนายกฯ นายชวนกล่าวว่า ตนคิดว่าอย่าไปก้าวก่ายคนอื่นเขาเลย แต่ละพรรคคิดอย่างไรก็ให้เขาคิดเอา และมีมติของเขาเอง ดังนั้นอย่าไปก้าวก่ายหรือลุกล้ำ ไม่ควรให้คนอื่นเขาคิดเหมือนตัวเอง แต่ละพรรคเขาคิดเองได้ และเขามีสติปัญญาที่จะคิดเองได้

เมื่อถามว่ามองบทบาทของนายพิธาอย่างไร นายชวนกล่าวว่า ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาลเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเสียงที่เขาชนะมา เขาก็ต้องให้ความเห็นเอง แต่เท่าที่ประเมินดูในเวลาที่เราออกไปหาเสียง จะพูดได้ว่าในท่ามกลางของการยิงด้วยเงิน พรรคกาวไกลไม่มีครหาเรื่องนี้ แต่เขาใช้เรื่องการสร้างกระแสในโซเชียลมีเดียในการหาเสียง

9 กรกฎาคม เลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ จับตา เฉลิมชัย-เดชอิศม์-ชัยชนะ อยู่ฝั่งใคร คนนั้นมีสิทธิ์เข้าวิน

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีการเคลื่อนไหวเตรียมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ ส.ส.มาแค่ 24 คน จากเดิมมีอยู่ 52 คน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้กรรมการบริหารพรรคทุกคนพ้นจากหน้าที่ไปด้วย

พรรคประชาธิปัตย์กำหนดว่า จะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค
สำหรับองค์ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ตามระเบียบพรรค ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด, อดีตส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค, กก.บห.ชุดรักษาการ, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด, สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ทั้งหมดนี้คือโหวตเตอร์ที่จะออกเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ในแต่ละกลุ่มจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน โดย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาใหม่ จะมีน้ำหนักมากกว่า มากถึง 70% ส่วนที่เหลือมีน้ำหนักแค่ 30#

สำหรับสมาชิกพรรคที่น่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่น่าจะมีหลายคน ทั้งคนเก่า และคนใหม่ คนเก่าเช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะย้อนกลับมาลงชิงอีกหรือไม่ แต่แรงเชียร์มีแน่นอน

คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยลงชิงมาแล้ว แต่พ่ายแพ้ไป แต่ยังยืนหยัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้จะเอาอีกรอบหนึ่งหรือไม่

ส่วนคนรุ่นใหม่ ที่ปรากฏชื่อ อย่างนายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ (ไม่รู้ว่าจะนับเป็นคนใหม่ หรือคนเก่า) มี ดร.เด้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือใหม่เลยก็จะมีมาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ในวัยแค่ 37 ปี

มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เริ่มมีปัญหากับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค (วันหลังจะเขียนให้อ่านกัน) แต่ยังไม่รู้ว่สจะกลับคืนรังหรือไม่ และจะลงชิงหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่

กล่าวสำหรับการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างจากพรรคอื่น มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ใครลงสมัครก็ต้องออกแรงแสดงวิสัยทัศน์ต่อบรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ง่ายๆคือต้องไปหาเสียง หาคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

อย่างที่บอก ส.ส.ใหม่ 24 คน เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุด ใครลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ใหม่ โอกาสได้รับเลือกตั้งจึงมีอยู่สูงมาก

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มา 24 คน ส่วนใหญ่ 16-17 คนเป็น ส.ส.จากภาคใต้ และเป็น ส.ส.ภาคใต้ที่อยู่ภายใต้สังกัดของเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ซึ่งถ้าสองคนนี้ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นจึงมีโอกาสชนะ ยิ่งถ้าได้บวกรวมกับพลังของเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคด้วย ยิ่งจะฉิวเข้าป้าย
 
