Sunday, 19 May 2024
ประชาธิปัตย์

'โฆษก ปชป.' ซัด 'ธาริต' บิดเบือนคดี 99 ศพ ทั้งที่ 'ศาล-ป.ป.ช.' ตัดสิน 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ไร้ความผิด

(8 ก.ค.66) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวพาดพิงบิดเบือนก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนยุติธรรม และเสียหายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ว่า...

หลักการสำคัญในเรื่องนี้ ขอย้ำว่าสิ่งที่นายธาริต ออกมาพูดกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพนั้น ได้มีการพิสูจน์ความจริงจนสิ้นกระแสความแล้วจากกระบวนการยุติธรรม จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) การพิสูจน์ความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรมนั้น เนื่องจากมีการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาญา ในข้อหาเจตนาฆ่าผู้ชุมนุม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่าง ๆ สลายการชุมชุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรง แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน

นายราเมศ กล่าวว่า อำนาจการพิจารณาคดีจึงตกไปอยู่กับ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรง โดยผลการวินิจฉัยของ ป.ป.ช. รับฟังเป็นที่ยุติว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผล “อยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553” และศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดีเลขที่ 1699/2560 “ว่าการกระทำของ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องต้องกัน ยุติด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะได้ผ่านการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการยุติธรรม

นายราเมศ กล่าวต่อว่า การที่นายธาริตแถลงมาทั้งหมดทำไมไม่เอาไปสู้คดีในชั้นศาล ทำไมไม่เอาข้อเท็จจริงไปเข้าสู่กระบวนการของศาลในคดีที่เคยสั่งให้ดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ส่วนที่นายธาริต กล่าวว่า "จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีตน เป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288 – 289" 

ในประเด็นนี้ เคยย้ำมาตลอดเวลาว่า ยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาและคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช ว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย นายธาริตถูกฟ้องกลับในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสืบเนื่องมาจากการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก ขณะนี้รอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งนายธาริตเลื่อนฟังคำพิพากษามาหลายครั้ง ทำไมไม่เอาสิ่งที่แถลงเข้าสู่สำนวนคดีที่นายธาริตถูกฟ้อง แล้วต่อมาทำไมถึงต้องให้การรับสารภาพ แสดงว่านายธาริตยอมรับว่าได้ดำเนินกระบวนการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนานสุเทพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถ้ายืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะรับสารภาพทำไม กลับมากล่าวหาบุคคลอื่น แสดงว่าที่ให้การรับสารภาพต่อศาลคือคำให้การเท็จใช่หรือไม่

"ทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ไม่เคยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ต่อสู้คดีจากข้อกล่าวหา จนผ่านกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมว่าไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา การที่นายธาริต ออกมาแถลง คำแถลงเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม บิดเบือนให้สังคมสับสน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมาไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี นายธาริตอย่าพยายามยกเรื่องนี้มาลบล้างการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบในการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ คนจริงเขาไปสู้ในศาล ไม่ใช่มาพูดนอกศาลให้ตนเองดูดี ควรเคารพกระบวนการ ยืนกรานต่อสู้ตามหลักกฎหมาย และอย่าอายต่อความจริง ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะไม่มีข้อยุติและจะนำเหตุการณ์นี้มาบิดเบือนเพื่อทำลายผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา" นายราเมศ กล่าว

‘ประชาธิปัตย์’ เลื่อนโหวตหัวหน้าพรรค!! หลังองค์ประชุมมาไม่ครบ 250 คน

(9 ก.ค. 66) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.15 น. ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ได้เริ่มต้นอีกครั้งในวาระการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยสมาชิกได้ทยอยเดินเข้าห้องประชุม แต่ที่นั่งยังคงบางตา ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการทำให้องค์ประชุมครั้งล่มไป

จนเมื่อเวลาผ่านไป 10 นาที คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ในฐานะ กกต. พรรค ได้ประกาศว่า ขณะนี้มีจำนวนสมาชิก 221 คนแล้ว ถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว แต่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ หนึ่งใน กกต. พรรคแย้งว่า ตามข้อบังคับพรรคต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 250 ท่าน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในห้องประชุมเริ่มมีความตึงเครียด เนื่องจากยังไม่มีสมาชิกทยอยเข้ามาเพิ่ม ขณะที่นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ กล่าวว่า ขอให้ผู้มีสิทธิ์ทุกคนชูบัตรขึ้นเพื่อยืนตัวตนของผู้ที่มีสิทธิ์โหวต ปรากฎว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะได้แค่ 221 ท่าน

อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกบางส่วนได้เสนอให้รอองค์ประชุมที่กำลังเดินทางมา เหมือนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ยังให้โอกาส ส.ส. เข้าร่วมประชุม แต่คุณหญิงกัลยา ยืนยันว่า ขณะนี้เวลาเลยนัดหมายไปแล้ว 20 นาที เมื่อสมาชิกใช้เวลารับประทานอาหารและทำธุระแล้วก็ควรเข้ามาร่วมประชุมตามที่นัดหมาย 

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส. นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนได้สอบถาม ทราบว่าสมาชิกหลายคนเดินทางกลับไปโรงแรมกำลังเก็บกระเป๋าเตรียมกลับบ้านและกำลังเดินทางมา ขอให้เลื่อนไปประชุมอีกครั้งเวลา 15.00 น. เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกที่เสียสละเวลามาประชุมในวันนี้ เพราะหลายคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด หากทุกคนรักพรรคจริง ต้องดำเนินตามครรลองของพรรคด้วย พร้อมกำชับให้สมาชิกอยู่ในห้องประชุม ห้ามออกไปไหน แต่ก็ยังมีหลายคนเดินเข้าออกห้องประชุม และมีบางส่วนนั่งอยู่นอกห้องประชุม ไม่เข้าร่วมประชุม 

จากนั้นเวลา 15.00 น. กลับมาประชุมอีกครั้ง โดยนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ประชาธิปัตย์ ในฐานะกกต. พรรค กล่าวว่า ขอให้องค์ประชุมมานั่งที่เก้าอี้ตัวเอง หากองค์ประชุมไม่ถึง 250 เสียงจะเดินต่อไปไม่ได้ และจะได้นัดประชุมครั้งใหม่ต่อไป

ภายหลังเจ้าหน้าที่นับองค์ประชุม คุณหญิงกัลยา แจ้งว่า ขณะนี้ตรวจสอบองค์ประชุมอีกครั้ง โดยขณะนี้มีองค์ประชุมเพียง 201 คน ดังนั้น กกต.พรรค จึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ และขอเชิญหัวหน้าพรรคมารับหน้าที่ดำเนินการต่อ 

ต่อมา นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็ประชุมไม่ได้ หลังจากนี้ตนและเลขาธิการพรรคจะได้หารือต่อไป เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง และขอยุติการประชุมในเวลา 15.09 น.

