Sunday, 28 April 2024
จีน

‘ยูนนาน’ ใช้ ‘AI’ ช่วยตรวจสอบ ‘สถานีไฟฟ้าย่อย’ 621 แห่ง ชี้ ภารกิจเสร็จสิ้นไม่ถึง 5 นาที ต่างจากแรงงานมนุษย์ที่นานถึง 5 ชม.

เมื่อวานนี้ (13 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตรวจสอบสถานีไฟฟ้าย่อย 621 แห่งแบบเป็นประจำ ซึ่งช่วยทดแทนความจำเป็นในการใช้กำลังคน

ทางด้าน บริษัท ไชน่า เซาธ์เทิร์น พาวเวอร์ กริด สาขาอวิ๋นหนาน ระบุว่า การตรวจสอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้กล้อง โดรน และหุ่นยนต์เดินได้ สามารถทำให้ภารกิจเสร็จสิ้นภายในไม่ถึง 5 นาที ลดลงจากการใช้แรงงานมนุษย์ที่นาน 5 ชั่วโมง

หวังซิน ผู้จัดการอาวุโสของบริษัทฯ สาขาอวิ๋นหนาน กล่าวว่า อวิ๋นหนานเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำและไฟฟ้าพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นๆ ที่สำคัญ โดยมีสถานีไฟฟ้าย่อย 35 กิโลโวลต์ขึ้นไป จำนวน 1,937 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขา และการเข้าถึงสถานีย่อยเกือบครึ่งหนึ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาเดินทางบนถนนมากกว่า 3 ชั่วโมง

หวังซิน เผยว่า การตรวจสอบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ คาดว่าจะทำให้แรงงานมนุษย์ไม่ต้องเดินทางยาวนานบนถนน ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก โดยบริษัทฯ ได้วางแผนส่งเสริมการตรวจสอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ให้ครอบคลุมสถานีไฟฟ้าย่อยที่เหลือในอวิ๋นหนานในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ จีนกำลังหันไปใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อรับมือกับปัญหาขาดแคลนช่างเทคนิคในพื้นที่ภูเขาห่างไกล โดยเมื่อปีก่อน มณฑลกุ้ยโจวได้เริ่มใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบสถานีไฟฟ้าย่อยที่เผชิญสภาพอากาศเลวร้ายจนการทำงานหยุดชะงักด้วยเช่นกัน

สะพัด!! 'นิสสัน' เล็งเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ 'ฮอนด้า' ผนึกกำลังสู้ EV จีน หลังผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

(14 มี.ค.67) นิสสัน กำลังพิจารณาแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับฮอนด้า ตามรายงานของสำนักข่าวทีวี โตเกียว เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) ในขณะที่นิกเกอิ เอเชีย คาดว่าทั้ง 2 บริษัทอาจร่วมมือกันในด้านรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อต่อกรกับคู่แข่งสัญชาติจีน ที่ผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ทีวี โตเกียว รายงานว่าบอร์ดบริหารของนิสสัน ตัดสินใจเมื่อวันอังคาร (12 มี.ค.) จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการจับมือเป็นพันธมิตรกับ ฮอนด้า คู่แข่งร่วมชาติที่ขนาดใหญ่กว่า ส่วนรายงานข่าวของนิกเกอิ เอเชีย รายงานถึงขั้นว่า นิสสัน และ ฮอนด้า อาจทำงานร่วมกันในด้านรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับการแข่งขันกับบรรดาคู่แข่งจากจีน

โฆษกของนิสสัน ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว และไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่าบอร์ดบริหารมีการประชุมกันในวันอังคาร (12 มี.ค.) จริงหรือไม่ ส่วนโฆษกของฮอนด้า บอกเช่นกันว่าทางบริษัทไม่มีความเห็นใดๆ ต่อรายงานข่าวดังกล่าว

ทีวี โตเกียว ระบุว่า นิสสัน ซึ่งเป็นพันธมิตรมาช้านานกับ เรโนลต์ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส แสดงความตั้งใจจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) แบบไม่มีพันธะ กับฮอนด้า พร้อมบอกว่าแต่ในเรื่องของขอบเขตการหารือนั้นยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ

ส่วน นิกเกอิ เอเชีย อ้างแหล่งข่าวในนิสสันหลายคน ระบุว่าในบรรดาก้าวย่างอย่างเฉพาะเจาะจงนั้น อาจรวมไปถึงการเปิดตัวระบบส่งกำลังรถยนต์ร่วม การจัดหาร่วม และพัฒนาแพลตฟอร์มหนึ่งๆร่วมกัน ขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ว่า ความร่วมมืออาจครอบคลุมถึงการจัดหาแบตเตอรีและพัฒนารถไฟฟ้าร่วมกัน

ที่ผ่านมา นิสสัน ได้ร่วมมือกับ เรโนลต์ ในด้านรถอีวี อยู่ก่อนแล้ว ส่วนใหญ่ในยุโรป ขณะที่รถไฟฟ้าล้วนตัวถัดไปของนิสสัน ‘Micra’ จะใช้งานวิศวกรรมพื้นฐานร่วมกับ เรโนลต์ ไฟว์ และจะประกอบในโรงงานเดียวกัน ในทางเหนือของฝรั่งเศส

นอกจากนี้แล้ว นิสสัน ยังประกาศว่าจะลงทุนสูงสุด 600 ล้านเยน (ราว 656.64 ล้านดอลลาร์) ใน Ampere บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ของ เรโนลต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ทั้ง 2 บริษัทลดขอบเขตความเป็นพันธมิตร เปิดทางสำหรับการมีหุ้นส่วนที่มีความคล่องตัวกว่าเดิม และนับตั้งแต่นั้น เรโนลต์ ก็ได้ลงนามในข้อตกลงต่างๆ นานา ในการจับมือเป็นพันธมิตรกับคู่หูใหม่ๆ อย่างเช่น Geely ของจีน

