Monday, 13 May 2024
จีน

‘จีน’ ขุดบ่อ ‘พลังงานความร้อนใต้พิภพ’ ลึก 5,200 เมตร ได้สำเร็จ ข้อดี!! ‘พลังงานหมุนเวียนเสถียร-คาร์บอนต่ำ’ เตรียมพัฒนาต่อยอด

(9 เม.ย. 67)  สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ซิโนเปก (Sinopec) บริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ของจีน เปิดเผยการขุดเจาะ ‘ฝูเซินเร่อ 1’ (Fushenre-1) บ่อสำรวจพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ลึกที่สุดของประเทศในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ ได้เสร็จสิ้น ณ ความลึกใต้ดิน 5,200 เมตร ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของบ่อสำรวจฯ ในจีน

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการขุดเจาะบ่อสำรวจพลังงานความร้อนใต้พิภพข้างต้น แสดงกลไกการก่อตัวของพลังงานความร้อนใต้พิภพทางตอนใต้ของจีน และจะช่วยยกระดับการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานความร้อนใต้พิภพในภูมิภาคดังกล่าวอย่างมาก

ด้าน กัวซวี่เซิง หัวหน้านักธรณีวิทยาของซิโนเปก กล่าวว่า พลังงานความร้อนใต้พิภพคือพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่งที่มีเสถียรภาพและปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยมีปริมาณสำรองมหาศาลและกระจายตัวเป็นวงกว้าง

ซิโนเปก (Sinopec) มุ่งดำเนินการพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยมีการสร้างกำลังการทำความร้อนจากความร้อนใต้พิภพเกือบ 100 ล้านตารางเมตร และสร้างโครงการทำความร้อนใต้พิภพระดับภูมิภาคหลายแห่ง

'นักวิจัยจีน' พัฒนาเส้นใย 'เปล่งแสง-ผลิตกระแสไฟ' โดยไม่ต้องชาร์จ พร้อมศึกษาเพิ่มเติม 'เก็บรวบรวมพลังงานจากอวกาศ'

เมื่อวานนี้ (8 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ (Science) เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าทีมวิจัยของจีนพัฒนาเส้นใยอัจฉริยะชนิดใหม่ที่สามารถปล่อยแสงและผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก ซึ่งคาดว่าเส้นใยนี้จะเปลี่ยนวิธีการตอบสนองระหว่างสิ่งแวดล้อมและผู้คน และมีความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้สิ่งทออัจฉริยะ

เส้นใยดังกล่าวได้ผสานฟังก์ชันต่าง ๆ อาทิ การกักเก็บพลังงานไร้สาย การรับและส่งผ่านข้อมูล และสามารถถูกนำไปทำเป็นสิ่งทอที่บรรลุฟังก์ชันการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ อาทิ จอแสดงผลเรืองแสง และระบบควบคุมแบบสัมผัสโดยไม่ต้องใช้ชิปและแบตเตอรี่

อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันและมีบทบาทสำคัญในการติดตามสุขภาพ การแพทย์ทางไกล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ตลอดจนสาขาอื่น ๆ

สิ่งทออิเล็กทรอนิกส์ที่ทำจากเส้นใยอัจฉริยะทั่วไปสามารถระบายอากาศได้ดีกว่าและอ่อนนุ่มมากกว่า เมื่อเทียบกับส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์แข็งทื่อแบบดั้งเดิม ทว่าการพัฒนาเส้นใยอัจฉริยะในปัจจุบันต้องอาศัยการผสมผสานหลายโมดูลที่ซับซ้อน ซึ่งอาจไปเพิ่มปริมาณ น้ำหนัก และความแข็งไม่ยืดหยุ่นของสิ่งทอ

ทีมวิจัยจากคณะวัสดุศาสตร์และวัสดุวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยตงหัว ค้นพบโดยบังเอิญว่าเส้นใยสามารถกระจายแสงภายใต้คลื่นสัญญาณวิทยุระหว่างการทดลอง จึงนำข้อมูลนี้ไปต่อยอดและพัฒนาเส้นใยอัจฉริยะรูปแบบใหม่ที่ใช้พลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นแรงขับเคลื่อนไร้สาย

ด้าน หยางเว่ยเฟิง สมาชิกทีมวิจัย ระบุว่า เส้นใยชนิดใหม่นี้มีความโดดเด่นจากวัตถุดิบที่ต้นทุนคุ้มค่า และเทคโนโลยีการประมวลผลที่สมบูรณ์ โดยสามารถบรรลุการแสดงผลของเส้นใย การส่งคำสั่งแบบไร้สาย และฟังก์ชันอื่น ๆ โดยไม่ต้องใช้งานชิปหรือแบตเตอรี่