เกม 'ล้มประชุม' เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบรกความฮอตขั้ว 'เฉลิมชัย' อีก 1 เดือนวัดกันใหม่

การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มขึ้นเวลา 09.00 น.ของวันที่ 9 กรกฎาคม โดยการกล่าวต้อนรับสมาชิกโดยผู้อำนวยการพรรค จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยดำเนินการไปตามระเบียบวาระ เมื่อจะเข้าวาระ 4 ว่าด้วยเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมได้เชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร เสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรค ในขณะที่นายสาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรค เสนอให้งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคเกี่ยวกับสัดส่วน-น้ำหนัก ส.ส.กับโหวตเตอร์อื่นๆ 70:30 ทำให้นายจุรินทร์ เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น มีสมาชิกแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายองอาจจึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน พี่น้องภายในพรรคไปคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเอาอย่างไร

การประชุมยังเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่ด้านนอกมีกระแสข่าวมาเรื่อยๆ 'อลงกรณ์ พลบุตร' ถอนตัวจากการชิงหัวหน้าพรรคกระทันหัน และไม่เข้าร่วมประชุมด้วย

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ให้คำตอบในนาทีสุดท้าย ปฏิเสธลงชิงหัวหน้าพรรค เกมเริ่มพลิก ขั้วของเฉลิมชัย ศรีอ่อน ขาดหัวในการชิงหัวหน้าพรรค จึงดึง 'นราพัฒน์ แก้วทอง' จากพิจิตร มาเสนอตัวแทน และ 'ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล' ตัวจี๊ดขันอาสามาสมัครอีกคน

บรรยากาศในห้องประชุมยังดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดกับข้อเสนอให้งบใช้ข้อบังคับการประชุม การประชุมลากยาวไปถึงภาคบ่าย และสไตล์ประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็จบลงด้วยการลงมติ ที่ประชุมไม่ให้เลื่อนการประชุมออกไป และยังใช้ข้อบังคับพรรคในสัดส่วน 70:30 ต่อไป

กว่าจะได้พักรับประทานอาหารการประชุมลากยาวมาถึงบ่ายโมง พัก 1 ชั่วโมง นัดประชุมใหม่ 14.00 น. 

ผู้ล้ำลึกในเกมวิเคราะห์ถึงการชิงไหวชิงพริบกันในภาคเช้า ขั้วของเฉลิมชัยยังอยู่ในฐานะได้เปรียบในทุกประตู ทั้งไม่เลื่อนการประชุม และงดใช้สัดส่วน 70:30

แต่หลังรับประทานอาหารเสร็จ ภาพที่เห็นคือ คนที่เป็นองค์ประชุมเริ่มเช็กเอาต์ ลากกระเป๋าออกจากห้องพัก ซึ่งเป็นไปตามกติกา ถ้าไม่พักต่อก็ต้องเช็กเอาต์ก่อนบ่ายสองโมง 

สัญญาณเริ่มได้ยิน "ล้มการประชุม" องค์ประชุมหลายคนจึงลากกระเป๋าออกจากโรงแรม บางคนอ้างจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว จองตั๋วรถทัวร์ไว้แล้วบ้าง

14.00 น.การประชุมช่วงบ่ายเริ่มขึ้น คนเริ่มโหรงเหรง เหลือครึ่งหนึ่ง จึงมีคนเสนอให้นับองค์ประชุม เป็นไปตามคาด 'ไม่ครบองค์ประชุม'

จริงๆ แล้ว การนับองค์ประชุม เป็นเกมที่ไม่ต้องการให้การประชุมเดินต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเดินไปสู่การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อได้นั่นเอง และถ้าดูผลการประชุมในช่วงเช้า ขั้วของเฉลิมชัย ที่ดันนราพัฒน์ ยังเป็นต่ออยู่ เกมล้มการประชุมด้วยการนับองค์ประชุมจึงถูกกำหนดขึ้น และบรรลุเป้าหมาย ยังมีเวลาอีก 1 เดือนในการล็อบบี้ 

งานนี้นักการเมืองหนุ่มขั้วเฉลิมชัยถึงกับส่ายหน้ากับเกมล้มการประชุมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ประเด็นเวลานี้คือ อลงกรณ์มีเหตุผลอะไรถึงถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรค และไม่เข้าร่วมประชุม เกิดอะไรขึ้น 1 วันก่อนการประชุม เช่นเดียวกับ ดร.เอ้ ที่มาปฏิเสธในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูท่าทีดีใจที่ถูกผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามให้ลงชิงหัวหน้าพรรค แต่กลับมาตัดสินใจ และบอกกล่าวในนาทีสุดท้าย จนขั้วเฉลิมชัย เกือบพลิกตัวไม่ทัน ยังดีที่ไปคว้านราพัฒน์ไว้ได้ทัน

ชัดเจนครับว่า การประชุมครั้งหน้า ก็จะเริ่มต้นด้วยการเสนอชื่อผู้ที่จะลงชิงหัวหน้า ไม่ต้องมาหารือ หรือลงมติเรื่องอื่นกันให้เสียเวลาอีก แต่ 1 เดือนที่เหลือ น่าจะเป็นช่วงเวลาของการล็อบบี้-หาคะแนนกันอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายสนับสนุน 'นราพัฒน์ แก้วทอง' และฝ่ายสนับสนุน 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

'ศิริกัญญา' ฟันธงโหวตนายกฯ รอบ 2 พิธาได้เสียงเพิ่มจาก ส.ว. ถาม!! ใครคือผู้ที่ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปเชิญ 'ชทพ.-ปชป.'