"ภายใต้กรอบข้อตกลงใหม่ในความเป็นพันธมิตร ทั้ง 2 หุ้นส่วนจะมีอิสระในการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ต่างๆ นอกเหนือจากโครงการร่วมต่างๆ ที่จับมือร่วมกัน" โฆษกของเรโนลต์ระบุ

เมื่อปีที่แล้ว นิสสัน และ ฮอนด้า ต่างสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีน ตลาดยานยนต์หมายเลข 1 ของโลก ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดจาก บีวายดีและบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ และทางนิกกิอิ รายงานว่า นิสสัน และ ฮอนด้า อาจตัดสินใจลดกำลังผลิตในประเทศแห่งนี้

‘Volkswagen’ พ่าย 'BYD' รถยนต์ขายดีในจีน แต่ยังครองแชมป์ 'แบรนด์รถยนต์ต่างชาติ’ ยอดนิยม

แม้ว่าปี 2023 ที่ผ่านมาจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ Volkswagen ไม่ใช่แบรนด์รถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดในจีนแล้วก็ตาม และยังต้องสูญเสียตำแหน่งนี้ให้กับ BYD แบรนด์รถยนต์ของจีนเอง แต่ Volkswagen ก็ยังคงเป็นแบรนด์รถยนต์ต่างชาติอันดับหนึ่งของจีน โดยยอดขายทิ้งห่าง Toyota แบรนด์รถยนต์ต่างชาติอันดับสองถึงกว่า 500,000 คัน และหากรวมเอายอดขายของ Audi แบรนด์รถยนต์ต่างชาติในเครือของ Volkswagen แล้วยอดขายของสองแบรนด์รถยนต์จะพุ่งขึ้นเฉียดสามล้านคัน ยังไม่รวมแบรนด์รถยนต์อื่น ๆ ภายใต้ Volkswagen Group China อันได้แก่ Škoda , Bentley และ Lamborghini ซึ่งจะทำให้ยอดขายโดยรวมมากกว่าสามล้านคันเลยทีเดียว

28 มีนาคม 1937 'Gesellschaft zur Vorbereitung des Deutschen Volkswagens GmbH' ก่อตั้งขึ้นในประเทศเยอรมนี ต่อมาในวันที่ 16 กันยายน 1938 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'Volkswagenwerk GmbH' ปัจจุบัน Volkswagen เป็นบริษัทรถยนต์นานาชาติรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งผลิตและจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก บริษัทเยอรมันแห่งนี้เป็นเจ้าของรถยนต์แบรนด์ดังระดับโลกหลายยี่ห้อ เช่น Audi, Skoda, Lamborghini, Bentley, Porsche, Bugatti, Seat และ Scania

ในจีน Volkswagen ดำเนินการภายใต้บริษัท Volkswagen Group China โดยตลาดรถยนต์จีนเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของ Volkswagen โดยคิดเป็นประมาณ 50% ของยอดขายทั่วโลกของ Volkswagen การดำเนินงานของ Volkswagen ในประเทศจีน ได้แก่ การผลิต การขาย และการบริการรถยนต์ทั้งคัน ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ เครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง และ จำหน่ายและบริการรถยนต์นำเข้า ยานพาหนะที่ผลิตในประเทศและนำเข้าของบริษัทจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศจีน โดย Volkswagen Group China เป็นบริษัทร่วมทุนระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุด เก่าแก่ที่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน บริษัทเริ่มเข้ามาบุกเบิกในจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี 1978 และเป็นผู้นำในตลาดยานยนต์ของจีนมายาวนานหลายทศวรรษ จีนเป็นตลาดเดียวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ Volkswagen 

การเข้าสู่ประเทศจีนของ Volkswagen เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 1985 เมื่อก่อตั้ง Shanghai Volkswagen โรงงานแห่งแรกในเซี่ยงไฮ้ เป็นบริษัทร่วมทุน โดยจีนและเยอรมนีต่างถือครองเงินลงทุนเริ่มแรกฝ่ายละครึ่ง ปัจจุบันเป็นฐานการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ภายใต้แบรนด์หลักสองแบรนด์ Volkswagen และ Skoda ครอบคลุม ตลาด A0, A, B และ SUV แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบริษัทผลิตรถยนต์ต่างประเทศรายอื่น อาทิ Santana Motor บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติสเปน และแน่นอนในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับคู่แข่งซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่น เช่น BYD (ซึ่งสามารถแซงหน้า Volkswagen ได้แล้ว) Geely หรือ Changan ฯลฯ

แม้ว่าตลาดรถยนต์ของจีนอยู่ในช่วงการเติบโตที่ลดลง สืบเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง และกำลังเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตที่สูงของตลาดรถ SUV (Sport Utility Vehicle) ได้ดึงดูดความสนใจจากผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2017 ยอดขายรถ SUV เติบโตอย่างรวดเร็วในจีน โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 27% ส่วนแบ่งของ SUV ในตลาดจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดขายรถยนต์ SUV รุ่น Teramont และ Phideon ของ Volkswagen สะท้อนถึงแนวโน้มสำคัญในตลาดรถยนต์จีน Teramont ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับรถยนต์ SUV ปัจจุบันรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในจีนประมาณ 40% เป็นรถยนต์ SUV และตัวเลขดังกล่าวก็กำลังเพิ่มขึ้น เฉพาะแบรนด์ Volkswagen เพียงแบรนด์เดียวก็มีรถยนต์ SUV มากกว่า 10 รุ่นในตลาด SUV ภายในสิ้นปี 2020 ในปี 2018 มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่น Tharu, Tayron, Touareg และ T-Roc ในปี 2564 Volkswagen ได้ลงทุนมากกว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มรถ SUV ให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้

ปัจจุบันจีนมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำเทรนด์ของโลกและเป็นตลาดด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60 ของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดทั่วโลกในปี 2018 และมียอดขายรถยนต์โดยสารระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าประมาณหนึ่งล้านคันในจีน โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 50% ในปี 2019 รัฐบาลจีนให้ความสนใจอย่างมากต่อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ในปี 2020 ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยของยานพาหนะอยู่ที่ 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร เพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น รัฐบาลจีนจึงกำหนดโควตารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้บริษัทผู้ผลิตในจีนที่ขายรถยนต์มากกว่า 30,000 คันในจีนต้องผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 10% 