วิเคราะห์โดยภาพรวม ส.ส.ใหม่ 16-17 คน อยู่ภายใต้การดูแลของ เดชอิศม์ ขาวทอง และชัยชนะ เดชเดโช ส่วนประธานสาขาพรรค และตัวแทนพรรค น่าจะอยู่ในการดูแลของนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่เคยดูแลสาขาพรรค และเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะอดีตแม่บ้านพรรค

ส่วนผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ก็น่าจะไม่แตกต่างจากประธานสาขา ตัวแทนพรรค ที่น่าจะฟังนิพนธ์ และเฉลิมชัย

ส่วนอดีตนายก อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.คงจะมีความเป็นอิสระสูง ขึ้นอยู่กับการล๊อบบี้ของผู้อาวุโส มากบารมี เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้อาวุโสมากบารมีทั้งสองคนจึงเป็นตัวชีเวัดเหมือนกันว่า ใครจะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ถ้าวิเคราะห์กันบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ คนที่จะชนะการเลือกตั้ง ต้องได้รับการสนับสนุนจากเดชอิศม์ ขาวทอง ชัยชนะ เดชเดโช เฉลิมชัย ศรีอ่อน นิพนธ์ บุญญามณี รวมถึงชวน-บัญญัติ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมดนี้จะเทคทีมกัน และช่วยดันคนใดคนหนึ่ง

โดยสรุป แต่เฉลิมชัย เดชอิศม์ และชัยชนะ ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นก็มีสิทธิ์สูงมากแล้ว แต่ถ้าได้นิพนธ์มาเสริมทีมเดียวกัน ยิ่งฉลุยเลย

นายหัวไทร

เกาะติดวงในสถานการณ์เลือกตั้ง 'หัวเรือใหม่ ปชป.' 'เสียงใน-นอกพรรค' ฟันธง!! 'อลงกรณ์' ตัวเต็ง!!

ใกล้วันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 9 กรกฎาคมเข้ามาทุกที

โดยในวันนั้น ถือเป็นการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ในห้วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในภาวะถดถอยภายใต้มรสุมทางการเมืองทั้งภายในพรรคและภายนอกพรรค

จากการติดตามและประเมินสถานการณ์ล่าสุดจากทีมข่าว THE STATES TIMES พบว่ามีความเคลื่อนไหวในกลุ่มสาขาพรรค และตัวแทนพรรคจากภาคอีสาน / ภาคเหนือ / ภาคกลาง / ภาคใต้ และกทม. รวมไปถึงอดีตผู้บริหารท้องถิ่น / อดีตผู้สมัคร ส.ส. / อดีต ส.ส. / อดีตผู้บริหารพรรค และอดีตรัฐมนตรีของประชาธิปัตย์จำนวนไม่น้อยที่สนับสนุน 'นายอลงกรณ์ พลบุตร' เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

มูลเหตุสำคัญเนื่องมาจาก ผู้เกี่ยวข้องมีมติเห็นพ้องว่านายอลงกรณ์ เป็นคนที่ซื่อสัตย์กับพรรค ไม่เคยย้ายพรรค มีอุดมการณ์ มีวิสัยทัศน์ทันสมัย เป็นคนกล้าคิดกล้าทำ มีภาวะผู้นำสูงและทุ่มเททำงานให้พรรคตลอดมา แถมยังมีประสบการณ์เคยเป็นประธานสาขาพรรค เป็นส.ส.ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อและเป็นรัฐมนตรี 

เรียกว่ามีผลงานเป็นรูปธรรม อีกทั้งไม่มีประวัติด่างพร้อยเรื่องทุจริต สมาชิกพรรคก็เข้าถึงง่าย ไม่ถือตัว มีมนุษย์สัมพันธ์ดี 

ยิ่งไปกว่านั้นที่ถือเป็นประการสำคัญคือ นายอลงกรณ์ไม่สังกัดกลุ่มใดในพรรค แต่สามารถทำงานร่วมกับอดีตหัวหน้าพรรคทั้งนายหัวชวน, บัญญัติ, อภิสิทธิ์ และจุรินทร์ รวมทั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค

องค์ประกอบเหล่านี้ จึงทำให้เชื่อว่าจะสามารถประสานกลุ่มต่างๆ สร้างเอกภาพและความสามัคคีในพรรคประชาธิปัตย์ได้มากกว่าทุกคนในพรรค และข่าววงในก็ยังบอกอีก ว่านายอลงกรณ์เป็นคนมีพรรคพวกมากเป็นที่ยอมรับจากคนในวงการต่างๆ และพรรคการเมืองอื่นๆ 

ทั้งนี้เมื่อ THE STATES TIMES ได้สอบถามไปยังแกนนำกลุ่มตัวแทนพรรคว่าจะมีความเคลื่อนไหวใดก่อนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคบ้างหรือไม่? ก็ได้คำตอบว่า ทาง ปชป.จะมีการนัดประชุมตัวแทนพรรคในแต่ละภาคในวันที่ 8 กรกฎาคม ที่โรงแรมมิราเคิลเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนนายอลงกรณ์เป็นหัวหน้าพรรค ภายใต้ความเห็นร่วมกันว่า พรรคอยู่ในวิกฤติต้องได้ผู้นำที่มีประสบการณ์และมีภาวะผู้นำสูงจึงจะฟื้นฟูพรรคได้สำเร็จ และเมื่อประชาธิปัตย์กลับมาเข้มแข็งแล้ว จึงจะเปลี่ยนมือให้กับคนรุ่นใหม่ๆ แต่ยังไม่ใช่เวลานี้ 

"วันนี้โจทย์ในพรรคยากและหนักเกินกว่ามือใหม่จะรับมือได้ การคิดแค่เอาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยหวังว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์พรรคได้ทันที คงไม่ใช่ อย่าคิดเลียนแบบพรรคก้าวไกล พรรคเรามีปัญหามากกว่าแค่เปลี่ยนภาพลักษณ์ แต่มีปัญหาเรื่องจุดยืนเรื่องเอกภาพในพรรค เรื่องการบริหารจัดการและเราอยู่ในจุดต่ำสุด เหมือนอยู่ในมรสุมต้องมีกัปตันที่เก่งกล้าและมีประสบการณ์" กลุ่มตัวแทนพรรคท่านหนึ่งให้ความเห็น

นอกจากนี้จากการติดตามความเห็นของโลกโซเชียลจากกลุ่มคนภายในวงการต่างๆ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและพรรคการเมืองต่างๆภายนอก ผู้บริหารภาคเอกชนคนหนึ่งบอกว่า...

"นายอลงกรณ์ พลบุตร มีโปรไฟล์ดีมากเป็นคนที่มีจุดยืนประชาธิปไตย มีหลักการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต มีความคิดก้าวหน้าทันโลกทันเหตุการณ์ มีความเข้าใจด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการต่างประเทศ มีความสามารถทางการบริหารช่วงที่เป็นรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ทำงานร่วมกับภาคเอกชนใกล้ชิดและสร้างผลงานใหม่ๆ ไว้มาก ถือเป็นคนที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นมีอัธยาศัยที่ดี เป็นที่ยอมรับในภาคเอกชน เหมือนเอาส่วนผสมของ 'คุณชวน-คุณอภิสิทธิ์-คุณจุรินทร์-คุณสุรินทร์ (พิศสุวรรณ)' มาไว้ในคนๆ เดียว ในฐานะเสียงหนึ่งจากภาคเอกชนก็เชียร์ให้คุณอลงกรณ์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์"

ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า นายอลงกรณ์จะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ได้หรือไม่ วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ รู้กัน!!

นับถอยหลัง 9 กรกฎา เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รายชื่อแคนดิเดตเริ่มชัด!! เหลือวิสัยทัศน์ที่ต้องงัดมาโชว์

'ตั๊น จิตภัสร์' โพสต์ข้อความเจ็บจี๊ด หยุดเอาชื่อตัวไปคั่วชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่เคยอยู่ในสมอง ซัดคนอยากเป็น 'หยุดวิ่งหาผู้ใหญ่ในพรรค' แนะนำตัวสมาชิกพรรคทั่วไทยดีกว่า ฝากถึงใคร! 'ผู้นำ' เดินคนเดียว ไร้คนเดินตาม ไม่เรียก 'ผู้นำ'

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ในพรรคเกี่ยวกับการแข่งขันเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ มีใจความว่า...