ด้าน โหวเฉิงอี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยตงหัว ระบุว่า เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยชนิดใหม่นี้จะสามารถโต้ตอบและเปล่งแสงได้ ทั้งยังสามารถควบคุมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จากระยะไกลแบบไร้สาย ผ่านการสร้างสัญญาณเฉพาะเจาะจงจากท่าทางที่แตกต่างกันของผู้ใช้

ทีมวิจัยจะดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่ทำให้เส้นใยชนิดใหม่สามารถเก็บรวบรวมพลังงานจากอวกาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อพัฒนาฟังก์ชันต่าง ๆ ที่หลากหลาย อาทิ การแสดงผล การเปลี่ยนรูปร่าง และการประมวลผล

นายกฯ จีนตอบขุนคลังมะกัน หลังถูกโวยส่งออกรถไฟฟ้าแผงโซลาร์เซลล์มากไป

ภายหลังจาก นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐอเมริกา หยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับกำลังการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่มากเกินไปของจีนขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์ (7 เม.ย.67) 

ด้าน นายกรัฐมนตรีหลี่ ก็ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรนำเศรษฐกิจการค้ามาทำให้เป็นเรื่องการเมือง แต่ควรพิจารณาประเด็นด้านกำลังการผลิตอุตสาหกรรมอย่างเป็นกลางตามข้อเท็จจริงและโต้แย้งด้วยหลักเหตุผล ด้วยมุมมองของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด มุมมองในระดับโลก และบนพื้นฐานของกฎหมายเศรษฐกิจ

“การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของจีนจะมีส่วนช่วยเหลือสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกสีเขียวและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้อยู่ในระดับต่ำ” นายหลี่ กล่าว

นายกรัฐมนตรีของจีนยังแสดงความหวังว่า สหรัฐฯ จะสามารถทำงานร่วมกับจีนในการปฏิบัติตามบรรทัดฐานของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและความร่วมมืออย่างเปิดกว้างเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ก็ละเว้นจากการนำประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้าไปเป็นเรื่องการเมือง หรือขยายแนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติมากจนเกินไป

ก่อนหน้าการประชุมดังกล่าว ขุนคลังหญิงแกร่งผู้นี้ระบุว่า ชาติทั้งสองไม่ควรหลบเลี่ยง ‘การสนทนาที่ยากลำบาก’ ในการจัดการกับข้อแตกต่างระหว่างกัน

ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐฯ แถลงเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ว่า ดำเนินอย่างตรงไปตรงมาและได้ผล โดย รมว.คลังได้แสดงความเห็นต่อฝ่ายจีนว่า ความสัมพันธ์ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะทำให้มีสนามการแข่งขันด้านธุรกิจที่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้น ยังได้เน้นย้ำความสำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายอื่น ๆ ในโลก เช่น การบรรเทาภาระหนี้สินของชาติด้อยพัฒนา

สหรัฐฯ และจีนพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ท่ามกลางปัญหาขัดแย้งกันหลายเรื่อง รวมถึงความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพิ่งหารือกันทางโทรศัพท์ ก่อนนางเยลเลน จะมาเยือนจีนเมื่อวันพฤหัสฯ (4 เม.ย.) ไม่กี่วัน นางเยลเลนเคยเยือนจีนครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2566 สำหรับการมาเยือนครั้งที่ 2 เป็นเวลา 5 วันนี้ ได้พบปะหารือกับรองนายกรัฐมนตรี เหอ ลี่เฟิง ที่กว่างโจวเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของจีน โดยขุนคลังหญิงมะกันได้หยิบยกประเด็นกำลังการผลิตที่มากเกินไปของจีนมาเป็นหัวข้อสำคัญในการหารือเช่นกัน

การครอบงำตลาดของจีนในด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์ก่อความวิตกแก่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) โดยอียูมีการสอบสวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จีนส่งเข้ามาขายว่าอาจได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปักกิ่งอย่างมากจนไม่เป็นธรรมแก่บริษัทผู้ผลิตในอียู การสอบสวนอาจนำไปสู่การตั้งกำแพงภาษีนำเข้า

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เตือนถึงความเสี่ยงในการเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกเพื่อกดดันปักกิ่ง โดยนายซื่อ อวิ้นหง ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนในกรุงปักกิ่งระบุว่า การเพิ่มมาตรการเข้มงวดกับสินค้าและเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวของจีนไม่ช่วยให้ชาติตะวันตกได้สนามแข่งขันเพิ่มขึ้นมากนัก ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจะยังคงเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของจีน ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปจากนี้

เปิดเรื่องราว ‘Liu Mingqun’ พนง.ทำความสะอาดในกรุงปักกิ่ง สู่การเป็น ‘สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ’ สมัยที่ 14

เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยของจีน ควรจะต้องตั้งคำถามด้วยว่า คนอย่าง Liu Mingqun ผู้เป็นเพียงพนักงานรักษาความสะอาดธรรมดา ๆ คนหนึ่งจะสามารถมีสิทธิมีเสียงกลายเป็นนักการเมืองได้ทำงานในรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกหรือไม่???

สภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) เป็นสภานิติบัญญัติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นรัฐสภา (State) ด้วยรัฐธรรมนูญของจีนกำหนดให้สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรอำนาจรัฐสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, ควบคุมดูแลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ, ตราและแก้กฎหมาย, เลือกตั้ง ถอดถอนและโยกย้ายประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี มนตรีแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ, ตรวจสอบและอนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรายงานการปฏิบัติงาน, ตรวจสอบและอนุมัติงบประมาณแผ่นดินและรายงานการปฏิบัติงาน, ตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ฯลฯ โดยการผ่านมติในเรื่องต่าง ๆ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมด

สำหรับสภาประชาชนแห่งชาติเป็นรัฐสภาที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในโลก โดยสมัยที่ 14 ซึ่งเป็นสมัยปัจจุบันมีสมาชิก 2,977 ที่นั่ง เป็นสตรี 790 ที่นั่ง (มากที่สุดตั้งแต่มีสภาฯ) ตัวแทนชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ 442 ที่นั่ง (รวมถึงฮ่องกง 36 ที่นั่ง มาเก๊า 12 ที่นั่ง และไต้หวัน 6 ที่นั่ง) สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติมาจากการคัดเลือก ดำรงตำแหน่งวาระละห้าปี การจัดประชุมใหญ่ประจำปีจะจัดขึ้นทุกฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะดำเนินต่อเนื่อง 10 ถึง 14 วัน ณ อาคารมหาศาลาประชาชน ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง

Liu Mingqun เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติสมัยปัจจุบันคือสมัยที่ 14 เธอเป็นเพียงเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล ทำหน้าที่พนักงานทำความสะอาด ประจำสถานีจัดเก็บขยะเขต Shijingshan ในกรุงปักกิ่ง สถานีจัดเก็บขยะนี้มีหน้าที่รวบรวมและแปรรูปขยะจากครัวเรือนในพื้นที่บริการกว่า 

10,000 ครัวเรือน โดยมีกำลังการจัดเก็บขยะมากกว่า 15 ตันต่อวัน เธอมักจะไปทำงานล่วงหน้าหนึ่งชั่วโมงเสมอเพื่อทำความสะอาดสถานีขยะและฆ่าเชื้อรถบรรทุกขยะ ต้องขอบคุณความพยายามอย่างต่อเนื่องของ Liu Mingqun จนทำให้สถานีจัดเก็บขยะแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สถานีจัดเก็บขยะที่สะอาดที่สุดในกรุงปักกิ่ง’ จากเพื่อนร่วมงานของเธอและชาวบ้านผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

หลังจากได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติแล้ว Liu Mingqun ก็ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อเก็บเกี่ยวรวบรวมความรู้ใหม่ ๆ มากขึ้นเพื่อทำหน้าที่ของเธอได้ดียิ่งขึ้น เธอมักจะไปค้นคว้า พูดคุยสื่อสารกับแรงงานจากชนบทเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา และพูดคุยกับคนในชุมชนเกี่ยวกับแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่อาศัยเก่า เธอได้นำญัตติ ‘การแยกขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น’ แนะเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อการจำแนกประเภทขยะมานำเสนอในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติสมัยปัจจุบันคือสมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 โดยเธอหวังที่จะปรับปรุงความแม่นยำของการจำแนกประเภทขยะในครัวเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานรีไซเคิล 

(Liu Mingqun ขณะสำรวจตัวเองหน้ากระจกในสถานีจัดเก็บขยะของเขต Shijingshan ในกรุงปักกิ่ง เมืองเอกของจีน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024)

(Liu Mingqun พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในระหว่างการประชุมกลุ่มของคณะผู้แทนปักกิ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun (ที่ 2 จากขวา) ระหว่างการประชุมกลุ่มคณะผู้แทนปักกิ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun เข้าร่วมการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun ที่สำนักงานของสถานีจัดเก็บขยะในเขต Shijingshan กรุงปักกิ่ง เมืองเอกของจีน เเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024 (Xinhua/Chen Zhonghao)