Volkswagen กับตลาดรถยนต์สีเขียวของจีน โดย Volkswagen Anhui (ชื่อเดิม JAC-Volkswagen) เป็นการร่วมทุนที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 ระหว่าง JAC Motors กับ Volkswagen ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเหอเฟย มณฑลอานฮุย โดยเริ่มแรกเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ แบรนด์ SEAT และต่อมาคือแบรนด์ Sehol ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Volkswagen Anhui หลังจากที่ Volkswagen เข้าถือหุ้นใหญ่ (75%) ในบริษัทในปี 2020 พร้อมกับถือหุ้น 50% ใน JAG (บริษัทแม่ของ JAC) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของในข้อตกลงมูลค่าหนึ่งพันล้านยูโร บริษัทจะมุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา e-Mobility ที่จะให้บริการแก่ Volkswagen Group ทั้งหมดในประเทศจีน Volkswagen กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่สำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์ม MEB ของ Volkswagenโดยมีกำลังการผลิต 350,000 คันต่อปีภายใต้บริษัท ควบคู่ไปกับโรงงานระบบแบตเตอรี่ภายใต้บริษัท VW Anhui Components ที่ถือหุ้นทั้งหมด 

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 Volkswagen ได้ประกาศการลงทุนเพิ่มอีก 23.1 พันล้านหยวน (3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ใน Volkswagen Anhui ซึ่งประกอบด้วย 14.1 พันล้านหยวนสำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนา และเกือบ 9.1 พันล้านหยวนในระยะแรกของฐานการผลิตในเหอเฟย ทั้งนี้ในเดือนเมษายน ปี 2023 Volkswagen ได้ประกาศการลงทุนมูลค่า 1 พันล้านยูโร (1.1 พันล้านดอลลาร์) ในศูนย์กลางแห่งใหม่ของจีนที่เรียกว่า 100% TechCo เพื่อการพัฒนา นวัตกรรม และการจัดหารถยนต์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ โรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ในเมืองเหอเฟย ใกล้กับ Volkswagen Anhui ด้วยจำนวนพนักงาน 2,000 คน โดย Volkswagen มีแผนที่จะผสานการวิจัยและพัฒนายานยนต์และส่วนประกอบเข้ากับการจัดซื้อ ซึ่งจะทำให้วงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่สั้นลงประมาณ 30% คาดว่าจะ "มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโมเดลแบรนด์ Volkswagen ในอนาคตที่จะเปิดตัวในปี 2567

หลายสิบปีมาแล้วที่ Volkswagen เป็นรถ Taxi ยอดนิยมในจีน

กลับมาดูบ้านเราแม้จะเป็นฐานการผลิตของรถยนต์มากมายหลายแบรนด์ทั้งค่ายตะวันตกและตะวันออก ทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศรองรับเป็นจำนวนมาก และแนวโน้มรถยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากพลังงานสันปดาบมาเป็นพลังไฟฟ้าแล้ว แต่จนทุกวันนี้บ้านเราก็ยังไม่มีวี่แววที่จะได้เห็นแบรนด์รถยนต์แห่งชาติเลย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าที่สุดแล้วจะมีนักลงทุนชาวไทยได้คิดที่จะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์ไทยให้ได้ใช้กันในอนาคต
 

‘จีน’ เตือน ‘สหรัฐ’ หลังตั้งกำแพงกดดันทุกทาง ชี้!! ผลลัพธ์ไม่สวย ซ้ำจะย้อนทำร้ายตัวเอง

ไม่นานมานี้ สหรัฐฯ ได้เพิ่มความพยายามในการต่อต้านและกดดันในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการ ‘แข่งขันกับจีน’ และเพิ่มการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับไต้หวัน ไปจนถึงการพยายามชักชวนให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียให้เข้าสู่ข้อตกลง เพื่อการจำกัดการส่งออกด้านเทคโนโลยีให้กับจีน 

โดยทางจีนได้ออกมาเคลื่อนไหวพร้อมระบุว่า ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลเสียต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กระทั่งลามไปทั่วโลก

Wang Wenbin โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน

ด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด ทำให้งบประมาณของสหรัฐฯ สำหรับปีงบประมาณ 2025 ถูกนำไปจัดสรรใช้เป็นทุนเพื่อ ‘เอาชนะจีน’ และติดอาวุธให้กับภูมิภาคไต้หวันของจีน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 มี.ค.) Wang Wenbin โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ย้ำว่า การแข่งขันไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของจีน ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และการแข่งขันระหว่างประเทศสำคัญ ๆ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่จีนและสหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะ ‘เอาชนะจีน’ ไม่ใช่การแข่งขันที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่เป็นการแข่งขันที่เลวร้าย โดยสหรัฐฯ วางกับดักคู่แข่งไว้ทุกดอก Wang 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวเสริมว่า “มันกลายเป็นการพนันที่ไม่มีข้อจำกัด ซึ่งทำให้ผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนของทั้งสองประเทศและแม้แต่อนาคตของมนุษยชาติกลายเป็นเดิมพัน และมันจะผลักดันเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ”

คำของบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับปีงบประมาณ 2025 ประกอบด้วยเงินทุนบังคับจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์ในช่วงห้าปี เพื่อ ‘ใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เราจัดการเพื่อเอาชนะจีนให้ได้’ คำของบประมาณยังรวมถึง ‘คำขอเงินทุนครั้งแรก’ จำนวน 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มเติมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะมอบให้กับไต้หวัน 

รายงานของสื่อแห่งหนึ่งระบุ เมื่อวันอังคาร (12 มี.ค.) ว่า Wang ยังกล่าวถึงการคัดค้านอย่างแข็งขันของจีนต่อความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐฯ และเกาะไต้หวัน และความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะติดอาวุธให้กับเกาะแห่งนี้ 

“เราขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามหลักการจีนเดียว และหยุดแทรกแซงกิจการภายในของจีน จีนจะใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตนอย่างแน่วแน่และมั่นคง” เขากล่าว

Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ

นอกเหนือจากการของบประมาณแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้เพิ่มความพยายามที่เห็นได้ชัดว่ามีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการปราบปรามทางเทคโนโลยีต่อจีนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ในขณะที่นำคณะผู้แทนธุรกิจของสหรัฐฯ ไปยังฟิลิปปินส์ Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ ‘จะทำทุกวิถีทาง’ เพื่อปราบปรามความสามารถทางเทคโนโลยีของจีน 

ตามรายงานของ Bloomberg โดย Raimondo ได้ประกาศที่ฟิลิปปินส์ว่า บริษัทสหรัฐฯ เตรียมประกาศการลงทุนมูลค่ารวมมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในฟิลิปปินส์ ตามรายงานของ Reuters รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการขยายการค้าและการลงทุนในฟิลิปปินส์ยังขยายไปถึง ‘ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ใหญ่กว่า’ อีกด้วย แม้ว่าเธอจะย้ำว่าสหรัฐฯ ไม่ได้พยายามแตกแยกกับจีนก็ตาม

“ภยันตรายต่อโลก การมีส่วนร่วมของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการแข่งขันประเทศใหญ่ เช่น จีน ซึ่งจะมีผลรวมเป็นศูนย์ นอกจากไม่เพียงที่เป็นการเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังดึงดูดประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและทั่วโลกให้เข้าร่วมการเผชิญหน้าแบบกลุ่มมากขึ้น ในเวลาที่โลกต้องการความร่วมมือมากที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนตั้งข้อสังเกต 

นอกจากนี้ เพื่อเน้นย้ำการรณรงค์ที่เข้มข้นขึ้นของวอชิงตันเพื่อควบคุมจีนในการแข่งขันในประเทศใหญ่ ๆ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังผลักดันพันธมิตรของตน รวมถึงเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ให้เข้มงวดข้อจำกัดด้าน Chip คอมพิวเตอร์กับจีน และกำลังพิจารณาเพิ่มผู้ผลิต Chip ของจีนรายอื่น อาทิ ChangXin Memory Technologies Inc เข้าสู่รายการควบคุมตามที่ Bloomberg อ้าง 

ในขณะเดียวกัน สภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกากำลังเร่งร่างกฎหมายที่จะบังคับให้บริษัท ByteDance ของจีนขาย TikTok ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันยอดนิยม หรือเผชิญกับการแบนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ผู้เชี่ยวชาญของจีนกล่าวว่า เป็นการเคลื่อนไหวของวอชิงตันที่มีลักษณะเป็นการตีโพยตีพายอีกครั้งในการต่อต้านกดดันบริษัทจีน

Apple store ย่านใจกลางเมืองของนครเซี่ยงไฮ้

การต่อต้านและกดดันอย่างเข้มข้นของนักการเมืองสหรัฐฯ การรณรงค์เพื่อกดดันจีนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นภายในสหรัฐฯ รวมถึงการครอบงำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่งประเทศนี้ไม่สามารถจัดการในลักษณะที่มีประสิทธิผลใด ๆ ได้ เนื่องจากการแบ่งพรรคแบ่งพวกและความผิดปกติของรัฐบาล ตามการระบุของนักวิเคราะห์ชาวจีน ที่สำคัญกว่านั้น ความพยายามดังกล่าวจะไม่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของจีน เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงบริษัทของสหรัฐฯ ที่ขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด ไม่ใช่การเมือง จะยังคงลงทุนและดำเนินการในตลาดจีนต่อไป 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้บริหารธุรกิจสหรัฐฯ จำนวนมากเดินทางเยือนจีนและขยายการลงทุนในจีน ข้อจำกัดทางการเมืองต่อธุรกิจของสหรัฐฯ จะส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เท่านั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนของบริษัทสหรัฐฯ ที่ขยายการลงทุนในจีน เช่น Apple บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันอังคารถึงแผนที่จะเปิดห้องปฏิบัติการวิจัยแห่งใหม่ในนครเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน และอัปเกรดห้องปฏิบัติการวิจัยในนครเซี่ยงไฮ้ เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่บริษัทเพิ่งประกาศเปิดร้านใหม่ในย่านใจกลางเมืองของนครเซี่ยงไฮ้
 

‘จีน’ เผชิญวิกฤติ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ‘หอพักไม่เพียงพอ’ หลังเด็กแห่เรียน ป.โท จนต้องไปเช่าอพาร์ตเมนต์ข้างนอกให้อยู่

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค.67) ​อัตราการจ้างงานที่น้อยลงในจีนทำให้นักศึกษา​จบใหม่หลายคนเลือกที่จะศึกษา​ต่อปริญญา​โทมากกว่าออกมาหางานหลังจบจากรั้วมหาวิทยาลัย โดยผลการสำรวจของเว็บไซต์การศึกษาจีนออนไลน์ในปี 2024 เผยว่าเมื่อปี 2021 มีจำนวนนักศึกษาที่สมัครเรียนต่อ​ปริญญาโทราว 649,000 คน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 197,000 คนในปี​ 2012 และในปี 2022 กระทรวง​การศึกษา​จีนเผยว่ามีนักศึกษาที่สมัครเรียนต่อ​ปริญญาโท​เกือบ 700,000 คน

เมื่อมีนักศึกษา​ที่ต้องการเรียนต่อปริญญาโท​มากเกินไป ก็ส่งผลให้หอพักในมหาวิทยาลัย​หลายแห่งมีจำนวนห้องพักไม่เพียงพอ อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังต้องแบ่งห้องพักส่วนหนึ่งไว้ให้นักศึกษาปริญญาตรีตามกฎระเบียบ​ของมหาวิทยาลัยจีนที่ส่วนมากบังคับให้นักศึกษาปริญญาตรีต้องพักในหอใน