"หยุดเอาชื่อตั๊น ไปร่วมกับแต่ละท่านที่อยากจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลยค่ะ เรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่เคยอยู่ในความคิดของตั๊นเลย ทุกวันนี้มีความสุขกับการได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหน ถึงแม้วันนี้ยังไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถรอรัฐบาลชุดใหม่ได้  

"ถ้าตั๊นอยากจะเป็นหัวหน้าพรรค ตั๊นแมนพอที่จะออกตัวลงสมัครมานานแล้วค่ะ สมาชิกที่บอกเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย แต่ละท่านที่อยากเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค แทนที่จะมานั่งปล่อยข่าว หรือ วิ่งเข้า วิ่งออก บ้านผู้ใหญ่ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แนะนำเอาเวลามาหาเสียงกับสมาชิกพรรคทั่วประเทศน่าจะดีกว่านะคะ (อย่างน้อยไปทำความรู้จักให้สมาชิกได้รู้จักว่า แต่ละท่านเป็นใคร เพราะตอนนี้แต่ละชื่อที่เสนอมาบอกเลย สมาชิกบางท่านยังไม่รู้จักเลยว่าคุณคือใคร)! อยากจะเป็นผู้นำ อย่าลืมลูกพรรคด้วยนะคะ! พรรคเป็นองค์กรที่ใหญ่มีสาขาพรรค สมาชิกหลากหลายในทุกภูมิภาค ไม่ใช่แต่ใน กทม. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งนั้น การจะเป็นผู้นำเดินคนเดียว แต่ไม่มีคนเดินตามเค้าไม่เรียกว่าผู้นำหรอกนะคะ"

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (9 กรกฎาคม) สถานการณ์ดูจะเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ ขาเชียร์คุณตั๊นก็จบข่าวไป มี 'อลงกรณ์ พลบุตร' ที่ชัดเจนแล้ว

รอการตัดสินใจของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' และนายกฯ 'ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง' ว่าจะเปิดตัวกันวันไหน 

แต่ #นายหัวไทร ทราบว่า ทั้งนายกฯ ชาย และอภิสิทธิ์ ต่างเดินสาย พร้อมทีมงานผู้สนับสนุน พบปะโหวตเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยขั้วนายกฯ ชายมั่นใจว่า ถ้าลงแข่งเขาจะชนะ เพราะมีโหวตเตอร์สาย ส.ส.อยู่มากถึง 16-17 เสียง และโหวตเตอร์สาย ส.ส.มีน้ำหนักมากถึง 70% ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่า ส.ส.สายนี้จะยังอยู่ครบ 16-17 เสียงหรือไม่ เมื่อมีเสียงอันแผ่วเบาไปจากผู้มากบารมี ขอให้เปลี่ยนใจ กลับใจ

ส่วนสายอภิสิทธิ์ มีโหวตเตอร์สาย ส.ส.8-9 คน แต่สายอภิสิทธิ์ก็จะมีเสียงสนับสนุนที่หนาแน่จากสาขาพรรค ตัวแทนจังหวัด อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค รวมถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม.อีกสองเสียง คือ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ถ้าการประชุมในวันที่ 9 กรกฎาคม มีคนเสนอให้ยกเว้นการใช้ข้อบังคับพรรคบางข้อ เกี่ยวกับการให้น้ำหนักกับโหวตเตอร์สาย ส.ส.มากถึง 70% ตามที่ทนายเชาว์ มีขวด เสนอ และให้โหวตเตอร์ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน คือ 1 คน 1 เสียง และผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 3 ใน 4 ขั้วนายกฯ ชายก็จะมั่วเหมือนกัน