เรื่องราวของนักการเมืองเยี่ยงนี้ แบบนี้ เช่นนี้ ยากที่จะเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ด้วยเพราะการเข้าสู่วงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งคือการใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาล การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นการเลือกตั้งตามคุณภาพของเงินที่ใช้ในการหาเสียง หรือซื้อเสียง แม้แต่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในบ้านเราก็ใช้ทรัพยากรมหาศาลในการชวนเชื่อและสร้างกระแส ดังนั้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตยนักการเมืองที่มีคุณภาพแต่ไม่มีเงินหรือไม่มีผู้สนับสนุนจึงยากที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ตามความรู้ความสามารถอย่างถูกต้องเหมาะสม ปัจจุบันทุกวันนี้เราจึงพบเห็นแต่เรื่องราวข่าวคาวฉาวโฉ้ของนักการเมืองในระบบเลือกตั้งซึ่งมีอยู่ทั่วไป ฉะนั้นเมื่อผู้เลือกตั้งและผู้รับเลือกตั้งต่างก็ไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพ การเมืองก็จะไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพ แล้วก็จะทำให้ชาติบ้านเมืองไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพตามไปด้วย…เป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป

‘จีน’ เอาจริง!! ลุยจัดการ ‘เนื้อหาออนไลน์ผิดกฎหมาย-อันตราย’ หลังได้รับรายงานมากกว่า 18 ล้านกรณี ในเดือน มี.ค.

เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า จีนจัดการเนื้อหาออนไลน์ผิดกฎหมายหรืออันตรายที่มีรายงานมากกว่า 18.53 ล้านกรณีในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

เว็บไซต์รายใหญ่หลายแห่งของจีนดำเนินการจัดการกับเนื้อหาผิดกฎหมายที่ได้รับแจ้งเข้ามา 17.09 ล้านกรณี ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตส่วนกลางและภูมิภาคจัดการกับเนื้อหาดังกล่าวราว 1.45 ล้านกรณี

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า เนื้อหาออนไลน์ที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายที่มีรายงานส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกอนาจาร การพนัน การละเมิด และข่าวลือ

‘Tiktok’ มุ่งเน้น ‘รักษาความปลอดภัย’ ของผู้ใช้งานบนออนไลน์ ครอบคลุมในด้าน ‘ความเป็นส่วนตัวข้อมูล-การกลั่นกรองเนื้อหา’

(11 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ติ๊กต็อก (TikTok) แอปพลิเคชันคลิปวิดีโอขนาดสั้น กล่าวย้ำถึงความทุ่มเทในการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้งานขณะใช้งานทางออนไลน์

ด้าน ฟอร์จูน แมกวิลี-สิบันดา ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับดูแลและนโยบายสาธารณะของติ๊กต็อก ประจำภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา กล่าวว่า ติ๊กต็อกพัฒนาหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน นโยบายผู้ใช้งาน และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

แมกวิลี-สิบันดา ระบุว่า เราจะจัดอบรมวิธีการทำงานของติ๊กต็อกสำหรับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแล โดยมุ่งเน้นที่ความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และวิธีการกลั่นกรองเนื้อหาบนแพลตฟอร์มนี้

แมกวิลี-สิบันดา เน้นย้ำว่า ศูนย์รักษาความปลอดภัยของติ๊กต็อกยังมอบทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้งานเดิมและผู้ใช้งานรายใหม่ ครอบครัว และผู้ดูแล เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์บนโลกออนไลน์ที่เหมาะกับผู้ใช้งาน

ปัจจุบันติ๊กต็อกมีผู้เชี่ยวชาญด้านความไว้วางใจและความปลอดภัยมากกว่า 40,000 คนทั่วโลก ที่ทำงานแข่งกับเวลาเพื่อคุ้มครองชุมชนบนโลกออนไลน์ โดยติ๊กต็อกให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นลำดับแรก ๆ ในการจัดทำแพลตฟอร์มซึ่งมีส่วนจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และนำความสุขมาสู่ผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก

‘จีน’ ทดสอบการสื่อสาร ‘ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2’ สำเร็จ หนุนเพิ่มขีดความสามารถสำรวจ ‘ดวงจันทร์’ ในอนาคต

(12 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีนรายงานว่า ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 (Queqiao-2) ได้เสร็จสิ้นการทดสอบการสื่อสารในวงโคจรเมื่อไม่นานนี้ โดยแพลตฟอร์มและอุปกรณ์บนดาวเทียมสามารถทำงานเป็นปกติ

ทั้งนี้ องค์การฯ ระบุว่า การทำงานและประสิทธิภาพของดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 เป็นไปตามข้อกำหนดของภารกิจ และสามารถให้บริการการสื่อสารสำหรับระยะที่ 4 ของโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน และภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีนและประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 ประสบความสำเร็จในการทดสอบการสื่อสารกับยานอวกาศฉางเอ๋อ-4 (Chang’e-4) ซึ่งปัจจุบันกำลังทำภารกิจสำรวจบนด้านไกลของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. และดำเนินการทดสอบการสื่อสารกับยานฉางเอ๋อ-6 ซึ่งยังอยู่บนโลก เมื่อวันที่ 8-9 เม.ย.