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยจีนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาหอพักขาดแคลน เช่น มหาวิทยาลัย​ครุศาสตร์​เซี่ยงไฮ้​ (Shanghai Normal University)​ กำหนดให้นักศึกษา​ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้​สามารถเข้าพักในหอพักของมหาวิทยาลั​ย หากมีเตียงว่างถึงจะให้นักศึกษาที่เป็นคนท้องถิ่น โดยใช้ระยะทางการเดินทางจากบ้านมาเรียนเป็นเกณฑ์​ในการคัดเลือก

ด้านมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ในเซี่ยงไฮ้เช่าอพาร์ตเมนต์นอกมหาวิทยาลัย​ในระยะยาว​ เพื่อทำเป็นหอพักให้นักศึกษาปริญญาโท​ชาวจีนและนักศึกษา​ชาวต่างชาติ​ บางแห่งที่เจอสถานการณ์​เร่งด่วน​ก็แก้ไขปัญหา​ด้วยการเช่าหอพักที่ยังว่างของวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่​ใกล้เคียง หรือให้นักศึกษา​ปริญญาตรีไปหาหอพักเองโดยมีเงินช่วย​เหลือจากมหาวิทยาลัย​ หรือนำพื้นที่บางส่วนของห้องน้ำในแต่ละชั้นมาปรับปรุง​เป็นห้องพักให้นักศึกษา​

แม้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง​จะพยายามช่วยเหลือ แต่นักศึกษา​ที่ต้องอาศัยอยู่นอกมหาวิทยาลัยก็ยังประสบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะ​เรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย นักศึกษา​คนหนึ่งของมหาวิทยาลั​ยฟู่ตั้น กล่าวว่า ถึงแม้มหาวิทยาลัย​จะมีบริการรถโดยสาร​รับ-ส่งนักศึกษา​ แต่ตารางเดินรถกับตารางเข้าเรียนของตนไม่สอดคล้อง​กัน นักศึกษา​หลายคนที่เลือกเดินทางไปเรียนเองต้องใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง ​กว่าจะถึงมหาวิทยาลัย​ 

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย หากนักศึกษาคนไหนจับฉลากห้องพักไม่ได้ ก็จะต้องไปอยู่หอพักนอกมหาวิทยาลัย​ โดยทางมหาวิทยาลัย​เสนอเงินช่วยเหลือให้นักศึกษา​เดือนละ 800 หยวน (ราว 4,000 บาท)​ เป็นระยะเวลา 10 เดือน ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็ยังไม่พอกับค่าเช่าหอพักที่อยู่​รอบมหาวิทยาลัย​ ซึ่งส่วนใหญ่​อยู่ที่ประมาณ​ 3,000 หยวน (ราว 14,900 บาท)

หน่วยงานภาครัฐของจีนเองก็พยายามช่วยแก้ปัญหา​นี้เช่นกัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐบาลออกนโยบาย​ให้มหาวิทยาลัยสร้างหอพักใหม่หรือปรับปรุง​หอพักเดิม โดยมีตอนหนึ่ง​ระบุว่าให้มหาวิทยาลัย​ซื้อหรือ​เช่าอาคารของภาคเอกชน เช่น อพาร์ตเมนต์​หรือ​อาคาร​ที่มีทั้งห้องพักและศูนย์​การค้าที่อยู่​รอบมหาวิทยาลัย​ 

หลินฝาน เจ้าของธุรกิจ​ให้เช่าอพาร์ตเมนต์​รู้สึกพึงพอใจ​กับนโยบายนี้มาก เพราะมหาวิทยาลัยเสนอราคาเช่าที่ค่อนข้างดีราว 700-1000 หยวนต่อห้อง (ราว 3,500-5,000 บาท)​ ขึ้นอยู่​กับทำเลที่ตั้งของที่พัก

'อลงกรณ์-ชัชชาติ' ผนึกความร่วมมือ 'กทม.-จีน' แก้ปัญหาพีเอ็ม2.5และลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท ประธานที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยเปิดเผยวันนี้(15 มี.ค.)ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีกว่า10คนเข้าพบหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารกทม.ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร เพื่อกระชับความสัมพันธ์พร้อมหารือความร่วมมือระหว่างกันในด้านของสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดว่า

การพบปะหารือครั้งนี้เป็นไปด้วยบรรยากาศของความร่วมมือในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การเป็น“มหานครโซลาร์เซลล์”และ“กรุงเทพสีเขียว2030 “ของกรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและประเทศจีนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 

อีกทั้งประเทศจีนยังเป็นตัวอย่างในที่ดีในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดซึ่งกรุงเทพมหานครมีกลไกและแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาpm.2.5 การส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) การมีจุดบริการบรรจุไฟฟ้า(EV Charging points)และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดคาร์บอนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเมือง
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สรุปเป้าหมายของกรุงเทพมหานครในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นโครงการที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต ได้แก่ 

1. การโปรโมตการใช้รถ EV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโครงการเปลี่ยนรถขยะจากระบบน้ำมันมาเป็นระบบ EV จำนวน 2,000 คัน
2. การเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอในการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า 40 จุด
3. การพิจารณาทำโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาผู้ลงทุนและผู้ดำเนินการ 
4. การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครโซลาร์เซลล์ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีแดดทั้งปี โดยมีโครงการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร 
5. การพิจารณาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชายทะเลอยู่ประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ประธานที่ปรึกษาฯ ต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นผู้ประสานความร่วมมือหลัก

นายอลงกรณ์ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่งและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารกทม.และแสดงความชื่นชมผู้ว่ากรุงเทพมหานครและคณะที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด การขับเคลื่อน“กรุงเทพสีเขียว2030”(Green Bangkok 2030” ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon neutrality)และซีโร่คาร์บอน(Zero carbon)โดยเป็นภารกิจของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนในปีค.ศ.2050และ2065ตามลำดับ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับประเทศจีนในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางสู่วาระครบรอบ50ปีในความสัมพันธ์ทางการฑูตของ2ประเทศในปี2568นับแต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี2518ซึ่งม.ล.สุภาพ ปราโมชผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซียได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนั้นและสานต่อภารกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการเดินทางไปจีนถึง148ครั้งเพื่อสานสัมพันธ์2ประเทศจนถึงทุกวันนี้โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีได้ตอบตกลงและพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างกระตือรือร้นและจะเร่งดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