การให้ที่ประชุมใหญ่มีมติงดเว้นการบังคับใข้ข้อบังคับพรรคบางข้อเคยมีปฏิบัติกันมาแล้วในพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' เอา 'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' มาเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะปริญญ์เป็นสมาชิกพรรคได้ครบตามข้อบังคับพรรค

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันแล้วจะถึงวันเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ #นายหัวไทร อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่สนใจจะลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนเปิดเผยตัวออกมา แสดงวิสัยทัศน์ให้สมาชิกพรรคได้รับทราบ โหวตเตอร์จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ถ้าเป็นไปได้ เมื่อเปิดตัวออกมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์เองควรจะตั้งเวทีดีเบต ให้ผู้สมัครทุกคนมาดีเบตกัน ท่ามกลางสมาชิกพรรคจากทั่วทุกทิศ อันเป็นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย หรือถ้าพรรคไม่จัด สื่ออาจจะจัดก็ได้ ถ้าผู้สมัครเปิดตัวออกมา ก็จะเป็นเวทีที่สนุก สะท้อนความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริงของประชาธิปัตย์

ผมไม่ติดใจว่า คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเป็นคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ เพียงแต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิรูปพรรค เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ทันโลก ทันสมัย พร้อมจะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เพื่อนำพาประชาธิปัตย์กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่

ประชาธิปัตย์เคยยิ่งใหญ่ เคยมี ส.ส.เป็น 100 คนมาแล้ว สร้างนักการเมือง สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน แต่ผู้บริหารชุดใหม่จะต้องถอดบทเรียนถึงข้อผิดพลาดที่ผ่านมาให้ออก รับฟังเสียงสะท้อน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าความเป็นประชาธิปัตย์ ยังไปได้ ประชาธิปัตย์ยังไม่ตาย อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ยังฝังอยู่ในจิตใจของแฟนคลับอีกไม่น้อย เพียงแต่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป

'48 สาขา-ตัวแทน ปชป.อีสาน' หนุน 'อภิสิทธิ์' นั่งหัวหน้าพรรค มั่น!! คุณสมบัติพร้อม สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนทั้งประเทศได้

48 สาขา และตัวแทนอีสาน ออกแถลงการณ์หนุน 'อภิสิทธิ์' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมสร้างเอกภาพจากบุคลากรทุกรุ่น หวังเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.66) ที่จังหวัดขอนแก่น ภายหลังการประชุมหารือร่วมกันของสาขาและตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทั้ง 48 แห่งได้แสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นหัวหน้าฯ 

ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้า และคณะกรรมการบริหาร พรรคชุดใหม่ ในวันที่ 9 ก.ค. 2566 แทนชุดเดิม ซึ่งได้หมดวาระลงนั้น

พวกเราในฐานะสาขาและตัวแทนพรรคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความคิดและประมวลความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากสมาชิกในระดับต่างๆ ซึ่งมี ข้อสรุปที่สอดคล้องกันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีบทบาทอย่างสําคัญ ต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชาชนจะสามารถยึดเหนี่ยวได้ ดังนั้นการเลือกกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะตําแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ต้องทําหน้าที่นำพาองค์กรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งประเทศ จึงมีความสําคัญ และจําเป็นที่จะต้องได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และ มีหลักคิดที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติ และประชาชนได้ 

พวกเราจึงมีมติร่วมกันเพื่อนําเสนอต่อพรรคและเพื่อนสมาชิกทั่วประเทศดังนี้...