(17 ก.ค. 66) ที่อาคารไทยซัมมิท น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล คาดว่าการประชุมวันนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี และมีการหารือเรื่อง เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งที่สอง รวมถึงเรื่องการยกเลิกม.272 ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นไปก่อนหน้านี้ โดยขอเสียงสนับสนุนจาก 8 พรรคร่วม พร้อมทั้งไม่กังวลกับการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2

"เราได้ทำตามสิ่งที่ได้ให้สัญญากับประชาชนไว้ หากประชาชนยังไม่ถอยเราก็ยังไม่ถอย และคิดว่าจะมีการเสนอชื่อคุณพิธาอีกรอบนึงตามสมรภูมิที่เราได้แจ้งกับประชาชนไว้"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้เจรจาการดึงพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล มีการระบุว่าได้รับการทาบทามจากพรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ทราบเรื่องว่าใครคือ ผู้ที่ให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปเชิญ ซึ่งหากได้เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคชาติไทยพัฒนาก็จะได้จำนวนเสียงที่มากขึ้น
.
ส่วนเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนาระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่แก้ไขมาตรา 112 เป็นเงื่อนไขที่เป็นการเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยได้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า หากเป็นเงื่อนไขมาตรา 112 ก็คงไม่ได้ร่วมรัฐบาลกัน ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง
.
เมื่อถามว่าการหารือระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในวันนี้จะราบรื่นหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จะต้องราบรื่นและเป็นไปตามที่เราได้คาดหวังไว้
.
ซักว่ายังยืนยันในจำนวนเสียงส.ว.หรือไม่เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการทราบจำนวน ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องนี้เรามีการสื่อสารด้วยกันมาโดยตลอด ว่าทางพรรคก้าวไกลจะติดต่อท่านไหนและพรรคเพื่อไทยจะช่วยติดต่อคือส.ว.ท่านไหน รวมถึงมีการพูดคุยกันมาโดยตลอด ซึ่งการโหวตในรอบนี้จากที่มีการทำงานกันมาได้คะแนนเสียงเพิ่มเติมจากจำนวนส.ว.ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนั้น

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จริง ๆ แล้วเราไม่มีความกังวลใด ๆ เราสัญญากับประชาชนไว้ว่าจะสู้กับ 2 สมรภูมิ ซึ่งเราจะสู้อย่างเต็มที่เพื่อเสนอนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมคาดหวังว่าจากสิ่งที่เราได้ทำแคมเปญ จะทำให้ส.ว.เปลี่ยนใจมายืนเคียงข้างประชาชนก็คิดว่าเราจะได้คะแนนเสียงเพิ่ม ส่วนเรื่อง 2 สมรภูมิหากส.ว.ที่ต้องการปิดสวิตตัวเอง ในม.272 ซึ่งเป็นไปตามที่เราได้แจ้งกับประชาชนและสื่อมวลชนไว้ หากการต่อสู้ทั้ง 2 สมรภูมิไม่เป็นผลเราก็จะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ถามว่าได้มีการกำหนดระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ไทม์ไลน์ต่าง ๆ จริง ๆ แล้วต้องขึ้นอยู่กับประธานสภา ที่จะบรรจุวาระม.272 ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งตามระเบียบแล้วต้องเอาเข้าภายใน 15 วันอยู่แล้ว จึงคาดว่าจะจบภายในสัปดาห์และทราบทิศทางต่อไปอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคเพื่อไทยไม่พอใจกับการแก้ไขม.272 เหมือนเป็นการมัดมือชกพรรคเพื่อไทย จะมีการหารือในวันนี้ด้วยหรือไม่ ศิริกัญญากล่าวว่า ประเด็นม.272 จะเป็นประเด็นที่หารือกันในวันนี้เป็นการพูดคุยทำความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าการแก้ไขม.272 ไม่ได้เป็นการมัดมือชกใด ๆ และคิดว่าเราน่าจะทำภารกิจนี้ร่วมกันทั้ง 8 พรรค โดยยืนยันว่าหาแก้ไขม.272 ไม่สำเร็จพร้อมเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้กับประชาชน

เมื่อถามต่อว่าจะไม่เป็นการยืดเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญายืนยันว่า ไม่ได้เป็นการยืดเวลาอย่างแน่นอนซึ่งจะทราบผลในอาทิตย์หน้า หากผ่านสามารถดำเนินการวาระที่ 2 วาระที่ 3 แล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นการยืดระยะเวลาไปไกล ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งรัฐบาลและนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณตน จากวันที่มีการเลือกตั้งใช้เวลาทั้งสิ้น 7 สัปดาห์ หากเราต้องการใช้เวลาแก้ไขม.272… 2-3 สัปดาห์ไม่ใช่การยืดเวลาอะไรอย่างใด

ซักว่ามีความมั่นใจ หรือไม่ว่าการแก้ไขม.272 จะเป็นทางออกของพรรคก้าวไกล ศิริกัญยากล่าวว่า เราเห็นใจส.ว.หลายท่านและเราก็ทราบว่า มีกระบวนการที่จะไม่ให้บุคคลเหล่านั้นมาโหวตให้กับนายพิธา ถูกขู่เอาชีวิตและเราเห็นใจและคิดว่านี่คือทางออกที่หลายฝ่ายสบายใจ รวมถึงส.ว.ด้วยที่อยากจะปิดสวิตช์ตัวเอง

ถามอีกว่ามีความเข้าใจในเรื่องสัดส่วนในการแก้ไขม. 272 ต้องใช้เสียงจากฝ่ายค้าน น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการโหวตที่อยู่ในขั้นที่ 3 ที่จะต้องใช้คะแนนเสียงจากฝ่ายค้าน ซึ่งเราได้มีการคำนวณแล้ว คิดว่าน่าจะผ่าน ถึงวาระที่สาม