สำหรับการประชุมหารือเมื่อวันที่14มีนาคม2567มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ คณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ นางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายธัชธรรม พลบุตร และนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด กรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย

‘จีน’ กอดแชมป์ตำแหน่งผู้นำ ‘ตลาดต่อเรือโลก’ ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง 14 ปีซ้อน

(15 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รายงานของสมาคมอุตสาหกรรมการต่อเรือแห่งชาติของจีน (CANSI) ที่เผยแพร่ไม่นานนี้ระบุว่า อุตสาหกรรมการต่อเรือของจีนยังคงเติบโตอย่างมั่นคง โดยมีตัวชี้วัดด้านการต่อเรือสำคัญ 3 ประการ ที่แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวที่สอดคล้องกัน

มูลค่าการส่งออกสินค้าต่อเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลของสมาคมฯ ระบุว่า ปริมาณการต่อเรือของจีนที่แล้วเสร็จอยู่ที่ 42.32 ล้านตันตัน (DWT) ในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ส่วนปริมาณการสั่งซื้อใหม่สูงถึง 71.2 ล้านตันตัน เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 56.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2023 ปริมาณคำสั่งรอผลิตอยู่ที่ 139.39 ล้านตันตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบปีต่อปี

ทั้งนี้ในปี 2023 ปริมาณการต่อเรือที่เสร็จสมบูรณ์ของจีน ปริมาณคำสั่งซื้อใหม่ และปริมาณคำสั่งซื้อถือ ซึ่งวัดน้ำหนักเป็นตัน คิดเป็นร้อยละ 50.2, 66.6 และ 55.0 ของยอดรวมทั่วโลกตามลำดับ และนับเป็นครั้งแรกที่ส่วนแบ่งการตลาดเกินร้อยละ 50 ในทั้งสามตัวชี้วัดการต่อเรือ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากปี 2022 อยู่ที่ 2.9, 11.4 และ 6 จุดตามลำดับบทบาทนำในตลาดต่างประเทศ

ปี 2023 อุตสาหกรรมการต่อเรือของจีนยังคงรักษาตำแหน่งเป็นผู้นำในตลาดต่างประเทศ โดยประสบความสำเร็จในการก่อสร้างอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ และปรับโครงสร้างคำสั่งซื้อเรือใหม่ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น ปี 2023 สถานะประเทศผู้ต่อเรือที่สำคัญของจีนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีส่วนแบ่งตลาดครองอันดับหนึ่งทั่วโลกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 ปีติดต่อกัน
ความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติของบริษัทต่อเรือรายใหญ่ของจีนยังคงเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัท 5 แห่งที่ติดอันดับ 10 อันดับแรกในด้านปริมาณการต่อเรือที่แล้วเสร็จ 7 แห่ง ติดอันดับด้านปริมาณคำสั่งซื้อใหม่ และ 6 แห่งติดอันดับด้านปริมาณคำสั่งรอผลิต หนึ่งในนั้นคือบริษัท ไชน่า สเตต ชิปบิลดิง คอร์เปเรชัน (CSSC) ที่ครองอันดับหนึ่งในทั้งสามตัวชี้วัดในหมู่บริษัทต่อเรือทั่วโลก

ในปี 2023 บริษัทต่อเรือของจีนได้ส่งมอบเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่พิเศษขนาด 24,000 ทีอียู (TEU) ขนาดใหญ่สุดในโลก จำนวน 20 ลำ เรือบรรทุกแก๊สขนาดใหญ่ความจุ 174,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ลำ และเรือบรรทุกแก๊สสำหรับร่องน้ำตื้นขนาด 80,000 ลูกบาศก์เมตร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกหนึ่งลำ

คาดผลการดำเนินงานของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะเติบโต
ปี 2023 บริษัทไชน่า สเตต ชิปบิลดิง คอร์เปเรชัน คาดว่าจะมีกำไรสุทธิจากบริษัทแม่อยู่ที่ 2.7-3.2 พันล้านหยวน (ราว 1.33-1.58 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,470.95-1,761.87 เมื่อเทียบปีต่อปี

สำหรับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญนั้น บริษัทฯ ระบุว่า ตลาดการต่อเรือใหม่ทั่วโลกยังคงรักษาแนวโน้มการพัฒนาที่ดีได้ในปี 2023 ขณะที่การจัดการคำสั่งซื้อเรือราคาต่ำก่อนหน้านี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปช่วยให้โครงสร้างคำสั่งซื้อของบริษัทฯ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตประจำปี บริษัทฯ ได้เสริมความแข็งแกร่งด้านการจัดการและการควบคุมการผลิต พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และบรรลุรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 ซึ่งเกินเป้าหมายประจำปี

'หม่าล่าทั่ง' ของเด็ดประจำเมือง 'เทียนสุ่ย' นทท.แห่ลิ้มลองไม่ขาดสาย ชูเอกลักษณ์เฉพาะตัว ‘น้ำมันพริกรสชาติเผ็ดชา-เส้นแป้งเหนียวนุ่มทำมือ’

(18 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ยามฤดูใบไม้ผลิอันอบอุ่นและสวยงาม บรรดาร้านหม่าล่าทั่งใน ‘เทียนสุ่ย’ เมืองโบราณเก่าแก่พันปี ณ มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้ต้อนรับเหล่านักท่องเที่ยวจากทั่วโลกด้วยอาหารรสชาติเผ็ดร้อนกลิ่นหอมหวนนี้