1. พวกเราขอสนับสนุน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรีให้ทําหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อนําพาองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันทางการเมืองแหง่นี้ ให้เกิดศรัทธา และความเชื่อมั่นที่ประชาชนสามารถยึดเหนี่ยวเพื่อรักษาระบอบการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อไป

2. พวกเราเห็นว่าบุคลากรทุกองค์ประกอบของพรรค ต่างมีคุณค่าตามสถานภาพและความรับผิดชอบจึงอยากเห็นความสามัคคีและความเป็นเอกภาพเพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กร แห่งนี้ให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้

3. พวกเราขอสนับสนุนท้ังอุดมการณ์ และประสบการณ์ของบุคลากรรุ่นเก่า และผสม ผสานกับบุคลากรรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาสืบทอดเจตนารมณ์ และอุดมการณ์ เพื่อความยั่งยืนของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือเป็นสถาบันทางการเมืองของประเทศต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อแสดงจุดยืนของ สาขาพรรค ตัวแทนพรรค และพี่น้องประชาชน ท้ังที่เป็น และไม่ไ่ด้เป็นสมาชิกพรรคจากพื้นที่ภาคตตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และขอเชิญชวนพี่น้องชาวประชาธิปัตย์ทุกท่านทั่วประเทศร่วมสืบทอดเจตนารมณ์ร่วมกัน

ด้วยจิตคารวะ
สาขา และ ตัวแทนจังหวัดภาคอีสาน ทั้ง 48 แห่ง ที่ประสานงานเบื้องต้น (ตามรายชื่อที่ปรากฏในแถลงการณ์) 

‘อลงกรณ์’ ชูสปิริต ‘ปชป.’ ลุยเดินหน้าปฏิรูปพรรคอย่างมีเอกภาพ เชื่อ!! การเปลี่ยนผ่าน ‘ผู้นำพรรค’ ครั้งนี้ จะราบรื่นเรียบร้อย

(5 ก.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคและผู้สมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าววันนี้ว่า การประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคมนี้ จะเป็นไปโดยราบรื่นไม่มีปัญหา โดยดำเนินการในกรอบของข้อบังคับและธรรมเนียมปฏิบัติของพรรค ซึ่งผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคมา 8 ท่านแล้ว ครั้งนี้เป็นการเลือกหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ในช่วงเวลา 78 ปีของพรรคและเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน

ทั้งนี้ มีความหวังว่าจะมีผู้สมัครหัวหน้าพรรคท่านอื่นๆประกาศตัวก่อนวันประชุมใหญ่เพื่อให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าถึงแนวคิด จุดยืนนโยบายแบบตรงไปตรงมาเปิดเผย ที่ขอติติงเรื่องเดียว คือ ไม่ควรให้ใครไปล่ารายชื่อแล้วออกแถลงการณ์สนับสนุนคนนั้นคนนี้ เพราะตัวแทนสมาชิกหลายคนอึดอัดใจที่ต้องลงชื่อด้วยความเกรงใจ ถ้าแต่ละคนทำแบบเดียวกันทุกภาค ความแตกแยกแบ่งฝ่ายจะเกิดขึ้น พฤติกรรมแบ่งกลุ่มแบ่งพวกแบบนี้ควรเลิกได้แล้ว เราต้องการเอกภาพ การเปลี่ยนผ่านผู้นำพรรคจะได้ราบรื่นเรียบร้อย

นอกจากนี้ขอขอบคุณทุกเสียงสนับสนุนและกำลังใจที่มอบให้ตนจากทุกภาคส่วน ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิก ทั้งที่อยู่ในประเทศและในต่างประเทศโดยเฉพาะภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเกษตรกร เพื่อนข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ภาคการเมือง อดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส. อดีตผู้สมัคร ส.ส.อดีตกรรมการบริหารพรรค สาขาพรรค ตัวแทนพรรครวมทั้งเพื่อนนักการเมืองต่างพรรค 

“ผมเชื่อมั่นว่าด้วยสปิริตประชาธิปัตย์ สมาชิกพรรคทุกคนจะร่วมมือเดินหน้าปฏิรูปพรรค พร้อมสนับสนุนคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และหัวหน้าพรรคคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ 

พรรคประชาธิปัตย์ต้องการผู้นำที่มีจุดยืนประชาธิปไตย มีภาวะผู้นำที่เข็มแข็ง มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า มีศักยภาพสามารถฟื้นฟูปฏิรูปพรรค และสร้างความเป็นเอกภาพในพรรค เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งในอุดมการณ์และเป็นพรรคการเมืองทางเลือกหลักของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง” นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 'หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์' พลิกพรรคฟื้นคืนกลับ หรือจะดับเป็น 'พรรคต่ำสิบ'