อนึ่ง ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 20 มี.ค. และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. หลังจากปรับทิศทางการโคจร หยุดอยู่ใกล้ดวงจันทร์ และเคลื่อนตัวในวงโคจรรอบดวงจันทร์

‘ผลโพล’ ชี้!! ‘อาเซียน’ เลือกข้าง ‘จีน’ มากกว่า ‘อเมริกา’ ยกเว้นแค่ ‘ผิน-เหงียน’ ที่ยังกังขาข้อพิพาททะเลจีนใต้

เมื่อไม่นานมานี้ ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในชาติอาเซียนเล็งคบหาจีนมากกว่าอเมริกา ถ้าหากถึงเวลาที่จะต้องเลือกข้างกันแล้ว โดยมีเพียงบางประเทศอย่างฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม ที่รู้สึกถูกปักกิ่งคุกคามเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ ซึ่งยังปักใจกับอเมริกามากกว่า ขณะเดียวกัน ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในทั่วโลก โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่งบอกว่าห่วงเรื่องการว่างงานและเศรษฐกิจถดถอย

นี่เป็นครั้งแรกที่ปักกิ่งได้คะแนนมากกว่าวอชิงตันนับจากที่เริ่มทำการสำรวจความคิดเห็นประจำปีในประเด็นนี้ในปี 2020 โดยในปีนี้จำนวนคนที่เลือกอเมริกาเหลือแค่ 49.5% ลดลงจาก 61.1% เมื่อปีที่แล้ว

การสำรวจความคิดเห็นนี้จัดทำโดยศูนย์อาเซียนศึกษา (ASEAN Studies Centre) แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา-ยูซอฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) กลุ่มคลังสมองของสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 3 มกราคมถึง 23 กุมภาพันธ์ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 1,994 คน ซึ่งมาจากทั้งภาควิชาการ ธุรกิจ รัฐบาล ประชาสังคม และสื่อมวลชน ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศที่มีผู้เข้าร่วมการสำรวจมากที่สุดคือสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ผลสำรวจพบว่า จีนได้คะแนนกว่า 50% ในฐานะหุ้นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องสอดคล้องทางยุทธศาสตร์มากที่สุดสำหรับอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงเป็นมหาอำนาจที่ไว้วางใจได้มากที่สุด

ทั้งนี้ จีนและอาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกันและกันติดต่อกัน 4 ปีซ้อนแล้ว โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าถึง 911,700 ล้านดอลลาร์แล้ว

กระนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งหนึ่งยังคงแสดงความไม่ไว้ใจจีน โดย 45.5% บอกว่า กลัวว่าปักกิ่งจะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารคุกคามผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศของตน

พฤติกรรมก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับคนฟิลิปปินส์ (90.2%) และคนเวียดนาม (72.5%) ซึ่งเป็น 2 ประเทศแนวหน้าที่มีกรณีพิพาทด้านดินแดนกับปักกิ่งในน่านน้ำดังกล่าว

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า การที่มะนิลาอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้เป็นบางส่วนไม่ควรถูกมองว่า เป็นการยั่วยุจีน ในทางกลับกัน ฟิลิปปินส์ต้องการทำให้สิ่งต่าง ๆ อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ และเดินหน้าเจรจาต่อไม่ว่าในระดับใด อย่างไรก็ดี ในช่วงหลัง ๆ นี้ ฟิลิปปินส์มีนโยบายหันไปร่วมมือด้านความมั่นคงมากขึ้นอย่างชัดเจนทั้งกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาค อย่างเช่น ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

สำหรับเวียดนามก็อ้างสิทธิเหนือเกาะหลาย ๆ แห่งในทะเลจีนใต้ ทับซ้อนกับจีนเช่นเดียวกัน โดยที่ปักกิ่งคัดค้านการเรียกร้องเหล่านั้น ทั้งนี้ เวียดนามแสดงท่าทีพยายามมุ่งผูกมิตรกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แม้ยังไม่ได้ไปถึงระดับของฟิลิปปินส์

ไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจคราวนี้แสดงให้เห็นว่า อเมริกายังคงได้รับความสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์ (83.3%) และเวียดนาม (79%) ซึ่งแสดงความโน้มเอียงที่ต้องการผูกพันธมิตรกับวอชิงตันมากกว่าปักกิ่ง

เคนด์ดริก ชาน แห่ง แอลเอสอี ไอเดียส์ (LSE IDEAS) กลุ่มคลังสมองด้านนโยบายการต่างประเทศของ LSE (ลอนดอน สกูล ออฟ อิโคโนมิกส์ แอนด์ โพลิทิคัล ไซนส์) แสดงความเห็นว่า ถึงแม้จีนได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อมองจากความเข้าใจความรับรู้ของสาธารณชนซึ่งให้ความนิยมชมชื่นเพิ่มขึ้น แต่ควรต้องสังเกตว่า ข้อพิพาทด้านดินแดนที่รุนแรงที่สุดของจีนก็อยู่ในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งยังคิดว่าอาเซียนควรเพิ่มความยืดหยุ่นและความเป็นเอกภาพของตน เพื่อเป็นเครื่องปกป้องการถูกบีบคั้นจาก 2 ชาติมหาอำนาจคือ จีนและอเมริกา

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐศาสตร์มหภาคในทั่วโลก ยังคงเป็นข้อกังวลในภูมิภาคนี้ โดยคนส่วนใหญ่ (57.7%) กังวลกับการว่างงานและเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีนอาจมีส่วนกระตุ้นความกังวลเหล่านี้

ข้อกังวลอื่น ๆ ยังรวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว และการโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงของกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งแม้เหตุการณ์เหล่านี้ถึงแม้เกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นที่ไกลออกไปจากอาเซียน แต่ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักซึ่งอาจมีผลโดยตรงต่อราคาพลังงานและอาหารได้

ชอย ชิง กว็อก ผู้อำนวยการและซีอีโอของ ISEAS ระบุว่า ผลสำรวจปีนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ภูมิภาคนี้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นในเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ และในความเสี่ยงที่ว่าการเป็นปฏิปักษ์กันในทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ที่ไร้การบันยะบันยังอาจส่งผลลบต่อผลประโยชน์ของภูมิภาคในระยะสั้นจนถึงระยะกลาง

“ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า อาเซียนยังคงมีความหวังว่าชาติมหาอำนาจสามารถร่วมมือกันได้ในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และยินดีต้อนรับมหาอำนาจชาติอื่น ๆ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับอาเซียน”

วิกฤต Gen Z จีน 'หางานยาก-งานรายได้ต่ำ-มีไม่กี่คนที่จะได้งาน' สุดท้ายหันมาใช้ชีวิตแบบ 'ถ่างผิง' เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน

Gen Z หรือ Generation Z หมายถึงเด็กที่เกิดในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนถึงกลางทศวรรษ 2010 ดูจากอายุอานามแล้ว เป็นคนรุ่นที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในองค์กรต่าง ๆ

ทว่า ปัจจุบัน Gen Z ในจีน ได้พากันหันหลังให้กับชีวิตในบริษัทใหญ่ ๆ เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ และปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่สนใจอาชีพการงานที่มั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ผันผวนอย่างหนัก

ปัจจุบัน จีนมี Gen Z ราว 280 ล้านคน ผลการสำรวจทัศนคติของ Gen Z เมื่อเทียบกับคนในช่วงอายุอื่นพบว่า Gen Z ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ ‘มองโลกแง่ร้ายมากที่สุด’

มหกรรมการหางานครั้งล่าสุดในกรุงปักกิ่งตอกย้ำสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะตำแหน่งที่เปิดรับมีแต่งานที่ใช้ทักษะต่ำ เช่น การเป็นผู้ช่วยขายประกัน หรือไม่ก็ผู้ช่วยขายอุปกรณ์ทางการแพทย์

หากพูดถึงเงินเดือนคาดหวังในมหกรรมการหางานดังกล่าวแล้ว ค่าเฉลี่ยสำหรับพนักงานใหม่ได้ปรับลดลงใน 38 เมืองสำคัญ ถือว่าเป็นการปรับลดครั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016

หนุ่มปริญญาโทวัย 25 ที่เรียนจบสาขาวิศวกรรมซอฟท์แวร์จากเยอรมนีคนหนึ่งเชื่อว่า ผู้ที่มีความสามารถจริง ๆ จะต้องหางานได้ เขาเชื่อว่า ‘อนาคตของโลกอยู่ที่จีน’