โดย หม่าล่าทั่ง ของแต่ละภูมิภาคในจีนจะมีรสชาติแตกต่างกัน แต่ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้คนเหมือนกัน โดยหม่าล่าทั่งของเมืองเทียนสุ่ยมีเอกลักษณ์เฉพาะจากน้ำมันพริกรสชาติเผ็ดชาและกลิ่นหอมเตะจมูกบวกกับเส้นแป้งเหนียวนุ่มทำมือ ชวนผู้คนต่อแถวซื้อยาวเหยียด

เมืองเทียนสุ่ยมีย่านการค้าที่รวบรวมร้านหม่าล่าทั่งอันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักบนโลกอินเทอร์เน็ต ที่ซึ่งบรรดานักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้าลองลิ้มชิมรสกันไม่ขาดสาย ดังเช่นร้านของ ‘ฮาไห่อิง’ ผู้เผยว่าแต่ละวันรับลูกค้ามากกว่า 700 คน

ด้าน ต่งจิ้งเหยียน วัย 29 ปี จากเมืองต้าชิ่ง มณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเทียนสุ่ยกว่า 1,000 กิโลเมตร ได้ดั้นด้นลากกระเป๋าสัมภาระมาต่อแถวรอชิมหม่าล่าทั่ง เมนูที่เธอบอกว่าคุ้มค่ากับการเดินทางไกลมารับประทานถึงที่

ทั้งนี้ เมืองเทียนสุ่ยจัดบริการรถโดยสารสายหม่าล่าทั่งเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยวฟรี พร้อมทีมอาสาสมัครประจำสถานีขนส่ง จุดชมวิว และร้านหม่าล่าทั่งชื่อดัง คอยแนะนำการ ‘ชอปปิง-กินเที่ยว’ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญขยายเวลาเปิดทำการ

นอกเหนือจากหม่าล่าทั่งแล้ว เมืองเทียนสุ่ยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และธรรมชาติน่าสนใจมากมาย เช่น หมู่ถ้ำหินแกะสลักม่ายจีซาน พิพิธภัณฑ์เมืองเทียนสุ่ย พื้นที่ชมวิววัดฝูซี ฯลฯ

คนแวดวงอุตสาหกรรมมองว่าตลาดวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของเมืองเทียนสุ่ยจะเข้าสู่ช่วงคึกคักมีชีวิตชีวาและปลดปล่อยพลังการบริโภคเพิ่มขึ้นตามการมาถึงของช่วงหยุดสั้นยาวต่างๆ เช่น เทศกาลชิงหมิง วันหยุดแรงงาน และอื่น ๆ

สังคมจีนป่วน!! เทรนด์ 'Spicy milk style' เซ็กซี่ฟันน้ำนม ลุกลาม พ่อแม่จีนบ้าจี้ จับลูกแต่งตัวเซ็กซี่ หวังดัง-ดึงดูดเชิงพาณิชย์

สังคมจีนกำลังถกประเด็นร้อน เมื่อเกิดกระแสแฟชั่นฟันน้ำนมใหม่ล่าสุด ที่เรียกว่า 'Spicy milk style' หรือ เซ็กซี่ฟันน้ำนม ที่พ่อ-แม่ชาวจีน นิยมแต่งตัวลูกสาววัยอนุบาลด้วยเสื้อผ้าที่เน้นโชว์สัดส่วน เรือนร่าง ว่าเป็นแค่ 'แฟชั่น' การแต่งตัวเลียนแบบผู้ใหญ่ หรือ แก่แดดเกินวัยไม่เหมาะสม หรือไม่?

'Spicy Milk Style' มาจากภาษาจีนคำว่า 奶辣风 (หน่ายล่าเฟิน) ที่ไม่ได้หมายถึงหม่าล่าหม้อไฟรสเผ็ดของชาวจีน แต่หมายถึงกระแสแฟชั่นที่พี่พ่อแม่จีนจับลูกเล็ก ๆ ของตนเองมาที่แต่งตัวสไตล์เผ็ด ๆ แซ่บ ๆ ที่ตัดเย็บเลียนแบบเสื้อผ้าผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กระโปรงรัดรูป เสื้อเกาะอก สายเดี่ยว ชุดเปลือยหลัง และรองเท้าส้นสูง เป็นต้น 

ไม่เท่านั้น ยังถ่ายรูปลูก ๆ ของตนในชุดเซ็กซี่เผยแพร่ลงใน Weibo เว็บไซต์โซเชียลของจีน จนกลายเป็นไวรัล และสร้างกระแสความนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มพ่อแม่จีนที่ต้องการให้ลูก ๆ ของตนเป็นจุดสนใจ ส่งผลให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าทั้งแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ในจีนลงมาแข่งขันผลิตเสื้อผ้าเด็กเล็กที่ออกแนวเซ็กซี่แบบผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย 

หากเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน คงไม่มีใครนึกออกว่า การจับเด็กวัยอนุบาลมาแต่งตัวเป็นสาวฮอตจะเป็นจุดขายได้อย่างไร แต่ในตอนนี้ กระแสการแต่งตัวสไตล์เซ็กซี่ฟันน้ำนมมีให้เห็นอย่างมากมายตามสื่อออนไลน์ของจีน หลายครั้งที่มีการเจาะจงใช้นางแบบเด็กเล็กมาแต่งกายในชุดเซ็กซี่ มาโปรโมตขายเสื้อผ้า และ สินค้า เพื่อกระตุ้นยอดวิวอีกด้วย

แน่นอนว่าในช่วงเริ่มกระแส สังคมจีนยังมองว่าเป็นเพียงการจับเด็กมาแต่งตัวตามแฟชั่น เพื่อสร้างคอนเทนต์ลงในโซเชียล และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการโฆษณา โปรโมตสินค้า เสื้อผ้าแฟชั่น หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเด็กเท่านั้น จนชาวจีนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา 

แต่ต่อมาเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 สื่อท้องถิ่นจีนรายงานข่าวครูประถมของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งพบเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมต้นของตนสวมชุดกระโปรงสั้น เปลือยหลัง มาโรงเรียน เธอจึงเรียกผู้ปกครองมาเพื่อตักเตือนและขอร้องให้เปลี่ยนเป็นชุดสุภาพเมื่อมาโรงเรียน แต่ปรากฏว่าพ่อแม่ของเด็กปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวของเด็ก 