เหลือเวลาอีกแค่ 4 วัน สำหรับศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และทีมบริหารชุดใหม่ที่มีภารกิจหนักในการฟื้นฟูพรรค

“ต้องยอมรับความจริงว่า พรรคประชาธิปัตย์อาการหนัก” เป็นคำกล่าวของนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรค 

“หัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นใครก็ได้ แต่ขอให้เป็นมติของที่ประชุมพรรค จากความเห็นพ้องต้องกันของสมาชิกพรรค และที่สำคัญต้องเป็นคนที่ตั้งใจ ทุ่มเท และพร้อมทำงาน รวมถึงควรจะมุ่งไปสู่การฟื้นฟูพรรค โดยเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารพรรคมากขึ้น” นิพนธ์ กล่าวย้ำ

ชัดแล้ว 3 คน คนแรก 'อลงกรณ์ พลบุตร' ลงชิงหัวหน้าพรรคแน่นอน เปิดตัวแสดงวิสัยทัศน์ไปแล้ว

'ตั๊น จิตภัสร์ กฤษดากร' ยืนยันว่าไม่ลง และไม่เคยมีความคิดอยู่ในสมอง 

'ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ' ที่เคยมีข่าวว่าจะลงชิงด้วย แต่มาถึงวันนี้ออกมาเปิดตัวชัดเจนแล้ว 'ไม่ลง'

ส่วนที่ยังไม่มีท่าทีออกมา แต่มีข่าวว่าจะลงชิง คือ...

- นายกฯ ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สมัย 2 ของสงขลา
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี
- และมีข่าวว่า กลุ่มเฉลิมชัย ศรีอ่อน ชักชวน ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มาลงสมัคร และจะให้นายกฯชาย นั่งเป็นเลขาธิการ แต่ ดร.เอ้ ก็ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ แต่ยอมรับว่า มีผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามจริง

นอกจากนี้ ยังมีข่าวอีกด้วยว่า กลุ่มของเฉลิมชัย ยังจะให้มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค (วงศ์โอกาศรี) ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคกรุงเทพมหานคร แทน องอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่จะถูกดันเป็นรองหัวหน้าพรรคตามภารกิจ

ส่วนกลุ่มของนายอภิสิทธิ์นั้น ยังไม่ชัดเจนในเชิงโครงสร้าง แต่มี ชวน หลีกภัย / บัญญัติ บรรทัดฐาน / นิพนธ์ บุญญามณี ให้การสนับสนุน และร่วมขับเคลื่อนผ่านตัวแทนจังหวัด และสาขาพรรค ที่เป็นโหวตเตอร์ด้วย

ในส่วนของโหวตเตอร์ ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน อยู่ในมือของกลุ่มเฉลิมชัย 14 คน คือ ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 5 คน พัทลุง 2 คน ตรัง 2 คน สงขลา 3 คน ที่เหลืออยู่ในกลุ่มของนายหัวชวน 11 คน คือ นครศรีธรรมราช 1 คน สงขลา 3 คน ปัตตานี 1 คน แม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน หลีกภัย / บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

โหวตเตอร์ในส่วนของสาขาพรรค และตัวแทนจังหวัด ทั่วภาคเหนือ และภาคอีสาน ชัดเจนแล้วว่า สนับสนุนอภิสิทธิ์ ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร แต่เข้าใจว่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์ เช่นเดียวกัน

โหวตเตอร์อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตนายรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯ กทม. 2 คน และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค ก็น่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์เช่นกัน

ถ้ามองสถานการณ์ภาพรวมในวันนี้ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ 4 วันจะเลือกตั้งแล้ว (9 ก.ค.66) เกมซีกของอภิสิทธิ์เหนือกว่า ที่ยึดโหวตเตอร์ส่วนอื่นๆ ไว้ได้เกือบหมด จะแพ้ก็เป็นโหวตเตอร์ในส่วนของ ส.ส.ซึ่งแพ้ก็ไม่มาก 14:11 