เมื่อถามว่าเหตุใดพรรคก้าวไกลจึงไม่ถอยการแก้ไขมาตรา 112 แทนที่จะมาเดินหน้าแก้ไขม. 272 น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราได้สัญญากับประชาชน ผ่านการหาเสียงเลือกตั้ง และแล้วเราก็คิดว่าการแก้ไขม.112 เป็นเพียงข้ออ้าง ที่จะไม่โหวตให้กับพรรคก้าวไกล ถึงแม้ว่าเราจะยอมถอย และเสียสัจจะที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน ก็ไม่ได้เป็นข้ออ้างที่ทำให้ส.ว. จะไม่โหวตให้กับเราเพราะเรื่องการแก้ไขม.112 อย่างแน่นอน ดังนั้นเราขอเลือกที่จะไม่เสียสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน

ถามว่าไม่กังวลเรื่องการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ยาวใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่าไม่ถึงขั้นนั้นและไม่ได้ใช้ระยะเวลาเป็นปีอย่างมากแค่ 3 สัปดาห์และอยู่ในวิสัยที่เราสามารถจัดการได้อย่างแน่นอนซึ่งนิด้าโพลได้มีการเผยแพร่อย่างชัดเจนว่าประชาชนอยากให้ทำการโหวตให้กับนายพิธาไปเรื่อยๆ

จับตา!! คู่ชิงหัวหน้าพรรค 'อภิสิทธิ์' ปะทะ 'ดร.เอ้' พร้อมข่าวลือสะพัด 16 ส.ส.หักเห ปันใจซบ 'เสี่ยหนู'

ประชาธิปัตย์เดือด…ลือสะพัด 16 ส.ส.ปันใจให้ภูมิใจไทย ถกร่วมเพื่อไทยตั้งรัฐบาล ศึกชิงหัวหน้าพรรคไม่ลงตัว ขั้ว 'เฉลิมชัย' ขอเปลี่ยนหัวจาก 'นราพัฒน์' เป็น 'ดร.เอ้'

หลังเสร็จภารกิจการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่รัฐสภาตอกฝาโลงไปแล้ว ในสมัยประชุมนี้ไม่สามารถเสนอกลับมาได้อีก เกมจึงเปลี่ยนไปอยู่ในมือเพื่อไทย

หันมาดูศึกในค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผมบ้าง (ประชาธิปัตย์) ที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหอบหิ้วเข้าสภามาได้แค่ 25 คน จุรินทร์ลักษณวิศิษฏ์ รับผิดชอบด้วยการลาออก ที่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการล้มการประชุมเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ด้วยการล้มองค์ประชุม (องค์ประชุมไม่ครบ) ในช่วงบ่าย อันเป็นเกมที่ถูกกำหนดขึ้นจากฝ่ายที่ส่อว่าจะแพ้โหวต

12 กรกฎาคม มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ มีกรรมการบางคนเสนอให้เพิ่มองค์ประชุม เพื่อแก้ปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ โดยให้เพิ่มองค์ประชุมอีกภาคละ 25 คน คือเพิ่มอีก 125 ให้รองหัวหน้าพรรคในแต่ละภาคเป็นคนคัดเลือกจากสมาชิกพรรคมาเป็นองค์ประชุม จากเดิมองค์ประชุมมีอยู่ 250 คน เป็น 375 คน รองหัวหน้าพรรคประจำภาคก็เตรียมการคัดสมาชิกพรรค จาก ส.อบจ.บ้าง จากนายกเทศมนตรีบ้างที่เป็นพวกของตัวเองมาเป็นองค์ประชุม

จริงๆ ในการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่องค์ประชุม เพราะช่วงเช้าองค์ประชุมครบ เพียงแต่ว่าองค์ประชุมเป็นคนของใครมากกว่า เมื่อเช็คจากการประลองกำลังกันสองรอบในตอนเช้า ยังไม่เห็นแววชนะ จึงใช้เกมล้มการประชุมมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน

การเสนอเพิ่มองค์ประชุม กรรมการบริหารพรรคหลายคนอภิปรายแย้ง เพราะยังไม่ใช่เวลา พรรคยังไม่วิกฤติถึงขนาดขาดองค์ประชุมตามข้อบังคับพรรค แต่ท้ายที่สุดกรรมการบริหารพรรคฝ่ายเสียงข้างมากก็ลากไปมีมติพรรคก็ให้เพิ่มองค์ประชุม แต่เวลานี้มีกรรมการบริหารพรรคที่คัดค้าน หรือเห็นแย้งก็ยังไม่ยอมแพ้ 5 กรรมการบริหารพรรคทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และเลขาพรรค (เฉลิมชัย ศรีอ่อน) เช่น สาทิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพาณิชย์ รองหัวหน้าพรรค ผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมการบริหารพรรค ให้พิจารณาทบทวน

เข้าใจว่าการทำหนังสือโต้แย้งน่าจะมีผลให้ต้องเลื่อนการประชุมใหญ่วิสามัญออกไปก่อน จากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม แต่การเลื่อนการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ได้แจ้งต่อสมาชิกอย่างเป็นทางการ

สำหรับศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วคาดว่าจะเป็นการแข่งกันระหว่าง 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตหัวหน้าพรรค กับ 'นราพัฒน์ แก้วทอง' รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนขั้ว 'เฉลิมชัย' จึงขอเปลี่ยนตัวเล่น เป็น 'ดร.เอ้' สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงชิงแทน โดยมีติ่ง มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ร่วมแจม ด้วย

แต่คู่ชิงน่าจะมีเพียง 2 คนนี้ คือ 'มาร์ค' อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, อดีตนายกรัฐมนตรี และ 'ดร.เอ้' ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีลาดกระบัง (สจล.)

ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ที่ต้องติดตาม 77 ปี ย่าง 78 ปี ก็ถือว่าเป็นพรรคที่มีของดี มีประวัติ มีความเป็นมามีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งให้คนได้กล่าวขาน ถึงอยู่ยงคงกระพันมาได้ สู้คดียุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง และรอดมาได้ ผ่านหัวพรรคมาแล้ว 8 คน กำลังจะเลือกคนที่ 9 สร้างคน สร้างนักการเมืองมามาก สร้างนายกรัฐมนตรี สร้างประธานสภามาแล้ว นัดการเมืองในบางพรรคก็เกิดจากท้องประชาธิปัตย์

แต่พลันที่พิธาตกสวรรค์ กลับมาข่าวลือสะพัดหนาหูว่า การประชุม ส.ส.ประชาธิปัตย์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เห็นพ้องต้องกันว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่การจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องเป็นมติกรรมการบริหารพรรค และน่าจะรอผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ประชาธิปัตย์มีข่าวลือหนักกว่านั้น คือเพจของพรรคโพสต์ว่า มี 16 ส.ส.ภาคใต้ ปันใจให้ภูมิใจไทยไปแล้ว มีนักการเมืองสงขลาคนหนึ่งเป็นคนเปิดดีล และรับผิดชอบเลี้ยงดูกันอยู่ 

อนาคตประชาธิปัตย์จะก้าวเดินไปอย่างไร หรือจะขุดหลุมฝังตัวเอง น่าสนใจติดตามยิ่งในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านนี้

ปชป.100 ชีวิต ยื่นกกต.เพิกถอนมติประชุมใหญ่ 9 ก.ค.  ชี้!! ข้อบังคับพรรคขัดกม. พร้อมขอสั่งเลื่อนประชุมใหญ่ 6 ส.ค.ไปก่อน

(3 ส.ค. 66) นายไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีตสส.บัญชีรายชื่อ และอดีตฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ นำรายชื่อสมาชิกพรรคกว่า 100 คนยื่นต่อ กกต.ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติการประชุมวิสามัญและมติกรรมการ บริหารพรรคที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 9 ก.ค. และขอให้สั่งเลื่อนการประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 6 ส.ค. นี้ออกไปก่อน และให้ กกต.สั่งให้พรรคแก้ไขข้อบังคับพรรคให้ถูกต้อง

นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ และคณะกรรมการบริหารพรรคมีมติงดเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมหลายข้อ ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิสมาชิกพรรค และเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560

นอกจากนี้ ข้อบังคับพรรคที่ใช้ในการประชุมมีหลายข้อที่ขัดต่อกฎหมาย อาทิ การออกมติกรรมการบริหารพรรค ยกเว้นการหยั่งเสียงเบื้องต้นของที่ประชุมใหญ่ เพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค การใช้สัดส่วนการคำนวณคะแนนเสียงในการเลือกสมาชิกเป็นกรรมการบริหารพรรค ในสัดส่วนร้อยละ 70 ต่อ 30 คือ ส.ส. 1 คน ควรจะมี 1 เสียง แต่ข้อบังคับพรรคเมื่อหลายปีก่อน กำหนดให้ สส.ปัจจุบันมีคะแนนเสียง 70 ต่อ 30 อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เป็นสส. ก็มีเสียงเท่ากับตน แต่เมื่อเทียบกับนายนริศ ขำนุรักษ์ สส.พัทลุงแล้ว นายนริศมีสิทธิมากกว่านายอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่ถูกต้อง จึงขอให้กกต.พิจารณา เพราะทั้งหมดไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยสากล จึงเห็นว่าควรแก้ไขข้อบังคับพรรคดังกล่าวเสียก่อน หากปล่อยให้มีการประชุมวันที่ 6 ส.ค.นี้ ปัญหาดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นอีก

เมื่อถามว่าที่ต้องมายื่นกกต.ให้สั่งเลื่อนประชุมวันที่ 6 ส.ค.เป็นเพราะยังมีปัญหาการช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคใช่หรือไม่ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า อย่าเรียกว่าการช่วงชิง ให้เรียกว่าการแข่งขัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในอดีตที่ผ่านมาก็มีการแข่งขันกันรุนแรงในสมัยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กับพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และในครั้งนี้ก็ดูท่าว่าจะเป็นเหมือนครั้งก่อน จึงน่าจะต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม เลื่อนการประชุมออกไปก่อน ให้มีการแก้ไขข้อบังคับพรรคให้ถูกต้องก่อน แต่ถ้ากกต.ยังไม่มีคำสั่ง ก็อยู่ที่กรรมการบริหารพรรคจะพิจารณา ถ้าเห็นว่ามีการร้องต่อกกต.แล้วอาจจะเลื่อนก็ได้ แต่ถ้ายังจะประชุมต่อไป เราก็ติดตามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่

เมื่อถามว่า เกี่ยวข้องกับการที่พรรคอาจได้รับการติดต่อเพื่อร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ ผู้ใหญ่ในพรรค 3-4 คน ไม่ไปด้วย อย่างนายชวน หลีกภัย ก็บอกว่าไม่เห็นด้วยที่จะไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามี 3-4 คน บอกว่าไม่ไป ตนว่าเขาก็ไม่เอาเรา อย่างมี 25 คน ไป 24 คน สมมติคุณชวนไม่ไปคนหนึ่งเขาก็ไม่เอาแล้ว เขาคงไม่คิดเอาพรรคที่มีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันไปร่วมรัฐบาล และวันนี้เท่าที่คุยมีหลายคน นอกเหนือจากคุณชวนที่บอกว่าไม่ไป และเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีงูเห่า เพราะการมีงูเห่าต้องออกไปอยู่พรรคอื่น ซึ่งเราไม่ได้ห่วงเรื่องงูเห่า ไม่ได้ห่วงเรื่องร่วมรัฐบาล เพราะเราเชื่อว่าไม่มีใครเขาเอาเรา เราห่วงว่าจะทำอย่างไรให้พรรคเราต้องไปสู่ความสงบเรียบร้อย อยู่กันเหมือนพี่เหมือนน้อง โดยไม่ต้องแก่งแย่งตำแหน่ง แต่ช่วยกันทำงาน

"ผมมีประสบการณ์ชีวิตการเมืองมาพอสมควร สมัยเราเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคอื่นมาร่วมกับเรามี 9 คน 20 คน ถ้ามาบ้าง ไม่มาบ้างเราก็ไม่เอา ความสามัคคีในพรรคไม่มีก็ทำให้ความเป็นรัฐบาลแตกแยกด้วยซ้ำไป อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่คิดว่าคนจะจัดตั้งรัฐบาลต้องคิดได้"
 