แต่พอกลับมาถึงจีนจริง ๆ เขาเริ่มไม่มั่นใจเมื่อเจอบรรยากาศเศรษฐกิจบ้านเกิดแม้ทักษะ และองค์ความรู้ที่เขามีจะเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง มีคนที่จบจากยุโรป และเรียนมาในสาขาเดียวกันจำนวนมาก

‘งานจึงไม่ได้หาง่ายอย่างที่คิด’ เขากล่าว

เพื่อนหลายคนของเขา จึงตั้งเป้าไปที่งานราชการแทน หลังมองว่างานบริษัทเอกชนนั้น ‘อนาคตมืดมน’ ทำให้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนุ่มสาวชาวจีนเข้าสมัครสอบคัดเลือกรับราชการมากเป็นประวัติการณ์ คือสูงกว่า 3 ล้านคน

เขากล่าวว่า “เด็กนับล้านต่างมองหางานแน่นอน มีไม่กี่คนที่จะได้งาน และคนโชคดีที่ได้งาน ก็เป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จบ”

หญิงสาวชาวจีนอีกคนที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศ มีความมุ่งมั่นกับการหางาน และหาอะไรทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้งานที่ต้องการ เช่น การเป็นไกด์นำเที่ยวในอุทยานแพนด้า นครเฉิงตู หรือเป็นพนักงานขายเครื่องดื่ม และฝึกงานในโรงเรียนอนุบาลก็เคยมาแล้ว

“งานพวกนี้ไม่ค่อยมีอนาคตนัก” เธอกล่าว “งานทักษะต่ำ แน่นอนเงินเดือนย่อมต่ำ ที่สำคัญถูกแทนที่ง่ายมากหากคุณหยุดงานแค่ครึ่งวัน รุ่งขึ้นก็จะมีคนใหม่มาทำแทน เมื่อเป็นแบบนี้ เด็กส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือที่เรียกว่าประกอบอาชีพลูกเต็มเวลา”

ปัจจุบัน เธอเป็นพนักงานขายหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา แม้จะไม่ใช่งานในฝัน แต่เธอมองว่ายังดีกว่าไม่มีอะไรทำ และคิดในแง่บวกว่าเป็นการสั่งสมประสบการณ์

ในทางกลับกัน ครอบครัวของเธอเป็นกังวลมาก เนื่องจากเธอเป็นลูกหลานคนแรกของครอบครัวที่จบมหาวิทยาลัย พ่อของเธอภูมิใจมากถึงขนาดจัดเลี้ยงโต๊ะจีนกว่า 30 โต๊ะในวันรับปริญญา

“พ่อแม่คาดหวังว่าหลังจากที่พวกเขาส่งเสียฉันเรียนหนังสือ อย่างน้อยฉันจะหางานได้ พวกเขาคาดหวังให้ฉันมีชีวิตที่ดี แต่ฉันยืนยันว่าจะเดินไปตามทางของตัวเอง และในความเร็วที่ฉันกำหนดเอง”

เธอตั้งเป้าหมาย ว่าต้องไปให้ไกลกว่านี้ และหวังว่าวันหนึ่งจะไปเรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลีย เธอเชื่อว่าช่วงชีวิต Gen Z แบบเธอง่ายกว่าคนรุ่นพ่อแม่มาก เพราะตอนนั้น จีนจนกว่านี้มาก ความฝันต่าง ๆ ก็ดูห่างไกลจากความเป็นจริงแบบฟ้ากับเหว

“ยังมีเวลาอีกมากสำหรับพวกเราเพื่อไปถึงจุดหมาย เราไม่ได้สนใจหรือทุ่มชีวิตไปกับการหาเงินเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน เรามองไปที่วิธีการที่จะทำให้ฝันเป็นจริงยังไงมากกว่า”

เช่นเดียวกับหญิงสาวอีกคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยในประเทศมาหมาด ๆ เธอตั้งเป้าจะทำงานในบริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ แต่หลังจากได้เข้าไปสัมผัสการทำงานจริงราว ๆ 2 ปี ความกดดัน และความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกับหัวหน้างาน ทำให้เธอตัดสินใจลาออก และหันมาประกอบอาชีพ ‘ช่างสัก’

เธอและเพื่อนชาว Gen Z นับล้านคนกำลังรู้สึกไม่พอใจกับโอกาสในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ Gen Z ในจีนจึงพากันหันมาใช้ชีวิตแบบ ‘นอนราบ’ หรือ Lying Flat (ภาษาจีนเรียกว่า ‘ถ่างผิง’) ซึ่งหมายถึง การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน ทำงานเท่าที่จำเป็น และเอาเวลาว่างไปทำกิจกรรมที่ตนสนใจ