สถานการณ์นี้ แม้ขั้วของเฉลิมชัยจะมั่นใจในโหวตเตอร์ที่มีอยู่ แต่การดิ้นรนไปทาบทาม ดร.เอ้ ให้มาลงในนามกลุ่ม สะท้อนให้เห็นว่า การขับเคลื่อนที่ผ่านมาให้นายกฯ ชายลงชิงหัวหน้าพรรค กระแสตอบรับยังไม่ดีนัก จึงต้องเปลี่ยนหัวเป็น ดร.เอ้แทน และให้นายกฯ ชายนั่งเป็นเลขาธิการ

การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 9 กรกฎาคม จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์ว่า 'จะฟื้นกลับมา' หรือจะกลายเป็น 'พรรคต่ำสิบ' ในสถานการณ์ที่อาการหนัก ถอดสายน้ำเกลือก็ไม่รอดแล้ว...ต้องติดตามดูกัน

'เชาว์ มีขวด' ขยับเกม นัดระดมพลคนรัก ปชป. จี้!! งดใช้ข้อบังคับพรรค ใช้สัดส่วน ส.ส.ชี้ชะตา

เมื่อไม่นานมานี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงรอบสาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chao Meekhuad’ เรื่อง จากใจ ถึงใจ คนรัก ปชป. วันที่ 8 ก.ค.เจอกันที่ลานพระแม่ธรณีฯ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

หลังจากที่ได้เสนอแนวคิดในการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์โดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของพรรคผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วสามครั้ง ปรากฏว่า ได้รับเสียงตอบรับจำนวนมาก จึงขอขอบคุณสมาชิกพรรคทั้งอดีตและปัจจุบันรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความห่วงใยต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางท่านอาจจะไม่เลือกคนของพรรค แต่ก็ยังมีความห่วงใยต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะได้กลับมาร่วมกันพัฒนาพรรคให้เติบโตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

มีหลายคนประสานมายังผมต้องการให้ช่วยนัดวันพบปะกันระหว่างสมาชิก เพื่อแสดงจุดยืนก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม โดยได้ข้อสรุปว่า จะนัดเจอกันในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ณ ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ โดยเริ่มต้นด้วยการสักการะขอพรพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต่อจากนั้นก็จะเปิดเวทีเสวนาเล็ก ๆ เพื่อให้สมาชิกได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งวัน จึงประกาศเชิญชวนทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ตามวันเวลาข้างต้นครับ

“ขอยืนยันว่าการพบปะกันในหมู่คนรักพรรค ปรารถนาที่จะเห็นการฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองในครั้งนี้ มิได้มีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลักดันใครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องการเห็นพรรคกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องในทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทุกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ได้ร่วมชี้ชะตากำหนดอนาคตพรรค ด้วยการงดเว้นการใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ สัดส่วนของ ส.ส.คิดเป็น 70 % ขององค์ประชุมทั้งหมด เป็นทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ผมเชื่อว่าถ้าลดเพดานความอยากลง หลายคนจะเห็นความจริงตรงหน้ามากขึ้นว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปมีความสำคัญต่อพรรค มากกว่าการเป็นหุ่นเชิดให้ใครใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจเท่านั้น

‘ทนายเชาว์’ ขย่มครั้งที่สองเสนอให้พรรคงดใช้ข้อบังคับพรรคในที่ประชุมใหญ่ ข้อที่กำหนดให้น้ำหนักกับ ส.ส.ถึง 70% ในการลงคะแนน ทนายเชาว์จึงเสนอให้งดใช้ขัอบังคับพรรคข้อนี้ และให้ทุกคนมีเสียงเท่ากับ 1 คน 1 เสียง และเปิดฉากที่สามด้วยการนัดแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์เจอกันวันเสาร์นี้ ก่อนการประชุมใหญ่ 1 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทั่วไป ที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงพลัง แสดงความคิดเห็นกันทั้งวันบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top