ยิ่งไปกว่านั้น สื่อจีนยังพบว่า มียังพ่อแม่ของเด็กคนอื่นอีกหลายคนที่จับลูกสาวของตนแต่งชุดเซ็กซี่เป็นประจำ แถมยังให้โพสต์ท่ายั่วยวนแบบผู้ใหญ่เพื่อแชร์ลงในโซเชียลอีกด้วย โดยให้คำจำกัดความว่าเป็น 'Soft Pornography' - โป๊แบบอ่อน ๆ 

ทั้งนี้ หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวครูสาวชาวปักกิ่งตักเตือนผู้ปกครองเรื่องการให้ลูกแต่งตัวแบบ 'Spicy milk style' มาโรงเรียนแต่ถูกพ่อแม่ปฏิเสธก็กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในโลกโซเชียลจีนทันที โดยมีผู้มาถกเถียงในหัวข้อนี้มากถึง 130 ล้านวิว และร่วมแชร์ประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก

ฝ่ายที่คัดค้านมองว่า เด็กเล็กควรสวมเสื้อผ้าสมวัย เพราะเด็กมีกิจกรรม และการออกกำลังกายที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ การที่ให้เด็กมาสวมชุดรัดรูป กระโปรงสั้น เปิดเผยสัดส่วน หรือสวมรองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งเครื่องแต่งกายเหล่านั้นมักดึงดูดความสนใจจากคนแปลกหน้า ที่อาจส่งผลเสียทางอารมณ์ของเด็กเล็ก เช่น ความวิตกกังวล หรือ ขาดความมั่นใจในตัวเองได้ในระยะยาว

อีกทั้งยังเป็นการสร้างค่านิยมด้านความงามที่ผิดให้กับเด็ก ที่ให้ความสำคัญแต่เพียงรูปลักษณ์ความงามภายนอกมากจนเกินไป และยังมีผลต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะเครื่องแต่งกายที่แตกต่าง อาจสร้างความแปลกแยกทางสังคมให้เด็กได้ 

แต่ในขณะเดียวกัน ชาวจีนบางกลุ่มก็มองว่า คำว่าแฟชั่น มีความหมายกว้างกว่า 'เครื่องแบบ' และมีการเติบโตตามยุคสมัยที่มีเสรีภาพในการแต่งกายมากขึ้น ซึ่งเทรนด์ 'Spicy milk style' ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ในยุคมิลเนเนียน หรือพ่อแม่ที่เกิดหลังยุค 1990s ที่นิยมให้ลูกแต่งตัวเหมือนตนเอง หรือแต่งชุด พ่อ-แม่-ลูก แบบเดียวกัน เวลาออกไปเที่ยว แฟชั่นแบบ 'Spicy milk style' จึงเกิดขึ้น และหากพ่อแม่ให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ลูก ๆ ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร 

แต่ทั้งนี้ China Daily สื่อของรัฐบาลชี้ว่า ถึงจะเป็นเรื่องแฟชั่นก็ควรมีขอบเขต โดยเฉพาะ เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก ที่ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดเชิงพาณิชย์ หรือ ใช้เด็กในเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายอย่างไม่เหมาะสม 

อย่างที่แบรนด์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Balenciaga เคยพลาดมาแล้ว ด้วยการให้เด็กเล็กในโฆษณาสินค้าอุ้มตุ๊กตาหมีที่สวมเครื่องพันธนาการทางเพศ หรือแบรนด์เนมหรูอย่าง Louis Vuitton และ Billionaire Boys Club ที่เปิดไลน์เสื้อผ้าเด็ก ก็หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า 'เซ็กซี่' ในประโยคที่พูดถึงเด็กเช่นกัน 

ดังนั้นขอบเขตของแฟชั่นเด็กควรอยู่ที่ตรงไหน การใช้เพียงวิจารณญาณของพ่อแม่อย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘จีน’ พัฒนาวิธีรักษาอาการบาดเจ็บ 'เอ็น-กระดูก' แบบใหม่ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตลดลง

เมื่อวานนี้ (19 มี.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทีมวิจัยของจีนได้พัฒนาโครงเลี้ยงเซลล์แบบหลายเซลล์ โดยใช้เซรามิกชีวภาพแบบอนินทรีย์สำหรับรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็นและกระดูก

ข้อจำกัดของกิจกรรมการเคลื่อนไหวจากการสูญเสียโครงสร้างตามธรรมชาติ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตลดลง เพื่อแก้ปัญหานี้ ทีมวิจัยซึ่งนำโดยสถาบันเซรามิกแห่งเซี่ยงไฮ้ (SIC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้ผสมอนุภาคนาโนแมงกานีสซิลิเกต (MS) เข้ากับเซลล์ที่เกี่ยวกับเส้นเอ็น/กระดูก เพื่อสร้างโครงเลี้ยงเซลล์แบบหลายเซลล์ชนิดปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันร่างกาย และสร้างเนื้อเยื่อระหว่างเส้นเอ็นและกระดูก 

โครงเลี้ยงเซลล์แบบนี้ไม่เพียงแสดงกิจกรรมทางชีวภาพที่หลากหลายในหลอดทดลอง แต่ยังบรรลุการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน สร้างเนื้อเยื่อใหม่หลายเนื้อเยื่อ และฟื้นฟูการทำงานของกำลังกล้ามเนื้อในสัตว์ทดลองต่างๆ ที่ได้รับบาดเจ็บเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด

ด้าน อู๋เฉิงเถี่ย นักวิจัยจากสถาบันเซรามิกแห่งเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ให้แนวคิดใหม่ในการบรรลุการปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันร่างกายและสร้างเนื้อเยื่อแบบบูรณาการของเส้นเอ็น-กระดูก และส่วนต่อประสานของเนื้อเยื่ออื่นๆ

อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) เมื่อไม่นานนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top