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามผลักดันตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด COVID-19

อย่างไรก็ตาม การสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2023 พบว่า อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวทั่วประเทศเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่เกือบ 22%

สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันอุดมศึกษาที่ชี้ว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ เพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิตไปวันวัน

สาวช่างสักบอกว่า ตอนนี้เธอมีความสุขมาก และเชื่อว่า การเดินออกมาจากบริษัทใหญ่ ไม่เพียงหลีกหนี ‘แรงกดดันที่ไม่จบ’ เท่านั้น แต่ยังเป็นการค้นพบตัวเองที่คุ้มค่ามาก

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในเชิงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ ‘กินของขม’ ซึ่งเป็นวลีภาษาจีนที่ใช้อธิบายความหมายของ ‘ความอดทนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก’

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกมากระตุ้นเป็นระยะ ให้เด็กจบใหม่เลิกคิดว่าพวกเขาดีเกินกว่าจะใช้แรงงาน โดยบอกให้พวกเขา ‘พับแขนเสื้อขึ้น’ เพื่อไปทำงานที่ใช้แรง และให้ ‘กลืนความขมขื่น’

ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับการกำหนดนโยบายของผู้นำจีน คือการทำให้กลุ่มคน Gen Z รู้สึกสงบลง ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ

ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว และตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่อึดอัด Gen Z เหล่านี้ต้องรับมือกับความท้าทายมากมาย อาทิ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม การควบคุมทางการเมืองที่เข้มงวด และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังดูไร้ความหวัง

เสือปืนไว!! ‘รัฐบาลไทย’ ปรับบทบาทประเทศในเวทีโลก ขานรับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ‘อินเดีย-จีน’ ใต้ผู้นำยุคที่ 3

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM 93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในหัวข้อ ‘อินเดียและจีน กับประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย’ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.67 ดังนี้…

อินเดียและจีนเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสนใจเพื่อตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งสองประเทศก็มีแนวนโยบายและพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อินเดีย ซึ่งมีการเลือกตั้งในวันที่ 19 เมษายนนี้ และมีผู้มีสิทธิออกเสียงเกือบ 1,000 ล้านคน ถือเป็นการเลือกตั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ยังผลให้ Narendra Modi กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 อันจะสามารถสานต่อนโยบายเศรษฐกิจเดิม ซึ่งจะนำพาความสำเร็จให้แก่อินเดียได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 5 ของโลก ภายใต้นโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมหาศาล รวมถึงการต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศและการเป็นมิตรกับธุรกิจภายใต้ Modi

ในขณะที่จีนภายใต้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ซึ่งเข้าสู่วาระที่ 3 เช่นกันนั้น กลับมีนโยบายที่ค่อนข้างจะตรงกันข้าม กล่าวคือ ความแข็งกร้าวและการไม่ยอมรับระเบียบที่กำหนดโดยโลกตะวันตก การแทรกแซงและความไม่เป็นมิตรกับธุรกิจเอกชน การปล่อยปละละเลยให้เกิดฟองสบู่ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จนฟองสบู่แตกกลายเป็นปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน

แน่นอนว่า Supply Chain ของโลกกำลังย้ายถิ่นฐานกันขนานใหญ่ ภูมิภาคที่จะได้รับอานิสงส์สูงสุดคงไม่พ้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวันนี้ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นแค่จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจีนประสงค์จะมาเที่ยวเท่านั้น แต่ประเทศไทยได้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่กำลังได้รับความสนใจสูงสุดจากนักธุรกิจจีนอีกด้วย 

สังเกตได้ว่าการลงทุนจากจีนกำลังหลั่งไหลเข้าไทยในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ EV และแบตเตอรี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น และในอนาคตอันใกล้ ก็เป็นไปได้สูงที่จีนจะเข้ามาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ และอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะสถานบันเทิงครบวงจรที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องเตรียมรับมือกับธุรกิจจีนที่กำลังถาโถมเข้ามา เพราะการลงทุนจีนจะมีรูปแบบและลักษณะแตกต่างจากการลงทุนของญี่ปุ่นและชาติตะวันตก

ดังนั้น ภายใต้เครื่องชี้วัดหลายประการที่เริ่มบ่งบอกถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกนั้น อาจกลายเป็นโอกาสทองทางเศรษฐกิจของไทย และก็ถือเป็นข่าวดีที่ตลอด 6-7 เดือนที่ผ่านมานี้ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน กำลังปรับเปลี่ยนบทบาทประเทศไทยในเวทีโลก เพื่ออ้าแขนรับโอกาสทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นนี้แล้วด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top