‘รองโฆษก ปชป.’ เตือนสติ ‘แก๊งทะลุวัง’ งดหยาบคาบ-รุนแรง ชี้!! ‘ภาพ-เสียง’ ว่อนออนไลน์ อาจย้อนกลับมาทำร้ายในอนาคต

(8 ส.ค. 66) นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นต่อกรณีพฤติกรรมการแสดงออกทางการเมืองกับผู้เห็นต่างของกลุ่มเยาวชนที่เรียกตนเองว่า ‘กลุ่มทะลุวัง’ โดยเฉพาะภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ที่ทำให้สังคมส่วนใหญ่รับไม่ได้กับพฤติกรรมความหยาบคาย และมีการคุกคามผู้เห็นต่างในรูปแบบต่าง ๆ กัน รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงในรูปแบบการปาข้าวของ กีดขวางการเดินทาง และทำลายสถานที่ราชการ

นางดรุณวรรณ กล่าวต่อด้วยว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิคิดต่าง แต่ต้องมีการแสดงออกอย่างเคารพสิทธิ เสรีภาพ ของผู้อื่นด้วยจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักประชาธิปไตยโดยแท้จริง พฤติกรรมของกลุ่มทะลุวังเมื่อวานนี้ (7 ส.ค.66) ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการคุกคาม รวมถึงสื่อมวลชนบางส่วนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่รายงานสถานการณ์ไปยังสาธารณะชน

ทั้งนี้จึงอยากฝากไปถึงเยาวชนกลุ่มทะลุวังว่า พฤติกรรมการแสดงออกที่แสดงถึงความหยาบคาย คุกคาม ใช้ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เมื่อกระทำแล้วต้องยอมรับให้ได้ว่าไม่ว่าในโลกความจริงหรือโลกดิจิทัล การกระทำมีผลของมันเสมอ สิ่งต่าง ๆ ที่เยาวชนกลุ่มนี้ตัดสินใจทำลงไป ไม่ว่าจะมาจากแรงจูงใจใด หรือมีใครอยู่เบื้องหลังก็ตาม ท้ายที่สุดจะกลายเป็น Digital Footprint คือ รอยเท้าบนโลกดิจิทัลทิ้งร่องรอยไว้บนโลกโซเชียลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ทั้งตนองและผู้อื่นเอาไปนำเสนอไว้ ตามมาหลอกหลอน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของตนเองในอนาคตได้

“นอกเหนือจาก Digital Footprint ที่เยาวชนกลุ่มนี้ต้องเผชิญแล้ว การกระทำบางอย่างที่ทำเกินขอบเขตของกฎหมายก็ต้องถูกเอาผิด รับโทษทัณฑ์ เสียโอกาส หมดอนาคตได้ด้วยเช่นกัน จึงอยากแนะนำว่าพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง อาจสร้างความสนใจได้แค่เพียงช่วงสั้น ๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของตนเองได้ในระยะยาว” นางดรุณวรรณ กล่าวย้ำ

‘สรรเพชญ’ กระทุ้ง ‘กสทช.’ ควรทำงาน ‘จริงจัง-เต็มความสามารถ’ หลัง ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก-ซิมม้าสะพัด’ ปชช.เดือดร้อน

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และรายงานการตรวจสอบการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน สำหรับปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นายสรรเพชญ กล่าวว่า “ข้อสังเกตรายงานการเงินของ กสทช. ที่เสนอมานี้ผมมีความเป็นห่วงต่อการดำเนินงานของ กสทช. เนื่องจากตามเอกสารที่ปรากฏตาม ข้อ 49 ของผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่า กสทช. มีเรื่องข้อพิพาทและคดีความที่สำคัญที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ยื่นฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์รวมกว่า 4,700 ล้านบาท และที่สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์รวมกว่า 126,000 ล้านบาท ซึ่งข้อพิพาทเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่สำนักงาน กสทช. จะต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐ เนื่องจากจำนวนทุนทรัพย์ทั้งสองกรณีนี้ เป็นจำนวนเงินที่มากและมีผลต่างกันที่มากพอสมควร จึงขอให้สำนักงาน กสทช. ได้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา และหวังว่าท่านจะทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของพี่น้องประชาชน”

นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการพิจารณา พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งก็ได้มีการอภิปรายแสดงความเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของมิจฉาชีพออนไลน์หรือแก๊ง Call Center ที่กำลังระบาดและสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในขณะนี้ ในฐานะที่ กสทช. เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ในการออกหมายเลขโทรศัพท์ นายสรรเพชญฯ จึงได้ตั้งคำถามไปยัง กสทช. ในประเด็นต่าง ๆ 2 เรื่อง ได้แก่...

1. จากปัญหาการระบาดของแก๊ง Call Center ที่เกิดขึ้นท่านมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบ ความเสียหายของพี่น้องประชาชนอย่างไรบ้าง เพราะปัญหานี้มีการใช้ซิมม้า ที่ล่าสุดได้มีการจับกุมโดยตำรวจไซเบอร์กว่า 1 แสน 8 พันซิม เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดย กสทช. เองก็มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมหรือจำกัดเลขหมาย ได้มีการกำหนดให้มีการพิสูจน์ตัวตนของเจ้าของซิมหรือไม่? รวมถึงปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตชายแดน หรือ Operator กสทช. มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร?

2. เป็นที่ทราบกันดีว่า สำนักงาน กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่ทำรายได้ให้รัฐมหาศาล เป็นเงินกว่าแสนล้านบาท ซึ่งการมีรายได้มหาศาลขนาดนี้ ประชาชนก็ตั้งความหวังไว้กับการทำงานของที่จะสามารถทำงานให้ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชน ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งเทคโนโลยีและการสื่อสาร โดยในประเด็นนี้ สส.สรรเพชญได้สอบถามถึงการเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับยุคสมัยให้รอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างไร? และจะมีแนวทางในการขยายโครงข่ายของสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศได้อย่างไรบ้าง?

อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ หวังว่า กสทช. ในฐานะผู้มีอำนาจควบคุมและดูแลในเรื่องนี้จะทำได้แก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากมาย เพื่อให้เกิดกระโยชน์สูงสุดต่อประชาชน 

'สรรเพชญ' จี้ รัฐบาลใหม่ดันเรื่องยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ เสนอ 3 มาตรการ 'ป้องกัน-ปราบปราม-ฟื้นฟู' ขจัดปัญหาให้สิ้น

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.66 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายผลการปฏิบัติงานของ ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2564 โดยนายสรรเพชญกล่าวว่า "ยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกรัฐบาลพยายามแก้ไขและให้ความสำคัญ แต่ปัญหายาเสพติดก็ยังไม่ทุเลาเบาบางลง จากสถิติของการจับกุมคดียาเสพติด พบว่า ปี 2564 มีการจับกุมคดียาเสพติด ทั้งหมด 337,186 คดี ผู้ต้องหา 350,758 คน ซึ่งตัวเลขที่มากขนาดนี้ นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ควรจะได้รับการแก้ไขปราบปรามอย่างจริงจังโดยเร็ว"

นายสรรเพชญ ได้กล่าวต่อว่า "ตนมีความห่วงใยกับสถานการณ์ยาเสพติดที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากยาเสพติดในทุกวันนี้เข้าถึงทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน และยังมีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่เป็นช่องทางให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย"

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้เสนอ 3 มาตรการ ในการจัดการกับปัญหายาเสพติด คือ ‘มาตรการในการป้องกัน ปราบปราม และฟื้นฟู’ โดย ‘มาตรการในการป้องกัน’ คือ การให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง รวมถึงให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตน ‘มาตรการที่สอง คือ การปราบปราม’ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระดมสรรพกำลังในการทำงานให้สอดคล้องกัน และสุดท้าย ‘มาตรการในการฟื้นฟู’ ต้องให้ผู้ที่เคยกระทำความผิด ได้กลับตัวกลับใจเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังได้รับการฟื้นฟู มีงานทำ มีรายได้ จะได้ไม่ต้องกลับเข้าไปสู่วงจรยาเสพติดอีก

"โดยทั้งสามมาตรการที่ได้เสนอไป ตนเชื่อว่าอาจจะช่วยให้ ป.ป.ส. สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และปราบปรามยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่เพียงแต่ ป.ป.ส. ที่ต้องจัดการแก้ไขเพียงหน่วยงานเดียว แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ควรที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่ออนาคตที่ดี และชีวิตที่มีคุณภาพของลูกหลาน จะได้ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในอนาคตต่อไป" นายสรรเพชญ กล่าว

'ประชาธิปัตย์' ยังมึนไม่เลิก!! หลัง 2 ขั้วท่าจะเคลียร์ให้จบยาก ฟากคนในชี้!! ใครโหวต 'พท.' คงเป็นได้แค่ไส้เดือนคลุกขี้เถ้า

หลังจากการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ล่มมาสองรอบอันเนื่องมาจากไม่ครบองค์ประชุม และเป็นการไม่ครบองค์ประชุมแบบไม่เป็นธรรมชาติ ง่ายๆ คือ มีคนจัดการให้ไม่ครบองค์ประชุม ส่วนใครจัดการ ง่ายๆ คือ ฝ่ายที่กำลังจะแพ้โหวตนั่นแหละ 

หลังจากการประชุมล่มลงสองครั้ง ยังมีไม่เค้าโครงว่าจะมีการนัดประชุมกันใหม่วันไหน แต่มีการเคลื่อนไหวคึกคักให้มีการแก้ไขระเบียบพรรคในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระเบียบพรรคข้อบังคับของพรรคฯ ข้อ 87 ระบุ ให้เสียงของ สส.ชุดปัจจุบันถือเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของคะแนนเสียงของที่ประชุมใหญ่ คะแนนเสียงส่วนที่เหลือทั้งหมดนับรวมกันแล้วมีน้ำหนักเพียงแค่ร้อยละ 30 หรือสัดส่วน 70 : 30

ระเบียบพรรคข้อนี้กลายเป็นกติกาที่ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างว่า "เป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม" โดยในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกพรรคเสนอให้งดเว้นข้อบังคับนี้ และขอให้ทุกคะแนนเสียงมีน้ำหนักเท่ากัน เพื่อความเป็นธรรม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จที่ประชุมใหญ่ยังไม่เห็นด้วย

องค์ประชุมพรรคประกอบไปด้วย สส., อดีต สส., อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, อดีตรัฐมนตรี, อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯ กทม.ผู้ดำรงตำแหน่งในส่วนท้องถิ่น, หัวหน้าสาขาพรรค ฯลฯ องค์ประชุมพรรคต้องมีจำนวน 'ไม่น้อยกว่า 250 คน'

แต่ที่ผ่านมามีตัวแทนลงชื่อเข้าร่วมประชุมประมาณ 220 กว่าคน และสัปดาห์นี้คณะรักษาการกรรมบริหารพรรคน่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากำหนดวันประชุม

ในท่ามกลางความไม่ลงตัวของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีกระแสแรงเรื่องการขอเข้าร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางเสียงค้าน เพราะถือเป็นพรรคคู่แข่ง คู่รักคู่แค้นกันมายาวนาน และประวัติศาสตร์ของเครือข่ายเพื่อไทย ตั้งแต่ไทยรักไทย, พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ จึงไม่น่าร่วมกับเพื่อไทยได้ แต่ฝ่ายที่อยากจะร่วม อาจคิดอีกมุมหนึ่ง

มีการอ้างว่า สส.21 คน อยากนำพาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งก็ไม่รู้เอาตัวเลข 21 มาจากไหน น่าจะเป็นตัวเลขที่ยกขึ้นมาเพื่อต่อรองตำแหน่งทางการเมืองมากกว่า และน่าจะเอาตัวเลขมาจากการนับจำนวน สส.ที่เข้าร่วมขบวนการ 'จัดการ' คืนก่อนการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ที่มีการ 'จัดการ' เพื่อให้ได้เสียงกัน ยกเว้น 'ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ สรรเพรช บุญญามณี' จึงคิดว่า จาก สส.25 คน หักออกไป 4 เหลือ 21 คน

ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ ถามว่า ราชิต สุดพุ่ม, สมยศ พลายด้วง, สุรินทร์ ปาลาเร่ หรือแม้แต่ สส.หนึ่งเดียวของปัตตานี อยู่กับขั้วที่อยากร่วมรัฐบาลหรือ? คำตอบไม่น่าจะใช่!! ส่วน สส.แม่ฮ่องสอน, สส.สกลนคร และ สส.อุบลราชธานี ยังไม่รู้ว่าอยู่กับขั้วไหน แต่โดยสายสัมพันธ์ น่าเชื่อได้ว่า อยู่ในขั้วผู้อาวุโส

ซึ่งถ้า สส.แม่ฮ่องสอน, สกลนคร และอุบลราชธานี อยู่ในขั้วของผู้อาวุโส จึงเหลือ สส.ที่อยู่ในขั้วอยากร่วมรัฐบาลเพียง14 คนเท่าเอง และอยู่ในขั้วผู้อาวุโสที่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน 11 คน

นี่คือประเด็นข้อเท็จจริง ฝ่ายที่อยากร่วมรัฐบาล อยากไปเจอทักษิณ ชินวัตร อีกรอบ ไม่ควรทึกทัก คิดไปเองว่า'จัดการ' ไปแล้ว จะถือเป็น 'ของตาย' นำไปใช้ต่อรองตำแหน่งทางการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ที่มีข่าวว่าจะลงสมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ด้วยคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า "ทำไมต้องรังเกียจเพื่อไทย คนดีๆ ในเพื่อไทยที่รู้จักก็มีเยอะ แล้วจะไปบอกว่าเพื่อไทยเขาโกง เขายังไม่ทันได้โกง ควรไปร่วมงานกับเขาก่อน แต่หากเขาโกงอะไร เราค่อยถอนตัว กลับตัวได้"

ไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์ อดีต สส.อาวุโส พรรคประชาธิปัตย์ แถลงทิ่มกลางอก 'นราพัฒน์' ยืนยันได้ว่า "ประชาธิปัตย์ไม่ได้โกรธเคืองอะไรนายทักษิณ ชินวัตร หรือ สส. ของพรรคเพื่อไทย แต่เราถืออุดมการณ์ของพรรค ที่นายทักษิณหนีไปต่างประเทศ 17 ปี ไม่ใช่เพราะโกงหรือ รัฐมนตรีหลายคนติดคุกไม่ใช่เพราะโกงหรือ"

นายไชยวัฒน์ กล่าวอีกว่า "ที่ผ่านมาเราเคยเรียกว่าระบอบทักษิณ ตั้งแต่ยังเป็นสมัยไทยรักไทย โกงอย่างเดียว เอารัฐมนตรีมาโกง จนติดคุกติดตารางกันเป็นแถวในเวลานี้ ทุกวันนี้ก็ยังมีนายทักษิณกับน้องสาวหนีไปต่างประเทศ แบบนี้ยังไม่โกงอีกหรือ ถ้าเราไปร่วมกับพรรคที่เราเรียกว่าระบอบทักษิณ แล้วยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น เหตุการณ์ที่เกรือเซะ-นโยบายปราบยาเสพติด แบบนี้คือ ระบอบทักษิณ ที่เรารับไม่ได้แล้วเราจะไปร่วมกับเขา 

"แต่คนในพรรคที่ต้องการไปร่วมรัฐบาลบอกว่า เพื่อไทยมีคนดีๆ เยอะแยะ เขายังไม่ทันโกงจะไปว่าเขาแล้ว รอให้ร่วมรัฐบาลก่อน หากเขาโกงค่อยว่ากัน มันไม่ใช่อย่างนั้น ประวัติศาสตร์มันสอน จะมาเถียงกันทำไม เถียงว่าพรรคเพื่อไทยไม่โกง เพราะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ว่าเคยโกง ตนไม่กลัวโดนฟ้อง อย่างนายทักษิณ เดิมมียศเป็น พ.ต.ท.แต่ตอนนี้เป็นนายทักษิณ เพราะผูกถอดยศ ไม่ใช่เพราะโกงหรือ

"หากประชาธิปัตย์ไปร่วมตั้งรัฐบาลด้วย เลือกตั้งคราวหน้า ประชาธิปัตย์ สส.คนเดียวก็จะไม่ได้ คนจะไม่เลือกประชาธิปัตย์ อาจเป็นพรรคที่ไม่มี สส.สักคน แต่ก็จะทำพรรคต่อไป คือ สส.ของพรรคหากจะไปโหวตนายกฯ ให้เพื่อไทย เขาก็มีสิทธิ์ทำได้ เป็นเอกสิทธิ์ของ สส. แต่ว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพเสียคนละสองพันบาทเท่ากันหมด ส่วนรายปีก็คนละสองร้อยบาท ถ้าจะไปทำแบบนั้น ผมเชื่อว่า สมาชิกพรรคที่เหลืออยู่ สิ้นปีนี้ เขาจะไม่ต่ออายุ ไม่เสียเงินค่าสมาชิกพรรครายปี กันหลายแสนคน" นายไชยวัฒน์ ระบุ

เมื่อถามว่า หากจะมี สส.ของพรรคไปร่วมโหวตนายกฯ ให้พรรคเพื่อไทย จะถือเป็นงูเห่าหรือไม่ นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า'ไม่ใช่งูเห่า แต่เป็นไส้เดือนคลุกขี้เถ้ามากกว่า งูเห่ามีศักดิ์ศรี ออกจากพรรคที่เคยอยู่แล้วออกไปอยู่พรรคอื่น แต่นี้ไปซุกเขา เป็นไส้เดือนคลุกขี้เถ้า ผมขอให้ฉายาใหม่ พวกอยากไปร่วมรัฐบาล กระสันมาก คุณไปเอาไส้เดือน โยนใส่กองขี้เถ้า คุณจะเห็นอาการ มันจะดิ้นทุรนทุราย แบบนี้ไม่ใช่งูเห่า"

ยิ่งเนิ่นนานประชาธิปัตย์ก็จะยิ่งเสื่อม ควรจะเด็ดขาด เร่งรีบจัดการกับปัญหา "ไม่ควรเชื่องช้า"...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top