สังคมจีนป่วน!! เทรนด์ 'Spicy milk style' เซ็กซี่ฟันน้ำนม ลุกลาม พ่อแม่จีนบ้าจี้ จับลูกแต่งตัวเซ็กซี่ หวังดัง-ดึงดูดเชิงพาณิชย์

สังคมจีนกำลังถกประเด็นร้อน เมื่อเกิดกระแสแฟชั่นฟันน้ำนมใหม่ล่าสุด ที่เรียกว่า 'Spicy milk style' หรือ เซ็กซี่ฟันน้ำนม ที่พ่อ-แม่ชาวจีน นิยมแต่งตัวลูกสาววัยอนุบาลด้วยเสื้อผ้าที่เน้นโชว์สัดส่วน เรือนร่าง ว่าเป็นแค่ 'แฟชั่น' การแต่งตัวเลียนแบบผู้ใหญ่ หรือ แก่แดดเกินวัยไม่เหมาะสม หรือไม่?

'Spicy Milk Style' มาจากภาษาจีนคำว่า 奶辣风 (หน่ายล่าเฟิน) ที่ไม่ได้หมายถึงหม่าล่าหม้อไฟรสเผ็ดของชาวจีน แต่หมายถึงกระแสแฟชั่นที่พี่พ่อแม่จีนจับลูกเล็ก ๆ ของตนเองมาที่แต่งตัวสไตล์เผ็ด ๆ แซ่บ ๆ ที่ตัดเย็บเลียนแบบเสื้อผ้าผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กระโปรงรัดรูป เสื้อเกาะอก สายเดี่ยว ชุดเปลือยหลัง และรองเท้าส้นสูง เป็นต้น 

ไม่เท่านั้น ยังถ่ายรูปลูก ๆ ของตนในชุดเซ็กซี่เผยแพร่ลงใน Weibo เว็บไซต์โซเชียลของจีน จนกลายเป็นไวรัล และสร้างกระแสความนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มพ่อแม่จีนที่ต้องการให้ลูก ๆ ของตนเป็นจุดสนใจ ส่งผลให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าทั้งแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ในจีนลงมาแข่งขันผลิตเสื้อผ้าเด็กเล็กที่ออกแนวเซ็กซี่แบบผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย 

หากเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน คงไม่มีใครนึกออกว่า การจับเด็กวัยอนุบาลมาแต่งตัวเป็นสาวฮอตจะเป็นจุดขายได้อย่างไร แต่ในตอนนี้ กระแสการแต่งตัวสไตล์เซ็กซี่ฟันน้ำนมมีให้เห็นอย่างมากมายตามสื่อออนไลน์ของจีน หลายครั้งที่มีการเจาะจงใช้นางแบบเด็กเล็กมาแต่งกายในชุดเซ็กซี่ มาโปรโมตขายเสื้อผ้า และ สินค้า เพื่อกระตุ้นยอดวิวอีกด้วย

แน่นอนว่าในช่วงเริ่มกระแส สังคมจีนยังมองว่าเป็นเพียงการจับเด็กมาแต่งตัวตามแฟชั่น เพื่อสร้างคอนเทนต์ลงในโซเชียล และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการโฆษณา โปรโมตสินค้า เสื้อผ้าแฟชั่น หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเด็กเท่านั้น จนชาวจีนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา 

แต่ต่อมาเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 สื่อท้องถิ่นจีนรายงานข่าวครูประถมของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งพบเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมต้นของตนสวมชุดกระโปรงสั้น เปลือยหลัง มาโรงเรียน เธอจึงเรียกผู้ปกครองมาเพื่อตักเตือนและขอร้องให้เปลี่ยนเป็นชุดสุภาพเมื่อมาโรงเรียน แต่ปรากฏว่าพ่อแม่ของเด็กปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวของเด็ก 

ยิ่งไปกว่านั้น สื่อจีนยังพบว่า มียังพ่อแม่ของเด็กคนอื่นอีกหลายคนที่จับลูกสาวของตนแต่งชุดเซ็กซี่เป็นประจำ แถมยังให้โพสต์ท่ายั่วยวนแบบผู้ใหญ่เพื่อแชร์ลงในโซเชียลอีกด้วย โดยให้คำจำกัดความว่าเป็น 'Soft Pornography' - โป๊แบบอ่อน ๆ 

ทั้งนี้ หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวครูสาวชาวปักกิ่งตักเตือนผู้ปกครองเรื่องการให้ลูกแต่งตัวแบบ 'Spicy milk style' มาโรงเรียนแต่ถูกพ่อแม่ปฏิเสธก็กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในโลกโซเชียลจีนทันที โดยมีผู้มาถกเถียงในหัวข้อนี้มากถึง 130 ล้านวิว และร่วมแชร์ประสบการณ์ แสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก

ฝ่ายที่คัดค้านมองว่า เด็กเล็กควรสวมเสื้อผ้าสมวัย เพราะเด็กมีกิจกรรม และการออกกำลังกายที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ การที่ให้เด็กมาสวมชุดรัดรูป กระโปรงสั้น เปิดเผยสัดส่วน หรือสวมรองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งเครื่องแต่งกายเหล่านั้นมักดึงดูดความสนใจจากคนแปลกหน้า ที่อาจส่งผลเสียทางอารมณ์ของเด็กเล็ก เช่น ความวิตกกังวล หรือ ขาดความมั่นใจในตัวเองได้ในระยะยาว

อีกทั้งยังเป็นการสร้างค่านิยมด้านความงามที่ผิดให้กับเด็ก ที่ให้ความสำคัญแต่เพียงรูปลักษณ์ความงามภายนอกมากจนเกินไป และยังมีผลต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะเครื่องแต่งกายที่แตกต่าง อาจสร้างความแปลกแยกทางสังคมให้เด็กได้ 

แต่ในขณะเดียวกัน ชาวจีนบางกลุ่มก็มองว่า คำว่าแฟชั่น มีความหมายกว้างกว่า 'เครื่องแบบ' และมีการเติบโตตามยุคสมัยที่มีเสรีภาพในการแต่งกายมากขึ้น ซึ่งเทรนด์ 'Spicy milk style' ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ในยุคมิลเนเนียน หรือพ่อแม่ที่เกิดหลังยุค 1990s ที่นิยมให้ลูกแต่งตัวเหมือนตนเอง หรือแต่งชุด พ่อ-แม่-ลูก แบบเดียวกัน เวลาออกไปเที่ยว แฟชั่นแบบ 'Spicy milk style' จึงเกิดขึ้น และหากพ่อแม่ให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ลูก ๆ ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร 

แต่ทั้งนี้ China Daily สื่อของรัฐบาลชี้ว่า ถึงจะเป็นเรื่องแฟชั่นก็ควรมีขอบเขต โดยเฉพาะ เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก ที่ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดเชิงพาณิชย์ หรือ ใช้เด็กในเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายอย่างไม่เหมาะสม 

อย่างที่แบรนด์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Balenciaga เคยพลาดมาแล้ว ด้วยการให้เด็กเล็กในโฆษณาสินค้าอุ้มตุ๊กตาหมีที่สวมเครื่องพันธนาการทางเพศ หรือแบรนด์เนมหรูอย่าง Louis Vuitton และ Billionaire Boys Club ที่เปิดไลน์เสื้อผ้าเด็ก ก็หลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า 'เซ็กซี่' ในประโยคที่พูดถึงเด็กเช่นกัน 

ดังนั้นขอบเขตของแฟชั่นเด็กควรอยู่ที่ตรงไหน การใช้เพียงวิจารณญาณของพ่อแม่อย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


อ้างอิง: Jing Daily / iMedia News